สิ่งที่ทุกคนต้องการในยามสิ้นหวัง คือความหวัง คำแนะนำ และกำลังใจ
หลายวงการเผชิญผลกระทบหนักหน่วงจากโรคระบาด ในแวดวงการจัดงาน ที่คนยุคนี้เรียกติดปากว่า ‘อีเวนต์’ ก็เช่นเดียวกัน
โรคระบาดที่ป้องกันด้วยการใส่หน้ากากและ social distancing สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมอีเวนต์อย่างยิ่ง หลายร้อยงานถูกยกเลิก ผู้ประกอบการเจ็บปวด ทุกข์ใจ ทำอะไรไม่ถูกกันไปหมด เพราะไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันมาก่อน
แม้จะมีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการช่วยจัดงานแบบ virtual event หรือ hybrid event แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ปรับตัวทัน ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องผ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลงอีกพักใหญ่กว่าคลื่นลมจะสงบ
แต่ในวงการนี้ยังมีความหวัง a day BULLETIN ได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ 2 คนในวงการ ได้แก่ ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เรียกสั้นๆ ว่า สสปน. หรือ TCEB
และ อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMAThailand นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง Chief Executive Officer บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด
นี่คือบทสัมภาษณ์ที่คนอีเวนต์ควรอ่าน หากอยากฝ่าพายุคลื่นลมนี้ไปได้
สำนวนที่ว่า ฟัาหลังฝนย่อมสดใส ยังใช้ได้ดีทุกยุคทุกสมัยเสมอ
สสปน. และ สมาคมฯ คือผู้ปิดทองหลังพระในห้วงวิกฤต
เท้าความสั้นๆ สำหรับคนที่อาจไม่เคยได้ยินชื่อ สสปน. และสมาคมฯ มาก่อน
สสปน. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยดูแลงานที่เรียกว่า MICE (Meetings, Incentive travel, Conventions, Exhibitions) เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุมขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดประชุมวิชาการ ส่วนสมาคมฯ จะเป็นภาคเอกชนคอยดูแลและประสานงานบริษัทด้านอีเวนต์ในประเทศทั้งหมด สององค์กรนี้คือผู้ปิดทองหลังพระในวงการอีเวนต์จากวิกฤตรอบที่ผ่านมาอย่างแท้จริง เริ่มจากช่วงมีนาคม 2563 ข่าวการติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศเริ่มมีให้เราเห็น โดยที่เรายังมีความรู้ความเข้าใจในตัวโรคและระบาดวิทยาไม่มากพอ
“ช่วงที่มีโควิด-19 ใหม่ๆ ทุกคนตัดสินใจไม่ถูก ตื่นตระหนกกันหมด รัฐบาลยังไม่ได้ตั้ง ศบค. จนนายกรัฐมนตรีแถลงออกมาคำหนึ่งว่า ให้ข้าราชการงดจัดงานประชุมชั่วคราว คำสั่งเดียวเท่านั้น งานยกเลิกทั้งประเทศ” อุปถัมป์เล่าย้อนความหลัง
โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ เรายังไม่รู้จักมันดีพอ จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่จะเกิดความสับสนและไม่เข้าใจ สสปน. จึงทำการศึกษาและเข้าไปอธิบายเพิ่มเติมกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงเกิดเป็นแนวคิดหา ‘ตรงกลาง’ ที่ธุรกิจจะเดินหน้าโดยไม่ละทิ้งสาธารณสุข
“ท่านนายกรัฐมนตรีแถลงเข้าใจดีและกลับมาแถลงว่า ให้ข้าราชการ อบจ. อบต. ทั้งหลาย เน้นเรื่องการจัดงานประชุม จน TCEB ก็เข้ามาออกแคมเปญสื่อสารว่าประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า” อุปถัมป์เล่าสถานการณ์หลังการคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ
ในอุตสาหกรรมอีเวนต์ งานแบบ MICE สร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อย เมื่อมีโรคระบาด ศุภวรรณจึงเข้าไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เพื่อสร้างความร่วมมือด้วยกัน
