‘อีก 4 ปี บอลไทยต้องไปบอลโลก’ อาสาเสียงดังๆ จากปากคำของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน

ความร้อนแรงในแวดวงกีฬาเมืองไทยในเวลานี้ คงต้องยกให้กับกีฬาลูกกลมๆ อย่างฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ล่าสุดทำผลงานคว้าได้เพียงอันดับที่สาม ในศึกฟุตบอลคิงส์คัพ ครั้งที่ 48 ภายหลังจึงเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใด ‘ฟุตบอลไทย’ จึงยังหาความสม่ำเสมอในฟอร์มการเล่นไม่ได้ และที่พากันหนักอกหนักใจไปยิ่งกว่านั้น จากที่เคยประกาศกร้าว ตั้งความหวังกันไว้ว่า ‘เราจะก้าวข้ามอาเซียน ไปสู่การเป็นทีมแนวหน้าของทวีปเอเชีย’ แต่ ณ เวลานี้ กลับกลายเป็นว่าบรรดาทีมในอาเซียน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย กำลังทำผลงานแซงหน้า และสร้างมาตรฐานได้ ‘เหนือกว่า’ ฟุตบอลทีมชาติไทยไปเสียแล้ว

        ท่ามกลางเสียงอื้ออึงจากบรรดารถทัวร์แฟนบอลที่วิพากษ์กันสนั่นเมือง มีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย แถมยังเป็นขวัญใจแฟนบอลตลอดกาลอย่าง ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ได้ออกมาให้ทรรศนะว่า ‘ต้องมีโค้ชให้กับกองหน้าทีมชาติไทย’ เพื่อให้มีความเฉียบคมในการทำประตูมากขึ้น แถมนัยยะสำคัญมากกว่านั้น คือการขอให้อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยได้เข้าไปช่วยฝึกซ้อม เพราะเวลานี้ ในสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แทบไม่มีทีมงานที่เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติอยู่เลยสักคน

        นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักฟุตบอลอดีตฉายา ‘เพชฌฆาตหน้าหยก’ อย่างปิยะพงษ์ ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อผลงานและการทำงานของสมาคมฟุตบอลฯ โดยก่อนหน้านี้ เจ้าตัวเพิ่งออกมาประกาศ ขอโอกาสให้เข้าไปเป็น ‘ประธานเทคนิค’ ของสมาคมฟุตบอลฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการพัฒนานักฟุตบอลทีมชาติทุกรุ่น และตั้งใจเข้ามาช่วยบริหารจัดการฟุตบอลลีกให้พัฒนา พร้อมพ่วงแคมเปญอันสุดหวือหวาว่า ‘อีก 4 ปีจะพาบอลไทยไปบอลโลกให้ได้!’  

        อะไรที่ทำให้ปิยะพงษ์เชื่อมั่นที่จะทำให้ได้แบบนั้น และเขามีวิธีการอย่างไรใน 4 ปีต่อจากนี้ พื้นที่ต่อจากนี้ มีคำตอบรออยู่…

การประกาศขอเข้ามาทำงานในหน้าที่ ‘ประธานเทคนิค’ ในสมาคมฟุตบอลไทยฯ โดยหลักการมีหน้าที่อะไรบ้าง

        โดยหลักการ คือมีหน้าที่บริหารจัดการและพัฒนาวงการฟุตบอลไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลหญิง ฟุตบอลชาย ตั้งแต่ระดับรากหญ้า (grass root) ไปจนถึงทีมชาติชุดเยาวชน ตั้งแต่ชุด 12 ปี ไล่ไปจนถึงทีมชาติชุดใหญ่ รวมไปถึงในส่วนของการอบรมโค้ชทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังเข้าไปดูแลบริหารจัดการฟุตบอลลีกไทยให้ดำเนินการไปด้วยดี และเอื้อต่อการเตรียมทีมชาติไทยอีกด้วย ทั้งหมดนี้คือภาพรวมหน้าที่ของประธานฝ่ายเทคนิค

