วาระแห่งชาติ (กอบจิตติ) ทำธุรกิจอย่างไรให้จ่ายโบนัสได้และงานเขียนที่ไม่กลัวตกรุ่น

“ชีวิตจะไม่ตกต่ำ ถ้าเราเป็นมืออาชีพ” 

“ความอดทนแม้ไม่ใช่อาวุธ แต่ก็เป็นเกราะป้องกันตัวได้” 

        ในยุคที่ทุกคนโพสต์และแชร์คำคมบ้างไม่คมบ้างกันเป็นว่าเล่น โดยหาที่มาที่ไปของบริบทหรือเหตุผลในวรรคทองนั้นกันไม่ค่อยจะได้ แต่เรายืนยันได้แน่ๆ ว่าวรรคดังกล่าวนี้เราไม่ได้เอามาจากท้ายรถสิบล้อ 

        และไม่ได้เอามาจากใครก็ไม่รู้ แต่เราหยิบยืมมาจากคนสำคัญระดับชาติ…

        แม้จะไม่ใช่อริยสัจ 4 แต่เราเชื่อว่า ทุกคำที่เรายกมาไม่ห่างไกลจากทางพ้นทุกข์เพราะนี่คือหลักคิดและเส้นทางที่นักเขียนอย่าง ชาติ กอบจิตติ หักร้างถางพง ดุ่มเดินมาเรื่อยๆ ตลอดชีวิตนักเขียนอาชีพกว่า 46 ปี 

        ยิ่งเดิน ทางก็ยิ่งชัด ยิ่งชัดเท่าไหร่ ปลายทางก็เป็นทางชนะ เหมือนชื่อหนังสือเล่มแรกที่ส่งให้ชื่อของชาติ ตีพิมพ์อยู่บนปกในฐานะนักเขียนอาชีพเต็มตัว 

        แต่เล่มที่อ่านแล้วแสบสันต์เมามันและเมามายกับชีวิต เราว่าไม่มีอะไรเกิน พันธุ์หมาบ้า ที่วันนี้พิมพ์มาร่วมๆ 30 ครั้ง 

        สารภาพว่าข่าวเปิดเสรีกัญชาทำให้เรามองหาคนที่จะมาเป็นแขกใน The Conversation โจทย์คืออยากได้คนที่ผ่านช่วงเวลาเมามัน และพูดในมุมแสบๆ ของพืชสีเขียวชนิดนี้ เพื่อเป็นอีกน้ำหนักในการถ่วงความคิดที่กำลังคลั่งไคล้พลังใบในสังคม 

        แต่ทว่า… ชีวิตสู้กลับด้วยชีวิต เพราะถ้อยคำ ความคิดที่เราเก็บตกได้ขณะล้อมวงคุยกันใต้ต้นไม้ใหญ่ ที่บ้านของชาติ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มันพ้นไปจากสิ่งที่เราคาดหวังโดยสิ้นเชิง เหมือนเราเดินเข้าป่าเพื่อตั้งใจมาหาสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้กลับไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง 

        ชาติ กอบจิตติ หรือที่ใครๆ เรียกเขาว่าน้า (และเขาพอใจที่จะให้เราเรียกว่าน้าตลอดการสัมภาษณ์นี้) คือนักเขียนชายวัย 68 ที่พอชมว่าเท่เข้าหน่อย แกเป็นต้องเอ่ยปากยกทรัพย์สมบัติให้อยู่เรื่อย ชีวิตในวัยนี้ของเขา ยังมีเรี่ยวแรงเสมอสำหรับการเขียน และการทำธุรกิจเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ ‘พันธุ์หมาบ้า-PhanMaBa’ ชื่อแบรนด์ดุดัน แต่เนื้อผ้านุ่มสบาย ตามสไตล์คนที่ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ประมาณว่า ถ้าใส่เสื้อที่ตัวเองทำแล้วไม่ชอบ ก็ไม่ขายมันซะเลยดีกว่า

        นอกจากค้าขายเป็น ชาติยังมองการตลาดได้ไม่แพ้นักการตลาดมืออาชีพ เรื่องการใช้ชีวิต ก็แน่นอนอยู่แล้ว… ในความหมายว่า ‘เข้มข้น’ หาที่ทางของตัวเองเจอ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ (นี่แค่เรียกน้ำย่อย เมนคอร์สอยู่ในเรื่องที่กำลังจะได้อ่าน) ทุกวันนี้ ไม่เชิงว่าตัดขาดจากผู้คน ไม่เชิงว่ามาใช้ชีวิตเป็นฤๅษีอยู่กลางป่า เพราะเขามีคู่ชีวิตคู่ทุกข์คู่ยาก 

        อีกอย่างทุกวันนี้ เฟซบุ๊กก็ยังเข้า เหล้าก็ยังดื่ม… เอ้า ชนแก้ววว ยาวไป 

        “นั่งกินเหล้าคนเดียวทุกเย็นเนี่ยนะน้า?” เราถาม

        “ปัญหามันไม่ใช่ปัญหาเลยเนี่ย ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คนมากินด้วย ปัญหามันอยู่ที่มีเหล้าจะกินหรือเปล่า ถ้ามึงมานั่งกันอยู่สองคนแล้วไม่มีเหล้ากิน ก็ไม่มีประโยชน์” 

        ทุกเส้นทางชีวิตของคน มีเรื่องราวระหว่างทางเสมอ และบางบทสนทนา เราต้องเดินทางไปค้นหาถึงถิ่น เพราะมันไม่ได้ร่วงหล่นให้เก็บกันง่ายๆ ตามริมทาง 

1.
เส้นทาง 

        หลังจากปรึกษาหารือเรื่องเส้นทางการไปบ้านของน้าชาติแล้ว เราก็ขับรถออกจากกรุงเทพฯไปปากช่องแบบไม่เช้าตรู่มากนัก เพราะนักเขียนในทีมอีกคนของเราบอกว่า “น้าแกบอกว่าไม่ต้องมาเช้ามาก น้าตื่นสาย” 

        ถ้าชาวเน็ตเตรียมเล่นมุก นกที่ตื่นเช้า เป็นนก… กับ ชาติ กอบจิตติ รับรองว่าแป้ก เพราะจากฝีปากของเขานั้น เราเชื่อว่านกจะนอนจนไม่อยากตื่นมารับรู้ 

        ตลอดเส้นทางที่เราขับรถกันมาราวๆ 200 กิโลเมตรนั้น ต้องยอมรับว่ามันห่างไกลตัวเมืองเสียเหลือเกิน (ในความคิดเรา) ถนนเส้นเล็กๆ ที่มีเทือกเขาขนาบอยู่สองข้างทางในวันนี้ น่าจะแตกต่างจากสมัย 30 ปีที่แล้วที่นักเขียนอย่างชาติเลือกที่ดินตรงนี้เอาไว้เป็นบ้าน เรียกว่าไม่รักสันโดษจริงน่าจะถอดใจ 

        แต่การงานของนักเขียน เป็นงานที่โดดเดี่ยว… นึกถึงคำนี้ก็เข้าใจ  

        กูเกิลแมปส์บอกว่าให้เลี้ยวเข้าถนนเล็กๆ ข้างหน้า นักเขียนของเราจึงรีบหยิบโทรศัพท์ เพื่อโทร.ถามเส้นทางให้ชัดเจน เพราะเจ้าของบ้านย้ำไว้ก่อนมาว่าให้มองป้าย ‘บ้านสวนตากับยาย’ 

        “น้าครับ ถึงซอยที่น้าบอกแล้ว เห็นป้ายที่เขียนว่าบ้านสวนตากับยาย เราเลี้ยวเข้ามาแล้ว ให้ขับตรงเข้าไปข้างในเลยเหรอครับ บ้านอยู่ตรงไหน” 

        “เห็นแล้วเรอะ ขับเข้ามาอีก ซอยนั้นบ้านใครไม่รู้ ไม่รู้จักเหมือนกัน ให้มองป้ายไว้เฉยๆ” 

        ….

