วีรพร นิติประภา

วีรพร นิติประภา | เรื่องเล่าจาก ‘ความทรงจำของทรงจำ’ ของนักเขียนรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2561

มันเป็นการยากที่เราจะเขียนถึงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้โดยไม่สปอยล์เนื้อหาบางบทบางตอนในนวนิยายเรื่องล่าสุดที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2561 ของ วีรพร นิติประภา ซึ่งคงจะทำให้การพูดคุยกับนักเขียนสายพังก์ผู้นี้ขาดอรรถรสลงไปอย่างน่าเสียดาย แต่นั่นก็หาได้ลดทอนคุณค่าของงานวรรณกรรมชิ้นนี้ลงแต่อย่างใด

     นวนิยายชื่อแปลก พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ คือผลงานวรรณกรรมลำดับที่ 2 ของ วีรพร นิติประภา ถัดจาก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ผลงานที่ส่งให้เธอได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2558 ทั้งๆ ที่นั่นเพิ่งเป็นแค่นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตวีรพรเท่านั้น แถมยังทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนขวัญใจมหาชนในเวลาอันรวดเร็ว

     เรื่องราวในผลงานเขียนเล่มล่าสุดดังกล่าวของวีรพรร้อยรัดไปด้วย ‘เรื่องเล่า’ ที่มาจากความทรงจำอันหลากหลายของตัวละคร ซึ่งมีจุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ครอบครัวคนจีนครอบครัวหนึ่งซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเล่าคู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ น่าแปลกตรงที่ว่าเมื่อลองนำจิ๊กซอว์ของเรื่องราวย้อนยุคที่เกิดขึ้นในพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ มาปะติดปะต่อกันแล้ว เราจะพบว่ามันสะท้อนถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมถึงโลกปัจจุบันได้อย่างน่าทึ่ง

     พร้อมกันนั้น ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ด้วยพื้นฐานของเรื่องเล่าจาก ‘ความทรงจำของทรงจำ’ ที่เป็นมาของประเทศไทยและรวมไปถึงโลกใบนี้ เรายังคุยกันกับนักเขียนรางวัลซีไรต์สาวใหญ่คนนี้ถึงแนวโน้มของเรื่องเล่าที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งวีรพรก็เล่าถึงซีนาริโอที่เธอจินตนาการเอาไว้ให้เราฟังไว้อย่างน่าตกใจ

     แต่อย่างที่เธออธิบายกับเราว่า “เราสามารถทำอะไรกับเรื่องเล่าได้บ้าง” ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อมีการเล่าถึง เรื่องราวก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

วีรพร นิติประภา

 

ทราบว่าอันที่จริง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ เป็นเรื่องแรกที่คุณตั้งใจจะเขียน แต่ก็หยุดมาเขียนไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตก่อน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

     คือตอนแรกๆ เราคิดว่าอยากจะเขียนเล่มนี้เป็นเล่มแรก แต่พบว่าตอนนั้นยังไม่มีวิธีเขียน และวิธีคิด คือเราอยากจะเล่าเรื่องของครอบครัวจีนครอบครัวหนึ่ง แต่จะเล่าด้วยวิธีการอย่างไรให้ไม่เหมือนกับ ‘อยู่กับก๋ง’ หรือแบบนิยายจีนทั่วๆ ไป นี่คือประเด็นแรก อีกอย่างก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในปี 2553 ซึ่งทุกครั้งเวลาที่ใครมาสัมภาษณ์เราก็มักจะบอกว่าไม่ค่อยจะแฮปปี้กับความรุนแรงของปีนั้น ซึ่งเรามีความรู้สึกว่ามันเยอะเกินไปสำหรับประเทศหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงและมีคนตายกันเยอะ ส่วนเรื่องใครจะถูกหรือใครจะผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

     แต่ปัญหาก็คือว่า เฮ้ย มันขัดแย้งกันเกินไป แล้วมันไม่ใช่จุดจบไง แถมก็ยังจะเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ หรือปี 53 เรารู้สึกว่ามันเครียดและกระทบความรู้สึก เพราะฉะนั้น เราจึงเริ่มด้วยการเขียนไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตก่อน แล้วก็พูดเรื่องเดียวเลย คือเรื่อง ‘มายาคติ’ โดยเขียนนวนิยายรักขึ้นมาเรื่องหนึ่ง แล้วระหว่างทางก็ทดลองวิธีเขียนและวิธีคิดไปด้วยว่า มีนิยายอยู่ในมือเรื่องหนึ่งแล้วเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง

     เพราะฉะนั้น ถ้าได้อ่าน ไส้เดือนฯ ก็จะพบว่ามันเต็มไปด้วยเทคนิค ตั้งแต่การวางรูปประโยคหรือการทวิสต์ในประโยคเดียวกัน การวางโครงเรื่องตัดต่อไปมา ฯลฯ เหมือนเป็นการค้นหาและซ้อมมือ พอเขียน ไส้เดือนตาบอดฯ เสร็จปุ๊บ ส่งต้นฉบับปั๊บ ก็ขึ้น พุทธศักราชฯ ต่อเลย

 

การหยุดเขียน พุทธศักราชอัสดงฯ เพื่อเขียน ไส้เดือนตาบอดฯ มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากไอเดียต้นฉบับ จนมาถึงผลลัพธ์ที่เสร็จสมบูรณ์ของผลงานชิ้นล่าสุดนี้ไหม หรือมันช่วยในการเขียนเรื่องถัดมาอย่างไร

     เนื่องจาก ไส้เดือนตาบอดฯ พูดถึงมายาคติ สิ่งที่เราได้จากการเขียนเรื่องแรกก็คือ เราพบว่าเรื่องเล่ามันไม่จริงได้แค่ไหน หมายถึงลักษณะของการเล่าเรื่อง ซึ่งเราสามารถเล่าเรื่องราวให้มีอภินิหารได้แค่ไหน ไม่จริงได้แค่ไหน ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงได้แค่ไหน คือเดิมอาจจะเป็นเรื่องเล่าเรียบๆ แต่พอมาเริ่ม พุทธศักราชฯ ปุ๊บ เรารู้แล้วว่าเราสามารถจะเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงที่แบบว่า เฮ้ย เหนือจริง บีบคั้นคนอ่านได้อย่างไร ซึ่งเป็นการเล่าว่าเรื่องเล่าทำอะไรได้บ้าง

 

แล้วเรื่องเล่าทำอะไรได้

     สมมติว่าคุณเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมา หากเขียนอย่างธรรมดา ก็จะบอกว่า พระนเรศวรมหาราชชนช้างที่ด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ต้องหยุดพักรบ แล้วหลังจากนั้นจึงรบกันต่อ และชนะเสร็จศึกเมื่อ ปี xxxx อะไรก็ว่าไปอย่างนี้ใช่ไหมคะ แต่เมื่อเป็นเรื่องเล่าปุ๊บ เราสามารถที่จะ เฮ้ย ในวันที่ชนช้างเนี่ยนะ มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และมีช้างโผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ นั่นคือลักษณะของการใช้เรื่องในการเล่า ซึ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนหรืออาจจะสมจริงขึ้น อันนี้ก็ไม่ทราบ

 

จากที่เมื่อสักครู่คุณบอกว่าสิ่งที่นำเสนอในเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต คือมายาคติ แล้วสำหรับพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ สิ่งที่คุณตั้งใจจะนำเสนอคือเรื่องอะไร

     เล่มนี้เราอยากจะพูดถึงหลายเรื่องมาก เรื่องที่หนึ่งคือ ‘ความทรงจำของทรงจำ’ ซึ่งก็คือเรื่องเล่านั่นแหละ เรื่องการถ่ายทอดเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์ที่หายไปของการย้ายถิ่นฐานของผู้คนซึ่งเป็นคนนอก ซึ่งเมื่อสักประมาณ 60-70 ปีที่แล้ว ในเวลานั้นเรายังมองว่าคนจีนเป็นคนนอกอยู่เลยนะ คุณเป็นคนนอกของสังคม คุณเป็นลูกชายที่ไม่ได้เป็นคนของตระกูลเหมือนกับ ‘จงสว่าง’ เป็นผู้หญิงซึ่งไม่ได้เป็นผู้หญิงตามแบบแผนเหมือนกับ ‘ศรี’ อะไรทำนองนี้ นอกเหนือจากนั้นก็คือการสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ และการสูญหายของเรื่องราว มันเล่าอยู่ในเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น คุณมีสิทธิ์ที่จะอ่านแล้วเชื่อหรือไม่เชื่อ คุณอาจจะเชื่อบางตอนก็ได้

     ซึ่งใน พุทธศักราชอัสดงฯ เราจะเปลี่ยนน้ำเสียงในการเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เพราะเราต้องการจะบอกว่า นี่ไงเรื่องเล่า ซึ่งมักจะมีทัศนคติ อารมณ์ มีสิ่งอื่นๆ เข้ามาเจือด้วย ซึ่งครึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ทุกที่ในโลกก็ล้วนมีส่วนของเรื่องเล่า

คือเราไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าเมื่อมาถึง ณ จุดหนึ่งของกาลเวลาแล้วมองย้อนกลับไป อันไหนจริงหรือไม่จริง และขึ้นอยู่กับใครเป็นคนเล่าด้วย

วีรพร นิติประภา

 

