ตรวจการบ้านไตรมาสแรก ของ ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าฯ ไฟแรงสุดในปฐพี

สามเดือนพอดี กับการเข้ามารับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ซึ่งหากวัดผลงานกันเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรีในสวน นั่นก็ใช่ ฝีมือเขา หรือกิจกรรมฉายหนังกลางแปลง นั่นก็เป็นผลงานของเจ้าตัวอีกเช่นกัน และล่าสุดกับงานกิจกรรมโลกวิทยาศาสตร์ในชื่อ ‘บางกอกวิทยา’ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่จับต้องได้ของรองผู้ว่าฯ คนนี้ 

        “ทุกวันนี้ ตื่นเข้าขึ้นมา มันมีเรื่องให้ผมอยากออกไปทำอยู่ทุกวัน กรุงเทพฯ มีอะไรให้เราทำอีกเยอะ เวลาผมเดินอยู่ในเมือง ยังเหมือนผมทำงานอยู่ตลอดเวลา”

        รองผู้ว่าฯ กทม. เล่าแบบติดตลก แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่เขาพูดมา อาจไม่ได้เกินจริงไปนัก เพราะหากย้อนเวลากลับไป ศานนท์เป็นคนหนึ่งที่มีกิจกรรมด้านประชาสังคม และมักจะมีโปรเจกต์สร้างสรรค์เมืองออกมาเป็นระยะ ยิ่งพอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ กทม. ในฐานะ ‘รองผู้ว่าฯ’ ยิ่งกลายเป็นว่า สิ่งที่คิด สิ่งที่ฝัน หรือสิ่งที่อยากทำ เขาได้ลงมือทำแบบเต็มตัวมากกว่าเดิม

        “มันเป็นอาชีพในฝันของผมก็ว่าได้” ศานนท์บอกอย่างนั้น กับบทบาทที่เขาเพิ่งจะได้เริ่มแสดงฝีมือราวสามเดือน แต่ก็เป็นสามเดือนที่สร้างความเคลื่อนไหวให้คนเมืองอย่างเราๆ ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเลยทีเดียว

        หากจะบอกว่า เขาคือคนที่สื่อมวลชนให้ความสนใจมากคนหนึ่งในช่วงเวลานี้ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะในวันที่เราเดินทางไปพูดคุยกับเขา เจ้าตัวมีคิวการทำงานแน่นเอี้ยด แต่โชคดีที่เขาพร้อมและยินดีที่จะบอกเล่าเรื่องราวการทำงานในฐานะรองผู้ว่าฯ ตลอดสามเดือนที่ผ่านมาให้เราได้ฟัง 

        หากช่วงเวลาสามเดือนจะเป็นหมุดหมายแรกที่ได้ปักธงลงไป ถึงตรงนี้เขาได้ทำอะไรที่เป็นเป้าหมายไปแล้วบ้าง และที่สำคัญ โลกความเป็นจริงในการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เหมือนหรือต่างจากที่เคยคาดหวังไว้เพียงใด อะไรคือการเรียนรู้จากการ ‘ลงสนามจริง’ ทั้งหมดทั้งมวล ไปร่วมหาคำตอบจากรองผู้ว่าฯ หนุ่มไฟแรงคนนี้กันได้เลย…

ผ่านมาแล้วสามเดือน การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ‘รองผู้ว่าฯ กทม.’ เหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้อย่างไร

        เอาจริงๆ คือ ตอนแรกจินตนาการไม่ออก (หัวเราะ) แต่โดยส่วนตัว ผมพยายามทำให้มันปกติที่สุด ถามว่าก่อนหรือหลัง ต่างกันแค่ไหน เราอาจจะเห็นทีมที่มีขนาดใหญ่ เราต้องทำงานกับคนหลายๆ ทีม ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้ามา เราไม่คิดว่าทีมจะมีโครงสร้างที่เยอะขนาดนี้ แต่ที่สุดแล้วมันก็สามารถทำงานไปด้วยกันได้  

        แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายของผม คงเป็นเรื่องนโยบายใหม่ที่เราคิดเอาไว้ ทำยังไงให้นโยบายใหม่ๆ กับโปรเจกต์เดิมที่ทางข้าราชการดำเนินการอยู่ สามารถเดินไปด้วยกันได้ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นข้าราชการทำงานสองเท่า ดังนั้น โจทย์ของเราคือ ต้องทำให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงกับสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ กทม. ได้สัญญากับประชาชนเอาไว้

        ถ้าถามผมโดยส่วนตัว สิ่งที่คิดก่อนเข้ามาทำงานในหน้าที่นี้ กับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นระหว่างสามเดือนที่ผ่านมา มันไม่ได้เหมือน หรือต่างกันมากมายอะไรนัก แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการเข้าใจระบบ คนส่วนใหญ่มักจะพูดถึงโลกการทำงานแบบช้าราชการ ทำนองว่าถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก คือถ้าคนระดับหัวหน้าไม่ปฏิบัติ ลูกน้องก็ไม่แอ็กชัน ซึ่งผมมองว่า มันเป็นความท้ายของเรา ทำยังไงที่เราจะทำให้คนระดับหัวเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการให้ทำ เพราะผมเชื่อว่าไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากทำ แต่วิธีการสื่อสารต่างหาก ถ้าเราทำให้เขาเข้าใจ การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ มันก็จะเกิดขึ้นตามมา

ในนโยบาย 216 ข้อที่ถูกตั้งเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถ้าจะทำให้มันเกิดขึ้นจริงทุกข้อ คุณคิดว่าต้องอาศัยวิธีคิด หรือต้องมีมายด์เซตแบบไหนถึงจะบรรลุผล

        ต้องมีมายด์เซตที่คิดไว้เสมอว่า เรื่องทั้งหมดเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากได้ ดังนั้น เรามีหน้าที่ต้องตอบสนองให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ได้ ต้องบอกเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ได้ วิธีคิดของเราไม่ใช่ no but แต่ต้องเป็น yes and คืออย่าเพิ่งปฏิเสธ แต่ต้อง yes ก่อน แล้วมองหาความเป็นไปได้ ซึ่งต่อให้มันมีเงื่อนไข มันก็จะมีทางออกอยู่เสมอ 

        ผมยกตัวอย่าง สมมติเราจะจัดคอนเสิร์ตในสถานที่สักแห่งนึง ต้องคิดว่าจัดได้ไว้ก่อน จากนั้นเราถึงต้องไปพูดคุยกับผู้คนโดยรอบสถานที่ เขาโอเคหรือเปล่า ติดปัญหาอะไรไหม หรือมีเงื่อนไขอะไรไหม ถ้าคุยแล้วโอเค คอนเสิร์ตก็จัดขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุยแล้วไม่โอเค มันจัดไม่ได้จริงๆ ทุกฝ่ายก็จะเข้าใจด้วยเหตุผลเองว่ามันไม่ได้ แต่อย่าเพิ่งไปบอกแต่แรกว่าไม่ได้ เพราะยังไม่ทันได้ลองเลย 

        ดังนั้น นโยบายทั้ง 216 ข้อที่ถูกคิดขึ้นมา เราต้อง yes หมด ถ้ามันทำไม่ได้ต้องบอกว่าเพราะอะไร เงื่อนไขคืออะไร เท่านั้นเอง

ตลอดสามเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า เรื่องการรับร้องเรียน จะเป็นภาพที่ประชาชนได้เห็นจากคณะทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ชุดนี้อยู่เสมอ เราพูดอย่างนี้ได้ไหม  

        ผมว่ามันเป็นเรื่องแรกๆ ที่เราต้องทำ เรามี Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนอย่างที่ทราบกัน นอกจากนี้ยังมีวิธีการลงพื้นที่ที่อาจารย์ชัชชาติพยายามทำในทุกเช้า หรืออย่างทีมที่ผมทำ เราก็มีวิธีการทำงานแบบประชาสังคม เพราะเราเชื่อว่า เมืองนี้มีภาคประชาสังคมที่แข็งแรงอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ โอบอุ้มคนที่อยากพัฒนาสังคม และช่วยสนับสนุนงานที่เขาทำ 

