สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล

เปิดที่มาของรูปภาพที่ถ่ายด้วยหัวใจของ 7 ช่างภาพงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะตราตรึงอยู่ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยตลอดไป

เราเคยทำความรู้จักกับช่างภาพทั้งเจ็ดจากกลุ่ม สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล ที่ร่วมถ่ายทอดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ อันยิ่งใหญ่ตระการตามาแล้ว ได้แก่ อาจารย์เกรียงไกร ไวยกิจ, กัมพล คุ้มวงษ์, ชฎาธาร ฉายปุริยานนท์, ชัชวาล ดาจันทร์, ณัฐสุดา จันทระ, พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี และ อัครินทร์ อัศววารินทร์ ซึ่งพวกเขายังคงหลงใหลในการถ่ายภาพบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยหัวใจ โดยไม่หวังผลในเชิงธุรกิจ

     เมื่อมาถึงวันที่คนไทยทั้งประเทศจะได้พบกับความปีติยินดีอีกครั้ง จากงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง รัชกาลที่ 10 เราก็อดตื่นเต้นไปพร้อมๆ กับพวกเขาด้วยไม่ได้ พวกเราจึงคุยกันว่าจะร่วมมือกันถ่ายทอดภาพความประทับใจที่เกิดขึ้นในงานพระราชพิธีทั้งสามวันนี้ให้ออกมายิ่งใหญ่สมพระเกียรติ และเป็นการถ่ายทอดความงดงามของริ้วขบวนเสด็จ รวมถึงงานพระราชพิธีที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กับคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสถานที่รับเสด็จ เพื่อรับชมความประทับใจเป็นครั้งแรกในชีวิตของเราไปด้วยกัน

     ก่อนที่จะได้รับชมภาพที่ถ่ายด้วยความรัก ความเคารพ และความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของประเทศไทย เราขอชวนคุณไปพบกับความคิด แรงบันดาลใจ และความมุ่งมั่นในการถ่ายรูปงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามในมุมความคิดไม่แพ้ฝีมือการถ่ายรูปของพวกเขาเลย

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้เป็นพิธีการสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราอยากรู้ว่างานพระราชพิธียังมีความสำคัญกับพวกคุณในแง่ไหนอีกบ้าง นอกเหนือจากการได้เข้าไปถ่ายรูปในวันงาน

     ณัฐสุดา: เราจะได้เห็นในหลวง รัชกาลที่ 10 อยู่ท่ามกลางประชาชน ซึ่งเป็นภาพที่จะเห็นได้ไม่ง่ายนักในชีวิตนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ที่มีการบันทึกไว้ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน

     และงานพระราชพิธีเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ทั้งในแง่ของความเป็นมา อย่างเช่นกระบวนการเกี่ยวกับน้ำ เราเองก็เพิ่งรู้ว่าล้วนแต่มีความหมายที่บอกกับเราว่าประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไร งานพระราชพิธีไม่ได้จัดขึ้นมาเพียงเพื่อเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดลึกๆ แล้วเราจะเห็นถึงภูมิปัญญา เห็นถึงกุศโลบายหลายๆ อย่างที่คนรุ่นบรรพบุรุษเขาใส่ไว้ในแต่ละช่วงพิธีการ มีทั้งความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ คนอาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ในอดีต การที่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำช่วยให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารในยุคนั้นได้ออกไปทั่วทุกอาณาเขตของแผ่นดินเพื่อสำรวจแหล่งน้ำว่าเป็นอย่างไร มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ประชาชนอยู่ดีกินดีไหม

     อย่างในหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านจะทรงถ่ายรูปไว้เลยว่าแหล่งน้ำตรงนี้ทรุดโทรมแค่ไหน นี่คือความหมายอันลึกซึ้งที่แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประชาชน และข้าราชบริพารต้องออกไปอัพเดตแหล่งน้ำในสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ได้ทรงเริ่มทำโครงการจิตอาสาด้านแหล่งน้ำก็ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโบราณราชประเพณี เราคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นมาของประเทศไทยได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

     เกรียงไกร: เราเคยเห็นแต่ภาพถ่ายงานพระราชพิธีไม่ว่าจะเป็นของรัชกาลที่เท่าไหร่ก็ตาม ส่วนตัวผมก็ไม่คิดไม่ฝันว่าในชีวิตของคนถ่ายรูปคนหนึ่งจะมีโอกาสได้ถ่ายงานครั้งสำคัญในชีวิต และเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนผมเสมอว่าแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นเรื่องสำคัญสำหรับจิตวิญญาณของคนไทยอย่างยิ่ง มีแค่ไม่กี่ประเทศในโลกที่เรารู้สึกว่ามีส่วนในการยึดมั่นวิถีของการดำรงชีวิต ทำให้ตระหนักว่าพระราชพิธีที่สำคัญในครั้งนี้ เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในแนวทางที่เราถนัด นั่นคือการถ่ายรูป