ขึ้นอยู่กับว่าใครเล่า และมีวิธีการเล่าอย่างไร

     ใช่ และคุณเลือกที่จะเชื่อความจริงชุดไหน อย่างในเรื่องนี้เราก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่ narrator ที่ไม่มีตัวตนและเป็นคนเล่าเรื่องซ้อนกับ ‘ยายศรี’ เขาก็โกหก คุณจะเห็นได้ว่าเล่าไปได้สักระยะเขาก็จะเปลี่ยนน้ำเสียงไปตามตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจงสว่าง จิตรไสว หรือว่ายี่สุ่น ฯลฯ ทุกคนก็เล่าอย่างที่ตัวเองอยากจะเล่า

 

แล้วอย่างในเรื่องนี้มีการบิดหรือปรับประวัติศาสตร์บ้างไหม และจากการทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์เพื่อมาเขียนนวนิยาย ค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้าง

     แค่เล่าเป็นไทม์ไลน์เท่านั้นเอง ไม่ได้ลงลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองเลยสักตอน นอกจากเรื่องกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะเราคิดว่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้ช่างตื่นเต้นเร้าใจ อย่าง จอมพล ป. กระโดดว่ายน้ำเข้าฝั่ง มีการทิ้งระเบิดเรือ อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ใช่เรื่องจริง เราก็ไม่ทราบ คือเราไม่มีสิทธิ์รู้ไง เราก็รู้เท่าๆ กับคนอ่านนั่นแหละ แล้วเราไม่มีสิทธิ์ที่จะบิดหรือไม่บิด แต่ว่าที่เล่าเรื่องครอบครัวนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองขั้วด้วยเหมือนกัน ว่าจริงๆ แล้วความขัดแย้งทางการเมืองของเราอีกนัยหนึ่งก็คือเหมือนพี่กับน้อง

     คือคนในชาติเดียวกันก็เหมือนพี่กับน้องเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในซีเรีย จะสงครามกลางเมืองที่เมืองจีน จะความขัดแย้งในเมืองไทย หรือที่ไหน มันก็เป็นเรื่องของคนชาติเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็มีความรักมีความอาทรกันอยู่ในนั้น

     ไม่รู้ว่าเกี่ยวกันไหม แต่เรื่องแปลกประหลาดระหว่างทำงานค้นคว้าหาข้อมูลก็คือ เราหารูปคู่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เจอ คืออย่างที่เราทราบกันดีว่าเขาตีคู่มาด้วยกันตั้งแต่สมัยคณะราษฎร์ใช่ไหมคะ ซึ่งอันที่จริงเขาอาจจะเคยกินไวน์ด้วยกันทุกเย็นก็ได้ เพราะเขาเป็นคณะราษฎร์ที่ก่อการมาด้วยกัน

     พอเราเห็นฉากแบบนี้ ก็หมายความว่า เมื่อมาถึงยุคของเรา ประวัติศาสตร์ของจอมพล ป. กับปรีดี ได้ถูกเล่าอีกแบบหนึ่งแล้วว่าเขาขัดแย้งกันมากมาย เวลาคนหนึ่งขึ้น คนหนึ่งก็ลง จนถึงวันที่ลงทั้งคู่แล้วเราก็ไม่มีทางรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร เราก็รู้เท่าที่ถูกเล่าไง

     เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์มันก็เป็นอย่างนี้ ประวัติศาสตร์ที่เราได้ยินกันทุกวันนี้มันถูกดึงออกไปบ้าง ถูกใส่เข้ามาบ้าง ถูกบิดบ้าง ไม่บิดบ้าง แล้วเราก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่ามันชุดไหนไง เพราะว่าประวัติศาสตร์มันร้อยกันเหมือนโซ่

 

คุณคาดหวังว่าคนอ่านจะได้รับอะไรจากหนังสือเล่มนี้

     ทฤษฎีการรับรู้ของเราคืออย่างนี้ เวลาเราเล่าเรื่องขึ้นมาอาจจะคาดหวังของเราอยู่ลึกๆ ว่า เฮ้ย คนอ่านน่าจะได้อย่างนี้ แต่เขาก็อาจจะไม่ได้ เขาอาจจะไปได้อีกอย่างหนึ่งไง ใช่ไหมคะ

     อย่างในเรื่องนี้ระหว่างที่กำลังเล่าถึงเรื่องพ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน เราก็สามารถที่จะเล่าเรื่องความไม่ยุติธรรมผ่านตรงนี้ได้เลย โดยที่เราไม่ต้องไปบอกว่า เฮ้ย พ่อแม่จะต้องรักลูกทุกคนอย่างยุติธรรม หรือบอกว่าในประเทศนี้คนมันต้องได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน แต่ในระหว่างที่อ่าน ผู้อ่านก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินเรื่องได้โดยตัวของเขาเอง

