หากเปรียบเทียบเป็นชีวิตมนุษย์สักคนหนึ่ง การเดินทางมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เหมือนกับคนคนหนึ่งที่ผ่านบททดสอบมาอย่างมากมาย ผ่านเส้นทาง การทำงานอย่างหนัก และในช่วงเวลาที่เดินทางมาอย่างยาวนาน การนั่งลงทบทวนบทเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านมาถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรแห่งนี้ก้าวเดินไปสู่ทศวรรษที่ 3 ได้อย่างแข็งแรง a day BULLETIN จึงอยากชวนคุณไปพูดคุยกับ ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ถึงเรื่องราวตลอดเส้นทางที่ผ่านมา รวมถึงทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และทิศทางที่ สสส. จะยึดถือเดินทางไปในวันพรุ่งนี้ พร้อมรับความท้าทายในโจทย์สุขภาพใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้กับประเทศไทยให้ได้
คุณมองการเดินทางบนถนนสุขภาพของ สสส. ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาอย่างไร
เส้นทางอันยืดยาวในการทำงานเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพของ สสส. การเริ่มต้นตั้งองค์กรแห่งนี้เมื่อ 20 ปีก่อน อาจจะเรียกว่าเรามาดักอนาคตไว้ได้ดี เรามองทะลุปัญหาในปัจจุบัน เรามองเห็นความหมายของคำว่าสุขภาพในนิยามใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องของมดหมอหยูกยา ไม่ใช่เรื่องของการที่จะต้องสัมพันธ์กับการรักษา กินยา หรือแม้แต่การเข้าโรงพยาบาล แต่เราทำให้เห็นว่าสุขภาพที่ดีเริ่มได้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราเอง
หัวใจสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมชีวิตของผู้คนในสังคม เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา ที่ไปทำหน้าที่กำหนดพฤติกรรมอีกทีหนึ่ง ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ใช้ยารักษาหรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ก็ไม่ช่วย นั่นคือการแก้ปัญหาจากปลายเหตุ การจะแก้ต้นน้ำของปัญหาสุขภาพของสังคมในช่วงเวลานั้น ต้องการการทำงานแบบใหม่ ซึ่ง สสส. ก็เกิดมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรมทางการเงินการคลัง’ ที่นำภาษีจากสินค้าทำลายสุขภาพมาจัดตั้งกองทุน และทำงานรณรงค์เกี่ยวกับสุขภาพมาจนถึงวันนี้
สสส. วางบทบาทการทำงานตั้งแต่วันแรกอย่างไร
เข็มทิศในการทำงานตั้งแต่วันแรก เรามีความตั้งใจที่จะสานภาคีเครือข่ายภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะภาคสุขภาพ เนื่องจากภาคส่วนที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพโดยตรงก็มีความสำคัญมากกับการทำงานของเรา 20 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าเรารวบรวมภาคีทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ ถ้าจะพูดถึง 20 ปีที่แล้ว เรียกว่าเรามาถูกทาง แต่จากนี้ไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าเราก็ไม่สามารถอยู่ที่เดิม แต่การวางจุดยืนตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ตลอดเวลาในการทำงาน เราจะบอกตัวเองอยู่เสมอว่า แม้จะมีทุนอยู่ก้อนหนึ่ง แต่ทุนก้อนนี้ก็ไม่ได้ใหญ่โต เป็นเพียง 0.7% ของค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ใช้กับด้านสุขภาพเท่านั้น เราไม่ได้วางตัวเองเป็นพระเอก แต่เราวางบทบาทของตัวเองในการสานพลัง ร่วมสร้างนวัตกรรมสุขภาวะ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เราเรียนรู้จากบทเรียนที่สะสมมา และชำนาญมากขึ้นในการที่จะใช้กองทุน ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่เรามี
เพราะ สสส. ไม่ได้มีอำนาจอื่นใดเลย ไม่สามารถจะไปเปลี่ยนกฎกติกาของสังคม หรือไปทำสิ่งนู้นสิ่งนี้ แต่เราใช้ทุนตั้งต้นที่มีในการชักชวนภาคีเครือข่ายมาทำงานร่วมกัน โดยใช้พลังความรู้ในการขับเคลื่อนสังคม แล้วก็ไปผลักนโยบายให้เกิดขึ้น ที่เรียกว่า ‘ไตรพลัง’ เมื่อมองย้อนหลังกลับไปตอนครบ 20 ปีนี้ อย่างน้อยก็สามารถเห็น 20 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ สสส. ได้สร้างขึ้นในสังคมไทยให้กับวงการสุขภาพไทย
มองเส้นทางอนาคตในทศวรรษถัดไปอย่างไรบ้าง
