ธนา เธียรอัจฉริยะ

ธนา เธียรอัจฉริยะ: แล้ววันหนึ่งวิกฤตจะผ่านไป สำคัญคือเราทำอะไรกับมัน

Gam zeh ya’avor

         อักษรฮีบรูสลักบนแหวนที่กษัตริย์โซโลมอนได้รับถวาย หลังจากเขาออกคำสั่งให้เสนาบดีออกไปตามล่าหาสมบัติที่ทำให้ “คนที่มีความสุขเห็นแล้วต้องเศร้าทันที ในขณะที่ผู้โศกเศร้าเมื่อเห็นสิ่งนี้จะมีความสุขขึ้นมาทันใด” ปริศนาที่ทำให้เสนาบดีพยายามตามหาอยู่นาน วันแล้ววันเล่าก็ไม่เจอ จนกระทั่งวันหนึ่งเขานึกขึ้นได้จึงได้ซื้อแหวนทองเกลี้ยงวงหนึ่งจากร้านเครื่องประดับเก่าๆ ในย่านเสื่อมโทรมและสลักอักษรฮีบรูนี้ลงบนแหวน อักษรฮีบรูที่แปลว่า “แล้วมันจะผ่านไป”

        เรื่องเล่ากษัตริย์โซโลมอน และเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย ทั้งตำนานและประสบการณ์จริงถูกนำมาเล่าผ่านเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ที่เพิ่งถูกนำมารวบรวมเป็นหนังสือ ‘ล้ม ลุก เรียน รู้’ เขียนโดย โจ้’ – ธนา เธียรอัจฉริยะ ชื่อที่คุ้นเคยในฐานะผู้เขียนหนังสือ ‘คนพลิกแบรนด์ แบรนด์พลิกคน ผู้สร้างปรากฏการณ์มาแล้วหลายวงการ ทั้งโทรคมนาคม กับผลงาน Happy ที่ DTAC, ร่วมริเริ่มธุรกิจทีวีดาวเทียมให้กับ Grammy และปัจจุบันกับบทบาท Chief Marketing Officer (CMO) ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคที่เรียกว่าเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งดิจิตอลดิสรัปชันระดับโลก รวมทั้งความท้าทายในประเทศขณะนี้ที่เกิดกระแสผู้คนออกมาใช้สิทธิในการเลือกบริโภคให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยทางการเมือง

        ธนาพูดติดตลกในระหว่างการสัมภาษณ์ว่า ชะตาชีวิตเขามักตกไปอยู่ท่ามกลางวิกฤตครั้งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่เขาบอกว่าสนุกกับการทำงานมากที่สุด เพราะโจทย์ยากนั้นทำให้ทีมงานต้องร่วมแรงร่วมใจ เค้นความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อให้ทั้งองค์กรและคนทำงานสามารถก้าวต่อไป และเมื่อผ่านวิกฤตไปได้ ความท้าทายเหล่านั้นก็มักทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม

        จากวิกฤตต่างๆ ในชีวิต ทั้งวิกฤตปี 2540 ที่ทำให้เขากล้าทำงานยาก ลุยงานที่ไม่มีคนทำจนกลายเป็นดาวรุ่งในองค์กร การลาออกครั้งแรกที่พังทลายอัตตาตัวตนของเขาลงจนค้นพบ ‘วิชาตัวเบา’ ไปจนถึงการล้มป่วยกะทันหันที่ทำให้เขากลับมาดูแลร่างกาย และเกิดเป้าหมายใหม่ในการใช้ชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านงานสอนในสถาบัน ABC (Academy of Business Creativity) หรือผ่านการเขียนบันทึกให้ลูกสาวทั้งสอง ผู้เป็นที่มาของชื่อเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ

        ยิ่งไม่รู้, ยิ่งรู้
        ยิ่งให้, ยิ่งได้
        ยิ่งเจอโจทย์ยาก, ยิ่งสบาย

         ความย้อนแย้งของขั้วตรงข้ามที่ธนาบอกว่า นี่คือความลับของฟ้า ความลับของฟ้าที่บอกกับเราว่า แล้ววันหนึ่งวิกฤตจะผ่านไป สำคัญคือคุณเลือกทำอะไรกับมัน

