นิโคลาส์ ลูฟรานี

นิโคลาส์ ลูฟรานี | ทายาทรุ่นที่สองของ The Smiley Company ผู้สานต่อรอยยิ้มและการคิดบวก ภาษาสากลของความสุข

“มีหลายคนบอกว่าธุรกิจของผมเกิดจากความบังเอิญ… ไม่นะ ไม่จริงเลย โลกนี้ไม่มีความบังเอิญหรอก”

นิโคลาส์ ลูฟรานี ทายาทรุ่นที่สองแห่งบริษัท The Smiley Company บอกเราด้วยน้ำเสียงจริงจัง เขาคือลูกชายของ แฟรงคลิน ลูฟรานี นักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศส ผู้ออกแบบไอคอนรูปหน้ายิ้มสีเหลืองสดใสเพื่อตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นปรากฏการณ์ ‘ไวรัล’ แห่งยุคไร้อินเทอร์เน็ตเมื่อ 48 ปีที่แล้ว ก่อนพัฒนามาเป็นต้นแบบของอีโมติคอนหลากอารมณ์ที่เราใช้กันในโลกออนไลน์ปัจจุบัน ทั้งยังปรากฏอยู่ในแบรนด์ไลฟ์สไตล์และแฟชั่นกว่า 300 แบรนด์ทั่วโลก

     พูดง่ายๆ คือ ธุรกิจระดับโลกมูลค่า 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของพวกเขา มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากหน้ายิ้มสีเหลืองรูปเดียวเท่านั้น แต่ก็อย่างที่เขาบอกไว้ก่อนหน้า ความสำเร็จนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

     กว่าที่ครอบครัวลูฟรานีจะฟูมฟักให้สไมลีย์เป็นที่รู้จัก ย่อมผ่านความยากลำบาก จุดตกต่ำ และการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สิ่งที่นิโคลาส์ย้ำว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาก้าวผ่านทุกอย่างมาได้คือ ‘การคิดบวก’ ซึ่งเป็นดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดออกมาในทุกโปรดักต์ของพวกเขา

     โดยเฉพาะตอนที่เขาออกแบบอีโมติคอน หรืออีโมจิ เพื่อตั้งใจใช้เป็นภาษาสากล (Universal Language) สำหรับทุกคนในโลก ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารครั้งใหญ่ ที่เปลี่ยนแปลงบทสนทนาในโลกออนไลน์ให้สนุกสนานและมีสีสันกว่าที่เคย

     ครั้งนี้เขาได้ขยายธุรกิจเข้ามาในเมืองไทย พร้อมจับมือทำแคมเปญส่งท้ายปีกับศูนย์การค้าของเครือซีพีเอ็น เราจึงขอถือโอกาสพูดคุยกับเขาในฐานะชายเบื้องหลังรอยยิ้มที่ยึดถือแนวคิด positive thinking ในการใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจ จนเกิดเป็นบทสนทนาที่สไมลีย์กันทั้งคนพูดและคนฟัง

 

นิโคลาส์ ลูฟรานี

 

อยากให้คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า Franklin Loufrani พ่อของคุณ มีไอเดียเริ่มต้นในการก่อตั้งบริษัท The Smiley Company อย่างไร

     พ่อผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาออกแบบและเปิดตัวรูปโลโก้หน้ายิ้มครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสชื่อ ฟรองซัว (France-Soir) ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1972 โดยใช้โลโก้นี้ในคอลัมน์ข่าวดีและข่าวตลก ด้วยแนวคิดง่ายๆ ว่าถ้าคนเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นแล้วเห็นหน้ายิ้ม พร้อมกับได้อ่านข่าวสารดีๆ ก็จะทำให้วันของเขาเป็นวันที่มีความสุข มีทัศนคติที่ดี และมีปฏิกิริยาที่ดีกับคนรอบข้างเพิ่มขึ้น ปรากฏว่ามันประสบความสำเร็จอย่างมาก และถูกนำไปใช้ในหนังสือพิมพ์หัวอื่นๆ ทั่วยุโรป จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มทำแคมเปญสไมลีย์ ต่อมารูปหน้ายิ้มก็กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมป๊อปที่ปรากฏอยู่ในโปรดักต์มากมายในยุค 70s มันเข้าไปสอดแทรกอยู่ในปาร์ตี้ งานดนตรี ซึ่งช่วงนั้นพ่อของผมก็ไม่ได้คิดเรื่องการสร้างแบรนด์หรอก เขาแค่ใช้รูปหน้ายิ้มนี้อยู่ในสินค้าเพื่อนำไปขายเท่านั้น

