ข่าวใหญ่ที่สร้างความสนใจต่อผู้คนเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นการประกาศขายกิจการเดินรถทัวร์โดยสารในนาม ‘เชิดชัยทัวร์’ โดยมีเจ้าของกิจการที่ประชาชนรู้จักกันดี เธอคือ สุจินดา เชิดชัย หรือ ‘เจ๊เกียว แห่งเชิดชัยทัวร์’
หลังการออกมาประกาศไม่นาน บรรดานักข่าวและสื่อมวลชนต่างๆ พากันรายงานหาสาเหตุของการเลิกกิจการครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดยาวกว่า 3 ปี ส่งผลต่อธุรกิจการเดินรถของเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กับอีกเหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะพฤติกรรมของผู้คนยุคใหม่ หันไปเดินทางโดยใช้พาหนะส่วนตัว รวมถึงมีทางเลือกอย่างสายการบินโลว์คอสต์ที่มีราคาไม่แตกต่างกันนัก จึงทำให้การโดยสาร ‘รถทัวร์’ อย่างที่เคยเป็นมา ถูกลดบทบาทความสำคัญลงไป
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลส่วนตัวของเจ๊เกียวเองอีกว่า เธอต้องการพักผ่อน เนื่องจากทำธุรกิจเดินรถมายาวนานกว่า 65 ปี แถมในวันนี้อายุอานามก็เดินทางมาถึงตัวเลขวัยที่ 85 ปี จึงต้องการพักผ่อน เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสำคัญ
ทั้งหมดทั้งมวล จึงเป็นที่มาของการประกาศข่าวใหญ่ที่เรียกความสนใจแก่ผู้คน เพราะคงพูดไม่ผิดไปนัก หากจะบอกว่า เชิดชัยทัวร์คือความผูกพันของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้คนที่ต้องการเดินทางขึ้นภาคเหนือหรือไปภาคอีสาน ร้อยทั้งร้อยต่างเคยผ่านการนั่งรถทัวร์แบรนด์ ‘เชิดชัย’ กันมาแล้วทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอนัดสนทนากับเจ้าแม่รถทัวร์ในบ่ายวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและลงลึกในรายละเอียดของการประกาศขายกิจการ ตลอดจนได้ให้เจ๊เกียวได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิต ซึ่งสุภาพสตรีท่านนี้บอกว่า เธอสู้มาทั้งชีวิต สู้มาทุกมิติ สร้างกิจการจากเงินที่มีในมือแค่ 121 บาท จนทำให้มีอย่างทุกวันนี้ได้
“ใครอยากรวยให้โทร.มาหาฉัน ฉันจะให้คำปรึกษาเป็นวิทยาทาน”
เจ๊เกียวบอกด้วยรอยยิ้มในช่วงหนึ่งของการพูดคุย เธอยังบอกอีกด้วยว่า การเป็นคนรวยนั้นไม่ยาก แต่ที่ยากกว่าความรวย คือการรักษาความรวยให้อยู่กับตัวไปนานๆ ต่างหาก ซึ่งกว่า 65 ปีที่เริ่มต้นธุรกิจเดินรถมา ไม่มีวันไหนที่เธอไม่ใส่ใจในกิจการที่ปั้นมากับมือ แต่สำหรับวันนี้ เจ้าแม่รถทัวร์ระดับตำนาน กำลังจะ ‘วางมือ’ เสียแล้ว
ก่อนที่ทุกอย่างจะกลายเป็นอดีต เจ๊เกียวยินดีพูดคุยและตอบทุกคำถาม พร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตให้ฟัง และแน่นอนว่า เรื่องทำอย่างไรให้ ‘รวย’ เธอก็มีข้อแนะนำมาบอกทุกคนด้วยเช่นกัน ร่วมออกเดินทางไปกับชีวิตของแม่รถทัวร์คนนี้กันได้เลย…
1.
ประกาศขายกิจการ ‘เชิดชัยทัวร์’ ขายแค่ไหน? ขายอย่างไร?
