‘นุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์’ คุยกับ นุ่น สินิทธา กับชีวิตใหม่ที่เลือกเป็น ‘Health Coach’

นานเท่าไหร่แล้วที่เราไม่ได้เจอ ‘นุ่น’ – สินิทธา บุญยศักดิ์ บนหน้าจอทีวี? 

        หากย้อนเวลากลับไปราว 30 ปีก่อน นุ่นคือเด็กสาวหน้าใสยิ้มสวย ที่ก้าวเข้ามาในวงการบันเทิงเมืองไทย เธอเริ่มต้นจากการมีผลงานโฆษณา ซึ่งหลายคนยังจดจำได้ดีกับงานโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อดัง จนส่งให้เธอได้มาเป็นนักแสดงและเป็นนางเอกละครในเวลาต่อมา 

        เส้นทางในอาชีพการแสดงของนุ่นเป็นไปได้สวย เธอมีผลงานละครกว่า 45 เรื่อง และงานภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลการันตีความสามารถ ในคราวเดียวกัน เธอและน้องสาว (‘พลอย’ – เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) จัดได้ว่าเป็นคู่พี่น้องที่โด่งดังอย่างมากในวงการบันเทิงมานับสิบปี

        แต่จู่ๆ ผลงานของนุ่นก็ค่อยๆ ลดลง พร้อมกับการปรากฏตัวบนหน้าจอทีวีที่มีความถี่น้อยลงไปเช่นเดียวกัน ระหว่างนั้นเอง เธอล้มป่วยและได้รับการตรวจพบว่ามีเนื้องอก และจำต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาให้หายดี แต่กลับกลายเป็นว่า อาการผิดปกติดังกล่าวยังเกิดขึ้นอีกในครั้งที่สอง และสาม ทำท่าจะบานปลายกลายเป็นโรคร้าย 

        จนเมื่อผ่านการรักษามาหลายหนทาง ถึงที่สุด นุ่นตัดสินใจทดลองวิธีการบำบัดด้วยธรรมชาติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เรียกว่าพลิกโฉมไลฟ์สไตล์ที่เคยเป็นมาตลอดชีวิต ให้กลายเป็นคนใหม่ เป็นคนที่ดูแลใส่ใจในทุกวันของชีวิตเป็นอย่างดี 

        มากไปกว่านั้น เธอยังหันหลังให้กับวงการบันเทิง พร้อมพาตัวเองเข้าสู่อาชีพใหม่ กับการเป็น ‘health coach’ หรือเรียกว่าเป็นนักโภชนาการ ดูแลและออกแบบการกินการอยู่ให้กับผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องการปรับตัวเองให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยอาชีพใหม่นี้ เธอลงทุนไปเรียนอย่างจริงจัง จนได้รับประกาศนียบัตรด้วยความภาคภูมิใจ

        ทุกวันนี้เธอนิยามชีวิตตัวเองด้วยประโยคง่ายๆ ว่า “นุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์”

        เป็นประโยคง่ายๆ ที่ฟังดูน่าสนใจ จน a day BULLETIN ต้องขอไปร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ จากวันที่เป็นนักแสดงระดับหัวแถวของวงการ วันนี้เธอพลิกหน้าประวัติชีวิต ก้าวสู่การเป็น health coach พร้อมภารกิจสำคัญ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการกินการอยู่ให้กับคนไทย 

        นุ่นบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรื่องราวจะเป็นแบบไหน ตามไปอ่านบทสนทนาระหว่างเรากับเธอได้นับจากนี้กันเลย…

เริ่มต้น เราอยากรู้ที่มาของการเป็น health coach ของคุณเป็นมาอย่างไร

        มันเกิดจากการเจ็บป่วยของตัวนุ่นเอง นุ่นป่วยครั้งแรกตอนอายุ 30 มีอาการเป็นเนื้องอกที่บริเวณมดลูก เราผ่าตัดเอาออก แต่ผ่านไปไม่นาน กลับมาเป็นรอบสอง แต่คราวนี้เราไม่ผ่า เก็บไว้ จนต่อมาเกิดอาการเป็นซีสต์ในถุงน้ำในรังไข่ อาการที่ส่งผลตอนนั้นคือ ประจำเดือนไม่มา ตอนไปหาหมอ หมอฉีดยารักษาก็ไม่หาย ทำยังไงประจำเดือนก็ไม่มา สังเกตใบหน้าเริ่มเป็นสีเทาๆ ในความรู้สึกเราตอนนั้นมันมีโอกาสเสี่ยงที่จะเข้าเฟสของการเป็นมะเร็งได้