 

แสดงว่าตอนแรกสไมลีย์ก็ไม่ใช่แบรนด์ด้วยซ้ำ

     ไม่ใช่ครับ ตอนที่พ่อผมเริ่ม มันเป็นแค่โลโก้รูปหนึ่ง เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้ามากกว่า มันยังไม่มีชื่อว่าสไมลีย์เลย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1969 เราถึงเพิ่งจดทะเบียนโลโก้นี้ว่าเป็นรูป Smiley face เพราะตอนนั้นเราอยากสร้างแบรนด์แล้ว

 

คุณเคยบอกว่าตัวคุณและสไมลีย์เป็นเหมือนพี่น้องฝาแฝดกัน อยากให้ช่วยขยายความหน่อยได้มั้ย

     ใช่เลย เพราะเราเกิดเวลาไล่เลี่ยกัน ผมเกิดวันที่ 17 ธันวาคม 1971 ส่วนสไมลีย์เกิดวันที่ 1 มกราคม 1972 ห่างกันแค่ 2 อาทิตย์เอง ผมก็เลยบอกว่าเขาเป็นน้องชายฝาแฝดผมตลอด (ยิ้ม)

 

แล้วคุณรู้สึกอย่างไรที่ต้องเติบโตมาพร้อมกับน้องชายฝาแฝดคนนี้

     เอาจริงๆ ตอนเด็กผมไม่ได้สนใจสไมลีย์ขนาดนั้น เพราะพ่อผมก็มีงานอื่นๆ เหมือนกัน เขาเป็นคนที่เอาอาณาจักรมาร์เวลเข้ามาในประเทศฝรั่งเศส เช่น สไปเดอร์แมน แล้วก็เอาการ์ตูนอย่าง สกูบี้-ดู และคาแร็กเตอร์สัญชาติอเมริกันอื่นๆ เข้ามา ดังนั้น ตอนผมเป็นเด็ก มันก็เป็นธรรมดาที่ผมจะสนใจกับการ์ตูนพวกนั้นมากกว่าสไมลีย์ จะเรียกว่าผมไม่ค่อยสนใจน้องชายฝาแฝดของผมสักเท่าไหร่ก็ได้ (หัวเราะ)

 

แต่การถูกห้อมล้อมไปด้วยรอยยิ้มของสไมลีย์มันส่งผลต่อวัยเด็กคุณบ้างไหม คุณกลายเป็นเด็กที่มีความสุขตลอดเลยหรือเปล่า

     ผมคิดว่าความสุข รอยยิ้ม และการมองโลกในแง่ดีไม่ได้เป็นแนวคิดที่ผมได้รับมาตอนเป็นเด็ก ทัศนคตินี้เพิ่งเข้ามาตอนที่ผมโตในระดับหนึ่ง เป็นวัยที่ผมเพิ่งเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการคิดบวก การเชื่อมั่นในความคิด ว่ามันเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ความเชื่อนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาตอนประมาณ 10-15 ปีที่แล้วนี่เอง

 

