Traffy Fondue แพลตฟอร์มมาแรง ฝีมือการพัฒนาของ ดร. วสันต์ แห่ง สวทช.

หลังจากที่ชาว กทม. ได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่ตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความหวังว่าจะมีคนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน และพลันที่ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวถึง Traffy Fondue ว่าเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยรับเรื่องร้องเรียนและติดตามการแก้ปัญหาของประชาชน ชื่อของแพลตฟอร์มดังกล่าว ก็ไม่เคยหายไปจากกระแสข่าวสารอีกเลย ตรงกันข้าม หลายคนตื่นตัวและอยากใช้บริการบ้าง ยิ่งมีคนติดตามเรื่องแล้ว ‘รีวิว’ ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันอกทันใจ ก็ยิ่งกระพือความสนใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้ รวมไปถึงอยากรู้ว่า ใครคือทีมผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างความหวัง (ที่ไม่กล้าหวัง)​ ให้กับผู้คนจำนวนมากได้ 

        “วันแรกที่อาจารย์ชัชชาติไลฟ์ แล้วพูดถึงการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue คือวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตอนนั้นแกแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วก็ในทวิตเตอร์ วันนั้นมีการร้องเรียนเข้ามา 1,300 รายการ จนถึงเมื่อเช้า ณ วันที่เราคุยกัน เรามีเพิ่มมาเป็น 17,000 พูดง่ายๆ ว่าเพิ่มขึ้นมา 13 เท่า หลังจากผ่านไปเพียง 11 วันเท่านั้น จนถึงนาทีนี้ (เปิดโทรศัพท์ดู) เรื่องร้องเรียนเข้ามา 18,500 กว่าๆ กำลังจะ 19,000 รายการ เฉพาะในวันนี้วันเดียว เพิ่มอีกเกือบ 1,000 รายการ” 

        เรื่องนี้ มีชาวเน็ตบอกกันขำๆ ว่า ระบบของ Traffy Fondue ตอบไลน์เร็วกว่าแฟน 

        สถิติดังกล่าวว่าน่าทึ่งแล้ว เรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของแพลตฟอร์มสุดร้อนแรงอย่าง Traffy Fondue ยิ่งน่าเร้าใจเข้าไปใหญ่ เพราะนี่คือข้อมูลจากปากคำของ ดร. วสันต์​ ภัทรอธิคม หรือในตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

        ที่เป็นผู้นำทีมวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ที่เอาไว้ แจ้งและบริหารจัดการข้อร้องเรียนและปัญหาเมือง

        เมื่อเร็วๆ นี้ บนเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งที่ว่าด้วยการพัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เอ่ยว่า แพลตฟอร์มอย่าง Traffy Fondue ถือว่าเป็น ‘Platform Revolution’ ที่เปลี่ยนรูปแบบการแจ้งปัญหาจากเดิมที่เป็นแบบ Pipeline หรือระบบท่อ ที่ใครมีคอนเนกชันท่อไหนก็ไปท่อนั้น แจ้งแล้วปัญหาก็ค้างท่ออยู่แบบนั้น แต่ตอนนี้ไม่มีท่อให้ต่อ แต่มีพื้นที่เปิดกว้างอย่างแพลตฟอร์มให้ประชาชนโยนเรื่องเข้าไปได้เลย คนที่เห็น demand ของคนและมีหน้าที่จัดการ ก็ต้องหยิบเรื่องมาจัดการได้เลย 

        นี่คือรูปแบบการแจ้งปัญหาที่อย่างน้อยประชาชนก็รู้ว่า มีคนรับทราบและสามารถติดตามความคืบหน้าของปัญหาได้ด้วย 

        ชื่อ Traffy Fondue อาจจะออกเสียงยาก แต่ที่มาของชื่อ กลับง่ายแบบนึกไม่ถึง 

        “ชื่อไทยก็มีนะ ชื่อ ท่านพี่ ฟ้องดู” ดร. วสันต์กล่าวอย่างอารมณ์ดี ซึ่งในบทสัมภาษณ์นี้มีเฉลยที่มาของชื่ออย่างแน่นอน 

        ‘เห็นทางออกในทุกทางตัน’ คือคำอธิบายตัวเองของ ดร. วสันต์ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ยอมรับว่า ถ้าไม่รู้ทันตัวเอง ก็อาจโดนทางออกหลอกเอาได้ วิธีคิดเกี่ยวกับการมองและการแก้ปัญหา น่าจะเป็นอีกประเด็นที่เราคุยกันยาวพอสมควร ยิ่งโดยเฉพาะคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เขายิ่งมองเห็นสารพัดทางออก ติดอยู่ตรงที่ว่า 

        “จริงๆ เทคโนโลยีมันทำได้อยู่แล้ว อยากให้มันทำอะไรล่ะ มันทำได้หมด ปัญหามันอยู่ที่คนเชื่อหรือเปล่า เอากับมันจริงหรือเปล่า?” 

        เป็นคำถามที่เราเว้นไว้ให้คุณตอบเอาเอง หลังจบบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้

 

สำหรับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ หรือไม่รู้จัก Traffy Fondue อยากให้ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า มันคืออะไร

        ถ้าพูดภาษาชาวบ้านเลยก็คือตลาด ถามว่าทำไมถึงเป็นตลาด ตลาดคือคนซื้อกับคนขายมาเจอกัน คนขายของอยากจะขายอะไร คนซื้อของอยากจะซื้ออะไร มาเจอกันที่ตลาด หรือพูดอีกอย่างว่า มันคือแพลตฟอร์ม

        airbnb คือตลาด เขาเอาคนที่มีห้องเปล่าๆ บ้านว่างๆ มาเข้าตลาด คนที่อยากจะซื้อ ไปเช่าบ้าน ไปเที่ยวพักผ่อน มาดูที่ตลาด แกร็บไบค์ แกร็บแท็กซี่ Shopee ก็คือแพลตฟอร์ม ก็คือตลาด 