        มนุษย์จากกรุงเทพฯ สองคนมองหน้ากันแล้วอยากจะร่ายรำเสียเดี๋ยวนั้น 

        หลังจากเลี้ยวผิดเลี้ยวถูกอยู่สองขยัก เราก็ขับเข้าป่า ใช่… มันเป็นป่า ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นตรงปากทาง ก่อนจะค่อยๆ โล่งโปร่งเป็นที่ดินกว้างๆ แต่ก็ยังล้อมไว้ด้วยต้นไม้สูงเสียดฟ้า ดูเผินๆ ไม่น่าจะมีใครคิดมาปลูกบ้านเล่น 

        “น้าครับ” นักเขียนเราไม่ละความพยายามที่จะย้ำเส้นทางอีก เพราะกูเกิลแมปส์ช่วยอะไรเราไม่ได้อีกแล้ว 

        “เอ๊… ทางเข้ามันเป็นป่านะครับ มองไม่เห็นอะไรเลย เอารถเข้าไปได้เหรอครับ” 

        “เออน่า มึงมาเถอะ มันเข้าได้ มึงเอาเฮลิคอปเตอร์มาก็จอดได้”

        และทันทีที่เราจอดรถและก้าวลงมาสวัสดีเจ้าของบ้านที่มาต้อนรับ เขารับไหว้ยิ้มๆ ส่งเสียงที่เปี่ยมด้วยความเมตตาในแบบที่หาฟังจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้วว่า 

        “เออเว้ย พวกมึงก็มากันถูกเนอะ”

        ท่ามกลางลูกสมุน 4-5 ตัวส่งเสียงทักทายกันเกรียว เพราะนานๆ ทีจะมีแขกหลงมา 

2.
บทสนทนาประสาพันธุ์หมาบ้า ห้องเรียนธุรกิจกลางป่า 

        “นั่นไง ออฟฟิศ” ชาติชี้มือไปยังบ้านหลังเล็กๆ ที่มีพนักงานกำลังเตรียมสินค้า แพ็กของ ไปจนถึงสกรีนเสื้อกันอย่างขมักเขม้น อย่างที่ทุกคนรู้ว่า ชื่อพันธุ์หมาบ้า หรือ PhanMaBa ไม่ได้เป็นแค่ชื่อหนังสืออีกเล่มที่โด่งดังของเขา นอกเหนือไปจาก คำพิพากษา และ เวลา อีกสองเล่มสำคัญที่ส่งให้เขาเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนแรกของประเทศไทย

        PhanMaba ยังเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีโลโก้เป็นรูปหมาที่ชาติเป็นเจ้าของธุรกิจที่เขาปลุกปั้นมาตั้งแต่ปี 1988 แบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ไม่ได้ทำการตลาดอะไรหวือหวา แต่ก็น่าทึ่งไม่น้อย เพราะนั่นเป็นการตลาดที่ชาติกำหนดแนวทางของเขาเอง ไม่ว่าจะสื่อสารผ่านไลน์รวมทั้งเขียนเฟซบุ๊กบอกเล่า ‘ปรัชญาหมาๆ’ ที่มีให้อ่านประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 20.00 น. 

        แน่นอน ทุกภาพประกอบมีหมาเป็นพระเอก เช่น 

        “น้ำท่วมปาก ก็ยังดีกว่าน้ำท่วมจมูก” 

        “เรามีรอยตีนของเราเอง ไม่ต้องไปวัดกับใคร” แน่นอน เป็นภาพรอยเท้าหมา หรือตีนหมานั่นแหละ 

        “สอนด้วยปาก ไม่เท่าทำให้ดู” 

        ที่สำคัญ เขาเล่าเรื่องการตลาด การทำธุรกิจได้แบบถึงพริกถึงขิงในหนังสือ เรื่องเล่าแบรนด์ (ของผม) หนังสือหนากว่า 400 หน้า แต่เชื่อเถอะว่าลงได้อ่านแล้ว ต้องซัดรวดเดียวจบ เพราะความค้างคาจะเป็นบาปหนากว่าหน้าหนังสือ

        ชื่อของชาติอาจไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในทำเนียบนักการตลาดแห่งยุคสมัย แต่การนำพาแบรนด์เล็กๆ ฝ่าวิกฤติช่วงโควิด-19 ตลอด 3 ปีมาได้ แบบที่พนักงานได้โบนัส และบริษัทได้กำไร ก็เป็นเรื่องน่าสนใจเกินกว่าจะไม่พูดถึงเพื่อเปิดประเด็นแรกในการสนทนา 

อยากรู้ว่าในมุมของคนทำธุรกิจเล็กๆ ที่เคยผ่านวิกฤตมาก็หลายรอบ ถามจริงๆ ว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

        จริงๆ ก็แย่นะ ตอนที่เขียน เรื่องเล่าแบรนด์ (ของผม) จบ ยังคิดเลยว่า เออ เดี๋ยวปีหน้าจะเอาจริงเรื่องการตลาด โฆษณา จะให้น้องคนหนึ่งที่รู้จักทำโฆษณาแบบเล็กๆ ให้ คือทำแบรนด์ให้คนข้างนอกรับรู้ เพราะตอนนี้ลูกค้าข้างในเรามีพอสมควรแล้ว ทีนี้ ปรากฏว่าปีนั้นโควิดมาเลย ถ้านับตอนนี้ด้วยก็ประมาณ 3 ปีที่แล้ว คือพอโควิดมา ทีนี้มันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว  เพราะปัญหาของเราคือ เราทำการค้าด้วยทุนที่น้อย จึงต้องระมัดระวังตัว ทุนเรามีจำกัด เหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือว่า ‘ยิงกระสุนออกไปทุกนัดต้องมีคนตาย’ เพราะยิงไปแล้วมันต้องคาดหวังผลได้ แต่ขณะเดียวกัน เงินเดือนพนักงานหรือคนที่มาช่วยเรา จะไปลดเขาได้ยังไง เพราะมันไม่ใช่ความผิดของเขา แต่ถามว่าความผิดของใครมันก็ตอบไม่ถูก เพราะมันเป็นโรคระบาด หน้าที่ของเราคือ จะทำยังไงให้มันอยู่ได้ ไม่เจ๊ง เราก็บอกทุกคนว่า สถานการณ์นี้น่าจะลากกันไปได้อีกสองปี แต่เอาเถอะ สิ้นปีจะมีโบนัสให้นะ และจะเพิ่มเงินเดือนให้ทุกปี 

มั่นใจ

        คือเราคุยไปก่อนว่ะ (หัวเราะ) ​คุยให้กำลังใจไปก่อน คนอื่นเขาจะลด เขาจะปลดคนออกก็เรื่องของเขา เราบอกเลย ทำไปก่อน ถ้าจะเจ๊งก็น่าจะอีกสองปี เราคำนวณไว้แล้ว แต่เราต้องปลุกขวัญลูกน้องให้รู้ว่า แม่ทัพสู้นี่หว่า ลูกน้องจะไม่สู้ได้ไง ทีนี้พอทุกคนสู้ เราก็มาดูว่า ของที่เราขายเราจะเอาไง แน่นอนตอนที่โควิดระบาดใหม่ๆ คนก็ตกใจ การซื้อขาย ท่องเที่ยวอะไรก็ไม่มี เขาให้คนกลับบ้านกัน เหมือนหนีตายน่ะ แล้วช่วงชั่วโมงหนีตายใครจะมาซื้อเสื้อผ้าใส่ล่ะ เออ เป็นผัดไทยราดหน้า มันก็ไม่แน่ ระหว่างเดินทางกลับบ้านอาจจะหิว ต้องกิน แต่ของเรามันคือเสื้อผ้า เขาไม่มีทางจะมาซื้อแน่ 

        ทีนี้ พอคนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ แต่ขณะเดียวกันคนที่มีเงินแล้วเขาอยากใช้เงินมันยังมีอยู่ คือหมายถึงกลุ่มที่ไม่ได้เดือดร้อนกับโรคระบาด วันๆ เขาออกไปไหนไม่ได้ เขาก็ไถหน้าจอมือถือเล่น มันก็เลยเปิดช่องทางการขายออนไลน์ให้เราเห็น เมื่อก่อนเราก็ไม่ค่อยได้สนใจเยอะ เพราะเรามีหน้าร้านอยู่แล้ว ที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ แต่ทีนี้ถ้าคนออกมาหาเราไม่ได้ เราก็ต้องออกไปหาคน เพราะเราขายของ นี่คือโอกาสหนึ่ง เป็นโอกาสที่ไม่รู้จะมีอีกมั้ย มันเป็นโอกาสแบบสถานการณ์บังคับ ดังนั้น จากที่เราก็ขายออนไลน์อยู่บ้างเล็กน้อยตอนแรก ก็เลยกลับมาขายจริงจัง แล้วเราก็มาดูว่า เออ ตอนนั้นเราผลิตใหม่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะผลิตไปขายใคร แต่เราจำเป็นต้องใช้เงินสดนี่ แล้วจะเอาเงินมาจากไหน? ​เพราะเราก็จ่ายเงินเดือนพนักงานหลายตังค์อยู่ ก็คิดว่าต้องหาเงินเข้า ถึงต้องย้อนกลับมาดูว่าแล้วเรามีอะไรขายบ้าง ของในสต็อกเรามีอะไรเหลือบ้าง เพราะปกติเมื่อของหมด เด็กๆ ก็จะมาบอกว่า ของหมดแล้วทำใหม่เถอะ แต่สถานการณ์นี้ หมดแล้วทำใหม่ไม่ได้แล้วโว้ย ต้องไปเอาของเก่าในสต็อกมาขาย ซึ่งเป็นของดีมีคุณภาพนั่นแหละ แต่เป็นสินค้าที่ไม่ได้ผลิตลายใหม่แล้ว ไม่เหมือนลายคลาสสิกที่เราจะทำสำรองไว้พอสมควร เราก็เอาของที่เก็บสต็อกไว้มาขาย ก็จัดโปรโมชันอยู่เรื่อยๆ คิดแค่ว่าทำยังไงให้ขายได้ 