มาได้อย่างไร

     ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Positive Thinking ซึ่งมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของผม เปลี่ยนการมองชีวิต และทำให้กล้าลองสิ่งใหม่ๆ มีเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก เป็นหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า There are no coincidences มันทำให้ผมเชื่อว่าในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความบังเอิญ ทุกๆ อย่างเกิดขึ้นเพราะมันมีเหตุผลเสมอ แล้วตัวคุณก็เป็นเหตุผลที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราทำให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง การพัฒนาตนเอง บางคนเขาอาจจะไม่เชื่อเรื่องการคิดบวก แต่ผมเชื่อหมดใจเลย เพราะผมทำแล้วเห็นผลกับตาตัวเอง

 

แสดงว่าคุณเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีความบังเอิญ

     ใช่ โลกนี้ไม่มีความบังเอิญ

 

นิโคลาส์ ลูฟรานี

 

ตลกดีเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าใครหลายๆ คนมองความสำเร็จของบริษัทของคุณว่ามันมาจากความบังเอิญเล็กๆ ของรูปหน้ายิ้มรูปหนึ่งเท่านั้น

     ไม่ แค่รูปหน้ายิ้มมันไม่พออยู่แล้ว ความสำเร็จของบริษัทเรามันมาจากการทำงานหนัก ความสามารถ โครงสร้างธุรกิจ และเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย คุณรู้ไหมว่าจริงๆ แล้วมันมีเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่เคลมตัวเองว่าเป็นคนออกแบบรูปหน้ายิ้มรูปแรกในปี ค.ศ. 1960 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคนที่ผมเพิ่งมาทราบเรื่องราวของเขาประมาณ 25 ปีที่แล้วนี่เอง เขาบอกว่าเขาเป็นคนออกแบบรูปหน้ายิ้มให้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง โดยเขาผลิตเข็มกลัดรูปหน้ายิ้มนี้ออกมาเป็นพันๆ ชิ้นเลย มันน่ารักสดใสมาก แต่หลังจากนั้น เขาก็ไม่ได้ทำอะไรกับรูปหน้ายิ้มเลย เขาหยุด ซึ่งนั่นทำให้เรื่องราวของใบหน้ายิ้มที่เขาออกแบบต้องหยุดลงเช่นกัน ต่างจากพ่อของผม ที่พยายามต่อยอดจากมัน สร้างธุรกิจขึ้นมา แน่นอนว่า วันหนึ่งธุรกิจก็ถึงขาลง แต่ผมก็ก้าวขึ้นมาช่วยเขา สร้างแนวคิดและเรื่องราวใหม่ๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราทำงานกันหนักมาก จนกระทั่งธุรกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง

     เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ว่าคุณออกแบบสิ่งหนึ่งแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งใบ แต่คุณต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์ มองหาหนทางใหม่ๆ ในการนำเสนอ และทำงานหนัก สร้างความเชื่อมั่นให้คนอื่นๆ เห็นว่าเรื่องราวของคุณน่าสนใจ แม้ว่าทุกวันนี้แบรนด์ของเราจะแข็งแรงและมีชื่อเสียงมากแล้ว แต่ผมก็ยังต้องทำงานหนักมากเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นมาทำงานกับเรา ผมไม่เคยคิดว่าอะไรก็ตามเป็นเรื่องบังเอิญ และไม่เคย take it for granted ทุกอย่างที่เกิดมามันมีเหตุผลเสมอ

 

เล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาที่คุณก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสไมลีย์หน่อยได้ไหม

     ผมเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจอย่างเต็มตัวในปี 90s ซึ่งช่วงนั้นเป็นปีที่ธุรกิจของพ่อกำลังย่ำแย่ เพราะพ่อทำสินค้าใหม่มากเกินไปจนขายไม่ได้ แถมส่งออกเยอะเกินไปจนล้นตลาด ตอนนั้นผมคิดว่าสไมลีย์คงจะเหนื่อยมากทีเดียว ผมจึง re-launch มันใหม่ โดยการสร้างหน้ายิ้มใหม่เพิ่มอีกเป็นร้อยๆ หน้า รวมทั้งใส่อีโมชันลงไปให้สไมลีย์มีความรู้สึกที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ เช่น รูปหน้าสัตว์ยิ้ม รูปธรรมชาติ สิ่งของ อาหาร รวมไปถึงรูปธงชาติ และ category อื่นๆ อีกมากมาย

