ฟอร์ด ทัตเทพ

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี: ความรัก ความหวัง และอิสรภาพในประเทศไทย

“เราคือผลผลิตของสังคม ที่ถูกเลี้ยงดูจากความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด”

        นี่คือคำกล่าวของ ‘ฟอร์ด’ – ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เมื่อเราเปิดโอกาสให้สรุปชีวิตตัวเองหนึ่งประโยคสั้นๆ หลังจากได้เล่าเรื่องราวชีวิตที่ต้องสัมผัสความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับครอบครัว อำนาจนิยมในระบบการศึกษา หรือแรงกดทับทางเพศวิถี ทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้เขากลายเป็นนักกิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นต่างๆ อยู่เป็นระยะ

        ปัจจุบัน ทัตเทพออกมาเคลื่อนไหวในฐานะเลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) เพื่อต่อต้านความบิดเบี้ยวของสังคมในหลากหลายประเด็น ด้วยการจัดม็อบคณะราษฎร 2563 จนสร้างแรงกระเพื่อมและกลายเป็นประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน

        ต่อจากนี้คือเรื่องราวของวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งเล่าถึงเส้นทางชีวิตในฐานะนักสู้ของสังคม ที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมในหลายด้านทั้งการเมือง เพศภาพ และความเท่าเทียมของมนุษย์

        เขาหวังว่า วันหนึ่งประเทศไทยจะเอาชนะอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้

 

ฟอร์ด ทัตเทพ

Youth of the Nation

จำได้ไหมว่าสมัยก่อน เด็กชายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี โตมากับสภาพสังคมแบบไหน 

        เด็กชายฟอร์ดโตมาใจกลางเมืองแถวบางรัก ร้านข้าวที่ไปกินบ่อยที่สุดก็คือแถวเยาวราช ที่สำคัญคือโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางถึงล่าง มีรายได้ที่ไม่ได้ดีนัก ไม่ถึงกับอดอยากแต่ก็ไม่ได้สามารถที่จะหาเงินเพื่อใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้ 100% คือลำพังแค่หาเลี้ยงชีพไปวันๆ มันก็ยังอยู่ได้

        เป็นเด็กคนหนึ่งที่มีเวลาอยู่กับพ่อแม่น้อย พวกเขาทำอาชีพค้าขาย ตื่นมาก็ออกไปขายของข้างนอกแล้ว บางวันก็ขายอาหาร บางวันก็ขายเสื้อผ้า กว่าจะกลับถึงบ้านทีก็สี่ห้าทุ่ม ซึ่งตอนนั้นเราก็ดูละครหลังข่าวจบ เข้านอนเรียบร้อยแล้ว 

        จำได้ว่าตอนนั้นเพื่อนที่ดีที่สุดของเราก็คือคอมพิวเตอร์ เราเป็นเด็กติดเกม (หัวเราะ) ช่วงปิดเทอมตอนมัธยมต้นนี่อย่าเรียกว่านอนดึกเลย นอนเช้าดีกว่า นั่งเล่นเกมติดต่อสื่อสารกับเพื่อนผ่านโลกอินเทอร์เน็ต แล้วตอนนั้นไม่ได้เล่นเฟซบุ๊กหรืออะไรเลย คือติดต่อกับเพื่อนผ่านเกมตลอด 

        ซึ่งทั้งหมดนี้ หากย้อนกลับมามองในวันนี้ เรามองว่ามันคือการตอกย้ำว่าเราอยู่ในฐานะ ‘เหยื่อ’ ของระบบที่มันเหลื่อมล้ำ ที่สร้างความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจให้ครอบครัวและตัวเราได้มากขนาดนี้ 

ย้อนกลับไปในวันนั้น คุณมองเห็นปัญหาตรงหน้าเป็นความเหลื่อมล้ำเลยหรือ

        ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจปัญหาทางการเมืองเลย เราแค่รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเราไม่ได้เหมือนเพื่อนในห้องเรียน ทำไมเรามีชีวิตที่ดีได้ไม่เท่าคนอื่น ทำไมครอบครัวเราถึงไม่ขยันทำมาหากินวะ ทำไมไม่เตรียมความพร้อมให้ลูกหลานมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ทั้งหมดคือความอิจฉาครอบครัวอื่น โดยที่ไม่ได้มองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย 

        แต่ในช่วงมัธยมปลาย ที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงแบ่งเป็นสองขั้ว เป็นช่วงที่การเมืองกำลังแตกหักอย่างจริงจัง เราเลยได้เรียนรู้ ได้รู้จักกับกลุ่ม กปปส. (People’s Democratic Reform Committee) ที่มีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป มีการไปขวางคูหาเลือกตั้ง 

        พูดตามตรงตอนนั้นตกใจมาก เราตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ช่วงนั้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เรายังมีชุดความคิดว่ากลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดงตอนปี 2553 ทะเลาะกันเพราะเขาไม่ชอบกันอยู่เลย (หัวเราะ) แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม กปปส. ทำให้เราเริ่มมองในเชิงระบบมากขึ้น เริ่มตั้งคำถามว่าเหตุการณ์เหล่านี้สมกับคำว่าประชาธิปไตยหรือไม่

        เราก็เลยไปปรึกษาครูที่โรงเรียน โชคดีที่ครูวิชาสังคมเป็นครูพิเศษจากข้างนอก เขาก็อธิบายให้ฟังเรื่องของหลักการ แล้วก็แนะนำให้เราลองอ่านหนังสือเพื่อเปิดโลกให้ตัวเองดู

หนังสือเล่มไหนที่ช่วย ‘เบิกเนตร’ ให้คุณเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง และมองเห็นปัญหาทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

        เล่มแรกเราอ่านในช่วงมัธยมปลาย เป็นหนังสือรัฐศาสตร์เบื้องต้น ที่อาจจะไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยมากเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เราเข้าใจโครงสร้างและพื้นฐานทางการเมือง จากนั้นเราจึงเอาความรู้ตรงนี้ไปพัฒนา ไปประยุกต์ใช้ต่อ 

        ส่วนอีกที่น่าจะใช้คำว่าเบิกเนตรได้จริงๆ คือเล่มที่ขายดีในงานหนังสือปีที่ผ่านมาพอสมควร เป็นหนังสือเล่มสีชมพู หน้าปกมีคำว่า ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ เขียนไว้อยู่ สำหรับเรา นี่เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่อ่านแล้วไม่อยากวาง แม้มันจะหนามาก (หัวเราะ) คือมันวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างไป เพราะถ้าเปรียบเทียบกับหนังสือประวัติศาสตร์ในโรงเรียนที่เป็นประวัติศาสตร์ด้านเดียว หนังสือเล่มนี้เขาสอนให้เราตั้งคำถามและมองปัญหารอบด้านมากขึ้น

และทำให้กลายเป็นคนที่กล้าลุกออกมาเผชิญหน้ากับปัญหา ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้วยหรือเปล่า

        ช่วงที่เราออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองจริงๆ หรือเรียกตัวเองว่า นักเคลื่อนไหว (activist) คือช่วงก่อนจะเข้าปี 1 จำได้ว่า ตอนนั้นจะมีเพื่อนคนหนึ่งใส่แว่นแดงๆ (หัวเราะ) มาชวนไปทำกิจกรรม 6 ตุลาฯ ตอนนั้นครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ พอดี

        โดยไฮไลต์ของงานก็คือจะมีปาฐกถาจาก โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง เราเป็นหนึ่งในคณะที่ไปรับเขาที่สนามบิน แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมให้เขาเข้ามาในประเทศ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกเลยที่เรารู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐที่แท้จริง คือแค่จัดงานในมหาวิทยาลัยให้เด็กคนหนึ่งขึ้นมาพูด มันจะอะไรกันนักหนา หลังจากนั้นเราก็เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้สนใจทั่วไป 

มีความรู้สึกกลัวบ้างไหม ในการเคลื่อนไหวครั้งแรก 

        ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกกลัว จริงๆ รู้สึกแค่ ‘ลองดูก็ได้วะ’ 

        ความรู้สึกกลัวจริงๆ เพิ่งจะมาตอนที่เราเริ่มตกอยู่ในสปอตไลต์ ในช่วงที่เป็นสภานิสิตจุฬาฯ ที่เราพยายามที่จะไปแก้วัฒนธรรมที่มันตอกย้ำความเป็นทาส ตอกย้ำความเป็นคนไม่เท่ากัน เพราะเราต้องการแสดงจุดยืนว่าเราไม่เอาวัฒนธรรมแบบนี้ จำได้ว่าตอนนั้นกระแสสังคมทำให้เรารู้สึกกดดันจนต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น

คิดว่าอำนาจนิยมในระบบการศึกษาเกิดขึ้นจนคุณต้องออกมาต่อต้าน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

        ต้นตอหลักจริงๆ แล้วมาจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือระบบทุนนิยม และผู้มีอำนาจที่พยายามจะปกครองและกดทับสังคมเราอยู่

        ในส่วนหลังต้องขออธิบายหน่อยว่า ปกติแล้วผู้มีอำนาจต้องถือครองอยู่ 2 สิ่งที่ไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ 

        อันแรกคืออำนาจดิบเถื่อน อำนาจที่เกิดจากการบังคับ การส่งตำรวจ ส่งทหารไปข่มขู่ที่บ้าน การใช้กฎหมายเอาคนเข้าคุก เหล่านี้คืออำนาจทางการเมืองของรัฐที่ใช้กดขี่ คืออำนาจที่ทำให้รู้สึกว่าเราถูกบังคับและจำเป็นต้องกลัว แต่ลำพังแค่อำนาจนี้มันไม่เพียงพอที่จะควบคุมสังคมได้ในระยะยาว

        อำนาจอีกอย่างหนึ่งที่เขาใช้คืออำนาจของประชาสังคมที่แนบเนียน เพราะนี่คืออำนาจทางวัฒนธรรมที่ส่งผ่านสื่อสารมวลชน สถาบันครอบครัว เกิดมาต้องทดแทนบุญคุณ เป็นลูกต้องรับใช้พ่อแม่ สถาบันศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือด้วยวาทกรรมพึ่งพาตัวเอง หาหนทางไปนิพพาน กรรมใครกรรมมัน

        และที่สำคัญคือสถาบันการศึกษา อย่างสื่อคุณจะรับหรือไม่รับก็ได้ ศาสนาคุณเลือกจะนับถือหรือไม่นับถือก็ได้ แต่การศึกษากฎหมายกลับบอกว่าทุกคนต้องเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปล่อยให้โรงเรียนเป็นที่หล่อหลอม และเป็นช่องทางให้รัฐส่งความเป็นเผด็จการผ่านระบบการศึกษาที่บังคับให้เราต้องเชื่อง เชื่อฟัง ห้ามคิดต่างเป็นอันขาด

ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ต้องแก้ไข

        จะพูดแบบนั้นก็ไม่ได้เสียทีเดียว ที่คนรุ่นก่อนเขาผ่านมาได้เพราะสังคมไทยได้หล่อหลอมจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความจริงแล้วโคตรจะไม่ปกติเลย แต่ในปัจจุบันเรื่องแบบนี้ถูกท้าทายจากสื่อสารมวลชน โซเชียลมีเดีย การแตกหน่อทางความคิดในสังคมมากมาย จนเด็กในยุคนี้เขามองเห็นแล้วว่าระบบแบบนี้มันกลบอนาคตเขา เขามองไม่เห็นว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ความมั่นคงของชีวิตอยู่ตรงไหน จะทำอาชีพอะไร จะมีรายได้ไหม มันมืดมนไปหมด 