        ทีนี้ Traffy Fondue คือตลาดยังไง เราก็เอาคนที่เจอปัญหา กับคนที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา มาเจอกัน ในแพลตฟอร์มหนึ่ง แทนที่เขาจะต้องโทรศัพท์ คุยกันครึ่งชั่วโมง รอสายอีกครึ่งชั่วโมง หน้างานปัญหาเป็นยังไงกันแน่ อยู่ตรงไหนกันแน่ เสาไฟต้นที่เท่าไหร่กันแน่ คุยทางโทรศัพท์ลำบาก แต่ถ้าคุยทางไลน์ OA ธรรมดา หรือว่าเฟซบุ๊กที่เขาเปิดๆ กัน มันอาจจะดีกว่าที่เขารับทางโทรศัพท์นะ แต่ว่าไม่มีระบบจัดการเรียงลำดับให้เห็นว่าเรื่องร้องเรียนมาเมื่อไหร่ จะตอบกลับอย่างไร เรื่องนี้ถึงไหนแล้ว เสร็จไปแล้วกี่เรื่อง ยังเหลือค้างอีกกี่เรื่อง ต้องติดตามอีกกี่เรื่อง พวกนี้มันเป็น conversation แล้วมันไหลไปหมด

        เมื่อเราวางตัวเป็นตลาด เราก็มาดูว่าแล้วเราจะไปเปิดร้านที่ไหนดี คิดง่ายๆ เราก็ต้องไปในที่มีคนเดินเยอะๆ ซึ่งในเมืองไทยเวลานี้ ก็คือไลน์นี่แหละ ผมดูล่าสุดมีผู้ใช้ 51 ล้านคน คิดเป็น 77% ของประชากรไทย ถามว่าคนแก่จะเข้าได้มั้ย ผมเลยถามกลับว่า เราได้ไลน์สวัสดีตอนเช้าจากใคร ก็จากคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่าเรานี่แหละ เราลองกลับไปดูแอพฯ ที่คุณพ่อคุณแม่เราใช้ในมือถือดูสิ ยังไงก็ต้องมีไลน์ ที่เหลือก็ยูทูบ เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อกบ้าง 

        เพราะฉะนั้น ไลน์จึงเป็นหน้าร้านที่คนเข้าถึงกันมากที่สุด แทนที่เราจะทำแอพลิเคชันแล้วเปิดให้คนดาวน์โหลด แบบนี้มันยากมาก คือเราไปเปิดร้านที่ไหนก็ไม่รู้ กว่าจะเอาคนมาเจอร้านเรา มันยากมาก สมมติเจอเสร็จ เขาดาวน์โหลด เขาจะตั้งร้านเราไว้หน้าแรกหรือเปล่าอีก คือเขาจะใช้งานหรือเปล่าอีก นั่นคือคำถาม เพราะบรรดาแอพฯ ที่เราโหลดมา เราใช้จริงๆ กี่แอพฯ เราตั้งไว้หน้าแรกกี่แอพ ดังนั้น เราจึงสรุปว่า เราจะไม่ไปเปิดร้านเอง เราไปเปิดร้านอยู่บนไลน์ดีกว่า

        หลังจากนั้น พอมาดูที่ไลน์ เขาก็มีครบพร้อมสรรพ เหมือนห้างใหญ่ๆ ที่มีแอร์ ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน คือที่ไลน์ เราสามารถถามปัญหาก็ได้ ขอภาพก็ได้ ขอตำแหน่งก็ได้ แล้วที่ดีไปกว่านั้นอีก เนื่องจากเป็น conversation ที่เน้นส่งเป็นข้อความ เป็นรูปภาพ ดังนั้น ระบบหลังบ้าน เราก็ไม่ต้องมีคนรับสายด้วย เราใช้คอมพิวเตอร์คุยกับคนแทน 

        อย่างวันที่ 8 มิถุนายน 2565 มีเรื่องแจ้งเข้ามา ราวๆ 2,300 รายการ ถามว่าถ้าต้องใช้คอลเซ็นเตอร์ จะต้องใช้คนกี่คน แล้วใช้เวลากี่นาทีในการสื่อสาร แล้วที่เห็นวันนี้มากกว่านั้นอีกนะ (10 มิถุนายน) เมื่อเช้ามีเข้ามา 17,000 รายการ ตอนที่คุยกันนี้ มัน 18,000 จะ 19,000 แล้ว 

        ถ้าเราจะรับร้องเรียนวันละพันสองพันรายการ การใช้วิธีอื่นยากมาก ใช้คนนี่ลืมไปได้เลย แต่วิธีที่เราทำทำคือ เอาคอมพิวเตอร์มารับ มีปัญหาอะไรครับ คอมพิวเตอร์ถามไป พอเขาเขียนส่งมา ทางนี้ก็จะขอรูปหน่อยครับ ขอภาพหน่อยครับ ขอประเภทหน่อยครับ จบ แล้วก็ส่งใบตอบรับ

        มีคนรีวิวว่า ตอบเร็วกว่าแฟนเขาอีก ผมอ่านแล้วก็ขำ (หัวเราะ)​ ซึ่งมันก็แน่นอน เพราะมันคือคอมพิวเตอร์ อันนี้คือขั้นตอนการรับเรื่องจากประชาชน พอเสร็จจากจุดนี้ ก็จะกระจายเรื่องเข้าไปในเขตทั้ง 50 เขตของ กทม. ตามพื้นที่ที่เขตรับผิดชอบ สมมติเรื่องเกิดในเขตพญาไท ส่งเรื่องไปเขตพญาไท แล้วในแต่ละเขตจะมีเจ้าหน้าที่ของเขต ซึ่งทำหน้างานหนักมาก เขาต้องคอยแยกว่าเรื่องนี้เป็นงานของฝ่ายไหน แต่ละฝ่ายก็จะมีหน้าที่คอยดูแล เอาเรื่องไปแก้ไข ขั้นตอนนี้จะต้องใช้คนมาจัดการ เพราะต้องใช้วิจารณญาณแล้วว่าต้องใช้ใคร ฝ่ายไหนไปทำต่อ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะเข้าไปแก้ไข เช่น ทางเท้า ถนน ขยะ สายไฟรกรุงรัง หญ้าขึ้นสายไฟ เป็นต้น