     ในยุคนั้นถือเป็นยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต ผู้คนเริ่มใช้อีโมติคอนสื่อสารกัน แต่สมัยนั้นจะใช้แค่เครื่องหมายวรรคตอนอย่างเดียว เช่น (: /: O: แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางความรู้สึกและบางอารมณ์ที่เราอยากสื่อมันไม่สามารถใช้เครื่องหมายวรรคตอนอธิบายได้ หรือบางอันมันก็ยากเกินไป คิดดูสิ ตอนนั้นมีคนสร้างเครื่องหมายวรรคตอนเป็นรูป ชาร์ลี แชปลิน และแฟรงค์เกนสไตน์ ด้วย มันยากและซับซ้อนมากจนแทบจะดูไม่ออก ผมเลยมีไอเดียว่าทำไมเราไม่แทนที่เครื่องหมายวรรคตอนพวกนี้ด้วยอีโมติคอนที่เป็นรูปสไมลีย์เฟสของเราล่ะ ไม่ว่าใครอยู่มุมไหนของโลกเห็นรูปหน้ายิ้มนี้ก็จะเข้าใจตรงกันทั้งหมด ต่อให้ผมทำรูปหน้ายิ้มของ ชาร์ลี แชปลิน หรือแฟรงค์เกนสไตน์ เขาเห็นแล้วก็จะเข้าใจเลยว่าเป็นหน้ายิ้ม

     ตอนนั้นผมจึงเริ่มโปรโมตอีโมติคอนเหล่านี้ด้วยการใช้มันเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร ผมเปิดตัว Smiley Dictionary ที่ใช้ได้กับมือถือ เว็บไซต์ต่างๆ และพัฒนาไอเดียอีกมากมายเพื่อที่จะโปรโมตภาษาของหน้ายิ้ม ในขณะเดียวกันผมก็เริ่มจัดการแบรนด์สไมลีย์ของบริษัทให้แข็งแรงขึ้น ทำให้มันเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ และทำให้มันดูเจ๋งในสายตาของวัยรุ่น สไมลีย์จึงเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากนั้น ปีที่แล้ว ลิขสิทธิ์ของเรามีมูลค่าถึง 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวัฒนธรรมการใช้หน้ายิ้มก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยมา

 

เราเห็นด้วยว่าตัวอีโมติคอนที่คุณสร้างมันกลายมาเป็นภาษาใหม่ที่เราใช้สื่อสารกันทุกวันนี้ เพราะปัจจุบันเวลาจะพิมพ์อะไรก็ต้องมีอีโมติคอนต่อท้ายกันตลอด

     ผมว่าอีโมติคอนช่วยให้การสื่อสารมีสีสันและมีประสิทธิภาพขึ้น จริงๆ ตอนที่สร้างมันขึ้นมาแล้วใช้ชื่อว่า The smiley dictionary เป็นเพราะว่าผมตั้งใจทำให้มันเป็นภาษาหนึ่ง ที่จะต้องมีพจนานุกรมของตัวเอง สโลแกนที่ผมใช้ตอนนั้น (ปี 2001) คือ The birth of universal language และในปีนั้นผมประกาศว่า ในอนาคต โลกเราจะสื่อสารกันด้วยอีโมติคอนพวกนี้ และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ (ยิ้ม) เพราะหลังจากนั้น โซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนเริ่มบูม เขาก็เอาตัวอิโมติคอนพวกนี้ไปปรับใช้ มันกลายเป็นการสื่อสารรูปแบบใหม่ของมนุษย์ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีเหล่านี้ที่ทำให้มันเป็นไปได้

 