แล้วเหตุผลอะไร ทำไมต้องอาสามาเป็นประธานเทคนิค 

        จริงๆ อายุของผมต้องเป็นนายกสมาคมฟุตบอลได้แล้วนะ (หัวเราะ) แต่สาเหตุที่อยากเข้ามาเป็นประธานเทคนิค เพราะเรามีความรู้ความสามารถในเรื่องฟุตบอลอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เราถนัดและอยู่มาทั้งชีวิต ถ้าได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของวงการฟุตบอลไทย ซึ่งจริงๆ ผมก็ทำมาตลอดแหละ แต่ไม่ได้เข้ามาทำกับสมาคมฯ โดยตรง แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราอยากจะเข้ามาพัฒนา จึงอาสาขอเข้ามาเป็นประธานเทคนิคนั่นเอง

หลังจากที่คุณประกาศเรื่องนี้ออกไป กระแสที่กลับมาเป็นบวกหรือเป็นลบอย่างไร

        จริงๆ ผมก็พูดไปลอยๆ เฉยๆ นะครับ แต่ถ้าใครสนใจที่จะให้เราเข้าไปร่วมงานด้วย ผมก็ยินดี ไม่มีปัญหา คือในวงการฟุตบอลมันมีหลายพวกหลายฝ่าย เราก็ต้องบอกตรงๆ แต่ตัวผมเองเป็นกลาง เป็นคนของประชาชน ไม่ได้เข้าฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ฉะนั้น เราก็อยากจะเสนอตัวในการพัฒนาฟุตบอลไทยทั่วประเทศ แค่นี้เลย ไม่ได้คิดอะไรเยอะ 

สาเหตุอะไรที่คุณอยากเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะฟุตบอลไทยยังไม่พัฒนา พูดอย่างนี้ได้ไหม

        จริงๆ ฟุตบอลพัฒนาตามยุคตามสมัยแหละ แต่เผอิญเรามองว่าในช่วงเวลานี้ ฟุตบอลบ้านเรามีความถอยหลังในเรื่องการพัฒนาเยาวชน ในทีมชาติรุ่น 16 ปี เราก็ตกรอบ 19 ปีก็ตกรอบ 23 ปีก็ตกรอบ ส่วนทีมชาติชุดใหญ่ก็ยังมีปัญหา ฉะนั้น เราก็อยากเข้ามาสานต่อ ในเรื่องของการพัฒนา ที่บางเรื่องอาจจะหลงลืมกันไป เพื่อให้มันเข้าที่เข้าทาง หรือว่าให้มีระบบมากขึ้น ส่วนถ้าจะเรียกว่าพัฒนาอย่างยั่งยืนมั้ย อันนี้คงตอบไม่ได้ แต่พัฒนาในสิ่งที่คนไทยอยากจะเห็นมากกว่า 

การพัฒนาอะไรที่คนไทยอยากเห็น 

        จริงๆ ถ้าคนในวงการฟุตบอลจะรู้ว่าควรพัฒนากันตรงไหน เช่น พัฒนาเรื่องระเบียบวินัย พัฒนาเรื่องของ skill ทักษะ พัฒนาเรื่องการเล่น การบริหารจัดการในแวดวงกีฬาฟุตบอล เหล่านี้คือภาพรวมที่เราเชื่อว่าแฟนบอลไทยอยากเห็นว่ามันดีขึ้น

ในกระบวนการพัฒนาที่ว่ามาเหล่านี้ คุณคิดว่าเรื่องไหนควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