        อย่างเรื่องร้องเรียน เรารับไว้หมด ไม่มีเรื่องไหนที่เราไม่รับ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่เป็น active citizen คนกลุ่มนี้มีสิ่งที่เขาฝัน มีสิ่งที่เขาอยากทำ แต่ที่ผ่านมา มันติดเงื่อนไขมากมาย เราก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ และร่วมทำงานไปด้วยกัน เพราะถ้าคิดกันดีๆ การที่มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มันคือการช่วยรัฐไปในตัว สมมติเขาอยากแก้ไขเรื่องบางเรื่อง แล้วเผอิญมันเป็นเรื่องเดียวกับที่รัฐอยากแก้ไขอยู่แล้ว นี่คือการเสริมแรงซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่การแข่งกันนะ สมมติมีเรื่องสักเรื่องนึงเกิดขึ้น กทม.ทำ ชุมชนก็ทำ ภาคประชาสังคมก็ทำ สรุปคือใครทำก็ได้ แต่ขอให้ทำเพื่อแก้ปัญหา เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ 

        ผมว่าด้วยมายด์เซตนี้มันจะทำให้รัฐกับภาคประชาสังคมเป็นเพื่อนกัน โดยเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมว่าสำคัญนะ การที่เอาประชาชน ประชาสังคม มาอยู่กับรัฐ สามารถบอกความต้องการหรือนำเสนอไอเดียได้ มันจะทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกแก้ไขไปได้รวดเร็วขึ้น เพราะคนเหล่านี้มาพร้อม solution หรือมีทางแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว 

        ผมยกตัวอย่างเรื่องคนไร้บ้าน ตอนนี้มีมูลนิธิที่เข้ามาร่วมกัน 3-4 มูลนิธิ ซึ่งทางพี่ๆ ยินดีที่จะร่วมทีมไปด้วยกัน เหมือนเป็นการขยายผลจากที่เขาทำมาตลอด พอเข้ามาทำงานร่วมกัน เราก็ได้รู้ว่าเขาติดปัญหาอะไรบ้าง เราก็ช่วยสนับสนุนไป

ที่บอกว่า ‘รับทุกเรื่องร้องเรียน ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่รับ’ คือยืนยันได้ว่า ทุกการร้องเรียนมีความเท่าเทียมกันหมด

        ใช่ แล้วทุกเรื่องการร้องเรียน มีตั้งแต่คนรู้จัก ไปจนถึงชาวบ้านที่ร้องเรียนเข้ามา จดหมายทุกฉบับที่จ่าหน้าซองถึงผู้ว่าฯ หรือถึงรองผู้ว่าฯ ต้องถือมือบุคคลคนนั้นจริงๆ พูดง่ายๆ ว่า ไม่มีแบ่งแยกว่าเรื่องไหนสำคัญกว่ากัน เพราะทุกเรื่องต้องไปถึงผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ เหมือนกันหมด

        ยืนยันว่าไม่ต้องมีเส้นมีสาย ทุกคนติดต่อได้หมด แล้วผมบอกเลยว่า ช่องทางที่ดีที่สุดคือการเขียนจดหมาย ส่วนตัวผมได้รับจดหมายร้องเรียนทุกวัน ซึ่งผมว่าดีมาก เพราะไม่มีใครสามารถทิ้งมันไปได้ แล้วผมรู้สึกดีกับการเห็นผู้คนเขียนจดหมายร้องเรียนเข้ามา คือมันเรียลมากๆ มันสัมผัสได้ถึงความจริงใจของชาวบ้าน ถ้าเขาไม่เดือดร้อนจริง เขาคงไม่อุตส่าห์ลงมือเขียนมาหาแน่นอน 

ถ้าย้อนกลับไปในวันที่คุณก็เป็นประชาชนเหมือนกัน ลองเปรียบเทียบการติดต่องานกับ กทม. ในวันนั้นกับในวันนี้ มันแตกต่างกันขนาดไหน