        พอเขาเริ่มทำงาน เริ่มรับเรื่อง พอเขากดรับเรื่อง ปึ๊ง! สมมตินะ ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่โยธาแล้วค่ะ บอตก็จะรู้แล้วว่าสถานะเปลี่ยน ระบบจะทำยังไง ระบบก็จะส่งให้คนแจ้ง บอกว่าเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้ว เดี๋ยวจะไปดำเนินการ เหมือนเราสั่งแกร็บฟู้ดน่ะ มอเตอร์ไซค์รับเรื่องแล้วนะ มอเตอร์ไซค์ถึงร้านแล้ว อาหารเริ่มทำแล้ว อาหารทำเสร็จแล้ว มอเตอร์ไซค์ออกมาแล้ว เราจะรู้กระบวนการทั้งหมดโดยตลอด อันนี้ก็เหมือนกัน พอแจ้งไปปุ๊บ รับเรื่อง เริ่มดำเนินการ ได้รับการแจ้งเตือน พอดำเนินการไปอีก ก็จะได้รับการแจ้งเตือน สมมติมีการเปลี่ยน พอรถกระเช้าไปดำเนินการเปลี่ยนไฟให้ เขาก็ถ่ายรูปมาให้ดู อัพเดตความก้าวหน้า ซึ่งคนแจ้งก็จะรู้เรื่องด้วยเลย คือสามารถเห็นทั้งความก้าวหน้าของงาน และเห็นด้วยหลักฐานทั้งหมด ต่อให้กระบวนการทำงานอาจจะยาวหลายวัน แต่เขาจะได้รับการอัพเดตอยู่เสมอ เช่น ถ้าเป็นเรื่องยาว อาจจะได้รับแจ้งเป็นระยะๆ เช่น รับเรื่องแล้ว ผู้อำนวยการทำเรื่องของบไปแล้ว สภาอนุมัติแล้ว งบมาถึงแล้ว ทำ TOR เสร็จแล้ว จัดซื้อจัดจ้างแล้ว เราจะทราบเรื่องทั้งหมด 

ในมุมบุคลากรที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการต่างๆ ขณะนี้คือมีการรับรู้ มีการอบรมกับกระบวนการต่างๆ ที่ว่ามานี้แล้วแค่ไหน

        ทุกคนรับรู้ และเตรียมการเรียบร้อย แต่ที่อเมซิ่งกว่านั้น คือเมื่อเช้าเป็นการประชุมครั้งแรก (10 มิถุนายน) ของผมกับเขตต่างๆ ทีนี้ภาพการประชุมครั้งแรกสำหรับเรา โดยปกติคือเราต้องอธิบาย แนะนำตัว พูดคุยให้เข้าใจภาพตรงกัน อะไรอย่างนี้ใช่มั้ย แต่ปรากฏว่าเมื่อเช้านี้ หลังจากที่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่อาจารย์ชัชชาติแชร์เรื่องนี้ไป ปรากฎว่าทุกเขตอยู่ในระบบเรียบร้อยแล้วก่อนการประชุมครั้งแรกเสียอีก มีผลสำเร็จพันกว่าเรื่องแล้วด้วย แถมมีผลสำเร็จที่ถูกใจประชาชน เข้ามาชื่นชมกันเป็นจำนวนมาก โดยที่เรายังไม่ได้เจอหน้า พบปะกันอย่างเป็นทางการกันเลย นี่คือความอเมซิ่งนะว่าแต่ละเขตเขาแอ็กทีฟมาก ต้องให้เครดิตเขามากๆ เลย เพราะเขาฟังจากทีวี ดูโซเชียลมีเดีย แล้วเขาเข้ามาหาข้อมูล ดูยูทูบที่ผมทำไว้ ดูสไลด์ที่ผมทำไว้  เขาก็ไปศึกษากันเอง อบรมกันเอง และใช้งานกันเอง ซึ่ง อ. ชัชชาติพูดจากวันแรกมาถึงวันนี้ราวๆ 11 วัน ทั้ง 50 เขตเข้ามาอยู่ในระบบหมดแล้ว มีผลงานรับเรื่องร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะมีการประชุมครั้งแรกกับเราเสียอีก เขตที่เก่งที่สุด รับเรื่องร้องเรียนไปแล้ว 97% รับในที่นี้คือ รู้แล้วว่าเขามีงานอะไร และมีการมอบหมายงานกันไปแล้วด้วย 

Traffy Fondue เริ่มใช้งานจริงๆ มาตั้งแต่ปี 2018 แสดงว่า 4 ปีที่ผ่านมา เพิ่งมาปีนี้ที่แอ็กทีฟ?​

        เฉพาะใน กทม. นะครับ เพราะส่วนใหญ่จะมีคนนำไปใช้ตามเทศบาล หรือว่า อบต. ในต่างจังหวัด เพราะเขาเข้าใจว่ามันเป็นผลดีกับเขายังไง แรกๆ ก็มี เทศบาลเมืองอุบลฯ เทศบาลตำบลอาจสามารถ แต่เราก็สู้ไม่ถอยไง ตอนแรกเราคิดว่า ถ้าคน กทม.ใช้ ต่างจังหวัดต้องชอบใช้แน่ แต่ปรากฎว่า คีย์แอคเคานต์มันไม่ได้กันง่ายๆ เหมือนเราเข้าหาบริษัทใหญ่สุด เขาไม่ได้เลือกเราง่ายๆ เพราะตัวเลือกเขาเยอะไปหมด เราเลยใช้วิธีป่าล้อมเมือง เริ่มจากต่างจังหวัด เริ่มจากคนที่เข้าใจก่อนว่าระบบนี้มันดีกับเขา 