เราเริ่มต้นสนทนากับเจ๊เกียวกับข่าวคราวเรื่องการขายกิจการของเธอ ว่านับตั้งแต่ที่ประกาศออกไปแล้ว มีกระแสตอบกลับมาอย่างไรบ้าง
“หลังจากที่ประกาศขายไป มีคนเข้ามาติดต่อบ้าง เป็นคนไทยก็มี หรือจากประเทศจีนก็มี บางรายจะขอแบ่งซื้อเป็นสายๆ (สายรถโดยสาร) หรือแบ่งซื้อเฉพาะที่วิ่งเป็นภาคๆ แต่ฉันบอกไม่ ไหนๆ ฉันก็เจ๊งแล้ว ฉันขายทีเดียวหมด จะให้เหลือตรงนั้น เหลือตรงนี้ ฉันไม่ยอม อยากได้ให้เอาไปทั้งหมด”
เจ๊เกียวตอบแบบเสียงดังฟังชัด พร้อมช่วยขยายความเพิ่มเติมอีกว่า เธอตั้งใจขายกิจการเดินรถ ‘เชิดชัยทัวร์’ ทั้งหมดก็จริง แต่เป็นประเภทของรถทัวร์โดยสารเท่านั้น ส่วนประเภทที่ให้เอกชนเช่ารับส่งพนักงาน ลักษณะแบบนั้นยังคงทำต่อไป
“ฉันขายเฉพาะรถที่เรียกว่าเป็นประเภท 10 ส่วนประเภท 30 หรือเป็นรถที่ให้บริษัทเอกชนเช่ารับ-ส่งพนักงาน พวกนี้ไม่ได้ขาย เพราะธุรกิจนั้นยังไปได้อยู่ นอกจากนี้พวกธุรกิจต่อตัวถังรถ หรือพวกขายรถยนต์อื่นๆ ยังทำต่อไปเหมือนเดิม”
ถามถึงเรื่องราคาที่ตั้งเอาไว้ในการขายกิจการครั้งนี้ เจ้าแม่รถทัวร์บอกว่า แล้วแต่ความเหมาะสม แต่กฎกติกานอกเหนือจากนั้น เธอยังขอพิจารณาเรื่องของ ‘ความมุ่งมั่น’ ของคนที่จะเข้ามาซื้อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจอีกด้วย
“ที่เราประกาศขายเพราะอยากหาคนที่รักอาชีพนี้มาทำ เพราะถ้าไม่รักจริง มันทำแล้วเหนื่อย เชื่อฉันเถอะ แต่ถ้าเป็นคนที่มีพื้นฐานรักชอบธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้ว มันอาจจะไปได้ดี แล้วถ้ามีอะไรสงสัย โทร.มาถามฉันได้ ฉันยินดีให้คำปรึกษา”
ถามเจ๊เกียวต่อมาว่า กับอาณาจักรที่สร้างมากับมืออย่างนี้ มีแอบใจหาย ที่ต้องยกให้กับคนอื่นไปบ้างไหม
“สมบัติผลัดกันชม” เจ๊เกียวตอบทันที “ในเมื่อเราอยากจะให้คนใหม่เขาทำ เราก็ต้องตัดใจ ซึ่งถ้าเขาทำแล้วไม่ขาดทุน เราก็ดีใจด้วย แต่ว่าถามว่าเสียดายมั้ย ไม่เสียดายหรอก เพราะสมบัติมีเยอะ”
สร้างอาณาจักร ‘เชิดชัยทัวร์’ มาด้วยสองมือของตัวเอง เรื่องปัญหาและอุปสรรคที่ต้องพบเจอ เจ๊เกียวบอกว่า เธอผ่านมาเยอะ แต่สำหรับปัญหาครั้งล่าสุด ทั้งเรื่องการระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงจำนวนผู้มาใช้บริการรถโดยสารน้อยลง เจ๊เกียวบอกว่า เรื่องเหล่านี้ยังพอรับมือได้ แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องปลดล็อกธุรกิจครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญคืออายุกว่า 85 ปี ที่คงถึงเวลาต้องวางมือและพักผ่อนบ้างนั่นเอง
“มีคนถามฉันว่า เจอปัญหาตั้งมากมาย แต่ครั้งนี้ทำไมถึงยอมแพ้ ฉันบอกว่าฉันยอมแพ้เพราะอายุ ทุกวันนี้ 85 ปีแล้ว แล้วธุรกิจนี้ปัญหามันเยอะ ต้องเป็นคนที่มีเรี่ยวแรง มีใจ เราก็ไม่รู้จะส่งให้ลูกๆ ทำต่อไปทำไม สู้เราขายสมบัติที่เรามีเป็นหมื่นล้านไปดีกว่า แล้วให้เขาเอาเงินไปบริหารกันเอง ส่วนตัวเราก็พอแล้ว มาได้ถึงเท่านี้ก็ถือว่าดีมากๆ แล้ว”
2.