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าภาครัฐต้องการอะไร กลัวอะไร สิ่งแรกที่เขาบอกคือ งานของเราเป็นความเสี่ยงระดับ 5 เพราะเป็นกิจกรรมที่รวมตัวคนหมู่มาก ให้จัดไม่ได้เลย เพราะ หนึ่ง มีโอกาสที่คนที่มาร่วมงานเราแพร่กระจายไปยังคนอื่นผ่านการเดินทาง ในการประชุมหนึ่งที่ จะมีคนเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้าหรือขนส่งสาธารณะอื่นๆ สอง เขาก็กลัวว่าคนข้างนอกจะมารุมกันแล้วจะทำให้เกิดการแพร่กระจายต่อๆ ไป”
ศุภวรรณชวนเราสังเกตว่า เวลารัฐบาลออกประกาศว่าธุรกิจไหนผ่อนปรนได้ กรมควบคุมโรคจะแนบแนวทางปฏิบัติมาด้วย นี่คือสิ่งที่องค์กรอย่าง TCEB และ EMAThailand ช่วยได้
“ธุรกิจเราไม่ได้เข้าใจง่าย แล้วรัฐไม่ได้อยู่ในธุรกิจเรา เราต้องช่วยเหลือตัวเองโดยการเชิญสมาคมฯ เข้ามาเพื่อทำระเบียบและแนวปฏิบัติ ถ้าจะจัดงาน สถานที่ โรงแรม ศูนย์ประชุมส่วนแสดงสินค้า และออแกไนเซอร์ต้องปฏิบัติยังไง ภายใต้มาตรการความปลอดภัย ต้องมีการวัดอุณหภูมิ ติดตามผู้มาร่วมงาน จัดระยะห่าง รวมไปถึงบริหารจัดการสถานที่ แนวปฏิบัตินี้ทำให้แทนที่ธุรกิจเราจะไปอยู่กลุ่มเสี่ยงสุดท้ายที่ได้ผ่อนปรน กลายเป็นว่าสองเดือนหลังจากเข้าไปนำเสนอเราก็ได้รับการผ่อนปรนเร็วกว่าปกติ” ศุภวรรณเล่าความสำเร็จที่ สสปน. และอีกหลายองค์กรคอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง
แนวปฏิบัติที่ทาง สสปน. คิดขึ้นเรียกว่า มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standard) หรือ TMVS เน้นการให้แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัย (Hygiene) และเทคโนโลยีการจัดประชุม (Hybrid) มีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 637 แห่งทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายที่ได้การส่งเสริมมาตรฐานห้องประชุมประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มศูนย์ประชุม กลุ่มโรงแรมหรือรีสอร์ต และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถรองรับการจัดงานแบบขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ (ดูตัวอย่างสถานที่ได้ ที่นี่)
การจัดงานที่มีลูกค้าจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในส่วนที่สร้างรายได้ โรคระบาดกระทบกับธุรกิจที่ทำงานกับต่างประเทศโดยตรง โชคดีที่ สสปน. ไวพอที่จะประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผสมด้วยกลยุทธ์ที่ทำให้บ้านเราได้ประโยชน์ สถานการณ์จึงไม่เลวร้ายจนเกินไป
“เวลาเกิดวิกฤต ลูกค้าต่างประเทศไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่ไหน เราจึงตั้งศูนย์ข้อมูลที่เป็นเหมือน war room ของงาน MICE ในประเทศไทย เพื่อที่จะบอกลูกค้าต่างชาติและในประเทศว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร คุณต้องทำตัวยังไง กลุ่มที่จะต้องมาแล้วยังไม่มั่นใจยูก็เลื่อนไปก่อน ส่วนใหญ่เราจะไม่ให้ยกเลิก” ศุภวรรณยิ้ม “จำนวนคนลดลงไป 70-80% พอๆ กับภาคท่องเที่ยว เพียงแต่ธุรกิจของเรานักเดินทางต่อคนสร้างรายได้มากกว่าการท่องเที่ยว 3-4 เท่า
“ก่อนโควิด-19 มีนักเดินทางต่างชาติ 1.2 ล้านคน แต่สร้างรายได้เป็นแสนล้านบาท เทียบกับคนไทยที่จัดประชุมเอง 20 ล้านคน กว่าจะได้แสนล้าน ฉะนั้น สิ่งที่มันขาดหายตอนนี้คือรายได้ ซึ่งไม่ใช่รายได้ในมุมมองของการใช้จ่าย เพราะในธุรกรรมกิจการของ MICE มี supply chain และอุปทานเยอะมาก การจัดงานแต่ละครั้งคนเหล่านั้นก็ไปใช้จ่ายในชุมชนด้วย”
ภารกิจการกระตุ้นเศรษฐกิจของ สสปน.