        การพัฒนาเรื่องการเล่น โดยเฉพาะเรื่องทักษะในการเล่น ทักษะนี่สำคัญสุด มันทำให้นักฟุตบอลสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ในสนามได้ คนที่มีทักษะดี เล่นตำแหน่งไหนก็ได้ แต่บางทีเราอาจจะไปเน้นรูปแบบของการเล่นมากเกินไป โดยเฉพาะในรุ่นเด็ก เราไม่เน้นวิธีคิดในการเล่น แต่เราไปพัฒนาแต่เรื่องของการจะให้มีแต่คำว่าชัยชนะมากเกินไป สำหรับผม ชัยชนะมันเป็นเรื่องรองลงมาจากวิธีคิด  

        คือถ้าได้เข้าไปทำงานตรงนี้ ผมจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ในส่วนของการพัฒนาฟุตบอลเด็ก โดยเฉพาะรุ่น 10 ปี 12 ปี คือให้พัฒนาวิธีคิดในเรื่องของการเล่นมากกว่า ถ้ามีวิธีคิดที่ดีแล้ว เวลาเติบโตขึ้น มันจะง่ายต่อการประดิษฐ์ให้เก่งยิ่งขึ้นต่อไป 

ทุกวันนี้เมืองไทยมีอะคาเดมีฟุตบอลเด็กมากมาย แต่ไม่มีหลักการสอนเรื่องเหล่านี้แบบที่เป็นมาตรฐานเลยเหรอ

        จริงๆ การมีอะคาเดมีเยอะเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่จะสอนเด็กในแนวทางที่ถูกต้อง บางทีสมาคมฯ ต้องเป็นแม่งาน แล้วค่อยถ่ายทอดไปให้กับอะคาเดมีต่างๆ พูดง่ายๆคือบางครั้งบางอะคาเดมี อาจจะถ่ายทอดไม่ถูกต้อง เน้นแต่ชัยชนะมากเกินไป บางทีสมาคมอาจจะต้องเป็นแม่งานในการสอน โดยถ่ายทอดไปให้กับทางผู้ฝึกสอนของอะคาเดมีต่างๆ เพื่อไปต่อยอดให้กับเด็กๆ อีกที

        สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเด็กๆ ขาดวิธีคิด ไม่เฉพาะฟุตบอล แต่เป็นทุกเรื่องเลย เมืองไทยขาดวิธีคิด พอขาดวิธีคิดมันก็ใช้แต่อารมณ์ พอใช้แต่อารมณ์ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องกีฬา หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าคุณใช้อารมณ์ ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าคุณมีวิธีคิด คุณจะรู้กระบวนการในการทำงาน อันนี้สำคัญมากนะ 

        ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้ เราเอามาใช้ในเกมการแข่งขัน อย่างในรุ่น 8 ปี 10 ปี เราจะไม่เน้นผลการแข่งขัน แต่เราจะให้เด็กรู้จักวิธีคิด ลืมเรื่องคำว่าผลแพ้ชนะไปเลย แต่ฝึกให้คิด ให้รู้จักการแก้ไขสถานการณ์ วิธีการเล่นในสถานการณ์แบบนี้จะเล่นยังไง จะเปลี่ยนจังหวะยังไง จะดึงจังหวะยังไง คนมีบอลควรทำยังไง คนไม่มีบอลต้องทำยังไง 

        แล้วในรุ่นเด็ก ผมจะไม่จัดการแข่งขัน แต่จะจัดให้เป็นเกมการพัฒนา มีถ้วยแชมป์การพัฒนาทีม รูปแบบเกมสนุกมาก เอาเท่าที่เล่าได้นะ เกมฟุตบอลของผมจะไม่มีการยิงประตู แต่วิธีการเล่นก็เปรียบเป็นการทำประตูเหมือนกัน แล้วโค้ชแก้เกมได้แค่ช่วงพักครึ่ง คุณพ่อคุณแม่ห้ามตะโกนสั่งจากข้างสนาม ใครตะโกนสั่ง ให้ออกจากสนามไปเลย ผมออกแบบเกมไว้หมดแล้ว ย้ำอีกทีว่าสนุกมาก (หัวเราะ) ซึ่งวิธีเหล่านี้ มันจะทำให้เด็กหัดคิด ฝึกให้คิดเป็น และผมยืนยันว่าสามารถฝึกได้ ทำได้ อยู่ที่ประธานเทคนิค และอยู่ที่สมาคมฯ ต้องมาช่วยกันระดมสมอง รวมทั้งต้องหาคนที่รู้ความจริงเรื่องฟุตบอลเข้ามาช่วยด้วย