แต่ก่อนที่การเรียกร้องจะได้รับการแก้ไข คุณกลับถูกปลดออกจากสภานิสิตจุฬาฯ เสียก่อน แบบนี้ถือว่าภารกิจไม่สำเร็จใช่ไหม

        ไม่เลย สำเร็จแล้ว มันเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างแล้ว

        เราเป็นคนที่ไม่เชื่อในแนวคิดที่ว่า ดึงอิฐออกทีละก้อน ค่อยๆ เซาะไปทีละนิด จะแก้ไขปัญหาได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้น อีกฝั่งหนึ่งเขาก็จะถมอิฐมาเรื่อยๆ วิธีที่จะทำให้สังคมมองเห็นถึงปัญหาที่แนบเนียนอยู่ในโครงสร้าง คือต้องถือค้อนขึ้นมา แล้วทุบกำแพงทิ้ง เปรี้ยง! แบบนี้จะทำให้สังคมเกิดสภาวะที่ตกใจและจะนำไปสู่การถกเถียงกันขึ้น

        ถ้าวันนั้นเรา 8 คน ยืนนิ่งไม่มีใครเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ก็คงจะไม่มีการตั้งคำถามกันหนักขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้เกิดขึ้นแล้ว พวกเราตีกำแพงจนแตกละเอียดและเสียงตอนตีก็ดังมาก ดังจนคนในสังคมตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น แบบนี้เราถือว่าสำเร็จระดับหนึ่งแล้วนะ

หลังจากนั้นคุณก็เดินหน้าในฐานะนักเคลื่อนไหวเต็มตัวผ่านการตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH)

        เยาวชนปลดแอกเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว เริ่มจากเราและเพื่อนจำนวนหนึ่งที่มองว่าบริบททางการเมืองในปี 2562  ไม่มีองค์กรไหนที่เป็นปากเป็นเสียงหรือให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกหรือพิทักษ์ผลประโยชน์ของพวกเขาจริงๆ เลย

        อาจจะมีบางแห่งที่บอกว่าตัวเองก้าวหน้า แต่เขาก็เซ็นเซอร์อะไรหลายๆ อย่าง เราเลยตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนได้มีพื้นที่ทางการแสดงออกอย่างแท้จริง

เยาวชนในตอนนั้นมีปัญหาส่วนไหนบ้างที่จำเป็นต้องได้รับการปลดแอก

        หลายเรื่องมาก แม้แต่เรื่องที่วันนี้พูดจนแมสแล้ว เช่น เรื่องเกณฑ์ทหาร ประเด็นทำแท้ง การล่วงละเมิดทางเพศ อุตสาหกรรมหนังโป๊ หรือการแสดงออกทางเพศของ LGBT ที่ถูกกดทับ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาที่ได้รับการพูดถึงในอันดับท้ายๆ มาโดยตลอด เราก็เข้าใจนะ ว่าการแก้ปัญหาทุกอย่างต้องจัดการแบบ step by step คือต้องจัดการกับรัฐธรรมนูญก่อนแล้วโยงไปเรื่องอื่นๆ ถึงจะง่ายขึ้น แต่เราก็ยังมองว่าประเด็นพวกนี้ก็ควรจะถูกพูดถึงให้มากขึ้นอยู่ดี 

        ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล เรากลับมองไปที่ผู้ร้ายคนเดียวเลยคือโครงสร้างทางสังคม ที่ต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงโดยด่วน เราเชื่อว่าถ้าเปลี่ยนแปลงด้านบนได้ ปัญหาด้านล่างที่เกิดขึ้นก็จะแก้ไขได้มากขึ้น

 

ฟอร์ด ทัตเทพ

ดังนั้นถ้าพูดว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญใช่ไหม

        การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือเป้าหมายระยะกลางมากกว่า แต่องค์กรเยาวชนปลดแอกคือกลุ่มที่ก่อตั้งมาเพื่อทำงานในระยะยาว หมายถึงว่าเราจะผลักดัน ‘วาระ’ ที่ก้าวหน้าในสังคมไทยอยู่ตลอด ในวันนี้ วาระแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือการยกเลิกเกณฑ์ทหาร มันคือวาระที่ก้าวหน้า แต่ถ้าสมมติมันสำเร็จ ร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน 100% แล้ว ในอนาคตก็อาจจะมีวาระที่ก้าวหน้าที่เกิดขึ้นที่ต้องผลักดันต่อ 

        ต้องขออนุญาตเล่าถึงกรอบการทำงานของกลุ่มเยาวชนปลดแอกก่อน ว่ามีทั้งหมด 3 แกน คือ 

        1. ประชาธิปไตย 

        2. สิทธิมนุษยชน

        3. การให้ความสำคัญกับเยาวชน

        หมายความว่าพวกเราต้องการผลักดันให้ประเทศเกิดการปกครองด้วยประชาธิปไตยที่ชัดเจน สร้างชุดความคิดที่มองมนุษย์เท่ากัน และให้อำนาจในการตัดสินใจได้ร่วมกัน แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีแม้จะเป็นเยาวชนก็ตาม