     ผมไม่อยากจะคาดหวังว่าตัวเองจะได้รูปที่ดีมากน้อยแค่ไหน แต่ผมอยากให้วันนั้นเป็นวันที่รวมทุกอย่างของความตื่นตาตื่นใจที่จะได้เห็นในงานพระราชพิธี อยากให้เกิดความประทับใจกับสิ่งที่มักเกิดขึ้น ณ เวลานั้น ได้เห็นขบวนพระราชพิธี นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดที่เราจะจับภาพความทรงจำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้มันต้องมาจากความรู้สึกของเราอย่างแท้จริง ผมเชื่อว่าภาพที่ดีต้องออกมาจากความรู้สึก เมื่อเรากดชัตเตอร์บนพื้นฐานของความรู้สึกที่ดี ก็จะเกิดสิ่งดีๆ ตามมา ผมอาจจะไม่ได้รูปที่ดีที่สุดในชีวิตก็ได้ แต่ผมหวังว่าการได้มีโอกาสไปถ่ายงานพระราชพิธีครั้งนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตของผมก็ได้ที่จะได้ถ่ายงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนั้น การถ่ายภาพครั้งนี้จะเป็นการบันทึกความทรงจำที่จะส่งต่อให้ประชาชนให้ได้เห็นผลงานของพวกเราทั้งเจ็ดคนในแง่มุมที่แตกต่างกันไป

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
อาจารย์เกรียงไกร ไวยกิจ

 

     วรรนธนี: ในฐานะของการเป็นคนไทยคนหนึ่ง แน่นอนว่าในชีวิตเรา งานพระราชพิธีครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่จะได้เห็นสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้น ในฐานะช่างภาพ เราจะพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ภาพที่ดีมากหรือได้แค่ภาพที่เป็นเพียงการเล่าเรื่องบางอย่างในรูปแบบของเรา แต่เชื่อว่าการได้นำหัวใจหรือดวงตาของเรามาเห็นมาอยู่ร่วมกับพิธีการสำคัญนี้จะแสดงถึงความตั้งใจที่เรามี ซึ่งในทุกครั้งที่เราได้ไปถ่ายงานสำคัญช่วงก่อนหน้านี้ เราพบว่างานแต่ละครั้งผู้คน ทีมงานฝ่ายต่างๆ เต็มไปด้วยความรู้สึกของความรักในองค์พระมหากษัตริย์ และความทุ่มเทในการจัดงานเพื่อให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าเราจะได้รูปที่ดีหรือไม่ก็ตาม แต่การได้ไปถ่ายภาพในงานพระราชพิธีคือความประทับใจ และความตั้งใจที่เราอยากส่งต่อไปให้กับคนดูทุกคน

 

     ชฎาธาร: สำหรับผมนั้นเป็นความรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานพระราชพิธีครั้งนี้ การได้เห็นพิธีการสำคัญนี้เป็นครั้งแรกของพวกเราทั้งเจ็ดคน ในชีวิตนี้เราไม่เคยเห็นพิธีการแบบนี้มาก่อนเลย ทั้งขั้นตอนต่างๆ ของโบราณราชประเพณีก็ไม่เคยรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ทำให้มีโอกาสศึกษา ได้รู้ได้เห็น ดังนั้น ก็ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด และพยายามหามุมมองที่สวยงามสมพระเกียรติ จริงอยู่ที่งานพระราชพิธีที่เคยมีมานั้นก็ถือเป็นงานสำคัญ แต่สำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นงานที่เต็มไปด้วยความปีติยินดีของคนไทยทั้งประเทศ

 

     กัมพล: เป็นเรื่องยากมากที่เราจะได้อยู่ในช่วงรอยต่อของพระมหากษัตริย์ งานพระราชพิธีอื่นๆ อาจจะจัดซ้ำๆ ได้ แค่เปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนวิธีการกันไป แต่การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นโอกาสที่น้อยครั้งมากที่ใครสักคนจะได้เข้ามาอยู่ในช่วงของรอยต่อนี้ ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมของประวัติศาสตร์ และได้บันทึกภาพเอาไว้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ยากมาก และเป็นความภูมิใจของพวกเรามากด้วย

 

     ชัชวาล: พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้มีความสำคัญกับพวกเราเท่านั้น เพราะประชาชนชาวไทยอยู่ในภาวะเศร้าโศกมากว่าสองปีแล้ว งานพระราชพิธีครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองรัชกาลใหม่ ซึ่งก็จะสร้างความสุขให้กับประชาชนอีกครั้ง

 

     อัครินทร์: จึงเป็นเรื่องสำคัญของเราในการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเลนส์ แบตเตอรี่กล้อง อุปกรณ์ถ่ายภาพอื่นๆ รวมถึงร่างกายด้วย เพราะตลอดระยะเวลางานพระราชพิธีทั้งสามวันนั้นเราจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ณ เวลานั้น ขณะนั้น เพราะเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้อยู่ในงานพระราชพิธีที่สำคัญของประเทศไทย

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
อัครินทร์ อัศววารินทร์

 

พวกคุณได้เตรียมตัวหาข้อมูลเรื่องงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกันมาพอสมควร อยากรู้ว่าคุณเตรียมตัวเล่าเรื่องงานพระราชพิธีที่สำคัญในครั้งนี้ผ่านภาพถ่ายของตัวเองอย่างไร

     ณัฐสุดา: สำหรับเรา งานพระราชพิธีแต่ละครั้งเป็นการส่งผ่านข้อมูลบางอย่างไปถึงคนรุ่นถัดไป สิ่งที่เกิดขึ้นในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำให้เรารู้ว่า แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวม เป็นรากที่สำคัญของประเทศ และสิ่งที่จะได้เห็นคือความร่วมมือร่วมใจ ความแข็งแกร่ง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกคนที่เกิดขึ้น จะได้เห็นเบื้องหลังของคนที่ทำงานในหลายภาคส่วน จะเห็นทั้งทูตานุทูต เห็นแขกของราชวงศ์ แขกของรัฐบาล และประชาชนที่มารวมอยู่ในที่เดียวกัน คนทุกเชื้อชาติทุกศาสนาจะมารวมอยู่ด้วยกัน แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และแสดงให้เห็นว่าแผ่นดินนี้คือแผ่นดินที่มีเรื่องราว มีความเป็นมา ได้เห็นแล้วก็รู้สึกภูมิใจ เหมือนอย่างตอนที่เราเห็นภาพของในหลวงองค์ก่อนๆ ขึ้นครองราชย์ ถึงแม้จะเป็นภาพนิ่ง แต่เราก็รู้สึกได้ว่าในภาพนั้นมีทั้งความงดงาม มีรายละเอียดให้เห็นถึงความประณีตบางอย่างที่ไม่เคยเห็น และเราก็ไม่เคยรับรู้ว่าในพระราชพิธีนี้มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร เพราะจะเห็นแค่ข้อมูลที่อยู่ในบันทึกของคนรุ่นเก่าที่เคยบันทึกไว้

 

     เกรียงไกร: ย้อนกลับไปในอดีต เอาแค่สมัยอยุธยา ประชาชนก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพระมหากษัตริย์นั้นมีพระพักตร์อย่างไร เพราะขนาดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เวลาเข้าเฝ้าฯ ก็ต้องก้มกราบหน้าจรดพื้น ดังนั้น การเสด็จเลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ประชาชนจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดพระองค์ และพวกเขาจะรู้ว่านี่คือพระมหากษัตริย์ของประชากรในประเทศนี้ ความรู้สึกแบบนี้จะติดแน่นตราตรึงในหัวใจของพสกนิกร เพราะสมัยอยุธยาเราได้แต่จินตนาการว่าพระมหากษัตริย์มีพระพักตร์เป็นอย่างไร แม้แต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประชากรส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าพระพักตร์ของท่านเป็นอย่างไร เวลาท่านเสด็จประพาสต้นถึงไม่มีใครรู้ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเสริมให้ชนในชาติได้มีความรักในสถาบันมากขึ้น ยังแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดที่จะสกัดกั้นเส้นพรมแดนความเป็นพระมหากษัตริย์กับประชาชนให้น้อยลง

 

     กัมพล: เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราเห็นตัวตนชัดเจนขึ้นด้วย เพราะผมมองว่าระบอบพระมหากษัตริย์จำเป็นกับประเทศไทย ทุกคนต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะถึงพิธีพระบรมราชาภิเษก เมื่อไหร่เราจะมีกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นมาสักที หลังจากพิธีการจบเราก็จะอยู่ในยุคของการเปลี่ยนถ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราต้องยอมรับ และประเทศไทยก็พิสูจน์แล้วว่าเราไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีพระมหากษัตริย์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นเหมือนการดึงหัวใจของประชาชนกลับมาใหม่ เพื่อให้พวกเราได้กลับเข้าไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง

 

     อัครินทร์: เราเป็นประชาชนคนไทยที่เป็นส่วนเล็กๆ คนหนึ่งที่ได้บันทึกภาพและแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเรา

 

     ชัชวาล: เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นช่างภาพหรือประชาชน ทุกคนไปด้วยใจ เมื่อไปถึงตรงงานพระราชพิธีเราก็ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุด ซึ่งความจงรักภักดีและความสามัคคีที่เกิดขึ้นจากงานพระราชพิธีก็เป็นเหมือนกำลังใจที่ส่งมาให้เราอยากทำงานนี้ให้ดีที่สุดด้วย

 

     กัมพล: แต่ละคนคนอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีการนี้แตกต่างกัน สำหรับพวกเราทั้งเจ็ดคนก็ถนัดในเรื่องของการถ่ายภาพ และเมื่อมีโอกาสมาถึง พวกเราจึงเลือกการถ่ายภาพเพื่อใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ แม้จะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน พอไปถึงจุดถ่ายรูปก็ต้องใช้เวลาในการเฝ้ารอ แต่ทั้งหมดนี้คือจุดมุ่งหมายของเรา เป็นจุดประสงค์ของพวกเราที่จะใช้สิ่งที่ตัวเองถนัดเพื่อประเทศชาติ

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
กัมพล คุ้มวงษ์

 

การถ่ายภาพงานพระราชพิธีที่สำคัญแบบนี้ ในฐานะช่างภาพรู้สึกกดดันบ้างไหม เพราะมีคนนับล้านรอดูรูปของพวกคุณอยู่

     วรรนธนี: เชื่อว่าทุกอย่างนั้นตอบโจทย์ความรู้สึกของตัวเราเองเป็นอันดับแรก ช่างภาพแต่ละคนก็มีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนยึดหลักของความรู้สึกที่อยู่บนความรักต่อพระมหากษัตริย์อันสูงที่สุด ดังนั้น เราก็พอจะรู้แล้วว่าจะถ่ายทอดความรักและความเคารพอย่างดีที่สุดออกมาอย่างไร เพียงแต่อาจจะมีเรื่องของตำแหน่งการยืนของช่างภาพในแต่ละจุดที่เขาประจำอยู่ การใช้เลนส์ระยะต่างๆ หรือเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายรูป ในส่วนคนดูยังไงเขาก็ต้องเห็นรูปที่เราถ่ายอยู่แล้ว และเขาจะชอบหรือไม่ชอบก็อยู่บนความรู้สึกพื้นฐานของจิตใจที่แตกต่างกับเรา ดังนั้น เราคิดว่าทำให้ดีที่สุดให้ได้ก่อน

 

     กัมพล: ผมไม่รู้หรอกว่าปลายทางจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมทำคือการมองผ่านช่องมองภาพซึ่งก็มองได้ไม่เต็มตาเหมือนกับมองด้วยตาเปล่า เรามองผ่านกล้อง มองผ่านตัวเลนส์ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนพยายามจะถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาให้สวยงามที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์ใครหลายๆ คน แต่ก็เข้าใจได้ว่าในตอนนั้นเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ผมก็แค่คาดหวังเพียงแค่ว่าผลงานของเราจะไปตรงใจผู้ชมหรือประชาชนได้เท่านั้นเอง

 

     ชัชวาล: ผมไม่ได้คิดไปก่อนว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไรหรือต้องตอบโจทย์ใคร ผมจะถ่ายในสิ่งที่ตัวผมเห็น ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริง ณ ตอนนั้น บางทีก็ไม่รู้หรอกว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แม้กระทั่งคนที่อยู่ในงานพระราชพิธีจนเช้าเขาก็นึกไม่ออกหรอกว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้น เราจึงไม่คาดหวังว่ารูปจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าคนอื่นเห็นแล้วจะรู้สึกดีหรือเปล่า แต่เราแค่บันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญในตอนนั้นที่บางคนอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นเพื่อพวกเขา

 

     เกรียงไกร: ผมขอยกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยมาเล่าหน่อย นั่นคือภาษาหรือตัวเลขไทยที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของประเทศไทย แน่นอนว่าตัวเลขไทยในปัจจุบันก็มีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนจากภาษารอบข้างมาใช้ แต่การที่สามารถประยุกต์จนกลายมาเป็นบุคลิกของเราได้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนใช้ตัวเลขไทยน้อยมาก ทั้งที่ตัวเลขไทยนั้นมีความเป็นศิลปะมากๆ มีไม่กี่ประเทศที่มีตัวเลขเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้โยงมาถึงความเป็นชาติ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี และเรื่องเหล่านี้ก็มีเหตุผลในการเกิดขึ้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความฟุ้งเฟ้อ ไม่ได้ทำเพื่อที่จะประกาศศักดา แต่เป็นการบอกว่าเรามีอารยธรรม วัฒนธรรมไม่ใช่แค่การใช้มือเปิบอาหาร ในขณะที่ชาติตะวันตกใช้ช้อนส้อม ซึ่งการใช้มือเปิบหรือใช้ช้อนส้อมก็ไม่ได้เป็นการบอกว่าเราต่างกันอย่างไร เพราะจริงๆ การใช้ช้อนส้อมอาจจะมองได้ว่าเป็นการใช้อาวุธเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเสริมความรู้สึกว่า อารยธรรมที่เรามีอยู่เป็นอารยธรรมที่ค่อยๆ บ่มเพาะจนเราคาดไม่ถึง

     เมื่อเราภาคภูมิใจในความเป็นไทย คำว่า ‘สยาม’ จึงมีความหมายมากกว่าคำว่าประเทศไทยในความรู้สึกของผม ความรู้สึกเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปในเด็กรุ่นหลังในวันข้างหน้าว่ารากเหง้าของความเป็นไทยคืออะไร รากเหง้าเหล่านี้มีส่วนผสมผสานเยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งตัวเลขไทย ภาษาไทย รวมถึงงานพระราชพิธีสำคัญที่เกิดขึ้น ในงานพระราชพิธีครั้งนี้สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเกิดตามมาและได้มาอ่านบันทึกเหล่านี้ แม้ว่าเขาเองจะมีโอกาสได้เห็นงานพระราชพิธีอีกหลายๆ ครั้งเมื่อพวกเขาเติบโต แต่ผมเชื่อว่าระบอบพระมหากษัตริย์จะอยู่ไปจนชั่วนิรันดร์ไม่มีที่สิ้นสุด หน้าที่ของพวกเราคือการส่งต่อความเป็นนิรันดร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
ชัชวาล ดาจันทร์

 

อยากรู้ว่าการเป็นช่างภาพที่ดีนั้น กฎ ระเบียบ และวินัยที่พวกคุณยึดถือเอาไว้มีเรื่องอะไรบ้าง

     กัมพล: การถ่ายรูปทุกประเภทมีกฎพื้นฐานแค่ไม่กี่อย่าง ประเด็นหลักๆ คือเราต้องไม่ไปบิดเบือน โดยเฉพาะกับงานที่เป็นภาพประวัติศาสตร์ เราไม่ควรไปบิดเบือนความเป็นจริง ทุกสิ่งที่เราเห็น เราถ่ายทอดอะไรลงไป คือการส่งต่อไปให้คนรุ่นหลัง ไม่ไปปรับแต่งจนผิดเพี้ยนจากสิ่งที่เราเห็น เพราะถ้าบิดเบือนภาพก็เท่ากับว่าเรากำลังบิดเบือนประวัติศาสตร์

 

     อัครินทร์: ภาพถ่ายนั้นสามารถปรับแต่งได้ ไม่ถึงขนาดว่าต้องเป็นภาพเพียวๆ ออกมาจากกล้องขนาดนั้น แต่ไม่ใช่การปรับแต่งต่อเติมจนเกิดความผิดเพี้ยน การรีทัชที่ทำได้คือการลบฝุ่นหรือปรับแต่งแสงสีบ้างนิดหน่อย

 

     ชัชวาล: ช่างภาพบางคนถ่ายบรรยากาศแล้วไปลบเสาไฟออก อย่างนี้คือการบิดเบือน เพราะเสาไฟหรือต้นไม้ที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ มีประวัติความเป็นมา ไม่ควรจะไปบิดเบือนตรงนี้ แม้ว่าภาพจะมีสายไฟที่รกรุงรังก็ห้ามลบ เราต้องแยกให้ออกว่างานที่เราถ่ายเป็นงานประเภทไหน ถ้าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์กับสถาปัตยกรรมก็ต้องเก็บไว้ เพราะสักวันหนึ่งเสาไฟฟ้าตรงนั้นอาจจะไม่มีแล้ว เขาจะได้รู้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ยังมีสายไฟใช้กันอยู่ แต่ถ้าเป็นงานแฟชั่น หรืองานโปรดักชันที่ต้องการความเนี้ยบ ถ้าจำเป็นต้องลบออกก็ต้องลบ