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

สิบสองปีหลังจากหนังสือเล่มแรก หนังสือเล่มล่าสุดมีที่มาที่ไปอย่างไร

        แต่ก่อนเราเป็นคนเขียนหนังสือไม่ได้เลยนะ เคยเขียนคอลัมน์ให้ ประชาชาติ ทุกสองสัปดาห์ กว่าจะเขียนได้แต่ละชิ้นนี่เลือดตาแทบกระเด็น สงสัยว่าคนที่เขียนหนังสือกันทุกวันนี่ทำกันอย่างไร ก็เลยเอาวะ ลองทดสอบตัวเองดูว่าถ้าเขียนหนังสือทุกวันจะเป็นยังไง ก็ลองมาสี่เดือนกว่ามันก็ทำได้คล่องขึ้นจริงๆ นะ แต่พอมากไปมันก็ไม่ค่อยดี อ่านหนังสืออะไรก็คิดว่าต้องเขียนอะไร มันเริ่มไม่สนุกละ เหมือนทุกอย่างนั่นแหละ ตึงไป หย่อนไป ไม่ดีทั้งนั้น ต้องหาจังหวะตัวเองให้เจอ

เขียนไว้ให้ ‘เธอ’ นี่เขียนไว้ให้ใคร

         ชื่อเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’ หมายถึงลูกสาวสองคน เราอยากเขียนเก็บไว้ให้เขาอ่าน แต่ตอนนี้คนตามเพจห้าหมื่นคน คนที่เราอยากให้อ่านที่สุดยังไม่ตามเลยตอนนี้ (หัวเราะ) ก็ไม่เป็นไร วันนี้เขาอายุ 15-16 มาคุยเรื่องพวกนี้กับเขา เขายังไม่สนใจหรอก ไม่ต้องไปบังคับ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เขาเริ่มทำงาน ถ้าเขามีคำถาม เขาอาจจะมาหาคำตอบจากตรงนี้ได้

เหมือนที่ครั้งหนึ่งพ่อคุณเคยเขียนจดหมายไว้ให้คุณ

        ใช่ๆ พ่อเขียนจดหมายเก็บไว้ให้เยอะมาก เป็นร้อยฉบับ ตอนเด็กเราก็เหมือนลูกเราแหละ ไม่ได้สนใจที่พ่อเขียน เช่น มีครั้งหนึ่งพ่อเขียนถึงเรื่องสัจจะ ว่าเราต้องมีสัจจะต่อคนอื่นและตนเอง สัจจะต่อคนอื่นคือพูดอะไรแล้วต้องทำให้ได้ ต่อตนเองคือเราต้องแน่ใจกับตัวเองก่อนว่าเราทำได้หรือเปล่า สองอย่างนี้ต้องมาคู่กัน บทเรียนบางอย่างมันต้องผ่านประสบการณ์ก่อนถึงจะเข้าใจ ผมเลยไม่เร่งให้ลูกอ่าน รอให้ถึงเวลาของเขาเอง 

คุณคิดว่าคำสอนของคนรุ่นก่อนยังสอดคล้องกับสถานการณ์ที่คนสมัยนี้กำลังเผชิญอยู่ไหม อย่าว่าแต่ในอนาคตต่อไป

        ถ้าเป็นเชิงเนื้อหามันล้าสมัยได้ตามเวลาอยู่แล้ว แต่คำสอนบางอย่างโดยเฉพาะที่มันเป็นสัจธรรม อย่างคำสอนเรื่องอิทธิบาทสี่ พรหมวิหารสี่ของพระพุทธเจ้า ผมยังเอาใช้ในการทำงานทุกวันนี้อยู่เลย อะไรที่มันเป็นสัจธรรมมันข้ามยุคข้ามสมัย

         แต่เอาจริงนะ เรื่องประโยชน์ปลายทางก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้เลยคือเจตนาดีในทุกข้อความ สำหรับผมมันไม่ใช่แค่เพจ แต่มันคือของขวัญสำหรับลูก พอเราตั้งใจว่าคนอ่านคือเขา ทุกข้อความมันเต็มไปด้วยความหวังดีอยู่แล้ว 

ล่าสุดมีกระแสไม่เห็นด้วยกับโฆษณาชิ้นหนึ่งที่แม่หวังดีกับลูก แต่ทำให้ลูกไม่สามารถทำตามความเชื่อตัวเองได้ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