งานมหกรรมยานยนต์ Motor Expo 2020 เป็นเครื่องยืนยันว่างานแสดงสินค้าที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมากก็สามารถดำเนินการอย่างปลอดภัยได้ ตัวอย่างความเคร่งครัดในงานที่เห็นชัดเจนคือ การทำงานของน้องๆ นักประชาสัมพันธ์ประจำบูธ นอกจากจะใส่เฟซชิลด์ ผู้พูดยังใช้วิธีอัดเสียงล่วงหน้าแล้วใช้ลิปซิงก์ เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด
แต่เท่านั้นยังไม่พอ สสปน. ยังมีการคิดต่อยอดเพื่อคนทำงาน โดยเฉพาะกับอีเวนต์ในต่างจังหวัด
สสปน. มีสำนักงานทั่วทุกภาค (ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคอีสานที่ขอนแก่น ภาคใต้ที่สงขลาและภูเก็ต ภาคตะวันออกที่พัทยา) การจะนำแนวปฏิบัติไปปรับใช้ ต้องเริ่มจากการคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดในพื้นที่
“ส่วนมากงานใหญ่ๆ จะจัดในเมืองอยู่แล้ว เราก็คุยเจาะกับผู้ว่าเพื่อสร้างความเข้าใจ ประชุม Zoom 200-300 คน ทั้งคนให้บริการและหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่จะใช้บริการ จากนั้นก็ออกตัว 2-3 แคมเปญ อันแรกคือแคมเปญเกี่ยวกับความสะอาด ออกมาตรฐานของ hygiene ในสถานที่จัดงานโดยเน้นกลุ่มโรงแรมเพราะต้องมีการประชุม
“จากนั้นเราก็ออกแคมเปญเกี่ยวกับ VMS คือ Virtual Meeting Space เมื่อคนออกมาไม่ได้แต่ยังต้อง connect กันอยู่ เรามั่นใจว่าการทำ virtual online meeting อย่างน้อยก็ยังรักษาคอนเน็กชันกับลูกค้าได้ เราจึงสร้างแพลตฟอร์มลงทุนเกี่ยวกับ webinar และการประชุมออนไลน์ให้ลูกค้าทั้งงานอีเวนต์ งานประชุม งานแสดงสินค้าฟรี มีคนใช้ราว 100 กว่างาน มีลูกค้าต่างประเทศด้วย นี่คือส่วนที่ทำควบคู่ไปจากที่เราทำเรื่องของระเบียบ” ศุภวรรณอธิบายเพิ่มเติม
ความจริง สสปน. ยังอยู่เบื้องหลังการทำแคมเปญขอเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลด้วย
“เราเอาเงินที่จริงๆ ต้องให้กับการสนับสนุนงานต่างประเทศ มาทดลองทำแคมเปญชื่อ ‘การประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ’ อัดฉีดให้เกิดการประชุมทั่วประเทศ คนที่มารองรับได้คือ หนึ่ง โรงแรมขอแทนลูกค้าได้ สอง องค์กรที่จัดงานมาขอได้ สาม บริษัทอีเว้นต์ออแกไนเซอร์หรือ agent ที่รับบริหารจัดงานให้มาได้ ถ้าพักค้างคืนได้ 30,000 บาท ถ้าจัดวันเดียวได้ 15,000 บาท ซึ่งแบบหลังคนขอเยอะมาก ไม่ต้องคิดเยอะ ทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินในวงจร”
Multiskill และการเพิ่มทักษะให้ตัวเอง สำคัญอย่างยิ่งกับคนทำงานอีเวนต์ทุกคน
ยามนี้หลายบริษัทจัดงานคงมืดแปดด้าน ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร
หลายบริษัทหันไปทำธุรกิจอื่น เปิดร้านอาหาร ทำทุกอย่างเพื่อหาเงินสด สู้ในศึกระยะสั้น สองกูรูเข้าใจดีแต่ก็ให้คำแนะนำว่าถ้าคนทำงานสายนี้อยากอยู่ยาว ถึงอย่างไรก็ต้องปรับตัว เพราะวิกฤตครั้งนี้คงไม่จบง่าย
ใครที่หวังว่าทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคงต้องคิดใหม่