นี่คิดกันเองกับทีม?​

        ข้างบนช่วยคิดด้วย กลางคืนจุดธูปบอก (เงยหน้าไปบนฟ้า) 

ข้างบนนี่คือเยอะมั้ย ต้องเปิดห้องประชุม?​

        เยอะอยู่ๆ (หัวเราะร่วน) ไม่งั้นเราจะมาอยู่กลางป่าเขาแบบนี้ได้รึ เออ นั่นแหละ เข้าเรื่อง เราก็เอาของมาขาย ไอ้ตลาดออนไลน์ที่เราเพิ่งมาสนใจหนักๆ ตอนโควิดมันก็สอนเรานะ มันทำให้เรารู้สึกว่า เออ ถึงหลังจากนี้เราจะไม่มีหน้าร้านอีกต่อไป เราก็ไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะมันกลายเป็นตลาดหลักของเราได้ เราก็ขายของเราไปเรื่อยๆ แล้วช่วงที่เขาขายกันไม่ดี เราก็ยังขายได้ แถมเรายังไม่ได้มีการลงทุนใหม่ด้วย มันก็เลยพอมีเงินเหลือ ช่วง 2 ปีแรกที่เจอโควิดนี่เราบอกเลยว่ามีเงินเก็บทุกเดือนจากการขายสต็อกเดิม เก็บเงินอย่างเดียว เพราะไม่รู้จะลงทุนใหม่ไปทำไม ไม่รู้จะขายได้หรือเปล่า ก็คิดว่าเก็บเงินสดดีกว่า แต่ยังไงซะไอ้โรคระบาดนี่มันต้องหายไปแหละ แค่ไม่รู้เมื่อไหร่ ถ้ามันหาย เราก็ถือว่ามีเงินไปลงทุนใหม่ 

ตอนน้ากลับมาเน้นออนไลน์ ต้องคิดแบบคนยุคนี้ไหมว่าจะทำคอนเทนต์อะไรไปขาย จะขายของอย่างไร?

        ไม่เคยคิดนะ เราทำไปโดยธรรมชาติ เพราะเราก็ไม่เคยทำตามใจตลาด เขียนหนังสือเราก็ไม่เคยตามใจตลาด คิดว่าเราเป็นแบบนี้แหละ จะซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็ไม่ได้ว่าอะไร ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก ก็เป็นการเขียนสั้นๆ เรื่องปรัชญาหมาๆ แค่นี้แหละ คือการทำการตลาดออนไลน์สำหรับเราก็คือ ทำอย่างที่คิดว่ามันน่าจะทำ ไม่เคยไปอบรมการตลาดอะไรกับเขา อย่างเวลาเราเขียนในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว เราก็เขียนแต่เรื่องดื่ม กินเหล้าเมายาไป คนเขาก็มาดูเฮฮากัน คือถามว่าเคยพยายามจะทำให้มันดีกว่านี้มั้ย เช่น ถ่ายรูปให้สวยๆ มันก็ไม่ได้ แล้วอีกอย่างฝ่ายศิลป์คนเดิมเราเสียด้วย เราก็ไม่ได้มีเงินไปจ้างคนใหม่ จะถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กก็ซัดมือถือเลย ทำกันเอง พยายามทำไป แล้วอย่างที่บอก ยอดขายมันกลับสวนทางตลาด สองปีที่ผ่านมาเลยสามารถขึ้นเงินเดือนให้ทุกคนได้จริงๆ ได้โบนัสกันจริงๆ เพราะเงินสดที่เราได้มาก็ไม่ได้เอาไปลงทุนอะไรเลย แค่ขายของในสต็อกออกไป ลดสต็อกบวม ก็บอกแล้ว ข้างบนช่วย 

ถ้าให้สรุปหลักการตลาดแห่ง ‘ชาติ’ น้าจะสรุปว่า 

        รักษาลูกค้าเดิม แล้วหาลูกค้าใหม่ที่คอเดียวกับเรา อย่าไปหาลูกค้าที่ไม่ใช่คอเดียวกับเรา มันเสียเวลา เพราะเขาไม่เข้าใจเรา แล้วจะไปอธิบายเขาก็ต่างคนเสียเวลา ดังนั้น เอาคนที่เข้าใจเราดีกว่า แล้วก็ดูแลเขาดีๆ เหมือนเราเปิดร้านชำนั่นแหละ เราเป็นร้านชำเล็กๆ ที่ขายของแบบที่ไม่มีบนห้าง แล้วเราก็ดูแลลูกค้าดีตลอด ซื้อไปใส่ไม่ได้ก็เปลี่ยน ไม่พอใจก็คืนเงิน ไม่ได้ตุกติกอะไร กวนตีนมาก็กวนตีนไป ไม่มีพินอบพิเทา 

ลูกค้าคือพระเจ้ามั้ย?  

        ไม่ใช่ 

กูนี่แหละพระเจ้า?​ 

        ก็ไม่ใช่หรอก (หัวเราะ) คือเอาเป็นว่ามึงกับกูเสมอกัน มึงกวนกูได้ กูก็กวนมึงได้ ถ้ามึงกวนตีนมากนัก ก็อย่ามาซื้อ ไปที่อื่นเลย กูบล็อกมึงเลย คือเราก็ทำแบบนี้กับบางคนนะ มันแล้วแต่ แค่รู้สึกว่า เราทำแบบนี้ เราไม่ต้องหลอกลวงตัวเอง แล้วเราสบายใจ เพราะเราเป็นยังไงเราก็เป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่แบบแหม… คนเราจีบกันหวานตายห่า พอได้กันแล้วจะมานิสัยเลวออก มันก็ไม่ใช่ไง ก็ให้เห็นตั้งแต่วันแรกเลยว่าเราเป็นแบบนี้ มึงเลวยังไงก็บอกไปเลย เขาจะได้รู้ว่าเป็นยังไง 

        ทำไปตามธรรมชาติดีกว่า ไม่งั้นเราจะเหนื่อยนะ ก็เหมือนน้องๆ บอกว่า เฮ้ย แฟนๆ หนังสือน้าเยอะนะ ขายของไลฟ์ลงเฟซบุ๊กเลย เราบอกเลยว่า กูทำเป็นนะ แต่กูทำไม่ได้ จริงๆ คิดว่าถ้าทำ คนน่าจะตามดูเยอะแหละ แต่ไม่ทำเพราะมันไม่ใช่เรา มันไม่ไหวถ้าต้องไปทำแบบนั้น เพียงเพื่อจะขายของให้ได้เงิน แบบนั้น กูไปขุดท่อ ไปแบกผักดีกว่า ถ้าจะเอาเงินนะ เราไม่อยากต้องไลฟ์ขายของปาวๆ คือมันมีเส้นที่เราจะไม่ทำ เราว่าคนเรามันต้องมีเส้นนี้เหมือนกันนะ ไม่ใช่เรื่องของการนับถือศักดิ์ศรีอะไรหรอก แต่คนบางคนมันก็ต้องมีเส้นที่จะไม่ข้ามไปน่ะ คนเรามันก็ต้องมีบางเรื่องที่ไม่อยากทำว่ะ ไม่ชอบทำ เราก็ต้องไปหาทางทำอย่างอื่น จะให้เรามาจัดออนไลน์ คุยกับชาติ แล้วก็ขายเสื้อ ตลกแดกไปวันๆ มันไม่ใช่น่ะ คือให้มาคุยน่ะได้ แต่ไม่ใช่มาขายของ เราว่าคนที่มาซื้อของเรา ซื้อเสื้อ เขาก็ถูกจริตที่เราเป็นแบบนี้ 

ขนาดว่าน้าไม่ได้อบรมการตลาด แต่สิ่งที่น้าเขียนใน เรื่องเล่าแบรนด์ (ของผม) เอาจริงๆ มันก็คือคอนเทนต์ เป็น storytelling ของแบรนด์ที่ยุคนี้เขาฮิตกัน 

