“อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เหมือนจุดพลุแล้วจบไป” คุยเรื่องพรรค ปชป. แบบไม่พัก กับ ดร. รัชดา

เหตุการณ์ที่อดีตรองหัวหน้าพรรค มีส่วนเข้าไปพัวพันกับคดีล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ จนมีเจ้าทุกข์นับสิบราย น่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ สำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 77 อย่างพรรคประชาธิปัตย์ 

        หากเทียบกับวันแรกๆ ที่สื่อจำนวนมากเปิดประเด็นเรื่องนี้จนสามารถขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ได้นานหลายวัน ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่า กระแสข่าวเกี่ยวกับอดีตรองหัวหน้าพรรคเบาบางลงไปมาก พื้นที่สื่อในวันนี้ถูกยึดโดยสารพัดข่าวสารสำคัญที่เกิดขึ้นในระดับวินาที จึงเป็นธรรมดาที่ข่าวใหญ่ในไม่กี่วันก่อน จะจางหายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในวันนี้ 

        แต่สำหรับผู้คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ไล่เรียงมาตั้งแต่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย ไปจนถึง พรรคการเมืองต้นสังกัด น่าคงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติ ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำไปสู่ความกระจ่างของคดี ที่กำลังเป็นที่จับตามองของสังคม 

        ประเด็นเรื่องนักการเมืองและการใช้อำนาจในทางมิชอบไปล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครยอมรับได้ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรหยุดพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราจึงหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันอีกครั้ง โดยมุ่งไปยังต้นทาง หรือฝั่งของพรรคการเมืองต้นสังกัด ที่ต้องรับมือกับคำถามสารพัด บางคำถามไม่ได้ถามตรงๆ แต่ตั้งข้อสงสัยถึงความเสื่อมถอยของพรรคเก่าแก่พรรคหนึ่งของประเทศ 

        ที่วันนี้กำลังเผชิญกับการผลัดใบ ที่ไม่ได้หมายถึงการมาของคนรุ่นใหม่ แต่หมายถึงการจากไปอยู่ที่อื่น ทั้งของคนรุ่นใหม่และคนเก่าคนแก่ 

        บางคำถามและคำตอบ แสดงออกผ่านทางสีหน้าแววตา ของประชาชนที่ติดตามข่าวคราว บ้างส่ายหน้า บ้างถอนหายใจ บ้างทำหน้าผิดหวัง และแน่นอน เราได้เห็นบางสีหน้าแววตา ที่แสดงถึงความไม่ยอมรับ โกรธเกลียด และส่งสัญญาณว่าความสัมพันธ์อาจสะบั้นลง 

        หนึ่งคนที่จะตอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นและการรับมือกับความท้าทายในอนาคต จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ผศ. ดร. รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และควบตำแหน่ง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนี้ 

        ที่เราเลือกคุยกับเธอ นอกจากเหตุผลเรื่องบทบาทหน้าที่ในการเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว เธอยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบกรณีของอดีตรองหัวหน้าพรรค เพื่อจะนำไปสู่การร่างนโยบายและข้อปฎิบัติที่เคร่งครัดรัดกุมขึ้นในการสรรหาสมาชิกพรรค เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก และอีกเหตุผลสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ

        เธอเป็นผู้หญิง… ที่จะตอบเราได้ว่า เรื่องนี้กระทบกระเทือนความรู้สึกของเพศหญิงมากเพียงใด 

        และเธอจะเดินหน้าแก้ปัญหาเพื่อผู้หญิงจำนวนมากที่อาจกำลังตกเป็นผู้เสียหายทั้งในกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่อาจจะมีตามมาอย่างไรบ้าง 

 

จริงๆ แล้วหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบของพรรค ทำอะไร มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือเพิ่งจะมีจากเหตุการณ์ที่อดีตสมาชิกพรรคถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ? 

        ต้องตอบว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์นะคะ เรามองสองประเด็นด้วยกันก็คือ ในส่วนที่มันเป็นความหละหลวมของพรรคในการจัดหาคนเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเราก็มองต่อไปว่า เรื่องการละเมิดและคุกคามทางเพศ มันเป็นปัญหาของสังคม พรรคการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรที่จะต้องเป็นบทบาทนำ คนในพรรคการเมืองจึงต้องมีคุณสมบัติที่ นอกจากจะมีความรู้ ความสามารถในการทำงานแล้ว ก็ต้องมีจริยธรรม คุณธรรมในประพฤติตัวที่เป็นตัวอย่างให้กับสังคมได้ เพราะฉะนั้น เราจะทำสองสิ่งนี้ไปพร้อมๆ กัน

        ในส่วนของเรื่องภายในพรรค คนตั้งคำถามว่า เราสรรหาคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคยังไง และให้ตำแหน่งทางการเมืองเขาไปได้ยังไง ก็ตอบตรงๆ ว่า พรรคเรามีเกณฑ์คุณสมบัติในการสรรหาสมาชิกพรรคที่ละเอียดยิบมากนะคะ ซึ่งมีอยู่แล้ว 18 ข้อ ซึ่งเป็นการสกรีนคนที่มีประวัติทุจริต ฉ้อโกง ประพฤติมิชอบ มีคดีอาญาต่างๆ เรียกว่าสกรีนคนที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านไปแล้ว แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้มีการพูดถึงการดูประวัติคนที่มีความผิดคดีทางเพศ ซึ่งบอกตรงๆ ว่า ไม่มีพรรคไหนทำหรอก เพราะมันเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงว่าจะมี 

        ทีนี้พอมันมีเหตุการณ์ตรงนี้เกิดขึ้น หัวหน้าพรรคก็มอบหมายให้ดิฉันทำ โดยทำเป็นคณะกรรมการกำหนดแนวทางสรรหาสมาชิก และจริยธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรามองว่าการที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างจริงจัง คนที่เป็นกรรมการต้องเป็นคนที่สังคมยอมรับ เราก็แต่งตั้งทั้งคนในและคนนอก คนในมีอยู่แล้ว 5 ท่าน แต่กุญแจสำคัญคือเราเชิญบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นคนที่มาจากภาคประชาสังคม และมีบทบาทโดดเด่นมากในเรื่องการต่อต้านการคุกคาม โดยติดต่อไปทั้งหมด 4 ท่าน คือ คุณเสาวลักษณ์ ทองก๊วย (สมาชิกคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และนายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ) คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง (ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม) คุณเรืองรวี พิชัยกุล (ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา) คุณธนวดี ท่าจีน (ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง) 