        ผมยอมรับว่า เมื่อก่อนเข้าถึงยากจริง ผมยกตัวอย่างสมัยก่อนที่ผมเคยดีลงาน ทำโครงการป้ายรถเมล์ร่วมกับรัฐ เรายอมรับว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยาก สมมติเราต้องการข้อมูลจากภาครัฐ เราต้องไปหาเอง คือหลายๆ เรื่องมันเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่า ทำไมเราต้องวิ่ง เราต้องเหนื่อยมากเกินไปหน่อย 

        จากตอนนั้น ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าหากเราได้เข้ามามีบทบาทตรงนี้ เราคงต้องช่วย เพราะต้องไม่ลืมว่า กลุ่มคนที่เป็น active citizen พวกนี้เขามีพลังเยอะ แล้วผมรู้สึกว่าถ้าเมืองทั้งเมืองมีแต่ active citizen มันคือความฝันของรัฐเลยนะ เมืองจะมีพลัง มี dynamic พุ่งไปข้างหน้า และมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา พื้นที่ต่างๆ จะไม่ถูกทิ้งร้าง จะต้องมีตึกสวยๆ มีอีเวนต์ดีๆ 

        แล้วมันต้องพลิกการทำงาน จากเดิมที่ต้องคอยดูว่า กทม. ทำอะไร เปลี่ยนมาดูว่าประชาสังคมเขาทำอะไร หรือเขาอยากทำอะไร แล้วเรา (กทม.) มีนโยบาย มีความฝันอยู่แล้ว เราชวนเขามาช่วยในนโยบายที่เราอยากทำสิ แล้วอำนวยความสะดวก สนับสนุนเขา ให้เกิดความคล่องตัว ให้บรรลุผลได้เร็วขึ้น ทั้งหมดมันจะสะท้อนไปสู่ภาพรวมของเมืองที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

คุณพูดถึงกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น active citizen อยู่บ่อยครั้ง แสดงว่าคนกลุ่มนี้คือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ กทม. พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น ถูกไหม

        ผมต้องพูดอย่างนี้ ความจริง กทม. ไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง แถมเรื่องบางอย่าง มันมี solution หรือทางแก้ไขอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือ เชื่อมต่อ หรือ plug in กับกลุ่มคนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เหมือนที่อาจารย์ชัชชาติเคยพูดไว้ว่า ให้ยืนบนบ่ายักษ์ ยักษ์ในที่นี้คือ คนเก่งๆ ที่มีอยู่มากมายในเมืองนี้ เราไปหาคนเก่งๆ เหล่านั้น ให้มาช่วยกัน แล้วไม่ต้องไปคิดใหม่ แต่ใช้ know how ของเขาได้เลย ซึ่งผมคิดว่า เรื่องเหล่านี้มีอยู่ใน active citizen เป็นจำนวนมาก บางคนเชี่ยวชาญทำเรื่องบางอย่างมาตลอดสามสิบปี หรือบางคนทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะฉะนั้น เขาย่อมเชี่ยวชาญและรู้ดี หน้าที่ของรัฐคือต้องเวิร์กกับประชาสังคม หรือเวิร์กกับคนเก่งๆ เหล่านี้ ไม่ต้องสร้างอะไรใหม่ตลอดเวลา หรือไม่ต้องทำทุกอย่างเองหมด เพราะเราไม่มีทางทำไหวหรอก

จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในรอบสามเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรีในสวน งานฉายหนังกลางแปลง หรือบางกอกวิทยา โปรเจกต์ต่อๆ ไป จะมีอะไรให้คนกรุงเทพฯ ตื่นเต้นอีกไหม

        ต้องเล่าภาพรวมแบบนี้ เราแบ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นแฟส อย่างเฟสแรกที่เกิดไป สิ่งที่เราต้องการคือการเปิดพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปิดก็ดี หรือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพก็ดี เราต้องการเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่ทั้งนี้ อย่างที่บอกไป กทม. ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง เราไม่ได้เก่งเรื่องศิลปะ หรือเรื่องดนตรี แต่สิ่งที่เรามีคือพื้นที่ ดังนั้น เราเปลี่ยนพื้นที่ เราแก้กฎระเบียบ เพื่อทำให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้