        ผมเชื่อว่าคนรุ่นนี้คิดเองได้ เขาไม่ต้องการให้สอน เขามีเหตุผลในการตัดสินใจตามวัย ตามยุคสมัยของเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมมองว่าถูกต้องแล้ว จริงอยู่ที่ผมเขียนแล้วอยากให้เขาอ่าน แต่เขาจะอ่านไหม จะทำตามไหม นั่นเป็นการตัดสินใจของเขา เวลาผมเขียน ผมเปิดพื้นที่ให้เขาแปลความเองเสมอ เช่น สมมติผมเล่าเรื่อง คุณสุทธิชัย หยุ่น ที่เขาไปขอทำงาน บางกอกโพสต์ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ บ.ก. ไม่รับ เขาก็เสนอตัวเลยว่าให้เขาทำอะไรก็ได้ หนักแค่ไหนก็ได้ ขอให้ได้ทำ ผมว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นตัวอย่างเรื่องความพยายาม เรื่องความมุ่งมั่นได้โดยไม่ต้องไปบอกให้เขาพยายามนะ ห้ามยอมแพ้นะ 

        ผมว่าการสื่อสารกับคนยุคนี้เราต้องไม่สอน แต่เราต้องพยายามเข้าใจ เอาตัวเองเข้าไปอยู่กับเขา ผมนี่ดีใจมากนะตอนลูกชวนดูสารคดีวง BTS แปลว่าเขารู้สึกว่าคุยกับเราได้ ผมว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งมันจะเป็นแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อเขาเข้าใจว่าเราหวังดีกับเขา แต่ไม่ข่มเขาว่าเราเป็นผู้ใหญ่กว่า 

        พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) เคยเล่าว่า เวลาเลี้ยงลูกให้ทำตัวเป็นเหมือนพี่เขานิดนึง เป็นเพื่อนเลย เป็นพ่อไปเลยก็ไม่ได้ ต้องเป็นพี่ ถ้าเขาห้าขวบ เราควรเจ็ดขวบ ถ้าเขาสิบห้า เราก็ควรทำตัวสักสิบเจ็ด สิบแปด ไม่ถึงกับต้องตามฟัง ตามดูทุกเรื่องเหมือนเขา แต่เราต้องรู้จักว่าเขาสนใจอะไรอยู่ และในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นเหมือนที่ปรึกษาให้เขาได้ 

        ข้อดีอีกอย่างของการพยายามทำความรู้จักลูกๆคือ มันทำเราเข้าใจคนรุ่นใหม่ ทันยุคทันสมัยตลอดเวลา เราจะไม่ตกยุค รู้จักศัพท์แสงสมัยนี้ ถ้าเขาพูดถึง BTS เราควรรู้ว่าหมายถึงใคร ไม่ใช่คิดว่าเป็นรถไฟฟ้า (หัวเราะ) 

เรื่องความต่างระหว่างวัยดูเป็นประเด็นใหญ่ในสมัยนี้ คุณจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรในที่ทำงานที่ต้องเป็นคนประสานคนสองวัยเข้าด้วยกัน 

        จริงๆ เรื่องนี้มันมีทุกยุคทุกสมัยนะ ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องการใส่เครื่องแบบ คนรุ่นใหญ่นี่เขาภูมิใจมากเลยนะ แต่ถ้าไปบังคับคนรุ่นใหม่ให้ใส่เครื่องแบบนี่เขาอาจลาออกได้เลย เรื่องบางเรื่องคุณไม่ต้องไปหาจุดร่วมตรงกลางหรอก มันง่ายกว่าถ้าจะให้คนเก่าทำเรื่องเก่า แล้วคนใหม่ทำเรื่องใหม่ 

        การทำงานแบงก์มันมี dilemma อยู่ อย่างคือเสี่ยงมากไม่ได้ มันเป็นเงินของลูกค้า แต่ถ้าไม่เสี่ยง ไม่ลองสิ่งใหม่ๆ ก็รอดยากในยุคนี้ แล้วจะทำยังไง เราก็เลยมองว่าแต่ละฝ่ายมีข้อดีต่างกัน คนเก่าเองก็เป็นผู้รักษาระเบียบ ความปลอดภัยไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญของธนาคาร ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็มีความคิดเป็นของตัวเอง อยากริเริ่มอะไรใหม่ๆ ซึ่งธนาคารก็ต้องการในการปรับตัว เราจึงมีพื้นที่อย่างกลุ่ม SCB10X ให้เขาลุยเรื่องนวัตกรรม หรือมีกองทุนต่างๆ ที่เขาสามารถทดลองไอเดียได้

ความสำคัญของการมีพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย คล้ายกับที่สังคมต้องการในตอนนี้

        เราต้องมองว่าความแตกต่างมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน ความหลากหลายมันเลยจำเป็น เพราะมันไม่มีอะไรที่ตอบโจทย์ไปทุกอย่าง อะไรที่มันมากไป น้อยไป มันไม่ดีทั้งนั้น ยิ่งระดับประเทศ ในสภา ยิ่งต้องหลากหลาย เพราะพวกเขาต้องเป็นตัวแทนประชากรหลายกลุ่ม หลายวัย หลายความต้องการของคนในประเทศนี้ แต่ดูตอนนี้สิ อย่าว่าแต่วัยสามสิบ วัยสี่สิบยังมีจำนวนน้อยอยู่เลย 

        มันมีคำว่า HiPPO ย่อมาจาก Highest Paid Person’s Opinion คือเงินเดือนสูง ความเห็นเยอะ ไม่ฟังคนอื่น มีใครอยากเป็นฮิปโปตัวใหญ่ๆ ขยับช้า โดนกล่าวหาว่ากินเยอะแต่ไม่ทำอะไรไหมล่ะ หรือคุณจะเป็นฮิปโปที่อยู่ร่วมกับสัตว์อื่นได้ เป็นฮิปโปที่กินทีหลัง เป็น Leaders eat last อยู่ข้างๆ ทีมงาน เป็นคนที่เขาอยากคุยด้วย ไม่ใช่แอบคุยลับหลัง การเป็นคนฟังมันทำให้คุณได้ไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลาด้วย 

คุณทำงานมานาน เป็นผู้บริหารระดับสูง ป้องกันตัวเองไม่ให้กลายเป็น HiPPO ได้อย่างไร 

        ผมพูดตลอดว่าผมไม่รู้อะไรอีกมาก ภาพเราบางทีก็ใหญ่กว่าที่เราเป็น คนเรียกว่าเป็นเทพการตลาดอย่างนั้นอย่างนี้ ภาพยิ่งใหญ่ ยิ่งทำให้เรา humble เพราะเรารู้แก่ใจว่ามันเป็นความสำเร็จที่ผ่านมาแล้ว คุณทำหนังได้ร้อยล้านเรื่องนี้ ไม่ได้แปลว่าจะทำหนังได้ร้อยล้านตลอดไป 

        ตอนผมเด็กกว่านี้ ผมยอมรับว่าอีโก้สูงมาก อายุสามสิบก็เป็น VP แล้ว แล้วจู่ๆ ก็มีหัวหน้าคนใหม่เข้ามา เราคิดว่าเขาไม่เก่ง ก็เลยลาออกเลย พอลาออกก็เห็นความจริง ไอที่เคยคิดว่าบริษัทต้องพึ่งเรา ไม่กี่วันเขาหาคนใหม่มาแทนได้เลย สวัสดิการต่างๆ ห้องส่วนตัว เบอร์สวยที่เคยคิดว่าเป็นตัวตนของเรามันก็หายไปพร้อมกับตำแหน่ง ครั้งนั้นยังโชคดีที่สุดท้ายเจ้านายตามกลับไป แต่กลับไปครั้งนั้นผมเปลี่ยนทุกอย่าง หลังจากนั้นขออยู่ห้องเล็กๆ พอ มีข้าวของแค่กล่องเดียว ทำตัวเหมือนพร้อมออกตลอดเวลา ล่าสุดที่มีการเวิร์กฟรอมโฮม ข้าวของเหลือแค่ครึ่งกล่อง มันกลายเป็นวิชาตัวเบาที่ฝึกจนติดตัว

 

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ความสำคัญของการพร้อมลาออกตลอดเวลาคืออะไร

