หนุ่มเมืองจันท์

สรกล อดุลยานนท์: The Power Game เกมนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว

ทุกวันนี้ ชื่อของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ผูกติดมากับพอดแคสต์ดังอย่าง The Power Game อันเป็นพอดแคสต์วิเคราะห์เจาะลึกเรื่องราวทางการเมืองอย่างถึงกึ๋นถึงแก่น ถือว่าเป็นพอดแคสต์การเมืองขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

        แต่ถ้ายังจำกันได้ นามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ เป็นนามปากกาของนักเขียนหนังสือแนวคิดธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ‘ทางของเราต้องก้าวเอง’ ‘เพราะฉะนั้นฉันจึงถาม’ ‘ฝันใกล้ใกล้ไปช้าช้า’ ‘มองโลกง่ายง่ายสบายดี’ ‘ความหวังไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี’ รวมทั้งเล่มล่าสุด ‘โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว’ อันเป็นหนังสือสะท้อนมุมมองที่เขามีต่อชีวิต 

        ผลงานหนังสือธุรกิจจำนวนมากถึง 32 เล่ม บทความจำนวนนับไม่ถ้วนในคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ และบทบาทผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ ‘สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ’ หรือ Academy of  Business Creativity (ABC) อาจทำให้ใครบางคนประหลาดใจที่ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ หรือ สรกล อดุลยานนท์ หันมาเป็นผู้จัดรายการพอดแคสต์ ‘The Power Game’ ที่เปลี่ยน ‘เกมอำนาจ’ ในการเมืองไทยจนกลายเป็นเรื่องสนุก ร่วมสมัย เข้าถึงได้สำหรับคนหลายวัย คุยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายตามสไตล์งานเขียนของเขา 

      หลายคนอาจแปลกใจที่นักเขียนเรื่องธุรกิจหันมาวิเคราะห์การเมืองได้สนุกขนาดนี้ แต่ถ้ารู้จักเขามาก่อน ก็คงไม่ประหลาดใจเลย เพราะตั้งแต่เขาเริ่มงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ก็ได้ร่วมประชุมข่าว เขียนงานการเมืองให้กับ มติชนสุดสัปดาห์ ที่อยู่ภายใต้ชายคามติชนต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเคยเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ด้วยความสนใจทางการเมืองที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการนักศึกษารุ่นหลัง 6 ตุลา ทั้งในฐานะอุปนายก อมธ. รุ่นที่จัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

        ความสนใจทางการเมืองที่คุกรุ่นตั้งแต่มหาวิทยาลัย จึงทำให้พอดแคสต์รายการ ‘The Power Game’ อัดแน่นไปด้วยข้อมูลและการวิเคราะห์ จนไปได้สวย และมียอดฟังมากกว่าห้าหมื่นคนในแต่ละครั้ง ต่อเนื่องมายาวนานถึง 74 เอพิโสด 

         ดังนั้น เราจึงประหลาดใจไม่น้อยเมื่อเขาบอกอย่างเรียบง่ายว่ากำลังจะพักรายการ ‘ไปเข้าถ้ำ’ เพื่อเขียนหนังสือเล่มใหม่ ทั้งที่การเมืองไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2563

        เมื่อถามถึงเหตุผล เขาหัวเราะก่อนตอบว่า ถ้ารอเข้าถึงเส้นชัย ให้ถึงวันที่เกมนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คงไม่ได้พักเสียที คำตอบเรียบง่ายที่เป็นสัจธรรมว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มีจุดจบ กาลเวลาไม่ได้เดินไปเส้นตรง ในวันที่เรามุ่งมองหาความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงอาจอยู่ตรงนี้ ใต้จมูกเรามาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว 

        เราถามเขาเรียบง่ายก่อนจากกัน เพราะจะไม่ได้ฟัง The Power Game คอยวิเคราะห์การเมืองประจำสัปดาห์ไปอีกสักระยะว่าเกมอำนาจนี้จะเปลี่ยนไปเช่นไรหลังจากการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เขายิ้ม และตอบง่ายๆ ตามความเชื่อที่สะท้อนในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาว่า 

        “เกมนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว”

 

หนุ่มเมืองจันท์

“ทางของเราต้องก้าวเอง”

คนมักจดจำ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ในฐานะนักเขียนหนังสือธุรกิจ แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับ ‘สรกล อดุลยานนท์’ ในฐานะนักสื่อสารมวลชนในแวดวงการเมือง ทั้งที่คุณก็อยู่ตรงนี้มานานหลายสิบปีแล้ว

        อาจเป็นเพราะนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์มันเป็นที่รู้จักกว่า สรกล อดุลยานนท์ จริงๆ ผมใช้ชื่อจริงเขียนคอลัมน์การเมืองมานาน ใน มติชนสุดสัปดาห์ ก็เขียนคอลัมน์ ‘Xคลูซีฟ’ มีกระโดดไปเขียนหน้าสอง หน้าสี่ ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ด้วย ชื่อสรกลผมจะใช้เขียนการเมืองและประวัติบุคคล เรื่องที่มันจริงจังหน่อย แต่ถ้าติดเล่นๆ สบายๆ จะใช้ชื่อหนุ่มเมืองจันท์ คงเพราะบุคลิกมันต่าง เรื่องมันต่างด้วย คนเลยแปลกใจที่รู้ว่าหนุ่มเมืองจันท์มาพูดเรื่องการเมือง 

‘หนุ่มเมืองจันท์’ นักเขียนธุรกิจ vs ‘สรกุล อดุลยานนท์’ คอลัมนิสต์การเมือง ตัวตนไหนที่คิดว่าเป็นตัวคุณเองมากกว่ากัน

        ผมมีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่เด็ก บ้านผมที่จันทบุรีรับหนังสือพิมพ์วันละสามสี่ฉบับ ไม่รวมแมกกาซีนต่างๆ ผมกับพี่ชายก็จะคอยอ่านต่อจากพ่อ แล้วพอพี่ชายไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หลัง 6 ตุลา ไม่นาน เราก็เริ่มได้ยินมุมอื่นๆ เกี่ยวกับนักศึกษาที่เราไม่รู้มาก่อน เพราะตอน 6 ตุลา เราเคยได้ยินว่านักศึกษาเป็นผู้ร้าย ฟังแบบนี้คุณต้องนึกถึงโลกในวันนั้นนะ ด้วยข้อจำกัดของสื่อต่างๆ ที่กำหนด propaganda จากรัฐบาล ทำให้เราได้ฟังความแค่ฝ่ายเดียว เลยเห็นตามเขาว่านักศึกษาเป็นศัตรูประเทศ เป็นปีศาจ แต่พอได้รู้มุมใหม่ๆจากพี่ที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ มันก็ทำให้เราอยากอยู่ธรรมศาสตร์ และก็ได้ไปเรียนคณะสังคมฯ ที่ธรรมศาสตร์สมใจจริงๆ พอได้ไปอยู่ที่นั่นก็ลุยทำกิจกรรมตั้งแต่ปีหนึ่ง ออกค่ายนี่ไปประจำ เรียนสี่ปีไปแปดเก้าค่าย ปิดเทอมปุ๊บไปค่ายทันที พอปีสุดท้ายก็ไปทำ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ช่วงอยู่ธรรมศาสตร์เป็นยุคพลเอกเปรม นักศึกษายังมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้าง ไฮปาร์กบ้าง แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่เหมือนช่วงที่ผ่านมา

มีความสนใจทางการเมืองเข้มข้นในสมัยเรียน แล้วทำไมถึงเลือกมาทำงานสื่อสารมวลชน และงานแรกเป็นด้านธุรกิจ