ย้อนเวลาสู่ภาพชีวิตในวัยเยาว์ ‘เจ้าแม่รถทัวร์’
เจ๊เกียวได้ย้อนเล่าเส้นทางชีวิตในวัยเด็ก เธอบอกว่า ตัวเองเป็นคนหัวดี เรียนได้ที่หนึ่งมาตลอด แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงๆ เพราะฐานะที่บ้านไม่เอื้ออำนวย
“ฉันเป็นคนเรียนเก่ง ความจำดี เป็นคนหัวดี พูดอะไรจำได้หมด” เจ๊เกียวเล่าพลางยิ้มภูมิใจ “สมัยเรียนฉันสอบได้ที่หนึ่งมาตลอด แต่เรียนถึงแค่ ป.4 เท่านั้นเอง ก็ไม่ได้เรียนต่อ พอออกจากโรงเรียน มาหาเรื่องค้าขาย ทำนู่นทำนี่ เป็นเซลล์มาตั้งแต่เด็ก”
เจ๊เกียวเล่าต่อว่า เธอขายทุกอย่างที่ขายได้ แต่มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ไปยึดอาชีพที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง นั่นคือ ขายหวยใต้ดิน แต่เธอทำอยู่ได้ไม่นาน ก็ตัดสินใจเลิกไปด้วยความรู้สึกไม่ดี
“ตอนที่ทำหวยใต้ดินขาย ฉันทำประชดแม่” เจ๊เกียวบอก “ตอนนั้นทะเลาะกับแม่ จนมีความคิดว่าในเมื่อเป็นคนดีไม่ได้ ก็เป็นคนเลวไปซะเลย ตอนนั้นยังเด็ก เราคิดได้แค่นั้น ก็เลยไปเป็นเจ้ามือหวยซะเลย (หัวเราะ) สมัยที่ฉันทำหวย ฉันให้ซื้อได้ตั้งแต่เลข 00-99 แต่ให้ซื้อได้ครั้งละเบอร์ เพราะมากกว่านั้นเดี๋ยวไม่มีเงินจ่าย (หัวเราะ) อัตราการจ่ายคือ ซื้อ 1 บาท จ่าย 70 บาท ซึ่งถ้าใครถูกรางวัล ฉันจ่ายเงินให้ทันที ไม่มีเบี้ยว เราก็เอาเงินของคนที่ซื้อแล้วไม่ถูกมาจ่ายนั่นแหละ แต่ฉันทำอยู่ไม่นานหรอก จนอายุ 15-16 ปีก็เลิก เพราะรู้ว่ามันไม่ดี”
หลังจบจากการเป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน เจ๊เกียวก็พลิกอาชีพแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เธอไปลงทุนเรียนตัดเสื้อ กระทั่งเปิดโรงเรียนสอนตัดเสื้ออย่างเป็นเรื่องเป็นราว
“ฉันเอาเงินไปซื้อจักรเย็บผ้า ซื้อมาแค่ตัวเดียวนั่นแหละ แต่บอกว่าเป็นโรงเรียน (หัวเราะ) ฉันเปิดสอนคนที่สนใจมาเรียนตัดเสื้อ ฉันคิดราคาค่าเรียน 300 บาท เรียนประมาณ 3-6 เดือน เราพยายามสอนให้เขาเอาไปทำมาหากินต่อได้ หรือไม่บางทีฉันรับงานตัดเสื้อมา ก็ส่งต่อให้ช่างที่เราเคยสอนให้ไปผลิตต่อ ค่าแรงสมัยก่อนไม่แพง ตัดเสื้อครั้งหนึ่งตัวละ 4-5 บาท บางครั้งไปรับงานตัดยกทรง ตัวละ 35 บาท กำไรมันน้อย เราอยากได้สัก 100 บาท ก็ไปเชียร์ให้เขาตัดทีละ 5 ตัว ด้วยเหตุผลว่า ผ้าที่ใช้ตัดตัวเดียวกับห้าตัว สิ้นเปลืองไม่ต่างกัน จนในที่สุดเขาก็ยอมตัด เราได้เงินมาก็แบ่งให้ช่างไปเป็นค่าแรง ที่เหลือก็เก็บสะสมไว้”