        อีกเรื่องที่พยายามผลักดันอยู่คือการขับเคลื่อนในทางเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าในทุกวันนี้ การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาแสดงออกได้จำเป็นต้องมีต้นทุนระดับหนึ่ง มันมีราคาต้องจ่ายในการแสดงความเห็นค่อนข้างสูง ดังนั้น ก็ยังมีอีกหลายคนมากที่ถูกกดทับอยู่และออกมาแสดงออกไม่ได้ ซึ่งบางคนอาจจะหัวก้าวหน้ากว่าพวกเราด้วยซ้ำ แต่เขาออกมาพูดไม่ได้ เพราะเขาต้องทำมาหากิน เขาต้องลืมตาอ้าปาก 

        การต่อสู้ของเราจึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วย

คุณคิดว่าเด็กสมัยนี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างไร 

        เยาวชนรุ่นใหม่อาจจะเป็นรุ่นเราหรือหลังจากเรา ระดับของการเก็บคำพูดหรือความอดทนต่อความไม่เป็นธรรมน้อยลงเยอะ คน Gen X หรือ Baby Boomer มักจะบอกว่า คนรุ่นใหม่ความอดทนต่ำ รับแรงกดดันไม่ได้ แต่เด็กยุคนี้เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขามองว่าแรงกดดันและระบบที่คุณอยู่มามันบิดเบี้ยวและผิดปกติ เลยไม่มีความจำเป็นต้องอดทน 

        กลับกัน พวกเขามองว่าผู้ใหญ่อย่างพวกคุณต่างหากที่เก่งเกินมนุษย์เลยทนอยู่กันแบบนั้นมาได้ แต่คนรุ่นพวกเราเขาไม่ทน เมื่อเขาเห็นสิ่งที่มันผิดปกติก็ต้องการที่จะแก้ไข 

        ดังนั้น เหตุผลที่เด็กทุกวันนี้ดุดัน เกรี้ยวกราด ขี้ฉอด หรือก้าวร้าวหากอ้างอิงจากคำพูดของผู้ใหญ่ จริงๆ แล้ว นี่คือแรงสะท้อนมาจากการถูกกดทับที่มันสะสมมากกว่า เป็นการแสดงออกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบของเขา 

ในความคิดของคุณ เด็กยุคนี้มีข้อเสียบ้างไหม อาจเป็นความบกพร่องที่ทำให้การเคลื่อนไหวของเยาวชนในครั้งนี้ไปไม่ถึงปลายทาง

        จะพูดยังไงให้ไม่ให้โดนด่าดี (หัวเราะ) 

        ในเมื่อในฝ่ายประชาธิปไตยเองคือการยึดถือคุณค่าในความหลากหลาย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรวมไปถึงความหลากหลายทางความคิดด้วย แนวทางการดำเนินงานของแต่ละคน ความเชื่อของคนแต่ละกลุ่มก็อาจจะแตกต่างกัน แต่ถ้าเกิดเรามีเป้าหมายเดียวกันแล้ว การเดินกันคนละเส้นทางมันคือเรื่องปกติ มันคือสิ่งที่สวยงาม

        แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เรามักจะยึดมั่นว่าแนวทางของตัวเองถูกต้องที่สุด ไม่มีทางผิดพลาด จนนำไปสู่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการไปตีตราว่าคนอื่นผิด เรื่องแบบนี้ต้องระวัง

ในขณะที่เราจะเคลื่อนไหวทางการเมือง เหนื่อยสายตัวแทบขาด เพื่อนอีกคนหนึ่งกลับเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ใช้ชีวิตสุขสบายตามประสาวัยรุ่น เคยรู้สึกว่าชีวิตไม่เป็นธรรมบ้างไหม

          ความไม่เป็นธรรมเราสัมผัสได้เสมอ แต่ไม่ใช่ความไม่เป็นธรรมที่ออกมาจากเพื่อนเรานะ ไม่ได้เกิดจากครอบครัว เหล่าเพื่อน หรือปัจเจกบุคคลด้วย แต่มันเป็นปัญหาเชิงระบบที่รัฐเชิงเผด็จการสร้างขึ้นมาต่างหาก โครงสร้างและอำนาจที่กดทับจนทำให้มนุษย์คนหนึ่งมองไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองถูกลิดรอนมากกว่า ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งอยุติธรรมในสังคม

“ถ้าวันนึงพวกกูประสบความสำเร็จ พวกอิกนอแรนต์ (Ignorant) อย่ามาร่วมเสพสุขกับพวกกูก็แล้วกัน” เห็นด้วยกับอะไรแบบนี้ไหม

        อันนี้อาจจะโดนทัวร์ลง แต่เราต้องซื่อสัตย์กับความคิดของตัวเอง 

        การที่เราต่อสู้ก็เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่เท่าเทียมกัน มีเสรีภาพ มีสิทธิอย่างเต็มที่บนหลักของความเท่าเทียมกัน ทุกคนมีรัฐสวัสดิการดูแล มีระบบสาธารณะที่ดีเยี่ยม มีขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ มีราคาทุกคนที่เข้าถึงได้ มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ เราสู้เพื่อทุกคน เราจะไม่ไปหวงแหนในสิ่งที่ได้มา ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นชนชั้นนำใหม่ที่หวงแหนเฉพาะสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่อย่างนั้นเราก็จะเหมือนที่ผู้บัญชาการทหารที่เขาบอกว่าทหารเสียสละในอดีตมา ดังนั้นทหารควรจะได้อภิสิทธิ์มาก เพราะว่าคนอื่นไม่ได้ต่อสู้ ต้องไม่ได้อภิสิทธิ์ 

        สิ่งสำคัญคือมองให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินว่าคนที่ไม่แสดงออกคือพวกอิกนอแรนต์ (Ignorant) บางทีพวกทั้งหมดนี้มันอาจเกิดจากระบบที่กดทับพวกเขาให้คิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว หรือระบบการทำงาน ที่ทุกวันนี้คนในเมืองใหญ่ต้องทำงานหนัก ทุกวันนี้บางคนได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำงาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน เขาก็ไม่มีเวลามาตามการเมืองหรือมาอะไรแบบนี้หรอก  