        ตอนที่ยกหูไปทั้ง 4 ท่านตอบรับหมด ซึ่งเราก็ตกใจนะ คือดีใจ และเป็นกำลังใจให้เรามากๆ จากที่ตอนแรกเรารู้สึกแย่เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การเชิญให้เขามาทำงานตรงนี้ เราก็ไม่รู้ว่าคนนอกเขาจะคิดยังไง แต่ยกหูไปทั้ง 4 ท่าน ไม่มีใครปฏิเสธเลย ทุกคนบอกว่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะเขาไม่ได้มองว่านี่คือปัญหาของประชาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว เขาเห็นว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกพรรคการเมือง แล้วเรื่องของการคุกคาม โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ที่อังกฤษ รือแม้แต่อเมริกาก็เห็นกันเยอะแยะเลย มันเป็นประเด็นสำคัญ เขาเลยอยากเข้ามาช่วย เพื่อที่ว่าถ้าทำเกณฑ์ของประชาธิปัตย์ให้มันเข้มขึ้นได้ ก็จะเป็นตัวอย่างให้หน่วยงานอื่น โดยเฉพาะพรรคการเมืองอื่นเอาไปพิจารณาทำต่อไป มันจะเกิดประโยชน์กับสังคม ก็เลยเป็นเหตุผลที่เขาตอบรับมาทำงานด้วย  

        ทีนี้พอมาได้กรรมการครบ 9 ท่านแล้ว เราก็คุยกันว่าเราจะทำยังไง เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่เราพูดถึงแนวทางก็คือ เกณฑ์เนี่ย เราจะทำยังไงให้มันเข้มขึ้น ครอบคลุมคดีความผิดที่เกี่ยวกับเพศ แล้วคนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะต้องตรวจสอบกันเข้มขึ้นกว่าสมาชิกพรรคทั่วไป ต้องเข้าใจว่าในระดับสมาชิก พรรคการเมือง เราก็ย่อมอยากได้คนเข้ามาเป็นสมาชิกมากๆ การไปกำหนดข้อบังคับที่บางครั้งมันหยุมหยิมมากเกินไป แล้วเราจะไปหาสมาชิกพรรคที่ไหน มันก็อาจจะเป็นการไปปิดกั้นเขา เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการตรวจสอบ มันก็จะมีสองระดับ คือในส่วนของสมาชิกพรรค กับคนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายก เป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค มันก็จะมีสองระดับ รวมถึงเราก็จะมองไปในภาพระยะยาวว่า พรรคจะต้องมีการแสดงออกให้ชัดเจนกว่าเดิม ในเรื่องของเจตนารมณ์การต่อต้านการละเมิดและการคุกคามทางเพศ รวมถึงจะต้องคล้ายๆ กับว่า ให้มีบริการทางสังคม ก็คือจัดอบรม สร้างความตระหนักรู้แก่คนในพรรคและคนนอกพรรคในเรื่องปัญหาสังคมอันหนึ่ง

ย้อนกลับไป ก็จะมีคำถามว่า ถึงจะมีการร่างกฎเกณฑ์ 18 ข้อ รวมเรื่องของการคุกคามทางเพศด้วย แต่ประชาชนก็ตั้งคำถามว่า ระดับกรรมการบริหาร ไม่รู้มาก่อนเลยเหรอว่า คนคนนี้ทำอะไรไว้

        คือบางเรื่องต้องพูดกันตรงๆ ว่า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเพื่อนเรา ชีวิตเขาหลังจากแยกย้ายจากที่ทำงานไปแล้ว เขาเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเราอาจจะรู้ว่าเป็นคนประมาณนี้ มีอัธยาศัยดี แต่เราก็คาดไม่ถึงหรอกค่ะว่า ในสังคมที่เราอยู่กันทุกวันนี้ เพื่อนเราจะไปทำอะไรมาแค่ไหน ถ้าเราไม่ได้เห็นเอง หรือว่าคนที่เขาเสียหายมาพูดกับเราโดยตรง

        ถึงบอกว่า เรื่องแบบนี้ก็ยากอยู่ที่จะไปขุดมา ยิ่งบางเรื่องถ้าไม่ได้อยู่ในประวัติ ไม่อยู่ในบันทึกทางการ มันก็ยาก แต่เราก็พยายามที่สุดน่ะค่ะ ที่จะสกรีนคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องของการฉ้อโกง ค้ายาเสพติด รวมถึงคนที่มีประวัติที่ศาลตัดสินว่าเกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว เกี่ยวข้องกับการซื้อประเวณี กระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แบบนี้เราก็จะไม่ให้เขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค ถือว่าคุณสมบัติไม่ครบ

        กลับมาสู่เรื่องของแนวทางการทำงานของกรรมการ พอเราระดมความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ที่เป็นคนที่ทำเรื่องนี้มานาน เขาก็จะฉายแนวคิดเต็มที่ ว่ามันควรจะเป็นยังไง ว่ากันในระดับอุดมคติก่อน แล้วเราก็ค่อยมาปรับแก้กัน ซึ่งในความเป็นจริงโครงสร้างของพรรคการเมือง มันไม่เหมือนองค์กรอื่นนะ อย่างองค์กรอื่นๆ จะมีผู้บริหารสูงสุด เบอร์สอง เบอร์สาม เบอร์สี่ แต่ในพรรคการเมืองเนี่ย แค่ระดับ ส.ส. ก็จบแล้วนะ จริงอยู่ในพรรคมีหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค แต่ก็ไม่มีใครไล่สมาชิกที่เป็น ส.ส. ออกจากความเป็น ส.ส. ได้ ประชาชนเท่านั้นที่จะตัดสินอนาคตของ ส.ส. คนนี้ นี่คือประเด็น

        อันนี้มันเลยเป็นความยากอยู่ ที่เราทำได้คือการเตือน และสร้างกฎเกณฑ์ คือป้องกันไม่ให้เอาคนเหล่านี้เข้ามา เราสร้างกฎเกณฑ์เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นประเด็นสังคม ถ้าคุณมีพฤติกรรมที่สังคมเขารับไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม คุณก็ไม่มีที่ยืนทางการเมือง

ขอถามย้อนกลับไปตอนคุณเรียนจบด้านธรรมาภิบาลที่มหาวิทยาลัยที่กลาสโกลว์ (University of Glasglow)  ถ้าให้เทียบเคียงลักษณะของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะประเทศไหน มีการวางหลักธรรมาภิบาลอะไรของพรรคการเมือง ที่น่านำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้บ้าง