“บริษัทที่ไม่รีบปรับตัว คิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวสามเดือนจบ ฉันจะรอ รูปแบบการคิดและจัดการแบบนี้จะมีปัญหาเพราะมันไม่ใช่ ผมคิดว่ามันต้องปรับมายด์เซตเลยด้วยซ้ำ ถ้ามันไม่จบจะต้องแก้ปัญหายังไง ดิ้นรนยังไง ต้องปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อลดต้นทุน ปรับวิธีการบริหารเงินสด ปรับทุกสิ่งอย่างเพื่อที่จะรักษาธุรกิจให้ไปต่อได้” อุปถัมป์อธิบาย
นายกสมาคมฯ แนะว่าอุตสาหกรรมจะไม่กลับมาทันที แต่จะค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเอง ระยะเวลายาวนานกว่าที่คิด “การระบาดรอบนี้มีผลกระทบสองอย่าง ข้อแรกคือ มาตรการรัฐบอกว่าคุณห้ามรวมคนมากกว่า 200-300 ต้องขออนุญาตเขต ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อำนวยการเขต ข้อสองคือเรื่องจิตวิทยา ซึ่งมีผลกระทบกับเจ้าของงานและผู้มาร่วมงาน เจ้าของงานกลัวจัดงานแล้วไม่มีคน คนมาก็กลัวจะติด ความจริงวิธีคิดของรัฐบาลที่ไม่ได้สั่งระงับการจัดงาน แต่ปรับปรุงส่วนอื่นถือว่าถูกทางแล้ว ต่อไปการจัดงานต้องอยู่ในมาตรฐานที่สามารถควบคุมได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่อนุญาตนะ แต่ต้องมาคุยให้ฟังก่อนว่ามาตรการคุณสามารถควบคุมได้แค่ไหน ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่ทางสมาคมฯ และ สสปน. ทำกับทาง ศบค. รายละเอียดเยอะมาก คู่มือเป็นเล่ม มี ขั้นตอนชัดเจนว่าคุณต้องทำมาตรการแบบไหน ซึ่งผมคิดว่าเราพิสูจน์แล้ว”
แม้เราจะเคยได้ยินข่าวคนติดโควิด-19 ไปร่วมงานคอนเสิร์ต แต่อุปถัมป์บอกว่าเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มจากในงาน สะท้อนมาตรการที่เข้มแข็งซึ่งคนในอุตสาหกรรมช่วยกันก่อร่างสร้างขึ้นมา
แล้ว virtual meeting ละ แก้ปัญหาได้ไหม? ได้แน่นอน และเป็นสิ่งที่บริษัทควรลงทุนถ้าอยากอยู่ในอุตสาหกรรมแบบยาวๆ เพราะรูปแบบการทำงานจะเริ่มไปในแนวทาง hybrid event ที่มีเนื้อหาทั้งออนไลน์และ ออฟไลน์มากขึ้น
สิ่งที่ต้องคิดเพิ่มเติมคือ crowd management หรือการจัดการมวลชนในงานที่ต้องเข้มข้นขึ้น ส่วนของสถานที่ก็ต้องปรับตัวเข้าหางานแบบ MICE มากขึ้นเพราะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ไปต่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม
“โรงแรมทั่วไปที่เราเห็นปิดตัว ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมที่ไม่มีห้องประชุม คือเขารองรับแต่นักท่องเที่ยว มีแต่ห้องพัก แต่โรงแรมส่วนใหญ่ที่มีห้องประชุมยังอยู่ เราจำได้ว่าพอเริ่มมีการผ่อนปรน เราไปบอกภาครัฐให้อัดฉีดเรื่องการประชุมภาครัฐ เพราะมีงบอยู่เจ้าเดียว ให้ภาครัฐ อบต. อบจ. กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ออกมาจัดการประชุมให้มากขึ้น เมื่อเขาออกมาประชุม โรงแรมที่มีห้องประชุม ขายได้หมด ไม่ตาย”
ทั้งศุภวรรณและอุปถัมป์เห็นตรงกันว่า ธุรกิจนี้ยังมีความหวัง แม้ต้องใช้เวลาปรับตัว แต่อีเวนต์จะยังไม่ตายไปจากสังคมแน่นอน