สสส. ทบทวนตัวเองมาตลอด ในวันที่ครบรอบ 20 ปี เรายังเห็นจุดแข็งเดิมที่อยากจะยึดเอาไว้ เช่น การวางบทบาทขององค์กรที่ช่วยหล่อลื่นการสานพลังทำงานให้กับภาคีต่างๆ และใช้การเชื่อมประสานพลังของทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเราก็เรียนรู้มากขึ้นว่า นอกจากบทบาทของการไปจุดประกาย สาน เสริมพลัง เรายังมีฐานของทุนที่สะสมมาอย่างยาวนาน เช่น ทุนของความรู้ ข้อมูล Big Data รวมไปถึงทุนของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อภาคีเครือข่าย
เรื่องของทุนที่เป็นเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ แต่ลำพังแค่นี้ไม่พอ สิ่งที่เราได้กลับมามากกว่าจากการทำงานคือทุนความสัมพันธ์ การได้ชุดวิจัย ชุดความรู้ และประสบการณ์ กลายเป็นทุนทางปัญญา เป็นทุนที่สะสมได้แถมมีดอกเบี้ยด้วย
แต่แน่นอนว่าปัญหาสุขภาพก็ไม่ได้อยู่ที่เดิม ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนยุคนี้ก็แตกต่างจากไปจากยุคก่อน อย่างปัญหาการกลั่นแกล้งทางกายภาพในยุคก่อน ก็เปลี่ยนไปเป็นการ Digital Bullying ทุกคนต่างต้องปรับตัว อย่างมาก ยิ่งในยุคนี้ทุกคนต่างมีสื่อในมือของตัวเองแล้ว ความเป็นตัวกลางหายไป การจะเข้าถึงคนหมู่มากเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ง่าย เราต้องใช้ต้นทุนเดิมที่เรามี นำมาต่อยอดด้วยการเรียนรู้กับปัญหาใหม่ แล้วก็สร้างวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา
“เราไม่ได้วางตัวเองเป็นพระเอก แต่เราวางบทบาทของตัวเองในการสานพลังร่วมสร้างนวัตกรรมสุขภาวะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”
แล้ว สสส. เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างไร
ข้อดีของ สสส. คือการถูกออกแบบให้เป็นองค์กรเปิด ที่พร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ สสส. ไม่ได้เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวที่เห็นในออฟฟิศของ สสส. ประมาณ 200 คน แต่เรามีผู้ทรงคุณวุฒิ มีกรรมการ มีภาคีนับหมื่นนับแสนที่ร่วมทำงานด้วยกันมาตลอด และเราก็มีการเรียนรู้กันและกัน การเป็นองค์กรเปิดแบบนี้ทำให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า ฉะนั้น การตัดสินใจเลือกเส้นทางต่างๆ ของเราก็จะผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนอย่างกว้างขวาง เปิดรับไอเดียใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตามเราก็เข้าใจว่าแม้ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องการเปลี่ยนแปลง
มีการคุยกันมากขึ้นถึงปัญหา Generation Gap เราเองก็วางแผนจะมองหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพื่อเปิดรับไอเดียใหม่ๆ มีการพูดถึงแพลตฟอร์มใหม่ที่เข้าถึงเด็กส่วนใหญ่ และผู้ปกครองได้โดยตรง เรามีการทบทวนโจทย์ปัญหาใหม่ทุกปี และเชื่อว่าจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้
มีโจทย์อะไรบ้างในอนาคตที่ สสส. ตั้งเป้าหมายเอาไว้
ประเด็นของปัญหาสุขภาพต่างๆ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่ว่าสถานการณ์ภายในแต่ละเรื่องต่างหากที่เปลี่ยนไป เราจะก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ก็มีการทบทวนโจทย์สุขภาพตรงๆ เราจะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพอะไรบ้าง เปลี่ยนสังคมสิ่งแวดล้อมของปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญสูงสุดต่อเรื่องของสุขภาพทุกคน ประเด็นหลายๆ เรื่องก็เป็นการทำต่อเนื่องจากวันแรก
อย่างเรื่องของบุหรี่เราก็ยังทำอยู่ แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 17.4% เท่านั้น แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ๆ อย่างเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า และที่สำคัญเกณฑ์ของการสูบบุหรี่ในระดับโลก เขาตั้งเป้าว่าจะลดให้ต่ำกว่า 5% ยังมีสิ่งที่รอให้เราทำอีกเยอะมากในประเด็นนี้
ส่วนปัญหาเรื่องสุราก็ยังอยู่ ซึ่งโจทย์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไปพัวพันกับปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงต่างๆ ซึ่งกระทบสุขภาพโดยตรง ในเรื่องกิจกรรมทางกายก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ คือเราควรจะมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันก็มีสิ่งเร้าที่จะทำให้คนสมัยนี้ออกกำลังกายน้อยลงไปเรื่อยๆ มีการใช้เวลาบนหน้าจอกันวันละ 13 ชั่วโมง