เจ๊เกียวเล่าว่า เธอทำเรื่องค้าขายเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำจนเป็นนิสัย คือได้กำไรมาแล้วต้องเก็บสะสมเอาไว้ จากมีน้อย มันจะค่อยๆ กลายเป็นมีมาก และเมื่อเวลาผ่านไป เงินเหล่านี้จะกลายเป็นเงินทุนให้เอาไปต่อยอดกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก
“เวลามีอย่าใช้ให้หมด ให้หัดเก็บเอาไว้ และต้องรู้จักประหยัด เรื่องนี้สำคัญมาก ต้องประหยัด ไม่ใช่มีแล้วใช้อย่างเดียว สุดท้ายมันจะไม่เหลืออะไร ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตจะล้มตอนไหน แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือตอนล้มต้องอย่าให้เจ็บตัว”
3.
เส้นทางสู่อาณาจักรเชิดชัยทัวร์
เรียนรู้เรื่องการค้าขายมาหลายปี จวบจนอายุ 19 ปี เจ๊เกียวก็ตัดสินใจแต่งงานกับ วิชิต เชิดชัย สามีที่มีอายุมากกว่าเธอราวๆ 10 ปี พร้อมกับเล่าว่า ชีวิตในเวลานั้นเธอต้องต่อสู้อย่างหนัก
“แต่งงานก็ไม่มีจัดเลี้ยง” เจ๊เกียวย้อนความให้ฟังพร้อมรอยยิ้มอีกครั้ง “เราสองคนจูงมือกันไปไหว้เตี่ย ไหว้แม่ แล้วก็ไหว้เจ้าที่ที่บ้าน ไม่มีการกินเลี้ยงใดๆ เพราะไม่มีเงิน วันนั้นมีเงินทั้งตัวเหลืออยู่ หนึ่งร้อยกับยี่สิบเอ็ดบาท”
แต่นับจากวันนั้น เธอและสามีก็เดินหน้าสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ด้วยความที่สามีเป็นเจ้าของอู่ต่อรถบรรทุก ทำให้เจ๊เกียวได้เรียนรู้ และมองเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจ กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป เธอได้สัมปทานการเดินรถ จึงตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจรถทัวร์โดยสาร โดยเริ่มต้นครั้งแรกด้วยจำนวนรถในเครือที่มีอยู่เพียงแค่ 2 คัน
“ฉันยังจำรถคันแรกได้ เป็นรถสาย 21 เบอร์ 14 เป็นรถที่ต่อตัวถังขึ้นเอง ฉันเป็นคนโชคดี ตั้งแต่ทำธุรกิจเดินรถมา 65 ปี รถไม่ค่อยมีปัญหา เคยเจออุบัติเหตุแค่ครั้งเดียว เมื่อก่อนฉันจะนั่งมากับรถด้วยเป็นประจำ แต่ทุกครั้งที่ออกเดินทาง ฉันจะไหว้พระ พอรถออกปั๊บ ฉันจะท่องนะโม 3 จบ ขอฟ้าดิน ข้าพเจ้านางสุจินดา จะนั่งรถทะเบียนนี้ไปกรุงเทพฯ แล้วจะกลับในวันเดียวกัน ขอฟ้าดินช่วยดูแล อย่าให้ข้าพเจ้ามีอุบัติเหตุ เพราะข้าพเจ้ายังมีภาระอีกเยอะ”