        ด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยมาทำงานอยู่มติชน เรื่องตลกก็คือเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ผมไล่อ่านทุกหน้า ยกเว้นหน้าเดียวคือหน้าธุรกิจ แต่ได้มาประจำกองฯ ประชาชาติธุรกิจ เพราะมติชนไม่ได้เปิดรับนักข่าว แต่ความสนใจทางการเมืองมันยังอยู่เสมอ โชคดีที่ระบบทำงานข่าวของมติชนคือจะมีการประชุมกันวันละสองรอบ กลางวันและเย็น ด้วยความที่มันเป็นองค์กรเปิด ผมก็สามารถเข้าไปฟังได้ว่าเขาคุยอะไรกัน ช่วงนั้นสนุกสุดๆ คุณนึกออกไหมว่าคนที่อ่านข่าวมาแต่เด็กแล้วได้มาอยู่ในวงพูดคุยเลยว่าเขาจะออกข่าวอะไรกัน มันที่สุดแล้ว ยิ่งช่วงนั้นไม่มีข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์มันเป็นด่านแรกที่จะบอกสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น มันมีความสุขมาก และทำให้ผมชอบวิเคราะห์ข่าวการเมืองไปโดยปริยาย

        แต่ก่อน พี่เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์ ในขณะนั้นจะเป็นนักเขียนประจำของหน้าสาม มติชนรายวัน ความสนุกของผมคือคิดล่วงหน้าว่าถ้าเป็นประเด็นนี้ พี่เสถียรจะวิเคราะห์อย่างไร ถ้าพี่เสถียรเขียนตรงกับที่ผมคิดไว้ ผมจะเยส! เหมือนเล่นเกมผ่านด่าน คิดตรงกับบรรณาธิการ (ยิ้ม) 

แล้วจุดไหนที่ได้ขยับมาเขียนเรื่องการเมืองสมใจ 

        สมัยก่อน มติชน จะมีหน้าหกคือหน้าบทความทั่วไป ซึ่งในกองฯ จะเปิดให้ทีมงานในมติชนเขียนเสนอไปได้ พี่เสถียรจะเป็นคนคัด วันหนึ่งผมเขียนส่งไปก็ได้ลง แต่เนื่องจากตอนนั้นผมไม่ได้ลงชื่อ เขียนแล้วเอาไปวางไว้ที่โต๊ะแก มาเห็นอีกทีตอนแกเอามาลงเล่มแล้วตั้งชื่อให้ว่า นิรนามวเนจร คือไม่มีชื่อ และเร่ร่อนมาจากที่ไหนไม่รู้ (หัวเราะ) 

        ที่ มติชนสุดสัปดาห์ จะมีตัวแทนของทั้งสามกอง คือ ประชาชาติธุรกิจ มติชนรายวัน ข่าวสด มาประชุมร่วมกันแล้วกระจายเรื่องไปตามกองฯ ต่างๆ ผมก็เป็นตัวแทนจาก ประชาชาติธุรกิจ มาอยู่ตรงนี้ หลังจากนั้นก็ร่วมเขียนกับ มติชนสุดสัปดาห์ มาเรื่อยๆ คอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ หนุ่มเมืองจันท์ ก็เกิดขึ้นจากจุดนี้เหมือนกัน รวมทั้งเริ่มมีโอกาสได้เข้าไปร่วมฟังผู้ใหญ่จากวงการต่างๆ คุยกัน ทั้งผู้บริหาร นายกฯ นักการเมือง ไปร่วมวงเขาบ่อยเข้า พี่เสถียรเลยเกิดไอเดียว่าควรเอาเรื่องราวที่ได้จากวงพูดคุยนี้มาแชร์คนอ่าน เลยเกิดเป็นคอลัมน์ชื่อ ‘Xคลูซีฟ’1 ขึ้นมา เป็นบันทึก ข้อสังเกตจากบทสนทนาในวง นับจากนั้นมีอะไรก็เขียนไปเรื่อยแล้ว

 

หนุ่มเมืองจันท์

“เพราะฉะนั้นฉันจึงถาม”

การที่โตมากับยุคข่าวสารบ้านเมืองถูกควบคุมโดยรัฐ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณมาทำงานสื่อสารมวลชนไหม 

        ไม่ได้คิดนะว่าอะไรเป็นสาเหตุ รู้แต่ว่าเราสนใจ ซึ่งมันก็มาจากหลายเหตุการณ์ แต่ครั้งสำคัญที่คนยุคนี้คงใช้คำว่า ‘ตาสว่าง’ ก็คงเป็น 6 ตุลา ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นผมอยู่ ม.ศ.1 หรือ ม.2 ในยุคนี้ ตอนนั้นบ้านผมรับหนังสือพิมพ์เยอะมากอย่างที่เล่าไป แต่ขนาดรับเยอะ อ่านเยอะ เราก็ยังได้รับข้อมูลชุดเดียวที่ทำให้เชื่อไปว่านักศึกษาเป็นผู้ร้าย ตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการปราบนักศึกษา เชื่อไหมว่านักเรียน ม.ต้น ต่างจังหวัดอย่างผมรู้สึกดีใจนะ มันเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่ง แล้วฉากนี้คือการปราบปีศาจในสังคมได้ แต่เรารู้ข้อมูลมากขึ้นแล้วมันตื่นเลยว่า โห ไอ้โฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายนี่มันทำให้คนมองคนไม่เป็นมนุษย์ได้ เวลาเราฟังประวัติศาสตร์ประเทศอื่นมันนึกไม่ถึงหรอก อย่างรวันดาอะไรแบบนี้ แต่มันมาจากการสร้างภาพให้คนไม่เป็นคนเหมือนกันทั้งนั้น มันเหมือนกันเลย ความรู้สึกเราตอนนั้นมันเหมือนพระเอกยิงผู้ร้าย ปราบศัตรูอะไรแบบนี้เลยนะ ผมจำภาพข่าวหนึ่งที่บันทึกโดย คุณสรรพสิริ วิรยศิริ2 ออกอากาศทางช่อง 9 เป็นภาพเคลื่อนไหว การตีศพ ลากศพ วันนั้นดูแล้วก็รู้สึกว่ามันรุนแรง แต่ก็ยังคิดว่านักศึกษาคือผู้ร้ายที่ตำรวจกำลังมาปราบปราม พอมองย้อนกลับไปแล้วเราเข้าใจเลยว่าทำไมเหตุการณ์อย่างในรวันดาถึงเกิดขึ้นได้ แต่ในวันนั้นเราไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าอะไรทำให้คนเราปล่อยให้เกิดการฆ่ากันกลางเมืองได้

        ผมเคยถามเพื่อนที่อยู่มติชนด้วยกัน วัยนั้นเขาอยู่ร้อยเอ็ด เขาก็บอกว่าสมัยก่อนเขาก็รู้สึกไม่ต่างกัน แม้แต่คนที่เป็นครูบาอาจารย์ก็ยังรู้สึกกับนักศึกษาแบบนั้น มันไม่ใช่ความรู้สึกแบบเฮ ดีใจนะ แต่มันมองการฆ่ากันด้วยความรู้สึกเฉยๆ เรื่อยไปจนถึงรู้สึกว่าสมควรแล้ว เพราะมันมีข่าวต่างๆ ที่ประโคมต่อเนื่องเลยว่านักศึกษาไม่ดีอย่างไร นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ มีเวียดนามแฝงตัวหนุนหลัง มีอาวุธคอยยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ ข่าวแบบนี้มันทำให้เรามีอคติแต่แรก จนความป่าเถื่อนรุนแรงที่เกิดขึ้นมันดูชอบธรรม 