        ใช่ มันมีที่ไหนเป็นแบบนี้ล่ะ ปกติเวลาเขาจะซื้อโฆษณาลงสื่อ เขาต้องจ่ายเงินให้สื่อใช่มั้ย แต่นี่คนต้องซื้อโฆษณาแบรนด์ของเราไปอ่านนะ เหมือนถ้าอ่านเล่มนี้จบ กูอยากซื้อเสื้อที่น้ามันพูดถึงว่ะ เป็นกรรมวิธีย้อมเสื้อแบบการ์เมนต์ ดาย ที่ทำให้เสื้อมันนุ่ม ใส่สบาย อะไรแบบนี้ คือเราคิดแค่นี้ว่า เขาต้องซื้อโฆษณาแบรนด์เราไปอ่าน โฆษณาของเราจะไม่เสียเงินให้ใคร แต่เราจะได้เงินกลับมา แล้วเล่มนี้ขายดีด้วยนะ ช่วงแรกเราลงให้อ่านเป็นตอนๆ ในไลน์ คนก็ติดตามอ่านกันใหญ่ แล้วตอนนั้นลูกค้าใหม่ๆ ในไลน์ก็เข้ามาเยอะเลย  เป็นลูกค้าที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราทำแบรนด์นี้เอง พอลงเรื่องไปเขาถึงได้รู้ว่า อ้าว นอกจากเขียนหนังสือแล้ว ทำอันนี้ด้วยเหรอ คนที่ชอบๆ เราก็ เฮ้ย มันขายเสื้อเว้ย ลองดูหน่อย เดี๋ยวแม่งเจ๊ง ไปช่วยมันก่อนว่ะ (หัวเราะ) แล้วพอซื้อไปเขาก็ชอบ ติดใจ 

ไม่มีแบบทำการตลาดที่เขาแนะนำในเฟซบุ๊กเลยเหรอ เช่น โพสต์ตอนนั้นตอนนี้ หรือต้องมีภาพแบบนี้ 

        ไม่เลย ไม่อย่างนั้นคนมันก็ทำสำเร็จกันหมดแล้วสิ ถ้าสูตรมันใช่จริงๆ เราว่าเรื่องแบบนี้มันไม่เหมือน เออ มึงไปเรียนนายร้อยตำรวจแล้วจบมาเป็นตำรวจนี่หว่า มันไม่ใช่ เรื่องพวกนี้มันเป็นกระบวนท่า ถ้าจะทำให้ได้แบบนี้ อย่างแรกเลยคือต้องหาตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนยังไง เราชอบยังไง แล้วนำเสนอออกไป อย่างเราเขียน เรื่องเล่าแบรนด์ (ของผม) นี่คือเรารู้เลยว่า เรื่องนี้จะเล่าแบบไหน นิยายต้องเขียนแบบนี้ อันนี้มันเป็นทักษะพื้นฐานของเราในฐานะนักเขียน แต่ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ คือต้องเจอตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยคิดว่าเราจะนำเสนอตัวเรา หรือสินค้าให้คนข้างนอกรับรู้ได้ยังไง 

ถ้าอย่างนั้น วิธีการรู้จักตัวเองของน้าคือแบบไหน 

        มันเกิดจากการสะสม เราเป็นแบบนี้ตั้งแต่วัยรุ่น มาทำค้าขายเราก็ขายแบบนี้มาตลอด 

แล้วสำหรับคนที่หาตัวเองไม่เจอ น้ามีคำแนะนำมั้ย 

        มันยังไม่ได้ชาติภพมันสิ ต้องรอชาติหน้า

นี่ตอบจริงเหรอ 

        ไม่จริงหรอก (หัวเราะ) จะไปจริงอะไร คือคนเราหาตัวเองมันก็ต้องเรื่องของเขา เราจะไปรู้ได้ไง คำว่ารู้จักตัวเอง มันเป็นคำง่าย แต่ทำยาก แต่หลักๆ คือต้องหาว่าเราชอบทำอะไรล่ะ นั่นแหละประเด็นแรก ทำแล้วเรามีความสุขมั้ย ถ้ามีก็นั่นแหละ แปลว่าเราชอบตรงนั้น แต่ปัญหาก็คือ หนึ่ง ความอดทนมันไม่พอ สมมติเราชอบทำของขาย แต่มันดันขายไม่ได้ ก็อาจจะท้อ ไม่ทำแล้ว ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นที่ชอบเล่นกีตาร์ เล่นดนตรีกันทุกคน แต่จะหลุดมาเป็นนักดนตรีใหญ่ๆ ได้สักกี่คน 

        เหมือนการเขียนหนังสือ เรารู้ว่าเราชอบเขียนมาตั้งแต่ ม.ศ.2 (ม.2) อายุประมาณ 14-15 เราก็รู้แล้วว่า ชีวิตนี้เราไม่เป็นอย่างอื่นแล้วว่ะ เราจะเป็นนักเขียนอย่างเดียว เด็กคนอื่นเขาอาจจะไม่รู้ แต่เรารู้ เราชอบเขียน เราก็เขียนมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วเราไม่เคยทิ้งการเขียนไง พอไม่ได้ทิ้ง เวลาที่เรามีในการทำเรื่องนี้มันก็สะสมเป็นต้นทุนที่เยอะขึ้น แล้วพอต้นทุนเยอะ เราก็ไม่กลัวใครแล้ว คนเรามีต้นทุนจะไปกลัวใคร ไม่ใช่แบบปีนึงเขียนเรื่องสั้นเรื่องนึง แล้วคิดว่าเมื่อไหร่จะประสบความสำเร็จ เมื่อไหร่กูจะดัง ก็รอไปนั่นแหละ ชาติภพหน้า เราแค่อยากจะบอกว่า ก็ทำไปดิวะ ถ้ามึงชอบ มึงก็พัฒนาตัวเองไป เขียนไป ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ มีเวลาว่างก็เขียนไป สะสมต้นทุนไป ในที่นี้หมายถึงทักษะด้วยนะ ไม่ใช่แค่ผลงาน เพราะผลงานก็เรื่องหนึ่ง นั่นไม่ใช่ต้นทุน มันเป็นผลของการฝึก เหมือนคุณเป็นช่างไม้น่ะ ไม้ที่คุณถากเสียไปเยอะแยะ ก็เอาไปทำฟืนได้ เป็นผลพลอยได้ แต่ทักษะในการถากไม้ ไสไม้ มันเป็นต้นทุนที่ต้องสะสมไป วันนึงต้นทุนก็จะช่วยเราได้ 

การทำโดยไม่ทิ้งสิ่งที่เราชอบ มันยากไหม 

        มันเป็นแบบนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องธุรกิจ เราวางเข็มของชีวิตในการทำธุรกิจเสื้อไว้ว่า เราไม่ได้ทำในสเกลใหญ่ ถ้าตอนนี้อายุ 30 ก็ไม่แน่ว่าอาจจะคิด แต่นี่จะ 70-80 มันไม่ควรไปทำอะไรให้มันใหญ่โตมาก เราค้าขายแบบสันโดษ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นแหละ เราก็คิดแค่ว่า ของที่เราชอบทำ มันต้องมีคนที่ชอบเหมือนเราสิ ถ้าสิ่งที่ชอบมันตรงกัน ก็ง่ายขึ้น เพราะเราทำแค่สิ่งเดียวที่เราชอบแล้วเขาชอบด้วย แต่ถ้าเราทำให้เขาชอบด้วยแล้วเราต้องชอบด้วย อันนี้เราต้องทำถึงสองสิ่ง มันต่างกันนะ แล้วการทำสองสิ่งนี้เราก็ไม่รู้อีกว่าอันไหนจะขายได้ แต่ไอ้การทำสิ่งเดียวที่เราชอบ แล้วบังเอิญว่าเขาชอบด้วย ก็โอเค เรายังขายได้ แต่ถ้าเขาไม่ชอบ เราก็ยังเอามาใส่ได้เอง เพราะเราชอบของเราไง ก็มีคนถามเหมือนกัน ทำไมไม่ทำเสื้อผ้าแฟชั่นที่เด็กๆ เขาชอบกัน อ้าว ก็กูไม่ชอบไง (หัวเราะ) ขนาดเสื้อมีตำหนิ เราขายไม่ได้ เราก็เอามาใส่ เพราะเราชอบ แต่ถ้าไปทำแบบที่เด็กๆ ยุคนี้ชอบ แล้วขายไม่ได้ เราก็ตายสิ จะเอาไปใส่ยังไงวะ 