เจ๊เกียวเล่าพลางยิ้มขำ ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เธอทำจะผ่านมากว่า 65 ปีแล้ว และจากวันที่มีรถทัวร์เพียงไม่กี่คัน กลับเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเป็นพันๆ คัน รวมทั้งยังมีพนักงานที่ต้องดูแลอีกหลายพันชีวิต
“ตอนที่เริ่มต้นธุรกิจเดินรถ ฉันหวังให้ธุรกิจไปแค่หลักร้อยล้าน แต่พอผ่านไป มันเติบโตกลายเป็นพันล้าน ตอนนั้นในใจคิดว่า เฮ้ย ถ้าไปถึงหมื่นล้านคงไม่ยากหรอก ในที่สุดก็ไปถึงหมื่นล้านจริงๆ แต่พอถึงหมื่นล้าน แล้วยังไงต่อ เราจะเก็บเป็นเงินสด หรือรอให้เป็นดอกเบี้ยคงไม่ไหว เราเปลี่ยนไปซื้อที่ดินดีกว่า มันจะต่อยอดไปอีกได้”
เราถามเจ๊เกียวต่อว่า ถ้าใครที่อยากจะเข้ามาทำกิจการเดินรถให้ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับเธอ ต้องทำอย่างไร เธอตอบแบบง่ายๆ ว่า ถ้าจะทำธุรกิจอะไร ก็ต้องรู้ให้จริง รู้ให้แม่นยำเรื่องนั้นๆ
“ถ้าจะทำธุรกิจรถ ก็ต้องรู้เรื่องรถ ต้องซ่อมรถให้เป็น แต่ธุรกิจวิ่งรถมันมีสิ่งซ่อนเร้นอีกเยอะที่จะทำให้เรารวย พูดแล้วจะยาวมาก ใครอยากรู้ ให้โทร.มาถาม เจ๊เกียวยินดีตอบ เป็นวิทยาทาน (ยิ้ม)”
4.
หลักคิด… หลักชีวิตของเจ้าแม่รถทัวร์
จากวันที่มีเงินติดตัวเพียงแค่ 121 บาท จนมาถึงวันที่ธุรกิจเติบโตกลายเป็นอาณาจักรเดินรถทัวร์ที่มีชื่อเสียง แม้วันนี้เจ๊เกียวจะไม่ไปต่อกับธุรกิจที่เคยสร้างชื่อไว้ แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งทุกอย่างไปเสียดื้อๆ โดยเฉพาะเหล่าพนักงานนับพันชีวิตที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
“ถ้าถึงวันที่ต้องขายกิจการไปจริงๆ ฉันคงถามความสมัครใจกับพนักงานว่าเขาจะไปต่อกับเจ้าของใหม่ หรือว่าจะเลิกราเพียงเท่านี้ แต่ลูกน้องฉันส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะรวยทุกคน”
เจ้าแม่รถทัวร์ทิ้งท้ายคำว่า ‘รวย’ ด้วยเสียงหนักแน่น อันคำว่า ‘รวย’ ในที่นี้ไม่ใช่แค่มีทรัพย์สินเงินทอง แต่ยัง ‘รวย’ ด้วยเหล่าคำสอนที่เจ๊เกียวมอบให้กับพนักงานมาตลอดที่ทำงานด้วยกัน
“ฉันไม่ได้ให้แต่เงิน แต่ฉันให้คำสอนกับเขา” เจ๊เกียวบอก “อย่างถ้าจะมีลูก ให้มีแค่สองคน เพราะจะได้มีกำลังเลี้ยง หรือถ้ามีเงินก็ให้เก็บ รู้จักใช้ และให้ประหยัด นอกจากนี้ฉันยังมีหลักคิดส่วนตัว คือถ้าคิดจะให้คนโกง ฉันให้โกงสามอย่าง และไม่ให้โกงสามอย่าง”
“มันเป็นยังไง?” เราถาม