        คือหัวใจของธรรมาธิบาล ไม่ว่าองค์กรไหน มันคือ Check and Balance คือการถ่วงดุลและการตรวจสอบอำนาจ ดังนั้น ทุกๆ องค์กรถ้าไม่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุล มันก็จะเกิดความไม่โปร่งใส เกิดการกระทำที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ทีนี้มาถึงในพรรคการเมือง เราก็มีการตรวจสอบอยู่ อย่างเช่นที่บอกไปแล้ว แต่ขั้นสุดท้ายจริงๆ คือประชาชน ที่พรรคทำได้อย่างมากที่สุดก็คือครั้งหน้าไม่ส่ง คนที่พฤติกรรมแบบนี้เราไม่ส่ง แต่ระหว่างทางที่เขายังอยู่ในพรรคอยู่เนี่ย มันก็ยากที่จะไปทำอะไรได้ ถ้าหากประชาชนเลือกมา เพราะจะทำยังไง ถ้าเขาไม่มีความผิดทางคดีอาญา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองไม่ได้สั่งตัดสินให้ไปติดคุก หรือว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งใดๆ สถานภาพของความเป็น ส.ส. เขาก็ยังอยู่ ยกเว้นว่าเขาจะลาออกเอง หรือว่าขับเขาออก แต่เขาก็มีสิทธิไปหาพรรคอื่นอีก เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้ถ้ามันเป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม มันต้องใช้แรงกดดันจากสังคม เราเห็นได้จากทั่วโลก นักการเมืองอย่างอังกฤษ ส.ส ดูรูปโป๊ในสภา นี่ก็เป็นเรื่อง แล้วจริงๆ ในเวสต์มิสเตอร์วันนี้มี ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาอยู่ 56 คนเลยนะคะ นี่เพิ่งเจอ article หนึ่งเขาเขียนว่า นี่มันไม่ใช่สภาเวสต์มินสเตอร์แล้ว มันเป็นเซ็กซ์มินเตอร์ ฟากอเมริกาก็มีหมด ไม่ต่างกัน แต่ประเด็นคือ ประชาชนเลือกคนเหล่านี้เข้ามาด้วย เราไปทำอะไรไม่ได้  

สิ่งที่จะทำให้คนพวกนี้หลุดพ้นจากพรรคไปได้คือต้องลาออกเท่านั้น มีทางเดียว?

        ใช่ แล้วคนที่เขาลาออกก็เพราะว่าสังคมกดดัน อย่างการที่นักการเมืองดูรูปโป๊ในสภา ถ้าสังคมไม่กดดัน เขาก็ไม่ออก ฉะนั้น สังคมต้องกดดันด้วย ตรงนี้สำคัญ อย่างคนที่ลงเลือกตั้งผู้ว่าการที่นิวยอร์ก ก็ถูกสังคมกดดัน เจ้าตัวก็ไม่ลงสมัครต่อ คือมันมีการแสดงออกในหลายๆ ลักษณะ อย่างอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เขาก็โดนข้อกล่าวหาเยอะ แต่ว่าคะแนนเขาก็ไม่ใช่ว่าหายไปเลย ทั้งที่มีข้อกล่าวหาที่บอกว่าเขาไปคุกคามทางเพศผู้หญิง โดยทั่วโลกเรื่องแบบนี้ นักการเมืองก็ยังได้รับโอกาสกลับมาอยู่ดี นอกจากคุณจะมีเรื่องอื่นๆ  ที่ทำให้สังคมรับไม่ได้จริงๆ

กลับมาเรื่องข้อบังคับของพรรค เบื้องต้นทำไปถึงไหนแล้ว

        ตอนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ เพราะว่า หนึ่ง แนวทางเราชัดเจน คือเราจะปรับแก้ไขข้อบังคับพรรค สอง เราจะย้ำให้เห็นถึงจุดยืนของพรรคในเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น เราจะแสดงออกด้วยแอ็กชันอะไรบ้าง อันนี้มันก็เป็นสองประเด็นหลักที่มันก็มีอยู่ในใจกันแล้วล่ะค่ะ พอเราชวนกรรมการจากภายนอกเข้ามา แต่ละคนก็ได้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ ประเด็นหลักๆ คือ ในการรับสมัครสมาชิกพรรค เราจะเพิ่มข้อบังคับเข้าไปอีกข้อนึง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 18 ข้อ เป็นข้อที่ 19 คือต้องไม่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดทางเพศ รวมถึงการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว เด็ก สุภาพสตรี รวมถึงการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี อันนี้ก็จะเพิ่มเข้าไป

        จริงๆ แล้วข้อบังคับปัจจุบันก็มีมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรคอยู่แล้ว รวมทั้งมีมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว มันก็ระบุอยู่แล้วว่าต้องประพฤติตัวในทางจริยธรรม เป็นตัวอย่างที่ดี แต่เราคิดว่าตรงนั้นมันยังไม่ชัดพอ ที่จะเห็นเจตนารมณ์ของพรรคว่าเราต่อต้านพฤติกรรมการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ เราก็เลยเสนอให้เป็นอีกหมวดนึงขึ้นมาเลย ที่ไม่อยู่ในข้อบังคับ 19 ข้อ เราเรียกว่า แนวปฏิบัติว่าด้วยการต่อต้านการละเมิดและหรือคุกคามทางเพศ ซึ่งมันก็จะครอบคลุมความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศด้วย เช่น เหยียดเพศที่สาม ความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพื่อให้เห็นว่าอันนี้เป็นแนวปฏิบัติของเรา เพราะฉะนั้นภายใต้ข้อปฏิบัติของเรา เราก็อิงกับหลักการของ UN Women ที่เขาพูดถึงพรรคการเมืองด้วย เพราะว่านักการเมืองที่คุกคามทางเพศมีทั่วโลกไง

