ดร. ยุ้ย เกษรา หนึ่งในคนเบื้องหลังนโยบายกว่า 200 ข้อ ของทีม ‘ชัชชาติ’ ผู้แข็งแกร่ง

บ่ายวันหนึ่ง เราขับรถตาม Google Maps ที่ปักหมุดไว้แถวหมู่บ้านย่านพัฒนาการตามคำเชิญให้ทีมงานมาสัมภาษณ์กันแบบยาวๆ ที่บ้านพักส่วนตัวของ ‘ดร. ยุ้ย’ – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ CEO ของค่ายเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นบ้านที่เธอและครอบครัวเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ไม่ถึงปี ขับรถตรงเข้ามาในหมู่บ้านไม่ไกลนัก เราก็มาถึงบ้านหลังท้ายซอย ร่มรื่นด้วยร่มไม้และสีเขียวของสนามหญ้า มีเสียงเรือหางยาวริมคลองแทรกมาเป็นระยะ เนื่องจากเลยรั้วด้านหลังไป คือชายคลองที่ยังมีการสัญจรทางเรือกันเป็นปกติ 

        ถ้าจะบอกว่านี่คือคุณภาพชีวิตที่ดี หลายคนก็คงไม่ปฏิเสธ การตื่นมาใช้ชีวิตในบ้านที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ คลอด้วยเสียงนกร้องตลอดวัน มองขึ้นไปบนหลังคาก็เรียงรายไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ตื่นเช้ามาได้ว่ายน้ำออกกำลังกายเพื่อเรียกความสดชื่นและพร้อมลุยกับการทำงาน ใช่ ฟังดูน่ารื่นรมย์ไม่น้อย

        แต่ความรื่นรมย์ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตจริงของผู้บริหารหญิงร่างเล็กแต่คล่องแคล่วคนนี้ 

        คนที่อยู่ในชุดเสื้อยืดแขนยาว กางเกงพอดีตัวแบบทะมัดทะแมง สวมรองเท้าผ้าใบสีหวานเดินลงมาจากรถตู้ หลังจากคณะของพวกเรามาถึงได้ไม่นาน

        พูดให้ชัดเจนก็คือ สัดส่วนสำคัญในชีวิตจริงของเธอ–ในฐานะที่เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้านนโยบายของทีม ‘รศ. ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็คือการไปลงพื้นที่ เพื่อเข้าไปศึกษาและรับรู้ปัญหาในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาสกัดเป็นนโยบายที่มีกว่า 200 ข้อ 

        ดร. ยุ้ย บอกกับเราว่า เธอลงพื้นที่ในชุมชนวันละ 4-5 แห่ง เข้าไปทำความเข้าใจปัญหา ความต้องการ และทบทวนถึงสิ่งที่กรุงเทพมหานครเคยคิดและไม่เคยคิดเพื่อให้ครอบคลุมคนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต ที่อยู่อาศัย ปัญหาความปลอดภัย ปัญหาที่เกิดกับกลุ่มเปราะบาง คนด้อยโอกาส หรือกระทั่งผู้หญิงที่เป็นแม่คน 

        ความที่โตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยทำให้เธอเข้าใจในปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยาก 

        “จำได้เลยว่าเคยลำบาก” เธอบอก และเล่าต่ออีกว่า สมัยที่เธอยังอายุไม่เกิน 10 ขวบ บ้านเดิมของเธออยู่แถวบางรัก ในบ้านหลังนั้นมีสมาชิกครอบครัวแออัดอยู่ถึง 20 กว่าคน เดินทางไปโรงเรียนด้วยรถเมล์บ้าง เดินเท้าบ้าง คุณพ่อทำอาชีพขายลอดช่อง เฉาก๊วย และสารพัดสิ่ง แต่สร้างเนื้อสร้างตัวจนหลุดพ้นจากความยากจนมาได้ เพราะความขยันและอดทนของคุณพ่อคุณแม่โดยแท้ 

        เธอบอกว่า ในฐานะที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาแต่อ้อนแต่ออก ที่นี่ย่อมเป็นบ้านของเธอด้วย แต่ไม่ใช่บ้านที่มีแต่ความสวยงามหรือเจริญหูเจริญตาไปเสียหมด ตรงกันข้าม กรุงเทพฯ คือเมืองที่มีโลกสีขาวและดำ ชัดเจน สิ่งที่กรุงเทพฯ จำเป็นในตอนนี้ ก็คือผู้ว่าฯที่จะเข้ามาช่วยปิดช่องว่าง สร้างความเท่าเทียมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “พูดง่ายๆ คือให้คนเริ่มวิ่งจากจุดที่เท่ากันจริงๆ” 

        หากคิดว่า กรุงเทพฯ คือบ้าน นี่ย่อมเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูและสร้างบ้านให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ 

        ที่สำคัญ ในฐานะของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือคนที่พัฒนาบ้านและที่อยู่อาศัยมาให้ลูกบ้านมานานหลายสิบปี เธอย่อมมีมุมมองที่น่ารับฟังเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่น่าอยู่ให้ผู้คน เพราะตลอดเวลาของการลงพื้นที่พบปะผู้คนจำนวนมาก นี่คือการเผชิญหน้ากับสารพัดปัญหาซุกซ่อนอยู่ และแน่นอนว่ามันเปลี่ยนมุมมองของเธอกับเมืองใหญ่เมืองนี้… เมืองที่ดูเหมือนพร้อมสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็ขาดไปเสียทุกอย่างสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่ง 

เมืองแห่งสีขาวและสีดำ 

        “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีขาวและสีดำ ถ้าเรามองจากคนที่อยู่ในพื้นที่สีขาว มันก็อาจจะโอเคนะ เขาจะคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่แล้ว สบายดี ไม่ต้องใช้รถสาธารณะ ไม่ต้องแคร์อะไร เพราะมีรถส่วนตัว บางคนที่อยู่ในพื้นที่สีขาวมากๆ ก็มีคนขับรถ ไม่ต้องแคร์เวลารถติด เพราะมีทีวีให้ดูในรถ แต่คนที่อยู่ฝั่งสีดำนับวันมันยิ่งจะเป็นโลกที่ดำสนิทขึ้นเรื่อยๆ และแทบไม่มีทางที่จะมาอยู่ฝั่งสีขาวได้ ถ้าหากไม่มีใครเอาตัวเองออกมาข้างนอก และมองกลับเข้าไปให้เห็นทั้งสีขาวและดำ ปิดช่องว่างนั้นให้ได้ เพราะเราว่านั่นคือปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ไม่คิดไม่ได้ 

        “จริงๆ เวลาเราพูดถึงคำว่าขาวและดำ แสดงว่ากรุงเทพฯ มันมีทุกอย่างที่จะทำให้คุณใช้ชีวิตเป็นสีขาวได้ ถ้าคุณมีเงิน นี่พูดตรงๆ ถ้าคุณมีเงินคุณก็ไม่ต้องไปขึ้นรถเมล์ และไม่ต้องแคร์ว่ารถเมล์จะดีหรือเปล่า ถ้ามีเงิน คุณก็อยู่บ้านที่ดีได้ โดยไม่ต้องแคร์ว่าที่อยู่อาศัยที่ไม่ค่อยดีเป็นยังไง แต่คำถามคือว่า ทำยังไงให้คนทุกคนที่เขาอยู่โซนสีดำ ข้ามมาอยู่โซนสีขาวบ้าง แปลว่าทำยังไงให้เขามีเงิน มีรายได้เพียงพอ เพราะต้องยอมรับว่าเมืองเราหรือประเทศเราอิงทุนนิยม พูดง่ายๆ คือใครเก่งกว่า คนนั้นได้มากกว่า เรื่องนี้ก็ไม่มีใครผิด เพราะใครขยันกว่าก็ได้เงินมากกว่า หรือใครตั้งใจเรียนมากกว่า ขยันกว่า อดทนกว่า ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ฟังดูเป็นเรื่องปกติ 

        “แต่สิ่งที่เกิดวันนี้มันมากกว่านั้น เพราะจริงๆ แล้วระบบทุนนิยมที่ดี มันต้องเริ่มจากการที่ ทุกคนมีจุดเริ่มต้น หรือจุดเริ่มวิ่งที่เท่ากันก่อน แล้วถ้าใครขยันซ้อม ขยันวิ่ง และวิ่งได้เร็วกว่า ก็ได้รางวัลไป แต่ไม่ใช่ว่าจุดเริ่มต้นเราแตกต่างกันมาก เช่น คุณอยู่ใกล้เส้นชัยมากแล้ว วิ่งอีกนิดเดียวก็เข้าเส้นชัย ส่วนเราอยู่ห่างจากเส้นชัยเยอะมาก แบบนี้ให้เราขยันแทบตาย เราก็สู้คุณไม่ได้หรอก ถึงเราจะเก่งกว่าคุณแทบตายเราก็สู้ไม่ได้อยู่ดี เพราะจุดเริ่มต้นเราไม่เท่ากัน และเราคิดว่ากรุงเทพฯ กำลังเป็นแบบนั้น เพราะที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไม่ได้คิดว่า จุดเริ่มต้นของคนควรเท่ากัน และปล่อยให้กลไกตลาดที่เสรีดำเนินไปเอง 

        “ลองดูง่ายๆ เลยคือเรื่องการศึกษา คุณเคยได้ยินคนที่อยู่ในโซนสีขาว บอกสักคนมั้ยว่าอยากส่งลูกเข้าโรงเรียนของ กทม. เอาว่าตั้งแต่เราเกิด แทบไม่เคยได้ยินใครพูดเลย มีแต่จะส่งเข้าโรงเรียนรัฐดังๆ หรือเอกชนดังๆ วันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เขาไม่พูดถึงโรงเรียนไทยกันแล้วด้วย เขาพูดถึงแต่โรงเรียนอินเตอร์ฯ​ กัน นั่นคือสังคมที่เขาเลือกให้ลูก แสดงว่าคนที่อยู่ในสังคมสีขาวที่มีสิทธิ์เลือก เขาไม่เชื่อระบบการศึกษาในเมืองไทยแล้ว เขาถึงยอมจ่ายในราคามหาศาลเพื่อให้ลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ หลักสูตรอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น 

        “แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนของ กทม. ยังอยู่ที่เดิม หรือถอยกลับมาข้างหลังไปอีก นี่คือช่องว่างที่เราเห็น เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่แตกต่างกัน เขายังไม่ทันได้พิสูจน์ด้วยซ้ำว่าตกลงฉันได้รางวัลเพราะฉันขยันกว่าเธอหรือเปล่า แต่แค่ว่าเกิดมาในจุดที่ต่างกัน คนหนึ่งเลยต้องไปเรียนโรงเรียน กทม. หรืออาจจะไม่ได้เรียนอะไรเลยด้วยซ้ำ กับอีกคนได้เรียนอินเตอร์ฯ​ แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว และนี่คือสิ่งที่เราปล่อยให้เป็นกันมาจนถึงตอนนี้ ดังนั้น ถ้าไม่มีคนมากำกับดูแลที่สนใจเรื่องแบบนี้ และพยายามทำให้จุดเริ่มต้นของคนเท่ากัน สองกลุ่มนี้ จะมาหากันยังไง”  

นโยบายที่เกี่ยวกับผู้หญิง ความจำเป็นที่ต้องรีบแก้ไขในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ 

        “เรื่องนี้มันมีความแปลกนะ คือถ้ามองในแวดวงธุรกิจ ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผู้บริหารผู้หญิงในระดับสูงเยอะ ถือว่าโอเคในแง่สถิติ ยิ่งบางเซกเตอร์เห็นชัดเลยว่าผู้หญิงเยอะ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราสังเกต อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ข้าราชการระดับสูง ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย มันก็เลยเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าทำไม อีกเรื่องที่น่าสนใจว่าเราอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ คือในเชิงข้อมูลบอกว่าผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย แล้วก็ยังเรียนสูงกว่าด้วย วิธีวัดคือวัดจากอัตราการเรียนจบในระดับอุดมศึกษา ซึ่งผู้หญิงมีเยอะกว่า แต่พอถึงเวลาเข้าสู่ระบบการทำงาน ต่อให้เรียนจบเท่ากัน ผู้ชายกลับมีเงินเดือนมากกว่าเสมอ ยกตัวอย่างเช่น จบปริญญาตรีเท่ากัน ผู้ชายจะได้เงินมากกว่าผู้หญิง 5 พันบาท หรือกระทั่งเรียนจบไม่เท่ากัน บางสายงาน ผู้ชายก็ได้เงินเยอะกว่าด้วย เราเลยกลับไปดูว่า แล้วทำไมเป็นแบบนั้น 

        “สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ ลึกๆ แล้วเป็นไปได้มั้ยว่า บริษัท หรือระบบราชการ มักจะรู้สึกว่า ถ้าเลือกได้ก็อยากเลือกพนักงานผู้ชายมากกว่า ซึ่งประเด็นหนึ่งที่เราคิดว่าคนไม่ค่อยพูด แต่ไม่มากก็น้อยต้องอยู่ในความคิดของคน ก็คือว่าเวลาทำงานด้วยกัน เขาจะเชื่อว่าผู้หญิงมีความอึดน้อยกว่า ที่สำคัญคือ เวลาตั้งครรภ์ ผู้หญิงต้องสูญเสียเวลาในการทำงานไปเลย เหมือนที่หลายคนชอบพูดกันว่า เมื่อผู้หญิงมีลูก เวลาของเขาจะหายไปสามปี เพราะเขาต้องให้เวลาลูกทั้งตอนลาคลอดและช่วงสองสามปีแรกที่ต้องดูแลลูกอย่างจริงจัง และอย่าลืมว่า ผู้หญิงมีลูกช่วงสามสิบกว่า ซึ่งเป็นช่วงไต่เต้าในการทำงานเลย แล้วอยู่ๆ หายไปเกือบสามปีเพราะเลือกที่จะเลี้ยงลูกให้ดี มันเลยยากที่เขาจะตามการทำงานของเพื่อนๆ หรือระบบการปรับเลื่อนตำแหน่งได้ 

        “ถามว่า มันจำเป็นต้องเป็นแบบนั้นมั้ย ที่ต้องหายไปสามปี หรือมีลูกแล้วจะไม่สามารถมี career path ที่ดีได้ จริงๆ แล้วเราก็คิดเรื่องนี้เยอะนะว่ามันเพราะอะไร ประเทศอื่นทำยังไง ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยพอๆ กับเราเขาทำยังไง คำตอบคือ มันทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า เมืองที่ดี มันต้องออกแบบมาโดยการคิดให้ครอบคลุมทั้งผู้ชายและผู้หญิง เมืองที่คิดถึงผู้หญิงคือ คิดถึงในสิ่งที่ผู้หญิงจะต้องเป็นไปตาม cycle ของชีวิต ง่ายๆ คือถ้าเขามีลูก ทำยังไงให้เวลาของเขาไม่หายไปดูแลลูกสามปี แต่เอาแค่สามเดือนก็กลับไปทำงานได้แล้ว 

        “จริงๆ แล้วไม่ยาก สิ่งที่ต้องทำคือ เราต้องคิดถึงการมีสถานเลี้ยงเด็กดีๆ ใกล้บ้าน มีที่ปั๊มนมให้ที่ออฟฟิศ ถ้าเมืองคิดให้เราแบบนี้ คนเป็นแม่อาจไม่ต้องหยุดทำงานก็ได้ แต่ที่บางคนต้องหยุดไปเลี้ยงลูก เพราะสถานเลี้ยงเด็กที่ดีและราคาไม่แพงมันไม่ค่อยมี เขาสู้ราคาไม่ไหว ก็ต้องลาไปเลี้ยงลูกเอง บางคนไม่มีเงินจ้างพี่เลี้ยง การลาออกมาเลี้ยงลูกก็คุ้มกว่า 

        “สิ่งที่เราเห็นจากการสำรวจพื้นที่คือ ในกทม มีชุมชนกว่า 2,500 ชุมชน จริงๆ เรามีศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์ดูแลเด็กก่อนปฐมวัยแล้วนะ แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้คิดเผื่อไปถึงเด็กที่ก่อนอายุ 3 ขวบ ตอนลงพื้นที่เราก็ไปถามว่า แล้วเด็กก่อน 3 ขวบ นี่ทำยังไง เขาบอก ต่างคนต่างเลี้ยงเอง ดูแลกันเอง บางทีมียายมีย่ามาช่วยเลี้ยงด้วย ถ้าไม่มีใครเลย ก็ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยง แปลว่า ถ้าผู้หญิงคนนั้นเก่งพอ เขาก็ยังกลับเข้าไปทำงานต่อได้ แต่ถ้าไม่เก่ง โลกเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ จะกลับไปยังไง แล้วเขาก็ไม่มีแรงจูงใจในการกลับเข้าไป เพราะรู้สึกว่าตัวเองถอยหลังเยอะแล้ว หรือถ้าเข้าไปอีกครั้งก็คงตามเพื่อนไม่ทัน โดยเฉพาะเพื่อนผู้ชาย นี่ก็เป็นเพราะว่าเมืองไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน ถ้าเมืองคิดเรื่องนี้ สถานที่ราชการหรือที่ทำงานทุกแห่งจะมีที่ปั๊มนมสำหรับคุณแม่ มีศูนย์เลี้ยงเด็กก็ได้ ไม่อย่างนั้นเขาก็กลับไปทำงานไม่ได้ ถ้าเมืองคิดเรื่องนี้ให้ ผู้หญิงที่อยากทำงาน อยากมีอนาคตการทำงานที่ดี ไม่ต้องเลือกก็ได้ว่าจะเอาอนาคตลูก อนาคตของที่บ้าน หรืออนาคตของตัวเอง เพราะเขาทำได้หมดทุกอย่าง แต่ถ้าเมืองไม่ได้คิดมาให้ เขาก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เรามีศูนย์ก่อนปฐมวัยแล้ว เราก็น่าจะขยายเป็นที่รับเลี้ยงได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปเลยมั้ย ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างที่ทำได้จริงในบางชุมชนด้วย” 

เราอาจไม่รู้ว่า ปัจจัยเรื่องความปลอดภัยและการใช้ชีวิตของผู้หญิงในเมือง สร้างผลกระทบมากกว่าที่คิด 

        “จริงๆ ปัจจัยเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย ยกตัวอย่าง สมมติเราทำงานในบริษัทเดียวกัน มีทีมทำงานที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายในทีมเดียวกัน จะเห็นว่าพอ 6 โมงเย็น ผู้หญิงในทีมจะขอกลับบ้าน ทำโอทีไม่ได้ ถ้าเราไปถามจริงๆ เขาอาจจะตอบเลยว่าเขาไม่ได้ขี้เกียจหรือไม่อยากทำงาน แต่ต้องรีบกลับ เพราะซอยที่บ้านมืดมาก ไฟเสียประจำ รถเมล์ก็ไม่ครอบคลุมทุกเส้นทาง เส้นทางไหนไม่ค่อยมีคน ก็ไม่มีรถเมล์บริการ มีแต่รถตู้ พอจะเข้าซอย ก็ต้องนั่งวิน ดังนั้น มืดมากไม่ได้ มันอันตราย นี่คือสถานการณ์จริง 

        “ส่วนอีกคนที่เราคุยด้วยบอกว่า ในซอยเคยมีผู้หญิงถูกฉุดไปข่มขืน เขาก็กลัวสิ เลยต้องรีบกลับบ้าน แล้วทีนี้ถ้าเรามองจากมุมเจ้านาย มุมธุรกิจ เทียบพนักงานหญิงกับชายอีกคน เราจะเห็นว่าผู้ชายอยู่ทำงานถึงสามทุ่มยังได้ เป็นเราก็ต้องคิดว่าลูกน้องผู้ชายทุ่มเทกับงานมากกว่าเห็นๆ ซึ่งมันทำให้ผู้ชายมีโอกาสได้รับการโปรโมตมากกว่า นี่แค่เรื่องความปลอดภัย ซึ่งมีผลกระทบใหญ่มากนะ สามารถกระทบได้ถึงหน้าที่การงาน ถามว่าจะแก้ยังไงได้บ้าง จริงๆ แล้วมันก็คือเรื่องพื้นฐานเลย คือสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม เพราะเวลาดึกๆ ดื่นๆ รถที่ปลอดภัยที่สุดคือรถเมล์นี่แหละ เพราะคนจะไม่กล้าขึ้นแท็กซี่ แต่ปัญหาคือเรามีรถเมล์ที่ไม่ครอบคลุม ในซอยไม่มีไฟ นี่แหละคือสิ่งที่ กทม. แก้ได้ จริงอยู่ที่ระบบขนส่งมันเกี่ยวกับ ขสมก. แต่กรุงเทพฯ จัดหารถมาเดินทางเองได้นะ ทำให้ครอบคลุมและมีราคาประหยัดได้ หรือแม้แต่เรื่องไฟส่องสว่างก็ตาม 

        “จริงๆ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ แต่อยู่กับการไฟฟ้า ซึ่งแต่ทุกวันนี้ก็มีการประชุมรายเขตทุกเดือนอยู่แล้ว ประกอบไปด้วยผู้อำนวยการเขต มีการไฟฟ้าฯ มีประปาฯ ผู้แทนชุมชน ส.ส. นี่คือความร่วมมือที่ทำให้เขตตรงนั้นพัฒนา แต่เรื่องสำคัญคือ เราต้องยอมรับก่อนว่า คำว่าปลอดภัยมันไม่คงที่ วันนี้ปลอดภัย ไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้จะปลอดภัย วันนี้ปลอดภัยเพราะไฟติดเต็ม อีกอาทิตย์อาจจะไฟดับก็ได้ ดังนั้น ไม่มีใครบอกได้ว่าความปลอดภัยจะหยุดนิ่งแบบนั้น ดังนั้น เราต้องอัพเดตได้เสมอว่ายังปลอดภัยอยู่มั้ย ซึ่งเราพบว่าทุกวันนี้ กทม. มีจิตอาสาเยอะมาก และเป็นความน่ารักของเมืองเราเลย ที่มี Active Citizen เยอะ ส่วนตัวเองก็ได้ไอเดียมาจากเว็บ ปักหมุดจุดเผือก หรือ risk map แผนที่ความเสี่ยง ที่เขาจะช่วยกันปักหมุดว่าตรงนี้อันตราย เตือนภัยกันและกัน เราก็เอาไอเดียจากกลุ่มนี้มาพัฒนาต่อ ตอนเราระดมสมองเพื่อทำนโยบาย เราใช้สิ่งที่เรียกว่า Traffy Fondue ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำโดย สวทช. ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ เป็นแพลตฟอร์มที่เอาไว้รายงานว่าตรงนี้มีอะไรเกิดขึ้น เช่น ถ่ายรูปมาบอกได้เลยว่า ท่อตัน ไฟไม่ติด ฯลฯ คือเป็นโอเพนซอร์ซที่ไม่ต้องทำอะไรใหม่เลย สามารถใช้ได้เลย คือจะบอกว่าระบบที่ดีมันมีอยู่เยอะ อยู่ที่เราตั้งใจจะเอามาใช้หรือเปล่า เราเลยเอาตัวระบบนี้มาเชื่อมกับ Bangkok Risk Map แล้วทำให้แอ็กทีฟ แล้วจากนั้นคนก็จะใช้มากขึ้นเรื่อยๆ 

        “เพราะส่วนตัวเชื่อว่า ไม่ว่าผู้ว่าฯ จะเก่งขนาดไหน ก็ไม่มีทางดูเมืองได้ละเอียดทุกตารางนิ้ว ถ้าไม่มีพลเมืองที่ดีช่วยกัน ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนรักเมือง ทุกคนรักบ้านเกิดตัวเอง เราแค่พยายามเปิดทางบอกเขาให้มาร่วมด้วยช่วยกัน แล้วมันก็จะดีขึ้น”

เด็กขายของตามสี่แยก อีกปัญหาที่ทำให้อยากเป็นคนแก้ ไม่ใช่แค่คนให้แบบเฉพาะหน้า 

        “ในฐานะที่เป็นแม่ พอเจอเรื่องเด็กขายของตามสี่แยก บางทีก็ไม่รู้จะตอบยังไงดี คือความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง มันก็มีอยู่ในใจ แต่ความสงสารก็มีเหมือนกัน ทำให้บางทีเวลาเราจะซื้อของจากเด็กๆ ก็ต้องคิดหนักเหมือนกันว่า ยิ่งเราซื้อ เขายิ่งทำเรื่อยๆ หรือเปล่า แต่ถ้าไม่ซื้อ เย็นนี้เขาจะมีเงินกินข้าวมั้ย แล้วบางทีก็คิดต่ออีกว่า ตกลงเขาเป็นเด็กที่พ่อแม่ยากจนจริงหรือเปล่า แต่ในขณะเดียวกัน เราก็คิดว่าตรงนี้มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เราจะทำยังไงได้บ้าง

        “ซึ่งนี่คือเหตุผลที่อยากเข้ามาทำในส่วนของนโยบายด้วย เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าเราเป็นนักธุรกิจปกติ เราก็ทำได้แค่ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ปกติจะลงเอยที่ซื้อเพราะสงสาร และเราทำได้แค่นี้ ทำได้แค่ให้ ให้เงินเขาวันนี้ แล้วเรื่องมันก็จะผ่านไป แต่ถ้าเราเป็นฝั่งกำกับดูแล หรือ regulator เราสามารถคิดได้มากกว่านั้น เราจะแก้ปัญหาไม่ให้เด็กมาวิ่งขายพวงมาลัยได้ยังไง เพราะเชื่ออย่างหนึ่งว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกมาวิ่งขายพวงมาลัยกลางสี่แยกหรอก ถ้าไม่จำเป็น นี่ตัดเรื่องขบวนการใช้แรงงานไปก่อนนะ เอาแค่เรื่องความจำเป็นของครอบครัวก่อน ดังนั้น เราจะทำยังไงให้เขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ ก็กลับมาที่ความเหลื่อมล้ำ ทำยังไงให้เขาหลุดจากวงจรความยากจน นั่นคือทำยังไงให้ทุกคนมีจุดเริ่มต้นเท่ากัน สิ่งสำคัญที่สุด พูดแล้วอาจจะดูห่างไกลนะ แต่อย่างน้อย ถึงจะไกลก็ต้องเริ่ม นั่นคือเรื่องการศึกษา ลองคิดดูว่าคนที่ฐานะไม่ดีจะมีที่ดินมั้ย จะมีเงินทองเก็บไว้เหรอ เขาไม่มีอย่างอื่นนอกจากทุนบุคคล ถ้าลูกเขาเรียนดี มีการศึกษามากกว่า เจนฯ สองดีกว่าเจนฯ หนึ่ง อย่างน้อยเขาก็หลุดจากชุมชนนั้นได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเกิดก่อนเลย คือจัดระบบการศึกษาที่ดี ให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา เราต้องมาคิดพัฒนาเรื่องนี้กันใหม่ คิดดูนะ คนในชุมชนทุกวันนี้ ส่งลูกเรียนโรงเรียน กทม. ซึ่งไม่ได้อัพเกรดระบบให้ทันกับโลก เรียนออกมาใช้อะไรไม่ได้ สอบอะไรก็ไม่ติด หรือได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถเอาไปประกอบอาชีพได้ มันก็กลับไปที่ว่า จ่ายเงินแทบตายเพื่อให้เรียนจบแต่ไม่สามารถหารายได้ เพราะสิ่งที่เรียนไม่ทันกับโลกที่เป็นอยู่ แบบนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอยู่ดี”

เดินหน้าสร้างระบบที่ดี สร้างจุดเริ่มต้นให้คนเท่ากัน 

        “อีกเรื่องที่จะทำให้จุดเริ่มต้นของคนเท่ากัน คือการเข้าถึงสาธารณสุขที่ดี ถ้าคนเราเกิดมาไม่สบาย สุขภาพไม่ดี แล้วไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดี ต้องป่วยตลอดเวลา มันยากนะที่จะทำให้ตัวเองแข็งแรงแล้วออกไปสู้กับโลกการแข่งขันข้างนอก แล้วไหนยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอีก 

        “เช่น เมื่อวานไปประมาณ 4 ชุมชน เจอเด็กที่เกิดมาพิการทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะตอนเกิดมาไม่สบาย แล้วปู่ย่าไม่เสี่ยงที่จะผ่าตัด เพราะกลัวหลานจะเป็นอะไร พอไม่เสี่ยงก็ทำให้โรคมันไม่หาย วันนี้เขาก็เลยกลายเป็นเด็กที่มองไม่เห็น ไม่ได้ไปโรงเรียน เห็นแล้วก็เกิดคำถามนะว่าถ้าเขาไม่ได้เกิดมาในชุมชน แต่เกิดมาในสังคมที่มีฐานะ ได้เข้าโรงพยาบาลที่ดี เขาจะเป็นแบบนี้มั้ย 

        “พอเดินไปอีกบ้าน เราไปเจออีกคน อายุ 18 นอนอยู่ในบ้านตลอด แม่บอกว่า ตอนลูกเด็กๆ ประมาณ 8 เดือน เขาพาอาบน้ำแล้วลูกนั่งเอาหัวจมลงไปในอ่างน้ำ เพราะแม่มัวแต่ทำอย่างอื่นไปด้วยเนื่องจากดูลูกคนเดียว พอกลับเข้ามาเห็นอีกที อ้าว ลูกเอาหัวจมลงไปในน้ำนานเกินไปแล้ว ช่วยไม่ทันแล้ว นี่ก็เป็นอีกคำถามในใจว่าถ้าเขาเกิดมาในบ้านที่พร้อม การจมแบบนี้ก็อาจเกิดได้น้อยกว่า หรือถ้าจมก็น่าจะมีวิธีรักษาได้ น้องอาจจะไม่ได้เป็นมากขนาดนี้ก็ได้ แปลว่า ถ้ามีการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดี คนในสังคมสีดำ น่าจะเริ่มต้นวิ่งในจุดที่เท่ากันได้” 

ถ้าเมืองดีและถ้าคนกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าที่ดี 

        “เราจะไม่มีสีดำและสีขาวชัดเจนขนาดนี้ เราควรจะเป็นเมืองที่มีสีขาวหลายเฉดและมีสีดำให้น้อยลงกว่านี้ ถ้าเราสามารถทำให้จุดเริ่มต้นมันใกล้ๆ กัน เราน่าจะเห็นปัญหาในสังคมน้อยกว่านี้ เพราะบางทีถึงแม้เราอยู่ในสังคมสีขาว แล้วบอกว่าสังคมสีดำไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่จริงๆ มันเกี่ยวเสมอ อย่างเช่นเรื่องยาเสพติด ก็เป็นไปได้ว่าลูกของคนที่อยู่ในสังคมสีขาวอาจจะติดยาเสพติดก็ได้ ซึ่งบางทีก็มาจากส่วนที่เป็นสีดำนี่แหละ เพราะวันนี้สังคมมันแคบลงเรื่อยๆ ทุกคนสื่อสารถึงกันได้หมด ชีวิตมันไม่ได้แยกขาดจากกันขนาดนั้น แม้ว่าเราจะอยู่ในสังคมสีขาว แต่ยังไงเราก็ต้องเจอกับปัญหาอยู่ดี ยิ่งถ้าคุณรู้สึกว่าสังคมไม่เคยดีขึ้นเลย ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับมีแต่แย่ลง มีแต่สีขาวสีดำที่ชัดขึ้น ถ้าไม่มีใครมาปิดช่องว่างตรงนี้ สีขาวสีดำก็จะยิ่งชัดขึ้นไปเรื่อยๆ

        “ส่วนผู้ว่าฯ ที่ดี ก็จะคิดว่า ทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งนับคนที่อยู่ในส่วนที่เป็นสีดำด้วย คำว่าน่าอยู่ก็คือ ทำให้สังคมที่เคยสีดำเปลี่ยนเป็นสีขาวมากขึ้น นั่นคือผู้ว่าฯ ที่ดีสำหรับเราทุกคน” 

แม้จะ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ แต่วินัยในการดูแลตัวเองต้องมี 

        “ยอมรับว่าทำงานเยอะ ลงพื้นที่ตลอด แต่ก็ดูแลตัวเองด้วย เราอาจไม่ใช่คนที่รักสวยรักงามอะไรมากนัก แต่เป็นคนที่มีวินัยในการออกกำลังกายมาก ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงาม แต่มันทำให้เราใช้สมองได้ดีขึ้น และเราจะชอบคิดอะไรแบบยาวๆ ช่วงเช้า เลยเป็นคนที่เข้านอนเร็ว 2-3 ทุ่มก็นอนแล้ว เพื่อจะได้ตื่นเช้ามาว่ายน้ำสักชั่วโมงนึงให้ได้ เพราะคีย์ในการออกกำลังกายของเราคือ ต้องทำคนเดียวได้ ไม่ต้องชวนใครไป ออกกำลังกายเสร็จ ก็เตรียมออกไปทำงานทั้งวัน เย็นกลับมาก็เล่นกับลูกๆ ดูแลลูก ไม่ไปปาร์ตี้ที่ไหน เพราะไม่ดื่มเหล้าเลย แอลกอฮอล์ ไวน์ คือไม่แตะเลย ไม่สูบบุหรี่ เลือกกินอาหารที่ดีหน่อย เพราะเราก็อายุเยอะแล้ว อะไรที่มันไม่ดีต่อสุขภาพก็จะไม่แตะ ไม่ชอบการไปทานข้าวนอกบ้านตอนกลางคืนเลย เพราะเป็นคนที่เข้านอนเป็นเวลา คือเรียกว่า ใช้ชีวิตแบบซิมเปิลมาก ค่อนข้างน่าเบื่อด้วยซ้ำนะเนี่ย (หัวเราะ)” 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