 

คุณเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าตอนที่เขียน ไส้เดือนตาบอดฯ คุณประสบปัญหากับการจัดการตัวละครอย่าง ชารียา ที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตายสักที จึงเขียนให้ป่ากินตัวละครตัวนี้ แต่ทำไมในเล่มนี้เราจึงได้เห็นจุดจบของตัวละครแทบจะทุกตัว แถมแต่ละคนยังพบกับจุดจบอันน่าเศร้า

     เผอิญว่าเราอยากจะเล่าถึงเรื่องนี้ไงคะ มันจึงต้องจบลงแบบนี้ ถ้าเกิดคุณเป็นคนรุ่นเรา ซึ่งสมัยที่เกิด 14 ตุลาคม ตอนนั้นเราอายุ 12 ปี พอ 6 ตุลาคม เราก็อายุ 14 ปี ตอนพฤษภาทมิฬ ก็อายุ 30 ปีพอดี แล้วยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 ขึ้นมาอีก เราก็มีความรู้สึกว่า เฮ้ย เรื่องนี้มันโหดว่ะ คือในลักษณะของรัฐเราก็เข้าใจว่าก็มีเหตุผล มีความจำเป็นในทุกครั้งของเหตุการณ์ที่คุณจะต้องจัดการกับคนจำนวนหนึ่ง แต่ว่าหลังจากนั้นเราก็ลืมไง หลังจากนั้นเราก็ยอมให้มันเกิดขึ้นอีก

 

เราไม่ได้มีปัญหาที่ประเทศนี้มี 2 ขั้ว คือจะมีสัก 3 ขั้ว หรือ 10 ขั้วเลยก็ได้ แต่มันจะต้องไม่เป็นแบบนี้สิวะ มันต้องเถียงกัน ด่ากันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่มันจะต้องไม่มีข้างใดข้างหนึ่งจัดการยุติข้อขัดแย้งนี้ด้วยอาวุธ เราว่ามันผิด มันไม่ศิวิไลซ์ ไม่เป็นมนุษย์

     ตอบคำถามนั้นในกรณีของ พุทธศักราชอัสดงฯ เราไม่ได้มีความยากลำบากในการจัดการกับตัวละครเหมือน ไส้เดือนตาบอดฯ แต่มีความยากลำบากในการเซตไทม์ไลน์ให้สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการจะพูด นั่นก็คือประเด็นที่ว่า ไม่ว่าจะขัดแย้งกันอย่างไร ก็ไม่ควรมีการยุติความขัดแย้งด้วยความรุนแรง

 

ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะกลัวว่าบ้านเมืองเราจะย้อนรอยไปเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก

     แน่นอน สำหรับเราที่อายุ 54 ปีแล้ว เราไม่กลัวอะไรมากเท่ากับการที่ เฮ้ย ประเทศนี้จะก้าวไปเป็นเหมือนกับซีเรีย มันสามารถเป็นได้นะในความรู้สึกของเรา เพราะสมมติว่ายังมีความขัดแย้งในลักษณะนี้อยู่ ดูในสภาพการณ์คุณจะพบว่าความขัดแย้งมันลึกมากกว่าที่คุณคิด คุณแทบจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เลย และสมมติว่าหากคุณไม่ยืนยันว่า เฮ้ย ไม่ว่าจะขัดแย้งกันอย่างไร ห้ามฆ่ากัน ในที่สุดมันก็จะมีการฆ่ากันเกิดขึ้น

     เพราะฉะนั้น เมื่อเราเขียนนิยายเรื่องนี้ เราจึงไม่มีทางเลือกว่า เฮ้ย เราจะประนีประนอมกับคนอ่านไหม ถ้าเราจะอธิบายถึงการฆ่าหมู่และการสิ้นชาติ เราจะต้องฆ่าตัวละครให้หมดเลยไหม พอมาถึงเรื่องนี้เราไม่มีทางเลือกเลย

 

วีรพร นิติประภา

 

ในฐานะที่คุณเฝ้ามองเรื่องนี้และพินิจกับมันจนได้นวนิยายขึ้นมาถึงสองเรื่อง ที่เอาเข้าจริงๆ ก็พูดถึงเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรา คุณคิดว่าเราควรจะจัดการหรือมองความทรงจำของทรงจำของประเทศนี้อย่างไรดี

     คนมักจะพูดกันว่า ประเทศเราไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังการล้อมปราบคนเสื้อแดงปี 2553 มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่เท่าเดิม กฎข้อที่หนึ่งของประวัติศาสตร์คือ มันซ้ำรอยเดิมเสมอจนกว่าคุณจะเรียนรู้เรื่องนั้น เมื่อเราเรียนรู้จากมันไม่ได้มันก็จะเกิดขึ้นอีก จนกว่าคุณจะยืนยันว่า เฮ้ย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิด

     คือพวกเรายังติดอยู่ที่ปี 2553 กัน มันเป็นเรื่องผิดที่คุณยอมให้มีการตายเกิดขึ้นมากมายขนาดนั้น ไม่ว่าคุณจะอ้างว่า เฮ้ย มันจำเป็น เพราะว่าพวกนั้นมันเป็นเสื้อแดง หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกิดคุณยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ครั้งหลังสุดตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 100 ใช่ไหม อย่างคราว 6 ตุลาฯ อย่างนี้ คุณไม่มีทางรู้เลย น่าจะสักประมาณ 2,000 ได้ 14 ตุลาฯ ก็น่าจะเป็นพัน ซึ่งคุณไม่สามารถบอกได้ว่าครั้งหน้าการตายจะอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่ และคุณก็บอกไม่ได้ว่าอีกฝั่งหนึ่งเขาจะไม่ลุกขึ้นมา ถ้าเกิดเขาลุกขึ้นมาบ้างแล้วจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือซีเรียอย่างนั้นเหรอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นที่ซีเรียก็เริ่มจากอย่างนี้ เกิดความขัดแย้งที่ลงลึก ไปดูภาพถ่ายสิ แต่ก่อนดามัสกัสที่เป็นเมืองหลวงของซีเรียนี่รวยประมาณสุขุมวิทเลยนะ มันน่ากลัวนะ

 

เริ่มมีเรื่องในใจสำหรับเขียนเป็นหนังสือเล่มต่อไปหรือยัง

     เรื่องสั้นค่ะ คิดว่าจะเขียนรวมเรื่องสั้น คือเราเริ่มสนใจคนรุ่นใหม่ แล้วก็อยากจะเขียนถึงคนยุคนี้สักที

 

แล้วสนใจคนรุ่นใหม่ในแง่มุมไหน

     พูดถึงความล่องลอย และปุถุชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าเรื่องหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่มันกระจายไปทั่วทั้งโลก ตั้งแต่ ‘Brexit’ ไปจนถึงการที่คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งก็เกิดจากความไม่เสถียรของการเมือง และสำหรับประเทศเรา คุณคิดว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งไหม จะเลือกอย่างไร เราจะได้รัฐบาลที่มีอายุนานเท่าไหร่ จะมีการประท้วงเกิดขึ้นอีกไหม อะไรอย่างนี้ ยังไม่รวมถึงเรื่องสภาวะโลกร้อนหรืออะไรอย่างอื่นอีกนะ

     คนรุ่นใหม่เป็นเจเนอเรชันที่จะต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ คือไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในระดับค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่เราเคยผ่านมา ไม่เหมือนกับโลกร้อนก็ร้อนขึ้นทีละนิดๆ ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าคือ climate change หมายความว่ามันอาจจะร้อนทีละ 10 ปี หนาวทีละ 10 ปี อะไรอย่างนี้ ฝนตกฉิบหาย น้ำท่วม ทุเรศทุรัง ซึ่งจะนำมาซึ่งการขาดแคลนอาหารและความเหลื่อมล้ำที่ทุกวันนี้ไม่ได้ลดลงเลยนะ แถมยังใหญ่ขึ้น

     โอเคว่าคนจนสมัยนี้อาจมีทีวีแล้ว สมัยก่อนหน้านี้คนจนไม่มีทีวีนะ แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นไง คนระดับล่างมีค่าโทรศัพท์มือถือที่ต้องจ่ายรายเดือน มีโน่นมีนี่ที่ต้องผ่อน คนจนสมัยก่อนมีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง จะว่าสมัยก่อนมันดีกว่านี้ก็ไม่ได้ แต่ว่าสมัยก่อนคุณไปลำห้วยคุณก็ไม่อดตายแล้ว คุณก็เก็บผัก ปลูกข้าว จับปลา คือถึงจะจนแต่ก็ไม่จนแบบทุกวันนี้ ทุกวันนี้หาเงินไม่ได้ ขายข้าวไม่ได้มันไม่มีอะไรเลยนะ แถมห้วยมันก็ไม่มีปลาจะให้จับแล้ว ผักริมรั้วก็ไม่มีแล้ว อะไรอย่างนี้ ในขณะที่สมัยเราเด็กๆ ไม่เจอหรอก คนรวยที่มีเงินเป็นหมื่นหรือสองหมื่นล้านแบบทักษิณหรือซีพี ตอนนั้นแค่เศรษฐีสักระดับสิบล้าน ห้าสิบล้าน ร้อยล้าน ก็หรูแล้ว แต่ตอนนี้คนรวยก็มีระดับที่รวยและรวยยิ่งขึ้นไปอีก