แปลกที่สำหรับ กทม. 4 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผล

        ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ กทม. เอามาใช้ดีกว่า 

ทีนี้อาจารย์พอจะบอกได้ไหมว่า มันมีเหตุผลอะไรเป็นหลัก

        ส่วนหนึ่งเป็นที่ผม หมายความว่า ผมน่าจะไม่สามารถสื่อสาระประโยชน์ของมันได้อย่างมีพลังเท่ากับอาจารย์ชัชชาติ อันนี้ผมว่าเป็น fact เลย เพราะว่าผมพูดมาหลายปีแล้ว แล้วก็มีคนเข้ามาใช้บริการบ้าง แต่มันก็ไม่มีพลังเท่ากับอาจารย์ชัชชาติ เพราะอาจารย์พูดสั้น แต่คนเข้าใจ อย่างเช่นบอกว่าเราจะเอา Traffy Fondue มาใช้ สำรวจปัญหาเส้นเลือดฝอย ซึ่งคือปัญหาของคน แล้วก็เอามาใช้ไปประเมินการทำงานของผู้อำนวยการเขต นี่แค่สองบรรทัดแค่นี้ คนรู้เลยว่า ปัญหาที่ฉันเจอทุกวัน ต่อไปถ้าผู้อำนวยการเขตไม่ทำ ก็มีผลแล้ว นี่คือการโน้มน้าวคนที่จะมาแจ้ง รวมทั้งคนที่จะต้องทำด้วย คือประโยคเดียว เหมือนระเบิดตูมเดียวเลย ผมว่านี่มันคือความพิเศษของภาษาที่อาจารย์ชัชชาติใช้ 

ย้อนกลับมาที่การพัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ตอนปี 2018 โจทย์ของการทำแพลตฟอร์มตัวนี้คืออะไร 

        เราต้องการให้เครื่องมือกับคน หรือประชาชน เจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร ในการแก้ปัญหาเมือง แต่เราพูดแบบนี้มันดูวิชาการ แต่ความหมายคือ แพลตฟอร์มนี้มันมีไว้สำหรับการแก้ปัญหาเมือง โดยการจับคู่ระหว่างคนเจอปัญหากับคนแก้ปัญหา แต่ฟังแล้วมันดูไกลตัว แต่เราก็พูดแบบนี้มาเรื่อยๆ คนที่จะเข้าใจคือคนที่เข้าใจไอที ซึ่งมันจะได้แค่คนส่วนหนึ่ง แล้วพอมาเจอกับอาจารย์ชัชชาติ เราเข้าใจว่าแกอ่านเยอะ แล้วเจอคนมาเยอะ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองของโลกนะ

จนปัจจุบันมีปัญหาที่แจ้งเข้ามาอยู่ 16 ปัญหาหลัก

        ใช่ แต่จริงๆ มันไปมากกว่านั้นอีก วันก่อนมีคนเขียน ผมชอบมากเลย เขาบอกว่า เอาไปแจ้งกรณีทุจริตก็ได้ เช่น ต่อไปในอนาคตอันใกล้ สมมติว่าเราไปเจอสถานที่นึง เขียนว่าสนามกีฬา แล้วไม่มีใครเล่น กลายเป็นที่จอดรถ หญ้ารก แล้วเขียนป้ายข้างล่างว่าใช้เงิน 18 ล้าน เราสามารถย้อนไปดูงบประมาณจริงได้ หรือพวกป้ายก่อสร้าง ป้ายสีฟ้าๆ เขียวๆ ที่บอกว่าใครสร้าง ใครรับเหมา แล้วถ้าเราสแกน Traffy Foudue ปั๊บ อ๋อ รู้แล้ว เงิน 18 ล้าน งบของที่นี่ๆ นะ จัดซื้อไปเท่านี้นะ ใครมาประมูล คนชนะคือใคร ทีโออาร์หน้าตาเป็นยังไง การจัดซื้อจัดจ้างเป็นยังไง ถ้ามันเปิดเผยขนาดนี้ได้ เรื่องการตรวจดูความโปร่งใส มันจะง่ายขึ้นอีกมาก 

        แม้ว่า ณ วันนี้ยังทำไม่ได้ แต่ว่ามันทำได้ง่ายมาก ถ้าจะทำ คือที่ผมพูดยกตัวอย่างเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นว่าเราสามารถขยายผลไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้ด้วย 

อาจารย์คิดว่าคอนเซปต์นี้จะเริ่มเมื่อไหร่

        ผมพูดมานานแล้ว ก็รอให้มีคนเหมือนอาจารย์ชัชชาติเกิดขึ้นเยอะๆ แล้วมาทำความเข้าใจระบบ แล้วก็เอาโครงการเหล่านี้ไปทำอย่างจริงจัง คือเรื่องความโปร่งใส มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลน่ะ มันอยู่ที่ใครเห็นความสำคัญแค่ไหน คือถ้าเขาเห็นอย่างอาจารย์ชัชชาติเห็น แบบนี้มันจะไปได้เลย เพราะข้อมูลทั้งหมดมีพร้อมอยู่แล้ว

เอาล่ะ วันนี้มองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ อาจารย์คิดว่าทำไมมันถึงเวิร์กได้ขนาดนี้

        มันอยู่ที่วิสัยทัศน์ของคนด้วยว่าได้เห็นสิ่งนี้แล้วมีรู้สึกว่ามันมีคุณประโยชน์แค่ไหน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของมุมมองส่วนบุคคล เหมือนกับเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ บางคนก็ไม่ชอบ แต่มันแพร่หลายมาก ใครจะแชร์อะไรก็ได้ หรือการไลฟ์ก็เหมือนกัน ไลฟ์คือการปฏิวัติเลยนะผมว่า ใครก็เป็นนักข่าวได้ ใครก็เป็นดาราได้ ใครจะไลฟ์เหตุการณ์ใดๆ ก็ได้ แต่ว่าบางฝ่ายก็อาจจะมองว่า เรื่องเหล่านี้เป็นข้อเสีย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คอนโทรลไม่ได้ ดังนั้น จะเห็นว่าเครื่องมือเดียวกัน value เท่ากัน feature ก็เท่ากัน แต่ว่าผลที่ได้ของแต่ละคนได้ไม่เท่ากัน อยู่ที่ว่า goal ของเขา หรือว่า job to be done สิ่งที่เขาต้องทำให้สำเร็จคืออะไร ถ้างานของเขาคือการควบคุมทุกอย่างเอาไว้  บางเรื่องมันก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้างานของเขาคือการสนับสนุนให้มีความโปร่งใส สร้าง active citizen สร้างการมีส่วนร่วมของคน เรื่องมันก็จะเป็นแบบที่เราเห็นกันวันนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เขารอคอย ประชาชนก็รอคอยเครื่องมือนี้ ผมก็รอคอยคนอย่างอาจารย์ชัชชาติ คนที่จะเห็นอย่างนี้ 