ถ้าเป็นเรื่องเขียนล่ะ 

        ก็เหมือนกันเลย เขียนในสิ่งที่เราชอบเขียน ใช้วิธีเดียวกัน ถ้าเราไปตามใจตลาด เช่น ตอนนี้เขานิยมเรื่องสืบสวน แล้วก็ต้องไปเขียนตาม เพราะอยากจะขายได้ ผลคือ หนึ่ง เราไม่ได้ชอบทำ สอง ถ้าต้องทำต่อไป งานมันจะหนักเลย เพราะเราไม่รู้เรื่องพวกนี้ ก็ต้องไปอ่านไปค้นคว้า จะไปทำชุ่ยๆ ก็ไม่ได้ แล้วเราเป็นคนทำงานช้า กว่าจะทำเสร็จ เขาเลิกนิยมแนวนี้แล้ว ไปนิยมเรื่องอีโรติกอีกแล้ว เราก็ต้องไปหัดเอาอีกงั้นเหรอ อ๋อ หมายความว่าไปหัดเขียนเอาน่ะ แต่ถ้าเราเขียนแนวที่เป็นตัวเรา เราชอบ เขาจะอ่านไม่อ่าน ก็แล้วแต่ 

น้าเคยกำหนดไว้ไหมว่าต้องเขียนปีละกี่เรื่อง เพื่อจะได้มีรายได้พอใช้ 

        กำหนดว่าปีละกี่เรื่องก็เคยคิด แต่ถ้าคิดว่าจะหาเงินได้เท่าไหร่ อันนี้ไม่เคย เพราะเอาจริงๆ เราไม่เคยคิดจะหารายได้จากการเขียน รายได้มันมาเอง คือพูดง่ายๆ ว่าเขียนอย่างที่อยากเขียน แล้วพอเขียนเสร็จ ค่อยหาทางขาย เราพูดไว้เสมอว่า ทำงานเขียนอย่าไปคิดเรื่องการขาย เมื่อทำงานเขียนเสร็จแล้ว จึงไปคิดว่าจะขายยังไง ไม่ใช่ทำไปคิดไปว่าต้องเขียนแบบนั้นแบบนี้แล้วจะขายดี เราต้องเขียนให้มันจบก่อน เหมือนทำสินค้าที่อยากทำมาก่อน แล้วค่อยคิดว่า เออ เราจะขายคนกลุ่มไหนที่เขาชอบแบบนี้เหมือนกัน นี่ยกเว้นคนที่เขามีอาชีพที่ต้องเขียนหนังสือจริงๆ เขาต้องคิดว่าจะเขียนยังไงให้ขายได้ เขียนยังไงให้มีคนเอาไปทำหนัง อะไรแบบนี้ เขาต้องดูตลาด อันนี้เราก็ไม่ไปแตะ แต่เราน่ะไม่ได้คิดแบบนี้ เราแค่เขียนในสิ่งที่เราอยากจะเขียนก่อน พูดง่ายๆ เขียนในสิ่งที่เราอยากอ่าน อยากเห็น เขียนในสิ่งที่เรายังไม่เคยเขียน แบบนี้มันก็ท้าทาย ทำให้สนุก แต่เราพูดในมุมว่า เขียนหนังสือมาจนถึงวันนี้ ก็ต้องมีคนซื้อบ้างแหละ ขี้หมูขี้หมาก็ไม่ได้ต้องไปเริ่มต้นใหม่ 

ไม่ได้คิดจะไปแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำอีบุ๊ก อะไรกับเขาแล้ว?

        ไม่รู้จะเอาตังค์ไปทำไมนักหนา ดูบ้านสิ เท่านี้เราก็น่าจะพอแล้ว แค่นี้ก็เดินไม่ทั่วแล้ว (หัวเราะ) พูดเล่น คือมันไม่ใช่ยุคของเราแล้วไง เออ ถ้าเราสามสิบนิดๆ เราก็คงต้องไปตลาดนี้อยู่แล้ว เพราะเราต้องอยู่ในอาชีพอีกยาว โลกมันเปลี่ยน เราจะไม่เปลี่ยนไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้จะไปเปลี่ยนทำไม ในเมื่ออยู่ตรงนี้ก็โอเค คงไม่อดตายละมั้ง ไปเปลี่ยนตอนนี้ก็ไปให้เด็กด่าอีก แบบไอ้แก่นี่มาทำไม วุ่นวายกับเขา

ฟังดูเหมือนน้าเข้าใจตัวเองมากๆ แล้ว

        สำคัญนะเรื่องนี้ ถ้าคนเราทำอะไรแล้วไม่เข้าใจตัวเองคือล้มเหลวนะ ย้ำเลยว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ เราทำสิ่งนี้เพราะอะไร ทำสิ่งนั้นเพราะอะไร คนเราต้องรอบคอบว่ะ 

ดูไม่น่าเป็นคนแบบนั้น ดูจากความนักเลงๆ นะ 

        จีวรอยู่ข้างบน ตอนกลางคืนก็ใช้บ้าง (อำ) 

คือไม่กลัวอดเพราะมีจีวร

        ใช่ เช้าก็ไปละ นี่เดี๋ยวถลกวิกผมให้ดูนะ 

สมมติคนที่ลำบากยากเข็ญกับโควิดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มาถามน้าว่ารอดมาได้ยังไง น้าจะตอบเขาว่าอะไร

        ต้องบอกว่าเราทำเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยน และมนุษย์จะอยู่ได้ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ไดโนเสาร์มันตายก็เพราะมันปรับตัวไม่ได้ แต่เราปรับตัวได้ทั้งที่มนุษย์ตัวเล็กกว่า แต่ประเด็นสำคัญก็คืออย่าใช้ความเคยชินมาแก้ปัญหา เราต้องรู้จักแก้ปัญหาตามหน้างาน ตามสิ่งที่มันเกิดขึ้น ด้วยความไม่ประมาท สถานการณ์แบบนี้คงต้องอดทนกันไปก่อน เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอ อย่างเราตอนเจอโควิด คิดว่าอีกสองปีน่าจะรอดแล้ว เอ้า ต้นปีนี้มารบกันอีกแล้ว นี่ก็ปัญหาใหม่เลยนะ ไม่ใช่แค่โรคระบาด นี่มันส่งผลถึงราคาน้ำมันและสิ่งต่างๆ รอบตัวอีก แล้วรบกันนี่ก็ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เรามองว่ารัสเซียจะบี้ยูเครนจนไม่ไหวนั่นแหละ มันก็ลากกันไปเรื่อย หนักๆ เข้าใครปรี๊ดขึ้นมา ก็มีโอกาสเป็นสงครามใหญ่อีก คือถามว่าอยู่กันยังไง คงต้องบอกว่าปรับตัวกันไป 

 

“การค้าคือการแก้ปัญหา” ชาติ กอบจิตติ ไม่ได้กล่าว

แต่คือคำที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ เรื่องเล่าแบรนด์ (ของผม) หน้า 384 

3.
รุ่นใหญ่ ไฟยังกะพริบอยู่ 

        น้าชาติพาเราเดินไปดูด้านหลังบ้าน ที่เป็นคลองขุด เพื่อรับน้ำฝนจากธรรมชาติ ที่นี่คือฟิตเนสกลางป่า ถ้าจะนิยามกันสั้นๆ เพราะตกเย็นน้าจะมาว่ายน้ำที่นี่เสมอ โดยมีลูกสมุนตามมานั่งดูเป็นเพื่อน 

        “ก่อนหน้านี้ปวดหลัง เหมือนเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม แต่ไม่กล้าผ่าตัด เลยลองว่ายน้ำทุกวัน ได้ออกกำลังบ้างมันก็ดีขึ้น สุดท้ายไม่ต้องผ่าแล้ว” 

        ความปลอดโปร่งโล่งใจในวันนี้ มาจากการตัดสินใจเด็ดขาดที่จะหาที่ทางของตัวเองตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีชื่อเสียงและเริ่มมีรายได้แน่นอน 

        บ้านช่อง ห้องนอน ครัวเล็กๆ ที่แยกจากบ้าน ทั้งหมดไม่ใหญ่ไม่โต อย่าถามถึงสไตล์การตกแต่ง เพราะเจ้าของบ้านเลือกในแบบที่ตัวเองสบายใจจะอยู่ล้วนๆ อาหารการกินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แค่ขับรถคู่ชีพเข้าเมืองอาทิตย์ละครั้งไปซื้อของสดมาแช่ไว้ ก็ได้อาหารการกินเหลือแหล่ 

