เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สร้างเสรีให้สุรา หนุนความเท่าเทียมที่ต้องเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติผ่านวาระแรกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต ฉบับที่… พ.ศ.… หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า’ เป็นที่เรียบร้อย 

        นับถึงตอนนี้ กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาและพิจารณาอีก 2 วาระ ยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความตั้งใจของผู้ชายที่ชื่อ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ถูกจุดติด และกลายเป็นความหวังให้กับผู้คนในแวดวงการผลิตสุราไทย

        เท่าพิภพเป็นใคร? กล่าวถึงผู้ชายร่างสูงใหญ่กว่า 194 เซนติเมตรคนนี้ เมื่อ 5 ปีก่อน เขาคือผู้ที่ถูกจับกุมฐาน ‘ต้มเบียร์ผลิตเอง’ มีความผิดทางกฎหมาย เจอข้อหาไปหลายกระทง เรื่องจบที่การได้รับโทษจำคุก 2 เดือน แต่รอลงอาญาไว้ 2 ปี และเสียค่าปรับไปตามระเบียบของกฎหมาย แต่เรื่องราวหลังจากนั้น เท่าพิภพก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แถมยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. กทม. เขต 22 (พื้นที่เขตคลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี) แต่สิ่งที่ไม่เคยจางหายไปจากความนึกคิดของเขา คือ ‘การผลักดันการแก้กฎหมายสุราเสรี’

        เท่าพิภพลุยผลักดันร่างแก้ไขกฎหมาย โดยหลักใหญ่ใจความของร่างแก้นี้ เพื่อหวังจะปลดล็อกให้ ‘สุรา’ กลายเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถลงทุนทำขายเองได้ มิได้ ‘ผูกขาด’ ด้วยเรื่องของแรงม้าในการผลิต ที่ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถทำได้ตลอดมา

        ถึงนาทีนี้ กฎหมายผ่านวาระหนึ่งของสภาเดินหน้าสู่วาระสองและสามตามลำดับ และหวังใจว่า จะกลายเป็น ‘กฎหมาย’ ในห้วงเวลาอันใกล้นี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราถือโอกาสไปร่วมพูดคุยกับเท่าพิภพ ว่าเขารู้สึกกับการเดินทางกว่าสองปีครึ่งในการผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายนี้อย่างไร และข้อสงสัยอีกมากมาย หากว่า พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าจะกลายเป็นกฎหมายที่ ‘ใครก็ต้มเหล้าขายได้’ เขามองเห็นภาพอนาคตของวงการสุราไทยอย่างไร บทสนทนาต่อจากนี้มีคำตอบ…

ถ้านับถึงตอนนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ผ่านวาระที่หนึ่งไปแล้ว ไทม์ไลน์ต่อไปจะเป็นอย่างไร

        อธิบายแบบกระชับๆ ตอนนี้ตัวร่างแก้กฎหมายเข้าสู่การประชุมเพื่อศึกษาในรายละเอียด โดยมีคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งขึ้นพิเศษจำนวนทั้งหมด 25 คน มีหน้าที่ศึกษาและพิจารณา พรรคก้าวไกลได้โควตามา 2 คน คือผม กับคุณคริส (คริส โปตระนันทน์) ช่วงเดือนแรกของการเข้าประชุมค่อนข้างเสียเวลามาก เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการสนทนาธรรม คือมัวแต่อธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่อง simple มาก เรื่องโอกาสของผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายย่อย ที่มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แค่นี้เอง แต่บางคนในที่ประชุมตีมึน ทำไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ผมก็ต้องพูดซ้ำเป็นพันๆ รอบ แต่ผมไม่แคร์นะ ผมทำได้ แล้วมีประเภทมาถามว่า ต้องบินไปดูงานต่างประเทศมั้ย ดูงานบ้าบออะไรล่ะ (หัวเราะ)

        ทีนี้พอผ่านช่วงตีมึนไปสักเดือน หลังๆ มาเริ่มคุยเข้ามาตรากฎหมายกันบ้างแล้ว อย่างที่บอก ผมพยายามอธิบาย การเมืองเป็นเรื่องต้องคุย ต้องโน้มน้าว ต้อง defend จริงๆ ผมคิดว่าถ้าผมได้เป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ เรื่องคงผ่านตั้งแต่เดือนแรกแล้วล่ะ (หัวเราะ) แต่โอเค ตอนนี้ก็ยังอยู่ในกรอบเวลาของมัน เดี๋ยวเรื่องก็จะเข้าสมัยประชุมสภาต่อไปช่วงสิงหาคมนี้ ซึ่งกฎหมายเรื่องไหนที่ผ่านวาระแรกแล้ว มันจะมีข้อดีอยู่อย่างนึงคือ มี tax way หรือมีวันพิเศษที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาประชุมโดยเฉพาะ 

        ถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน ผมคิดว่าเรื่องคงได้รับการพิจารณาต่อในสมัยการประชุมนี้ ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม แล้วไปเปิดสมัยประชุมอีกทีราวๆ เดือนธันวาคม ถึงตรงนั้น ถ้า ส.ว. ไม่คัดค้านก็ดีไป เพราะผมเป็นห่วงมาก เนื่องจาก ส.ว. ชุดนี้โหวตคว่ำกฎหมายมาเยอะมาก สมมติถ้า ส.ว. ไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง แล้วตั้งกรรมาธิการขึ้นมาทำงานร่วมกัน ทีนี้จะยิ่งเสียเวลาไปอีก พูดง่ายๆ เหมือนผมต้องไปอธิบายกับ ส.ว. ใหม่อีกครั้ง คือเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นเรื่องก็คงจะล่าช้าออกไปอีก

        อันนี้คือกรณีมีอุปสรรคต่างๆ แต่ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ ผมคิดว่าเปิดสมัยประชุมสภาครั้งหน้าช่วงเดือนธันวาคม ถ้าโหวตผ่านร่างสอง ร่างสาม จากนั้นก็ไปแก้ที่กฎกระทรวงเดิม รอเวลาอีกราวๆ 90 วัน คิดตัวเลขกลมๆ ง่ายๆ ประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า เราน่าจะได้ต้มเหล้ากินที่บ้านได้อย่างไม่ผิดกฎหมายแล้ว

ถ้าฟังตามไทม์ไลน์อย่างที่คุณเล่ามา แบบนี้ถือว่าเร็วไหม

        ผมว่าช้า (หัวเราะ) แต่ก็ถือว่าเร็วสุดในรุ่นแล้วล่ะ คือเป็นการผลักดันการแก้กฎหมายจากพรรคฝ่ายค้านที่เร็วที่สุด แต่ในความจริงมันก็ช้าไง ทุกอย่างในสภา เขาให้ค่าของ ส.ส. น้อยเกินไป ผมยกตัวอย่าง ส.ส. ที่ประเทศอังกฤษ เขาจะมีวันเฉพาะเจาะจงไปเลย เช่น วันนี้เป็นวันประชุมเรื่องร่างกฎหมายของ ส.ส. วันนี้เป็นวันเรื่องร่างกฎหมายของรัฐบาล แต่สภาของเราไม่เป็นอย่างนั้น ของเราคือเอาร่างของรัฐบาลมาถมๆๆ ไหนจะญัตติด่วนอีก แค่นี้ก็ถูกแซงไปแล้ว เรื่องนี้ผมคิดว่าประธานสภาฯ ควรทำได้ดีกว่านี้ เพราะผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมแต่ละครั้งต่ำมาก 

ตั้งแต่ผลักดันกฎหมายสุราเสรีเข้าสภา เสียงตอบรับจากคนรอบตัวคุณเป็นบวกเป็นลบอย่างไร 

        ส่วนใหญ่โอเคนะครับ เอาแค่ ส.ส. ในสภาแทบทุกคนโอเคหมด ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เวลาเดินมากินข้าว เขาชอบเข้ามาทักทายตลอด เมื่อไหร่จะเอาเบียร์ที่ต้มมาให้กิน ผมก็บอกกลับไป พี่ก็วงกฎหมายผมให้ผ่านก่อนสิ ผมจะได้เอาเบียร์ที่บ้านมาเลี้ยง (หัวเราะ) ก็จะแซวๆ กันตลอด อาจจะเป็นเพราะว่าเราเป็นที่จดจำมาตั้งแต่ก่อนเข้าสภาแล้วด้วยมั้งครับ เขารู้จักผมไง ไอ้นี่ที่ปั่นจักรยานหาเสียงจนชนะ ไอ้นี่มันทำเบียร์แล้วโดนจับ พอเข้าสภา ทุกคนก็เลยมาทักทายเรา แต่ผมเป็นคนสบายๆ ชิลๆ อยู่แล้ว ทักทายได้หมดทุกคน แต่ส่วนตัวเราก็พยายามผลักดันเรื่องกฎหมายนี้มาตลอดเช่นกัน