เดี๋ยวนี้เราไม่ได้มีแค่อีโมติคอนอย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีสติกเกอร์ และ GIF ด้วย คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้อีโมติคอนพิเศษกว่าอย่างอื่น

     มันเรียบง่าย คนเห็นแล้วเข้าใจทันที แล้วมันก็ถูกใช้มานานจนเราคุ้นเคยกับมัน บริษัทดิสนีย์เองก็เคยผลิตอีโมติคอนของตัวเองออกมา โดยใช้เป็นรูปมิกกี้เมาส์ ซึ่งเป็นตัวละครที่ใครก็รู้จัก แต่สุดท้ายคนก็กลับมาใช้รูปหน้ายิ้มสีเหลืองมากกว่าอยู่ดี เพราะมันง่ายและสื่อสารได้ดีที่สุด

 

นิโคลาส์ ลูฟรานี

 

คุณคิดว่าการใช้อีโมติคอนทำให้การสื่อสารของเราซับซ้อนกว่าเดิมไหม เพราะมีหลายครั้งที่เราส่งรูปอีโมติคอนยิ้มหรือหัวเราะไป บางทีก็พิมพ์ LOL ทั้งๆ ที่เราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย

     ไม่ ผมว่ามันไม่ได้ทำให้ซับซ้อน แต่มันทำให้การสื่อสารของเรา ‘รุ่มรวย’ (enrich) ขึ้นมากกว่า เพราะเวลาเราสื่อสารกันต่อหน้า มันจะมีการส่งสารที่ซ้อนทับกันอยู่ทั้งหมด 3 ระดับ คือ มีคำพูด ภาษากาย และสีหน้า หรือบางทีก็มีถึงระดับที่ 4 คือพลังงานที่หมุนเวียนในบทสนทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่เข้าใจนัก แต่จะสัมผัสได้ในบางครั้ง แต่เวลาที่เราส่งข้อความหากันบนโลกออนไลน์ เราเห็นแค่คำพูดเท่านั้น เราไม่รับรู้ถึงสีหน้าหรือภาษากายที่ซ่อนอยู่เลย การส่งอีโมติคอนจึงนับว่าเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดเหล่านั้น หรือเวลาส่งสติกเกอร์ก็เรียกได้ว่าเป็นการส่งภาษากายเหมือนกัน พอเราคุยกันโดยมีเครื่องมือเหล่านี้ มันจึงสามารถทำให้บทสนทนาออนไลน์มีความใกล้เคียงกับบทสนทนาต่อหน้าได้มากที่สุด

 

แต่บางทีเราอาจไม่ได้ยิ้มจริงๆ เวลาส่งหน้ายิ้มไป

     ถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้องส่งก็ได้นี่ (หัวเราะ) ถ้าคุณโกรธก็ส่งหน้าโกรธไปสิ ไม่จำเป็นต้องส่งหน้ายิ้มตลอดเวลา

 

บางครั้งเราจำเป็นต้องส่ง เพราะกลัวว่าเขาจะคิดว่าเราไม่สุภาพหรือไม่เป็นมิตร

     (หยุดคิด) มันอาจจะไม่สุภาพจริงๆ ก็ได้ ลองคิดดูสิ เวลาเราจะสวัสดีใครต่อหน้า เราก็สวัสดีเขาด้วยรอยยิ้ม ถูกไหม ไม่มีใครพูดคำว่าสวัสดีหน้านิ่งหรอก ก็เหมือนกัน เวลาส่งข้อความว่า สวัสดี เราก็ส่งอีโมติคอนหน้ายิ้มต่อไปด้วย ผมว่าความซับซ้อนของการสื่อสารมันไม่ได้เกิดจากการส่งอีโมติคอนที่ขัดแย้งกับอารมณ์ของเรา เพราะจริงๆ เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ตอนสื่อสารกันต่อหน้าแล้ว เวลาเราพูดว่าสวัสดี เราก็ยิ้มอัตโนมัติ โดยที่ข้างในก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าเรายิ้มอยู่ไหม มันเป็นอัตโนมัติไปแล้ว