        เรานึกถึงรถเก่าๆ ที่จอดอยู่ในโรงรถหน้าบ้าน ที่เดินผ่านมาเมื่อสักครู่ ช่างภาพบอกว่ารุ่นนี้เขาหาซื้อกันนะ เก่าแต่เท่ 

        “รถนี่ใช้มาเกิน 20 ปี ไม่อยากขาย เพราะมันดูอยากจะอยู่กับเรา นี่เคยขับแล้วเครื่องไปกระตุกอยู่กลางสะพาน ตอนนั้นคิดว่าพังแน่ แต่มันพยายามจะไปจนรอด เออ เลยเห็นใจ พามาอยู่กันต่อไป” 

        ว่าง่ายๆ เรื่องตกรุ่นไม่ใช่เรื่องใหญ่… ตราบใดที่ยังรักที่จะอยู่ ไม่ว่ารถ ไม่ว่าคน ไม่ว่าใคร มันต้องมีทางให้อยู่ 

เขียนหนังสือมา 18 เล่ม อยู่วงการมาเป็นสิบๆ ปี น้ามีความกลัวจะตกรุ่นอะไรบ้างไหม 

        ไม่กลัวสิ เพราะเราจะเขียนแค่ในสิ่งที่เราอยากเขียน จะไปกลัวตกรุ่นทำไม ใครจะอ่านก็อ่าน ซึ่งทุกวันนี้มันก็ยังมีคนอ่านนะ สมมติเราออกหนังสือมาชั่วโมงนี้นะ สักสามพันเล่มก็น่าจะขายได้ แต่เมื่อก่อนเคยสตาร์ทที่หกพันเล่มนะ เราไม่ได้พูดถึงว่ายอดขายจะมากมายอะไรหรอก แต่หมายถึงแฟนๆ เราก็น่าจะตามอ่าน แล้วธรรมชาติการทำงานเราที่ผ่านมาก็ไม่ใช่คนปลิ้นปล้อน เราซื่อสัตย์ในการทำงาน เขาก็ต้องรู้ว่าเราไม่ได้หลอกเขา ดีชั่วยังไง พอเราออกหนังสือใหม่มา เขาก็คงจะซื้อมาดูซะหน่อย 

จะว่าไป สิ่งที่เขียน สินค้าที่ทำ ก็ไม่มีอะไรตกรุ่น ทุกอย่างใช้ได้เรื่อยๆ 

        เราทำคลาสสิกไง มันจะไม่เหนื่อย ถ้าทำป๊อปๆ มันจะเหนื่อย เพราะมันเกี่ยวกับยุคสมัย แต่ทำแบบเรามันก็ทำไปเรื่อยๆ ช้าๆ ของเราไป แต่ไม่ตกยุคตกสมัย คือทำไม่ให้มันต้องไปแหลมมากหรอก ดูแล้วโอเค ไม่เชยก็พอ

        มีลูกค้าเขามาเล่าในกล่องข้อความให้ฟังว่า เขาใส่เสื้อตราหมานี่ไปขึ้นรถไฟฟ้า แล้วไปเดินสวนกับคนหนึ่งบนรถไฟฟ้า ที่ใส่เสื้อตราหมาเหมือนกัน แล้วมันก็ยิ้มให้กันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มันหมายความอะไร? มันหมายความว่า อ๋อ มึงก็ด้วยเหรอ กูนึกว่ากูใส่คนเดียว อะไรแบบนี้ มันเหมือนอยู่เผ่าเดียวกัน แต่คนใส่แบรนด์ดังอื่นๆ เขาไม่มายิ้มให้กันแบบนี้นะ เพราะเขาก็ใส่กันเยอะแยะ แต่สิ่งที่เราทำมันไม่ได้เยอะ มันเฉพาะกลุ่ม 

คนมองว่าอาชีพนักเขียนไม่น่าจะทำกันได้นาน น้าทำยังไงให้อยู่ในอาชีพนี้ได้นาน เลี้ยงตัวเองได้ 

        มันอยู่ที่งานนั้น ถ้าทำงานออกมาดี มันก็พอจะพิมพ์ซ้ำได้ เมื่อก่อนเราก็เคยพูดนะว่า เรามีวิธีขายหนังสือเหมือนกับขายมะพร้าวนั่นแหละคือใช้ประโยชน์ให้หมดทุกส่วน ปกติเวลาสำนักพิมพ์ได้เรื่องจากนักเขียนไป เขาก็เอาไปพิมพ์ขาย แล้วก็ให้เราเขียนเรื่องใหม่ต่อ ถ้าเปรียบเหมือนมะพร้าว สิ่งที่สำนักพิมพ์เขาเอาไปก็คือกะทิ แล้วกะลามันล่ะ เปลือกมันล่ะ กากมะพร้าวล่ะ สิ่งเหล่านี้คนเอาไปใช้ประโยชน์ได้เยอะ กากมะพร้าวไปทำสบู่ก็ได้ กะลาก็ไปทำของขายได้ มันก็เช่นเดียวกับหนังสือนั่นแหละ เราขายปกอ่อนไปแล้ว ก็พิมพ์ปกแข็งบ้าง หรือเอาไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ  ทีนี้ก็เท่ากับว่าสินค้าตัวนึงมันไม่ได้ขายเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่มันขายได้อีกเยอะ เรียกว่าหาเรื่องขายแบบไม่ให้กระเด็น อย่างตอนเราพิมพ์หนังสือบางเล่ม เราก็ไปให้เพื่อนฝรั่งแปล (มาร์แซล บารัง) เพื่อนถามจะเอาไปขายใคร เราก็มองเห็นแล้วว่า มันมีโรงเรียนนานาชาตินะ สอง นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวต่างแดนก็มาซื้องานนักเขียนท้องถิ่นไปอ่านได้ นี่คือการมองว่าจะขายยังไง แต่ถ้าสำนักพิมพ์ทั่วไป ปกติเขาก็จะพิมพ์งานเราแล้วก็จบ อย่างมากก็ส่งเข้าประกวดรางวัล ไม่ได้คิดว่าจะเอางานเราไปต่อยอดอะไรแบบที่เราทำ แต่ตอนนี้ก็หมดช่วงที่จะทำละ เขาก็ไปนิยมอีบุ๊ก หรือขายแบบอื่นๆไป สำหรับงานที่มีตอนนี้ เราจะพิมพ์เล่มไหน เราก็ต้องถามสายส่งเป็นหลักว่า เล่มไหนน่าพิมพ์เติมได้ อย่าง คำพิพากษา กับ พันธุ์หมาบ้า  ยังพอขายได้ พอเขาสั่งเพิ่ม เราก็พิมพ์ 

พันธุ์หมาบ้า ก็เป็นอีกเล่มที่สร้างชื่อ คิดว่าตอนนี้ตัวตนของน้ายังเป็นแบบนั้นมั้ย 

        หมาบ้าเหรอ (หัวเราะ) เราก็ไม่ได้คิดว่าเป็นอะไร เราก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้เปลี่ยน แต่คนข้างนอกที่ไม่รู้จักเขาก็อาจจะมองภาพเราไปอีกอย่าง เขาอาจจะมองว่าเราเป็นคนขรึมๆ แต่เปล่า เราเป็นคนแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร 

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นในหนังสือ โดยเฉพาะเล่ม เรื่องเล่าแบรนด์ (ของผม) คือเน้นเรื่องความอดทนและรอเวลา

        มันจำเป็นนะ มนุษย์เราต้องอดทน เพราะเราไม่ใช่ลูกคนมีตังค์ เราสร้างอะไรของเรามาด้วยตัวเอง ก็ต้องอดทนเพื่อตัวเราเอง ถ้าเป็นลูกคนรวย ก็ไม่ต้องอดทนเยอะหรอก ใครไม่ดีก็ไล่แม่งออกไปจากชีวิต ไม่ทนในสิ่งที่กูไม่อยากทนน่ะ แต่นี่บางครั้งเราต้องทนในสิ่งที่เราไม่อยากทน ทนแล้วก็รอเวลา มันก็เหมือนฝนนั่นละ ก่อนมันจะตกมันก็ต้องตั้งเค้า แต่ถึงเวลามันก็ตก 

น้าไม่ใช่พันธุ์หมาบ้าหรอก ต้องเรียกพันธุ์หมาชิล แบบเข้าใจโลกสูง 

        คือเราคิดแบบนี้ ไอ้สมัยที่เขาสร้างนครวัด นครธม คงมีพวกทำอาชีพอาลักษณ์ เขียนหนังสือ หรือคนยกหิน แบกหิน คนพวกนั้นเขาชื่ออะไร เราจำกันได้มั้ย? 