        ไม่ว่าชีวิตจะมั่นคงแค่ไหน สุดท้ายมันจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเสมอ มันคอนเซ็ปต์เดียวกับมรณานุสตินะ ถ้าเราเตรียมตัวตายเสมอ เราจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด เราจะดีกับผู้คน เราจะไม่ทำชื่อเสียงเสียหาย เราจะไม่กร่าง แต่เวลาเราคิดว่าเรามั่นคงเมื่อไหร่ คิดว่าจะอยู่ที่นั่นไปตลอด เราจะเริ่มประมาท เริ่มไม่ให้เต็มที่ในทุกๆวัน เริ่มยึดติดกับอะไรที่ไม่จำเป็น

ย้อนกลับไปในวัยที่เติบโตในหน้าที่การงานรวดเร็ว คุณคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณเติบโตได้รวดเร็วในวันนั้น และยังเรียกได้ว่าเป็นนักการตลาดที่สร้างปรากฏการณ์ในหลายวงการจนทุกวันนี้ 

        ความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งนี่แหละ สมัยที่ทำบริษัทหลักทรัพย์แล้วต้องไปเจอกลุ่มภัทรฯ ที่เก่งมาก เราประเมินตัวเองแล้วว่ามีคนเหมาะที่จะอยู่วงการนี้มากกว่าเรา เราเลยย้ายไปอยู่ดีแทค ซึ่งเป็นจังหวะที่วงการนี้กำลังเติบโตพอดี ตอนนั้นเขาหา investor relation ไม่มีใครอยากทำงานนี้หรอก เพราะต้องเจอคำถามโหดๆจากนักลงทุน เรายิ่งต้องทำตัวให้พร้อม เตรียมข้อมูลหนักมากก่อนประชุมทุกครั้ง ถามเยอะจนไม่รู้ว่าผู้ใหญ่เขาเห็นความสามารถหรือรำคาญไม่รู้นะ (หัวเราะ) เขาเลยชวนเข้าประชุมใหญ่ให้ไปเก็บข้อมูลมาตอบนักลงทุนเอง เลยได้โอกาสฟังผู้บริหารระดับสูงคุยกัน บวกกับเราเองคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะยังจำได้ว่าคนที่เก่งเขาเก่งระดับไหน เราเลยท่องทุกตัวเลข กลายเป็นว่าเวลาผู้บริหารเขาจะไปพบนักลงทุนรายใหญ่เขาต้องให้เราไปด้วย เป็นเหมือนเอนไซโคลปิเดียเคลื่อนที่ จนตอนที่เทเลนอร์ซื้อดีแทค เขากำลังจะหาดาวรุ่งคนใหม่ ซิคเว่ (ซิคเว่ เบรคเก้, อดีตซีอีโอ ดีแทค) เขาจำเราได้ เขาเลยนึกถึงเรา มันก็เป็นบทเรียนที่สอนเราว่า หนึ่ง จงทำงานยากที่คนอื่นไม่ทำ สอง ทำงานเกินเข้าไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อสามคือ ผลงานที่มีแต่เราคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้

        ผมเลยมีทัศนคติที่ดีกับสิ่งที่ยาก เพราะเห็นแล้วว่าชีวิตเราเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤต การลาออกครั้งแรกทำให้เราลดอีโก้ตัวตนลง การป่วยเข้าโรงพยาบาลก็ทำให้เราหันมาดูแลตัวเอง คนเราจะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อเจอสถานการณ์ยากๆ เท่านั้น ชีวิตง่ายๆ มันก็สบายนะ แต่มันไม่ทำให้เราเติบโตขึ้นเลย โอเค ตอนเกิดวิกฤตมันไม่มีใครชอบหรอก แต่การเห็นแพตเทิร์นทำให้เราอยู่กับมันได้ เราจะบอกตัวเองได้เต็มปากว่าอดทนกับมันนะ เพราะมันจะส่งผลดีในท้ายที่สุด

แต่มันก็ไม่ใช่ว่าวิกฤตแล้วจะเป็นโอกาสได้ด้วยตัวของมันเอง ในแง่หนึ่งเราก็ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างในวิกฤตนั้นด้วย