แล้วนักการเมืองมักอยู่ในจุดที่ทำได้โหดสุดด้วย มีทั้งอำนาจ มีเงิน มีบารมี

        ถูก และประเด็นคือเราต้องไม่เอาคนอย่างนี้เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง หรือเมื่อเขามาอยู่แล้วก็ต้องมีกลไกที่จะต้องจัดการ ให้ทำให้ได้มากที่สุด เพราะอย่างที่บอกว่า นักการเมือง หรือคนเป็น ส.ส. ใครไปไล่เขาออกไม่ได้ไง นอกจากศาลตัดสินว่าเขามีความผิด หรือสังคมกดดันให้เขาลาออกเอง แต่ว่าเราก็จะต้องทำให้มันมีกลไกเดินหน้าอยู่ดีล่ะค่ะ ก็อย่างเช่น มีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องนี้เราก็จะใช้แนวทางของกระทรวงพัฒนาสังคมที่เขาให้เป็นแนวปฏิบัติของทุกๆ องค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ เช่น พอมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ต้องมีการตรวจสอบภายใน เก็บข้อมูลเป็นความลับ คณะกรรมการต้องมี 5 คนเป็นอย่างน้อย อีก 2 คนต้องเป็นเพศเดียวกับผู้เสียหาย และต้องมีเจ้านายเป็นคณะกรรมการในชุดดังกล่าวด้วย แต่ทีนี้ในพรรคการเมือง ถ้าเกิด ส.ส. ไปมีอะไรกับคนนอก ก็ต้องระดับรองหัวหน้าพรรค หัวหน้าพรรค  ต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีกลไก

แล้วถ้า ส.ส. ไปมีอะไรกับคนในพรรค? แนวทางจะเป็นยังไงบ้าง

        ก็ต้องถามว่ามันเป็นการยินยอมหรือว่าคุกคาม เพราะว่าหลายๆ กรณี มันก็เริ่มต้นจากการยินยอม แต่ถ้ากรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีครอบครัวแล้ว อันนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ผิดจริยธรรม แต่ว่าถ้ามาด้วยการยินยอม ก็ไม่รู้จะเอากฎหมายข้อไหนไปจัดการ ถูกมั้ย แต่เรื่องนี้มันก็ต้องเตือนกัน เพราะว่าความเป็นนักการเมือง ต้องมีหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว แต่ถามว่าในสังคมที่มันมีอยู่จริง มันก็ยากมากๆ นะ เราต้องอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง แต่ถ้าถามเรา ก็จะทำให้ดีที่สุดล่ะ

ตอนนี้พรรค ทำกรอบแนวทางปฏิบัติมา 19 ข้อก็จริง แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับอดีตรองหัวหน้าพรรค ทางพรรคมีบทบาทยังไงกับตัวคนที่เป็นเหยื่อ

        เราแสดงเจตนารมย์ชัดเจนนะคะว่า เราเสียใจ แล้วเราก็เข้าใจถึงหัวอกของคนที่เป็นผู้เสียหาย ในมุมของการเข้าไปช่วยเหลือ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ให้คำแนะนำทางเรื่องของกฎหมาย มีทนายความผู้หญิงมาช่วย ซึ่งเราสามารถช่วยประสานให้ได้ ถ้าเขาต้องการ แต่เราไม่สามารถยกหูไปหาผู้เสียหายได้ เพราะหนึ่ง ชื่อผู้เสียหาย ทางการเขาต้องปิดเป็นความลับอยู่แล้ว

แต่หมายความว่า ถ้าผู้เสียหายจะมา ก็มาได้เลย

        ใช่ มาได้เลย ยินดีอยู่แล้ว 

คุณไม่คิดหรือว่า มันก็ยากที่เขาจะมา เพราะจะดูเหมือนพรรคซัพพอร์ตข้างเดียวกัน

        เขาก็อาจจะมีคำถามเกิดขึ้นตรงนั้นได้ ซึ่งเราก็ได้ให้ข่าวไปแล้ว ตรงนี้ก็ฝากไปด้วยนะคะว่า เขาสามารถประสานผ่านมูลนิธิเพื่อนหญิง หรือมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมก็ได้ ซึ่งพี่ๆ เหล่านี้เขาทำอยู่แล้ว  คือพูดง่ายๆ ว่า อะไรที่เราช่วยได้ เรายินดีอยู่แล้ว เพราะว่าเราเองก็คงไม่ได้อยู่ในจุดที่ไปคุยกับเขาโดยตรง เพราะเดี๋ยวอาจจะถูกแปลความว่าไปโน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนใจหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีระยะห่าง มันก็เป็นความยากอยู่ แต่ว่าวันนี้เรามีช่องทางที่จะให้คำแนะนำ ให้การช่วยเหลือได้อยู่แล้ว แต่ว่าด้วยสถานการณ์สภาพแวดล้อม เขาก็คงสบายใจที่จะไปช่องทางอื่นมากกว่า

จากเหตุการณ์นี้ พอถอดบทเรียนออกมา รู้สึกว่าพรรครับมือกับปัญหานี้ได้ดีแค่ไหน

        ก็แล้วแต่คนจะมองนะคะ คือบางคนก็มองว่าเหตุการณ์ของอดีตรองหัวหน้าฯ มีข่าวเกิดขึ้นวันที่ 13 เมษายน พอบ่ายวันที่ 14 เขาก็ลาออกจากทุกตำแหน่งของพรรคประชาธิปัตย์ เราคิดว่ามันอยู่ในช่วงเวลาที่โอเคนะ ตรงนี้ให้ประชาชนตัดสินใจเองดีกว่า แต่ว่าไทม์ไลน์มันเกิดขึ้น  ผู้เสียหายไปแจ้งความ 13 วันที่ 14 เขาลาออก มันก็ถือว่าโอเคนะ รับได้

คิดว่าพรรคจะต้องปรับปรุงเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ทำนองนี้อีกไหม

        คือต้องบอกว่าวันนี้เราตระหนักถึงความรับผิดชอบในส่วนตรงนี้นะคะ แม้ว่ามันจะเป็นความผิดส่วนบุคคล แต่ว่าเราก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ วันนี้เราเดินหน้าที่จะแก้ไขในความหละหลวมของเรา เช่น เรื่องกฎข้อบังคับต่างๆ  แล้วเราก็จะใช้จังหวะนี้ถือเป็นการเรียนให้สังคมรับทราบถึงจุดยืนของพรรคด้วยว่า เราจริงจังกับเรื่องการต่อต้านการคุกคามทางเพศมาโดยตลอด เรามีคนทำงาน ซึ่งไม่ใช่ดิฉันคนเดียว มีคนอื่นด้วย ก็จะถือโอกาสนี้เป็นการให้ข้อมูลกับสังคมว่า เราจะเดินหน้าตรงนี้ เน้นย้ำตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น ถ้าที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ได้รับทราบ

        แล้วก็เรื่องต่อต้านการคุกคามทางเพศ มันจะต้องมาจากเจตนารมณ์ขององค์กรที่ชัดเจน ซึ่งวันนี้ประชาธิปัตย์เราก็ชัดเจน ก็ระบุว่าจะแก้ไขข้อบังคับพรรค ย้ำให้มันชัดเป็นหมวดใหม่ขึ้นมา แล้วก็อยากให้สังคมเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาธิปัตย์ด้วย ว่าการละเมิด การคุกคามทางเพศ มันเป็นปัญหาของสังคม อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นแค่เคสของประชาธิปัตย์แล้วมาวิจารณ์กันแบบเต็มที่ เหมือนจุดพลุแล้วจบไป มันเสียของน่ะ

        วันนี้ประชาชนวิจารณ์ ประชาชนตำหนิประชาธิปัตย์เต็มที่กันไปแล้ว อยากให้ใช้จังหวะนี้มองว่าจะทำอะไรกันต่อไป ให้เป็นประโยชน์ของสังคม เพราะว่ามันเป็นปัญหาของสังคมในทุกองค์กร สังคมเราเจอเรื่องการละเมิด การคุกคามทางเพศมาสารพัด ผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองเองก็ยังโดน อย่าไปมองนะคะว่านักการเมืองผู้ชายจะไปคุกคามแค่ประชาชนผู้หญิง  เพราะปัญหาสังคมเรามันเป็นเรื่องของ สังคมไทยที่มองว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายไม่ให้เกียรติผู้หญิง ผู้ชายไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับผู้หญิงอย่างไร เพราะฉะนั้น มันเกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ 

        แล้วสังคมไทยเราไม่ค่อยรู้ตัวหรอกว่าสิ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ มันคือการคุกคามเล็กๆ น้อยๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น ตลกในวงเหล้า เช่นการแซวกันว่า นมยาน เมียแก่ มันก็คือการเหยียดเพศ การคุกคาม หรือในโรงเรียน กลุ่มเด็กผู้ชายนั่งรวมกันแล้วล้อเด็กผู้หญิงเดินผ่าน ผิวปาก แซวว่า ‘น้องๆ กระเป๋านักเรียนหนักมั้ย’ อันนี้ก็คือการคุกคาม แต่เราไม่เคยหยิบขึ้นมาสอนอย่างจริงจัง นี่คือพฤติกรรมที่คุณทำไม่ได้นะ นี่คือการคุกคาม

วันนี้ประชาชนวิจารณ์ ประชาชนตำหนิประชาธิปัตย์เต็มที่กันไปแล้ว อยากให้ใช้จังหวะนี้มองว่าจะทำอะไรกันต่อไป ให้เป็นประโยชน์ของสังคม เพราะว่ามันเป็นปัญหาของสังคมในทุกองค์กร

คือต้องเปลี่ยนมายด์เซตกันหมดเลย

        ถูกค่ะ มันต้องถูกสอนด้วย จริงๆ หลักสูตรของกระทรวงศึกษา มีอยู่แล้ว เช่น วิชาเพศศึกษาแบบครอบคลุม คือไม่ใช่สอนแค่เรื่องแบบสรีระร่างกาย แล้วก็การคุมกำเนิด แต่สอนตั้งแต่ความแตกต่างของเพศหญิง เพศชาย การปฏิบัติตนของแต่ละเพศในสังคม สรีระร่างกายที่จะเปลี่ยนแปลงไป คุณต้องดูแลสุขภาพตัวเองยังไง การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การมีคู่ชีวิต และการมีเพศสัมพันธ์ คือมันจะต้องสอนให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงวัยของเด็ก ในหลักสูตรมันก็มีอยู่ค่ะ แต่ก็ไม่พอหรอก เรื่องอย่างนี้

        ถามว่าเคสที่เกิดขึ้นกับพรรคเรา มีสักกี่ครอบครัวที่เอามาคุยบนโต๊ะอาหาร แล้วบอกว่า ‘ถ้าไปเจอผู้ชายที่ดูดีสักคน เขาชวนไปกินข้าว ให้ระวังนะ’ ใครจะสอนมั้ย หรือบางทีกรณีผู้ชายผู้หญิง เกิดคุยกันถูกคอ ผู้ชายชวนไปดูคอนโดฯ ไปดูห้อง ผู้หญิงอาจจะบอกว่าฉันอยากไปดูห้องนอนเธอ แต่ไม่ได้อยากนอนกับเธอ นั่นคือความคิดของผู้หญิง แต่ผู้ชายก็คงคิดว่า เธอคงอยากมานอนกับฉัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสอนผู้หญิงด้วยว่า สิ่งที่เราคิด อีกฝ่ายเขาตีความอีกอย่างหนึ่งนะ ในขณะที่ผู้ชายก็ต้องรู้ด้วยว่า การที่ผู้หญิงไปหา จะตีความว่าเขายอมเสมอไปไม่ได้ 

        ยิ่งพวกตำแหน่งดีๆ หรือคนรวย ก็คิดว่าใครๆ ก็อยากยอม อยากมีอะไรด้วย มันไม่ใช่เสมอไปนะ อาจจะมี แต่ไม่ใช่ทุกกรณี และไม่ใช่ทุกครั้งไป จริงๆ มันมีคลิปนึง ที่ผู้ชายชวนไปดื่มน้ำชา เคยเห็นมั้ย มันเป็นคลิปสอนเด็กที่ดีมาก เขาบอกว่า สมมติคนสองคนเป็นแฟนกัน แล้วเราชวนเขาไปดื่มชา เขายอมไปดื่ม แต่เมื่อไปถึงห้อง ถ้าเขาจะไม่อยากดื่มชา ก็อย่าไปบังคับให้เขาดื่มชา เมื่อเขาดื่มไปแล้วหนึ่งอึก ก็ไม่ต้องไปบังคับให้เขาดื่มจนหมดแก้ว คือเขาอยากจะพอแค่ไหนก็พอ มันต้องสอนจากตัวอย่างเหล่านี้ให้เด็กเข้าใจว่าการยินยอมมีระดับของมันอยู่

คุณคิดว่าในภาพรวมของสังคมปัจจุบัน มีประเด็นเรื่อง gender หรือประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรี มนุษยชน ประเด็นไหน ที่ ณ วันนี้มันมี progression ที่เหมาะที่จะเอามาคุยกันวันนี้มั้ย 

        คือเรื่องทัศนคติของคนในสังคม ที่ว่าผู้ชายเก่งกว่า ผู้ชายมีอำนาจมากกว่า มันยังเป็นประเด็นที่ต้องช่วยกันพูดอยู่ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน แต่วันนี้มันก็ค่อยๆ ดีขึ้น คือในมุมของคนที่ทำงานการเมืองกับภาคประชาสังคม เรายืนยันว่าเราทำเรื่องนี้กันอยู่ แต่ว่ามันต้องค่อยๆ ปรับ อย่างนโยบายของรัฐบาล ก็มีแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องของการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียม โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โอกาสการทำงาน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ที่ไม่ควรเอาประเด็นของ gender เข้ามาเกี่ยว คือเรื่องเหล่านี้อยู่ในแผนปฏิบัติงานของภาครัฐอยู่แล้ว แต่แค่นี้ไม่พอหรอก มันต้องพึ่งพาสื่อด้วย ถ้าตราบใดที่เรายังมีละครแนวตบตีเพื่อแย่งผู้ชายกันอยู่ ยังเห่อพระเอกที่รวย มีฐานะ เพอร์เฟ็กต์ มันก็คงจะยากที่จะปรับทัศนคติให้เกิดความเท่าเทียมของสังคม คือพูดง่ายๆ ว่ากฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติภาครัฐ เขาก็ทำเต็มที่ แต่มันมีข้อจำกัด ดังนั้น สังคม ครอบครัว รวมทั้งสื่อ จะมีคุโณปการอย่างสูง ถ้ามาทำเรื่องเหล่านี้กันอย่างจริงจัง 

        จะว่าไปก็ต้องเป็นสำนึกของสื่อนั้นๆ ด้วยนะ จริงอยู่ที่นักการเมืองต้องเป็นผู้นำสังคม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่ลำพังนักการเมือง ลำพังส่วนงานราชการ มันไม่พอ ทุกคนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าภายใต้สังคมที่มันมีปัญหาเรื่องราวมากมาย เราจะช่วยกันแก้ไขประเด็นอะไรได้บ้าง อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ โอเค จะวิจารณ์ตัวบุคคล วิจารณ์พรรค ก็ว่ามาเถอะ แต่คำถามก็คือว่า แล้วเราจะป้องกันไม่ให้มันเกิดกับลูกหลานของเราได้อย่างไร จะไม่ให้ลูกหลานของเราตกเป็นเหยื่อนักการเมือง หรือคนที่มีตำแหน่งสูง มีอำนาจได้ยังไง เราจะสอนเขายังไง

        คือทุกวิกฤต ทุกปัญหา มันมีบทเรียนทั้งสิ้น ในความเป็นจริง เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ พ่อแม่ก็ไม่รู้หรอกว่าลูกเราไปฝึกงาน ไปเรียนหนังสือ เจอรุ่นพี่ เจอนายที่ดูดี มีเสน่ห์เข้ามาคุยด้วย แล้วลูกเราเป็นเด็กผู้หญิง ไปคุยกับเขาแล้วเกิดปลื้มขึ้นมา พอผู้ชายคนนั้นชวนไปกินข้าว ให้โอกาสดีๆ เรื่องงานก็อาจจะประทับใจ แล้วถามว่า เด็กจะป้องกันตัวเองยังไง ไม่ให้ความรู้สึกดีที่มี นำไปสู่อันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง เรื่องนี้ ที่บ้านก็ต้องสอน

มองอย่างไรกับขั้นตอนการแจ้งความในบ้านเรา สามารถซัพพอร์ตคนที่เป็นเหยื่อมากน้อยแค่ไหน

        เราต้องใช้คำว่าผู้เสียหาย ตรงนี้หลายเรื่องก็ได้มีการปรับนะคะ เช่น มีพนักงานสอบสวนหญิง ตอนนี้ก็มีเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยคน เพราะขั้นตอนนี้จะเป็นประตูสู่กระบวนการยุติธรรมที่สำคัญมาก เพราะว่าผู้เสียหายโดยมากกว่าจะตัดสินใจว่าฉันจะไปแจ้งความ ต้องทบทวนตัวเอง คิดไปคิดมามากมาย แล้วพอไปแจ้งความ ถ้าจะต้องไปเจอตำรวจผู้ชายมาซักถาม ก็คงเป็นความรู้สึกที่ไม่ไหว ดังนั้นการมีพนักงานสอบสวนหญิง เป็นปัจจัยสำคัญ

        ต่อมา ถ้าในคดีเคสที่มันเพิ่งเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะอยู่ในช่วง trauma  มันก็จะฝ่ายวิชาชีพที่เขาคอยเข้ามาดูแล ให้กำลังใจในด้านจิตวิทยา หรือว่าถ้าเป็นผู้เสียหายที่ตัวเล็กๆ ไม่มีใครมาช่วยเหลือเขาจริงๆ ก็จะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่มาดูแลเรื่องของหางานทำ หาที่พักอะไรต่างๆ ยิ่งกรณีเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ก็จะมีสถานวิชาชีพอย่าง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) เข้าไปช่วยดูแล แต่ว่าสิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ เมื่อเหตุเกิดขึ้น กว่าที่ผู้เสียหายจะเดินหน้าเข้าไปแจ้งความ เขาต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างมาก อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของครอบครัวด้วย บางทีถ้าเราเป็นลูกจ้าง เราจะกล้าไปแจ้งความกับนายจ้างเหรอ ถ้าฉันถูกแกล้งจนฉันต้องตกงาน จะหารายได้จากที่ไหน เขามีปัจจัยต้องคิดอีกเยอะ

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุด กระบวนการยุติธรรมเป็นปลายทางซึ่งสำคัญ ต้องทำให้ดี แต่ดีที่สุดคือต้องทำให้มันไม่เกิดขึ้น เราต้องสอนให้ลูกหลาน ให้คนของเรา เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่เคารพผู้อื่น เคารพสิทธิในตัวผู้อื่น แล้วปัญหาเรื่องคุกคามทางเพศก็จะไม่เกิดขึ้น

คิดยังไงกับคำว่าที่ว่า คนโดนข่มขืนแล้ว พอขึ้นศาลเหมือนโดนข่มขืนซ้ำ

        เห็นใจ แล้วก็เห็นภาพว่ามันก็คงเป็นความรู้สึกนั้นจริงๆ  เพราะต้องเล่าซ้ำไปซ้ำมา ทนายฝ่ายจำเลย เขาก็จะต้องซักในแนวทางที่เหมือนกับว่าเรายินยอม เหมือนเราไปให้ท่าเขาเอง เพราะจะได้หลุดคดี มันก็เป็นความขมขื่นของผู้หญิง เขาต้องเข้มแข็งมากในการพูดมันออกมา แต่สังคมก็ต้องช่วยกันว่า เวลาที่ผู้หญิงไปแจ้งความดำเนินคดี ในฐานะผู้เสียหาย ผู้หญิงเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่โดยมากเวลามีคดีอย่างนี้เกิดขึ้น เราชอบพูดกันว่า อ้าว คนนั้นไงที่โดนข่มขืน คนนั้นไงที่โดนจับหน้าอก ทำไมเราไปซ้ำเติมเขาล่ะ ทำไมเราไม่ไปด่าไอ้คนที่ทำอย่างนั้น อันนี้ก็แปลกนะ แล้วมันก็ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น มันเป็นทั่วโลกเลย เพราะว่าความไม่สมดุลย์ระหว่างอำนาจของชายหญิงมันยังมีอยู่ 

        แล้วถามว่า มันจะแก้กันยังไง ก็ต้องปรับทัศนคติ ต้องช่วยกัน แล้วการจะปรับทัศนคติ กฎหมายก็เข้าไปปรับไม่ได้ มันต้องมาจากตัวคนคนนั้น มาจากกระบวนการภายในที่จะยอมรับว่าสิ่งที่คุณคิดมันไม่ถูกต้อง มันต้องกลับไปสู่เรื่องความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง เพื่อให้เราได้อยู่ด้วยกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ลองนึกว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นพี่สาว เป็นน้องสาว เป็นลูกเรา เรารับได้เหรอ

เนื่องจากทำงานการเมือง และอยู่ในประเทศไทยด้วย ก็ต้องยอมรับว่า มีสัดส่วนนักการเมืองที่เป็นผู้ชายเยอะกว่า จากการที่ลงมาทำหน้าที่ในเคสที่เพิ่งเกิดขึ้นกับพรรค มีการได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายยังไงบ้าง

        สนับสนุนมากค่ะ เพราะว่าในความเป็นพรรคเราก็ช้ำน่ะจากคดีนี้  เราก็ต้องลุกมาทำให้เห็นว่า พรรคเราไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกตำหนินะ แต่เราก็ต้องพิสูจน์ให้เห็น เรามีภาคประชาสังคมที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปกับเรา ผู้ใหญ่และคนในพรรคก็ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ 

        แต่ปกติผู้หญิงที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองก็น้อยอยู่แล้ว เพราะว่ามันเหนื่อยนะ ไม่มีใครอยากเข้ามาแล้วเจ็บตัว ที่เรามองกันว่า คนนั้นคนนี้เป็นนักการเมืองหญิงเก่งน่ะ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องแกร่ง ต้องบ้าด้วย ยกเคสง่ายๆ ในฐานะรองโฆษกรัฐบาล เวลาที่ให้ข่าวอะไรออกไป เราก็ต้องเจอเสียงตำหนิ คนที่ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ เขาก็ด่าว่าเราตลอด มีสารพัดอีที่เรียกออกมาเลยแหละ 

        หรือผู้หญิงเวลาลงพื้นที่ แต่งตัวสวย ก็จะเจอทักตลอด ถูกคุกคามตลอด เป็นไม้ประดับบ้าง เป็นอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่ชอบเลย ทำไมเราต้องเป็นไม้ประดับ เราเข้ามาเป็นบุคลากร เป็นผู้แทนราษฎร ผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ต้องเป็นดอกไม้ หรือไม้ประดับได้มั้ย หรือดอกไม้เหล็กเราก็ไม่ชอบนะ เราเป็นผู้แทนราษฎร ไม่ต้องให้เป็นดอกไม้ได้มั้ย คือไม่ได้โกรธ ก็ขอบคุณ แต่ไม่อยากเป็น อยากเป็นผู้แทนราษฎรมากกว่า 

ถามในฐานะที่คุณทำงานการเมืองมาหลายสิบปี ในแวดวงการเมืองไทย ให้เกียรติผู้หญิงแค่ไหน

        ให้เกียรติค่ะ เพราะถ้าประชาชนให้ความไว้วางใจเลือกเข้ามา ก็ต้องให้เกียรติ ส.ส. ทุกคนอยู่แล้ว แต่ว่าลึกๆ อาจจะมีคำถามว่าทำงานได้จริงเหรอ เก่งจริงมั้ย ทนหรือเปล่า เอาแต่แต่งตัวหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ตั้งแต่เราหาเสียงสมัยแรก ด้วยความที่ตอนนั้นอายุไม่เยอะ เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ หน้าขาวๆ ตอนนั้นปี 2550 มันก็เข้าใจได้ในสิ่งที่คนอื่นคิด แต่ว่าเวลาทำให้เราพิสูจน์ ถึงความมุ่งมั่น ความสามารถของเรา และเชื่อว่า ส.ส. หญิงท่านอื่นก็พิสูจน์ตัวตนของเขาเช่นกัน จนเป็นที่ยอมรับ

        วันนี้ทุกคนก็ให้เกียรติกันและกัน จริงๆ ในทุกองค์กรนะ ถ้าคนมันอยู่ระดับเดียวกัน  จะไม่ค่อยมีปัญหา เรื่องคุกคาม จะไม่กล้าหรอก แต่มันจะเกิดขึ้นเวลาที่มีสถานะแตกต่าง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองหญิงจะไม่ถูกคุกคามเลยนะ ในเฟซบุ๊กก็โดนประจำ หรือเวลาเดินไปลงพื้นที่หาเสียง ก็จะมีคนมาทักว่ามีแฟนหรือยัง เลี้ยงเบียร์หน่อยได้มั้ย หรือหนักๆ ก็ถูกนินทาว่าเป็นเมียคนนั้นคนนี้ อันนี้ก็เป็นเคสคลาสสิกที่ต้องโดน คือถ้าเราจะเลือกเส้นทางนี้ ก็อย่าไปสนใจกับเสียงเหล่านี้

        เพราะเป้าหมายเรายิ่งใหญ่กว่านั้น มันไม่มีอะไรที่จะสวยงามไปทั้งหมดหรอก ไม่มีทางที่จะไม่เจอเสียงนกเสียงการะหว่างทาง แต่ถ้าเป้าหมายเราใหญ่กว่านั้น เราตั้งใจจะไปทำประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก เรื่องนี้มันไม่มีความหมายสำหรับเราเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ก็คือ ไอ้ตลกหยาบโลนในวงเหล้า เฮฮาขำๆ น่ะ คือเราฟังเราก็ไม่ได้โกรธนะ แต่ถ้ามองจากคนที่เป็นเฟมินิสต์ ที่ต่อต้านการคุกคามทางเพศ เราจะเห็นได้ว่า ไอ้ที่ขำๆ เฮฮา กันในวงเหล้า มันก็คุกคามแหละ บอกตรงๆ 