 

ตั้งแต่ที่คุณทำงานมามีช่วงเวลาไหนไหมที่คุณคิดว่ามันยากมากเลยที่จะยิ้มได้

     มีบางครั้งเราประชุมทางธุรกิจกัน แล้วต้องเจอกับคนที่มีความคิดแง่ลบมากๆ แถมบางครั้งก็ aggressive ด้วย เหมือนว่าผมเอาเรื่องราวดีๆ มาเล่า พยายามโน้มน้าวให้เขาเข้าใจบริษัทสไมลีย์แต่พวกเขากลับมีท่าทีคิดลบกับเรา มันเลยยากมากที่ยังต้องยิ้มอยู่ บางครั้งผมก็เรียนรู้ว่างั้นอย่าไปแคร์ดีกว่า เพราะต่อให้เราพยายามขนาดไหน แต่เขามีความคิดแง่ลบขนาดนี้ ทุกอย่างมันก็พร้อมที่จะ fuck up ตลอดเวลา (หัวเราะ)

 

ถ้าเขาคิดลบขนาดนั้น คุณจะพยายามทำให้เขายิ้มไหม

     นานๆ ที (หัวเราะ) ที่ผ่านมา 2-3 ปีนี้ เคยมีบางเคสเหมือนกันที่มันแย่มากจนผมต้องเดินออกจากห้องเลย พ่อของผมก็เคยบอกว่า เราไม่ได้มาขายของ เรามาเล่าเรื่องราวของเรา มาบอกว่าเราทำอะไร ถ้าคุณคิดลบกับมันมากนัก แล้วคุณไม่พร้อมที่จะรับฟังด้วยซ้ำ ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ได้อยากทำงานกับคุณ เราอยากทำงานกับคนที่กระตือรือร้นกับเรา คนที่สนุกสนานไปกับเรื่องราวและสินค้าของเรา ไม่งั้นมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เราควรมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีต่อกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งเขาจะดูอยากทำงานกับเรามากแต่เขาไม่ positive เลย เราก็ไม่อยากทำงานกับเขา เพราะผมเชื่อว่าความคิด positive นี่แหละที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจราบรื่นและทำให้เราประสบความสำเร็จ ถ้าเขาคิดแค่ว่าธุรกิจนี้มันทำเงินได้ ไปรอด ทำกำไรเยอะ แต่เขาไม่ได้รู้สึกดีไปกับมัน มันจะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้หรอ

 

คุณมองว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนๆ หนึ่งเป็นคน positive

     การเป็นคน positive หรือ negative ส่วนหนึ่งมันเป็นผลมาจากเรื่องราวที่คนๆ นั้นเคยสัมผัสหรือมีประสบการณ์มาก่อนในชีวิต อย่างไรก็ตามมีคนมากมายที่ไม่ได้มีชีวิตที่สวยงามนัก แต่เขาก็ยังเป็นคนคิดบวก เป็นคนสนุกสนาน มันเลยกลายเป็นเรื่องของคาแร็กเตอร์คนนั้นมากกว่า บางคนไม่ว่าจะเจอเรื่องร้ายยังไง เขาก็พยายามที่จะคิดบวก เขาก้าวข้ามความยากลำบากด้วย positive mindset

     สำหรับผม ถ้าผมโดนปฏิเสธ 1 ครั้ง ผมก็ยังจะกลับมาลองอีกครั้ง ถ้ามันยังไม่เวิร์ก ผมก็จะลองหาทางอื่น ถ้ายังไม่เวิร์กอีก (หยุดคิด) ในท้ายที่สุดผมก็คงทำทุกอย่างให้ตัวเองได้สิ่งที่อยากได้ ลองหาทางอื่นที่จะเริ่มต้นใหม่ไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนประเภทไม่ยอมแพ้ บางครั้งมันใช้เวลาหลายปีที่จะทำโปรเจ็กต์อะไรสักอย่าง แต่ผมก็รอ บางครั้งเป็น 10 ปี แต่ผมก็คิดเสมอว่าต้องลองใหม่ ลองอีก ลองอีกครั้ง จนกระทั่งโปรเจ็กต์นั้นได้ออกมาให้คนทั่วไปได้เห็น แต่พอถึงจุดนั้นมันไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว มันเป็นเรื่องของสาธารณชน เขาจะชอบหรือไม่ชอบผมไม่มีสิทธิ์ไปบังคับอีกแล้ว