คือตอนนี้ในสมาคมฟุตบอลฯ ไม่มีคนที่รู้ความจริงเรื่องฟุตบอลเข้ามาช่วย พูดอย่างนี้ได้ไหม 

        อันนี้ผมไม่ทราบว่าเขามีคนที่รู้ความจริงของฟุตบอลหรือเปล่า ปกติคนที่จะทำงานวิชาชีพอะไรสักอย่าง ควรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ผมยกตัวอย่างอาชีพหมอ ถ้าจะผ่าตัดหัวเข่า เราก็ต้องหาหมอที่รู้ความจริงเรื่องออโธปิดิกส์โดยเฉพาะ แต่ถามว่าถ้าเป็นหมอปกติ ประเภทจ่ายยาทั่วไป แก้ไข้ แก้หวัด จะมารักษาได้มั้ย ก็คงได้ แต่เขาจะไม่รู้รายละเอียดของการผ่าตัดหัวเข่าแน่นอน หรือหนักกว่านั้น คือไม่ได้เป็นหมอเลย แต่ว่าเอามารักษาหัวเข่าเรา ถามว่าเราจะเชื่อถือมั้ย 

        วงการฟุตบอลก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในวงการฟุตบอลมาก่อน หรือไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับวงการฟุตบอล การเข้ามาบริหารจะมีความ่น่าเชื่อถือแค่ไหน และยิ่งถ้าคุณไม่รู้รายละเอียดของฟุตบอลด้วย จะไปสอนการพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศได้ยังไง อันนี้เป็นส่วนสำคัญ เรื่องการบริหารก็ส่วนหนึ่ง เรื่องการพัฒนาฟุตบอลก็อีกส่วนหนึ่ง ต้องแยกให้ออก 

        บางทีนายกสมาคมฯ อาจไม่ต้องรู้เรื่องฟุตบอลโดยละเอียด แต่ระดับล่างจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงการฟุตบอล แล้วต้องรู้แท้ รู้จริง และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สไตล์ของฟุตบอลไทยควรเป็นอย่างไร อย่าไปก๊อบปี้จากต่างประเทศมาใช้ มันไม่ได้หรอก ในแต่ละประเทศก็มีทางของตัวเอง ยกตัวอย่าง บราซิล อาร์เจนตินา ก็มีทางของเขา ในยุโรป สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็มีทางของเขา พวกสหรัฐฯ เม็กซิโก คอสตาริกา พวกนี้เรียกว่าเป็นโซนคอนคาเคฟ ก็มีสไตล์การเล่นของเขา หรือในส่วนของกาฬทวีปก็มีทางของเขา ด้านเอเชียเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น ก็มีทางของตัวเอง คำถามคือ แล้ว Thailand Way หรือทางของทีมไทย ต้องเป็นแบบไหน เราต้องตกลงกันให้ได้

แล้ว Thailand Way ในความคิดคุณควรเป็นแบบไหน

        ถ้าเป็นผม ผมต้องการฟุตบอล on the ground คือเล่นกับพื้น และต้องมีวินัยเรื่องความฟิต และการเล่นบอลกับพื้นที่มีความรวดเร็ว มีการโจมตีและรูปแบบการเล่นที่ชัดเจน ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ต้องส่งไปให้ตามภูมิภาคทั่วประเทศ เหนือ ใต้ ออก ตก ฟุตบอลเยาวชนจะต้องเล่นแบบเดียวกันทั้งหมด 

        โดยที่สมาคมเป็นแม่แบบในการจัดการแข่งขัน แต่ไม่ใช่เป็นแม่แบบในลักษณะของการพัฒนา เรื่องการพัฒนาแบบไหนยังไง ประธานเทคนิคและกูรูผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้จัดการ ต้องระดมสมอง ระดมความคิด เพื่อทำตรงนี้ออกมา ซึ่ง ณ เวลานี้ผมมีทั้งหมดอยู่ในหัวหมดแล้ว

สมมติถ้าสมาคมฟุตบอลฯ เรียกเข้าไปทำงานตอนนี้ คุณพร้อมเริ่มงานได้ทันทีเลยใช่ไหม

        ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ จะไปเริ่มตอนไหน (ยิ้ม) ผมอยู่มาจนอายุ 60 กว่า เล่นฟุตบอลมา 40 กว่าปี ติดทีมชาติมาเยอะที่สุดในประเทศ ยิงประตูเยอะที่สุดในประเทศ ก็คิดเอาเองว่าผมจะช่วยวงการฟุตบอลไทยได้มั้ย แล้วอีกอย่าง อีกสี่ปีข้างหน้า ฟุตบอลโลกเพิ่มโควตาทีมจากเอเชียเป็น 8 ทีมครึ่ง (8 ทีมเข้ารอบสุดท้ายทันที ส่วนอีก 1 ทีมไปเล่นรอบเพลย์ออฟกับทีมทวีปอื่นเพื่อหาผู้เข้ารอบต่อไป) ถ้าเรายังบอกไปไม่ได้ หรือยังบอกว่าเป็น Dream เป็นความฝัน ผมคนนึงแหละที่จะบอกว่า เลิกคิดอย่างนั้นเสียที มันต้องทำได้ และผมขออาสาทำ 

        ผมอยากจะสานฝันให้คนไทย อยากจะทำให้มันเกิดความเป็นจริงเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองอะไรทั้งนั้น เพราะผมผ่านมาหมดแล้ว ประชาชนรู้จักผมดี ผมเอาฝีมือเข้าไปทำงาน ได้หรือไม่ได้ การทำงานเป็นเครื่องทดสอบ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันจะทำได้หรือเปล่า จะได้ไปมั้ย บอลโลกอีกสี่ปีข้างหน้า แต่ถ้าอีกสี่ปีกับโควตา 8 ทีมมันยังไปไม่ได้อีก ผมก็ต้องถอยออกมา ถอยให้คนอื่นทำ กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี คือเมืองไทยเราชอบยึดติดกับตำแหน่ง ในทุกแวดวง ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ชอบยึดว่าขาดฉันไปไม่ได้ ซึ่งมันไม่จริง คนดีคนเก่งในประเทศยังมีอีกมากมาย ไม่ใช่เราคนเดียว 

        คนบ้านเราชอบยึดติดดำแหน่ง เขาเรียกว่าบ้าอำนาจ พอขึ้นถึงอำนาจแล้วมันลืม แต่ผมไม่มี ของผมนี่ เราต้องรู้ว่าถ้าเราทำไม่ได้ เราต้องถอยให้คนรุ่นใหม่มาทำ แต่เราก็สนับสนุนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ฟุตบอลไทยมันเดินไปได้ แล้วที่ผมถอยมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะหนีจากวงการฟุตบอล ก็อยู่นี่แหละ แต่ไปทำในหน้าที่อื่นๆ สนับสนุนให้คนอื่นขึ้นมาทำต่อไป เพราะเราได้วางรากฐานฟุตบอลเอาไว้แล้ว

ถามตรงๆ คุณเชื่อมั่นขนาดไหนว่า อีก 4 ปี ฟุตบอลไทยได้ไปฟุตบอลโลกแน่

        ผมขอใช้คำว่า ต้องทำให้ได้ คือกฎของฟุตบอลโลกที่ผ่านมา เขาเอาทีมเข้ารอบสุดท้าย 32 ทีม ซึ่งทีมจากทวีปเอเชียจะได้โควต้าไปเล่น 4 ทีมครึ่ง แล้วทีมชาติไทยเราก็เคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบคัดเลือก 12 ทีมสุดท้ายของเอเชียมาแล้ว ทีนี้ต่อไปฟุตบอลโลกครั้งหน้า เปลี่ยนโควตาทีมจากเอเชียเป็น 8 ทีมครึ่ง มันถึงเวลาที่ต้องบอกว่า ต้องไปให้ได้สักที คือถ้าโควตา 8 ทีมครึ่งแล้วมีคนยังบอกว่า เป็นความฝันอยู่ ไอ้คนนั้นต้องตบปากตัวเอง เพราะมันฝันไม่ได้แล้ว มันต้องเอาจริงแล้ว

        ใครที่บอกเป็นไปไม่ได้ ผมไม่เชื่อ เพราะปิยะพงษ์บอกได้ ที่ผ่านมาชอบพูดกันจังว่า เดี๋ยวลองดู เดี๋ยวลองก่อน อาจจะได้หรือไม่ได้ คือคำพูดแบบนี้ คนไทยชอบพูด ผมก็เป็นคนไทยคนนึงที่เคยพูดแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน ในเวลาที่ฟุตบอลโลกมีทีมแข่งขัน 24 ทีม หรือ 32 ทีม แต่ ณ เวลานี้ ขอย้ำอีกทีว่า ถ้าให้โควตาทีมจากเอเชีย 8 ทีมครึ่ง ผมคงจะไม่พูดอีกแล้วว่า เดี๋ยวลองดูก่อน ถ้าพูดแบบนั้น ผมว่าผมอย่าเกิดเป็นนักฟุตบอลไทย อย่าชื่อปิยะพงษ์ดีกว่า 

        ผมต้องสานฝันให้ได้ ถึงแม้ว่า มันอาจจะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่รู้ แต่ถ้าได้ลงมือทำ มันไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะ แล้วผมเชื่อว่า คนในยุคต่อไป จะต้องทำได้เลย เพราะเราวางแนวทางไว้ให้แล้ว แต่สำหรับในแนวทางที่ผมคิดมา โดยเฉพาะการระดมคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติก็ดี หรือคนที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลจริงๆ ก็ดี หากคนเหล่านี้ได้เข้ามาช่วย ผมคิดว่า เราต้องทำได้

ถ้ามันจะไปถึงจุดนั้นจริงๆ คุณคิดว่าอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ คือเรื่องอะไร

        นักฟุตบอลบ้านเรามีทักษะที่ดีมาก โดยเฉพาะในทีมชาติชุดใหญ่ แต่ขาดเรื่อง physical หรือเรื่องทางกายภาพ สรีระ ความแข็งแกร่ง และที่ขาดเป็นอย่างมาก คือ discipline หรือระเบียบวินัย อันนี้เป็นจุดสำคัญเลย ที่ต้องแก้ไขโดยด่วน คือถ้านักเตะมีวินัยเป็นจุดเริ่มต้น การแก้ไขจุดอื่นๆ มันก็ง่ายแล้ว การมีวินัย หรือ discipline ต้องมีทั้งในและนอกสนามควบคู่กัน

ที่ผ่านมา เรื่องวินัยในทีมชาติ ยังบกพร่องแค่ไหนในมุมมองของคุณ

        คือเมื่อก่อนฟุตบอลบ้านเรายังเป็นระบบสมัครเล่น นักฟุตบอลตื่นเช้าขึ้นมาต้องไปเรียนหนังสือ หรือต้องไปทำงาน บางคนรับราชการ บางคนทำงานรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น มันจึงทำให้เราต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่น เรื่องระเบียบวินัยยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่ช่วง 8-10 ปีหลังมานี้ ฟุตบอลไทยเป็นระบบอาชีพมากขึ้น นักฟุตบอลรับค่าตัวเป็นล้าน มีแฟนเป็นดารา สมัยก่อนนักบอลมีแฟนเป็นแม่ค้า เพราะว่าต้องพึ่งข้าวแกง ต้องกินระหว่างซ้อม นี่เรื่องจริง อย่าฟังเป็นเรื่องตลก ผมผ่านมาแล้ว (ยิ้ม) 

        ทีนี้พอมันเป็นคำว่า ‘อาชีพ’ มันก็ต้องมาพร้อมคำว่า ‘วินัย’ เช่น ตื่นนอนขึ้นมาคุณมีหน้าที่อะไร ดูแลตัวเองยังไง เช้าซ้อมฟุตบอลเสร็จคุณต้องทำอะไร ต้องกลับมาพักผ่อนไหม เพื่อตกเย็นจะต้องไปซ้อมต่อ หลังซ้อมก็กลับมานอนพักผ่อน ซึ่งในทุกๆ วัน มันมีวัฎจักรวนไปแบบนี้ ชีวิตเหมือนกับคนทำงานทั่วๆ ไป เพียงแต่นี่คืออาชีพนักฟุตบอล 

        ฟุตบอลไทยในวันนี้ถือว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก แต่ทีนี้พอเป็นระบบอาชีพมากขึ้น นักบอลก็จะเห็นแก่สโมสรเป็นหลัก เพราะสโมสรเป็นผู้จ่ายเงิน ยิ่งพอไปเล่นทีมชาติกลับมามีปัญหาอาการบาดเจ็บ กลายเป็นสโมสรต้องจ่ายเงินเดือนให้กับนักเตะโดยที่ไม่สามารถลงเล่นได้ ปัญหาเหล่านี้ ถ้าผมเข้ามาดูแล จะต้องไม่มีเกิดขึ้น

        ผมยกตัวอย่าง ฉัตรชัย บุตรพรหม ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย ที่มีต้นสังกัดอยู่ทีมบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เมื่อต้นปีเขาไปเล่นให้ทีมชาติ ปรากฏว่าได้รับบาดเจ็บ เอ็นเข่าขาด ถ้าผมเป็นสมาคมฟุตบอลฯ ผมจะดูแลจ่ายเงินเดือนให้ จนกว่าจะหายขาด สโมสรไม่ต้องจ่ายสักบาทเดียว สมมติเงินเดือนเขาห้าแสน ผมจ่ายทั้งหมดเลย ปีหนึ่งหกล้าน มีโบนัสให้อีกต่างหาก แล้วนักฟุตบอลคนไหนที่มีอาการบาดเจ็บ ไม่สามารถเล่นฟุตบอลต่อได้ ผมส่งเรียนโค้ชต่อ แล้วกลับมาเป็นโค้ชให้สมาคมฟุตบอลฯ ต่อไป

การขออาสาเข้าไปทำงานก็ดี หรือการให้ข้อแนะนำต่างๆ กับฟุตบอลทีมชาติก็ดี คุณคาดหวังว่ามันเกิดขึ้นจริงแค่ไหน

        ผมตอบไม่ได้ แต่สาเหตุที่ผมออกมาพูดแบบนี้ ผมอยากให้ประชาชนทั้งประเทศรู้ว่า ผมมีวิธีคิดของผมแบบนี้ คุณพอใจมั้ย ผมบอกว่าอีกสี่ปี ผมจะทำให้ได้ แต่ถ้าผมทำไม่ได้ ผมก็ขอลาออก คุณพอใจวิธีคิดอย่างนี้มั้ย แล้วทุกคำที่ผมพูด มันจะเป็นนายตัวผม ซึ่งผู้คนในวงการฟุตบอลรู้กันดี ปิยะพงษ์พูดคำไหนคำนั้น ถ้าผมทำไม่ได้ ผมขอลาออกทุกครั้ง แต่ลาออกก็ไม่ใช่ว่าผมจะทิ้งวงการฟุตบอล ผมไม่ทิ้ง ผมต้องอยู่ไปทั้งชีวิตแบบนี้นี่แหละ เพียงแต่ว่าจะอยู่แบบไหน อยู่ยังไง ก็เท่านั้นเอง