 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องเจอแล้ว คุณมองคนรุ่นใหม่ว่าเป็นอย่างไร

     อย่างหนึ่งที่คิดก็คือคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนยุคเราตรงที่เขาไม่มีความหวังมากนัก อย่างตอนเด็กๆ เราก็เคยได้ยินเรื่องของเซ็นทรัลใช่ไหม ว่าแต่เดิมเขาเป็นร้านขายของชำ และเติบโตขึ้นมาเป็นอภิมหาอาณาจักรการค้า เรื่องแบบนี้มันแทบจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วไง มันไม่มีพ่อแม่ลูกเจียไต๋เปิดโรงงานห่อผักแล้วกลายมาเป็นซีพี ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว นี่คือผลพวงของระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการผูกขาด และมันไม่ได้เป็นแค่ที่ประเทศไทยที่เดียว แต่เป็นทั้งโลก

     ดังนั้น คนรุ่นใหม่ตอนนี้คุณมีความฝันหรือมีความหวังอะไร ก็ฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ สักร้านหนึ่ง แล้วก็เนอะ มีบ้านสักหลังหรือคอนโดฯ ราคาสักประมาณ 5 ล้าน มีรถคันหนึ่ง มีเงินใช้จ่าย ไปเที่ยวได้วันๆ หนึ่งก็โอเคแล้ว แต่คุณไม่มีความหวังแบบคนรุ่นเราแล้วไง คือหวังว่าวันหนึ่งฉันจะเป็นเซ็นทรัล หรือสักวันหนึ่งฉันจะมีบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ หรือจะเป็นเจ้าของนิตยสารสักเล่มหนึ่ง ก็ไม่มีทางแล้ว

 

แสดงว่าคุณมองสถานการณ์ตอนนี้ว่าเป็นเหมือนฟองสบู่

     เป็น ไม่ใช่เหมือนจะเป็น เป็นอย่างรุนแรงด้วย เพราะโอกาสของคุณจะน้อยลงไปเรื่อยๆ คุณมีทางเลือกว่าคุณจะเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ของตัวเอง หรือจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในบริษัท คุณไม่มีสิทธิ์ฝันอะไรใหญ่ๆ ได้อีกแล้ว

 

แล้วอย่างสตาร์ทอัพที่คนรุ่นใหม่นิยมทำกันอยู่ล่ะ

     เขาก็คงไม่มีทางเลือก แต่คุณก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามันเป็นกับดัก เขาทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากจะหวัง หวังว่าอาจจะเป็นฉันก็ได้ที่จะมีสาขาสตาร์บัคส์ของตัวเอง คือตอนคุณทำสตาร์ทอัพ คุณไม่ได้หวังแค่จะมีร้านกาแฟร้านเดียวหรอกใช่ไหม คุณก็หวังว่าคุณจะเป็นอย่างสตาร์บัคส์ไง แต่อย่างไรล่ะ สตาร์บัคส์ยึดทุกทำเลที่ดีไปหมดแล้ว แล้วร้านคุณก็ไปตั้งอยู่ประมาณหนองจอกอย่างนี้ ใครเขาจะมานั่งร้านคุณ รอดน่ะรอดอยู่ ก็มีคนแถวบ้านมาก็มี ซื้อกาแฟแก้วเดียวก็นั่งไปโน่นแน่ะ ชั่วฟ้าดินสลาย เช้าจรดเย็น เพราะว่าที่บ้านไม่มีแอร์ ใช่ไหมคะ อย่างนี้คือคุณไม่สามารถจะขยายเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัทเชน คุณไม่สามารถแม้กระทั่งจะเป็นชายสี่หมี่เกี๊ยวนะจะบอกให้ คือคนในรุ่นเรามันทำได้ไง ก็คงเป็นเจเนอเรชันสุดท้ายแล้ว แต่คนรุ่นใหม่ที่จะทำได้สำเร็จคงน้อยมาก

 

วีรพร นิติประภา

 

อ่านมาถึงตรงนี้คนรุ่นใหม่คงจะคิดว่า ‘ตายแล้ว นี่เราจะทำอย่างไรดี’

     คือเราเข้าใจว่าในยุคของคุณ คุณจะต้องเผชิญหน้าการกับเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ หลายๆ ด้าน หนึ่งในคือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งคุณจะต้องหาวิธีการที่จะลดการผูกขาดทางการค้าลงให้ได้ มันอาจจะต้องขึ้นระบบเศรษฐกิจใหม่เลยก็ได้ เพราะระบบทุนนิยมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มันไม่เวิร์ก มันถ่างช่องว่างให้กว้างเกินไป กว้างจนที่ไหนๆ ก็แล้วแต่ คือไม่ใช่ว่าประเทศเราประเทศเดียวนะที่สุ่มเสี่ยงต่อสงครามกลางเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นที่อเมริกา ณ วันนี้ก็เป็นแบบนั้น Brexit ก็เหมือนกัน คือที่บอกว่าคุณไม่มีความหวังเนี่ย จริงๆ แล้วคุณแค่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