ข้อมูลชุดไหนที่ทำให้ ‘ตาสว่าง’ ขึ้นฉับพลัน

        จริงๆ ผมตื่นตั้งแต่ก่อนเข้าธรรมศาสตร์แล้วนะ เพราะตอนพี่ชายเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ มันก็มีหนังสือบางเล่มที่เขาเอากลับมาบ้าน นิยายอย่าง ด้วยรักและอุดมการณ์ ของ วัฒน์ วรรลยางกูร หรืองานของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ได้อ่านช่วงนั้น ประกอบกับช่วงหลัง 6 ตุลา ความจริงมันค่อยๆ เผยตัวทีละนิด คุณปิดความจริงไม่ได้หรอก จะช้าจะนานแค่ไหน ความจริงมันจริงอยู่วันยังค่ำ 

        ยิ่งพอเข้าธรรมศาสตร์ ข้อมูลมันไม่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ นิยาย เพลงเพื่อชีวิตแล้ว แต่เราได้เจอรุ่นพี่ที่เป็นคนรุ่น 6 ตุลาฯ ไม่ว่าจะ พี่ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พอได้ฟังจากตัวละครแถวหน้าจริงๆ เห็นความเจ็บปวดของพวกเขาจริงๆ อย่างพี่ธงชัยนี่พูดเรื่อง 6 ตุลา ทีไร เสียงเขาจะเครือๆ ตลอด เพราะเขาเจ็บปวดกับสิ่งที่ได้เจอ ยิ่งได้ร่วมจัดงาน 14 ตุลา 6 ตุลา เรายิ่งรู้สึกกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เห็นความจริงอีกด้านมากขึ้นเรื่อยๆ

        อย่างเช่นเรื่องของ ‘พี่เจี๊ยบ’ – อภินันท์ บัวหภักดี3 ที่ร่วมแสดงละครฉากพนักงานการไฟฟ้าถูกแขวนคอที่ถูกสื่อฝ่ายขวาปลุกปั่นว่านักศึกษาหมิ่นรัชทายาทจนกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ความรุนแรง แต่ความจริงที่มาได้ยินจากพี่เจี๊ยบก็คือว่า การที่เขาไปร่วมแสดงละครฉากนั้นมันเป็นความบังเอิญมาก คือเช้าวันนั้นเขาเผอิญเดินผ่านชมรมนาฏศิลป์และการละครก่อนที่จะมีการแสดง แล้วนักแสดงหลักเขาบ่นไม่ไหว ต้องหานักแสดงเพิ่ม อยากได้คนตัวเล็กๆ ที่จะผูกตัวขึ้นไปได้ เขายืนอยู่ตรงนั้น ไม่มีอะไรทำพอดี ก็เลยอาสาเล่นเอง คือเรื่องจริงมันแค่นี้เอง หรืออุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ ความจริงมันก็เป็นแค่ท่อระบายน้ำ กลายเป็นว่าไอ้ที่เราได้ยินมามันบิดจากความจริงหมดเลย 

 

หนุ่มเมืองจันท์

“ฝันใกล้ใกล้ไปช้าช้า”

ขบวนการนักศึกษารุ่นคุณหลัง 6 ตุลา มีความเหมือนหรือต่างจากขบวนการนักศึกษาในวันนี้อย่างไร 

        รุ่นผมเป็นช่วงหลัง 6 ตุลาไปแล้ว ขบวนการนักศึกษาอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ มีการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่มันเคลื่อนเป็นกลุ่มย่อยๆ เป็นประเด็นไป เช่น ต่อต้านการขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะอะไรแบบนี้ มีบรรยากาศประท้วงหน้าทำเนียบ อดอาหารอยู่บ้าง แต่ไม่มีการชุมนุมใหญ่ๆ เท่าไหร่แล้ว แต่มันยังมีการเคลื่อนไหวทางความคิดอยู่ อย่างกรณีการต่ออายุราชการ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ในสมัยพลเอกเปรม ที่เป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จำได้ว่าตอนทำงานมติชนยังเห็นแฟ้มข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อผมในนาม อมธ. อยู่เลยว่าเป็นนักศึกษาที่ให้สัมภาษณ์คัดค้าน

        สิ่งที่นักศึกษารุ่นหลัง 6 ตุลา เจอก็คือดุลทางการเมืองที่อยู่กับฝ่ายทหาร ตั้งแต่คณะปฏิรูปที่มี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายก ต่อด้วยพลเอกเปรมที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นมือขวาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารบกเสียด้วยซ้ำ เป็นช่วงที่ทหารมีอำนาจมาก สมัยนั้นเป็นที่รู้กันว่าถ้าใครพูดจาไม่ดี กองทัพพร้อมตบเท้า มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยวิจารณ์พลเอกชวลิต ทหารตบเท้าเข้าหาที่บ้านเลย

        ด้วยความที่พลังนักศึกษาช่วงนั้นอ่อนลงแล้ว อมธ. รุ่นผมเลยเป็นรุ่นที่จัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขึ้นมา เพื่อที่จะได้รวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพได้ เผื่อจะเคลื่อนไหวเรื่องใหญ่ๆ มันจะได้มีพลังมากขึ้น เพราะภาพของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาสมัย 14 ตุลา มันมีพลังมา นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะหาทางร่วมมือกัน 

        แต่รุ่นผมหลัง 6 ตุลา มันไม่ได้มีแรงกระตุ้นอะไรมากขนาดนั้นแล้ว ทั้งที่เกมการเมืองยังมีอยู่ เพราะเป็นช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบแล้ว คือนักศึกษารุ่นเดือนตุลา เขาชัดเจนว่ากำลังต่อสู้กับเผด็จการ มันเห็นสิ่งที่กำลังต่อกรด้วยชัดเจน มันไม่เหมือนสู้กับสิ่งที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย มันบอกได้ไม่เต็มปากเท่าไรว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร 

มองในแง่นี้ ‘เกมอำนาจ’ ในประเทศเราดูจะมีผู้เล่นหลักกลุ่มเดิมที่ยึดครองกติกามาโดยตลอด คุณคิดว่าความพยายามเปลี่ยนเกมในวันนี้ จะเปลี่ยนได้จริงไหม ถ้าผู้เล่นเกมหลักยังมาจากกลุ่มอำนาจเดิม 

        เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ผมเห็นพัฒนาการอย่างชัดเจนนะ ไม่ต้องย้อนไปไกลระหว่างรุ่นคุณหรือรุ่นผมก็ได้ เอาแค่ต้นปีที่คุณแทบไม่เห็นวี่แววการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่พอม็อบเยาวชนปลดแอกขึ้นมา หลายฝ่ายก็มองว่านี่ไม่ใช่ขบวนการที่แข็งแกร่งอะไร แต่มันได้รับการขานรับ ไม่ใช่แค่ในกลุ่มนักศึกษา แต่เป็นครั้งแรกที่แรงมันส่งไปถึงเด็กมัธยม แล้วจากวันที่มีการชุมนุมหลักร้อย เริ่มมาเป็นหลักพัน จนหลายหมื่น กราฟมันพุ่งขึ้นเร็วอย่างเห็นได้ชัด

        ที่สำคัญ เกมในวันนี้มันมีเครื่องมือใหม่ที่แทบจะล้มเกมได้เลยคือโซเชียลมีเดีย มันเอื้อให้การสื่อสารทางความคิดกระจายได้ง่าย รวดเร็ว รุ่นผมนี่ความรู้บางอย่างมันซ่อนหลืบอยู่ในหนังสือที่ต้องไปขวนขวาย หรือบังเอิญอ่านเจอเอง ผมต้องอ่านจบก่อนถึงส่งให้เพื่อนได้ ความคิดมันเดินทางช้ามาก ไปได้ทีละคนสองคน แล้วจะหยุดตรงไหนก็ไม่รู้ แต่สมัยนี้คุณเจอข้อมูลใหม่ๆ คุณกดแชร์ทีเดียวมันวิ่งเข้าหาคนในเครือข่ายคุณได้หมดเลย โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้เกมนี้เปลี่ยนไปมาก 