ถ้าบทสัมภาษณ์นี้สามารถส่งเสียงไปถึงผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสมาคมฟุตบอลฯ ในวันนี้ คุณอยากพูดอะไรไปถึงพวกเขาอีกบ้าง

        ให้โอกาสพวกผมสิ ให้โอกาสอดีตนักฟุตบอลทีมชาติ ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียว ยังมีทั้งคุณวรวรรณ (ชิตะวณิช) คุณเฉลิมวุฒิ (สง่าพล) หรือรุ่นใหม่ๆ อย่างซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง), ธชตะวัน ศรีปาน, สุธี สุขสมกิจ พวกนี้เคยได้ไปร่วมงานสมาคมฯ บ้างมั้ย หรือในสมาคมเองมีอดีตนักฟุตบอลมาร่วมงานสักคนมั้ย มีแต่นักวิชาการ บ้าหรือเปล่า มันต้องเอานักฟุตบอลไปช่วยสิ ถ้าให้ผมเข้ามาทำ ผมเอานักฟุตบอลมาแน่ แต่ผมก็ต้องใช้นักวิชาการร่วมด้วย ของแบบนี้มันต้องผสมผสานกัน 

        ฟุตบอลมันไม่ใช่ทฤษฎี ที่ต้องอยู่แต่ในห้องสมุดหรือในห้องทดลอง ฟุตบอลต้องอยู่ในสนาม ยิ่งอยู่ในสนามนานเท่าไหร่ คุณยิ่งเก่งมากเท่านั้น ฟุตบอลถ้าคุณอยู่แต่ในห้อง คุณไม่มีทางเก่ง เพราะคุณไม่เคยปฏิบัติ ฟุตบอลอยู่ที่การปฏิบัติ คุณอย่าคิดว่านักฟุตบอลเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ ให้ไปอยู่แต่ในห้อง บ้าหรือเปล่า ฟุตบอลมันต้องอยู่ในสนาม สอนในสนาม พัฒนาในสนาม ทฤษฎีน่ะใช้ได้ แต่สุดท้าย มันต้องมาปรับปรุงแก้ไขกันในสนามนี่แหละ

ภาพฟุตบอลไทยในฝันของคุณเป็นอย่างไร

        ผมขอให้เด็กไทยมีทักษะที่ดี เหมือนกันทั้งประเทศ มีแนวทางการเล่นที่ชัดเจนเหมือนกันทั้งประเทศ แล้วก่อนตาย ผมเชื่อว่าชีวิตผมต้องได้เห็นบอลไทยไปบอลโลก ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของผม หรือฝีมือของน้องๆ รุ่นใหม่ ผมเชื่อว่าต้องได้ไป โควต้า 8 ทีมครึ่ง ถ้าไม่ได้ไปนี่ ภาษาฟุตบอลเขาเรียกมือตก มึงอย่าอยู่เลยวงการฟุตบอล ฉะนั้น ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผม หรือว่าซิโก้ หรือว่าน้องๆ ในรุ่นหลังๆ รุ่นลีซอ (ธีรเทพ วิโนทัย) รุ่น เจ ชนาธิป (สรงกระสินธ์) พวกนี้มันต้องต่อยอดไปให้ได้ แต่สุดท้ายนี้ พวกเขาอาจจะต้องทำช้ากว่าผม เพราะผมเชื่อว่าผมจะทำได้ก่อนแล้ว (ยิ้ม)     


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