ทุกวันนี้ก็ยังพัฒนาแพลตฟอร์มอยู่เรื่อยๆ?​

        ใช่ คือเมื่อก่อนออกฟีเจอร์ทุกเดือน ตอนนี้ออกฟีเจอร์ทุกวัน (หัวเราะ)​ ต่อไปจะมี ticket ID เหมือนรับบัตรคิว คุณสามารถรับ ID ไปเลย เพื่อจะได้ตามสืบค้นว่าเรื่องที่ร้องเรียนไป มันเป็นยังไง ถึงไหนแล้ว หรือที่สำคัญมาก อย่างเราไปพบว่าสายไฟรกรุงรังที่เห็น จริงๆ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กทม. แต่เป็นการไฟฟ้ากับบริษัทสื่อสารต่างๆ 

        เลยต้องอธิบายว่า กทม. เขาจะแบ่งเรื่องออกเป็น 3 ประเภท คือ  หนึ่ง เรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา สอง ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเขาโดยตรง แต่อยู่ในหน่วยงาน กทม. และสาม เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่น นอก กทม. และแถมอันที่สี่ มันเป็นปัญหาของฉันแหละ แต่ฉันทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกับอีกเจ้าหนึ่ง เช่น มีร้านอาหารเปิดเสียงเพลงดัง อยู่ในเขตเขตหนึ่ง แล้วคนที่เดือดร้อนอยู่คอนโดซึ่งอยู่อีกเขตหนึ่ง เหตุการณ์คือ คนที่ร้องเรียนก็ร้องไป เขตก็รับไป แต่บอกว่าเขาไม่มีอำนาจนอกเขต แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันแก้ไขหลายๆ ฝ่าย เพราะฉะนั้น มันจะมีกรอบความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เราต้องเข้าใจคนทำงานด้วยว่า เขาทำในส่วนที่เขาทำได้เท่านั้น ที่เหลือมันต้องมีส่วนอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบด้วย ดังนั้น ทุกวันนี้ เราก็ถือว่าพัฒนากันต่อไป รับฟังปัญหาของคนที่เกี่ยวข้อง แล้วก็แก้ไขไป เพราะเทคโนโลยีมันเป็นแบบนั้นทุกอย่างแหละ คอนเซปต์ที่บอกว่า ดีแล้ว พร้อมสุด มันไม่มีหรอก ไม่ใช่สร้างตึก ที่สร้างเสร็จแล้วก็เสร็จเลย มันไม่เป็นอย่างนั้น ซอฟต์แวร์มันต้องค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราใช้โทรศัพท์มือถือนั่นแหละ ไม่รู้ว่ามันไปจบที่เมื่อไหร่ และแบบไหนคนจะชอบที่สุด ไม่มีทางรู้ ต้องลองทำและทดสอบไป 

หลังจากทำ Traffy Fondue ออกมาแล้ว มันมีบทเรียนอะไรที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการทำสิ่งเหล่านี้บ้าง โดยเฉพาะสารพัดปัญหาที่คนส่งมา อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรกับการมองเห็นปัญหา ในมุมของคนที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหา 

        ผมว่า ปัญหาใหญ่คือมายด์เซตที่เป็นสิ่งที่แก้ยากที่สุด รวมถึงการเข้าใจผิดไปว่าตัวเองเข้าใจแล้ว เพราะมันยากจริงๆ นะที่จะรู้ตัวว่าตัวเองไม่เข้าใจอะไร เช่น ยกตัวอย่าง ทุกคนมองว่าการทำแอพฯ มันใช่แล้ว เป็นสิ่งที่แมสที่สุดแล้ว และคนส่วนใหญ่ก็เชื่อตามๆ กัน แต่เมื่อผลมันออกมาไม่ใช่ แต่กลายเป็นคนใช้ไลน์เยอะที่สุด เราต้องหัดเอ๊ะให้ทันว่า ‘หรือมันจะไม่ใช่?’ แล้วก็ทดลองว่าถ้าเป็นทางอื่นมันจะใช่กว่ามั้ย ผมว่าถ้าเราเอ๊ะเร็ว และหมุนตามเพื่อแก้ปัญหาเรื่อยๆ เปลี่ยนเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนวิธี เพื่อไปในทิศที่มันจะใช่จริงๆ ถ้าเราหมุนทิศทางให้ทันความเปลี่ยนแปลง มันก็ต้องใช่สักที่หนึ่งแหละ พูดง่ายๆ เลยคือการไม่ยอมแพ้ เพราะแต่ละครั้งที่เราหันทิศทาง เราก็ต้องลงมือทำทั้งนั้น แต่ก่อนที่เราจะทดลองทำได้ เราต้องเอ๊ะให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะหลงไปไกล เหมือนถ้าเราไปมั่นใจว่าสิ่งต่างๆ มันต้องเป็นแบบนี้ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า หรือเราเชื่อว่าเรารู้แน่ๆ แบบนี้อันตราย ผมว่าเราต้องเริ่มจากการคิดว่าตัวเองไม่รู้ทุกอย่าง และมองเห็นว่าข้อมูลใหม่ๆ มันว่าแบบนี้ เราก็ควรจะทดลองสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ 

ดูท่าทางอาจารย์เป็นคนอารมณ์ดี อยากรู้ว่าทำงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาแบบนี้ เครียดมั้ย มองปัญหาทุกวันเป็นแบบไหน เป็นเกม?​