        เช่น ถามว่าอายุป่านนี้ทำไมยังไม่แต่งงาน ไม่กลัวขึ้นคานเหรอ เดี๋ยวไม่ได้ใช้งานนะ แบบนี้คุกคามมั้ย ถูกหรือเปล่าคะ เพียงแต่ว่าเราตีเป็นความขำกันมาตลอด เพื่อนพูดกันเราก็มองว่านี่คือเพื่อน เขาไม่ได้ดูถูกเราจริงจังหรอก เขาแค่แหย่เรา แต่เอาจริงๆ ใครพูดก็ไม่เหมาะทั้งนั้นแหละ คือจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเรามีปม  ไอ้เรื่องแหย่แค่นี้ เราไม่ได้ถือหรอก แต่ก็ต้องมีการเตือน มีการปรามกันบ้าง บางทีก็จะต้องพูดบ้างว่า เออ เข้าข่ายคุกคามนะ คือบางทีเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน ต้องทำงานด้วยกัน จะไปทุบโต๊ะด่าเลย แล้วใครจะทำงานด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องมีการปราม UN Women ถึงบอกว่า หนึ่งในสามของผู้หญิงทั่วโลก ต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ

ในฐานะที่ทำหน้าที่ด้านการสื่อสาร ทั้งการเป็นรองโฆษกรัฐบาล หรือพูดในฐานะตัวแทนพรรค ได้เรียนรู้ในวิกฤตต่างๆ มาไม่น้อย ส่วนตัวพอจะจับทิศทางได้มั้ยว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตมันควรจะเป็นยังไง อะไรคือสิ่งสำคัญ

        ต้องจริงใจ รวดเร็ว และเข้าใจอารมณ์ของสังคม คือ เราต้องจริงใจในสิ่งที่เราพูดออกไป จริงใจ เป็นความจริง และต้องรวดเร็วด้วย เพราะมันคือวิกฤต มันช้าไม่ได้ แต่ว่าความจริงใจนั้นก็ต้องดูทิศทางลมด้วยว่าสังคมเขาอารมณ์ประมาณไหน บางทีเรื่องนี้เอาไปพูดตอนท้ายก็ได้ แต่ถ้าเป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง อาจจะต้องเป็นประโยคแรกที่ออกจากปาก มันมีรายละเอียดเยอะค่ะ ยิ่งมีโซเชียลมีเดียเยอะ คอมเมนต์เยอะ พูดมากก็ไม่ดี ต้องออกแบบการสื่อสารให้กระชับ ไม่จำเป็นต้องพูดยาว แต่ต้องออกแบบคำพูดให้ดี

        แล้วที่สำคัญ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในฐานะที่เป็นรองโฆษกรัฐบาล คือการพาดหัวข่าวของสื่อ อันนี้คือปวดหัวมาก หลายครั้งที่มันผิดบริบทของการสื่อสารที่ออกไป คือทุกวันนี้เวลาเราทำงาน ส่วนตัวคือต้องเขียนข่าวและพาดหัวให้เลย บางทีก็พาดให้ยาว แล้วคุณเอาไปใช้เป็นพาดหัวรองแล้วกัน คือทำให้หมดแล้ว แต่ก็ยังไม่หยุด มีหลายครั้งที่พาดหัวผิดไปจากประเด็นที่เป็นจริง 

ตลอดเวลาการเป็นนักการเมืองมา เคยฟ้องร้องสื่อบ้างไหม

        ไม่เคยค่ะ คุยกับสื่ออยู่ตลอด สมมติมีปัญหา ก็จะคุยกับนักข่าวดีๆ ว่าพาดหัวผิดประเด็นนะ แก้ให้พี่หน่อย

แล้วเคยฟ้องนักการเมืองด้วยกันมั้ย

        ไม่เคยค่ะ

เคยฟ้องหมิ่นประมาทมั้ย

        ไม่เคยค่ะ ไม่มีประเด็น ถือว่าโชคดีที่เป็นคนไม่มีศัตรู คือการเป็นนักการเมืองจะให้คนทุกคนมารักเราคงเป็นไปไม่ได้ ขอแค่อย่ามีศัตรูแล้วกัน แต่มีคนไม่ชอบเป็นเรื่องปกติ

สุดท้ายปัญหาเรื่อง gender gap หรือกระทั่งเรื่องสิทธิสตรี ที่อยากแก้ที่สุดในยุคที่คุณกำลังอยู่นี้ คือเรื่องอะไร 

        จริงๆ เป็นเรื่องที่อยากจะสื่อสารออกไปมากกว่า ว่าคนทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ขอให้ยึดมั่นในคุณค่าของตัวเองเอาไว้ ตระหนักในสิ่งที่ตัวเองมี และทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ผู้หญิงจะอยู่คนเดียวหรือว่ามีคู่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ขอให้อยู่อย่างมีคุณค่า เพราะการที่เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า มันหมายถึงตัวเราเองมีชีวิตที่มีประโยชน์ทั้งกับตัวเราในการดำรงชีพ รวมทั้งกับครอบครัว แล้วก็มีคุณค่ากับสังคมด้วย ถ้าเรามั่นใจในจุดยืนตรงนั้น ไม่มีใครคนไหนจะมาด้อยค่าเราได้ เพราะเราตอบตัวเองได้ทุกสเต็ปที่เราทำ ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง มันมีประโยชน์ ส่วนคนอื่นจะมองยังไง มันห้ามเขาไม่ได้ แต่เรารู้ตัวเรามั่นใจในตัวเราก็พอ บางคนอาจจะท้อแท้ ทำไมต้องโดนด่า แต่แล้วมันก็จะผ่านไป เพราะเรารู้ตัวเราดีที่สุดว่าสิ่งที่เราทำคือของจริง มันมีคุณค่าแค่ไหน

ตอนนี้ใจหายมั้ยที่เห็นคนประชาธิปัตย์ลาออกกันมากมาย

        ก็เสียดาย แต่ว่าสถานการณ์ที่คนออกก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกกับพรรค พรรคของเราอยู่มานี่ก็ย่างปีที่ 77 แล้ว ก็เจออะไรมาเยอะ เหมือนชีวิตคน มีขึ้น มีลง มีสุข มีทุกข์ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ต้องฝ่ามันไปให้ได้ แล้วการจะฝ่ามันไป ก็คือต้องทำให้ประชาชนเห็นจริงๆ ก็จะต้องลงมือทำ คงไม่พูดอะไรเยอะ แต่ว่าเราก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าทำอะไรอยู่ เพราะทำแล้วไม่สื่อสารให้คนรู้ เขาก็จะนึกว่าไม่ทำอีก


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