        ใช่ๆ สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือกางปัญหาออกมาดูให้ชัด แยกว่าอะไรแก้ได้ แก้ไม่ได้ มันฟังดูธรรมดานะ แต่หลายครั้งเวลาเกิดปัญหาคนเรามักจะจม บ่นว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา โทษโชคชะตา แต่ถ้าเราเห็นแล้วว่าเรื่องนี้แก้ไม่ได้ เราต้องถามตัวเองต่อทันทีว่าแล้วเราทำอะไรได้บ้างล่ะ อย่างตอนที่ผมป่วยเข้า CCU (Coronary Care Unit หรือ ICU ของคนที่มีอาการหัวใจขั้นร้ายแรง) มันป่วยการที่จะโอดครวญว่าทำไมมันต้องเกิดขึ้นกับผม โทษตัวเองไปก็เท่านั้น เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว ทางเดียวที่ทำได้คือจะทำอะไรต่อจากนี้ จะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองอย่างไร 

มีคนบอกว่าในยุคนี้อาศัยความพยายามอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะมันมีปัจจัยโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจสังคมที่กดทับเราอยู่ด้วย คนรวยอยู่แล้วจึงต่อยอดได้ง่าย แต่คนจนจะพยายามเท่าไรก็ยากจะลืมตาอ้าปากได้เลย

        นี่แหละคือปัญหาที่แก้ได้กับแก้ไม่ได้ อาจดูเหมือนผมสบายแล้วนะ แต่ถ้าย้อนกลับไปตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมเองก็ยื่นใบสมัครงานหัวขวิด สมัครไปเกือบร้อยบริษัทเหมือนกัน สุดท้ายได้สัมภาษณ์สามที่ ตอบรับสองที่เอง ถามว่าท้อไหม มันก็เหนื่อยแหละ แต่ทำไงได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือทำสิ่งที่ต้องทำตรงหน้าไปเรื่อยๆ

        ผมยอมรับและเห็นว่าใจสถานการณ์ยุคนี้ยากจริงๆ แต่ทุกยุคสมัยก็เจอความท้าทายต่างกันไป แล้วเราใช้คำตอบเดิมมาแก้ปัญหายุคใหม่ไม่ได้ เช่น คนรุ่นนี้จะหวังสร้างอนาคตด้วยการพึ่งบริษัท องค์กรใหญ่ๆ ก็อาจจะไม่ได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันคนรุ่นนี้ก็เข้าถึงความรู้มหาศาลที่ไม่เคยมีคนรุ่นไหนเข้าถึงได้มาก่อน โจทย์ของคนแต่ละรุ่นไม่ใช่เปรียบเทียบข้ามรุ่นกัน แต่คือการแข่งขันกับคนในรุ่นของคุณเอง ทำอย่างไรคุณจะโดดเด่นในยุคสมัยตัวเอง เพราะคนที่โดดเด่นก็คือคนที่ above average ทั้งนั้น

        แต่ผมยอมรับว่า ยุคผมการแข่งขันมันคือระดับซีเกมส์ แต่ยุคนี้มันคือโอลิมปิก ความหมายคือ รุ่นผมแข่งในระดับประเทศ ระดับภาค ก็สุดยอดแล้ว แต่รุ่นคุณมันแข่งกันระดับโลก แต่ก็อย่างที่บอกว่าความยากมันก็เป็นโอกาส เพราะมันหมายความว่าคุณเองก็ไปไกลระดับโลกได้เลยเหมือนกัน มันต้องมองให้เห็นว่าโอกาสคืออะไร ถ้ามัวแต่มองว่าโชคร้าย เราจะไม่เห็นทางเลือก แล้วมันไม่ได้อะไรเลยนอกจากตัดกำลังใจตัวเราเอง         

        ผมยกตัวอย่าง คุณคมสันต์ แซ่ลี ซีอีโอ Flash Express ที่ตอนนี้อายุสามสิบเอง นั่นก็เรียกได้ว่าเริ่มทำธุรกิจจากศูนย์เหมือนกัน แต่ตอนนี้เพิ่งระดมทุนไปได้เป็นพันล้าน พอเราเห็นเขาตอนนี้อาจคิดว่า โอ้โฮ เก่งจัง แต่คุณอย่าไปดูความสำเร็จคนอื่นแล้วมากดทับตัวเองแบบนั้น คุณต้องไปดูเบื้องหลังว่าเขาทำอะไรมาบ้าง คมสันต์บอกว่า คนจีนทำงาน 9-6-6 เข้าเก้าโมงออกสามทุ่ม หกวันต่อสัปดาห์ ฉะนั้น ถ้าเขาจะชนะจีนให้ได้ เขาจะทำงาน 9-9-7 ทำทุกวัน ทำงานอย่างกับฝึกโอลิมปิกเลย แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้เขา above average แม้จะเริ่มต้นจากจุดที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยด้วยซ้ำ และถ้าเราฝึกด้วยมาตรฐานระดับโลกแบบนี้ แม้สุดท้ายเราจะไม่ชนะโอลิมปิก แต่อย่างน้อยเราจะชนะเกมในภูมิภาค หรือในประเทศ