        ผมพยายามมองปัญหาด้วยความเข้าใจ เพราะเวลาคนอื่นเขาบอกว่าตัวเองมีปัญหา แปลว่าทุกคนเขามีเหตุผลของเขา แต่เหตุผลของเขากับเหตุผลของเรามันอาจจะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่เท่ากัน หาข้อสรุปได้ไม่เท่ากัน ประสบการณ์ก็ไม่เท่ากันอีก ดังนั้น เมื่อข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มีไม่เท่ากัน ก็เห็นสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกันได้ ตีความไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราพยายามที่จะเข้าใจเขา มันมักจะมีจุดที่เข้าใจกันได้ แต่มันก็ทำยากนะ เพราะปกติเรามักจะหลงกับความคิดของเราว่าถูกแน่ ใช่แน่ มันต้องเป็นแบบนี้แน่ๆ เราต้องไม่มี ego มากนัก แต่ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ความคิดมันหลอกเราอยู่ พยายามทบทวนบ่อยๆ ว่าความคิดมันหลอกเราหรือเปล่า วิธีง่ายๆ คือลองเปิดใจฟังคนอื่นหน่อยซิว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น หรือเขาเดือดร้อนตรงไหน ก็เป็นที่มาของการที่มีคนวิจารณ์ว่า กทม. มีตั้งหลายเขต แต่ว่าการเปลี่ยนระบบการแจ้งปัญหา ยังไปไม่ถึง 20% เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้นก็ตีกันตายพอดี เราควรจะมองว่าทำได้แค่นี้ก็ดีมากแล้ว เพราะยังไม่เคยมีการสั่งการอย่างเป็นทางการมาก่อนเลยนะ ถ้าเรามองเห็นความตั้งใจแบบนั้น โอ้โฮ ทีนี้วันนี้คุณจะทำได้แค่ไหน มันไม่มีปัญหาหรอก เพราะมันคือ plus ทั้งนั้น แต่ถ้าเริ่มต้นทำงานด้วยกัน แล้วไปคิดว่าทุกคนต้องคิดเหมือนเรา ต้องพร้อมมีนู่นนี่นั่น เป๊ะปังไปหมด มันไม่ได้หรอก เพราะต่างคนก็ยังไม่เคยคุยกันมาก่อน เราจะไปรู้ได้ยังไงว่าเขามีปัญหาอะไรในการจัดการในแต่ละแบบ เราจะไปบอกเขาได้ยังไงว่าวิธีการทำงานต้องเป็นแบบนี้ อย่างนี้เราก็อาจโดนความคิดตัวเองหลอกนะ เพราะเราเชื่อความคิดตัวเองไปแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ๆ 

เวลาที่ต้องพัฒนาอะไรสักอย่าง เชื่อว่ามันต้องมีช่วงเฟล มีช่วงที่ทำแล้วไม่ใช่ ทำไม่ถูก อาจารย์เคยเฟล ไม่อยากทำต่อมั้ย

        ระหว่างทาง มันมีคนที่ทำให้เราเสียกำลังใจอยู่แล้ว คนที่มักจะพูดให้ได้ยินว่า โอ๊ย ไม่ได้ผลหรอก ใครจะใช้ ยากจะตาย มีถึงขนาดว่า ถ้าทำแพลตฟอร์มแบบนี้ ใครๆ ก็แจ้งได้หมดสิ อาจจะมีการกลั่นแกล้งกันได้นะ ถ้ารับเรื่องเยอะแบบนี้ จะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานอย่างอื่น นี่คือเรื่องจริงที่ผมได้ยิน และเชื่อว่าทุกวันนี้ก็มีคนคิดว่าถ้าต้องรับเรื่องเป็นพันเป็นหมื่นเรื่อง คงไม่ต้องทำอย่างอื่นกันพอดี คือเข้าใจได้นะว่า ถึงงานรับเรื่องจะเป็นงานของเขาโดยตรง แต่เขาก็อาจจะมีอีกสิบกว่างานอยู่ในมือ เพียงแต่ตอนนี้ทางผู้บริหารส่งสัญญาณมาแล้วว่า ถ้าเขาไม่ทำ เขาก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เลยต้องจัดการระบบกันใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าก่อนหน้านั้นจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้มันถึงเวลาที่เขาต้องทำงานตรงหน้าแล้ว การบอกว่ามีภาระเยอะ หรือทำเต็มที่แล้ว เขาก็มีเหตุผลของเขา 

        วันนี้เชื่อว่าต้องมีคนบอกอาจารย์ชัชชาติด้วยซ้ำไปว่าเรื่องนี้มันแก้ไม่ได้ แล้วจะให้ทำยังไง งานมันอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของเขา ถ้าเขาต้องมานั่งทำส่วนนี้ งานก็ไม่เสร็จ เจ้านายก็ด่า แต่คุณรู้มั้ยอาจารย์ชัชชาติตอบประเด็นแบบนี้ยังไง แกตอบว่า คุณไม่ต้องซีเรียสหรอก ยังไงคุณก็ต้องถูกด่าอยู่แล้ว หมายความว่า ยังไงประชาชนเขาก็ต้องด่าคุณอยู่แล้ว เพราะประชาชนเขารอให้แก้ปัญหาอยู่ ซึ่งมุมนี้ ผมแทบไม่เคยคิดเลยนะ แต่สิ่งที่คุณชัชชาติพูด มัน calm down ทุกคนไปเลย เพราะมันคือความจริง นี่คือจุดตั้งต้นจริงๆ แต่ถ้าเราไปตั้งต้นว่า ฉันต้องทำงานโดยไม่ถูกด่าสิ แบบนั้นมันลอยอยู่ในความฝัน แต่ถ้าบิดมุม มาตั้งต้นแบบติดลบไปเลยล่ะ ผมว่าแบบนี้มันช่วยรีเซตความคิดของคนนะ เป็นการรีเซตจุดตั้งต้นว่า เราไม่ได้ยืนอยู่ตรงจุดที่ 100% เราถึงกลัวนักกลัวหนาว่าจะลงมาที่ 97% แต่ตอนนี้ มันไม่ใช่แบบนั้นนะ ความจริงคือ เรากำลังติดลบอยู่ 50 ต่างหาก ตอนนี้คุณต้องไม่กลัวลบอีก 1 แต่คุณทำไปเถอะ ค่อยๆ ทำไป เดี๋ยวมันจะค่อยๆ บวก 1 เอง จากที่เคยถูกด่ามากๆ มันก็จะน้อยลง ผมว่าสิ่งที่คุณชัชชาติต้องการบอกคือแบบนี้ แต่ภาษาแกตรงไปตรงมาไง แกเลยบอกว่า หนึ่ง ไม่ต้องกลัวหรอก สอง ยังไงคุณก็ต้องถูกด่าอยู่แล้วล่ะ ซึ่งคำพูดสองคำนี้ มันมีความหมายสองอย่าง ผมตีความแบบนั้นนะ คือ ถ้าคุณถูกด่า คุณชัชชาติก็ต้องถูกด่าด้วย สอง การที่แกบอกว่าไม่ต้องกลัว แปลว่า แกไม่ได้ต้องการจะเอาแบบนี้ทันทีทันใด แต่เราค่อยๆ ทำไปด้วยกัน มันแค่สองคำสั้นๆ แต่มันทำให้คนมีกำลังใจนะ 