ต่อให้มีเครื่องมือใหม่ในเกมนี้ แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่า ถ้ากติกาบางอย่างยังคงเดิม เครื่องมือเหล่านั้นจะมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เช่นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะล่ารายชื่อสนับสนุนได้มากเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังยืดเยื้อ

        มันเพิ่งก้าวแรก มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่การชุมนุมครั้งเดียวแล้วจะเปลี่ยนอะไรได้ ม็อบที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง หรือ กปปส. เขาชุมนุมกันทีหกเจ็ดเดือนนะ แล้วอยู่กันอย่างต่อเนื่อง คุณเพิ่งค้างกันคืนเดียวเอง 

      ทั้งนี้ผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องชุมนุมนานๆ แล้วมันจะเปลี่ยน สิ่งที่มีพลังกว่า สิ่งที่ฝ่ายอำนาจกลัวที่สุดในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้คือความจริงที่ว่า เวลาเป็นของเขา และไอ้เมล็ดพันธุ์ความคิดนี่เมื่อมันถูกปลูกในใจคนเมื่อไหร่ คุณควบคุมการเติบโตมันไม่ได้ เหมือนรุ่นผมที่เมื่อรับรู้เรื่องราวของรุ่นพี่ธรรมศาสตร์ ต่อให้ผ่านมาสามสิบ สี่สิบปี ความคิดพวกนี้มันก็ยังฝังอยู่ คุณฆ่าคนได้ แต่คุณฆ่าความคิดไม่ได้หรอก

      เวลาผมบอกว่าอย่าหมดหวัง มันไม่ใช่ให้กำลังใจ แค่ความจริงมันเป็นเช่นนั้น และเอาเข้าจริง การแก้ไขรัฐธรรมนูญมันยังไม่จบ มันแค่อยู่ในช่วงถ่วงเวลา ถ้า 14 ตุลา รอบนี้ เราชูประเด็นนี้ให้ชัดเท่าไหร่ ความกดดันมันยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ถ้าดูตัวอย่างจากปี 2535 พอสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเริ่มการชุมนุม ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เป็นประธานสภาขณะนั้น ก็เรียกตัวแทนพรรคมาคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนุญ ทุกคนรับปาก แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ดร. อาทิตย์ ก็ออกมาชี้แจงว่าทุกพรรคเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ พูดจบ ม็อบก็สลาย แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิก พรรคร่วมรัฐบาลพลิ้วบอกว่าไม่ได้รับปาก พลิกไปมาจนม็อบกลับมาอีกครั้งและเกิดพฤษภาทมิฬขึ้นมา ม็อบกลับมาอีกครั้ง เกิดการล้อมปราบ ที่หลังจากนั้นไม่นานการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นขึ้นทันที ประวัติศาสตร์บอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลัน มันเป็นเหตุที่สะสมรวมกันไว้จนเกิดผลอะไรบางอย่างขึ้นมา แต่ผมบอกได้ว่าการเดินหมากใดๆ นอกสภามันส่งผลต่อความกดดันในสภาเสมอ แม้จะไม่เห็นเป็นรูปธรรมในบางครั้ง แต่ถ้าแรงกดดันยิ่งเยอะ คุณจับตาดูการโหวตสวนของวุฒิสมาชิกได้เลย

เมล็ดพันธุ์ทางความคิดได้ถูกปลูกแล้ว คนรุ่นใหม่ก็มีวิธีการใหม่ๆ แพรวพราวมากมาย คุณว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกมนี้เคลื่อนที่ช้าเหลือเกิน จนบางครั้งดูราวกับว่าเข็มนาฬิกาจะเดินย้อนกลับ

        ถ้ามองจากมุมคนที่อยู่ในสภาฯ จากที่ตั้งรับตั้งสู้แรงกดดันมาตลอดก่อนวันที่ 19 กันยา พอเจอประเด็นหมุดคณะราษฏรเข้าไปปุ๊บ มันไม่ได้พูดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าไหร่มันไม่ได้มีแรงกดดันถึงขั้นจะประณาม ส.ว. ที่จะทำให้เขากลัวจะตกเป็นพรรคมา สมัยปี 2535 ยังมีการแบ่งกลุ่มเป็นพรรคเทพ พรรคมารชัดเจน คนที่หนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นพรรคเทพไป กลุ่มไหนไม่สนับสนุนยังมีภาพเป็นพรรคมารติดจนวันนี้ social sanction นี่เป็นเครื่องมือที่กดดันได้มากนะ อย่างตอนพฤษภาทมิฬนี่ถึงขั้นว่าทหารบางกลุ่มไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกจากบ้านเลย กลุ่มที่ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่กล้าเจอนักข่าวเลย การลงโทษทางสังคมมันหนักมาก และถ้าดูจากกลุ่มอายุ ส.ว. ชุดนี้แล้ว ผมว่าเขาจำประวัติศาสตร์ช่วงนั้นได้ เขาน่าจะกลัวการลงโทษแบบนี้บ้างแหละ คนอย่างทนาย วันชัย สอนศิริ เขาผ่านเหตุการณ์แบบนี้มา เขาไม่อยากถูกจดจำว่าเป็นพรรคมารแน่นอน แต่พอประเด็นวันที่ 19 กันยา มันเคลื่อนไป ในสภาก็คงตีความกันซื่อๆ ว่าแรงกดดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มากเท่าไหร่ ก็มีผลอยู่บ้าง แต่ถ้า 14 ตุลา แรงกดดันมันโหมใส่ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าจะส่งผลต่อหมากที่สภาเลือกเดินต่อ

        แต่พูดจริงนะ กับม็อบคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ผมไม่กล้าให้คำแนะนำ หรือทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นมากนัก มันเป็นมิติใหม่ที่คาดเดายากเหลือเกิน ถ้าภาษาธุรกิจก็ต้องบอกว่าคุณใช้ KPI เดิมมาอธิบายม็อบครั้งนี้ไม่ได้ คนรุ่นเก่านึกไม่ออกหรอกว่าแฮมทาโร่ แฮร์รี พอตเตอร์ จะมาเกี่ยวกับม็อบได้ไง หรือใครก็ไม่รู้จะตั้งอีเวนต์ต้านเผด็จการคืนนี้ พรุ่งนี้เจอกัน มันเป็นเรื่องที่คนรุ่นก่อนนึกไม่ออกเลย 

การที่ทุกคนสามารถเป็นแกนนำได้ การที่การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอย่างออร์แกนิก ส่งผลต่อการเดินเกมครั้งนี้ไหม มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

        ข้อดีคือคุณต้องสู้กับความไม่ใช่สู้กับคน แต่ก่อนคุณสู้กับคน เช่น ช่วง กปปส. ถ้าคุยกับคุณสุเทพได้ ทำให้เขายอมได้ ก็ง่ายแล้ว แต่วันนี้คุณจะเจรจากับใคร อานนท์ รุ้ง ฟอร์ด หรือธนาธร ต่อให้คุณคุยกับคนหนึ่งได้ ก็ใช่ว่าคนอื่นจะยอมตาม ตอนนี้คุณไม่ได้สู้กับคนแล้ว คุณสู้กับความ ความอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากปฏิรูปสถาบัน อุดมการณ์หลายอย่างจากหลายกลุ่ม มันเป็นข้อดีที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิในการเรียกร้องเท่ากัน ถ้าวันหนึ่งผมอยากไฮปาร์ก ผมจับไมค์ขึ้นพูดได้เลย หรือถ้าผมไม่อยากจับไมค์ ผมก็เขียนแชร์ในช่องทางผมเองก็ได้

        ทั้งนี้ ถ้าข้อดีของมันคือไม่มีแกนนำ ไม่ยึดติดบุคคล ข้อเสียก็อาจเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะพอไม่มีคนนำ มันทำเอกภาพเกิดขึ้นยาก ควบคุมทิศทางลำบาก ความเห็น ความต้องการมันกระจายไปทุกทิศทางเลย ข้อดีคือมันเปิดกว้างต่อความหลากหลาย จุดอ่อนคือพลังแต่ละเรื่องมันจะน้อย เปรียบกับการเขียนหนังสือ ถ้าคุณเลือก key message เดียวแล้วพุ่งตรงไปยังใจความสำคัญนั้นเลย มันจะชัด งานเขียนคุณจะมีพลัง แต่ถ้าบทความหนึ่ง คุณเขียนหลายเรื่อง มันกระจัดกระจาย มันขาดพลัง

จำเป็นที่ขบวนการเคลื่อนไหวในตอนนี้ต้องรวมตัวกัน เหมือนในครั้ง 14 ตุลาฯ ที่มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา หรือตอนรุ่นคุณที่จัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ เพื่อสร้างเอกภาพ ขับเคลื่อนเกมนี้ร่วมกันไหม 

        ผมไม่กล้าแนะนำจริงๆ นี่เป็นยุคสมัยของพวกเขา ผมพอแชร์อดีตได้บ้าง แต่ต้องบอกว่าบทเรียนจากอดีตไม่ได้กำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เสมอไป ต่อให้มันมีความคล้ายกัน แต่ตอนนี้มันเป็นบริบทใหม่จริงๆ บรรยากาศหลายอย่างมันไม่เหมือนเดิม 

        อย่างม็อบวันที่ 23 สิงหา นักข่าวที่ตามการเมืองมานานยังนึกไม่ถึงเลยว่าวันจันทร์ถัดมาจะเกิดการชูสามนิ้วในโรงเรียน ไม่มีสื่อคนไหนรู้สักคน แต่เด็กเขารู้กันเองในทวิตเตอร์ แล้วมันไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียวนะ มันพร้อมกันทั่วประเทศ

        นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ม็อบรุ่นเก่า จะเก๋าแค่ไหนก็ตามไม่ทัน ถ้าเป็นแต่ก่อนจะเกิดการเคลื่อนไหวพร้อมเพรียงแบบนี้ได้มันต้องค่อยๆ ปลุกเร้ามวลชนทีละกลุ่ม ม็อบ กปปส. ก็ต้องอาศัยทีวีทั้งช่อง Blue Sky ในการถ่ายทอดยิงสัญญาณดาวเทียมกระจายไปจุดต่างๆ งบประมาณที่ใช้จัดม็อบตอนชัตดาวน์กรุงเทพฯ คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เคยให้สัมภาษณ์ว่าใช้วันละสิบล้าน ยิงสัญญาณดาวเทียมกระจายไปจุดต่างๆ แต่วันนี้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวจบ ใครก็ไลฟ์ได้ สื่อถูกปิด ก็ปิดไป ทุกคนเป็นนักข่าวภาคสนามได้เอง

        การเคลื่อนไหวครั้งนี้มันมีเรื่องที่คนรุ่นผมนึกไม่ถึงเกิดขึ้นตลอด เช่น การเลือกเพลงมาใช้ในม็อบ เขาก็ไม่ใช้เพลงเพื่อชีวิตกันแล้วนะ เลือกเพลงอย่างยากเลย Do you hear the people sing? ม็อบที่ไหนใช้เพลงภาษาอังกฤษ ทำนองก็ร้องตามยากแบบนี้ แต่มันเป็นวัฒนธรรมร่วมของเขา แล้ววันที่ชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เขาจะแจกเนื้อร้องภาษาไทยให้ร้องตามกัน ปรากฏว่าสัญญาณโดนแจม แชร์ไม่ได้ เขาก็แก้ปัญหากันอย่างไร บอกให้ทุกคนใช้ Airdrop ผมนี่ทึ่งไปเลย คนรุ่นผมคิดไม่ได้แน่ ใช้ไม่เป็นด้วย

        ฉะนั้น ผมไม่กล้าแนะนำ ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีการที่เหมาะสมกับยุคสมัยเขาเอง

 

หนุ่มเมืองจันท์

“มองโลกง่ายง่ายสบายดี”

สัญลักษณ์ มุกตลกที่เยาวชน นักศึกษาเลือกใช้ที่บางมองว่าเป็นกลยุทธ์ชาญฉลาดของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กลับถูกมองว่าเป็นความไร้สาระในสายตาของคนบางกลุ่ม 

        คนที่มองว่านี่คือความรื่นเริงที่ไร้สาระ คุณจะไม่เห็นเลยว่าเพลงแจว ลามะลิลา แฮมทาโร่ มันทำให้คนตื่นตัวทางการเมืองมากแค่ไหน นี่มันคือวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มันสื่อสารกับคนรุ่นเขาได้ มันเพิ่มแนวร่วมให้การเคลื่อนไหวนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพลงอย่างเพลงแจว หรือแฮมทาโร่มันทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเวทีนี้เป็นของเขา เขาอยากมาร่วม ตอนมาแจมเขาอาจจะไม่รู้อะไรมากนะ แต่พอเข้ามาแล้วได้ฟังปราศรัย ได้ข้อมูลต่างๆ กลับไป ทีนี้มันยากที่คุณจะเปลี่ยนความคิดเขาแล้ว อย่างที่ผมบอกว่าถ้าเมล็ดพันธุ์ทางความคิดมันถูกหย่อนไปแล้ว มันมีแต่จะโตขึ้น เวลาเป็นของเขา ไม่วันนี้ก็วันหน้า ยังไงมันก็เป็นของเขา นี่คือสัจธรรม

        ถ้าคุณคิดว่านี่คือความไร้สาระ คุณจะตามไม่ทันเลยในวันที่มุกตลกพวกนี้กลายเป็นสาระสำคัญขึ้นมา บางเรื่องที่ผมฟังคนรุ่นใหม่พูดนี่ผมขนลุกเลยนะ แล้วเขาคุยกันเป็นปกติ ทวิตเตอร์พูดกันเป็นเรื่องธรรมดามาก แล้วมันกลายเป็นว่าพอเขาขยับเพดานเรื่องต่างๆ สื่อก็ขยับตามพวกเขาไปเรื่อยๆ อย่างแรกเริ่ม เราใช้คำว่าข้อเสนอ จบอยู่แค่นั้น ไม่กล้ามีคำขยายว่าข้อเสนอเรื่องอะไร ต่อมาเริ่มขยับเป็นข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน ตอนนี้ก็มาเต็มแล้วว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วัฒนธรรมการสื่อสารของเขามันขยับเพดานการสื่อสาร การรับรู้ในสังคมไปเรื่อยๆ

ในแง่หนึ่งมันช่วยสร้างแนวร่วมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน แต่ในอีกแง่หนึ่งมันจะทำให้เกิดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างคนสองวัย ให้ยิ่งไม่เข้าใจกันมากไปอีกหรือไม่ คุณเองในฐานะนักสื่อสารที่เรียกได้ว่างานเขียนเข้าถึงคนรุ่นใหญ่ได้ พอดคาสต์ก็เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ มีวิธีการสื่อสารอย่างไร

        ผมสังเกตตัวเองว่าผมระมัดระวังในการใช้คำค่อนข้างมาก ในความเป็นสื่อเรามักวางตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ และเมื่อเอาตัวถอยมาหน่อย เราจะเห็นว่าเรื่องบางเรื่องที่เป็นปกติของบางกลุ่ม อาจหนักเกินไปสำหรับบางกลุ่ม แต่ถ้าปรับท่าทีนุ่มนวลกว่านี้ เน้นไปที่ข้อมูล เหตุผล ลดการประชดประชันลงบ้าง เขารับได้นะ

        ยกตัวอย่างการเหยียบหมอน คุณเหยียบได้ไหม (หันมาถามผู้สัมภาษณ์) พ่อแม่ผมนี่สอนมาตลอดว่าหมอนเป็นของสูง อย่าใช้เท้า แล้วผมก็ติดจนถึงวันนี้ ผมเห็นด้วยกับคนรุ่นคุณนะว่ามันเป็นแค่วัตถุ แล้วเราให้ความหมายมันไปเอง แต่ถ้าต้องเหยียบมันก็เกร็งๆ อยู่ หรือการคลานเข่าเข้าหาผู้ใหญ่สมัยผมมันคือความสุภาพ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองแบบนั้นแล้ว กิริยาเดียวกัน การกระทำเดียวกัน แต่ความหมายก็ต่างกันในแต่ละยุคสมัย นี่เป็นเรื่องธรรมดา

        ในเชิงสังคมวิทยามันคือรากวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ฝังกลายเป็นเนื้อเป็นตัวคนคนหนึ่ง วัฒนธรรมเหล่านั้นมันประกอบสร้างคนคนหนึ่งขึ้นมา แล้วเราต่างมีองค์ประกอบวัฒนธรรมในยุคสมัยที่ต่างกัน มันทำให้ฐานคิดเราต่างกันอยู่แล้ว การจะไปบังคับให้ใครมาเชื่อ แล้วต้องแสดงออกเหมือนเราทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ มันไม่จำเป็นด้วย ผมว่ามันง่ายกว่าถ้าเราจะแค่เข้าใจ และเคารพกันว่าก็เขามีภูมิหลังแบบนี้

คุณตั้งใจจะสื่อสารให้คนกลุ่มไหนฟัง คนที่สนใจการเมืองอยู่แล้ว หรือคนที่ไม่สนใจการเมืองเลย และสองกลุ่มนี้ต้องสื่อสารต่างกันอย่างไร 

        ผมทำงานสื่อสารมานาน เวลาจะเขียน จะพูดอะไร มันต้องคิดเสมอว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายของเรา ตอนที่เขียนฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ให้ มติชนสุดสัปดาห์ ผมก็ต้องย่อขาลงมานิดหนึ่งจากศัพท์แสงที่เคยใช้ใน ประชาชาติธุรกิจ พี่เสถียรบอกผมว่าคนอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ยโสธร ปัญญาชนท้องถิ่น เขามีความรู้ อยากอ่านเพื่อตามเทรนด์ให้ทัน แต่ไม่ได้คลุกคลีกับแวดวงธุรกิจขนาดนั้น ผมฟังแล้วเห็นภาพเลยว่าเรากำลังคุยกับใคร ต้องใช้คำแบบไหน เล่าเรื่องอะไร 

        ตอนโหน่ง วงศ์ทนง ชวนมาทำ The Power Game ตอนแรกผมก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ฟัง เราก็ลองจัดรายการให้น้องๆ ทีมงานฟัง โดยหยิบยกข่าวการเมืองวันนี้มาเล่า ผสมกับต้นทุนเรื่องที่เราสะสมมา เช่น ช่วงที่คุณสมคิดเข้ามาอยู่พลังประชารัฐ ผมก็เล่าว่าจริงๆ แล้วคุณสมคิดนี่เป็นมือขวาทักษิณนะ ผมจำได้ว่าคุณสมคิดนี่นั่งข้างๆ กันตลอด แล้วเขาจะไม่พูดอะไรเลย คำว่าตาดูดาว เท้าติดดิน นี่คือคุณสมคิดเลย คือแกมักจะเหลือบมองบน บางทีหลับตาคิด นี่คือบุคลิกของ Think Tank ที่ผมเชื่อว่าคุณสมคิดนี่แหละเป็นคนแนะนำคุณทักษิณว่าประเด็นไหนควรพูด อะไรควรเลี่ยง ผมก็จะมีคลังเรื่องจากตัวละครจริงแบบนี้มาเล่า น้องๆ เขาก็ดูตื่นเต้นกัน 

        ผมชอบคอมเมนต์หนึ่งมาก เขาบอกว่าเหมือนฟังคุณลุงเล่าประวัติศาสตร์การเมืองให้ฟัง (หัวเราะ) นี่คือการใช้ความแก่ให้เป็นประโยชน์ ไทม์ไลน์ผมยาว ผมเจอนายกฯ ตั้งแต่พลเอกเปรม คุณอภิสิทธิ์ คุณทักษิณ ฉะนั้น ผมจะมีคลังวัตถุดิบว่าเขาเคยทำอะไร อยู่ฝ่ายไหน มีท่าทีอย่างไร ไม่ใช่แค่มุมมองของวันนี้ ซึ่งก็เป็นทักษะจากการทำคอลัมน์เอ็กซ์คลูซีฟที่ต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนช่างสังเกตอยู่เสมอ เพราะถ้าเราเอาบทสัมภาษณ์ไปถอดเทป เราไม่ทันความเร็วของรายวันอย่าง มติชน กับ ข่าวสด หรอก เพราะ มติชนสุดสัปดาห์ เป็นรายสัปดาห์ สิ่งที่เราทำให้ต่างคือการสังเกต เช่น เขาไม่สบตา เขากอดอก เขาหยุดคิดนานก่อนจะตอบ ข้อสังเกตแบบนี้คือสิ่งที่ทำให้งานเขียนเราแตกต่าง มันเล่าไปถึงภาษาท่าทางมากกว่าแค่คำพูด มันบอกโดยนัยได้ว่าคำตอบเขามีความจริงมากน้อยแค่ไหน ลำพังถ้าเราถอดเทป แค่บอกข้อมูล ไม่ใช่แค่เราไม่ทันสื่ออื่น แต่เนื้อหาบางอย่างอาจหายไป

        โชคดีที่ได้เอก (ธนกร วงษ์ปัญญา) กับอ๊อฟ (พลวุฒิ สงสกุล) คอนเทนต์ครีเอเตอร์การเมืองมาร่วมจัดรายการด้วย สองคนนี้เขาจะมีของสดใหม่จากภาคสนาม ผมมีของแก้จากประวัติศาสตร์มาเสริม มันก็เป็นส่วนผสมเก่าใหม่ ตอนแรกผมก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ฟัง เราก็ลองเล่าให้น้องๆ ทีมงานฟัง แต่เราบอกไม่ได้ทั้งหมดหรอกว่าคนฟังเป็นใคร จนกระทั่งจัดไปสักระยะถึงรู้ว่าคนที่รู้จักผมจากพอดแคสต์นี่คนรุ่นใหม่แทบทั้งนั้น ถ้ารู้จักผมจากหนังสือนี่ส่วนมากจะเป็นอีกรุ่น 

คุณมีฐานผู้ฟัง ผู้อ่านทั้งสองกลุ่ม คุณวางตัวอย่างไร เลือกประเด็นไหนในการสื่อสารให้คนสองวัย

        จุดยืนผมชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร คือผมไม่เคยสนับสนุน ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เผด็จการ เรื่องนี้ผมไม่เปลี่ยน ผมคัดค้านการที่คนคนหนึ่งตั้งตนแทนเสียงส่วนใหญ่ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ คุณก็ต้องไปทำงานทางความคิดให้เขาหันมาเห็นด้วยกับคุณ ไม่ใช่ไปตัดสิทธิ์ของเขาเพียงเพราะคุณคิดไปว่าคุณมีอำนาจกว่า การศึกษาดีกว่า มันไม่ได้ มันผิดอย่างชัดเจน นี่คือจุดยืนที่ผมยึดมั่น ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมว่าไปตามวาระ ผมมักจะใช้วิธีเล่าว่าเขาทำอะไร แล้วเคยทำอะไรมา ไม่ได้เล่าด้วยอารมณ์ ผมมาจากสื่อเก่า ยอมรับว่าผมยังระวังคำพูดอยู่ เพราะมันคือพอดแคสต์คุณพูดไปแล้ว คำพูดเป็นนายคุณเลย ไม่เหมือนงานเขียนที่คุณยังอีดิตได้ แต่การสื่อสารระวังมากไปมันก็ไม่ธรรมชาติ ผมเลยมองว่าหลักการชัดก็พอ อย่างน้อยคุณมีแก่นให้เกาะ คุณจะไม่หลุด