รวมไปถึงมิติความปลอดภัยในเรื่องอาหาร เรายังต้องฟันฝ่ากับเคมีเกษตรและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ อยู่มาก เรื่องของโภชนาการในอาหารหวาน มัน เค็ม ที่กระตุ้นให้เด็กน้ำหนักเกินสูงมากขึ้น เรามีเด็กที่มีน้ำหนักเกินกว่า 10% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน แล้วก็เป็นต้นตอของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ มากมาย ในประเด็นเรื่องของสุขภาพจิต ก็หนักหนามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความเครียด ความกดดันจากการทำงาน เศรษฐกิจ ปากท้อง ครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาช่องว่างระหว่างวัยก็แรงขึ้น มีความขัดแย้งหลายๆ อย่าง แม้แต่ในครอบครัวก็มีปัญหาเรื่องการเมือง สังคมไทยต้องการการดูแลทางจิตปัญญาอีกเยอะมาก
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของมลพิษทางอากาศที่เป็นโจทย์ซึ่งพุ่งขึ้นมาในระยะหลัง ประเทศไทยติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกเรื่องมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นภัยที่ครอบคลุมชีวิตของเรา และแก้ไขยาก เพราะว่าต้องแก้ในระดับภาพใหญ่ ทศวรรษหน้า สสส. ก็ตั้งใจจะเข้าไปผลักดันปัญหานี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นสุขภาพอื่นๆ เรายังเว้นเป็นปลายเปิดไว้ เพราะว่าด้วยการที่เราเห็นโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอย่างโควิด-19 ดังนั้น ใน 10 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่ามีเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก สสส. จะทำหน้าที่เฝ้าระวัง แล้วจะรีบกระโจนเข้าไปดูแลปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ต้นๆ
มองทิศทางการรักษาสุขภาพในอนาคตที่กำลังจะมาถึงอย่างไรบ้าง
จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาล อย่างระบบทางการแพทย์ก็จะมีการเปลี่ยนครั้งใหญ่ จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้เห็นระบบการนัดหมายกับแพทย์ผ่านการใช้ Video Call การส่งยาทางไปรษณีย์ ถ้าวิกฤตจบลงเราก็ควรพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการทำงานแบบนี้ต่อไป หรือแม้แต่การเรียนการสอนออนไลน์ การทำงานแบบ Work from Home เราอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเชื่อมต่อเราเข้าด้วยกัน
ผมคิดว่าในภาพใหญ่ตอนนี้ โลกเรียนรู้ว่าเรากำลังร่วมชะตากรรมเดียวกัน คำนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ไม่ใช่เรื่องของจุดใจุดหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง วิกฤตโควิด-19 สอนเราได้ชัดเจนมากว่าไม่มีใครปลอดภัย ถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย ฉะนั้น การคิดเรื่องโจทย์ที่เรามีร่วมกันของโลกก็เริ่มมีมากขึ้น เพราะพวกเราทุกคนมี One World, One Residence
เราต้องเริ่มเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนในเรื่อง SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย จุดสำคัญคือการเปลี่ยนวิธีคิดของศตวรรษที่ 20 ที่โลกเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ แล้วก็ผลาญทรัพยากรอย่างเต็มที่ ในตอนนี้ทั่วโลกได้สติมากขึ้นว่าเราจะต้องพัฒนาไปภายใต้ความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องสุขภาพด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องคิดควบคู่ไปตลอดของการพัฒนา ให้ทุกคนคิดถึงสุขภาวะทางกาย จิต สังคม แล้วก็ปัญญาควบคู่กัน
การเดินทางของทศวรรษที่ 3 ในมุมมองของคุณหมอ
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้น ว่าเราออกแบบ สสส. ให้เป็นองค์กรเปิด เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการบอกทีมงานว่าเขาควรทำอะไร อย่างไร แต่เราชวนทุกคนคิดไปด้วยกัน ในตอนที่ทบทวนเส้นทางใน 10 ปีข้างหน้า ก็เกิดการระดมความคิดอย่างกว้างขวาง เราได้มีการตั้งเป้าหมายใหญ่ด้วย สิ่งที่คิดว่ายังเป็นคุณค่าที่ดีก็ยังคงต้องยึดถือรักษาไว้ แล้วก็ต่อยอดใหม่ให้เกิดขึ้น
เราเห็นจุดที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์ในการปรับตัว ซึ่งผมก็ได้กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว เราร่วมคิดร่วมทำกันมา ทุกคนเองในองค์กรก็เห็นแนวทางใหม่ แต่ว่าพอเดินทางไปจริงๆ แล้ว ภายใต้แผนที่ใหม่ เข็มทิศใหม่ ก็ต้องเรียนรู้แต่ละก้าวเดินกันไป