คุณเป็นคนมองโลกในแง่ดีมั้ย

        ใช่ๆ ถ้าเรียนนพลักษณ์ ผมจะอยู่ในลักษณ์ 7 หรือมุมของคนที่ ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไร ผมจะมองหาแง่ดีของมันได้ ลักษณ์ 7 คือคนที่เห็นทางออกในทุกประตู หรือเห็นทางออกในทุกทางตัน แต่ขณะเดียวกัน ทางออกมันก็จะหลอกตัวเองด้วยนะ เช่น สมมติเราไปกินอาหารไม่อร่อย เราก็จะคิดว่า เออ ก็ดีแล้วที่รู้ว่ามันไม่อร่อย แต่เอาจริงๆ คือมันไม่ได้ไง ไม่อร่อยก็คือไม่อร่อย ต้องไปหาทางทำให้มันอร่อย ไม่ใช่ไปบอกว่ามันดี (หัวเราะ) นี่ผมหมายความว่า มันเป็นข้อดีของการมองเห็นทางออก แต่ถ้าเราไม่รู้ตัวเอง เราจะถูกทางออกหลอกได้ คือเจอปัญหาต้องหาทางแก้ปัญหา ไม่ใช่มานั่งหลอกตัวเองว่าอย่างน้อยมันก็ดี เพียงแต่เบื้องต้น มันมีข้อดีที่มันสามารถมองเห็นมุมที่จะไปต่อได้ ไม่ตันไปเสียทีเดียว 

ขอถามหน่อยว่าชื่อ Traffy Fondue มาจากไหน 

        มาจากฟองดูว์นั่นแหละ (หัวเราะ) คือเริ่มต้นในทีมก็คิดชื่อกันว่า เออ เราอยากจะให้มันเป็นการฟ้องว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเราจะฟ้องตู่ มันก็จะดูน่ากลัวไปหน่อย งั้นเอา ‘ฟองดูว์’ ละกัน หรือถ้าออกเสียงแบบไทยๆ ก็ ‘ฟ้องดู’ อีกอย่าง ถ้าเราไปใช้ภาษาไทยเลย คำว่าฟ้องมันฟังดูไม่ดี แล้วถ้าเราจะให้คนที่ต้องถูกฟ้องมาใช้งานแพลตฟอร์มนี้ เขาอาจจะไม่อยากใช้ ตอนแรกก็เลยชื่อ ‘ฟองดูว์’ นี่แหละ ทุกคนก็บ่นไปหมดเลยว่ามันยาก แต่หลังๆ มีคนอื่นเขาเอาไปเรียกว่า ‘ท่านพี่ ฟ้องดู’ ผมเลยปิ๊งเลยว่า เออ ดี เอาเป็นชื่อไทยเลย เดี๋ยวจะหาว่าเรามีแต่ชื่อฝรั่ง เราเลยต้องวงเล็บ (ท่านพี่ ฟ้องดู) เอาไว้ เพื่อให้มีสองภาษา 

        ส่วนคำว่า Traffy มันเกิดจาการที่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมพัฒนาระบบเกี่ยวกับการจราจร Traffy ก็มาจากคำว่า Traffic แต่ทำให้มันดูน่ารักขึ้นมาหน่อย ตอนนั้นทำข้อมูลจราจรในแผนที่มือถือต่างๆ ถ้าจำได้ ก่อนหน้านี้กูเกิลแมปยังไม่มีเส้นสี ที่บอกว่ารถติดตรงไหน เราคือทีมที่ทำให้มีเส้นแดง เหลือง เขียว ก่อนที่กูเกิลจะทำ

        พูดง่ายๆ ว่าผมใช้ Traffy เป็นชื่อแบรนด์ ตอนนี้ก็จะมี Traffy Waste ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องการจัดการขยะ Traffy Fondue เอาไว้แจ้งและจัดการปัญหาเมือง แล้วก็มีโปรดักต์อีกหลายๆ ตัวตามมาภายใต้ชื่อแบรนด์ของเรา 

จริงๆ ระบบของ Traffy Fondue ได้รับรางวัลเยอะมาก มีฟีดแบ็กอะไรที่อาจารย์รู้สึกประทับใจบ้าง 

        เอาจริงๆ นะ ตอนยังไม่ได้รางวัล ผมก็คิดเอาเองว่าผมน่าจะรู้สึกภูมิใจ ตื่นเต้น หรือแบบรู้สึกยิ่งใหญ่ แต่พอเขาประกาศรางวัลมาจริงๆ ไม่ว่าจะรางวัลไหน ถามว่าดีใจมั้ย ก็ดีใจ แต่มันก็แค่นั้นแหละ… เหมือนตอนได้รับปริญญาเอก ก่อนจะจบก็คิดว่า วันที่จบมันต้องยิ่งใหญ่แน่ๆ แต่พอจบจริงๆ มันก็แค่นั้นแหละ กลับมาทำงานต่อ life goes on ไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรกับชีวิตเท่าโพสต์อาจารย์ชัชชาติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่าโพสต์แค่ 10 กว่าบรรทัดในโซเชียลมีเดีย ที่บอกแค่ว่าจะเอา Traffy Fondue กลับมาใช้ใหม่ แล้วเชิญชวนทุกคนมาร่วมใช้ด้วยกัน ประเด็นแค่นี้แหละ ไลก์กันเป็นแสนเลย 