ในยุคนี้คุณสมบัติใดที่จะทำให้คนคนหนึ่ง ‘above average’

        (นิ่งคิด) ความอดทน ซึ่งมันคนละคุณสมบัติกับยุคที่ผ่านมานะ เพราะถ้าเป็นรุ่นพ่อแม่ผม ความอดทนเป็นเรื่องธรรมดามาก สถานการณ์มันบังคับให้เขาต้องอดทน ในยุคเขาสิ่งที่ทำให้แตกต่างคือความรู้เฉพาะทาง เรียนสูง พูดอังกฤษได้ถึงจะพิเศษ แต่ยุคนี้ที่ใครๆ ก็เข้าถึงความรู้ได้ พูดอังกฤษได้หมด แต่ทุกคนรีบโต รีบสำเร็จกันไปหมด ความอดทนมันเลยเป็นสิ่งพิเศษในยุคนี้ 

        ซึ่งความอดทนมันฝึกกันได้นะ มันฝึกจากความลำบาก จากวินัย คุณฝึกผ่านการวิ่งมาราธอนก็ได้ ผ่านการเขียนก็ได้ พี่จิก ประภาสอีกนั่นแหละเป็นคนบอกว่าถ้าต้องเลือกระหว่างงานที่ง่ายกับยาก ให้เลือกงานยากไว้ก่อน เลือกสิ่งที่ไม่มีใครทำ สิ่งนั้นแหละจะทำให้เราต่างจากผู้อื่น

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

เหมือนคำกล่าวว่า Hard choice, easy life. Easy choice, hard life.

        นี่คือความลับของฟ้านะ คือทุกอย่างมันย้อนแย้งหมด เช่น ยิ่งไม่รู้ยิ่งรู้  ยิ่งจำกัดยิ่งสร้างสรรค์ ยิ่งออกกำลังกายยิ่งได้กำลัง ยิ่งหิวยิ่งดี นี่งานวิจัยล่าสุดเลยว่าความหิวทำให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง ความตรงข้ามมันสร้างสมดุล นี่เป็นความลับของฟ้าเลย

        คนใกล้ตัวอย่างพี่ตุ้ม (หนุ่มเมืองจันท์) ที่ร่วมสร้าง ABC (Academy of Business Creativity) ด้วยกันมา เป็นคนที่ทำให้เชื่อเรื่องยิ่งให้ยิ่งได้ ช่วงแรกที่รู้จักกัน พี่ตุ้มทำมติชน ผมทำดีแทค เราร่วมจัดงาน Happy Book ด้วยกัน พี่ตุ้มนี่เอะอะแจกแถมตลอด ผมได้รับก็อยากตอบแทน พี่ตุ้มให้อะไรมา เรายิ่งอยากเพิ่มให้เท่านั้น ให้กันไปให้กันมา จนงานที่ออกมามันดีเกินคาดมาก 

        แต่ก่อนผมก็เป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่มันรู้สึกว่ามีอะไรขาดไปสักอย่าง จนได้มาทำ ABC เลยเพิ่งรู้ว่าสิ่งที่ขาดไปคือความรู้สึกมีประโยชน์ ผมเลยเชื่อสนิทใจว่าชีวิตนี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเรามีประโยชน์กับอะไรสักอย่าง จะให้สัมภาษณ์ จะเขียน จะทำงานต้องมีประโยชน์ในการทำสิ่งนั้นๆ ผมว่านี่คือ fountain of youth อย่างหนึ่ง 

รู้สึกอย่างไรที่ในแง่หนึ่งก็มีคนมองว่าคลาสลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์