        เราลองรักษาอยู่หลายทาง จนสุดท้ายไม่มีทางเลือกแล้ว ไปได้คำแนะนำจากเพื่อนกับคุณแม่ของเพื่อน บอกว่าให้ทดลองทำ water fasting นุ่นถามว่า มันเป็นยังไง เขาก็อธิบายว่ามันเป็นการอดอาหารแล้วดื่มแต่น้ำ ซึ่งเราต้องตัดสินใจว่าจะลองทำหรือไม่ทำ พูดง่ายๆ ว่า ไม่ Do ก็ Die สุดท้ายตัดสินใจลองทำ พอทำไปสามวัน ปรากฏว่าประจำเดือนมา นุ่นดีใจมาก โทร.ไปบอกทุกคน แต่ยอมรับว่าตอนแรกเราก็มีความกังวลนะ วันแรกๆ ที่อดอาหารแล้วกินแต่น้ำ กลัวว่าเราจะตายมั้ยวะ (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่าเราไม่เป็นอะไรเลย แต่สมองอาจทำงานช้าลงหน่อย เพราะพลังงานน้อย แต่โดยรวมคือไม่เป็นอะไร 

        พอประจำเดือนมา เขาแนะนำให้ทานแต่น้ำต่อไปให้ครบห้าวัน ระหว่างนั้นโทร.คุยกับหมอ หมอนัดว่าอีกสิบสี่วันให้ลองมาทำอัลตราซาวนด์เพื่อดูซีสต์ในถุงน้ำในรังไข่ จนถึงวันที่ไปอัลตราซาวนด์… เกิดอะไรขึ้นกับนุ่นรู้มั้ย ซีสต์ที่เคยอยู่ในปีกมดลูกทั้งสองข้างมันหายไปเฉยเลย แถมไข่ยังตกทั้งสองข้างด้วย คือภายในระยะเวลาเพียงสิบสี่วัน ร่างกายเราฟื้นตัวได้เร็วมาก

        ในความรู้สึกของนุ่นตอนนั้นคือ เฮ้ย มันแค่นี้เองเหรอ แค่กินน้ำเนี่ยนะ Oh my gosh! (หัวเราะ) แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันจึงทำให้เราอยากเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น นุ่นตัดสินใจไปลงคอร์สเรียนออนไลน์กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของอเมริกา เป็นคอร์ส Nutrition Science ดีกรีปริญญาตรี เรียนผ่านช่องทางออนไลน์ระยะเวลา 3 เดือน พอดีว่าช่วงนั้นนุ่นเริ่มทำธุรกิจผลิตอาหารคีโตให้กับลูกค้าด้วย การเรียนเรื่องเหล่านี้จึงช่วยให้เรามีความรู้มากขึ้นไปอีก 

        แต่ก็เป็นการเรียนที่โหดมาก (ยิ้ม) เขาส่งเอกสารตำราวิชาการมาให้เต็มไปหมดเลย เคยลองเอาไปให้น้องในทีมที่เรียนด้านนี้ช่วยดู เขาบอกว่า หนูเรียนแบบนี้เหมือนกันตอนปริญญาตรี แต่ที่ไม่เหมือนกันคือ นี่เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย (หัวเราะ) ตอนที่เรียนยอมรับว่ายากมาก เราต้องทำการบ้าน ส่งการบ้าน มีการทดสอบ ว่าผ่านไม่ผ่าน เหมือนเรียนใหม่หมด จากที่เป็นเด็กเรียนสายศิลป์ นุ่นจบศิลปกรรมศาสตร์ มศว ก็กลายมาเป็นคนเรียนสายวิทยาศาสตร์เต็มตัว

        จนกระทั่งผ่านไปสามเดือน เราก็เรียนจบคอร์ส ถามว่าได้อะไร ต้องบอกว่าได้เยอะและละเอียดมาก มันเปลี่ยนแปลงมุมมองเรื่องการกินการอยู่ของเราไปหมด แล้วเรารู้เยอะขึ้น เช่น คาร์โบไฮเดรตมีกี่แบบ มีกี่โมเลกุล น้ำตาลมีกี่แบบ แบคทีเรียในร่างกายตัวไหนดีตัวไหนไม่ดี พฤติกรรมของเราไปสร้างให้แบคทีเรียตัวที่ไม่ดีส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร เรื่องทั้งหมดเหล่านี้คือหน้าที่ของการเป็น health coach คือคนที่ต้องมาทำความเข้าใจเรื่องโภชนาการอาหาร รวมทั้งช่วยในการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และที่สำคัญที่สุด คือการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดหรือมายดของผู้คนใน์เซตการกินการอยู่ให้มีคุณภาพมากขึ้น

ในฐานะ health coach คุณพอจะอธิบายพฤติกรรมการกินของผู้คนที่เป็นความเข้าใจผิดมาตลอดด้วยเรื่องอะไรบ้าง

        คือทุกคนชอบคิดว่าอาหารเกี่ยวพันกับความรู้สึก เกี่ยวพันกับความสุขใจ เวลาแฮปปี้ก็ไปกิน เวลาเสียใจ เครียด ก็ไปกิน เรามองว่าอาหารเป็นที่ระบาย แต่เราไม่ได้มองว่า อาหารคือเคมีชนิดหนึ่ง  ที่ใส่เข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดปฏิกิริยาต่อร่างกายของเราอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการขับถ่าย หรือระบบต่างๆ ในร่างกาย คุณคิดแค่ว่า วันนี้เหนื่อย ไปกินให้หายเหนื่อย เอาอาหารไปเชื่อมโยงกับอารมณ์ แต่ว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับสุขภาพ 

        เมื่อก่อนนุ่นก็เป็นอย่างนั้น แต่เมื่อเราเรียนรู้ เริ่มมองอาหารในอีกมุมมองหนึ่ง เราจะเข้าใจว่าอาหารทำให้เราสดชื่นก็ได้ ทำให้เราหงุดหงิดก็ได้ หรือแม้แต่ทำให้เรารู้สึกไม่มีสมาธิก็ได้ บางคนที่บอกเป็นโรคซึมเศร้าหรือเครียดมากจนต้องกินน้ำตาลทุกวัน แต่กินไปสักพักหนึ่งเดี๋ยวก็หงอยเหมือนเดิม หรือว่าบางคนติดกาแฟ ต้องการตื่นตัวตลอดเวลา วันไหนไม่ได้กินรู้สึกห่อเหี่ยว ไม่มีแรง ทั้งหมดที่พูดว่าอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น เพราะว่าอาหารมีสารเคมี ซึ่งมีผลต่อระบบในร่างกาย คุณกินแบบไหน สารเคมีในร่างกายจะส่งผลให้คุณเป็นแบบนั้น และมากไปกว่านั้น ยิ่งคุณกินแบบไม่รู้หลัก กินตามอารมณ์ หรือ emotional ร่างกายของคุณก็จะยิ่งเกิดปัญหา

หน้าที่ของ health coach จึงเหมือนคนชี้แนะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอย่างที่บอกไป

        ใช่ คือผู้บริโภคคนไทย ทุกวันนี้มีความเข้าใจผิด เรากำลังจะมาแก้ความเข้าใจของผู้บริโภค เพราะว่าคนไทยส่วนมากเชื่อในฟอร์เวิร์ดเมล หรือเชื่อในข่าวสารที่บอกต่อๆ กันมา สังเกตมั้ย มันจะเป็นประโยคสั้นๆ เช่น กินอันนี้แล้วลดน้ำหนักได้ กินอันนี้ลดมะเร็งได้ จริงไม่จริงไม่รู้ แต่เชื่อไว้ก่อน แล้วทีนี้พอเชื่อไปหมด ก็กินไปหมด กินจนเละเทะ ร่างกายพังพินาศ 

        เรามักเชื่อในโฆษณา เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม ระบบอุตสาหกรรม ที่ต้องบริโภคเยอะๆ ซื้อสินค้าทีละเยอะๆ แต่ในมุมกลับกัน เราไม่ได้ตรวจเช็คเลยว่า ตัวเราจำเป็นที่จะต้องกิน หรือมันเหมาะหรือไม่เหมาะกับตัวเราหรือเปล่า ยกตัวอย่างง่ายๆ มันมักจะมีการแนะนำให้กินเกลือแร่ หรือกินวิตามิน เราก็เชื่อเขา ต้องไปซื้อมากิน ซึ่งเขานี่คือใครก็ไม่รู้ หมอก็ไม่ใช่ แล้วการกินอะไรที่เยอะเกินไป หรือที่ร่างกายไม่ต้องการ มันคือ overdose มันจะนำซึ่งการเจ็บป่วยได้

คือนอกจากแนะนำเรื่องอาหารการกิน หน้าที่ของ health coach ยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจอีกด้วย ถูกไหม

        เราใช้คำว่า มันต้องปรับเปลี่ยน ดีกว่า ปรับเปลี่ยนความเข้าใจและมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมายด์เซตในการกินอาหาร รวมทั้งการใช้ชีวิต ทุกวันนี้คนชอบสูตรสำเร็จ พอได้สูตรสำเร็จมาหนึ่งสูตร ฉันก็จะใช้มันอยู่อย่างนั้น เช่น มีคนบอกว่ากินมะนาวแล้วดี ทีนี้ก็ตะบี้ตะบันกินเข้าไป โดยไม่รู้เลยว่ามะนาวนอกจากมีวิตามินซี ยังมีน้ำตาลสูงมาก เห็นเปรี้ยวๆ แบบนี้ แต่มีน้ำตาลด้วย ถามว่าเรื่องเหล่านี้คืออะไร คือฟอร์เวิร์ดเมล คือการพูดบอกต่อๆ กันมา ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์อะไร แค่พูดว่ากินอันนี้แล้วจะสำเร็จ คนชอบสูตรง่ายๆ แบบนี้ แต่ความจริง สูตรแบบนี้มันไม่มีในโลก

        ต่อไปนี้ในโลกอีก 10 ปีข้างหน้า การบริโภคอาหารจะเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า personalized diet คืออาหารเฉพาะบุคคล เฉพาะโรค เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน คิดง่ายๆ คุณตื่นนอนเวลาเดียวกันมั้ย ไหนจะ DNA ของพ่อแม่ก็คนละแบบ คนละเผ่าพันธุ์ ประวัติร่างกาย ประวัติการเจ็บป่วย เคยไปทำอะไรกับร่างกายตัวเองมาบ้าง หรือมีปัญหาทางพันธุกรรมหรือเปล่า ทุกอย่างทั้งหมดนี้ ล้วนแตกต่างกันหมด ดังนั้น ถ้าคุณจะมาบอกว่า ให้ลองใช้สูตรสำเร็จสูตรนี้ แล้วจะดีเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้ 

        เราต้องให้คนยอมรับ และเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ได้ก่อน นี่คือหนึ่งในภารกิจที่ health coach ต้องทำ ที่จะต้องเผยแพร่ต่อไปให้ได้

นอกจากการเป็น health coach ทุกวันนี้คุณยังมีภารกิจหน้าที่อะไรอีกบ้าง

        นุ่นทำแบรนด์ ‘Cher Organic’ จริงๆ ทำมาตั้งแต่ก่อนป่วยแล้ว เราทำอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิกส่งให้ผู้ป่วย โดยวงจรแรกของเราก็คือ นุ่นทำเกษตรอินทรีย์ ในที่นี้คือ เราไปเรียนรู้กับเกษตรกร แล้วเอาผัก หมู ไก่ ไข่ ของเกษตรกรมาทำอาหารให้ลูกค้า เราไปตรวจแปลง ตรวจไร่ คุยกับเกษตรกรด้วยตัวเอง มันจึงทำให้เรามั่นใจ ที่สำคัญคือ ราคาไม่แพง ทุกคนเข้าใจว่าอาหารสุขภาพดีต้องราคาแพง สุขภาพดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง แต่ที่มันแพง เพราะผ่านพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าคนกลางมักบอกว่า คุณอยากได้สุขภาพดีเหรอ คุณต้องจ่ายในราคาเพิ่มขึ้น ต้องไปที่ห้างสรรพสินค้า เพราะมีของดีๆ มีของออร์แกนิกมากมาย แต่ถ้าคุณไปหาชาวไร่ ชาวสวน ลองไปถามว่าผักกำละเท่าไหร่ดูสิ แล้วคุณจะตกใจกับราคาที่ถูกมาก (ยิ้ม)

        นุ่นทำอาหารออร์แกนิกส่งให้ลูกค้าอยู่ได้ราวๆ สองปี จนมาเจอโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดพักไป เพราะว่าการขนส่งค่อนข้างลำบาก แต่เรายังติดต่อกับเกษตรกรอยู่ ยังสั่งซื้อของจากเขาเหมือนเดิม จนตอนหลังเราเปลี่ยน ไม่ได้ทำอาหารให้ลูกค้า แต่แนะนำแหล่งวัตถุดิบให้กับเขาไปเลย แนะนำแบบฟรีๆ เช่น อยากได้ผักใช่มั้ย โทร.ไปหาพี่เกษตรกรคนนี้ อยากได้ไข่ โทร.ไปหาคนนั้น ปูทะเล โทร.ไปนู่นเลย ประมงสมุทรปราการ เราช่วยเขาในฐานะที่เขาก็ช่วยเรา ช่วยสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น คนที่เขาจับปู เขาจับตามธรรมชาติ ใช้วิธีจับเวลาน้ำขึ้น โดยไม่ตัดวงจรชีวิตของมัน ถามว่าคนที่เขามีคุณธรรมกับการทำเกษตรกรรมแบบนี้ ทำไมเราจะไม่สนับสนุน 

        ส่วนหน้าที่ของเรา เราก็ปรับจากคนทำ มาเป็นคนคอยแนะนำเรื่องโภชนาการ สมมติผู้ป่วยโรคมะเร็ง ต้องการความช่วยเหลือในการปรับอาหาร เราจะเป็นคนแนะนำว่าต้องกินอย่างไร ปรับอย่างไร รวมทั้งยังมีคอร์สแนะนำ เช่น ทำยังไงให้เนื้องอกยุบด้วยการทำ water fasting คอร์สลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน สารอาหารที่จำเป็นกับวัยทอง คอร์สเหล่านี้ราคา 100 บาท จ่ายเงินแล้วรับลิงก์ไป ถึงเวลาเราจะปล่อยภาพจากลิงก์ไปทีเดียว คุณสามารถดูได้ 30 วัน 

        นอกจากนี้เรายังมีสินค้า คือไอศกรีม เริ่มต้นจากการทดลองทำเครื่องดื่มจากข้าว rice biotic เพื่อช่วยในการระบาย โดยไม่มีสารเคมีอะไรเลย แต่ทีนี้จด อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ไม่ได้ เพราะ อย. บอกให้ต้องต้ม เราทำอย่างนั้นไม่ได้ พอต้มไม่ได้ปุ๊บ ทำยังไงดีล่ะ ถ้าอย่างนั้นทำเป็นไอศกรีมไปเลยแล้วกัน เป็นการปรับกระบวนการขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง บิดธีมจากเครื่องดื่มไปเป็นไอศกรีม ทีนี้จด อย. ผ่าน ปัจจุบันมีขายอยู่สองรส คือ rice probiotic gelato กับ blueberry probiotic gelato 

กลับมาที่บทบาทการเป็น health coach คุณคิดว่ามายด์เซตหรือวิธีคิดของคนไทยแบบไหนที่ควรต้องเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน

        การรู้จักพึ่งพาตัวเอง ไม่ใช่พึ่งพาสื่อหรือคำโฆษณาชวนเชื่อ เรื่องเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยน เราควรจะมีความรู้เรื่องโภชนาการอาหารไว้บ้าง คุณจะได้เลือกบริโภคหรือเลือกตระหนักได้ว่า ตกลงอาหารรูปแบบไหนที่ฉันควรกิน 

        เพราะความที่เราไม่พยายามเรียนรู้ ทุกวันนี้เราจึงต้องเอาชีวิตไปฝากไว้กับหมอ เจ็บป่วยแต่ละที เราก็ไปลงที่หมอ หมอต้องรักษาเราให้ได้นะ คือแพทย์เขามีหน้าที่รักษาเหตุที่เกิดตรงนั้น รักษาไปตามอาการของโรค คุณเป็นโรคอะไร เขาก็รักษาไปตามนั้น เช่น เป็นโรคหัวใจ ก็ไปทำบอลลูน อันนี้สมมตินะ คือรักษาตามอาการ แต่สาเหตุที่มาของโรคหัวใจมันคืออะไร ต้องกินอะไรถึงหาย มันเป็นเรื่องที่หมอคงบอกไม่ได้หมด เพราะหมอก็ไม่ได้เรียนโภชนาการ หมอเรียนรักษาโรค 

        คนมักชอบไปถามหมอ หมอคะ กินอะไรถึงจะแข็งแรง หมอก็จะตอบว่า อ๋อ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ไง จบ ซึ่งในโลกความจริง หมอก็กินคล้ายๆ กับเรานี่แหละ นุ่นมีเพื่อนเป็นหมอ อ้วนตุ๊ต๊ะเลย เวลาเจอกันมักจะชอบแซว เธอ เมื่อไหร่จะลดความอ้วน หมอก็ถามกลับมา แล้วเมื่อไหร่เธอจะทำอาหารสุขภาพดีส่งมาที่บ้านฉันสักทีล่ะ คือหมอเองก็ยังต้องได้รับการช่วยเหลือจากนักโภชนาการเหมือนกัน

คนทั่วไปมักมีความคิดว่า ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ ต้องราคาแพงกว่าปกติ แถมรสชาติยังไม่อร่อยถูกปาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่อยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยไหม

        นุ่นยืนยันว่า อาหารสุขภาพดีสามารถทำให้อร่อยได้ แล้วไม่แพงด้วย อย่างที่บอกไป วัตถุดิบเราหาได้เองจากแหล่งเกษตรกร ราคาไม่สูงแน่นอน แล้วการปรุงก็ชั่งตวงวัดให้ถูกหลัก นุ่นเคยทำให้คนรอบตัวกิน ทุกคนแปลกใจ ทำไมถึงอร่อย เราอยากนิยามง่ายๆ ให้คนเข้าใจว่า อาหารสุขภาพดีไม่ใช่อาหารคลีน อันนั้นก็รสชาติเกินทนจริงๆ (หัวเราะ) แต่อาหารสุขภาพดีคืออาหารที่อร่อยในความปลอดภัย เราทำได้ แค่ไม่ตะบี้ตะบันใส่น้ำตาลเข้าไป คือทำยังไงก็ได้ไม่ให้มันมาหลอกสมองเรา จากที่เคยรับรู้ว่า อร่อยต้องหวาน ซึ่งมันไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้

        อีกปัญหาหนึ่งที่เจอบ่อยๆ คือคนทำอาหารสุขภาพดีมักไม่ค่อยมีเวลาทำ มักจะอ้างว่าฉันไม่มีเวลามานั่งเตรียมอาหารดีๆ ซื้อเอาง่ายกว่า ตัวนุ่นเองก็เป็นคนขี้เกียจทำอาหารมาก แต่เราจะอุทิศการทำอาหารแค่วันเดียว สมมติเจ็ดวัน นุ่นทำอาหารแค่วันเดียว ที่เหลือเรายัดใส่ตู้เย็นไว้ ทำทิ้งแบบพร้อมรับประทาน วัตถุดิบบางอย่าง คุณลวกไว้กึ่งสุก ใส่กล่องเอาไว้ หรือถ้าเป็นแกง คุณทำแบบพร้อมเสร็จ ตักใส่กล่อง พอถึงเวลาคุณเปิดตู้เย็นมา คุณตักนู่นตักนี่ใส่กล่อง แล้วเอาไปเข้าไมโครเวฟที่ออฟฟิศก็ได้ จำไว้ว่า ในเมื่อคุณยังมีอาหารที่ดีอยู่ คุณแค่ถือไปกินที่ไหนก็ได้ แล้วพยายามดัดนิสัยตัวเอง เอาอาหารดีๆ ใส่ไว้ในตู้เย็น ยัดๆ เข้าไปไว้ก่อน พอถึงเวลาหิวๆ เปิดตู้เย็นมา ยังไงเราก็ยังได้เจออาหารดีๆ ก่อนเสมอ

        และอีกปัญหาหนึ่งที่มักจะเจอกัน คือการโดนต่อต้านจากคนรอบตัว เราเองก็เคยโดน เวลากินอาหารร่วมโต๊ะกัน เขาจะสงสัยว่าทำไมไม่กินเหมือนกัน ทำไมต้องกินอย่างนี้ ทำไมไม่ใส่น้ำมันหอย ทำไมไม่ใส่ซีอิ๊ว แล้วมันจะอร่อยเหรอ มีน้องบางคนมาปรึกษา มีปัญหากับครอบครัว เอาอาหารสุขภาพมาร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ ทำไมไม่กินอาหารที่พ่อแม่ทำให้ เราแนะนำว่า เอาอย่างนี้สิ เราเอาอาหารสุขภาพของเราตักใส่กล่องไว้ ถึงเวลาเราก็กินอาหารที่พ่อแม่ทำนั่นแหละ แต่ไม่ต้องกินเยอะ จากนั้นค่อยกินอาหารของเราไป 

        คือต้องเข้าใจว่าอาหารมันคือความรัก มันมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องทำนองนี้เราผ่อนสั้นผ่อนยาวกันได้ เพราะชีวิตคนคือการผ่อนปรน มันสามารถมีวันที่เราโกงการกินได้ คือกินแบบที่เราอยากกินเหมือนเดิมได้บ้าง แต่แค่คุณต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เปลี่ยนวิธีคิดกับการกินอาหารแค่นั้นเอง

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ กลัวไหมว่าตัวเองจะกลายเป็นศัตรูกับโลกอาหารกระแสหลัก

        เราอย่าทำตัวเป็นศัตรูสิ แค่ให้เขาปรับตามความเหมาะสมเท่านั้นเอง แล้วอีกอย่าง โลกทุกวันนี้มันกำลังถูก disrupt ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายถูกเปลี่ยนแปลงด้วยความรู้ใหม่ๆ เรื่องอาหารก็เหมือนกัน จำได้มั้ยว่าในอดีตเคยมีการแนะนำให้กิน low fat เพราะมีผลการวิจัยบอกว่า hi fat กินแล้วไม่ดี แต่เวลาผ่านไปยี่สิบปี ที่อเมริกาทุกวันนี้ มีผลการบันทึกทางสุขภาพออกมา คนกิน low fat เจ็บป่วยหนักมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ช่วงนี้จึงหันมากินพวก low sugar hi fat กันอีกแล้ว 

        ถามว่าคุณจะเชื่ออะไร เพราะสุดท้ายข้อมูลขยับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สุดท้ายมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือร่างกาย ร่างกายของเรายังเป็นระบบกรุงศรีอยุธยาอยู่เหมือนเดิม มันไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย ถูกมั้ย เพียงแค่สมองเราได้รับการพัฒนา แต่ระบบการดูดซึม การเผาผลาญต่างๆ ในร่างกาย มันเหมือนเดิม ไม่มีอะไรพิสดารไปจากแต่ก่อนเลย

ยืนยันว่า การกินอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ได้ทำให้ชีวิตตึงเครียดแต่อย่างใด

        เรามองสิ่งที่กินให้เป็นพลังงานสิ อย่าไปมองว่ามันต้องเป็นปริมาตรหรือปริมาณ แต่ให้กินด้วยการตระหนักรู้ รู้ว่าเราควรกินด้วยพลังงานเท่าไหร่ กินที่มันพอดีกับร่างกาย แล้วอาหารแบบไหนที่เป็นพลังงานไม่ดี เราก็หลีกเลี่ยง รวมทั้งกินให้เป็นเวลา มีเอาเข้าก็ควรต้องเอาออก สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ต้องกินน้ำเยอะๆ ต้องกินอย่างน้อยสามลิตรต่อวัน แล้วให้กินน้ำเปล่าบริสุทธิ์ บางคนเข้าใจว่ากินกาแฟก็เหมือนกินน้ำ ซึ่งความจริงไม่ใช่ กาแฟมีกาเฟอีน มีน้ำตาลกาแล็กโตส มีความเย็น ไม่ใช่น้ำเลยสักอย่าง มันเป็นแค่เพียงของเหลว หรือชานมไข่มุก มันคือของเหลวที่เต็มไปด้วยน้ำตาล อย่าเข้าใจผิดคิดว่าฉันกินของเหลว แปลว่าฉันกินน้ำ ทุกวันนี้คนไทยกว่า 80% เชื่ออย่างนี้อยู่

นุ่น สินิทธา ในวันนี้ แตกต่างจาก นุ่น สินิทธา เมื่อสิบปีก่อนในวันที่เจ็บป่วยมากน้อยขนาดไหน

        แน่นอน มันต่างกันอยู่แล้ว นุ่นแข็งแรงขึ้น แล้วที่สำคัญ นุ่นรู้สึกว่าทุกวันนี้นุ่นเป็นมนุษย์ที่มีประโยชน์ การที่เราเป็นนักโภชนาการได้ รวมทั้งการที่เราสามารถดูแลสุขภาพเราเองได้ มันแปลว่าเราต้องมีวินัย คนเราถ้าไม่มีวินัยก็ไม่สามารถทำอะไรให้ประสบความสำเร็จได้ แล้วการที่บังคับตัวเองได้ หรือฝืนความอยากของตัวเองได้ สุดท้ายชีวิตมันก็ตกผลึกจนถึงทุกวันนี้ องค์ความรู้ต่างๆ ที่เราไปเรียนรู้มา รวมทั้งที่เรามีจากประสบการณ์ในชีวิต เรานำมาปรับใช้ เรากลายเป็นคนที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นเพื่อปรับมุมมองของคนอื่นได้

        ด้วยวัยในวันนี้ มันทำให้เราไม่หวั่นไหวมากขึ้น เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อไปยังเป้าหมายที่เราหวังเอาไว้ นุ่นว่าคนเราถ้าไม่หาเรื่องใส่ตัว มีความสงบสุขในจิตใจแน่นอน อีกอย่างคือ เราถือหลักสัจธรรมที่ว่า  truth of life หรืออยู่กับความเป็นจริงให้มากที่สุด ถ้าอยู่กับความจริง มันก็ไม่มีอะไร มันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งที่มันอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นความเก๋ ไม่เก๋ ความดี ไม่ดี เรื่องที่คนอื่นมักจะตัดสินเรา เรื่องเหล่านี้มันจะไม่มีผลกับเราอีกต่อไป

เวลาที่มีข่าวสารในวงการบันเทิงเขียนถึงคุณ มักจะมีคำว่า ‘พลิกชีวิต’ หรือ ‘พลิกอาชีพ’ ส่วนตัวคุณรู้สึกอย่างไร

        นุ่นเฉยๆ นะ แต่แค่สงสัยว่า ถ้าเป็นดาราแล้วจะเป็นอาชีพอื่นไม่ได้หรือไง มันก็เป็นเรื่องที่ตลกนะ ที่อยูดีๆ มีคนมาตั้งบรรทัดฐานการทำมาหากินของเรา สมมติคุณเคยเป็นแบบนั้น แต่วันนี้คุณเป็นอีกแบบ แสดงว่าชีวิตคุณย่ำแย่ บรรทัดฐานมันอยู่ตรงไหน เอาจริงๆ ทุกวันนี้นุ่นมีความสุขกับอาชีพใหม่ของตัวเองมาก แต่สื่ออาจจะมองว่าเราตกต่ำก็ได้ เอาเป็นว่า เราอาจจะตกต่ำในสิ่งที่เรามีความสุขที่สุดแล้วกัน เรื่องแบบนี้ไม่มีใครตอบได้ นอกจากตัวเราเอง

คุณมองการทำงานในวงการบันเทิงที่เคยผ่านมาเป็นอย่างไร

        เป็นประสบการณ์ที่ดี เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เรามีความอดทน ทำให้เรามีวินัย เป็นอาชีพนึงที่ยกระดับชีวิตเรา แต่ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง นุ่นรู้สึกว่าอาชีพนี้ทำให้สุขภาพนุ่นไม่ดี ไลฟ์สไตล์ไม่ดีเอาเสียเลย แล้วมีความเครียดสูง นุ่นไม่พร้อม ดังนั้น นุ่นคิดว่านุ่นควรถอยออกมา จึงตัดสินใจตั้งแต่ 8-9 ปีก่อน เริ่มศึกษาอาชีพอื่นรอบตัว ทำนี่มั่ง ทำนั่นมั่ง สองทำไปเรื่อยๆ จนได้มาพบว่าเรามีความสุขกับการทำอาหาร และต่อยอดมาสนใจเรื่องโภชนาการอย่างในปัจจุบัน