“ให้โกงได้สามอย่าง คือหนึ่ง เอ็งโกงไปซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ทำไร่ทำสวน แบบนี้โกงไปเลย ถือว่าเราทำบุญ ส่วนโกงที่สอง โกงไปส่งลูกเรียน ไปเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี อันนี้เราก็เข้าใจได้ และโกงที่สาม คือโกงไปเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ อันนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่อย่าเอาไปเลี้ยงพี่น้อง เพราะเดี๋ยวมันจะขี้เกียจ นอกจากพี่น้องจะเป็นคนพิกลพิการ อันนี้เราต้องช่วยเขา
“ส่วนที่ไม่ให้โกงสามอย่าง คือหนึ่ง โกงไปซื้อทอง มันสะท้อนว่ามีแต่ความโลภ อยากได้ อยากมี โกงที่สองคือ โกงไปเล่นการพนัน อันนี้มีแต่จะหมดตัว และโกงที่สาม โกงไปเลี้ยงผู้หญิง จะมีกิ๊ก มีเมียน้อย ห้ามเลย เพราะอะไร เพราะมันจะเป็นภาระ พวกนี้ขัดขวางความเจริญทั้งนั้น”
เจ๊เกียวบอกต่ออีกว่า เธอนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก และตระเวนทำบุญไปทุกที่ วัดแห่งไหนมีงานบุญฝังลูกนิมิต เธอไปร่วมงานด้วยไม่มีขาด แต่นอกเหนือจากนี้ เธอยังสนใจเรื่องราวของศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอิสลาม ซึ่งพอยิ่งสนใจเรื่องราวคำสอนทางศาสนา ยิ่งทำให้เห็นสัจธรรมของปัญหาที่เข้ามาในชีวิต จนทำให้เกิดการปล่อยวางได้มากขึ้น
“มนุษย์เกิดมามีอุปสรรคทั้งนั้น บางคนเรียกว่ากรรม แต่ฉันเรียกว่า กำ เพราะเรากำ (มือ) มาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งกำก็คืออุปสรรคต่างๆ นั่นแหละ ถามว่าแล้วจะแก้อุปสรรคยังไง ฉันอาศัยการทำบุญ บุญจะแก้อุปสรรคให้เรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าได้น้อยใจในโชคชะตา บางคนน้อยใจทำไมเกิดมาจน ความจริงที่จนมันเกิดจากสิ่งที่เราปฏิบัติทั้งนั้น สมมติทำงานเงินเดือนหมื่นห้า แต่ไปใช้เงินซะห้าหมื่น มันก็เกิดความจนขึ้นมาน่ะสิ การจะเป็นคนจนหรือคนรวย มันก็อยู่ที่เรานั่นแหละ ไปดูชีวิตคนอื่นก็ไม่รวยขึ้นมาหรอก มันอยู่ที่เรา อยู่ที่รู้จักหาเงิน แล้วรู้จักเก็บหอมรอมริบเอาไว้”
เจ๊เกียวทิ้งท้ายหลักการชีวิตไว้ด้วยสามคำง่ายๆ คือ อดทน อดออม และใช้ชีวิตไม่ฟุ้งเฟ้อ ถึงต่อให้ไม่รวย แต่รับรองว่า อย่างไรก็ไม่มีทางจนแน่นอน
“อย่าอยากได้อยากมีตามคนอื่น ข้าวของแพงๆ ก็อย่าไปซื้อ อย่าไปหลงละเมอกับของแบรนด์เนม ใช้ชีวิตให้พอดี นอกจากจะมีเงินเหลือแล้ว ยังสบายใจเราอีกด้วย”
5.