     ถ้าคุณไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้าคุณจะเห็นสินค้ามากมายวางอยู่ แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าก่อนที่มันจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นมันผ่านความพยายามมามากแค่ไหน แต่ท้ายสุดแล้วมันไม่มีใครแคร์หรอกว่าคุณพยายามขนาดไหน เพราะความจริงมันก็จะปรากฏตอนที่เขาซื้อสินค้าคุณหรือเปล่าเท่านั้น

 

นิโคลาส์ ลูฟรานี

 

 เมื่อสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ประสบความสำเร็จมากๆ ก็มักจะโดนก็อบปี้เป็นธรรมดา อย่างรูปโลโก้หน้ายิ้มของคุณ เราเห็นเขาเอาไปขายตามตลาดนัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ คุณรู้สึกอย่างไร

     เรามีนักกฎหมายของบริษัทที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทุกปีเราทำลายสินค้าก็อบปี้เป็นล้านๆ ชิ้น แต่อีกแง่หนึ่งคือคุณรู้สึกประสบความสำเร็จเมื่อมีคนก็อบฯ คุณ (หัวเราะ)

 

คุณไม่โกรธหรอ

     ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วผมต้องอยู่กับมันให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ผมต้องไปโกรธหรือเกลียดใคร มันเป็นเรื่องจริงของชีวิต ไม่ได้คิดว่าต้องเครียดกับเรื่อง negative แบบนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับผมมันไม่ใช่คนที่ก็อบปี้สินค้าเรา สิ่งที่ผมควรโฟกัสจริงๆ คือการมีไอเดียสดใหม่ที่ดีมากกว่า ผมอยากโฟกัสในเรื่องที่ดี และทิ้งเรื่องไม่ดีไว้ข้างหลัง ถ้าคุณมัวแต่โฟกัสและสู้กับเรื่องไม่ดี สุดท้ายคุณต้องสูญเสียพลังงานไปมากมายกับการต่อสู้นั้น สำหรับผม ผมว่ามันไม่คุ้มเลย ทำไมเราไม่มองไปข้างหน้า และมองหาเรื่องดีๆ

 

คุณคิดว่าปัจจุบันนี้โลกเรามีรอยยิ้มเพียงพอแล้วหรือยัง

     ผมว่ามันตีความได้หลากหลาย บางคนถึงแม้ว่าเขายิ้ม แต่มันไม่ได้หมายความว่าเขามีความสุข หลายครั้ง การยิ้มก็เท่ากับการเสแสร้งแกล้งทำ บางครั้งเราทำเป็นยิ้มให้กับคนที่เราไม่ชอบ หรือบางครั้งเราบังคับให้ตัวเองยิ้มเพราะสถานการณ์มันแย่มากจนเราทำอะไรไม่ถูก ทั้งๆ ที่ในความจริงเราอยากกรีดร้อง อยากเดินไปต่อยหน้าคนที่เราไม่ชอบ แต่จริงๆ แล้ว มีงานวิจัยบอกเหมือนกันว่า เพียงแค่คุณยิ้ม มันก็เปลี่ยนพฤติกรรมคุณได้แล้ว เขาสแกนสมองคนที่ยิ้มว่ามันเปลี่ยนพฤติกรรมให้เขาเป็นคนที่รีแลกซ์ขึ้น คิดบวกขึ้น เพราะฉะนั้น ในบางครั้ง เราก็อาจจะต้องบังคับตัวเองให้ยิ้ม เพื่อจะได้ผ่อนคลายขึ้น หรือหลีกหนีบางสิ่งบางอย่าง เหมือนที่ผมชอบหนีจากคนคิดลบ (ยิ้ม)