ในโอกาสที่ครบรอบ 2 ทศวรรษของการก่อตั้ง สสส. ขึ้นมา เราใช้เป็นหมุดหมายหนึ่งในการทบทวนตัวเองและการวางทิศทางของทศวรรษที่ 3 อย่างที่เล่าสู่กันฟังไปก่อนหน้า และก็อยากให้สังคมได้รู้จักองค์กรเรามากขึ้นอีกนิดหนึ่ง เราคิดว่านี่คือองค์กรของสังคมไทย อยากให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน รับรู้สิ่งที่เราทำมาใน 2 ทศวรรษแรก ทั้ง 20 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้น จากที่ สสส. ชวนเครือข่ายภาคีในภาคส่วนต่างๆ มาร่วมมือกันทำ และทุกคนเห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กจุดน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เข้าไปอยู่ในสังคมไทยจริงๆ อย่างน้อยก็อยากให้ทุกคนได้มาสรุปบทเรียนด้วยกัน ก่อนจะชวนกันเดินต่อไปในทิศทางข้างหน้า
20 Years of Changes
“สสส. ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เกิดจากทุกๆ คน ร่วมสร้างมาด้วยกัน ใช้ศาสตร์ ความรู้หลายๆ ด้านมาทำงานเชื่อมประสานกัน แม้หลังจากนี้หนทางที่ต้องเดินยังยาวไกล ไม่มีจุดจบ ไม่เห็นเส้นชัยใกล้ๆ เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ สภาพแวดล้อมสังคม และปัจจัยอื่นๆ ก็ปรับไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น อาจจะยังมีอุปสรรค ยังมีสิ่งที่เราต้องยกระดับสู้ต่อไป แต่ถ้าวันหนึ่ง สิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จ เรารู้สึกว่าอิมแพ็กต์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่ เพราะอิมแพ็กต์ไม่ได้อยู่ที่เรา แต่คือสังคมที่เคลื่อนไปกับเรา”
ดร. ประกาศิต กายะสิทธิ์ | รองผู้จัดการกองทุน สสส., รก. ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.
“สุขภาพไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยหรือการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงปัจจัยเเวดล้อม ที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพด้วย ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น โจทย์ใหม่ๆ ย่อมเข้ามาท้าทายและก่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อพูดถึงการมีสุขภาวะที่ดีในยุคนี้ เราจึงกำลังพูดถึงการพัฒนาโลกไปอย่างสมดุล ทั้งการดูแลสุขภาพในระดับบุคคล และการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม | ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส., รก. ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.
“ถ้านับระยะเวลา 20 ปี ในระหว่างทางมีสิ่งต่างๆ มากมายที่ตัวเราเองได้พบเจอ ได้เรียนรู้ ได้มองเห็นการเติบโตทั้งความคิดทางด้านสุขภาวะที่ต่างจากปีแรกๆ ที่มีประเด็นไม่กี่ประเด็น ไม่มีตัวอย่างให้เห็น และไม่ใช่ว่า สสส. จะทำแล้วถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในมุมมองของตัวสำนักงาน เพื่อนร่วมทาง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ก็มีการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และเติบโตไปด้วยกัน วันนี้เราไม่ได้เดินคนเดียวเหมือนวันแรก ต่อไปในอนาคตก็ยังอยากเห็น สสส. เป็นองค์กรชั้นนำในการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมที่อยากให้เติบโตไปด้วยกัน”
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร | ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส., รก.ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
“20 ปีที่ผ่านมา สสส. ‘จุดประกาย’ และ ‘เปิดพื้นที่’ ให้ชุมชนได้คิดแก้ไขปัญหา สร้างสุขภาวะได้ด้วยตนเอง จนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการหรือควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อสุขภาพ ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ เกิดการสานต่อและขยายผลการทำงานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและชุมชนยกระดับการทำงาน เพื่อ ‘ขยายโอกาสสร้างความยั่งยืน’ แสวงหาความร่วมมือและผนึกทรัพยากรในระดับพื้นที่ เพื่อนำมาขยายโอกาสการสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดการกระจายอย่างกว้างขวางและครอบคลุมโจทย์ปัญหาสุขภาวะของพื้นที่ โดยมีกลไกการสนับสนุนที่มีประ-สิทธิภาพ และการบริหารจัดการที่มุ่งผลลัพธ์”
เข็มเพชร เลนะพันธ์ | รก. ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส., ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส.
