‘ติดกระดุมเม็ดแรกผิด เรื่องจึงไม่มีทางถูก’
ประโยคที่พอจะสะท้อนเรื่องราวการเสียชีวิตของนักแสดงสาว ‘แตงโม’ – ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ ที่นับถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่าสามเดือนครึ่ง ภายหลังจากที่ดาราสาวพลัดตกเรือจนจมหายในแม่น้ำเจ้าพระยา และจากนั้นก็มีเรื่องราว รวมถึง ‘ตัวละคร’ เกิดขึ้นกับคดีความนี้อีกมากมาย
หากจะหาข้อสรุปสถานการณ์ในตอนนี้ คงพูดได้ประมาณว่า ‘สรุปที่ไม่สรุป’ เนื่องจากยังมีข้อมูล หลักฐาน พยาน และตัวละครที่ปรากฏขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน ยิ่งสังคมถามหาความชัดเจน ก็เหมือนจะเห็นเพียงความพร่ามัว
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปยังวันแรกๆ ของเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกคนคงเห็นอย่างชัดเจนว่า มีหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาคนหนึ่ง นามว่า รศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ โดยเฉพาะในรายละเอียดของการเก็บหลักฐาน การเก็บวัตถุพยาน รวมถึงการสืบสวนสอบสวนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนส่งผลต่อรูปคดีที่ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านจนถึงวันนี้
‘สำคัญคือจุดเริ่มต้น’ หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่า คือการติดกระดุมเม็ดแรก ซึ่งหากว่าเริ่มต้นได้ถูกต้อง ที่เหลือก็จะไม่มีทางบิดเบี้ยวไปได้ แต่ในเมื่อเรื่องราวไม่ได้เป็นอย่างนั้น การร่วมกัน ‘ถอดบทเรียน’ จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทำอย่างไรให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างถูกต้อง ทำอย่างไรให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสมบูรณ์ และไม่ถูกแทรกแซง หรือแม้แต่การที่จะทำอย่างไรให้โครงสร้างการทำหน้าที่ของกระบวนยุติธรรมของเมืองไทย เป็นไปได้ดีกว่านี้
คำถามเหล่านี้ เราได้นำไปไถ่ถามกับ ‘อ. กฤษณพงค์’ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงยังเป็นอาจารย์พิเศษ รับเชิญไปให้ความรู้ด้านอาชญาวิทยาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสถาบันต่างๆ อีกหลายแห่ง นอกเหนือจากนั้น ในอดีตเขายังเป็นนายตำรวจที่ใช้ชีวิตและผ่านการทำงานในโลกของการสืบสวนสอบสวนมาหลายปี
เพราะเข้าใจลึกซึ้งรอบด้านทั้งความเป็นตำรวจ และเชี่ยวชาญในเรื่ององค์ความรู้ ด้านอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ อ. กฤษณพงค์ มองเห็นถึงด้านดีตลอดจนข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของนักแสดงสาว ซึ่งเราหวังว่า การสนทนากันครั้งนี้ จะช่วยทำให้การทำหน้าที่ของบุคลากรด้านความยุติธรรมได้พัฒนาต่อไป เพราะในเมื่อถอดบทเรียนมาแล้ว เราก็ควรเรียนรู้กันอย่างจริงจังและแก้ปัญหาที่หมักหมมอยู่ในระบบกันได้เสียที เพราะแก้ไขเร็ว ก็ดีกว่าชักช้าร่ำไร
ในแง่ของอาชญาวิทยา อาจารย์มองเคสของ ‘แตงโม’ ที่เกิดขึ้นมา มีนัยยะสำคัญอะไรบ้างที่น่าสนใจ
ด้วยความที่คุณแตงโมเป็นดารา เป็นบุคคลสาธารณะ การเกิดอาชญากรรมครั้งนี้จึงทำให้มีผู้คนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษอยู่แล้ว นอกจากนี้เหตุการณ์ยังเกิดขึ้นบนเรือ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนแค่ห้าคน แต่บุคคลทั้งหมดกลับบอกว่าคุณแตงโมพลัดตกเรือไปเอง จนเวลาผ่านไป เริ่มมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ จากการที่บุคคลทั้งห้าพูดผ่านสื่อ
ในเรื่องของการสืบสวนและดำเนินคดีก็มีข้อสงสัยหลายอย่างเช่นกัน ตั้งแต่ชั้นการทำงานของตำรวจ ที่ไม่มีการตรวจบุคคลทั้งห้าบนเรือ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจสารเสพติด หรือตรวจแอลกอฮอล์ หรือไม่มีการยึดเรือและนำไปตรวจสอบตั้งแต่ต้น สังคมจึงตั้งคำถามว่าความเป็นมืออาชีพอยู่ตรงไหน
ต่อมาบุคคลบนเรือบางท่าน ยังมีความเกี่ยวของกับเครือข่ายของตำรวจ เช่น เป็นลูกเขยของนายตำรวจใหญ่ หรือบุคคลบนเรือบางท่านรู้จักกับตำรวจ รวมทั้งยังมีความบังเอิญเกิดขึ้นในคดีนี้อีกหลายอย่าง อันนั้นก็บังเอิญ อันนี้ก็บังเอิญ เช่น บังเอิญคุณแตงโมพลัดตกไปเอง ทั้งหมดจึงทำให้สังคมให้ความสนใจและเกิดข้อสงสัยขึ้นมากมาย
เหตุที่ทำให้เกิดความสงสัยต่างๆ ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม พูดอย่างนี้ได้ไหม
ต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้มันเกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธา ต่อองค์กรตำรวจมานานแล้ว ซึ่งนี่คือเรื่องใหญ่มาก พูดง่ายๆ ว่าคนไทยแทบจะไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจเลยมาแต่ไหนแต่ไร ผมเองในฐานะเคยเป็นตำรวจ ไม่ใช่ไม่รักองค์กรตำรวจ เพราะเราเลือกเส้นทางชีวิตการเป็นตำรวจมาตั้งแต่เด็กๆ เคยทำงานกองปราบปรามมาก่อนด้วย แต่เราก็ยอมรับว่านี่คือประเด็นที่สำคัญจริงๆ ที่คนไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ
อีกอย่าง ปัญหาเหล่านี้ เราต้องมองย้อนลึกเข้าไปในองค์กรตำรวจเลยว่าทำไมประชาชนถึงไม่เชื่อมั่น และทำไมถึงแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้เสียที ซึ่งถ้ามองไปให้ลึกจริงๆ เราจะพบว่าตำรวจอยู่ภายใต้การเมือง ถ้าจะแก้ไขได้ ก็ต้องแก้ในระดับการเมือง ซึ่ง ผบ. ตร. (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ก็แก้ไขไม่ได้ คนเป็นนายกรัฐมนตรียังไม่ใจแน่เลยว่าจะปฏิรูปองค์กรตำรวจสำเร็จได้มั้ย ถ้าไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และเสียสละอำนาจของตัวเองจริงๆ ก็คงทำไม่ได้
ถามว่าแล้วต้องแก้อย่างไร เราต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง หรือแก้ที่ระบบ ผมว่าประเทศเราต้องเรียนรู้และทำตรงนี้ให้มากขึ้น อย่างเรื่องระบบยุติธรรม เราต้องยอมรับว่าคนยังไม่ค่อยเข้าถึงระบบยุติธรรม ไปดูข้อมูลและรายงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปประเทศ หรือกระบวนการยุติธรรม จะเห็นว่าในรายงานเขาเขียนไว้ตรงกันหมดเลยว่า ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ
แต่สำคัญที่สุด ถ้าไม่ยอมรับว่ามีปัญหา เราจะไม่มีวันแก้ไขปัญหาได้ และไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระดับหน่วยงาน ไปจนถึงระดับประเทศ ผมว่าความจริงใจของผู้นำนี่แหละที่สำคัญที่สุด คือปากต้องตรงกับใจ เราอย่าไปพูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง การเป็นตำรวจต้องเป็นตำรวจของทุกคน เพราะนี่คืออาชีพหนึ่งที่ทำหน้าที่แทนรัฐ ประชาชนให้อำนาจไว้กับรัฐ แล้วรัฐก็ใช้อำนาจนั้นผ่านกลไกต่างๆ ในการปกครองประเทศ ตำรวจก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่รัฐให้อำนาจในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ดังนั้น ต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชนให้เต็มที่ที่สุด
ย้อนกลับไปตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของแตงโมขึ้นใหม่ๆ อาจารย์น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่แสดงความเห็นผ่านสื่อ ในมุมที่ไม่คิดว่าเป็นอุบัติเหตุ จนถึงตอนนี้ยังเชื่อแบบเดิมอยู่ไหม
ช่วงแรกตั้งแต่เกิดเหตุ มีสื่อหลายสำนักมาถามผม รวมทั้งที่ไปออกรายการ โหนกระแส ซึ่งผมก็ให้ความเห็นว่าไม่ปกติ มีพิรุธ ปัจจุบันก็ยังยืนยันอย่างนั้น คือโดยส่วนตัวเคยทำงานเป็นตำรวจกองปราบฯ อยู่ 8 ปี ผ่านการทำเรื่องสืบสวนสอบสวนมาพอสมควร เพราะฉะนั้นจึง เข้าใจในเซนส์ของคดีที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นความไม่ปกติ
ยิ่งได้ฟังคนบนเรือให้สัมภาษณ์ว่าขณะเกิดเหตุทุกคนไม่มีใครเห็นแตงโม มีที่เห็นอยู่คนเดียวคือคุณแซน เพราะแตงโมจับขาแซนเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ ถ้ามีการตรวจในคืนนั้น เพราะจะทำการตรวจหาลายนิ้วมือแฝงที่ขาคุณแซนได้ ซึ่งถ้ามีจริง ยังไงก็พบลายนิ้วมือแน่นอน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นอย่างนั้น ทุกคนไมได้ถูกสอบสวนตั้งแต่คืนนั้น สมมติถ้าเกิดเอาคนทั้งห้าคนมาสอบสวนเลย เรื่องจะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะถ้ามีใครพูดไม่ตรงกันสักคน เราจะพบความผิดปกติทันที ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นตำรวจ เขาทำงานอยู่ที่อเมริกามาสามสิบกว่าปี เขาบอกว่าถ้าผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีการมาพบตำรวจ ตำรวจสามารถตามไปถึงที่บ้านได้ เขาจะไปเอาตัวมาเลย เพื่อจะนำมานั่งสอบสวนว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ก็เห็นได้ชัดว่า สำหรับเคสของ ‘แตงโม’ กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น แถมหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่พอจะเป็นประโยชน์กับรูปคดี กลับไม่ได้มีการดำเนินการเก็บไว้ตั้งแต่ต้น
โดยมาตรฐานสากล หลักฐานสำคัญในทางคดีมีอยู่ด้วยกันสามอย่าง คือหนึ่ง หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยในที่เกิดเหตุจะต้องปิดกั้นไว้ไม่ให้ใครยุ่งเลย อย่างกรณีของแตงโมก็คือเรือ ต้องห้ามไม่ให้ใครยุ่ง ส่วนหลักฐานสำคัญที่สองก็คือศพ ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน เช่น สามารถตรวจหาสารเสพติด หรือตรวจในกระเพาะอาหารว่ามีอะไรมั้ย รวมทั้งร่องรอยบาดแผลต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่าเขาเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร และหลักฐานสำคัญเรื่องที่สาม คือพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การใช้โทรศัพท์ การใช้ความเร็วเรือ การใช้จีพีเอส พวกนี้เป็นข้อมูลที่แก้ไขกันไม่ได้ โดยเฉพาะเรือที่มีกล่องเก็บข้อมูล แก้ไขไม่ได้แน่นอน คำถามคือ สิ่งที่พูดมาทั้งหมด มีอยู่ในคดีของแตงโมครบถ้วนหรือสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน
ถ้าให้สรุปง่ายๆ อะไรคือความบกพร่องจากการตั้งข้อสังเกตของอาจารย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้น
หนึ่งคือ เรื่องของการตรวจวัตถุพยาน การยึดอายัดเรือ ต้องแจ้งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจ สองคือ บุคคลทุกคนที่อยู่บนเรือ จะต้องถูกเรียกมาสอบปากคำทั้งหมด สามคือ พยานหลักฐานอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการตรวจสอบ เช่น โทรศัพท์ การติดต่อสื่อสาร หรือเส้นทางการเดินทางต่างๆ ซึ่งบังเอิญไม่มี ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่มีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้นมากมายในเวลาเดียวกัน
หากจะบอกว่า ตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่ง คือการไม่ได้อายัดเรือไว้ตั้งแต่คืนแรกในที่เกิดเหตุ มันจึงส่งผลให้มีข้อมูลทั้งเท็จ ทั้งจริง ออกมาจนเกิดความสับสนอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้
ผมพูดอย่างนี้แล้วกัน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทีนี้พอไม่สามารถพิสูจน์ด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เลยกลายเป็นการพิสูจน์ด้วยจินตนาการอย่างที่เห็น
ประเด็นเรื่องการไปปัสสาวะท้ายเรือของแตงโม จนทำให้เกิดการพลัดตกลงไป ข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถช่วยคลี่คลายความจริงเรื่องนี้ได้ไหม
ต้องเรียนอย่างนี้ก่อนครับ ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ความจริงได้ คือสามอย่างที่บอกไป คือ นิติวิทยาศาสตร์ ศพ และวิทยาศาสตร์ ทีนี้ถามว่า นิติวิทยาศาสตร์สามารถคลี่คลายข้อสงสัยเรื่องไปปัสสาวะท้ายเรือของคุณแตงโมได้หรือไม่ ผมตอบว่า ทำได้
นิติวิทยาศาสตร์สามารถบอกสิ่งที่อยู่ในที่เกิดเหตุได้ เช่น ถ้ามีการบอกว่าแตงโมเดินไปปัสสาวะที่ท้ายเรือ แสดงว่าต้องมีรอยเท้า ซึ่งมันมีเครื่องมือในการพิสูจน์ว่าตกลงมีรอยเท้าคุณแตงโม หรือแม้แต่คุณแตงโมเดินไปตรงจุดนั้นจริงหรือเปล่าถ้าหากวันแรกมีการตรวจยึดอายัดเรือไว้ พอผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ไปถึงปุ๊บ เขาจะมีเครื่องมือในการตรวจรอยเท้าคนบนเรือ ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ผู้เชี่ยวชาญเขาสามารถตรวจหา จนสามารถรู้ได้ว่านี่คือรอยเท้าใครที่เดินไปบริเวณนั้น แล้วเขาจะบอกได้ว่า คุณแตงโมเดินมาตรงนี้จริงมั้ย
ส่วนเรื่องการปัสสาวะ ถ้าหากมีการไปปัสสาวะจริง บริเวณดังกล่าวมีคราบปัสสาวะติดอยู่บ้างไหม ตรงนี้ก็สามารถตรวจสอบหาหลักฐานได้ หรือแม้แต่ความเร็วของเรือ ทำให้การลงนั่งปัสสาวะได้จริงหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้สามารถบอกได้ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จนนำไปสู่ผลลัพธ์ทางคดีได้เช่นกัน
แม้ว่าเหตุการณ์จะยังมีความสับสน คลุมเครือ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมตื่นตัวกับเรื่องการตรวจสอบหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นบนโซเชียลมีเดีย เรียกว่ามีการสืบสวนแบบคู่ขนานกันมาตลอด อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้เป็นอย่างไร
คือต้องยอมรับว่า ปัจจุบันระบบการตรวจสอบ มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความระมัดระวังในการใช้อำนาจมากยิ่งขึ้น แต่ผู้ตรวจสอบเองก็จะต้องมีความเป็นกลาง มีความเป็นธรรม และต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องปรับตัว พยายามทบทวนข้อผิดพลาด รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น
ทุกวันนี้เวลาผมสอนน้องๆ นักเรียนนายร้อยตำรวจ ผมจะบอกเสมอว่า ต้องปรับตัว ปรับรูปแบบในการทำงาน ถ้ายังใช้วิธีการทำงานแบบเดิม หรือคิดแบบเดิม ชาวบ้านเขาก็จะด่าเราเหมือนเดิม ซึ่งในความเป็นจริง โครงสร้างการบริหารงานของตำรวจไทยทุกวันนี้ยังใช้แบบเดียวกับเมื่อร้อยปีที่แล้ว คือเรียกว่าเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งมีต้นแบบมาจากตำรวจในประเทศอังกฤษ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตำรวจในอังกฤษได้พิสูจน์แล้วว่า ระบบแบบนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอาชญากรรมในประเทศ เขาจึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการกระจายอำนาจ โดยให้แต่ละเมือง แต่ละชุมชน มีตำรวจเข้าไปคอยดูแลแก้ไขปัญหา และมีคณะกรรมการภาคประชาชนที่มาช่วยทำงานร่วมกัน มันทำให้การเกิดอาชญากรรมลดลง แล้วที่สำคัญ ยังมีระบบการตรวจสอบการทำงาน ที่ทำให้ตำรวจต้องมีความระมัดระวังในการทำงานมากขึ้นด้วย
แต่พอย้อนกลับไปมาดูที่บ้านเรา ผ่านมาร้อยปี เรายังต้องการยึดแบบเดิมนี้ไว้ แต่ผลที่ตามมาคือ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส ประชาชนไม่เชื่อมั่นและศรัทธา ประชาชนด่าตำรวจ ตำรวจก็ด่ากันเอง แต่เราก็ยังยึดมั่นระบบนี้กันต่อไป
ที่อังกฤษเขาจะมีคำอยู่คำหนึ่ง เขาบอกว่า Policing by Consent หมายความว่า กิจการงานตำรวจ โดยความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งวลีนี้เขาใช้มาเป็นร้อยปี เขามองว่าเวลาตำรวจจะคิดหรือจะทำอะไรก็ตาม ประชาชนต้องเห็นพ้องต้องกันด้วย เช่น หากตำรวจบอกว่าต้องการจะลดปัญหาอาชญากรรม โดยใช้วิธีตั้งด่าน เพื่อตรวจรถทุกคัน แต่ก่อนที่จะลงมือทำ คุณต้องถามความเห็นประชาชนเสียก่อน หรือต้องได้รับความเห็นพ้องจากประชาชน เพราะไม่อย่างนั้นเวลาคุณตั้งด่านแล้วทำให้รถติดยาว ประชาชนก็จะเดือดร้อน
อาจารย์คิดว่า ‘คดีของแตงโม’ จะเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราวอะไรได้บ้าง
ต้องแยกก่อนว่า จุดเปลี่ยนในที่นี้ หมายถึงจุดเปลี่ยนอะไร เช่น เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องของการสร้างความเป็นมืออาชีพของตำรวจมากยิ่งขึ้น หรือจุดเปลี่ยนในเรื่องของคนในสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมกับคดีอาชญากรรมสำคัญๆ หรือจุดเปลี่ยนเรื่องของปัญหาระบบโครงสร้างขององค์กร ที่ต้องมีการแก้ไข หรือจุดเปลี่ยนในระดับนโยบาย ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่พูดมาทั้งหมด ในปัจจุบันยังไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ (ยิ้ม)
แล้วถ้าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงกันจริงๆ อาจารย์คาดหวังกับการเปลี่ยนตรงส่วนไหนมากที่สุด
ผมอยากให้เปลี่ยนในเชิงของโครงสร้างและระบบ โดยให้ตำรวจมีโอกาสได้ทำงานเป็นมืออาชีพมากขึ้น ให้เขาได้รับการดูแล ได้รับการแก้ไข รวมทั้งประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน คือในโลกของความเป็นจริง มันคงเป็นไปไมได้อยู่แล้วที่เราจะได้รับความเป็นธรรมเท่ากันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย ระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นให้ได้มากที่สุด อันนี้คือสิ่งสำคัญ
สังคมไทยผ่านประโยคคำว่า ‘ปฏิรูป’ อยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้าจะต้อง ‘ปฏิรูปองค์กรตำรวจ’ กันอย่างจริงจัง อาจารย์คิดว่าต้องมีลำดับขั้นตอนอย่างไร
การจะปฏิรูปตำรวจได้จริง มันขึ้นอยู่กับหลัก 3P คือหนึ่ง Political Will หรือเจตจำนงทางการเมือง ต้องแน่วแน่ สอง Police หรือตำรวจต้องอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์กร และสาม Public หรือ People ประชาชนก็ต้องอยากเห็นตำรวจดีขึ้น หรือพัฒนาขึ้น ถ้าสามองค์ประกอบนี้รวมกันเมื่อไหร่ มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครับ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา มันขึ้นอยู่กับข้อหนึ่งและข้อสอง คือเจตจำนงทางการเมืองไม่แน่วแน่ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มักจะได้ยินเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าแค่เสนอการแก้กฎหมายแล้วจบ แบบนี้ไม่ได้เรียกปฎิรูป เป็นแค่การแก้กฎหมายตำรวจ
ส่วนทางด้านตำรวจและวัฒนธรรมองค์กรของเขาเอง ก็อย่าลืมว่าคนที่มีอำนาจ กว่าที่เขาจะขึ้นมาได้ ก็ไม่มีใครอยากเสียอำนาจหรอก เขาก็อยากมีชื่อไปแปะหน้าบ้านว่านี่บ้านพลตำรวจเอก นี่บ้านคนนั้นคนนี้ ดังนั้น เราจะทำยังไงให้เงื่อนไขตรงนี้หมดไป หรือแม้แต่เรากำลังต้องการคนที่กล้าลุกขึ้นมาบอกว่า เราอยู่กันแบบนี้ไม่ได้ มันต้องมีการปฏิรูป
ซึ่งมันแปลว่าเราต้องมาดูว่าตำรวจเขามีปัญหาอะไร ประชาชนมีปัญหาอะไร ทำไมตำรวจไม่สามารถทำงานแบบมืออาชีพได้ ทำไมประชาชนไม่สามารถได้รับความยุติธรรมจากตำรวจ ทำไมเขาไม่เชื่อมั่นศรัทธากับการทำงานของตำรวจ ทำไมคนเดินทางไปแจ้งความต้องได้รับการปฏิเสธ ให้ไปแจ้งที่โรงพักอื่น หรืออะไรอีกสารพัด
อย่างเรื่องที่คนมองว่าทุกวันนี้ตำรวจทำงานไม่เป็นมืออาชีพ เช่น เป็นตำรวจต้องเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การสืบสวนสอบสวน ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ลำพังแค่จุดนี้ เราต้องมาดูกันก่อนว่าเรามีไปถึงจุดนี้หรือยัง อย่างเรื่องคดีของคุณแตงโม ถึงเป็นประเด็นที่คนถามไงครับว่าช่วงแรกที่เกิดเรื่องของคุณแตงโม ทำไมตำรวจให้แยกย้ายกันกลับบ้าน ทำไมไม่อายัดเรือ ไม่มีการเก็บพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
ส่วนถ้าถามถึงบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์ ผมเชื่อว่าเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอนะ แต่เนื่องจากจุดเริ่มต้นที่ชั้นสถานีตำรวจที่ถ้าหากพนักงานสอบสวนไม่มีการแจ้งให้เขามาเก็บพยานหลักฐาน เขาก็มาไม่ได้นะครับ มันอาจจะมีนักนิติวิทยาศาสตร์สักคนที่ดูข่าวคุณแตงโมตั้งแต่คืนแรก และอาจจะอยู่ในเขตพื้นที่นั้นด้วย แต่ไม่สามารถเอาตัวเขาลงไปในพื้นที่เพื่อไปเก็บหลักฐานหรือไปยึดอายัดเรือได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเขาไว้ กฎหมายให้อำนาจอยู่กับพนักงานสอบสวน ดังนั้น แม้เขาอาจจะอยากไปพื้นที่เกิดเหตุแทบตาย แต่มันก็ไปไม่ได้
คำถามคือ แล้วทำไมพนักงานสอบสวนไม่ทำหน้าที่ ทำไมไม่เรียกเขาไปล่ะ ซึ่งนี่ก็อีกปัญหาหนึ่ง เพราะปกติแล้วงานสอบสวนมันเป็นงานที่ตำรวจทั่วไปไม่มีใครอยากทำ นี่เป็นความจริงในปัจจุบันนะ คนที่ทำคือคนที่ไม่รู้จะไปไหนแล้วเลยต้องมาทำ เหตุผลเพราะ หนึ่ง งานหนัก ต้องรู้กฎหมายและมีระเบียบแก้ไขเยอะมาก ถ้าไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีการติดตามพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่สามารถตีความตัวบทกฎหมายได้หรอกครับ ไหนจะระเบียบต่างๆ อีก
เหตุผลข้อสอง หน้าที่นี้เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางเยอะกว่าคนอื่น และสาม ต้องทำสำนวน ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์ ต้องมีการสอบปากคำ ต้องไปตามสอบพยาน ไปตามหาวัตถุพยาน สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเขาต้องทำด้วยตัวของเขาคนเดียว ไม่มีผู้ช่วยพนักงานสอบสวนประจำตัว
ขณะที่ฝ่ายสืบสวน หรือฝ่ายสายตรวจ เขาไม่ต้องมารับผิดชอบงานเอกสารแบบนี้ ดังนั้น เวลาที่พนักงานสอบสวนทำงาน ต้องมาให้ความเห็น เปิดกฎหมาย อันนี้ผิดข้อหาอะไร แจ้งข้อหาอะไร แจ้งสิทธิยังไง ระเบียบมันให้ได้มั้ย ไหนจะประสานพนักงานอัยการ ทำสำนวนทั้งหมด นี่คือพนักงานสอบสวนทำเองหมด แต่ถ้าคดีใหญ่ๆ ก็อาจจะมีองค์คณะพนักงานสอบสวนมาทำงานร่วมกัน แต่ถ้าทั่วไปต้องทำคนเดียว ซึ่งคนพวกนี้ทำงานหนัก แต่ความก้าวหน้าไม่ชัดเจน เพราะความก้าวหน้าของตำรวจ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะต่อให้คุณดูแลชาวบ้านในโรงพักดียังไง ชาวบ้านชอบยังไงก็ตาม แต่พอพิจารณาเลื่อนขั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้สองขั้นนะ ในขณะที่พนักงานสอบสวนอีกคนไปดูแลรับใช้นายเช้าเย็น เพราะนายจะเป็นคนแต่งตั้งเขาในอนาคต แบบนี้พอถึงช่วงเลื่อนขั้น คนนี้มีโอกาสได้เลื่อนนะ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้หากไม่มีการแก้ไข หรือการปฏิรูประบบเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ผลสุดท้ายปัญหาจะตกอยู่กับประชาชนนั่นเอง
ความเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเคสต่างๆ หรือแม้แต่เคสของแตงโมเองก็ตาม อาจารย์คิดว่าถ้าหากไม่มีการแก้ไข ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เป็นคำถามที่ดีมากเลย จำกรณีกราดยิงโคราช ที่ห้างเทอร์มินัล 21 ได้มั้ย การกระทำของผู้ก่อเหตุที่เกิดจากการถูกรังแกจากทหารชั้นผู้ใหญ่ เรื่องผลประโยชน์การกู้เงิน ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วเขาไม่สามารถเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ เขาไม่เชื่อว่าเขาจะได้รับความยุติธรรม แล้วบังเอิญเขาได้รับการฝึกฝนในด้านการใช้อาวุธ มันจึงกลายเป็นความสูญเสียอย่างที่เห็น
เรื่องทำนองนี้ ถ้าวันหนึ่งมีคนที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่ศรัทธาต่อระบบ รู้ว่าระบบไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้ เขาจะลุกขึ้นมาจัดการกับระบบเสียเองด้วยวิธีการที่เขาคิดว่ามันถูกต้องชอบธรรมแล้วสำหรับเขา แต่มันไม่ชอบธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะคนอื่นไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับความเดือดร้อนของเขา แต่ต้องมาบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ถูกต้อง แต่มันน่ากลัวตรงที่เมื่อไหร่ที่คนไม่เชื่อมั่นในระบบความยุติธรรม มันจะมีคนลุกมาแก้แค้นกันเอง หรือเราจะเห็นมีข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่า คนถูกเอาเปรียบ พอไปแจ้งความ ตำรวจก็ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน สุดท้ายโดนเอาเปรียบอีก ก็เลยจัดหาปืนมาเอง ซื้อในอินเทอร์เน็ต แล้วก็ลุกไปจัดการด้วยตัวเอง เพราะรู้สึกว่าหวังพึ่งอะไรไม่ได้ ก็แก้ปัญหาเองแล้วกัน นี่คือตัวอย่างของความไม่ศรัทธาต่อระบบความยุติธรรม ซึ่งถ้าทุกคนคิดแบบนี้ ต่อไปบ้านเมืองและสังคมก็จะไม่มีความสงบสุข
อีกเรื่องที่ควจะต้องแก้ไขคือความแตกต่างระหว่างชนชั้นในบ้านเรา ที่เป็นสาเหตุของการเข้าถึงความยุติธรรมไม่เท่ากัน ซึ่งช่องว่างระหว่างความรวยกับความจนนี้มันไปเกี่ยวข้องกับช่องว่างของความยุติธรรม หมายความว่า คนยิ่งมีเงิน ยิ่งได้รับความยุติธรรม ส่วนคนรากหญ้ากลับไม่ได้รับความยุติธรรม ผมเคยทำวิจัยเกี่ยวกับราชทัณฑ์ไทย พบว่า 70-80% ของคนในเรือนจำส่วนใหญ่มาจากคนรากหญ้าและชนชั้นกลาง คนรากหญ้านี่เกิน 60% เลย แต่ขณะที่คนที่อยู่ระดับสูง เมื่อทำผิด กลับมีคำถามตามมาว่าศาลจะลงโทษด้วยการตัดสินจำคุกมั้ย แปลว่าคนไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะติดคุก เพราะเขามีเงิน นั่นหมายความว่าการมีเงินมันส่งผลต่อการได้รับความยุติธรรมมากขึ้นจริง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือระบบการตรวจสอบที่ต้องเข้มแข็ง มีอิสระ และมีอำนาจเพียงพอ ที่จะทำให้ช่องว่างของความยุติธรรมระหว่างคนรวยกับคนจนแคบลง หรือให้ดีที่สุดคือต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
ถ้าจะมีประโยคหรือคำสักคำหนึ่ง ที่พอจะนิยามเรื่องราวปัญหาเชิงโครงสร้างทางกระบวนการยุติธรรมเมืองไทย อาจารย์คิดว่ามันคือคำว่าอะไร
ผมขอใช้คำว่า Elephant in the Room หรือ ‘ช้างที่อยู่ในห้อง’ ตีความหมายได้ว่า ทุกคนรู้ว่าปัญหามันคืออะไร แต่อาจจะไม่ต้องการแก้ไขปัญหา หรือไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง จึงปล่อยทิ้งปัญหาไว้อย่างนั้นเหมือนช้างที่อยู่ในห้อง เราเห็นเลยว่านี่คือปัญหา เราควรจะต้องเอาออกมาจากห้อง แต่เราไม่รู้ว่าจะเอาออกมายังไง
จริงๆ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เจอ ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็เจอกับปัญหาแบบนี้ ซึ่งคนที่มีอำนาจทางการเมืองหรือเป็นผู้นำประเทศ ต้องมีความเสียสละ และต้องลุกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ว่าในทางกลับกัน ผู้นำในหลายๆ ประเทศก็กลับสนุกกับการมีกลไกทางกฎหมายไว้กับมือ เพราะฉะนั้น เขาอาจจะมองว่าปัญหาแบบนี้มันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไขหรอก เป็น Elephant in the Room ต่อไปนั่นล่ะ
ถามตรงๆ เรายังพอมีความหวังกับกระบวนการยุติธรรมอยู่ไหม
มีสิ แต่ก็ต้องวกกลับมาในประเด็นที่ผมพูดว่าต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบทั้งหมด ขณะนี้เหมือนเรากำลังไปมองข้ามช็อตน่ะ คือเราไม่เริ่มก้าวตั้งแต่บันไดขั้นแรก แต่ไปก้าวที่ขั้นสอง ขั้นสาม หรือข้ามไปขั้นที่สิบ ซึ่งในความเป็นจริงเราต้องเริ่มต้นจากขั้นแรก ค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ ปรับ แล้วปัญหาจะค่อยๆ ถูกแก้ไขลงไป ผมเชื่อว่าถ้าตั้งใจ ปัญหาที่เคยมีจะแก้ได้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเราจริงใจที่จะแก้กันมั้ย
กลับมาที่ ‘คดีแตงโม’ เป็นการปิดท้าย ในความชุลมุนวุ่นวายนี้ อาจารย์คิดว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร
เท่าที่ทราบตอนนี้ ท่านอัยการก็มีความเห็นให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นว่าร่วมกันประมาท นั่นก็แสดงว่า ณ ขณะนี้ พยานหลักฐานต่างๆ มีทิศทางไปในเรื่องเป็นความผิดฐานประมาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถพิจารณาคดีใหม่ได้เสมอ เช่น อาจมีคลิปหรือเสียงหลุดออกมา ช่วงวันเวลาขณะเกิดเหตุ แล้วพิสูจน์ได้ว่าเป็นเส้นเสียงของคุณแตงโม อันนี้ก็จะกลายเป็นพยานหลักฐานใหม่แล้ว ซึ่งในต่างประเทศ หลายๆ คดีเขาก็ปิดไม่ได้นะ คือสุดท้ายไม่รู้ว่าฆาตกรตัวจริงเป็นใคร เขาก็จะเก็บคดีเอาไว้ เรียกว่า cold case unit หรือคดีแช่แข็ง คือหมายความว่า ณ วันนี้ เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าพอในการพิสูจน์หาตัวคนร้าย แต่ไม่ได้หมายความว่าอีกห้าปีสิบปี เราจะไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ เขาจึงเก็บพยานหลักฐาน ข้อมูลทุกอย่างไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องติดตามดูว่าคดีของคุณแตงโมจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ในอนาคต
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