     มันอาจไม่ได้ทำให้เรามีความสุขได้ทันทีหรอก แต่การยิ้มก็ช่วยได้ แล้วก็ไปหาคนหรือกิจกรรมที่ช่วยดึงคุณขึ้นมาจากความทุกข์ จะเป็นอะไรก็ได้ ทั้งเล่นกีฬา ดูหนัง อ่านหนังสือ เล่นโยคะ นั่งสมาธิ มันมีกิจกรรมเยอะแยะเลยในโลกนี้ที่ช่วยให้คุณมีความสุขได้ เพียงแต่คุณต้องหามันให้เจอ และใช้เวลากับกลุ่มคนที่พาคุณไปเจอเรื่องดีๆ แล้วก็หาเรื่องดีๆ ไปมอบให้คนอื่นเช่นกัน มันจะช่วยมอบความหมายให้ชีวิตเรา และทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ผมไม่รู้หรอกว่าปัจจุบันนี้โลกเรามีรอยยิ้มมากพอหรือยัง แต่เราสามารถสร้างรอยยิ้มให้มากกว่านี้ได้แน่

 

จากภาพยนตร์เรื่อง Her ธีโอดอร์ ตัวเอก เขาไม่ได้รับความรักและรอยยิ้มจากมนุษย์ด้วยกันเองมากพอ จึงตกหลุมรักกับคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความสุขและยิ้มแย้มตลอดเวลา คุณว่าในอนาคตเราจะต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ไหม

     ผมไม่รู้หรอกว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือมนุษย์ควรจะได้รับรอยยิ้มจากกันและกัน และมีปฏิสัมพันธ์กันให้มาก สังคมมนุษย์ได้รับการพัฒนามาจากการอยู่อาศัยกันเป็นชนเผ่า (tribe) เมื่อพันๆ หมื่นๆ ปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเราอยู่กันเป็นเผ่าเล็กๆ มีคนแค่ 50–100 คน ทุกคนรู้จักกัน แล้วมนุษย์ก็อยู่กันมาแบบนี้ตลอด

     มีงานวิจัยออกมายืนยันมากมายว่าคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมีแนวโน้มจะอายุยืนกว่า เพราะเขามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน และมีเหตุผลที่จะตื่นนอนมาทุกเช้าเพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่น ทั้งเพื่อน ครอบครัว และคนในสังคม นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมเขาถึงอายุยืน ผมจึงคิดว่ามันสำคัญที่คนเราควรจะใช้เวลาร่วมกัน ยิ้มให้กัน ในฐานะเพื่อนมนุษย์

 

อย่างเมืองไทย เราได้ชื่อว่าเป็น Land of smile คุณเห็นด้วยไหม

     เห็นด้วยสุดๆ ผมว่าคนไทยยิ้มเก่งจริงๆ ผมจึงชอบมาเที่ยวที่นี่ เพราะผมก็ได้รับพลังบวกจากรอยยิ้มนั้นกลับไป อย่างในปี 2018 ที่ผ่านมา ผมก็มาเที่ยวที่ไทยสองครั้งแล้ว

 

คุณคิดว่ามีประเทศไหนในโลกไหมที่ควรจะมีรอยยิ้มมากกว่าที่เป็นอยู่

     ผมว่าทุกที่นั่นแหละ ทุกประเทศมีทั้งคนดีและไม่ดี ผมบอกไม่ได้ว่าประเทศหนึ่งมีคนไม่ดีมากกว่าประเทศอื่น ผมแค่มองว่าคนทั้งโลกน่าจะยิ้มกันมากกว่านี้ คนทั้งโลกต้องการการคิดบวก มันเป็นเรื่องสำหรับทุกคน