“รู้สึกภูมิใจที่สามารถร่วมสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมในหลายเรื่อง ตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตัวตน บุกเบิกเส้นทาง ลองผิดลองถูก เก็บเกี่ยวบทเรียน บ่มเพาะประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่าย พร้อมกับทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความท้าทายใหม่ๆ ต่อจากนี้ก็จะช่วยให้มีโอกาสพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องทั้งในมุมขององค์กร คนทำงาน และภาคีเครือข่าย”
ณัฐยา บุญภักดี | ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
“สสส. เป็น ‘องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ’ ดังนั้น นิยามเส้นทาง 20 ปี ของ สสส. จึงเปรียบเสมือนการเดินทางบุกเบิกไปสู่สถานที่แห่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา สสส. และภาคีเครือข่ายกว่า 20,000 ราย ได้ร่วมกันเดินบนเส้นทางนี้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบนเส้นทางดังกล่าวมีทั้งความท้าทาย ความแปลกใหม่ ความตื่นเต้น สสส. และภาคีทุกคนล้วนไม่หยุดที่จะเดินทางเพราะเชื่อว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยมีความสามารถในการดูแลตนเองและครอบครัว สามารถสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้
ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา | ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์, รก. ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส.
“การได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง 20 ปี สสส. นี่คือการงานของชีวิตที่หยั่งรากในตัวตนและเจตจำนง เพราะความเชื่อมั่นในจิตวิญญาณขององค์กร ในการมุ่งสร้างประโยชน์และความผาสุกให้กับสังคม ได้หล่อเลี้ยงจิตใจและหลอมรวมงานและชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะเรารู้ว่างานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. นั้น สร้างผลลัพธ์สู่ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ทุกๆ วันที่เราทำงาน จึงเปรียบเหมือนผีเสื้อที่ขยับปีกและสร้างผลกระทบไปสู่สิ่งอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง”
ญาณี รัชต์บริรักษ์ | รก. ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.
“การทำงานของ สสส. ที่ผ่านมา คือการเริ่มต้นของการแสวงหา บุกเบิก ผจญภัยในเส้นทางสร้างเสริมสุขภาพ ให้เกิดรูปแบบทางเลือกใหม่ๆ ต่อสังคมไทย การสร้างนวัตกรรมทางสุขภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลากหลายรูปแบบ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบทของสังคม ซึ่งเรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้มีโอกาสเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของ สสส. ไม่มีสูตรสำเร็จของการสร้างเสริม สุขภาพที่กำหนดไว้แล้ว ไม่มีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นวัตกรรมและโอกาสเกิดขึ้นอยู่เสมอ การทำงานที่ สสส. ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ทุกวัน ตื่นขึ้นมาพร้อมความสุขที่จะได้ไปทำงาน ได้มีโอกาสพบเจอผู้คนที่มีความสามารถมากมาย ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน การแลกเปลี่ยนต่อยอดมุมมองต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้เกิดโมเดลที่เติบโต งอกงาม หลากหลาย”
ภรณี ภู่ประเสริฐ | ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.
“เมื่อสังคมเปลี่ยน ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ความคิดคนเปลี่ยน แม้กระทั่งเชื้อโรคเองก็เปลี่ยนไปมาก คำว่า ‘สร้างเสริมสุขภาพ’ จะปรับตัวอย่างไร ให้เข้ากับยุคสมัย เป็นโจทย์ที่ท้าทายของ สสส. ในฐานะคนทำงานด้านสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม มีเรื่องให้เรียนรู้เยอะมาก การเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นโอกาสใหม่ๆ เสมอ มีโอกาสในการเข้าใจปัญหาได้ชัดขึ้น มีโอกาสเข้าใจความหลากหลายของคนมากขึ้น การเชื่อมโยงความรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย เชื่อมโยงพลังเล็กๆ ของคน เพื่อสร้างสรรค์ทางออกในการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น เกิดขึ้นตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือคือความยืดหยุ่นที่ต้องปรับวิธีคิดอย่างรวดเร็วให้ทันกับสถานการณ์ และการเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างอย่างเข้าใจ”
สุพัฒนุช สอนดำริห์ | ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส.