เก็บตก 10 เรื่องสำคัญ กับ ธารา บัวคำศรี แห่งกรีนพีซ ประเทศไทย กับมหากาพย์น้ำมันรั่ว

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้คนทั้งประเทศพร้อมใจกันจับตามองไปที่กรณีน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่เกิดการรั่วไหล บริเวณใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง จนส่งผลให้เกิดคราบน้ำมันแผ่กระจายกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง กระทั่งซัดเข้าสู่ชายฝั่งบริเวณหาดแม่รำพึงในที่สุด

        อย่างที่เห็นในภาพข่าว น้ำทะเลสีฟ้าใสกลับกลายเป็นน้ำสีน้ำตาลขุ่น หาดทรายเม็ดละเอียด ถูกคราบน้ำมันปนเปื้อนจนหมดความสวยงาม ไม่นับบรรดาสัตว์ทะเลที่ต้องถูกทรมานจากทั้งคราบน้ำมันและสารเคมีโดยไม่รู้ตัว

        หลังผ่านช่วงลุ้นระทึกว่าคราบน้ำมันเหล่านี้จะลอยไปเข้าฝั่ง เพิ่มความเสียหาย ณ จุดใดอีกบ้าง บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยกันขจัดคราบน้ำมันเหล่านี้ให้หมดไป แต่ถึงอย่างนั้น ในคำว่า ‘หมด’ ยังมีผลพวงของความเสียหายตามมา ทั้งที่ปรากฎออกมาแล้ว และรอเวลาปรากฎอีกไม่น้อย

        นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับอุบัติภัยที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะเมื่อย้อนกลับไป 8 ปีก่อน เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กระทั่งมาถูก ‘กระทำซ้ำ’ อีกรอบ แม้จะต่างกรรม ต่างวาระ (และต่างบริษัทน้ำมัน) แต่ผลลัพธ์คล้ายๆ กัน คือ ‘ความเสียหาย’ ที่ไม่อาจประเมินค่าได้

        หลังเหตุการณ์คลี่คลายลงช่วงปลายเดือนมกราคม  ปรากฎว่าเมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ยังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลขึ้นอีกครั้งกว่า 5 พันลิตร  a day BULLETIN จึงนัดพูดคุยกับ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่ตามติดอุบัติภัยกันมาตั้งแต่ต้น เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนเรื่องราวใดที่เป็นนัยสำคัญบ้าง เรารวบรวมออกมาเป็น 10 ข้อสำคัญ พร้อมชวนคุณอ่านและเรียนรู้ไปกับปัญหาที่ ‘ฉายซ้ำ’ มานับร้อยๆ ครั้งกันต่อจากนี้…

1
ท้องทะเลไทย… น้ำมันรั่วไหลเป็นประจำ

        เราเริ่มต้นคุยกับธาราถึงอุบัติภัยน้ำมันรั่วไหลทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมา หากเอาข้อมูลทางสถิติมาย้อนดู ปรากฏว่าท้องทะเลไทยในรอบกว่า 40 ปี มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ครั้ง

        “ส่วนใหญ่ประมาณ 70% เป็นการรั่วไหลขนาดเล็ก เราเรียกว่า Tier 1 และอีก 30% เป็นการรั่วในระดับกลาง คือ Tier 2 แต่ถึงจะเป็นระดับกลาง ปริมาณที่รั่วกว่าแสนลิตร ก็ถือว่าหนักหนาแล้วล่ะ”

        ธาราขยายให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า ปกติจะแบ่งลักษณะการรั่วไหลออกมาเป็น 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งลักษณะที่เป็นขนาดใหญ่ หรือเรียกว่า Tier 3 นั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะต้องมีปริมาณการรั่วหลักล้านลิตรขึ้นไป แต่ถึงอย่างนั้นกับเหตุการณ์ครั้งล่าสุด ก็ถือเป็นความหนักหนาเอาการอยู่ทีเดียว

        “เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขนาดเล็ก แต่ความถี่ที่เกิดถือว่าเยอะ หากคิดง่ายๆ 200 ครั้งในรอบ 40 ปี เฉลี่ยปีหนึ่งต้องเกิด 5 ครั้ง เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญมากๆ แล้วอีกอย่าง เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น มักจะไม่ค่อยมีข้อมูล ถ้าไปดูในฐานข้อมูลของกรมเจ้าท่า ที่เป็นหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ จะมีช่องหนึ่งที่ให้ระบุปริมาณของน้ำมันที่รั่วไหลออกมา ปรากฏว่าในนั้นมักจะเขียนว่า  ‘ไม่ทราบ’ เสียเป็นส่วนใหญ่”

        ธาราบอกว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากบางเหตุการณ์เป็นการรั่วไหลแค่เพียงเล็กน้อย หรือเกิดจากกิจกรรมการขนส่งในภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีความชัดเจน แต่ไม่ว่าจะรั่วขนาดเล็กหรือรั่วขนาดใหญ่ อย่างไรก็กระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไมได้

        “เราอาจไม่ต้องไปรู้ก็ได้ว่ามันรั่วมากหรือน้อย เพราะยังไงมันก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในมุมกลับกัน ถ้าเรารู้ว่ามันรั่วออกมาเท่าไหร่ มันจะช่วยในเรื่องของการติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากข้อมูลตัวนี้จะเป็นตัวตั้งต้นของทุกอย่าง”

2
ทะเลย่านนี้… ที่สุดของความชอกช้ำ

        หากมีการจัดอันดับ ‘พื้นที่น้ำมันรั่ว’ ที่เกิดขึ้นวนเวียนอยู่บ่อยๆ ธาราบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของจังหวัดที่อยู่ใกล้กับบริเวณอ่าวไทย อันได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง 

        “จังหวัดเหล่านี้เป็นโซนที่เสี่ยงที่สุดจากอุบัติภัยน้ำมันรั่ว ด้วยความที่มีการจราจรทางน้ำ การขนส่งทางน้ำ และมีการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เป็นท่อใต้น้ำ” 

        ถามว่าทำไมพื้นที่เหล่านี้ถึงเกิดการรั่วของน้ำมันได้อยู่เป็นประจำ คำตอบส่วนหนึ่งเป็นเพราะ มันถูกออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมหนักของประเทศนั่นเอง 

        “ในช่วงของการพัฒนาประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรม เราพึ่งพาภาคการผลิตปิโตรเลียมมาตลอด แต่ก่อนเราเรียกพื้นที่นี้ว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESIE) ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็นอิสเทิร์น อีโคโนมิค คอร์ริดอร์ หรืออีอีซี ซึ่งก็เป็นความฝันของเราที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นคล้ายๆ กับสปริงบอร์ดในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

        “แต่ในมุมกลับกัน ทะเลในแถบนี้จึงกลายเป็นทะเลที่น่าสงสาร กลายเป็นพื้นที่ที่รองรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน มันก็ยังต้องทำหน้าที่ให้บริการทางระบบนิเวศแก่เรา คือผลิตออกซิเจน ดูดซับคาร์บอน รับแรงกระแทกการเปลี่ยนแปลงที่อยู่บนบก ไหนจะต้องมารับความเสี่ยงจากอุบัติภัยน้ำมันรั่ว หรือมลพิษทางทะเลอื่นๆ อีก ถือว่าทำหน้าที่หนักมาก”

3
ภาครัฐกับความรับผิดชอบในความเสียหาย

        “ไม่ว่าจะรั่วมากรั่วน้อยมันก็กระทบ แต่ที่เสียหายที่สุดคือความเชื่อมั่น”

        ธาราตอบคำถามถึงเรื่องความเสียหายจากอุบัติภัยหนนี้ ความเชื่อมั่นที่เขาพูดถึง คือการบริหารจัดการอุบัติภัยในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่

        “เราพยายามจะขยายภาคอุตสาหกรรม เช่น ไปสร้างนิคมคล้ายๆ กับที่มาบตาพุดขึ้นที่อำเภอทางภาคใต้ แต่คำถามคือ ถ้าเราสนับสนุนให้มีแผนการสร้างเหล่านี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ใครจะเป็นผู้รับรอง หรือสร้างความเชื่อมั่นได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น