ที่ผ่านมามีกระแส #callout เรียกร้องให้ศิลปินดาราออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง คุณมองว่าจำเป็นไหมที่เราทุกคนต้องคุยเรื่องการเมือง นั่นเป็นจุดประสงค์ของการทำ The Power Game ที่มีสโลแกนว่า ‘คุยการเมืองเป็นเรื่องสนุก’ หรือเปล่า

        ผมว่าต่อให้เราจะตั้งโจทย์อะไรไป สุดท้ายเนื้อหามันจะมาจากตัวตนของเราเอง ไม่ว่าจะหนุ่มเมืองจันท์ เขียนเรื่องธุรกิจ หรือสรกล คุยเรื่องการเมือง บุคลิกของผมชอบเล่าเรื่องยากให้ง่ายอยู่แล้ว คนมักมีภาพจำว่าการเมืองคือยาขม เป็นหนึ่งในสามเรื่องที่เราถูกสอนว่าไม่ควรชวนคุย คือความเชื่อ ศาสนา และการเมือง ผมทำให้เรื่องเศรษฐกิจง่ายขึ้นแล้วในฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ มาทำ The Power Game ก็อยากให้การเมืองง่ายขึ้นบ้าง เหลืออีกเรื่องที่ยังทำไม่ได้คือศาสนา (หัวเราะ) แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะชอบนะ คอการเมืองหนักๆ เขาอาจรู้สึกว่ารายการนี้ไม่ได้ลึกมาก แต่ผมนึกถึงพี่เสถียรตอนแนะนำให้เขียนถึงผู้อำนวยการโรงเรียนยโสธรในฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ มาจัดพอดแคสต์ผมก็นึกถึงนักเรียน นักศึกษา คนทำงานรุ่นใหม่ ที่เขาอยากเข้าใจการเมืองมากขึ้น 

ในรายการตอนล่าสุด คุณบอกว่าหลังจากนี้จะพักรายการไปสักพัก ไม่เสียดายรายการที่กำลังกระแสดี มีคนติดตามเยอะ สถานการณ์การเมืองก็กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนเหรอ

        ผมตั้งใจจะเข้าถ้ำ ไปเขียนหนังสือมานานแล้ว เพราะมีงานชิ้นหนึ่งที่รับปากเขาไว้แต่ยังไม่ทำ ถ้าเรามองว่าต้องไปสู่จุดหนึ่งแล้วถึงจะพอ เราจะไม่มีวันไปถึงจุดนั้นหรอก เพราะความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว

 

หนุ่มเมืองจันท์

“ความหวังไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี”

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่อหนังสือของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ทุกเล่มมาจากบทเรียน ความเชื่อที่คุณมีต่อชีวิต ถ้าคุณจะเขียนหนังสือการเมืองสักเล่ม คุณจะตั้งชื่อว่าอะไรจากบทเรียนเกมอำนาจในประเทศนี้ที่ผ่านมา 

        นี่ตามอ่านบทสัมภาษณ์ผมหมดเลยใช่ไหม (หัวเราะ) คิดไม่ทัน ผมยังไม่มีแผนเขียนหนังสือการเมืองนะ ผมไม่ได้เป็นนักวิชาการที่จะมาทฤษฎีอะไรมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย ผมมองแค่ว่าประวัติศาสตร์การเมืองมันควรมีพัฒนาการ มันน่าเสียดายที่ประชาธิปไตยในประเทศเรากำลังจะเบ่งบาน แต่รัฐธรรมนูญจะย้อนกลับไปยี่สิบสามสิบปี ความคิดคนก้าวหน้าขนาดนี้แล้วคุณยังจะไปรั้ง ไปทวนเข็มนาฬิกา มันผิดธรรมชาติ

        ถ้าเราเอาประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลามาวาง นอกจากบทเรียนต่างๆ ที่หลายคนว่ากันไปแล้ว ผมว่ามีเรื่องสำคัญที่ทำให้เราวนอยู่ในเกมนี้คือ ผู้ชนะปล่อยวางไม่เป็น มีผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกว่าบทเรียนที่เขาได้จากประวัติศาสตร์เดือนตุลาคือ ม้าเมื่อมันวิ่งชนะแล้วมันต้องหยุด ถ้าม้ามันวิ่งไม่หยุด เดี๋ยวขามันจะหัก คือถ้าเราชนะแล้ว เราฮึกเหิม อยากชนะขึ้นไปอีก เรียงร้องไปอีก ขามันจะหัก แล้วอีกฝ่ายเขาก็จะรอเวลาให้คุณล้ำเส้น จนมวลชนไม่อยู่กับคุณ นี่เป็นหนึ่งในบทเรียนที่เราไม่ค่อยพูดกัน

        วันที่คุณใส่แหวนแห่งอำนาจเข้าไป คนเราจะเปลี่ยนโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าคุณให้เขาถอดแหวน ให้ยุบสภาฯ มันยากที่เขาจะถอดแหวน ลงจากบัลลังก์ เพราะเขาเชื่อว่าเขากำลังทำเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ นี่คือสิ่งที่อำนาจทำกับคุณโดยไม่รู้ตัว คนรอบข้างคุณเองก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน คุณจะลอยในคำชื่นชมว่าเก่งครับ ดีครับ สนับสนุนครับ ไอ้สิ่งแบบนี้มันเป็นอำนาจที่ทำให้คุณเหลิงทั้งนั้น และวันที่โหดร้ายที่สุดไม่ใช่วันขึ้นสู่อำนาจ แต่คือวันที่คุณพยายามรักษาอำนาจ เพราะคุณจะไม่ปล่อยมันไป คุณเชื่อว่าคุณรักษาความดีงามบางอย่างอยู่ 

แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดการผลัดเปลี่ยนผู้ครองเกมได้ ถ้าเขาไม่ยอมถอดแหวน

        เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเชื่อในวิถีประชาธิปไตย คืออย่างน้อยที่สุดสี่ปี เรามีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนผ่านผู้เล่นไปเรื่อยๆ ถ้าคุณเชื่อในวิถีนี้ วันหนึ่งคุณแพ้ คุณจะยอมไปลงแข่งในสนามการเลือกตั้งครั้งใหม่ ผมยอมรับเรื่องม็อบ เพราะเป็นสิทธิ์ของประชาชน แต่ควรจบในระบอบประชาธิปไตย กปปส. วันนั้นถ้ายอมแค่ยิ่งลักษณ์ลาออกแล้วปล่อยให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ทุกอย่างก็จะจบแล้วไปต่อได้ในหนทางประชาธิปไตย แต่พอคุณไม่ปล่อย เพราะคุณรู้ว่าคุณจะแพ้ในสนามเลือกตั้ง คุณก็ไม่ยอม แล้วเราก็กลับเข้าไปสู่ลูปของรัฐประหาร ทีนี้มันแพ้กันหมด 

ถ้าได้ในสิ่งที่ต้องการแล้วควรจะปล่อยให้เปลี่ยนผ่าน คุณมองว่าสำหรับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ควร ‘พอ’ ที่จุดไหน เพื่อไม่ให้เราตกอยู่ในสถานะผู้เล่นเกมอำนาจไม่ปล่อยเสียเอง 

        ผมมองว่าเราต้องไม่กำหนดเวลาชนะเร็วไป ไม่เช่นนั้นมันจะจบแรง ถ้าคนรุ่นใหม่เชื่อว่านี่คือการต่อสู้เชิงความคิด เกมนี้มันจะค่อยๆ ไปต่อเรื่อยๆ คุณแสดงให้เราเห็นแล้วว่ามีวิธีการใหม่ๆ ในการรับมือกับปัญหาเดิม คุณต้องใช้ความได้เปรียบในรุ่นคุณ ทั้งข้อมูล แพลตฟอร์มการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนเกมนี้ ที่แม้บางผู้เล่นจะยังคงใช้วิธีเดิมๆ แต่ความคิด วิธีการของคุณเปลี่ยน ผมเชื่อว่าเกมนี้จะไม่วนกลับไปเหมือนเดิม เพียงแค่มันจะใช้เวลา

ในสายตาของอดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และผู้สังเกตการณ์เกมอำนาจในประเทศนี้มายาวนาน คุณมีคำแนะนำใดให้คนรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้หรือไม่

        มีคำโบราณตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขบวนการนักศึกษาสมัยก่อนก็ใช้คือคำว่า ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ คุณไม่ได้สื่อสารแค่คนกลุ่มที่เห็นด้วยกับคุณอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าคุณก็ต้องการให้คนที่ยังลังเลสงสัยมาร่วมกับคุณด้วย ถ้าเช่นนั้นมันจำเป็นที่คุณต้องสร้างแนวร่วม คุณไม่ได้พูดเพื่อตัวเองแล้ว คุณต้องพูดด้วยภาษาเขาบ้าง พูดด้วยความเข้าใจบ้าง ลองดูว่าคุณจะสื่อสารกับคนรุ่นผมที่ไม่กล้าเหยียบหมอนได้อย่างไร ให้เขาค่อยๆ ลองนั่งทับหมอนดูอาจพอไหว แต่จะไปบอกให้เขาเหยียบหมอนเลย มันเขินๆ ขานิดนึงนะ คุณต้องเข้าใจความรู้สึกของมวลชน

        คำว่าเวลาอยู่ข้างคนไม่ใช่คำเท่ๆ แต่มันเป็นสัจธรรม ช่วงเวลาการรอมันอาจรู้สึกยาวนาน แต่ผมจะบอกว่ารุ่นคุณมีตัวเร่งความเร็วเยอะมากแล้ว โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียนี่เป็นเหมือนดิสรัปชันของการเมือง เหมือนสตาร์ทอัพที่มาดิสรัปต์โลกธุรกิจเลย คือมันเป็นโปรเจ็กต์เล็กๆ เริ่มจากความคิด ทดลอง กล้าทำ กล้าล้ม ขยายตัวเร็ว สร้างแนวร่วม ไม่เน้นได้ เน้นทำไปก่อน ม็อบสมัยก่อนต้องใช้ทุนมหาศาลหนุนหลัง แต่ม็อบสมัยนี้มีบัญชีท่อน้ำเลี้ยง ระดมทุนแบบ crowdfunding เลย ใครเห็นด้วยโอนมา จะได้มีแรงทำต่อ จะโอนยี่สิบบาทก็ได้ จะโอนแสนก็แล้วแต่ใครไหว ใครที่บอกว่านักศึกษามีคนอยู่ข้างหลัง เขาไม่รู้จักวิถีสตาร์ทอัพแบบนี้ 

เกมนี้ต้องดูกันยาวๆ เหมือนที่ ไซมอน ซิเน็ค เคยเรียกไว้ว่าเป็น The Infinite Game ชีวิตแท้จริงคือเกมอนันต์ ไม่มีจุดสิ้นสุดไหม

        ใช่ ผมเชื่อว่ามันไม่มีจุดที่เรียกว่าเส้นชัย ไม่มีคำตอบตายตัว ถ้าเราตั้งเป้าว่าจะไปให้ถึงจุดหมาย สุดท้ายเราอาจผิดหวัง เพราะจุดหมายมันต้องไปต่อเรื่อยๆ

        อย่าไปยึดมั่นกับอะไรขนาดนั้น แม้กระทั่งกับความดีงามก็เช่นกัน ถ้าเราคิดว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง ความคิดคนอื่นผิดหมด ล้าหลัง ความเห็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากสิ่งที่คุณกำลังต่อต้านผู้อยู่ในอำนาจทุกวันนี้ คือเขามองว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำเพื่อความดีงาม แต่แหวนแห่งอำนาจทำให้เขาลืมไปว่าคนอื่นอาจไม่ได้คิดแบบเขาก็ได้ อย่ายึดมั่นกับความดีงามจนยึดติดว่าคุณเก่งที่สุด คุณเท่านั้นที่คิดเป็น คิดถูกต้อง ทำในสิ่งที่ดีที่สุด เพราะความเชื่อเช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการเป็นเผด็จการในตัวของมันเอง 

อากาศเย็นลงในเดือนตุลาฯ แต่การเมืองไทยดูจะร้อนระอุในช่วงเดือนตุลาอีกครั้ง คุณมองว่าเกมอำนาจนี้จะเปลี่ยนไปเช่นไรหลังจากการชุมนุมของนักศึกษาครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้

        มันมีนิทานแอฟริกันโบราณเรื่องหนึ่งในหนังสืออัตชีวประวัติของ เนลสัน แมนเดลา ชื่อ ‘วิถีแมนเดลา’ (Mandela’s way : fifteen lessons on life, love, and courage เขียนโดย Richard Stengel) เรื่องมันมีอยู่ว่า มีชายแอฟริกันคนหนึ่งออกตามหาหญิงที่จะแต่งงานด้วย ก็เดินไปเรื่อยๆ เดินไปไกลมากก็ไม่เจอ จนกลับมาที่หมู่บ้าน เขากลับพบผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้สึกว่าใช่เลย นี่คือคนที่ตามหามานาน อยู่ข้างบ้านนี่เอง นิทานเรื่องนี้จบลงเท่านี้ ผู้เขียนถามว่าแมนเดลาว่านี่สอนอะไร สอนว่าเราต้องเดินทางไกล มีประสบการณ์ทั้งชีวิต เพื่อจะเจอสิ่งที่เราตามหาว่าอยู่ใกล้ตัวเหรอ หรือว่าให้เราเริ่มต้นจากสิ่งที่ใกล้ตัวก่อน แมนเดลาตอบว่า มันอาจถูกทั้งสองอย่างก็ได้ นี่คือที่มาของคำว่าโลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว

        ถ้าเชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง โลกนี้มีคำตอบใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ คนรุ่นก่อนที่ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่าไปมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ทันเกมหรอก เขามีความรู้ใหม่ๆ ของเขา มีวิถีทางของเขาเอง แต่ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็ต้องย้ำตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันอาจไม่ใช่คำตอบเดียว สิ่งที่ถูกต้องสำหรับคุณ มันอาจไม่ใช่คำตอบของคนอื่น

 

**หมายเหตุ: สัมภาษณ์ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2563**


1 คอลัมน์ ‘Xคลูซีฟ’ เป็นคอลัมน์บันทึกบทสนทนาเอ็กซ์คลูซีฟต่างๆ ที่สรกลได้เข้าร่วมวงพูดคุยด้วย อ่านตัวอย่าง ‘วิธีคิด-บทสนทนาบนโต๊ะอาหารกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’เมื่อปี 2548’ ได้ทาง https://www.matichonweekly.com/scoop/article_329618 

2 สรรพสิริ วิรรยศิริ นักข่าวผู้นำเสนอข่าว ‘6 ตุลา’ ก่อนที่จะถูกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปลดเขาออกจากทุกหน้าที่ในทีวีช่อง 9 และวิทยุ ท.ท.ท. ถูกสอบสวนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกดำเนินคดี และอายัดทรัพย์ทั้งครอบครัว อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://www.silpa-mag.com/history/article_20876 

3 อ่าน ‘เปิดใจนักแสดงและบทละครแขวนคอ ย้อนดูการ ‘ปั่น’ ความเกลียดชังก่อน 6 ตุลา’ เพิ่มเติมได้ทาง https://prachatai.com/journal/2019/10/84633