“อีเวนต์เป็นที่โหยหาของคนเหมือนกันนะ ถ้าคุณเคยไปดูคอนเสิร์ต ดูละคร สิ่งเหล่านี้เป็นไลฟ์สไตล์ ซึ่งเราโดนบังคับว่าห้ามมีไลฟ์สไตล์พวกนี้มาหนึ่งปี ถ้ามีการจัดคอนเสิร์ตงานหนึ่งที่คุณชอบ ไม่มีใครไม่ไป มันเป็นความอัดอั้นในใจ คนคิดถึง” อุปถัมป์เผย
“มันจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ไม่ถึงกับล้ม หรือเท่ากับศูนย์”
การสู้ศึกระยะยาว สมาคมผู้จัดงานฯ แนะนำว่าการพัฒนาทักษะให้รอบด้านจำเป็นอย่างยิ่ง
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วงเวลาของการระบาด รอบใหม่นี้เผอิญมาเกิดเดือนธันวาคม ต่อเนื่องเข้าเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเริ่ม high season ของอีเวนต์พอดี มันจะค่อยๆ ตกลง สาธารณสุขน่าจะควบคุมให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง แต่พอจะเริ่มจัดงานได้คุณก็เริ่มเข้าหน้าฝนพอดี มันก็กลายเป็นช่วงลำบากของอีเวนต์” นายกสมาคมฯ อธิบายว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นอีก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนอีเวนต์ต้องเพิ่มทักษะตัวเอง เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน
“คนหนึ่งคนต้องทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่พนักงาน เจ้าของด้วย คือถ้าธุรกิจตรงนี้ไม่รอด คุณก็ต้องไปหางานส่วนอื่นมาทำให้มันรอด ต้องทำงานได้หลากหลายรูปแบบ ถ้าเรายึดติดว่าการจัดอีเวนต์คือรูปแบบนี้อย่างเดียวก็ไม่สามารถรักษาบริษัทต่อไปได้ คราวนี้มันเหมือนวิ่งมาราธอน ใครอึดที่สุดที่จะไปถึงเส้นชัย คนนั้นก็รอด”
กลยุทธ์และสิ่งที่เราจะได้เห็นในวงการอีเวนต์ปี 2021
หากจะสู้ศึกใหญ่ เราจำเป็นต้องวางแผน วางหมากกลยุทธ์ให้ดีพอ แต่ความยากของศึกในปีนี้คือ สถานการณ์อยู่ตรงรอยต่อ เราได้ข่าวดีจากวัคซีนที่ได้ผลดี แต่ในขณะเดียวกันการแพร่กระจายก็ยังคงมีอยู่ หากชะล่าใจเราอาจได้เห็นการระบาดรอบใหม่อย่างที่เราเผชิญเมื่อปลายปีที่แล้ว แถมยังมีโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธ์ุมากขึ้นเรื่อยๆ
ในมุมมองภาครัฐ ศุภวรรณมองว่าเรากำลังอยู่ในช่วงกึ่งฟื้นฟูกึ่งรอการสร้างใหม่ รายได้หายไปเยอะ บริษัทที่รอการช่วยเหลือก็มีจำนวนมาก การมานั่งคุยหารือกันทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย สสปน. เลยพยายามหาวิธีการที่จะให้ทั้งความรู้และสื่อสารเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อให้ทุกบริษัทฝ่าวิกฤตไปได้ด้วยกัน
“เราตั้งแคมเปญชื่อว่า ‘MICE Innoavation’ นำบริษัทที่ทำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งหมดมารวมเป็นลิสต์ ให้ผู้จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ งานแสดงสินค้า งานประชุม หรือสถานที่จัดงาน จากนั้นเราจะให้เงินสนับสนุน 200,000-800,000 บาท แล้วแต่รูปแบบงาน เอาไปใช้ซื้อนวัตกรรมในลิสต์เพื่อไปใช้งานต่อ เราป้อนขนาดนี้เลย เพื่อให้คุณปรับเปลี่ยนการจัดงาน