        แล้วกิจกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยจินตนาการ อย่างตอนทำหนังกลางแปลง หลายๆ พื้นที่ที่เราไปจัด เกิดจากจินตนาการที่เราอยากเห็นพื้นที่เหล่านั้นมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์เกิดขึ้น เราพยายามสร้างความเป็นไปได้ให้กับสถานที่ตรงนั้น หรืออย่างสวนสาธารณะต่างๆ เราจัดงานดนตรีในสวน เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถมารวมกัน เพื่อเกิดการใช้งานของพื้นที่ หรือต่อจากดนตรีในสวนก็จะมีงานหนังสือในสวน และในอนาคตอาจจะมีงานละครในสวนขึ้นอีก เหล่านี้คือเฟสแรก  เป็นเรื่องของการเปิดพิ้นที่และสร้างความเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นจริง

        ต่อมาในเฟสที่สอง คือการสร้างกลไกให้เกิดงานขึ้นอีกในอนาคต ตอนนี้ กทม. เป็นตัวกลางของการจัดงาน เราชวนเครือข่ายต่างๆ ให้มาช่วยจัด แต่ถ้าในอนาคตถ้าเราสามารถสร้างกลไกขึ้นมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจะเป็นแพลตฟอร์มอะไรบางอย่าง ที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาจองพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ได้เอง ซึ่งเฟสที่สองนี้ มันจะสร้างให้เกิดภาพชีวิตในเมือง คือผู้คนรู้ว่าจะมีกิจกรรมอะไร ต้องไปที่ไหน ความเป็น art and culture มันจะเกิดขึ้นกับเมืองด้วยเช่นกัน

        ต่อมาเฟสที่สาม ผมคิดว่ามันคือการรณรงค์ โดยปักหมุดให้มี agenda หรืองานด้าน art and culture ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เราไม่เคยมีพื้นที่ที่รวมกลุ่มคนหลากหลายแบบ ส่วนใหญ่เราจะมีในรูปแบบของสมาคม แต่ในอนาคต ถ้าเราสามารถปักธงให้เป็น agenda แล้วมีคนเข้ามาดูแลเป็นเรื่องเป็นราว มีเจ้าภาพที่คอยส่งเสริม กิจกรรม มันจะกลายเป็นความยั่งยืนมากขึ้น แล้วสุดท้ายประชาชนเองจะเป็นผู้สร้างสรรค์และต่อยอดสิ่งเหล่านี้ ซึ่งในอนาคตถ้ามันเป็นไปด้วยดี จะมีกิจกรรมที่เรานึกไม่ถึง เกิดขึ้นในเมืองนี้อีกเต็มไปหมดเลย

พอมีกิจกรรมสร้างสรรค์เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมา มันก็จะเกิดประโยคหนึ่งที่ตามมาคือ ‘กรุงเทพฯ เริ่มมีความหวัง’ ส่วนตัวคุณได้ยินประโยคนี้แล้วรู้สึกอย่างไร 

        เอาจริงๆ ผมคิดว่ามันก็เป็นความหวังของตัวผมเองด้วยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เพราะผมก็เป็นคนกรุงเทพฯ และที่สำคัญ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยากให้กรุงเทพฯ มันดี ซึ่งถ้ามองกันดีๆ ผมว่ามันคือการเปลี่ยนแปลง มันคือการทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยมีมันคลี่คลายลงไป หรือบางทียังไม่ต้องคลี่คลายก็ได้ แต่ต้องทำให้ผู้คนมาช่วยกันส่งพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป

        ถามว่ากรุงเทพฯ มีความหวังมากขึ้นด้วยอะไร หัวใจของความหวังเหล่านี้ มันเป็นเรื่อง transparency หรือความโปร่งใส รวมทั้งเป็นเรื่องของการทำงานหนัก หน้าที่ของเราคือ ทำให้ประชาชนเห็นว่า เรากำลังเจอกับอะไร และเราต้องการความร่วมมือจากทุกคน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องทำเต็มที่ก่อนนะ แล้วจากนั้นถึงเป็นการขอความร่วมมือ และความร่วมมือมันจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อเราและคนที่มาช่วยกัน ต้องช่วยกันจริงๆ ไม่ใช่ใครเอาเปรียบใคร 

        เรื่องเหล่านี้ เมื่อก่อนอาจจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องแบกความรับผิดชอบไว้ทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าบางทีมันก็หนักเกินไป แล้วถึงเวลายิ่งเก็บ ยิ่งปิด มันก็ยิ่งมีปัญหาไม่รู้จบ เพราะฉะนั้น งานของเราคือการหาความช่วยเหลือ มันคือการเอาข้อจำกัดมาวางบนโต๊ะ เอาออกมาให้เห็น แต่ต้องพยายามแก้ไขก่อน ทำให้เห็นว่าเราทำเต็มที่ และไม่ยินยอมกับข้อจำกัด แต่อันไหนที่ไม่รู้ก็บอกไปเลยว่าไม่รู้ อันไหนที่ไม่มี ก็บอกไปว่าไม่มี เราขอความร่วมมือได้ ขอเพียงแค่เราตั้งใจและทำเต็มที่เสียก่อน 

เรื่องอะไรที่คุณคิดว่าเป็นหลักการที่สำคัญอย่างมาก เวลาที่จะสร้างสรรค์งานอะไรขึ้นมาสักอย่าง

        ความฝันต้องชัด vision ต้องชัด แล้วกลยุทธถึงค่อยตามมา ที่สำคัญอีกอย่าง คืออย่าเอาเรื่องข้อจำกัดมาคุยกัน ลองนึกภาพการที่เราต้องไปคุยกับคนที่มีแต่ข้อจำกัด เราคงไม่อยากคุยด้วย ถูกไหม อย่างเมื่อวันก่อน ทางสมาคมอินเดียมาคุยกับเรา เขาบอกว่าช่วงนี้นักท่องเที่ยวอินเดียมาเที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับหนึ่ง แต่เราไม่มีเทศกาลอะไรเกี่ยวกับอินเดียเลย แถมลิตเติ้ลอินเดียในกรุงเทพฯ ก็ไม่ใหญ่ ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ไม่เหมือนไชน่าทาวน์ที่โด่งดังมากกว่า 

        ทีนี้เขามีความประสงค์อยากจัดงานดิวาลี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชาวอินเดีย ผมได้ฟังก็สนใจ ถ้าเราสามารถจัดงานดิวาลีในย่านที่เป็นลิตเติ้ลอินเดียในกรุงเทพ ยกตัวอย่างเช่นย่านพาหุรัด ผมว่ามันจะทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โจทย์ของเราคือ ทำยังไงให้เทศกาลแบบนี้ฝังอยู่ในพื้นที่ จัดงานแล้วมีฟุตปรินต์บางอย่างหลงเหลือเอาไว้ เพื่อทำให้เกิดคอมมูนิตี้ขึ้นมาจริงๆ แต่ถามว่า การที่จะจัดงานแบบนี้ขึ้นมายากไหม มันค่อนข้างยาก แถมยังมีข้อจำกัดมากมาย แต่เวลาที่เราจะคิดทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง เรื่องข้อจำกัดมันต้องมาทีหลัง ความฝัน หรือสิ่งที่เราอยากเห็น มันต้องชัดเจนก่อน แล้วมันต้องไม่ประนีประนอมด้วย ถ้ามีข้อจำกัดเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน 

เชื่อว่าคุณคงมีโปรเจกต์ที่กำลังจะจัดขึ้นอีกมากมาย เพราะเราแอบสังเกตเห็นว่า ในห้องประชุมที่คุยกันอยู่นี้ คุณแปะโพสต์อิตที่เขียนไอเดียต่างๆ เอาไว้มากมาย ยกตัวอย่างที่เราเห็นประโยคหนึ่ง ‘ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน’ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่ามันคืออะไร

        ผู้ว่าฯ เที่ยงคืนเป็นหนึ่งในนโยบาย 216 เรื่องที่คิดกันขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ที่มาของโครงการนี้ เกิดจากการที่เราเห็นว่า กทม. เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับ แล้ว กทม. มีเศรษฐกิจกลางคืนที่ใหญ่มาก แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจเหล่านี้ซบเซาลงไปมาก คำว่า ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน จึงเหมือนเป็นการส่งเสริมธุรกิจกลางคืนให้พลิกฟื้นขึ้นมา

        เราได้เริ่มต้นโครงการกันไปบ้างแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า พอมาทำจริงๆ กฎระเบียบต่างๆ ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน การจะส่งเสริมผับหรือร้านเหล้ามันเป็นเรื่องที่พูดยาก แล้วล่าสุดเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ผับที่ชลบุรีขึ้นมาอีก ตอนนี้โครงการ ผู้ว่าฯ เที่ยงคืนจึงไปโฟกัสที่เรื่องความปลอดภัยไปก่อน แต่ในอนาคตเราคงลงไปช่วยส่งเสริมธุรกิจภาคกลางคืนอย่างจริงจัง คือตัดเรื่องตอนอยู่ในร้านเหล้า ผับ บาร์ไปก่อนนะ เรากำลังพูดถึงช่วงเวลาหลังจากนั้นคือตีสองถึงเกือบเช้า มันมีธุรกิจอะไรบ้างที่ควรส่งเสริมให้จริงจัง และเป็นมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งถ้าทำได้มันจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการ และกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว

        อีกโครงการที่เพิ่งเปิดตัวไป คือโครงการโรงเรียนวันหยุด เราเรียกว่าเป็นการ open education โดยความตั้งใจของเราคืออยากทลายกรอบ ทลายแบบแผน หรืออะไรที่มันเคยกดทับเรื่องการศึกษาอยู่ ซึ่งเราเข้าใจดีว่า อยู่ดีๆ ถ้าเราจะไปเปลี่ยนนั่นนี่ในทันที มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราลอง open education หรือเปิดวิธีการศึกษาใหม่ๆ ลองมาออกแบบการเรียนการสอนกันใหม่ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยไม่มีกรอบใดๆ ใครอยากเรียนอะไรบอกมา นักเรียนบางคนอาจจะเรียนทำอาหาร หรือครูพละบางคนอาจจะเก่งเลข เอาสิ ให้ลองมาสอนเลขดู ไม่มีผิดมีถูก เราเพียงแค่อยากปลดล็อกการเรียนการสอนแบบเดิมๆ แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ทั้งครูและนักเรียน ได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองออกมา ซึ่งผลดีของการทลายกรอบแบบนี้ มันจะทำให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้จินตนาการ สุดท้ายพอกลับมาที่ระบบการเรียนการสอนแบบเดิม มันจะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้ในที่สุด

เราคุยกันถึงมุมบวกในการทำงานของคุณมาตลอด เอาจริงๆ มันมีมุมที่ fail หรือล้มเหลวบ้างไหม

        ถ้าถามในมุมส่วนตัว ทุกโปรเจกต์ที่ผมทำ มันไม่มีอันไหนที่ fail ทุกอันมันคือการเรียนรู้การทำงาน ระหว่างทีมข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ ช่วงแรกๆ  ที่เข้าไปมันคือปรับจูนเข้าหากัน ซึ่งความสนุกมันอยู่ตรงที่ว่า พอเราเรียนรู้กันและกันได้แล้ว มันจะเกิดความต่อเนื่องขึ้นไปเองโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรอีก 

        ที่ผ่านมาข้าราชการอยากมีงานกันทั้งนั้น แต่มันไม่มีความชัดเจน ไม่มีคนที่จะจุดประกายให้กับเขา พอเราเข้ามาทำตรงนี้ให้มันเกิดขึ้น ทีนี้เขาไปต่อได้เอง บางคนเดินเข้ามาหาผม เขาบอกว่า เขาเข้าใจแล้ว ว่าต้องทำยังไงต่อไป เรื่องเหล่านี้มันทำให้เราเห็นความหวัง 