          เขาเป็นผู้ถูกกดขี่ การที่เราห้ามพวกเขาในวันที่พวกเราชนะแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ Empower และ Educate พวกเข้าต่างหาก ไม่ใช่การที่ต้องไปไล่ด่าและไล่ฉอดกับพวกเขา ต้องหันหน้าพูดคุยกัน

          ไม่สนใจการเมืองเพราะโง่ นี่เป็นชุดความคิดที่ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะนี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคมต้องพยายามทำความเข้าใจตรงนี้กันมากขึ้น

วิธีการพูดคุยกับคนที่เห็นต่างควรเป็นแบบไหน เขาถึงจะเปิดใจรับฟัง

        ต้องอย่าตั้งกำแพง เพราะผู้ใหญ่ที่บอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ต้องอย่าลืมว่าน้ำร้อนสมัยนั้นกับน้ำร้อนสมัยนี้อุณหภูมิไม่เหมือนกันนะ 

        ร้อนในสมัยนั้นกับสมัยนี้มันคนละอุณหภูมิกัน ประสบการณ์ที่เราได้รับมันไม่มีทางวัดว่าใครดีกว่ากันได้ ไม่มีทางที่ชุดความรู้หนึ่งจะถูกต้องเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจและคุยกันด้วยเหตุผล อย่าตัดสินว่าเด็กรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่อายุเท่าคุณแล้วออกมาประท้วงว่าเป็นคนชังชาติหรืออยากเป็นอาณานิคมของคนต่างชาติ 

        คนรุ่นใหม่ก็เหมือนกัน เรื่องท่าทีของการพูดสำคัญ คือถ้าไปถึงชี้หน้าด่า เขาไม่ฟังอยู่แล้ว คนที่สามารถเปลี่ยนเขาได้ ไม่ใช่คนที่มาด่าเราเสียๆ หายๆ แต่เป็นคนที่มาพูดกับเราด้วยเหตุและผล 

        เราประทับใจคำปราศรัยของ ทนายอานนท์ นำภา ในม็อบแฮรี พอตเตอร์ มาก มันเป็นคำปราศรัยที่ตรงไปตรงมา เราว่าวิธีพูดแบบนั้นจะทำให้คนที่เขาเห็นต่างเปิดใจรับฟังและนำไปคิดต่อได้

 

ฟอร์ด ทัตเทพ

Sexuality and Equality

ในฐานะที่คุณเป็นหนึ่งใน LGBTQ ที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียม มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือหากย้อนกลับไปสมัยก่อน การจะมีเพศวิถีแบบนี้มักจะถูกสังคมกดทับด้วยคำว่า เป็นลูกผู้ชายทำไมไม่เข้มแข็ง คุณเคยเจอปัญหาแบบนี้บ้างไหม

        คือเราโชคดีมาก ต้นทุนทางครอบครัวคือเขาค่อนข้างจะไม่ค่อยอะไรกับเรา แต่มีเรื่องเดียวที่เขาถามคือไม่อยากมีลูกเหรอ เราก็ตอบว่า คำว่าลูกมันไม่ได้หมายความว่าต้องออกมาจากกระด-เราเท่านั้น ถ้าอยากจะมีลูก ก็มีวิธีอื่นเยอะแยะ (หัวเราะ) หลังจากนั้นเขาก็เข้าใจเราหมด แฟนเราพ่อเราก็รู้จัก มีความสัมพันธ์อันดีกัน กินข้าวกัน

แล้วทำไมในหลายครอบครัวกลับไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่นัก

        เรามองว่าเขายังติดกรอบของสังคมที่บอกว่าโลกนี้ต้องมีแค่เพศชายกับหญิงคู่กันเท่านั้น นอกจากนั้นคือเรื่องวิปริต ผิดปกติ แล้วยิ่งในตำราเรียนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะบอกว่าการจะเป็นเกย์ เลสเบียน ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ คืออาการเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นเรื่องผิดปกติ ต้องรักษา 

        อีกมุมที่น่าสนใจคือเรามองว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของระบบทุนนิยมโลก ในสมัยก่อนที่โลกพัฒนาก้าวหน้าไป เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจเติบโต สิ่งที่สังคมต้องการเป็นอย่างมากคือแรงงาน ดังนั้น เขาจึงพยายามทุกวิถีทางให้คู่รักจำเป็นต้องผลิตแรงงานมาให้กับสังคม ให้กับนายทุน ให้กับรัฐ เราเลยคาดเดาเองว่าทุนนิยมก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้น

นิยามรักของคุณคืออะไร

        ถ้าพูดถึงความรักในฐานะมนุษย์ หรือตามความหมายของสังคมนิยม มันคือความรักที่เราได้เสพสุข ได้มีคุณภาพชีวิต ได้มีความสุขกับคนที่รัก โดยไม่ต้องพะวงถึงเรื่องทรัพย์สิน ไม่ต้องพะวงถึงเรื่องในอนาคตจะมีคนมาเลี้ยงเราไหม 

        หรือถ้าจะมีลูก ก็ต้องมั่นใจได้ว่าลูกเราจะสามารถเติบโตมีชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องดิ้นรนมาก ซึ่งในเมื่อเราจ่ายภาษีไปแล้วคนที่จะมาดูแลความรักในอุดมคติแบบนี้ของเราส่วนหนึ่งต้องเป็นรัฐด้วย เรื่องของค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่องการเรียนหนังสือ การเดินทางไปกลับโรงเรียน การดูแลความปลอดภัยให้ลูกเราระหว่างเดินทาง สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล เมื่อเราจ่ายภาษีไปแล้ว

ขนาดเรื่องความรักยังโยงเข้าการเมืองได้ คาราวะเลย

        (หัวเราะ) 

 

ฟอร์ด ทัตเทพ

พูดถึงประเด็นทางการเมืองที่คุณผลักดันมาโดยตลอดอย่าง ‘การสมรสเท่าเทียม’ เป้าหมายที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวครั้งนี้คืออะไร

        ในตอนแรก ความคิดอาจจะไม่ได้ล้ำลึกเท่าตอนนี้ ตอนนั้นเราคิดว่าชายหญิงทั่วไปสมรสกันได้ ทำไมเราจะไม่มีสิทธิ์สมรสบ้าง แต่หลังจากนั้นจะมีเรื่องสิทธิ์ในการสมรสหลายๆ อย่างที่จำเป็นต้องเรียกร้อง เช่น เรื่องการจัดการมรดกร่วมกัน เรื่องของการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เรื่องของการเซ็นผ่าตัด ตรงนี้เป็นสิทธิที่ขาดหายไปของ LGBTQ ที่เราจำเป็นต้องเรียกร้อง 

ถ้ากฎหมายการสมรสเท่าเทียมผ่านได้จริงๆ คิดว่าประเทศไทยจะเจริญเติบโตในแง่ไหนบ้าง

        เราคิดว่าในมิติของ Gender ความหลากหลายทางเพศ คนจะเข้าใจมากขึ้น การถูกยอมรับในแง่ของกฎหมายจะสร้างค่านิยมที่จะค่อยๆ ทำลายกรอบความคิดของคนรุ่นเก่าว่าเป็นพวกวิปริต ทำกรรมเก่า ผิดศีลข้อสามเมื่อชาติที่แล้ว อะไรแบบนี้จะหายไปจากสังคมไทย และเราจะกลายเป็นประชากรในรัฐที่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่เชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา คุณออกมาพูดถึงเรื่องของชีวิตคู่รักที่หายไป เพราะต้องทำงานในฐานะนักกิจกรรมตลอดเวลา เคยรู้สึกไหมว่า ทำไมเราต้องเอาชีวิตคู่รักมาทำอะไรแบบนี้ร่วมกัน จนไม่มีเวลาไปดูหนัง กินข้าว อย่างที่ควรจะเป็น

        ถ้าถามเจมส์เราไม่รู้ แต่ถามเรา เราคิดแบบนี้มาตลอด ขอบคุณมากที่ถามคำถามนี้ให้คนได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของความเป็นมนุษย์

        ทุกวันนี้ความสุขในตัวเราเหลืออยู่ไม่เยอะแล้ว มันถูกลิดรอนไปโดยหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่น การถูกคุกคามจากรัฐ ทุกวันนี้เวลาออกไปไหนมาไหนมีความเสี่ยงจะถูกจับจ้องหรือถูกติดตาม ดังนั้น เราเลยไม่ค่อยออกไปไหนมาไหนกันบ่อยๆ 

        (นิ่งคิดครู่หนึ่ง) พอพูดแล้วก็ฟังดูเป็นอีกเรื่องในชีวิตเราที่ขาดหายไปจริงๆ 

แบบนี้จะคุ้มไหม ชัยชนะของการเคลื่อนไหวที่ต้องแลกด้วยความสุขของคุณ

        เราว่าคุ้มอยู่แล้วที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ ต้องอย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากเราแค่สองคนนะ เราเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่ง ซึ่งเราก็ยังรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ความฝันหนึ่งของคนในสังคมเป็นจริงได้

 

ฟอร์ด ทัตเทพ

Give and Receive

จนถึงวันนี้มีอะไรที่คุณต้องเสียสละไปแล้วบ้าง เพื่อให้ความฝันในการเปลี่ยนแปลงประเทศเดินหน้าต่อได้

        แน่นอนคืออิสรภาพและชีวิตความเป็นส่วนตัว คือต่อให้เรายังไม่ถูกเอาไปขังคุก ถูกขังแค่ในคุกใต้ถุนศาลกับที่ ตชด. หนึ่งคืน ออกมาก็ยังรู้สึกว่าเราอยู่ในคุกอยู่เลย ในประเทศที่เจริญแล้ว คนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือประท้วงแบบสันติ รัฐจะอำนวยความสะดวก รัฐสภาก็จะส่งคนมาพูดคุย ให้เราได้พูดคุยกับคนมีอำนาจว่าต้องการอะไร เจรจากันอย่างจริงจังและจริงใจ ตรงไปตรงมา 

        แต่รัฐนี้ไม่ใช่ 

        รัฐนี้ใช้วิธีคุกคาม ทำอย่างไรให้เราหยุดพูด ทำอย่างไรให้เราหยุดเคลื่อนไหว แทนที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน เขากลับถ่วงเวลาด้วยการคุกคามแกนนำ เวลาเราไปไหนมาไหนก็มักจะถูกติดตาม มีความเสี่ยงว่าจะถูกด่าทอ นี่คือสิ่งที่เราสูญเสีย

เคยเจอการคุกคามกับตัวบ้างไหม

        ตอนนั้นเคยให้สัมภาษณ์สื่อหนึ่งแถวสยาม แถวริมฟุตพาท สักพักตำรวจก็มาถ่ายรูปแชะๆ ทำอย่างกับว่าเราจะไปทำสงครามแถวนั้น พอเราเดินไปก็จะมีคนนอกเครื่องแบบเดินตาม กว่าจะสลัดหลุดคือต้องเดินเข้าสยามเซ็นเตอร์ ออกสยามพารากอน วนมาสยามดิสคัฟเวอรี เข้ามาบุญครอง กว่าจะหลุดจากการติดตามของเขา

        อีกเหตุการณ์หนึ่งคือหลังจากไปออกรายการไทยรัฐ เราเรียกแท็กซี่กลับ พี่ รปภ. ก็เรียกแท็กซี่ให้ตามปกติ พอเข้าไปนั่งในรถ มีสามคน เรากับเพื่อนอีกสองคน คนขับก็ถามว่า น้องอยู่พรรคฝ่ายค้านหรือเปล่า เราก็ตอบไปว่าไม่ใช่ สักพักเขาเปิดประตูลง ออกมา แล้วตะโกนลั่นเลย ‘ผมไม่รับไอ้พวกนี้นะ’ คือเหมือนเขาจำหน้าเราได้ เขาก็ไล่ลงจากรถเลย แล้วก็ชี้หน้าด่าว่า ‘ไอ้พวกชังชาติ ไอ้พวกล้มเจ้า กูไม่รับพวกมึงหรอก แน่จริงถ่ายทะเบียนกูไว้เลย’ ดีนะ ที่เราอยู่ตรงนั้น มีคุณจอมขวัญ (จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์) มีสื่อ มีพี่ รปภ. อยู่ ถ้าไม่มีคนอยู่เราจะโดนอะไร มันไม่ปลอดภัยเลย น่ากลัวมาก

มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเขามาดักเพื่อที่จะทำอะไรคุณหรือเปล่า

        ใช่ เราดูไม่ออกเลย อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการใช้ชีวิตส่วนตัว ที่มันพึงเป็นเรื่องปกติของทุกคนที่จะได้มีความสุข นอกจากเวลางานเรามีเวลาไปพักผ่อน กินข้าวกับแฟน ไปเยี่ยมพ่อ มันควรจะมีอะไรแบบนี้บ้าง แต่ทุกวันนี้ ยิ่งสมมติมีคนที่ทำงานประจำ เคลื่อนไหวทางการเมือง นอน เวลาพักผ่อนหย่อนใจนอกจากการนอนไม่มีแล้ว นี่คือสิ่งที่เราต้องเสียสละเหรอ 

        แต่ความเสียสละไม่ได้โทษใคร เราโทษสามสิ่งมหัศจรรย์ในประเทศไทยคือเผด็จการ ศักดินา และระบบทุนนิยม

ทุกวันนี้ได้ออกไปกินข้าวข้างนอกบ้านบ้างไหม

        แทบไม่ได้ไปเลย ถ้าจะออกต้องเปลี่ยนลุกส์ ใส่มาสก์ ใส่หมวก เปลี่ยนสีเสื้อทุกอย่าง 

เคยมองว่าการตัดสินใจจนตัวเองต้องเจอปัญหามากมายแบบนี้คือความผิดพลาดไหม

        เราจะไม่คิดแบบนั้น เมื่อตัดสินใจทำอะไรไปแล้วก็ต้องยอมรับผลของมัน แต่เราไม่ได้บอกว่าผลที่เกิดขึ้นถูกต้องนะ การถูกติดตาม ถูกคุกคาม ต้องเดินทางไปขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่มีความสุขของชีวิตในวัยเยาว์ มันไม่ใช่สิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องถูกฝ่ายปกครองยัดเยียดให้

เหมือนเป็นฮีโร่ที่เสียสละเพื่อส่วนรวม

        เราไม่เคยมองตัวเองเป็นฮีโร่เลย เราแค่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแรกๆ ที่เดินออกมานำขบวนก่อนเท่านั้นเอง เราไม่ซื้อโมเดลวีรบุรุษ วีรสตรี เพราะการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้สำเร็จและคงอยู่ได้ถาวรจริงๆ ต้องมาจากขบวนการ เป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือถ้าในบริบทนี้ก็ต้องมาจากภาคประชาชนไม่ใช่จากแกนนำคนใดคนหนึ่ง ถ้าเราจะฝากความหวังกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไปคาดหวังว่าเขาต้องพูดทุกเรื่องแทนทุกคน ต้องออกไปปะทะแก๊สน้ำตา ต้องเป็นสัญลักษณ์ให้กับม็อบ บอกเลยว่าแบบนี้เราไม่มีทางชนะ 

        เคยมีนักเคลื่อนไหวรุ่นพี่เขาบอกว่าการเคลื่อนไหวแบบใช้แกนนำไม่มีทางพาข้อเรียกร้องไปถึงฝั่งฝัน เพราะวิธีการที่รัฐไทยใช้ส่วนใหญ่คือการฉายสปอตไลต์มาที่แกนนำผ่านการจับกุม ปล่อยตัว บุกรุก คุกคาม จนทำให้ม็อบหรือประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อเรียกร้องเท่าที่ควร 

        ดังนั้น เราเลยไม่อยากให้ทุกคนมองม็อบครั้งนี้เป็นม็อบที่เกิดขึ้นโดยแกนนำ แต่อยากให้มองเป็นแนวนอน เป็นม็อบภาคประชาชนที่เกิดขึ้นจากทุกคนมากกว่า 

ถ้าคุณเป็นผู้นำในรัฐบาลชุดนี้จะแก้ไขปัญหาม็อบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไรดี 

        ถ้าเราเป็นรัฐบาลและมีอำนาจตัดสินใจ เราจะไปคุยด้วยตัวเอง จะไม่ตั้งคณะกรรมการปรองดอง จะไม่ตั้งคณะกรรมธิการอะไรทั้งนั้น เพราะประชาชนเขามีข้อเรียกร้องแบบนี้ เขาอยากคุยกับเราโดยตรง

        ข้อเรียกร้องแรกให้เราลาออก จะไปคุยกับเขาต่อหน้าเลยว่าทำอะไรผิด ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อย เพราะเราในฐานะผู้นำประเทศ แล้วมีประชาชนโจมตีเราโดยตรงขนาดนี้ เราก็ต้องลงไปพื้นที่ไปฟังจากปากแล้ว คงนิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ ไม่ได้

        ข้อเรียกร้องสอง แก้รัฐธรรมนูญ ถึงจะไม่ใช่หน้าที่เราโดยตรง แต่ก็จะไปคุยกับพรรคที่เราสังกัดและพรรคร่วมรัฐบาลว่า เฮ้ย เอ็งฟังข้อเสนอพวกเขาหน่อย แล้วเอามาพิจารณาดูว่าจะปรับแก้ตรงไหนได้บ้าง ถ้าตรงไหนมีข้อพิพาทระหว่างประชาชนอยู่ก็ไปพิจารณาในขั้นประชามติให้เกิดการต่อสู้ในกระบวนการ ไม่ใช่ปิดประตูไม่ฟังเสียงเขาเลยแบบนี้

        ข้อเรียกร้องที่สาม เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็มาดูกันว่าอันไหนสามารถแก้ได้บ้าง ซึ่งก็จะไปทำในช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องที่สองกัน 

        ที่สำคัญคือเราจะอำนวยความสะดวก เร่งให้เกิดการแก้ปัญหาในกระบวนการให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหาย ทุกอย่างต้องเสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ 

สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เกิดการต่อสู้และแก้ไขในกระบวนการของรัฐที่เป็นธรรม

        ใช่ 

ผู้นำเป็นตำแหน่งที่มักจะมาพร้อมอำนาจและผลประโยชน์อยู่เสมอ คำถามคือหลังจากเข้ารับตำแหน่งคุณจะไม่กลายเป็นคนที่หลงระเริงในอำนาจและกลายเป็นคนคดโกงเองเหรอ 

        ถ้าพูดว่าไม่มีทางก็คงไม่มีใครเชื่อ ตัวเราเองก็อาจกลายเป็นคนแบบนั้นก็ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้เราไม่สามารถอยู่ได้คือกระบวนการตรวจสอบที่เป็นธรรม ถ้าเรามีระบบที่แข็งแรงพอ นักการเมืองจะดีหรือเลวก็สามารถตรวจสอบโดยภาคประชาชน ซึ่งเขาจะเป็นคนตัดสินเองว่า ณ ตอนนั้นคุณเหมาะจะเป็นผู้นำของพวกเขาหรือไม่ 

        ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ ประเทศเราต้องมีรัฐสภาที่ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างของนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนจริงๆ แต่คำถามคือทุกวันนี้ประเทศไทยเข้าใกล้จุดนั้นหรือยัง

พรรคการเมืองที่คุณสังกัดจะต้องมีนโยบายอะไรบ้าง

        ถ้าพูดในบริบทการเลือกตั้งใหม่หลังข้อเรียกร้องของม็อบในปัจจุบัน

        ข้อแรกคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างฉบับใหม่ต้องมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เลือกโดยประชาชน และที่สำคัญคือทุกหมวด ทุกมาตราต้องแก้ไขได้

        ข้อสองคือ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยกเลิกมาตรา 112 แก้ไขพระพระราชกําหนดโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก แก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

        ข้อสามคือ ปฏิวัติการศึกษา ต้องขอใช้คำนี้เลย เพราะปัจจุบันไม่เหลืออะไรให้ปฏิรูปแล้ว การศึกษาไทยต้องรื้อใหม่ทั้งหมด เราต้องคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องมีคุณภาพ ทันโลก หมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา มีทัศนคติต่อนักเรียนในฐานะมนุษย์ที่เท่ากัน ไม่มีการลงโทษทางร่างกาย ไม่มีการสวมหัวโขนผู้มีอำนาจเหนือกว่า กลับกัน ระบบการศึกษาต้องเปิดโอกาสให้ครูพัฒนาตัวเองด้วย งานเอกสารต่างๆ ต้องลดให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องต่อเป้าหมายหลักคือการสอนให้นักเรียนมีความรู้ 

        ข้อสี่ คือรัฐสวัสดิการ ด้วยความที่ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แสดงออกถึงพลังของตัวเอง แต่อย่างที่บอกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้บางคนไม่มีโอกาสได้เข้าถึงตรงนี้ บางคนที่ทำงานสายตัวแทบขาด หาเช้ากินค่ำ ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปฟังเสวนาที่จัดโดยกรรมาธิการ เหล่านี้เป็นปัญหารัฐสวัสดิการที่ต้องรีบแก้ไข เพื่อสรรสร้างสังคมประชาธิปไตยให้งอกงามมากยิ่งขึ้น

        สุดท้ายคือ เรื่องการปฏิรูปกองทัพ ต้องทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน งบประมาณกองทัพต้องถูกกำกับดูแลโดยรัฐสภาอย่างใกล้ชิด การสั่งการกองทัพต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น หรือในสภาวะฉุกเฉินก็เป็นของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น 

        ที่สำคัญยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพราะนี้คือระบบที่ลดทอนศักยภาพของมนุษย์ ทำให้ทรัพยากรของชาติสูญเปล่าอย่างไม่จำเป็น

อนาคตประเทศไทยใน 3 ปี 5 ปีข้างหน้าควรจะเป็นอย่างไร ตามความคิดของคุณ

        ถ้านโยบาย 5 ข้อที่เราพูดไปสำเร็จ มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน บทบัญญัติเกิดจากการไตร่ตรองของประชาชน สุดท้ายประเทศจะขับเคลื่อนไปตามความต้องการของในสังคม ทั้งในแง่ของการเมือง การศึกษา รัฐสวัสดิการ และความเป็นธรรมในสังคม

        แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เราจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่กล้าแก้ปัญหา และเผชิญหน้ากับความจริงมากกว่านี้เสียก่อน (ยิ้ม)