อาจารย์มองอนาคตของ Traffy Fondue ว่ามันจะไปยังไงต่อ 

        ในเชิงพื้นที่ ก็อยากให้ใช้ทั่วประเทศ แล้วเราจะได้เห็นประเทศที่เปลี่ยนไป ทั้งในแง่ประชาชน และในแง่ข้อมูลที่เอามาใช้ในการตัดสินใจ เช่น ถ้าเรารู้ว่า ฝาท่อที่แตกตรงนี้ ถูกแจ้งปัญหามาตั้งแต่วันไหน ซ่อมวันไหน แล้วถ้ามันถูกแจ้งปัญหามาอีกที 6 เดือนต่อมา เราจะรู้เลยว่า ฝาท่ออันนี้มันมีช่วงชีวิตแค่ 6 เดือน เราก็ตัดสินใจได้เลยว่า เราต้องหาฝาท่อใหม่ที่มันใช้งานได้ 3 ปี ข้อมูลตรงนี้เราต้องพยายามเก็บไปเรื่อยๆ เพื่อใช้แก้ปัญหาให้มันยั่งยืน แก้ไปที่ราก ต่อไปถ้าอะไรเสียหาย เราจะรู้ว่าใครเป็นคนทำโครงการ เขาก็ต้องตื่นตัวที่จะทำให้มันไม่มีปัญหา ไม่อย่างนั้นจะยุ่ง ดังนั้นในที่สุดก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายปัญหามันก็จะหายไป เราจึงต้องไปแก้ว่าทำไมมันถึงมีปัญหานี้ตั้งแต่ต้น เรื่องพวกนี้มันอยู่ที่การเก็บข้อมูล 

        ทุกวันนี้ใน Traffy Fondue ก็ทำข้อมูลแบบโอเพนซอร์ซให้คนเอาไปพัฒนาต่อ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อไป  ต่อไปอาจจะมีคนทำ dashboard ปัญหาของเมืองให้เห็นกันเลยก็ได้ ทุกวันนี้มีโจทย์มาให้เราแก้ปัญหาเยอะมากนะ มีโจทย์จนไม่มีฐานข้อมูลจะเก็บ อย่าว่าแต่ลุกมาแก้ปัญหาเลย ฐานข้อมูลจะเก็บยังแทบไม่พอ ไหนจะต้องจัดลำดับด้วยว่าปัญหาไหนต้องทำก่อน โจทย์ในที่นี้คือ ทั้งของประชาชน ของเจ้าหน้าที่ ของผู้บริหารต่างๆ ด้วย เช่น ประชาชนคุยกับเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่อง นี่ก็เป็นโจทย์นะ เดี๋ยวเราก็จะทำเวอร์ชันใหม่ ฟีเจอร์ใหม่ ที่ทำให้คุณคุยกันรู้เรื่อง (หัวเราะ) สามารถเช็กย้อนหลังได้เลยว่า เราแจ้งอะไรไปแล้ว ทำสำเร็จกี่เรื่อง ไม่สำเร็จกี่เรื่อง อย่างที่บอกว่า การแก้ปัญหามันไม่มีวันจบหรอกครับ เหมือนซื้อโทรศัพท์ใหม่แหละ เราต้องเสียเงินไปกับมันอีกกี่รุ่นล่ะ ตอนนี้เราแก้ปัญหาให้เมืองอยู่ ต่อไป เราก็ต้องคิดว่าเราสามารถแก้ปัญหาการจัดงบประมาณได้มั้ย สามารถทำให้มันแก้ปัญหาการทุจริตได้มั้ย แก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างได้มั้ย ถ้าทำสามเรื่องนี้ได้ผมก็แฮปปี้มากๆ แล้ว จริงๆ เทคโนโลยีมันทำได้อยู่แล้ว อยากให้มันทำอะไรล่ะ ปัญหามันอยู่ที่คนเชื่อหรือเปล่า เอากับมันจริงหรือเปล่า? อย่างปัญหาทุจริตน่ะ คุณจะแก้จริงๆ หรือเปล่า โซลูชันมันมีรออยู่แล้ว รถจอดอยู่แล้ว จะเรียกมาขึ้นหรือเปล่าแค่นั้นแหละ หรือคิดว่าจะเดินไป จะได้ออกกำลัง (หัวเราะ) 

อาจารย์มองความสามารถของนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีของไทยอย่างไร มองเห็นอนาคตของการพัฒนาด้านนี้ในประเทศเรามากน้อยแค่ไหน 

        คนเก่งมีนะครับ แต่ไม่พอ ฝ่ายที่ผลิตคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะระบบการศึกษาหรือสถาบันใดๆ ก็ไม่ได้มี incentive ในการผลิตคนเก่ง หรือคนที่เราจะสามารถนำมาเป็นประโยชน์ได้ คนที่ทำงานกับผมทุกวันนี้ ถ้าเขาไปอยู่ที่อื่น เขาได้เงินเดือนมากกว่านี้ 3 เท่า แล้วทุกวันนี้คนก็มีไม่พอด้วย แต่ที่ตลาดแรงงานผลิตออกมาทุกวันนี้ ผลิตเกินมาเยอะ แต่ใช้งานไม่ได้ จีนผลิตวิศวกรปีละล้านคน เพราะรู้ว่าคนเหล่านี้ทำให้ประเทศเขาเจริญได้ ฝ่ายที่ผลิตนี่คือระบบการศึกษา ระบบการเรียนการสอนตลอดชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้มีการพัฒนาคนเหล่านี้ได้ดีขึ้น เพราะยิ่งเวลาผ่านไป สิ่งที่เรียนมา มันก็ใช้ไม่ได้หมดแล้วนะ มันต้องเรียนใหม่เรื่อยๆ ทุกวัน สิ่งที่ทำงานทุกวันนี้ ก็คือเรื่องใหม่หมดเลย 

อาจารย์เคยเล่นเกมมั้ย เป็นเด็กติดเกมมั้ย

        ไม่ครับ ผมไม่เล่นเกม รู้สึกเสียเวลา เพราะทุกอย่างที่ผมทำงาน มันคือเกมของผมทั้งหมด ไม่ต้องเล่นเกมก็เหมือนเล่น มันคือเกมในการแก้ปัญหา แค่นี้ก็สนุกแล้ว 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