ไม่ได้หรอก 

        นั่นแหละ อีกหน่อยคนเขาก็จำเราไม่ได้ นั่นขนาดเขาทำนครวัดกันนะ แล้วพวกเราทำเท่านี้ เขียน คำพิพากษา แค่นี้ ต่อไปใครเขาจะมาจำมึง มึงไปบ้ากับชื่อเสียงอะไรมาก ก็สบายๆ ไป อย่าไปกังวลอะไร อย่าไปคิดว่าคนจะจำเราได้มั้ย อย่าไปคิดว่าเราต้องเป็นคนดีในสายตาชาวโลก มึงก็ตอบตัวเองได้ว่ามึงเป็นคนดีหรือไม่ดี เราคิดแบบนี้มานานพอสมควรแล้ว

แต่น้าต้องทำงานเกี่ยวกับชื่อเสียงนะ เพราะมันก็จะนำพาให้คนมารู้จัก มาซื้อหนังสือ มาซื้อของ มันก็ต้องแคร์

        มันเป็นหน้าที่ต้องทำไง เราก็ต้องทำไป แต่วิธีคิดในการใช้ชีวิตมันก็อีกอย่าง ไม่ใช่ว่าพอคิดแบบนี้แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะไม่มีใครจำกู กูก็ไม่ทำอะไร เออ แบบนั้นก็ไปนั่งกินหญ้ามั้ยล่ะ ถ้ากินได้ก็ไม่ต้องทำอะไร คือเรามีหน้าที่ต้องทำไง เราก็ทำให้ดีที่สุด เราจะต้องไปให้ใครจำทำไมในเมื่อเรายังจำเรื่องบางเรื่องที่ตัวเองทำไม่ได้เลย ใครจะจำไม่จำ มันมีประโยชน์อะไรกับเราล่ะ แต่ถ้าคนอ่านเล่มไหนที่เราเขียนแล้วมันเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ก็เอาไปใช้ ไม่ต้องมาจำอะไรเยอะ ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ 

แต่แฟนพันธุ์แท้ เขาต้องจำเรื่องของน้ายิ่งกว่าน้าจำตัวเองอีก 

        แล้วมันก็คงจะลืมตัวมันเองแล้วละไอ้คนนั้น  

กิจวัตรประจำวันที่ปากช่องนี่เป็นอย่างไรบ้าง

        ตื่นสาย โน่น 11 โมงนั่นแหละ อาบน้ำ กินข้าว เริ่มทำงานบ่ายสองก็เดินไปดูงานที่ออฟฟิศตรงโน้น นั่งตรงนั้นสองสามชั่วโมง สี่โมงกว่าก็กลับมางีบนอน เย็นตื่นมา ถ้าฝนไม่ตกก็ไปว่ายน้ำในคลองหลังบ้าน เราอาศัยร่างกายอยู่ ก็ต้องดูแล รถเรายังต้องดูแล เติมน้ำมัน เอาไปเช็กนั่นเช็กนี่ แล้วร่างกายทำไมจะไม่ดูแล ว่ายน้ำเสร็จ ก็อาบน้ำอาบท่า ทำปรัชญาหมาๆ ในเฟซบุ๊ก ในไลน์ เสร็จแล้วก็ลงมาครัว ดื่มไวน์ ดื่มเหล้าซะหน่อย 

คนเดียวเนี่ยนะ

        ปัญหามันไม่ใช่ปัญหาเลยเนี่ย ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คนมากินด้วย ปัญหามันอยู่ที่มีเหล้าจะกินหรือเปล่า ถ้ามึงมานั่งกันอยู่สองคนแล้วไม่มีเหล้ากิน ก็ไม่มีประโยชน์ กินถึงสามทุ่มสี่ทุ่มก็ขึ้นมาดูต้นฉบับมั่ง ทำนั่นทำนี่มั่ง ประมาณตีหนึ่งก็นอน ก่อนนอนถ้าไม่เมามาก ก็จะคิดนะว่า เออ วันนี้เราทำอะไรไปบ้าง ทำงานไปแค่ไหน พรุ่งนี้จะทำอะไร ก็วางแผนไป แต่สิ่งที่สำคัญเลย ต้องคอยถามตัวเองว่าวันนี้เราทำอะไร เพราะว่าที่เรากินใช้อยู่ได้ทุกวันนี้ เราไม่ได้กินเงินของวันนี้นะ เรากินเงินที่เราทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้เราไม่ทำ วันข้างหน้าเราจะเอาที่ไหนกิน ก็เหมือนคนทำงานได้เงินเดือน ที่เราได้เพราะเราทำงานมาทั้งเดือน ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วเขาให้เงินเดือนเลยเมื่อไหร่ล่ะ มึงต้องทำไปแล้วเดือนนึงก่อนถึงจะมีเงินเดือนใช้ พูดง่ายๆ คุณกินเงินข้างหลัง ถ้าทุกวันคุณไม่ทำงานนะ เมื่อเงินข้างหลังหมด ก็ไม่มีเงินให้กินอีก 

น้าติดตามวงการเขียนบ้างไหม

        ก็ห่างแล้ว  เพราะเราก็ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แล้วตอนนี้ตาก็ไม่ค่อยดี อ่านหนังสือก็น้อยลง แต่ก็ยังเขียนอยู่ ตอนนี้เขียนเล่มใหม่ มันเป็นเรื่องเหมือนพงศาวดารที่เกี่ยวกับปัจจุบัน เขียนแบบอำๆ สังคมยุคนี้ งานเขียนนี่เราถือว่าต้องทำ แต่เขียนวันนึงไม่เยอะ ถ้าเขียนได้เยอะป่านนี้ไปนั่งอยู่นิวยอร์กแล้ว เล่มนี้เขียนมาตั้งแต่ปี 48 ปีนี้ 65 ก็ 17 ปี เขียนได้ประมาณ 32 หน้า เป็นไงล่ะกู (หัวเราะ) ไอ้ที่เขียนมานี่เขียนเป็นตั้งๆ เลยนะ เขียนได้หลายร้อยหน้า แต่เอามาใช้ได้ 32 หน้า เหมือนที่นั่งอัดเทปกันอยู่นี่แหละ จะเอาไปใช้ได้กี่หน้าเชียว (หัวเราะ) คือไอ้ 32 หน้านี่คือหลักๆ ที่เราจะเอาไว้ใช้เดินเรื่องต่อ นี่ถ้าไม่มีงานอื่น แล้วใช้เวลาเขียน 17 ปี อดตายกันพอดี แต่ที่เขียนช้า เพราะเรื่องมันยากด้วย เราไม่เคยทำแนวนี้ เวลาเราทำงาน เราจะคิดพล็อตไว้หมด หาข้อมูลไว้หมดแล้ว พอจะลงมือเขียนก็แป๊ปเดียวเสร็จ เพราะของมันพร้อม อย่าง คำพิพากษา นี่เราเขียน 6 เดือนเอง เพราะหาข้อมูลดิบไว้หมดแล้ว คนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเป็นยังไง ก่อนจะตายเป็นยังไง เมื่อก่อนเราไม่ได้ติดเหล้านะ เราศึกษาจากตอนเขียนเรื่องนี้แหละ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ เฮ้อ มันเลิกไม่ได้แล้วว่ะ เพราะไอ้ความอยากรู้ว่าลงแดงมันจะเป็นยังไงนี่แหละ 

        ความที่ปกติเราจะเขียนแบบมีพล็อตก่อน แต่ไอ้เรื่องปัจจุบันที่เขียนนานเพราะเราเล่นของยาก ไปสร้างตัวละครขึ้นมาก่อน ปล่อยให้มันเดินเอง ไหลเอง เราไปเล่นของที่เราไม่ค่อยถนัด เพราะอยากทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ไปๆ มาๆ ตัวละครแม่งพาเราไปเข้ารกเข้าพงไม่รู้จะออกมายังไง รู้ตัวอีกที ไอ้ห่านี่มึงยุ่งแล้ว กูไม่น่าสร้างมันขึ้นมาเลย ทำชีวิตกูยุ่งมากๆ เลยต้องเอาออกมาสางกันใหม่ มึงจะเดินไปไหน กูไม่ไปกับมึงด้วยละ กูต้องสร้างเรื่องใหม่ 

ตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้วนะน้า 

        68 พอดี

โอ้ ดูไม่ถึงเลย ห้าสิบกว่าหรือเปล่าจริงๆ แล้ว

        แหม มีแหวนเพชรอยู่อันนึง จะเอามั้ย ไหนมาดูขนาดนิ้วซิ 

น้าคิดว่าข้อจำกัดที่สำคัญของตัวเองคืออะไร ในวัยนี้ 

        ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนยังมีว่าอะไรต้องเสร็จตอนไหน แต่ตอนนี้ทำไปเรื่อยๆ มากกว่า อะไรไม่เสร็จก็ช่างมัน ไม่ได้ไปสร้างข้อจำกัดให้ตัวเอง ไม่ได้เคร่งเครียด คือวินัยมีนะ แต่บางทีไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ

เอ้า อย่างนั้นมันก็แปลว่าไม่มีแล้วนะ

        มี ก็วินัยคือสิ่งที่เราปฏิบัติเมื่อก่อนไง แต่ตอนนี้ไม่ค่อยจำเป็นมากเท่าไหร่ สมัยก่อนนะ เราเขียนหนังสือสิบโมงเช้า พักเที่ยง แล้วเลิกเขียนตอนบ่ายสาม ทำทุกวันยกเว้นเสาร์อาทิตย์ เมื่อก่อนเขียนลายมือเลยนะ ถ้าวันไหนเขียนได้ 10 หน้าเราเลิกละ ถ้าเสร็จก่อนเที่ยง วันนั้นไม่ทำงานแล้ว สบายใจ แต่ถ้าเขียนไม่ได้ก็ต้องนั่งไปแบบนั้นถึงสี่โมงเย็น เพราะมันเป็นวินัยว่าเราจะเลิกงานตอนนั้น แต่ทุกวันนี้ ก็อย่างที่เห็น เขียนมา 17 ปี ได้ 32 หน้า ก็คิดดูแล้วกัน คือตอนนี้ถ้ามันเขียนไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่เค้นแล้ว เมื่อก่อนเขียนได้ไม่ได้ ก็ต้องนั่งไป แต่ตอนนี้เรามีอย่างอื่นต้องทำด้วย 

ทุกวันนี้มีวินัยอะไรที่ต้องทำเคร่งครัดมั้ย 

        ตอนเย็นกินเหล้ากับถั่ว มันไม่เรียกวินัยแล้วละ มันเรียกนิสัย จะเรียกสันดานก็ได้ (หัวเราะ) 

ถ้าติดตามข่าวสารตามคอนเทนต์ที่เขาทำๆ กันนะ เขาจะมีหลักการใช้ชีวิตแบบมี productivity วันหนึ่งอาจจะต้องทำงานได้เยอะ ต้องสร้างผลงาน หรือกระทั่งมีแนวคิดว่า ต้องตื่นแต่เช้า เพื่อมี golden hour ทำงานก่อนคนอื่นช่วงเช้า ถ้าตื่นแต่เช้า ก็จะสร้างสรรค์ผลงานได้มาก มีวินัยกับตัวเองแล้วจะประสบความสำเร็จ 

        อืม… เพื่ออะไรวะ (ก็สร้างผลงาน จะได้ประสบความสำเร็จ) ก็นั่นแหละ เพื่อ?​ มึงไม่รู้เหรอว่า เช้าๆ นี่แม่งนอนมันตายห่า มึงจะตื่นมาทำไม แล้วยิ่งช่วงก่อนจะลุกนี่ โอ้โฮ มันแทบไม่อยากตื่นเลย สะลึมสะลือนอนหลับเคลิ้มๆ โอ้โฮ นอนโคตรมันเลยแหละ เป็นเราคือนอนดีกว่า พอสายๆ ก็ค่อยลุก เพราะมันนอนต่อไม่ไหว คือสรุปแล้ว เอาแบบที่เรามีความสุขเถอะ ถึงได้ถามไงว่าทำไปเพื่ออะไร มึงไปตื่นตี 4 เพื่อมานั่งทำงานเนี่ย ต่อให้เวลามันจะดีงามแค่ไหน ถ้ามึงโง่ งานมันก็ออกมาโง่ มันไม่ใช่ว่าทุกคนตื่นมาตี 4 แล้วจะทำงานได้ เป็นจีเนียสกันทุกคน เออ แบบนั้นกูจะตื่นด้วย เพราะทุกวันนี้กูโง่ ถึงไม่ตื่นตีสี่ กูจะเอาแบบที่กูสบาย ชอบแบบนี้แหละ ไม่ชอบลำบาก ทุกอย่างมันแล้วแต่จริต เอาแบบนี้ดีกว่า เราต้องรู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร วิธีการมันก็อีกเรื่อง แค่อย่าทำอะไรชั่วนักก็พอ จะตื่นตีสี่ก็ได้ แต่เราไม่ เราขอนอนดึกหน่อย เพราะมันเงียบ สงบ ทำงานได้ดี แล้วมันก็ได้งาน นี่อีกหน่อย ถ้าเทรนด์มันบอกให้กินข้าววันละ 5 คำ กูตายห่ากันพอดี 

คือมันก็มีทฤษฎีที่ทำให้เราประสบความสำเร็จนั่นละ สมัยนี้ 

        การประสบความสำเร็จคืออะไรก่อน เอาแบบของเราเองเลย บางคนบอก มีเงินไง มีชื่อเสียงไง แต่ประสบความสำเร็จของกูคือความสุข ไม่ต้องมีชื่อเสียงก็ได้นะ แต่ขอมีความสุข เงินก็ต้องมีบ้าง แต่ไม่ได้ต้องเยอะมาก ตอนเช้าได้นอนเยอะๆ เช้ามืดนี่คือตอนที่ผ้าห่มกำลังอุ่นๆ เลย ถ้าสนใจความสำเร็จมากๆ ไปอยู่กับ อีลอน มัสก์ มั้ย ที่ทำจรวด ก็ประสบความสำเร็จดีนะ แต่มีเวลานอนบ้างมั้ยน่ะ 

        โธ่เอ๊ย วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ก็นอนไปให้พอ นอนเยอะๆ คืออย่าไปเห่อเรื่องความสำเร็จมาก คนประสบความสำเร็จน่ะ ข้างหลังชีวิตเขาเป็นยังไง เราไม่รู้หรอก เขาอาจจะไม่ได้บอก แต่มันน่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จด้วย เช่น เขาอาจจะฉลาดในเรื่องนั้นมากๆ แล้วพอเขาประสบความสำเร็จแล้ว เขาก็พูดได้ เช่น ผมทำโยคะก่อนนอนทุกคืน แล้วสมองจะใส เขียนหนังสือดี แหม คนประสบความสำเร็จมันพูดอะไรก็ได้ แต่ไอ้คนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จน่ะ มันพยายามพูดแค่ไหน ก็ไม่มีคนฟัง 

ขอแวะเรื่องกัญชา วาระแห่งชาติเสียหน่อย น้าน่าจะผ่านประสบการณ์ช่วงนั้นสมัยวัยรุ่น ยุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันอย่างไร

        มันก็ต้องเคยนะ แต่เอาจริงๆ เราไม่ได้ตื่นเต้นกับการเปิดเสรี แต่เรามองว่าเขาควรจะมีกฎหมายที่พร้อมแล้วค่อยเปิด มันจะได้ไม่สับสนว่าแบบไหนผิด แบบไหนถูก หรือจะใช้กันยังไง เราไม่ได้ต่อต้าน แต่มันเหมือนการออกรถมาคันนึง เราก็ควรจะต้องรู้ว่ารถคันนี้มันจะขับยังไง กฎจราจรคืออะไร ไปทำกฎให้เรียบร้อยก่อน แล้วก็เอารถมาขับกัน ไอ้แบบนี้มันเหมือนออกรถมา ขับเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง ใช้ยังไงก็ยังไม่รู้ คืออยากให้มันมีอะไรให้รอบคอบรัดกุม ไม่ต้องรีบเสรีก็ได้ มันจะได้ไม่มีปัญหา จริงๆ เรื่องกัญชานี่วัยรุ่นก็ต้องได้รับการสอนนะ จะดูดยังไงไม่ให้อันตราย เพราะแต่ละตัวมันไม่เหมือนกัน บางตัวมันขึ้นช้า ดูดไปไม่เห็นขึ้น ก็ดูดอีก ปื้ดๆ พอถึงเวลาขึ้นมันขึ้นหมด ก็ตายสิ คนมันไม่รู้ตรงนี้อีกเยอะ พูดตรงๆ นะ จะทำดีทำชั่ว มันก็ต้องมีครูบาอาจารย์สอน คนจะทำชั่วมันยังต้องไปเรียนกับโจร คือทุกอย่างมันต้องระวัง กัญชาโดยตัวมันเองไม่ได้ดีไม่ได้ชั่วซะทีเดียว แต่ต้องมีการเรียนรู้  ปล่อยให้เด็กๆ มาเล่นกันเอง เด็กมันจะไปรู้อะไร 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