ความสุขในวัย 85 ปี
ถ้าเปรียบโลกธุรกิจเป็นสนามรบ ชีวิตของเจ๊เกียวคงผ่านการสู้รบมาอย่างยาวนาน รวมทั้งก้าวผ่านชัยชนะในสมรภูมิแห่งธุรกิจมาแล้วมากมาย นับถึงวันนี้ ด้วยวัยที่ล่วงเลยมากว่า 85 ปี จึงถึงเวลาที่เธอจะได้พักผ่อน และมองหาความสุขให้กับตัวเองเพื่อเป็นรางวัลในบั้นปลายชีวิต
“ความสุขของฉันในวันนี้ คืออย่าให้ร่างกายต้องเจ็บป่วยเท่านั้นเป็นพอ” เจ๊เกียวบอก “ทุกวันนี้มีโรคอยู่ 8 โรคในตัว พยายามไม่ให้มันเยอะไปกว่านี้ (ยิ้ม) นี่ก็ต้องฟอกไตแล้ว เพราะไตเริ่มทำงานไม่ดี เวลาฟอกแต่ละทีก็เหนื่อย บางครั้งแพ้ หายใจไม่ออกบ้าง คลื่นไส้จะอาเจียนบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่ทุกวันนี้ พยายามออกกำลังกาย เดินวันละไม่ต่ำกว่าห้าพันก้าว ทำกายบริหาร ขยับเนื้อขยับตัว ไล่ตั้งแต่เท้า หัวเข่า ก้น ท้อง หัวไหล่ มือ คอ สุดท้ายที่หัว รวมให้ได้ทั้งหมดพันครั้ง ทำอย่างนี้ทุกวัน แต่ต้องทำหน้าจอทีวีนะ จะได้ดูทีวีไปด้วย (หัวเราะ)”
เจ๊เกียวบอกว่า ถึงจะพักผ่อนเป็นหลัก แต่ทุกสัปดาห์ก็ยังหาโอกาสเดินทางจากโคราช เพื่อมาดูแลกิจการในกรุงเทพฯ อยู่เสมอๆ ยังไม่ได้วางมือแบบเบ็ดเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์แต่อย่างใด เพราะสุดท้าย เรื่องกิจการงานก็ยังเป็นสิ่งที่เธอรักอยู่ดี
“ฉันภูมิใจที่ชีวิตมาถึงวันนี้ และดีใจที่เลือกเดินมาถูกทาง จากวันที่ไม่มีอะไรเลย แต่เราก็สร้างฐานะมาจนมีทุกอย่าง ถึงจะต้องเลิกกิจการบางอย่างไปบ้าง แต่สิ่งที่มีอยู่ ก็ทำให้ฉันมีความสุขเหมือนเดิม ไม่ต่างจากวันแรกที่ได้เริ่มทำกิจการนี้”
ถามเจ๊เกียวปิดท้ายว่า ยังจำวันที่ในมือมีเงิน 121 บาทได้อยู่ไหม เธอตอบทันทีว่า ไม่เคยลืม
“มันก็แปลกนะที่เงินในมือมี 121 บาท อุตส่าห์มีเศษหนึ่งบาท สงสัยเพราะชีวิตต้องมีเลขหนึ่ง เรียนก็ได้ที่หนึ่ง ทำอะไรก็ต้องเป็นที่หนึ่ง”
เจ้าแม่รถทัวร์ในตำนานปิดท้ายด้วยรอยยิ้มขำ และแน่นอนว่า ‘เชิดชัยทัวร์’ ก็เป็นหนึ่งในใจของผู้โดยสารไปตลอดเช่นกัน…
เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