        “อย่างเหตุการณ์นี้ ภาครัฐประกาศออกมาวันแรกๆ รับรองว่าจะไม่เกิดผลกระทบ ขอให้วางใจ เราฟังแล้วก็รู้สึกว่า เอาความมั่นใจมาจากไหน การพูดลักษณะนี้เหมือนพยายามบอกว่าเรื่องน้ำมันรั่ว เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง และสามารถจัดการได้ พยายามทำให้รู้สึกว่า การรั่วไหลเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งในความเป็นจริงเรามีชุดความคิดแบบนี้ไม่ได้”

        อีกเรื่องที่ธาราตั้งเป็นข้อสังเกต คือข้อเท็จจริงของปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันควรสื่อสารออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการติดตามผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นตามมา

        “ผมได้ตามแถลงการณ์ที่ออกมาอยู่ตลอด ทีแรกทางรัฐมนตรีอุตสาหกรรมแจ้งตัวเลขในคืนเกิดเหตุอยู่ที่ 4 แสนลิตร ตอนเช้ามาประเมินใหม่เหลือ 1.6 แสนลิตร เสร็จแล้วมีการส่งนักประดาน้ำลงไปดูจุดที่รั่ว พอนักประดาน้ำขึ้นมาก็บอกว่า ปริมาณอยู่ราวๆ 5 หมื่นลิตร ต่อมาทางรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ว่า สามารถควบคุมคราบน้ำมันให้เหลือในทะเลเพียง 5 พันลิตร (ข่าวเมื่อ 26 มกราคม 2565) เท่านั้นยังไม่จบ เพราะในแถลงการณ์ของบริษัทต้นเหตุ ก็แจ้งปริมาณน้ำมันอยู่ที่ 20-50 ตัน ซึ่ง 1 ตันก็คือ 1,000 ลิตร พอคูณเข้าไปก็คือปริมาณ 2 แสน ถึง 5 แสนลิตร แต่ถามว่าทำไมต้องทำให้ดัวเลขมีความคลุมเครือ แล้วจากหน่วยลิตรมาเป็นหน่วยตัน ทำให้ความรู้สึกดูเล็กลงด้วยหรือไม่

ภาพ: AFP

        “เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า ความสอดคล้องกันทางข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ การสื่อสารที่สับสน จะทำให้คนที่ติดตามข้อมูลมีความสับสนไปด้วย แต่ภาคอุตสาหกรรมเขามีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารกับสาธารณะ เขารู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต จะต้องบอกอะไรบ้าง ถ้าบอกไปหมด เขาก็จะแย่ เพราะมันจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปทำลายความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น ของนักลงทุน หุ้นก็จะตกลง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่การบริโภคน้ำมันทั่วโลกลดลงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการสื่อสารอะไรออกไป ต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก”

4
ปริมาณน้ำมันรั่วไหล คือเท่าไหร่กันแน่?

        ประเด็นเรื่องการสื่อสาร ‘ตัวเลข’ ปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมาครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้ ธาราบอกว่า เพราะนี่คือข้อมูลตั้งต้นที่จะนำพาไปสู่การประเมินความเสียหาย รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา 

        “จริงๆ เราสามารถคำนวนคร่าวๆ ได้เอง เรื่องนี้ต้องโยงไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความที่เขาเป็นประเทศที่มีการรั่วไหลของน้ำมันดิบบ่อยครั้ง ทางองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ NOAA จึงผลิตคู่มือออกมาให้ประชาชนได้ใช้ทำความเข้าใจแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ดูแถบสีของน้ำมัน สีแบบไหนแสดงถึงความหนาแน่นที่อยู่บนผิวทะเล เพื่อให้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และรวมไปถึงการคำนวนพื้นที่ความเสียหายแบบคร่าวๆ ได้”

        “ทีนี้วิธีการคำนวนแบบคร่าวๆ เราใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมของทาง GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) ซึ่งกินพื้นที่ของคราบน้ำมันอยู่ที่ราวๆ 11 ตารางกิโลเมตร ถ้าอยากคำนวนว่ามีปริมาณน้ำมันอยู่เท่าไหร่ เราก็ใช้สูตรหาปริมาตรง่ายๆ คือเอาความกว้างคูณความยาวคูณความสูง สมมติเราได้พื้นที่ 11 ตารางกิโลเมตร เราประมาณการความหนาของชั้นน้ำมัน โดยดูจากสีความเข้มข้น น่าจะอยู่ที่ราวๆ 5 ไมครอน ซึ่งเทียบเท่าความบางของเส้นผม พอนำมาคูณกัน ถอดหน่วยต่างๆ ออกมาแล้วจะมีปริมาณอยู่ที่ราวๆ ห้าหมื่นแปดพันกว่าลิตร แต่ถ้าเพิ่มความบางเข้าไปอีกเป็น 50 ไมครอน ตัวเลขที่ออกมาก็จะอยู่ที่ประมาณห้าแสนแปดพันกว่าลิตร ซึ่งเมื่อเทียบจากตัวเลขที่ทางบริษัทเจ้าของน้ำมันดิบแจ้งออกมาครั้งแรกที่สี่แสนกว่าลิตร ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุด

        “แต่วิธีนี้คำนวนนี้ก็ยังเป็นการคำนวนแบบค่ราวๆ เราเรียกว่าเป็นวิทยาศาสร์พลเมือง (Citizen Science) ซึ่งเป็นวิธีคิดพื้นฐานแบบง่ายๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวล การพยายามคำนวนหาปริมาณเหล่านี้ เราถือว่านี่คือบันไดขั้นแรก หรือเรียกว่าเป็นการตั้งต้น เพื่อที่จะนำทางไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบ การฟ้องร้อง หรือเป็นข้อมูลประกอบในการเรียนรู้ต่อไป”

5
ขจัดคราบน้ำมัน แต่เครื่องมือขาดแคลน

        จากข้อเท็จจริงอีกประการที่น่าสนใจ คือการขจัดคราบน้ำมัน แม้จะใช้เวลาอันรวดเร็วในการจัดการให้คราบน้ำมันหมดไป แต่ธาราได้ตั้งข้อสังเกตถึง ‘วิธีการ’ รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ดูจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์นัก

        “ทะเลตรงจุดนั้นห่างจากชายฝั่ง 20 กิโลเมตร และลึกเพียง 20 เมตร คือเป็นทะเลน้ำตื้น ดังนั้น สิ่งแรกที่ไม่ควรทำเมื่อน้ำมันรั่วคือ อย่าใช้สารเคมี เพราะมันจะเกิดผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางที่เหมาะสมคือ ควรเอาบูม (boom) มากั้นคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัด เสร็จแล้วให้เอาเครื่องมือที่เป็นลักษณะเรือเก็บคราบน้ำมัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า สกิมเมอร์ (skimmer) เพื่อดูดเอาคราบน้ำมันขึ้นไปบนเรือ คือดูดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วถ้ามันเล็ดรอดจากบูมไปได้ ค่อยใช้สารเคมี

        “แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจตามมาอีก คือตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ในพื้นที่เดียวกัน ประเทศไทยไม่มีสกิมเมอร์ใช้ เนื่องจากไม่มีการลงทุนซื้อเข้ามา โอเค เราอาจจะไม่ได้ใช้กันบ่อยๆ แต่มันคืออุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี หรืออย่างวันแรกที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ภาพที่เผยแพร่ออกมา เรายังไม่มีแม้แต่บูมใช้ด้วยซ้ำ ซึ่งประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ถึง 6 โรงอย่างประเทศไทย อย่างน้อยที่สุด เราควรมีเครื่องมือเหล่านี้ไว้เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามีแผนรับมือก็จริง แต่เราไม่มีเครื่องมือ” 

6
อาฟเตอร์ช็อก… รอเกิดขึ้นอีกมากมาย

        เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า ปริมาณน้ำมันหลักหมื่นหลักแสนลิตร แม้จะถูกขจัดให้หมดไปจากผิวทะเล แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมานั้นยังมีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะมาทั้งทางตรง หรือแม้แต่ทางอ้อม

        “การใช้สารเคมีในการขจัดคราบน้ำมัน มันมีผลทำให้น้ำมันแตกตัวและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยโมเลกุลของมันจะเกาะตัวกลายเป็นโครงสร้างใหม่ที่เรียกว่า โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นโมเลกุลที่เกาะตัวแน่นมาก และที่สำคัญ มันเป็นสารก่อมะเร็ง ถึงแม้จะมีอยู่ในปริมาณน้อย แต่ถ้าสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต อาจส่งผลอันตรายได้ เช่น ถ้าปลาตัวเล็กตัวน้อยกินเข้าไป จากนั้นปลาใหญ่ก็ไปกินปลาเล็ก ต่อมาปลาใหญ่ถูกคนจับขึ้นมาบริโภค จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไมได้ที่อาหารทะเลในบริเวณนี้ จะถูกตั้งคำถามว่า ปลอดภัยหรือไม่

        “มันจึงย้อนกลับไปที่เรื่องความเสียหาย ที่นอกจากความเชื่อมั่นของรัฐจะลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็จะลดลงด้วย แน่นอน คนที่ทำร้านอาหารทะเล หรือชาวบ้านที่รับซื้อปลามาจากชาวประมง ย่อมได้รับผลกระทบ ภาวะเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ก็ต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน”

ภาพ: AFP

        เรื่องที่ธาราเล่ามาคือผลกระทบระยะสั้น แต่สำหรับผลกระทบในระยะยาว ก็มีปัญหาที่รออยู่ไม่น้อยเช่นกัน

        “คราบน้ำมันที่ขจัดลงไปในทะเลครั้งนี้ บางส่วนจะฟอร์มตัวเป็นก้อนน้ำมันดิบเล็กๆ อยู่ใต้ทะเล เราเรียกว่าทาร์บอล (tarball) ซึ่งวันดีคืนดีมันจะค่อยๆ กลิ้งไปตามท้องทะเล และบางส่วนก็จะขึ้นฝั่ง รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น พวกนี้เราเรียกว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกของน้ำมันรั่ว และไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ อาจจะเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และต้องตามดูว่ามันจะมีปริมาณเยอะขนาดไหน

        “อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องรอดูว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ คือสารเคมีที่ใช้ขจัดคราบน้ำมัน โดยปกติจะเป็นสารซัลเฟต ซึ่งเป็นสารอาหารของแบคทีเรีย รวมทั้งแพลงตอนในทะเล นั่นหมายความว่าพอแพลงตอนกินเข้าไปมากๆ เข้า มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าแพลงตอนบูม คือทะเลเต็มไปด้วยสาหร่ายแพลงตอน ซึ่งด้วยตัวมันเองก็เป็นพิษอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลด้วยอีกทาง”

7
อย่าปล่อยให้ปัญหาจมหายไปในทะเล

        หลังขจัดคราบน้ำมันให้หมดลง เรื่องต่อมาคือการตามหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายหนนี้ ธาราบอกว่า ขั้นตอนการชดใช้ค่าเสียหายของทางบริษัทผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อยู่ในระหว่างการดำเนินการ และการตรวจสอบในรายละเอียดต่างๆ แต่เรื่องที่น่าเป็นกังวล คือความเสียหายในสภาพแวดล้อมที่ประเมินค่าออกมาไม่ได้อย่างแน่นอน

        “เมื่อตอนเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2556 ตอนนั้นมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบ เรียกว่าเป็นไตรภาคี คือมีฝั่งของบริษัท ภาครัฐ และภาคประชาชนในพื้นที่ ส่วนสิ่งที่ทำควบคู่กันไปคือการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ปรากฏว่า มาถูกเรื่องราวแบบเดียวกันซ้ำเข้าไปอีก เราไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมบริเวณนี้จะกลับมาฟื้นตัวอีกเมื่อไหร่

        “ขณะนี้ทางบริษัทต้องรอข้อมูลว่า มีความเสียหายเท่าไร เพื่อที่จะชดใช้ ส่วนในเชิงกฎหมายเห็นว่าจะมีการฟ้องเอาผิด เพราะเรื่องนี้ถือว่าทำผิดกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ. เดินเรือ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยความผิดทางแพ่งว่าด้วยมลพิษน้ำมัน ซึ่งผลสรุปจะออกมาเป็นค่าปรับ เช่น ปรับหนึ่งล้านบาท สองล้านบาท อะไรว่ากันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเสียหายของพื้นที่ในระยะยาว มันประเมินค่าออกมาไม่ได้

        “ในแง่ของเรื่องราวตอนนี้ มันถูกทำให้จบลงในมุมที่ว่า เราขจัดคราบน้ำมันได้แล้ว ไม่มีน้ำมันเหลือแล้วในทะเล แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันเป็นหน้าที่ของภาคประชาชน องค์กรต่างๆ หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งสียง มันอาจจะเป็นเสียงที่โหวกเหวกบ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมไทย เราควรที่จะทำให้มันเป็นประเด็นสาธารณะ ให้เกิดการรับรู้มากขึ้น ให้ผู้ก่อมลพิษรับรู้ว่ามีคนจับตาคุณอยู่นะ เพราะฉะนั้น คุณจะต้อง take accountability หรือแสดงความรับผิดชอบ อย่าปัดเรื่องนี้ให้หายจมทะเลไป”

ภาพ: AFP

8
มีทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่?

        อย่างที่ธาราเล่าไปตอนต้น ในรอบ 40 ปี มีอุบัติภัยน้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยเกิดขึ้นกว่า 200 ครั้ง ดังนั้น คงไม่ต้องถามว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ตราบใดที่ภาคอุตสาหกรรมยังเป็นเรื่องสำคัญต่อการนำพาประเทศไปข้างหน้า จึงอาจจะต้องมาทบทวนคำถามเสียใหม่ที่ว่า มันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร และทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นน้อยลง จนไม่เกิดขึ้นอีก

        “ผมคิดว่าในภาคอุตสาหกรรม ถ้ามีการตรวจสอบ ซ่อมบำรุง และมีการซักซ้อมวางแผนป้องกันอยู่เสมอ เหตุการณ์นี้จะลดลงได้ คืออยากให้คิดไว้เสมอว่าการทำอุตสาหกรรม โดยเฉพาะปิโตรเลียม มันมีความเสี่ยงซ่อนเร้นอยู่เสมอ ความเสี่ยงไม่มีทางเป็นศูนย์ได้ เพราะฉะนั้น การรับมือกับความเสี่ยง จึงควรที่จะต้องมีอุปกรณ์ เครื่องมืออันเพรียบพร้อม มากกว่าการปัดปัญหาให้สูญหายไป เช่น การเทสารเคมีลงไปในทะเล”

        “ในส่วนของภาพใหญ่ นั่นคือนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่รัฐไปประกาศเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา แต่ในคราวเดียวกันเรากำลังมีโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ภาคใต้ มีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีท่าเรือน้ำลึก มีการขยายการผลิตปิโตรเลียม คำถามคือ มันไม่สวนทางกันหรืออย่างไร ทำไมเราไม่ดูแลโครงการต่างๆ ที่มีให้ดีที่สุดก่อน เพราะภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีมาตรฐานการดูแลที่สูงมากๆ ดังนั้น ที่อื่นยังไม่ต้องไปขยาย ไม่อย่างนั้นเราคงหาทางออกจากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ดี”

9
ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

        เป็นความจริงอีกเช่นกันว่า ถึงอย่างไร ภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องเดินหน้า แต่จะทำอย่างไรให้การเดินหน้าต่อไปในอนาคต สามารถคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกันไปด้วย ธารามองว่า เรื่องนี้ควรมีหลักกการสำคัญอยู่ 4 อย่าง

ภาพ: AFP

        “อันดับแรก ผู้ที่เป็นคีย์เพลเยอร์หลัก คือภาคอุตสาหกรรม จะต้องมี accountability หรือความรับผิดชอบ อย่างกรณีนี้ พอน้ำมันรั่วไหลออกมา ควรออกมายอมรับความจริง คำนวนความเสียหาย ซึ่งมันอาจจะเป็นจำนวนที่มหาศาลมาก แต่อย่างน้อยทางออกในเรื่องความรับผิดชอบ มันจะช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันของเจ้าภาพอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ชาวประมง ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ หรือภาคธุรกิจอื่นๆ ได้มีบทบาทในระดับเดียวกัน สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ โดยไม่มีฝ่ายใดมาครอบงำ ซึ่งมันจะนำมาซึ่งหลักการที่สองคือ governance หรือการมีธรรมาภิบาล

        “ธรรมาภิบาลคือการมีการบริการจัดการที่ดี เช่น ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมน้ำมันอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น มีการลงทุนกับเรื่องอุบัติภัย คือพูดง่ายๆ ว่า หากเรายังต้อง maintain กิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้อยู่ ก็ควรต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ดี มีเครื่องไม้เครื่องมือ สร้างความเชื่อมั่นในการจัดการกับอุบัติภัย หรือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ให้กลับคืนมา

        “ข้อต่อมาคือ ภาครัฐควรปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน บางทีการเอาหน่วยงานต่างๆ มาบูรณาการประสานกัน ผมคิดว่ามันไร้ประสิทธิภาพ เช่น เวลามีนักข่าวไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่านก็พูดอย่างหนึ่ง พอไปสัมภาษณ์อธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็พูดอีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าควรจะมี Thailand Environmental Protection Agency เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมตั้งแต่ต้นจนจบ และมีอำนาจตามขอบเขตหน้าที่ สามารถจัดการ สั่งการได้ ไม่ต้องไปรอกรมนั้นกรมนี้ แต่การจะมีตรงนี้ได้ ต้องปฏิรูประบบกฎหมายสิ่งแวดล้อม และระบบโครงสร้างทางอำนาจด้านสิ่งแวดล้อมในภาครัฐให้ได้เสียก่อน

 

        “ส่วนหลักการข้อสุดท้าย คือภาคประชาชน ต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งความหมายของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต้องได้รับการสนับสนุนจาก 3 ข้อก่อนหน้าที่พูดถึงไป อย่างกรณีน้ำมันรั่ว เราพบว่าชาวประมงพูดอะไรไปไม่มีใครเชื่อ คุณเอาอะไรมาพิสูจน์ว่าตัวเองเดือดร้อน เรื่องอะไรทำนองนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนมากขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่า ภาคประชาชนนี่เองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” 

10
ก่อนที่มันจะสายไป จงให้เกียรติต่อธรรมชาติ 

        ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติภัยทำนองนี้ขึ้นอีก แต่ตราบใดที่กลไกในการขับเคลื่อนประเทศยังคงต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมัน ข้อสรุปสุดท้ายคือการตระหนักรู้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความเสียหายเหล่านี้เกิดขึ้นอีกแบบซ้ำๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด

        “เรามีทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์มาก ทะเลไทยคือแหล่งอาหารของทุกคน ถึงแม้เราจะบอกว่า พื้นที่ตรงนี้เราสังเวยให้กับมลพิษไปเรียบร้อยแล้ว อย่าไปสนใจมัน เพราะเราจะต้องแลกมากับการลงทุน การนำเข้า เงินจะได้ไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ประเทศจะได้โงหัวขึ้น ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม เรากระทำกับระบบนิเวศทางทะเลแบบหยาบคายมาก คือถ้าทะเลเป็นคนคนหนึ่ง คงอยากบอกว่า ฉันไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว”

        เป็นความจริงที่ว่า ‘ทะเล’ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ‘พูดไม่ได้’ แต่เราก็ไม่ควรกระหน่ำย่ำยี เพราะถึงที่สุด ถ้าวันหนึ่งวันใดไม่มีทรัพยากรเหล่านี้ขึ้นมาจริงๆ ชีวิตมนุษย์อย่างเราๆ อาจถึงคราวต้องลำบากอย่างที่สุดก็เป็นได้

 

        “มนุษย์มักจะคิดว่าเดี๋ยวทะเลก็ฟื้น เดี๋ยวป่าก็ฟื้น เดี๋ยวดินก็ฟื้น แต่ถ้าวันหนึ่ง มันเดินทางไปสู่จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า มันฟื้นฟูอีกไม่ได้ ทีนี้ล่ะเราจะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน และพอเราถูกบังคับให้เปลี่ยน เราจะรู้สึกว่าทำไมธรรมชาติโหดร้ายกับเราเหลือเกิน”


เรื่อง: สันทัด โพธิสา | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