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ สาระสำคัญของ ‘พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า’ เป็นอย่างไร คุณช่วยอธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆ ได้ไหม

        พูดให้ง่ายที่สุด หลักๆ ก็คือต้มเหล้าที่บ้านได้ ต้มไปเถอะครับ ถ้าไม่ต้มเพื่อการค้า เหมือนปลูกกัญชาไว้ที่บ้าน กับอีกส่วนหนึ่งก็คือ ถ้าจะทำขาย ก็ไปขออนุญาตการติดแสตมป์กับสรรพสามิตเหมือนเดิม ประเด็นสำคัญคือ แค่ปลดล็อกกฎกระทรวงต่างๆ ที่มันเคยมีการกำหนดเรื่องแรงม้า หรือขนาดการผลิต ที่เป็นกำแพงกั้นไว้แค่นั้นเอง 

        ทีนี้ต่อไป ถ้าเราจะเอาสุราใต้ดินทั้งหลายมาขาย คนอาจจะติดใจว่าไม่ปลอดภัย แต่ไม่ต้องกลัว เพราะเรามีมาตรฐานเดียวกันแล้ว เหล้าเบียร์ทุกชนิดต้องถูกตรวจสอบคุณภาพแบบเดียวกันหมด คือในภาพรวมจะเกิดผู้ประกอบการหรือผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น แล้วผู้เล่นรายใหม่จะมีคุณภาพมากขึ้นด้วย รวมถึงอาจจะเกิดวิสกี้ไทย เพราะกฎหมายนี้จะไปปลดล็อกพวกเอาเหล้าขาวไปบ่มด้วย 

        คือเมื่อก่อนเหล้าพวกนี้ถูกกดเอาไว้ กดให้เขาทำแต่เหล้าราคาถูก โดยอ้างความเป็นชุมชนพื้นถิ่นบ้าบอ คือสุดท้ายมันต้องตัดไปได้แล้วพวกวัฒนธรรมแช่แข็งเหล่านี้ มันต้องยกระดับ เพราะถ้ายกระดับไม่ได้ คุณกำลังฆ่าวัฒนธรรมเหล่านี้ไปเรื่อยๆ คราฟต์แมนบางคนเป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้รับมรดกตกทอดจากครอบครัวเรื่องการบ่มเหล้า แต่สุดท้ายก็ต้องล้มหายตายจากไป เพราะถูกกดทับเอาไว้ 

        ผมเคยไปปั่นจักรยานที่พะเยา ขึ้นไปบนดอย ไปหาเสียงให้พรรคอนาคตใหม่สมัยก่อน จังหวะไปไปนั่งรอหน้าบ้านคน ปรากฏได้รู้ว่าบ้านเขาเป็นโรงต้มเหล้า เขาก็เล่าให้ฟังว่า เขาคือรุ่นที่ 5 เขาต้มเหล้ามาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ พอพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดตาย เขาก็มาทำต่อ แล้วเชื่อมั้ย พอผมลองชิมเข้าไปคำแรก ผมอุทานออกมาเลย เหล้าแม่งโคตรดี คือทำมาตั้งแต่ 11 ขวบ มันไม่ดีก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วล่ะ ถูกมั้ย แต่ลองคิดในมุมกลับกัน ถ้าคนผลิตรุ่นนี้หายไป สูตรเหล้าเหล่านี้ก็จะหายไปเลยนะ 

        ลักษณะแบบนี้ ภูมิปัญญาแบบนี้ หลายๆ ที่ค่อยๆ หายไป ยิ่งทางภาคใต้หายไปเยอะ ซึ่งแต่ละถิ่นฐานเหล้าก็ไม่เหมือนกัน ทั้งวัตถุดิบที่หมักบ่ม ไหนจะยีสต์ที่เกิดจากแป้งที่หมักบ่มก็ไม่เหมือนกัน ยีสต์พวกนี้เปราะบางกับอุณหภูมิมาก แค่ครึ่งองศา หรือหนึ่งองศา มันเปลี่ยนได้แล้ว ทั้งหมดจึงทำให้แต่ละพื้นที่มีเหล้าที่หลากหลาย รสชาติไม่เหมือนกัน

        ตอนนี้ที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันเรื่องสุราชุมชนกันอยู่ เราตั้งใจจะทำให้เป็นเอนไซโคลพีเดียสุราไทย คือศึกษาและแยกแยะว่าสไตล์ของเหล้าไทยมีอะไรบ้าง ลักษณะเด่นๆ ของแต่ละพื้นที่ คล้ายๆ ที่เมืองนอกแยกแยะเรื่องเบียร์อะไรอย่างนั้น เขามีเบียร์แบบสเตาต์ (stout) เบียร์แบบ IPA (India Pale Ale) อันนี้เราก็จะทำบ้าง เช่น เหล้าขาวแบบน่าน แบบสุโขทัย แต่ละที่ก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป

        คือในมุมมองของผม การผ่านร่างกฎหมายตัวนี้มันไม่ใช่แค่การปลดล็อกสุราเสรี ใครค้าใครขายก็ได้ แต่เรากำลังยกระดับภูมิปัญญาคนไทย นี่เป็นฝันของผมเลยนะ ผมอยากเห็นเหล้าขาวไทยอยู่ในไทยเรสเตอรองต์ของเมืองนอก เทียบเท่าสาเก โชจู หรือเตกีล่า อะไรพวกนั้นเลย สมมติพูดชื่อเหล้าขาว ก็สะกดภาษาอังกฤษตรงตัว L A O K A O อ่านว่า เหล้าขาว ทับศัพท์ไปเลย เหมือนเรายังเรียกเหมาไถของจีนได้ แล้วทำไมคนอื่นจะเรียกเหล้าขาวของเราไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่คุณถูกจับเพราะต้มเบียร์เอง ถามตรงๆ ว่า เป็นเพราะความคับข้องใจด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้คุณก้าวมาเป็น ส.ส. และเข้ามาแก้ไขกฎหมายแบบนี้

        แน่นอนครับ คือวันนั้นที่โดนจับ ด้วยความที่เราก็เรียนกฎหมาย (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ถามว่ารู้มั้ยว่าทำผิดกฎหมาย เรารู้ แต่เรารู้มากกว่านั้น รู้ว่ากฎหมายมันต้องแก้ไข กฎหมายไม่ได้ถูกต้องเสมอไป มันอาจถูกต้องในกาลเวลาหนึ่ง แต่มันอาจจะอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ในอีกบริบทหนึ่งก็ได้ในยุคต่อมา เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของ law maker หรือนักกฎหมายที่ต้องปรับเปลี่ยน หรือแม้แต่ประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมในเวลานั้นๆ 

        อย่างเรื่องแรงม้าในการผลิตที่กฎหมายควบคุมไว้ ผมพยายามตามหาคำตอบมานานว่าทำไมต้องผลิตทีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร เพิ่งมารู้จากกรรมาธิการชุดนี้ เขาบอกว่า ที่ผลิตเยอะเพราะอยากให้มีคุณภาพ ผมก็ถามกลับไปว่า คุณภาพอะไร ทำน้อยก็มีคุณภาพได้ไม่ใช่เหรอ แล้วทำเยอะนี่ยิ่งยากเลยเรื่องการควบคุมคุณภาพน่ะ ถูกมั้ย แต่ทางผู้รู้ท่านนั้นก็ให้คำตอบผมอีกว่า กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้มาตั้งแต่ปี 2530 กว่าๆ ช่วงนั้นประเทศเราอยากได้การลงทุนจากต่างประเทศ จึงต้องทำอะไรเยอะๆ ไว้ก่อน เขาจะได้เอาเงินมาลงทุนประเทศเราเยอะๆ นี่คือความคิดที่เกิดขึ้นในวันนั้น แต่ในวันนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว เราก็ควรที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

        อีกแรงขับหนึ่งที่ทำให้ผมต้องดำเนินเรื่องราวมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะวันนั้นผมได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยดี เขาเข้าชาร์จผม เขาบอกว่าผมไม่ติดแสตมป์สุรา ผมก็เถียงเขา ไม่ใช่พี่ ดูข้อกฎหมายข้อนี้ ผมก็อ่านให้ฟังเลยนะ คือผู้ใดมีหน้าที่ที่ต้องติดแสตมป์ คือผมไม่มีหน้าที่ที่ต้องติดแสตมป์ เพราะผมไม่มีใบอนุญาต แล้วผมจะติดแสตมป์ได้ยังไง หรือถ้าให้ผมไปปลอมแสตมป์ นั่นเรื่องใหญ่เลยนะ ผมโดนจับเข้าคุก 5-6 ปี เขาไม่สน นั่งกระดิกเท้ารอในรถตู้ รอผมจนตีหนึ่ง ว่าจะเอายังไง ผมบอกไป สน. เถอะ ขึ้นศาลเถอะครับ ถ้าเถียงกันแบบนี้ ไม่มีประโยชน์ เพราะคุณไม่เชื่อผมเรื่องข้อกฎหมาย 

หลังจากเหตุการณ์นั้น คุณจึงตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมือง เป็น ส.ส. เพื่อจะเข้ามาแก้กฎหมายในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

        คือตอนนั้นมีความคิดว่าต้องแก้กฎหมาย แล้วคนแก้กฎหมายได้ก็คือ ส.ส. แต่ส่วนตัวไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง มันก็เหมือนคนทั่วไปในประเทศนี้ ที่การเป็น ส.ส.เป็นเรื่องไกลตัวมาก เราไม่ใช่ชายวัยกลางคนอายุ 45 ที่หวังจะเล่นการเมือง อะไรอย่างนั้น

จะบอกว่าคุณไม่มีแพสชันเรื่องการเมืองเลย พูดอย่างนั้นได้ไหม

        เอาจริงๆ คือผมไม่ค่อยได้ตามการเมืองนะ แต่ด้วยความที่เรียนธรรมศาสตร์ มันก็บังคับให้ต้องตามในระดับนึงอยู่แล้ว แต่ผมไม่ใช่คนที่มีบุคลิกแบบนักการเมือง ผมไม่เคยเห็นภาพตัวเองขึ้นรถแห่หาเสียง หรือขึ้นเวทีปราศรัยปลุกใจผู้คน ผมไม่ใช่แนวนั้น ผมเหมือนเอ็นจีโอมากกว่า เหมือนเด็กสร้างค่ายที่มาเล่นการเมือง คือผมชอบคุยกับคน ผมชอบฟัง ชอบช่วยเหลือคน แต่ผมไม่ชอบการเมืองในลุกส์แบบนักการเมืองอย่างที่เห็น ผมเพิ่งมาปราศรัยเป็นตอนที่เป็น ส.ส. แล้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจมาเป็นนักการเมือง คือผมเป็นคนชอบความยุติธรรม fairness ทุกคนต้องเท่าเทียมกันสิในสังคมนี้ ผมถึงตัดสินใจลงมาเดินเส้นทางนี้ดีกว่า

กระทั่งได้เดินเข้าสภา มีโอกาสเข้าไปเป็น ส.ส. เจตนารมณ์ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายก็ยังเหมือนเดิม

        ใช่ ถ้าเปรียบเป็นธง ธงที่หนึ่ง คือแก้กฎหมายนี้ ส่วนธงสอง คือผมอยากแสดงให้เห็นว่า ทำการเมืองแบบไม่ใช้เงิน เป็นคนธรรมดาเข้ามาทำการเมือง มันก็ทำได้เหมือนกัน แล้วผมอยากรู้ว่าผมจะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนได้มั้ย หรือแม้แต่พรรคสามารถเปลี่ยนความคิดของประชาชนได้มั้ย และผมบอกตรงๆ เลยว่า ถ้าผมไม่ได้เป็น ส.ส.รอบหน้า ผมคงออกจากวงการการเมือง ไม่ลงสมัครเลือกตั้งแล้ว เพราะมันแปลว่า สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ มันไม่เวิร์คไง ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะผมรู้สึกว่าผมทำอย่างที่เขาต้องการได้ไม่ดี คือผมพยายามทำตามวิถีของ ส.ส. ที่มันควรต้องทำ นั่นคือ ส.ส.ต้องเข้าไปทำงานในสภา คอยผลักดันประเด็น ออกกฎหมาย ซึ่งถ้าเป็นเมืองนอก ผมเป็นฝ่ายค้านแล้วสามารถผลักดันกฎหมายได้ ผมนี่คือหล่อจัดๆ เท่สุดๆ แล้วนะ เผลอๆ ผมเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีไปแล้ว (หัวเราะ) 

มีคนเคยตั้งคำถามกับคุณไหม ว่าเข้ามาเป็น ส.ส. เพราะแค่อยากผลักดันเรื่องกฎหมายสุราเสรี

        มีสิ ฝ่ายตรงข้ามก็หาว่าผมทำแต่เรื่องเหล้า แต่ความจริงผมทำหลายอย่าง บางเรื่องสำคัญกว่าเรื่องปลดล็อกเหล้าซะอีก อย่างเช่นเรื่องการทำ EIA (Environmental Impact Assessment) หรือการประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม เวลามีการสร้างคอนโดมิเนียมในพื้นที่ชุมชน ต้องเชิญประชาชนในรัศมี 100-500 เมตร ที่มีชั้นความเสี่ยง มาร่วมพูดคุย หรือสถานที่อย่างวัด หรือโรงเรียน อยู่ใกล้กับโครงการแค่ไหน มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมั้ย กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เป็นยังไง ปลอดภัยแค่ไหน ซึ่งผมว่า ส.ส. กทม. หลายคนมีประเด็นเรื่องนี้ในพื้นที่ของตัวเอง แต่ไม่เห็นมีใครอยากไปทำเรื่องแก้กฎหมายสักคน ดีแต่พูด แต่ผมยื่นร่างแก้ไขกฎหมายไปแล้ว 

        ปัญหานี้กฎหมายเก่าค่อนข้างโบราณ มันสร้างมาเพื่อนายทุน ให้สามารถทำโครงการใหญ่ๆ ได้ง่าย ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันบังคับการทำประกันภัย หรือไม่มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาอะไรเลย หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมาจากการก่อสร้าง ซึ่งตัวกองทุนเหล่านี้ผมก็เสนอสิ่งที่ต้องมีคือ หนึ่ง บังคับให้โครงการทำประกันภัย สองคือ บังคับให้มีกองทุน สมมติว่าเกิดมีเหล็กจากการก่อสร้างหล่นลงไปในบ้านคน ต้องมีกองทุนเยียวยา เรื่องเหล่านี้มันคือความแฟร์ หรือความยุติธรรม คุณสร้างได้ แต่คุณต้องทำประกันสิ สมมติโครงการคุณหลักพันล้าน แบ่งมาสัก 20% ได้มั้ย มาเป็นวงเงินประกัน แล้วกันเงินไว้ในกองทุนสัก 5% ไว้จ่ายเป็นค่าเยียวยาในทันที นี่คือเรื่องที่ผมพยายามผลักดันอยู่ แต่คนไม่ค่อยรู้ ส่วนใหญ่จะเห็นผมทำแต่เรื่องเหล้า 

อีกหนึ่งความสงสัยที่คุณคงเลี่ยงไม่ได้ คุณมีส่วนได้ส่วนเสียกับการผลักดันการปลดล็อกกฎหมายสุราเสรีนี้ด้วยหรือไม่

        แน่นอนอยู่แล้วครับ ผมมาเพื่อตัวเองนั่นแหละ มาเป็นตัวแทนของตัวเอง เพราะไม่มีใครเป็นตัวแทนให้กับผม แล้วระบบการเลือกตั้งอนุญาตให้ผมมาเป็นตัวแทนของผมเอง ผมก็เลยใช้สิทธิ์ตรงนี้ เพื่อผลักดันในสิ่งที่มันเคยถูกกดเอาไว้ แต่ผมไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ผมตรงไปตรงมา ไม่ได้แอบไปมีหุ้น หรือเอาชื่อภรรยาไปแอบถือครองหุ้นในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ผมไม่มีอะไรแบบนั้น ผมมาเพื่อตัวเอง และเพื่อนๆ ในวงการผลิตสุรา และที่สำคัญ มันไม่มีใครในโลกนี้หรอกที่ไม่มีผลประโยชน์ ทุกคนทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งนั้น

มุมหนึ่งที่ไม่ถามไม่ได้ นั่นคือ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ การปลดล็อกสุราเสรี จะไม่ทำให้คนยิ่งดื่มเหล้าเยอะขึ้นเหรอ คุณมองมุมนี้อย่างไร

        จำนวนมันคงเพิ่มขึ้น ผมไม่เถียง แต่คงไม่เยอะ ถ้าให้ประเมิน ภายใน 5 ปีหลังจากปลดล็อก ปริมาณเหล้าเบียร์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นโดยผู้ประกอบการรายย่อย เอาแบบตัวเลขฝันๆ เลยนะ ปริมาณเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% แค่นั้นเอง คือมันน้อยมาก เพียงแต่มูลค่าต่อหน่วยมันอาจจะสูงขึ้น เพราะมันจะเกิดเหล้าที่มีความหลากหลาย คุณภาพสูง คือทำน้อยแต่ได้มาก

        ทุกนโยบายมันมีบวกมีลบทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งที่ตามมาเราต้องชั่งกันดู ในมุมของการจ้างงานผมเชื่อว่ามีมากขึ้นแน่นอน คือมันไม่ใช่แค่จำนวนเหล้าเบียร์ที่มีความหลากหลายขึ้น แต่มันคือวงจรธุรกิจที่ทำให้คนมีงานเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงาน ไหนจะเกษตกรที่มีรายได้เพิ่ม คนแปรรูปผลผลิต ยี่ปั๊ว คนขับรถขนส่ง บาร์เทนเดอร์ คนขับแท็กซี่ นี่คือการเกิดงานทางอ้อมทั้งสิ้น ดังนั้น ต้องถามกันดูว่า เรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์กับสังคมแค่ไหน

มีเรื่องอะไรที่คุณเป็นกังวลไหม หากว่ากฎหมายตัวนี้ผ่านเรียบร้อยแล้ว

        มีคนชอบถามผมว่า เป็นห่วงไหมว่าพอมีผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มขึ้น สุดท้ายเดี๋ยวผู้ประกอบรายใหญ่ก็จะมาซื้อกิจการไป ก็กลายเป็นการผูกขาดไปอีก ผมบอกเลยว่า ให้ซื้อไปเถอะ มันเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ โมเดลธุรกิจยุคนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อขายทั้งนั้นแหละ เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่สิ่งที่มันสำคัญกว่านั้นคือความเท่าเทียม การเข้าสู่ธุรกิจมันต้องเท่าเทียมกันเสียก่อน ไม่ใช่ออกสตาร์ทไปแล้วเราเพิ่งจะได้วิ่ง หรือบางทีไม่ให้เราลงแข่งก็มี สมมติอยากไปวิ่งในงานที่กรุงเทพฯ กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ แต่บ้านเราอยู่นนท์ เขาเลยไม่ให้วิ่ง แบบนี้เราต้องย้อนไปบอกแม่เราตอนเกิดไหมว่า แม่ ให้ไปคลอดที่กรุงเทพฯ นะ คือกำลังจะบอกว่าทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างโอกาสที่ดีได้ ถ้าให้โอกาสเรา แล้วสุดท้ายถ้าได้ออกวิ่งพร้อมกัน เกิดคุณฟิตซ้อมมาดี คุณวิ่งเก่ง ส่วนไอ้คนที่วิ่งอยู่ด้านหน้าเกิดกลัวแพ้ขึ้นมา มันเลยซื้อตัวคุณไปซะเลย ผมว่าเรื่องแบบนี้เข้าใจได้ เพราะผมเชื่อใน free market ใครทำ ใครเก่ง ใครก็ได้ แต่ขอแค่ออกสตาร์ทเท่าๆ กัน เท่านั้นเอง

        นี่เป็นแค่เรื่องธุรกิจผลิตสุรา แต่ผมว่าในอนาคต ทุกๆ เรื่องในสังคม มันต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป ทีละเรื่อง ทีละกลุ่ม คือใครก็พูดได้ว่าอยากเห็นความเท่าเทียมกันในสังคม แต่คนที่พูดอย่างนี้ ส่วนใหญ่คือ activist แต่ถ้าคุณเป็นนักการเมือง คุณต้องหาทางให้ได้ว่าต้องทำยังไง activist คือการเรียกร้อง คือการ protest หรือประท้วงอย่างเดียว แต่คุณไม่หาทางออก หรือหา solution แต่ถ้าคุณเป็นนักการเมือง หน้าที่คุณคือต้อง create solution ทำยังไงให้สิ่งที่อยากให้เป็น ให้มันเป็นไปได้ ต้องค่อยๆ หาทางไป จนในที่สุดมันจะเข้าใกล้ความจริง

คุณคิดว่ายังมีเรื่องอะไรในเมืองไทยที่ควรปลดล็อกอีกบ้าง เอาที่สำคัญๆ

        โห เยอะ (หัวเราะ) เอาแบบแบ่งเป็นภาพใหญ่ๆ ดีกว่า หนึ่งคือ ปลดล็อกการผูกขาดของทุนใหญ่ กับสอง ปลดล็อกการผูกขาดโดยอำนาจรัฐ เช่น เรื่องสุรา เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องปลดล็อกและต้องจริงจัง คือผมเชื่อว่าอำนาจรัฐต้องน้อยลง ในแง่ของทางเศรษฐกิจ แต่ไปเพิ่มอำนาจรัฐในเรื่องของการเป็นอยู่ หรือสวัสดิการ มันจะทำให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และผู้คนในสังคมมีความเท่าเทียม ทุกคนอยู่ในสังคมนี้ด้วยความยุติธรรม ผมอยากเห็นภาพอย่างนั้นในอนาคต

ในฐานะนักเรียนกฎหมาย คุณคิดว่ากฎหมายไทย ถ้าเทียบเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรแก้ไขสักกี่เปอร์เซ็นต์

        ผมว่าครึ่งๆ นะ ครึ่งๆ ที่ควรจะต้องแก้ หรือควรที่จะ revise ปรับปรุงใหม่ และอีกห้าสิบเปอร์เซนต์อาจยกเลิกไปเลยก็ได้ ปัญหากฎหมายไทยมีเยอะ เพราะว่าส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ ซึ่งข้าราชการก็คิดกฎหมายขึ้นมาเพื่อมีอำนาจ แต่กลายเป็นว่ากฎหมายบางอย่างมันทับซ้อนกันมากเกินไป บางเรื่องมีการควบคุมกันอยู่หลายหน่วยงานมาก คุณลองสังเกตสิ ที่คนมักจะชอบบ่นว่า ทำไมต้องไปหลายหน่วยงาน เพราะกฎหมายมันซับซ้อนกันไปหมดไง 

        ถ้าถามผม หลักๆ ควรแก้ไขสามอย่าง หนึ่งคือ แก้ปัญหากฎหมายที่ควบคุมทับซ้อนในเรื่องเดียวกันมากเกินไป อันนี้ผมว่าต้องยกเลิกกฎหมายหลายๆ ตัว อันที่มันเบาก็ยกเลิกไป แล้วเก็บอันหนักๆ หรือที่เป็นสาระสำคัญไว้ก็พอ ข้อที่สอง กฎหมายไหนที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับบริบทในปัจจุบัน เช่น บางกฎหมายมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อายุกว่าร้อยปี ควรยกเลิก หรือแก้ไข และข้อสุดท้าย กฎหมายที่มาจากยุค คสช. หรือการรัฐประหารทุกยุค อันนี้อาจต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาดูโดยเฉพาะ เพราะหลายๆ กฎหมายขัดต่อหลักการประชาธิปไตย แต่ไม่เคยถูกยกเลิก โอเค ถ้าอันไหนมันใช้ได้ ก็เอาไว้ แต่ต้องปรับปรุง ส่วนอันไหนที่ใช้ไม่ค่อยได้ ก็ต้องเปลี่ยน หรือยกเลิกไป แล้วกำหนดว่าต่อไปจะต้องเป็นยังไง ทั้งสามข้อนี้ถ้าปรับปรุงได้ ผมคิดว่ากฎหมายไทยจะมีความสดใหม่ และไปด้วยกันกับสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น

ปิดท้าย เห็นภาพ ‘สุราไทยในฝัน’ ไหม ว่าอยากให้มีหน้าตาเป็นอย่างไร

        อยากให้มีความหลากหลายมากขึ้น สมมติในอนาคต ผมไปเที่ยวต่างจังหวัด อย่างชลบุรี ระยอง มีผลไม้เยอะ เออ เราน่าจะมีไวน์ผลไม้จากจังหวัดละแวกนี้เยอะขึ้นไหม หรือมีเบียร์ต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่นที่กินได้ไม่มีเบื่อ เอาแบบฝันยิ่งขึ้นไปอีก เราอาจจะได้ไปท่องเที่ยวโรงเบียร์ของเพื่อน ใครสักคนที่กล้าทำโรงเบียร์ของตัวเองขึ้นมาในลักษณะเฉพาะของตัวเอง รวมทั้งอย่างที่บอกไป เวลาไปต่างประเทศ ถ้าได้เข้าไปร้านอาหารไทย อยากเห็นเหล้าขาวไทย กินจับคู่กับอาหารอีสานของไทย มันน่าจะเป็นภาพที่เราน่าจะภูมิใจในความเป็นไทยมากๆ (ยิ้ม)


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