 

คุณมีลูกชาย ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะนึกเป็นห่วงเขาด้วยใช่ไหม

     เรารู้สึกว่าเราเป็นคนแก่ อาการแก่มันเริ่มมานานแล้ว คือเราเริ่มเป็นห่วงเด็กยุคต่อไปว่าเขาจะ handle สิ่งต่างๆ นั้นอย่างไร ความจริงเราพบว่าคนรุ่นเราเป็นรุ่นเห็นแก่ตัวซึ่งโชคดีที่สุดแล้ว เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่สงครามสงบพอดี อย่างเราเกิดปี พ.ศ. 2505 ซึ่งสงครามโลกครั้งที่สองก็เลิกมาได้ประมาณ 15 ปีแล้ว ตอนนั้นยุคอุตสาหกรรมเริ่มไปแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศก็เพิ่งเปิดการค้าเสรี คนรุ่นเราใช้ทรัพยากรกันอย่างเต็มที่ชนิดที่เรียกได้ว่าโอ่โถงมากเท่าที่หลังสงครามจะมีถลุงให้ใช้ได้ ในขณะเดียวกันก็ผลิตมลพิษไปด้วย เรามีการแพทย์ที่ทันสมัยพอสมควรที่สามารถช่วยยืดชีวิตของเราให้ยืนขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนหน้าเราได้ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ผิดกับในยุคก่อนหน้านี้

     เราผลิตมลพิษให้พวกคุณ ทิ้งขยะเอาไว้ให้พวกคุณจัดการ เราทิ้งสารพัดอย่างไว้ให้คนรุ่นคุณ ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ทิ้งให้เราน้อยมาก นอกจากบาดแผลจากสงครามด้วยความรักชาติแบบแปลกๆ เพราะว่าคนรุ่นนั้นเขาผ่านจอมพล ป. มา ใช่ไหมคะ แต่ว่าพอมายุคเราก็เริ่มพังก์แล้ว เริ่มมีอิสระ เผายกทรง ผู้หญิงทำงานได้ ไม่ค่อยยึดติดอะไร และเราก็กำลังจะตาย ก็เหลือคนยุคคุณ แล้วเราก็เลือกทรัมป์ เราก็เป็นคนที่โหวต Brexit แล้วก็ทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นคุณ

     ทีนี้คำถามของเราก็คือ จริง ๆ ถ้ามองเรื่องนี้อย่างง่ายสุดก็คือ แอนะล็อกกับดิจิตอล การทำงานแบบแอนะล็อกมันเป็นส่วนๆ ใช่ไหมคะ แอนะล็อกเริ่มในยุคเรา ก่อนหน้านี้เป็น mechanism พอยุคของคุณมันเป็นดิจิตอล ซึ่งทุกอย่าง operate ทั้งองคาพยพ อย่างนั้นเรื่อง Brexit แน่นอนให้เด็กโหวต คุณก็จะต้องโหวต stay คุณไม่โหวตออกหรอก เพราะว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของโลก คุณจะไม่โหวตทรัมป์ เพราะว่ามนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อะไรอย่างนี้ ทีนี้ยุคเราก็คือยุคที่เขาเรียกว่าเบบี้บูมเมอร์ เอาแค่ในบ้านเรานะ มีแม่ มีพี่ชาย มีผัวเรา มีพี่ 4 คน มีลูกชายของเรา 1 คน แอนะล็อก 4 ดิจิตอล 1 โหวตให้ตายลูกเรามันก็แพ้

     สิ่งที่คุณเผชิญอยู่คือเรื่องนี้ ช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาใหญ่มากที่ทำให้คุณไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะว่าบูมเมอร์ยังอยู่ ซึ่งประชากรในยุคนี้มีเยอะมาก แค่ชื่อมันก็บูมเมอร์แล้ว คือสงครามสงบ เศรษฐกิจเริ่มดี มีอุตสาหกรรม ออกลูก บ้านหนึ่งมีลูก 5 คน โหวตอย่างไรคุณจะชนะ แล้ววิธีคิดก็เป็นอย่างนี้ วิธีคิดแบบว่ากูมีชาติ ชาติของกู แล้วชาติมันเป็นอะไร เส้นประบนแผนที่ไง คนในยุคคุณมันไม่มีคำว่าชาติแล้ว มันก็ไหลถ่ายเท