จะมีโอกาสแวะเวียนกลับไปรับงานการแสดงอีกไหม

        ไม่ (ตอบเร็ว) คือนุ่นทำงานในวงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุ 14 ตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2535 ทำมาเกือบครึ่งชีวิต เราผ่านจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมาแล้ว รางวัลทางการแสดงเราก็เคยได้มาแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรนี่ เราว่าเรื่องความรู้เป็นสิ่งสำคัญกว่า เราจึงอยากออกมาหาความรู้แบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้ แต่อย่างที่บอก อาชีพนักแสดงสร้างความมั่นคง สร้างให้เรามีในทุกวันนี้ เป็นอาชีพที่มีบุญคุณในการสร้างเราขึ้นมา แต่สำหรับวันนี้มันไม่ใช่แล้ว แม้จะยังมีคนติดต่องานเข้ามา แต่เราพยายามปฏิเสธ มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา ไม่ได้มอบความสุขทางจิตใจให้กับเรา รวมทั้งเรากำลังสร้างสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต เราไม่อยากย้อนกลับไปให้คนสับสน ตกลงไหนบอกไม่เป็นดาราแล้ว กลับมาเล่นละครอีกทำไม เราไม่อยากให้เขารู้สึกแบบนั้น เราโฟกัสอยู่กับอะไร เราก็ทำสิ่งที่เราทำไป ทำมันไปเรื่อยๆ ให้มันสำเร็จในสักวันหนึ่ง

คุณคาดหวังกับสิ่งที่ทำในวันนี้อย่างไรบ้าง

        ทุกวันนี้นุ่นพอใจในสิ่งที่นุ่นทำมาก แม้จะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ใหญ่ ในการที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยที่ไม่มีใครมาช่วย แต่ว่าเราก็ค่อยๆ บอก ค่อยๆ ทำไป เราไม่อาจคาดหวังได้ เราแค่คิดว่าสิ่งที่เราทำ จะสามารถปรับเปลี่ยน ประชากรกลุ่มหนึ่ง ให้เกิดความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และส่งต่อสิ่งนี้ไปให้ลูกหลานของเขาในบ้าน เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นได้ 

        ส่วนเรื่องธุรกิจ ก็ทำไปเรื่อยๆ เราไม่ได้มองมันแบบทุนนิยม สิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องทุนนิยม หวังได้แค่ว่า ขอให้มันกระจายถึงผู้คนให้มากที่สุด ขอให้เขาได้รับรู้ในสิ่งที่มันเป็น fact หรือเป็นข้อเท็จจริง และปรับความคิดให้ได้ อันนี้สำคัญมาก มันเป็นทั้งประโยชน์ และก็เป็นบุญ สำหรับตัวนุ่นเอง ในการที่จะช่วยฟื้นชีวิต ฟื้นสุขภาพ

        ถามว่ามันมีความหวังมั้ย มันยังมีความหวังอยู่ เพียงแต่มันต้องได้ไปถึงหู ถึงคนที่เปิดใจรับฟัง แล้วเริ่มสังเกตตัวเอง เรื่องแบนนี้ใครทำใครได้ เหมือนการออกกำลังกาย ใครทำ ใครก็ได้ ซึ่งนุ่นเชื่อว่า เมื่อผู้คนเริ่มเปิดใจ เริ่มเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คุณภาพชีวิตมันจะเริ่มเกิดขึ้น เพียงแต่มันอาจจะต้องใช้เวลา

จากนักแสดง เปลี่ยนบทบาทชีวิตมาเป็น health coach ถ้าต้องวาดชีวิตในอีกสิบปีข้างหน้า คุณว่าหน้าตามันจะเป็นเช่นไรต่อไป

        ที่แน่ๆ วัยเราคงต้องแก่ขึ้นไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) แต่สำหรับเรื่องงาน นุ่นคิดว่านุ่นคงทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปแน่นอน งานนี้คงอีกยาว กว่าที่จะทำให้เกิดความเชื่ออย่างที่เราอยากให้เป็น มันต้องปรับไปอีกเป็นสิบปี แต่โชคดีที่เทรนด์สุขภาพตอนนี้มาแรง เพียงแค่คนไม่รู้วิธีการ ว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งจริงๆ มันเริ่มง่ายๆ ที่การกินอาหารก่อน 

        เราเอาเวลามาใส่ใจกับการกิน แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจแบบตึงเครียดมากก็ได้ อย่างที่บอกไป เรามีทางลัด เราทำอาหารดีๆ แค่วันเดียว ที่เหลือคือเก็บไว้ แล้วถึงเวลาก็ตักราด คุณก็ทำอย่างนั้นไป นี่คือการประนีประนอม นี่คือการผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่ได้ตึงจนเกินไป 

        สิ่งที่นุ่นทำเมื่อสิบปีที่แล้ว คือตัดสินใจที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง สุดท้ายมันมาออกดอกออกผลในวันนี้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้เห็น ไม่มีหรอก เพราะคุณกินแย่มากี่ปี อยากได้สุขภาพดี ต้องค่อยๆ ใจเย็นๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปห้าปีไม่ต้องส่องกระจกดูตัวเองเลยก็ได้ (หัวเราะ) แต่ว่าต้องทำ ทำไปจนถึงวันหนึ่ง มันจะเปลี่ยนได้ เหมือนที่นุ่นเคยเปลี่ยนตัวเองมาแล้ว 


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