“ข้อสอง เราทำเรื่อง education เดือนมีนาคมจะการจัด E-learning ในกลุ่มของ MICE เป็นแพลตฟอร์มให้เข้าเรียนพร้อมประกาศนียบัตร เรียนได้ทั่วประเทศ คุณก็จะสามารถ Reskill หรือ Upskill ของตัวเองได้ ตอนนี้เรามองว่าคนต้องเอาเครื่องมือด้าน digital meeting มาปรับใช้เยอะมาก แต่บริษัทในประเทศอาจจะไวบ้างช้าบ้าง เราจะมีการสอนหลักสูตรด้าน digital event ส่งเสริมเรื่องของการใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด
นอกจากให้ความรู้ สสปน. ยังเดินเรื่องขอเงินสนับสนุนเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทำได้จริงๆ
“สุดท้ายตอนนี้กำลังของบภาครัฐอยู่ 200 ล้านบาท ใช้ชื่อแคมเปญว่า ‘ไทยประชุมไทย’ จากเดิมที่เราลงทุนไป 20 ล้าน ได้งาน 1,000 กว่ากลุ่ม สร้างรายได้ 10,000 กว่าล้านบาท เพราะฉะนั้นด้วยงบ 200 ล้านบาท ก็จะเป็นประมาณ 10,000 กลุ่ม ซึ่งตอนนี้ทำเรื่องเข้าสภาพัฒน์อยู่ น่าจะผ่าน ก็จะเกิดการกระตุ้นทั่วประเทศทุกเมือง”
อุปถัมป์เสริมต่อว่าเทรนด์ที่เราจะได้เห็นในวงการอีเวนต์ คือ festival event ซึ่งจะมาเสริมหรือทดแทน brand event ที่จัดโดยแบรนด์อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี
“สมัยก่อนอุตสาหกรรมอีเวนต์จริงๆ จะเป็นแบรนด์อีเวนต์เสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นงานเปิดตัวสินค้า เช่น เปิดตัวรถยนต์ พวกนี้จะใช้งบประมาณกับอีเวนต์เยอะ ซึ่งช่วงหลังต่อให้ไม่มีโควิด-19 งบก็ถูกลดอยู่แล้ว อีเวนต์สเกลเล็กลงเพราะฝ่ายการตลาดเริ่มค้นพบว่าเขาสามารถใช้เครื่องมืออื่นในการทำการตลาดได้
“เรื่องหนึ่งที่ สสปน. เห็นและผมคิดว่าน่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต คือ festival event สมัยก่อนเราไปอีเวนต์ แน่นอนว่าแบรนด์เป็นคนจ่าย คนเข้างานฟรี แต่งานเทศกาลคุณต้องเสียค่าเข้า เช่น จัดงานคอนเสิร์ต H20 แม้เสียค่าเข้าคนก็อยากไป และคนเข้าร่วมเยอะ เป็นระดับ mega event เลยด้วยซ้ำ พวกนี้ตลาดนี้กำลังโต
“คนเริ่มมีการค้นพบสังคมของตัวเอง อย่างผมชอบขี่จักรยาน มีโซเชียลฯ ของคนขี่จักรยาน พอกลุ่มใหญ่มากๆ ก็โพสต์ในงานจัดอีเวนต์เกี่ยวกับจักรยานขึ้นมา ทุกคนก็ไป งานจะมีฐานแฟนของตัวเอง เพราะฉะนั้น เราจะเห็นงานอีเวนต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะทางมากขึ้น เป็นอีกตลาดหนึ่งที่เติบโตขึ้นมา ตลาด marketing event ก็ยังมีอยู่ แต่อาจจะลดบทบาทลง” อุปถัมป์สรุปเทรนด์ที่เรากำลังจะเห็น
สุดท้ายไม่ว่ากลยุทธ์และสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญมากคือกำลังใจของคนทำงาน ผู้ใหญ่แห่งวงการอีเวนต์แนะนำว่าอย่าเพิ่งท้อ ไม่ใช่เราคนเดียวที่ประสบปัญหา “เราทุกคนกังวลกันหมด ทั้งในอุตสาหกรรมอีเวนต์และในทุกธุรกิจ ไม่ได้น้อยกว่าเรา หนักกว่าเราก็มี ถ้าเราปรับตัว มันอาจจะเป็นข้อดี มันเป็นเหมือน stress test ที่หนักมาก ถ้าผ่านเทสต์อันนี้ได้ คุณก็จะแข็งแกร่งขึ้น” อุปถัมป์เล่า
ความหวังยังมี เพียงแต่เราต้องอดทน ปรับตัว สลายตัวตนเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ แล้วจะไปถึงเส้นชัยในเกมยาวนี้ได้ในที่สุด
ภาพ: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