     แล้วก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร ก่อนหน้าสงครามโลก คนจีนก็เข้ามาอยู่เมืองไทย ตอนสักประมาณรัชกาลที่ 6 มีประชากรจีนอยู่ประมาณ 40% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ก็อิมพอร์ตเข้ามา ไหลถ่ายเท และก็อยู่อาศัยปนกันไป แต่ตอนนี้เป็นระบบคิดแบบแอนะล็อกเป็นใหญ่ ก็แบ่งแยกว่า ไอ้นี่คนต่างชาติ ไอ้นี่คนไทย มีที่ไหนคนไทย ไม่เป็นเขมร ก็ต้องเป็นมอญ ไม่เป็นมอญ ก็เป็นลาว ไม่เป็นลาว ก็ต้องเป็นจีน แต่มันก็ปนเปกันอย่างนี้อยู่แล้ว

 

ในขณะที่พูดถึงเรื่องที่เราเพิ่งพูดกันไปเมื่อสักครู่ และยังเขียนถึงเรื่องที่เศร้าและหมองหม่นขนาดนี้ ทำไมคุณจึงเป็นคนที่ดูมี energy ที่ positive ได้ขนาดนี้

     ข้อที่หนึ่ง เราอาจจะเจอมาเยอะ ข้อสอง คือเราไม่รู้สึกเศร้ามากเหมือนอย่างที่คนอ่านรู้สึก แต่เราเข้าใจว่าคุณโตมาในเจเนอเรชันที่มันมียาแก้ปวดหรือยาต้านเศร้าไง คุณไม่ได้รับอนุญาตให้เศร้ากับอะไร เข้าใจที่พูดไหม คือในยุคของเรา ซึมเศร้าเหรอ ก็ซึมเศร้าไปสิ

     คือในโลกนี้มันควรจะมีคนที่ร่าเริง คนเศร้า คนเฉยๆ ใช่ไหมคะ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีไง มันมีแต่ภาพว่าเจเนอเรชันใหม่ต้องกินน้ำอัดลมแล้วก็กระโดดโลดเต้นมีความสุข ดูทีวีคุณก็เห็นครอบครัวผาสุกนั่งเรียงกัน ลูกน่ารัก เมียสวย พ่อหล่อ ในความเป็นจริงชะโงกดูข้างบ้านคุณสิ มีที่ไหน ลูกก็เวรตะไล ส่วนพ่อแม่ก็… ใช่ไหมคะ

     ในความเป็นจริงเราก็แค่อยู่กับมัน จนบางทีเราก็ไม่คิดว่ามันเศร้าหรืออะไรมากมาย คุณเห็นไหมว่าเรื่องเล่าสามารถทำอะไรได้ มันมีอารมณ์ มีน้ำเสียง มันมีสิ่งต่างๆ เข้ามา ซึ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเศร้ากว่าที่ควรจะเศร้า แต่ว่าตัวเราไม่รู้สึกว่ามันแย่ขนาดนั้นไง เพราะก็มีครอบครัวอีกล้านครอบครัวในโลกที่เป็นแบบนี้ พยายามจะสร้างตัวให้ได้ แล้วก็ขึ้นแล้วก็ลงๆๆ บางคนไม่ได้ขึ้นอีกเลยก็มี

     แล้วก็อย่างที่บอกแหละว่าคุณมียาต้านเศร้าไง คุณมียาแก้ปวดด้วย ปวดหัวก็ไม่ได้ ไม่ชินกับความปวด ไม่ชินกับความเจ็บ เด็กรุ่นใหม่นี่ไม่เจ็บ เออ ปวดหัวหน่อยแม่งเอายาแก้ปวดให้กิน เป็นหวัดกินยา ไอกินยา คือคุณไม่ได้รับอนุญาตให้เศร้า ไม่ได้รับอนุญาตให้ร้องไห้ คุณไม่ได้รับอนุญาตหลายๆ อย่างจนคุณกลัวชีวิต

 

คือจะบอกให้ลองเจ็บปวดดูบ้างอย่างนั้นหรือ

     ก็ตามปกติค่ะ ปวดหัวก็นอนสิคะ ก็นอนปวดตุ้บๆ ไปสิคะ ใช่ไหมคะ แล้วคุณก็ เออ จะพบว่าพระเอกของเรามันไม่ได้ปวดสักเท่าไหร่เลย เมื่อคุณไม่เคยเจ็บเลย คุณก็รู้สึกว่า โหย มันเจ็บอะไรขนาดนี้ เราก็ไม่คิดว่าเราเป็นคนโหดอะไรมากมายนะ อย่างที่บอกว่า เขียนไปก็ร้องไห้ไปด้วย เออ เศร้าว่ะ เออ เศร้านะตอนนี้ เขาน่าจะได้อยู่ด้วยกันนะคู่นี้ แต่ทุกคนก็ไม่ได้อยู่กับคนที่อยากได้เสมอไปหรอก มันไม่ได้เศร้าขนาดนั้นหรอก