        ผมเชื่อว่าข้าราชการทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของงาน เขาอยากสร้างความภาคภูมิใจในมุมการทำงานเล็กๆ ของเขา เพียงแต่เรามีหน้าที่จุดประกายให้เขาเห็นก่อน บางครั้งเขานึกไม่ออก แต่พอทำออกมาแล้วเขาจะเข้าใจทันที ทีนี้จะมีคำถามว่า จะจัดอีกมั้ย จัดอีกเมื่อไหร่ ซึ่งนี่คือสัญญาณที่ดี แสดงว่าเราต่อกันติด แล้วหลังจากนี้มันจะมีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้นตามมา

คุณรัก ‘กรุงเทพฯ’ ตรงไหน

        ส่วนตัวผมเกิดที่กรุงเทพฯ โตมาในกรุงเทพฯ เรียนก็เรียนในกรุงเทพฯ ทุกอย่างของเราอยู่ที่นี่ ซึ่งเราก็อยากให้ที่นี่มันดี ต่อให้เราพูดว่าเราอยากไปใช้ชีวิตที่นั่นที่นี่ แต่ลึกๆ แล้วทุกคนอยากให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น ดังนั้น ถ้าถามว่า ผมรักกรุงเทพฯ ตรงไหน มันอาจจะเป็นมุมที่มีอะไรให้เราทำเยอะดี คือมีปัญหาให้ต้องแก้ไขเยอะนั่นเอง (หัวเราะ) นี่ผมพูดจริงๆ คือเพื่อนๆ ที่เป็นชาวต่างชาติเคยบอกกับผม เขาโคตรอิจฉากรุงเทพฯ คือมีอะไรให้ทำเยอะแยะไปหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่สุดแล้วเราก็อยากให้บ้านเมืองของเราพัฒนาไปให้มากกว่านี้ ทั้งคน ทั้งสถานที่ ให้มันเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ทำให้มันเป็นเมืองที่น่าอยู่จริงๆ

ในอนาคต คำว่า ‘กรุงเทพฯ น่าอยู่’ ของคุณ มันจะมีหน้าตาประมาณไหน

        ลึกๆ ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่แบบธรรมดาๆ นะ ธรรมดาในที่นี้คือ คนธรรมดาๆ รู้สึกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ คือต้องยอมรับว่า บางทีความคาดหวังในสังคมนี้มันสูงมาก เป็นลักษณะหนึ่งของเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือมันทำให้คนเครียด อย่างที่เราเห็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ๆ ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตกันเยอะขึ้นมาก 

        ผมว่าผู้คนทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา บ้านอาจจะไม่ปลอดภัย ไปโรงเรียนก็ไม่ปลอดภัย เปิดเฟซบุ๊กก็ไม่ปลอดภัย มันมีแต่ที่ที่ไม่ปลอดภัย มันเลยทำให้ไม่รู้ว่าจะวางใจเขาไว้ตรงไหน ตรงนี้มันอาจจะเป็นหน้าที่ของเราด้วยก็ได้ว่า ทำยังไงถึงจะสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้มากขึ้น ซึ่งการที่จะสร้างพื้นที่แบบนี้ ไม่ใช่ กทม.สร้างเองฝ่ายเดียว แต่มันต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างในระดับเส้นเลือดฝอย คือลงไปในชุมชน ในโรงเรียน หรือในระดับครอบครัว ทำให้เกิดพื้นที่ที่ปลอดภัยขึ้นจริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้มันจะค่อยๆ หมดไป

ตลอดสามเดือนที่ผ่านมา ถ้าจะให้คุณสรุปผลการทำงานของตัวเอง ถือว่าน่าพอใจไหม

        ผมไม่ค่อยมีเวลาประเมิน หรือให้คะแนนตัวเอง แต่เอาเป็นว่า ทุกวันของผมคืออยากตื่นมาทำงาน อยากนัดประชุม อยากเจอผู้คน อยากลงพื้นที่ไปดูเรื่องที่เราแก้ไขไว้ อยากเห็นผลลัพธ์ที่ได้ทำลงไป รู้สึกว่ามันมีแต่เรื่องน่าทำ มีแต่เรื่องที่เราอยากทำให้มันดี นี่คืออาชีพในฝันสำหรับผมก็ว่าได้ (ยิ้ม)


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