 

     เกรียงไกร: ช่างภาพทุกคนมีกิเลส อยากได้รูปที่ดีที่สุดในชีวิตของตัวเอง แต่กิเลสตรงนี้มีเรื่องของจริยธรรม คุณธรรม สิ่งที่เราต้องเคารพต่อธรรมชาติ เคารพต่อผู้คนที่เราจะถ่าย ประเด็นที่มักจะเกิดขึ้นเสมอคือมีช่างภาพบางส่วนที่เทียบสัดส่วนแล้วก็น้อยมาก ที่พยายามจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ภาพมา ซึ่งทุกวิถีทางนั้นมีทุกอย่าง ทั้งการหักกิ่งไม้ ทำนั่นทำนี่ เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะเพราะความเป็นช่างภาพไม่ได้บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่าช่างภาพกลุ่มสยามไทยทั้งเจ็ดคนนี้ รวมถึงช่างภาพท่านอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีวิธีคิดแบบนั้น เราเคารพในวิชาชีพของตัวเราเอง เราหวังว่าจะได้รูปที่ดีที่สุดที่อยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม และคุณธรรม เราอาจจะได้ข่าวมาบ้างว่าช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ที่ถ่ายรูปบางรูปมา เบื้องหลังที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แล้วผลที่ตามมาคืออะไร สำหรับบางคน ท้ายที่สุดก็จะอยู่กับความหลอนไปตลอดชีวิตในสิ่งที่ตัวเองทำ

     พวกเราทั้งเจ็ดคนเริ่มต้นถ่ายรูปจากความรัก เมื่อพื้นฐานอยู่ที่ความรัก ไม่ได้มาจากกิเลส เราจึงหวังว่าจะได้รูปที่ดีที่สุดโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว พวกเราจึงเคารพในธรรมชาติ เคารพในความเป็นมนุษยชาติ จริงๆ แล้วแค่เราเคารพธรรมชาติ เคารพในความเป็นมนุษยชาติ ก็ครอบคลุมทุกอย่างอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าเราจะได้รูปซึ่งมันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่เป็นความภาคภูมิใจที่อย่างน้อยเราไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือว่าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราจะถ่าย ผมเชื่ออย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ในเมื่อเรามีทุนที่สำคัญมากๆ อยู่ในใจแล้ว ภาพที่ออกมาคงจะส่งผ่านถึงผู้คนที่จะได้รับชมต่อไปในอนาคต

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี

 

ในงานสำคัญที่มีผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก และอากาศในบ้านเราก็ร้อนจนทนไม่ไหว หลายคนก็เป็นลมล้มลง แม้แต่ทหารที่รับเสด็จบางคนที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันก็อ่อนล้าจนร่างกายทรุดลงไป ภาพเหล่านี้ควรถ่ายไว้หรือไม่ เพราะถ้าพูดกันตรงๆ เป็นภาพเหตุการณ์ที่หลายคนหิวกระหายอยากถ่ายมาอวดมาแชร์กันเหลือเกิน

     กัมพล: การบันทึกภาพนั้นมีทางเลือกของการบันทึกภาพทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ถ้าเป็นรูปของทหารที่เรียงแถวยืนตรงสวยงามแล้วเราบันทึก นี่คือเหตุการณ์จริง แต่ในเหตุการณ์ที่ทหารกำลังเข้าแถวอยู่แล้วทนไม่ไหวเพราะอากาศร้อนมากจนเป็นลม นั่นคือเหตุการณ์จริงด้วยหรือเปล่า มันคือการบันทึกประวัติศาสตร์หรือเปล่า สุดท้ายเราก็ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการเผยแพร่ เพราะผมมองว่าทุกภาพที่เราถ่ายคือการบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ ณ เวลานั้น ต้องมองด้วยความเหมาะสมด้วยว่า ภาพในบางเหตุการณ์ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ภาพเหล่านั้นอาจจะสะท้อนอะไรบางอย่างกลับมาในยุคสมัยที่มันเปลี่ยนแปลงก็ได้ ผมมองว่าเราควรจะบันทึก แต่จะใช้หรือไม่ใช้อยู่ที่ว่ามันเหมาะสมหรือเปล่า อยู่ที่จรรยาบรรณ และอยู่ที่จริยธรรมในใจของเรา

 

     วรรนธนี: ทุกวิชาชีพจะมีบรรทัดฐานของการปฏิบัติงาน อยู่ที่ว่าเราควรหรือไม่ควรทำในสิ่งไหน นั่นคือสิ่งที่เราต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง

 

     ชัชวาล: เหมือนกับที่ เควิน คาร์เตอร์ ถ่ายรูปเด็กที่มีแร้งยืนมองอยู่ข้างๆ ในซูดาน ซึ่งตัวช่างภาพเองเมื่อเขากดชัตเตอร์อย่างพอใจแล้ว เขาก็สามารถเข้าไปช่วยเด็กคนนั้นได้ แต่เขาก็ไม่เข้าไปช่วย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ แต่สุดท้ายในเวลาต่อมาเขาก็รู้สึกผิดกับเหตุการณ์นั้นจนฆ่าตัวตาย

 

     เกรียงไกร: เป็นเรื่องสามัญสำนึกของคนเป็นช่างภาพข่าวที่มีแต่ความต้องการอยากได้รูปจนอยู่เหนือคำว่าคุณธรรม

 

     ณัฐสุดา: แต่ประเด็นของรูปนั้นก็มีข้อมูลออกมาบอกว่า เด็กคนนั้นอยู่ในค่ายผู้อพยพซึ่งมีอาหารให้กิน เพียงแต่ว่าประเด็นที่เขาฆ่าตัวตายอาจจะเป็นเพราะไม่ใช่แค่ความรู้สึกผิดตรงนั้น แต่เป็นความรู้สึกที่เขาเหมือนไปบิดเบือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสร้างเรื่องว่าเด็กกำลังใกล้จะตาย แต่ความจริงเด็กคนนี้อยู่ในแคมป์ที่มีกองกำลังที่สนับสนุนช่วยดูแลอยู่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยในภายหลัง

 

     วรรนธนี: เป็นข้อคิดจากการที่เราได้ดูประวัติศาสตร์ย้อนหลังว่า การที่พยายามบิดเบือนอะไรบางอย่าง สุดท้ายจะได้รับผลนั้นกลับมาด้วย

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
ณัฐสุดา จันทระ

 

เมื่อจบงานพระราชพิธีครั้งนี้แล้ว พวกคุณวางเป้าหมายในการเป็นช่างภาพของตัวเองต่อไปอย่างไร รู้ถึงเป้าหมายในชีวิตตัวเองหรือยัง หรือคิดว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่อยากถ่ายภาพสำคัญๆ ต่อไปในภายภาคหน้า

     ณัฐสุดา: เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่มีโอกาสถ่ายภาพ เราจะทำให้ดีที่สุด อย่างตอนที่ได้ไปอยู่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 เราไม่ได้รู้สึกว่าการที่ไปอยู่ตรงนั้นเป็นรางวัลหรือเป็นเกียรติยศส่วนตัว แต่เป็นโอกาสที่ดีที่ได้อยู่ตรงนั้น และร่วมถ่ายทอดความสำคัญของงาน ตอนที่ไปเหมือนตัวตนของเราหายไปเลย รู้สึกแค่ว่าเราจะถ่ายทอดสิ่งที่เห็นตรงหน้าให้ตรงกับความรู้สึกของเรามากที่สุด

     เมื่อก่อนเราอาจจะเป็นเหมือนคนธรรมดาที่รู้สึกดีจังที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น แต่ตอนที่ได้อยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็รู้สึกว่าขอแค่ได้ทำให้ดีที่สุด แม้จะไม่ได้อยู่ในฐานะหรือตำแหน่งอะไรก็ตาม แค่ได้บันทึกและมีโอกาสส่งผ่านความรู้สึกนั้น แม้ว่าจะมีช่างภาพมากมายที่ไปถ่ายรูปด้วยกัน มีภาพออกมาเยอะแยะมากมายให้ทุกคนได้ดู แต่เราก็แน่ใจว่าช่างภาพทุกคนไม่ได้คิดจะมาแข่งกันว่าใครได้ภาพที่ดีกว่ากัน ทุกคนน่าจะรู้สึกแบบเดียวกับเรา ยิ่งได้ถ่ายภาพทุกๆ วัน ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวตนที่อาจจะสำคัญสำหรับช่างภาพคนอื่น แต่สำหรับเรากลับเห็นหัวใจของช่างภาพของคนอื่นในแบบที่เราคิดว่าเขาน่าจะรู้สึกแบบเดียวกับเรา ที่เป็นประชาชนคนไทยที่รักในหลวงเหมือนกัน

 

     ชัชวาล: เราได้โอกาสดีๆ ทั้งในครั้งที่แล้วและครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่าเรารักประเทศไทยมากขึ้น เป้าหมายต่อไปคืออยากเก็บภาพของความเป็นไทย ความสวยงาม ประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่างๆ ซึ่งยังมีอยู่อีกเยอะ การตามหาว่ามีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำให้เราอยากจะทำสิ่งนี้มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนก็ถ่ายรูปเพราะเราไปเที่ยว เราเดินทาง เราเห็นอะไรสวยๆ ก็ถ่าย แต่พอได้คลุกคลีกับงานเหล่านี้มากขึ้น ทำให้หัวใจของเราอยากจะทำอะไรดีๆ อยากถ่ายภาพให้มีคุณค่ามากขึ้น และอยากส่งต่อรูปไปให้กับคนอื่น

 

สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล
ชฎาธาร ฉายปุริยานนท์

 

     ชฎาธาร: ทุกคนย่อมมีความมุ่งมั่นในตัวเองกันอยู่แล้ว ผมเคยบอกน้องๆ ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องมองหาจุดที่จะไปต่อไว้ด้วย คุณอยากจะไปเป็นช่างภาพแฟชั่นอาชีพ ก็พยายามทำแล้วไปให้ถึง เมื่อเราไปถึงจุดนั้นแล้วก็มองจุดหมายต่อไปอีก แต่ตอนนี้ผมมองไปที่จุดไหน ตอบตามตรงว่ายังไม่ได้มองอะไรไปไกลมาก เพราะอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก่อนโดยที่ยังไม่คิดถึงอะไร เหมือนเวลาที่สร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ถ้าคุณสร้างเพื่อจะขายให้ได้ ก็จะถูกอะไรต่อมิอะไรมาบังคับ มีข้อแม้เยอะ แต่ถ้าทำโดยที่ไม่ได้หวังว่าจะต้องขายได้ สิ่งที่เราทำนั้นจะออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจกว่า

 

     ณัฐสุดา: มีหลายครั้งที่ถ่ายรูปแล้วเจอปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ไม่สามารถถ่ายรูปได้ เราก็ได้เรียนรู้จากพี่คนหนึ่งที่เขาบอกมาว่า คุณคิดในหัวใจอย่างเดียวพอว่าคุณทำเพื่อใคร คุณทำเพื่อประเทศชาติ ถ้าคุณคิดว่ามันใช่ คุณก็ทำ พอได้ยินอย่างนั้นเราก็รู้สึกโอเคทันที มีกำลังใจกลับมา เพราะเวลาเราโดนจิ้มหรือโดนว่า ใจเราจะเสียไปนิดหนึ่ง พอเราได้ความรู้สึกแบบนั้นกลับมาอีกครั้ง เราก็แค่พยายามที่จะให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมที่เป็นไปได้ในการถ่ายรูป ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการถ่ายรูป หรือแม้กระทั่งการทำงานทั่วไปที่จะมีบางสภาวะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากใจ ซึ่งสุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องของการเคารพสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เคารพสิ่งแวดล้อม เคารพคนที่ถือกล้องอยู่ด้วยกัน

 

การเป็นคนที่ถ่ายรูปมาตลอด วันนี้คุณกลับถูก a day BULLETIN ถ่ายบ้าง ห้วงเวลาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สร้างแรงบันดาลใจอะไรให้เกิดขึ้นมาได้ไหม

     เกรียงไกร: สำหรับผม ประสบการณ์นี้ก็ผ่านมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่เราไม่ตื่นเต้น พอตื่นเต้น สิ่งที่เราเรียนรู้อย่างหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการไปเป็นคนหลังกล้อง นั่นคือเวลาที่ช่างภาพบอกให้เรายิ้ม การยิ้มอย่างจริงใจและมาจากใจที่สุดจะออกมาในแวบแรกของวินาทีแรกเท่านั้นเอง ถ้าเราสามารถนำความรู้สึกนี้ไปกดชัตเตอร์ในฐานะของคนถ่ายภาพได้ เราก็จะได้อะไรที่จริงใจออกมา เพราะหลังจากที่ยิ้มแรกออกมาแค่ไม่กี่วินาที รอยยิ้มของเราก็ไม่เป็นธรรมชาติ แล้วในฐานะที่เราไม่ได้เป็นนักแสดงนี่คือส่วนหนึ่งของประโยชน์ และเป็นสิ่งที่เรียนรู้ในฐานะที่เป็นคนให้คนอื่นถ่ายรูปตัวเองครั้งนี้