        ในแง่หนึ่งมันก็ใช่ แต่ถ้าวัฒนธรรมสังคมเราเป็นอย่างนี้ ทำไมเราไม่สร้าง good networking ถ้าเราเข้าถึงคนระดับบนของประเทศ ทำไมเราไม่ส่งต่อแนวคิดเรื่อง good business พูดเรื่อง business ethics ต่อต้านการโกง การเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่กิจกรรม กติกาในคลาสเราก็เป็นแบบนั้น มันก็เป็นการหล่อหลอมกันในกลุ่ม

แล้วถ้าคนที่เข้าไม่ถึงกลุ่มแบบนี้ควรทำเช่นไร มันจะยิ่งทำให้คนมีโอกาสยิ่งได้โอกาส แล้วความเหลื่อมล้ำยิ่งกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ไหม

        จริงๆ คลาสลักษณะนี้มันมีอีกเยอะมากนะ คลาสฟรีก็มี หรือกลุ่มต่างๆ ก็มีเต็มไปหมด การเข้าไปอยู่กลุ่มแบบนี้มันทำให้เราเจอคนหลากหลาย เห็นว่าตัวเองไม่รู้อะไร มันทำให้ตัวเราเล็ก แต่ความคิดเราใหญ่ ไม่ว่าจะกลุ่มแบบไหน ผมว่าคนเราควรมีกลุ่มที่ทำให้เราได้เจอความหลากหลายนอกจากวงการที่ตัวเองอยู่

        ถ้าจะให้พูดไปไกลกว่านั้น จริงๆ แล้วแต่ไหนแต่ไรมนุษย์เราอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน เป็นเผ่าพันธุ์ ลิงชิมแปนซีสร้างได้แค่เครือข่ายเล็กๆ แต่มนุษย์เป็นมนุษย์ได้เพราะเรามีความสามารถที่จะสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ เกิดเป็นเมือง เป็นอารยธรรม 

        ผมว่าไม่ว่าเราจะพูดถึงอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดีคือท่าทีของเรา เราใช้มันอย่างไรมากกว่า ยิ่งโลกตอนนี้มันไม่ใช่ยุคการแข่งขันแล้ว มันเป็นยุค collaboration ถ้าเราดีไซน์เก่ง แต่โค้ดดิ้งไม่เป็น ก็ทำโปรดักต์ใหม่ๆ ไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นการสัมพันธ์กันเพื่อเอาเปรียบคนอื่น แบบนั้นมันผิดอยู่แล้ว อันนั้นวิจารณ์ได้เลย แต่อย่าให้การกระทำผิดๆ มันไปปิดโอกาสให้เราไม่ได้สัมพันธ์กัน ยุคนี้มันต้อง connect กันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ดูอย่างวงการเพลงเดี๋ยวนี้ เกาหลี อเมริกามาฟีเจอริงกัน เอาของดีแต่ละคนมาผสมกัน ที่ดีอยู่แล้วกลายเป็นว่าดีกว่าเดิมอีก ได้ฐานแฟนคูณสอง

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

อย่าตัดสินเพียงเพราะรูปแบบ หรือภาพจำที่เคยมีมา ให้ดูลึกลงไปที่แก่นว่าสิ่งนั้นมีไว้เพื่ออะไร

        ใช่ อย่างเรื่องการสร้างเครือข่าย ผมมองว่ามันคือการร่วมมือกันเพื่อใช้ความหลากหลายให้เป็นประโยชน์นะ

แล้วอย่างช่วงที่ผ่านมามีกระแสผู้คนไม่เห็นด้วยกับไลฟ์โค้ช ในแง่หนึ่งแนวคิดพัฒนาตัวเอง มองโลกแง่บวก มันก็ดูคล้ายแบบนั้น คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร 

        ทั้งงานเขียนผม และเนื้อหาในคลาส ABC เราไม่ได้มาบอกเป็นข้อๆ ว่าคุณควรทำอย่างไรกับชีวิต แต่เรามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้วปล่อยให้ผู้อ่าน ผู้เรียนไปคิดกันต่อเอง วิทยากรของเราก็หลากหลาย เพื่อให้คนเห็นว่าชีวิตมันเดินได้หลายทาง

        ผมไม่เชื่อในการปลอบประโลม หรือทางลัดนะ แต่ผมเชื่อในการโค้ช โค้ชที่ดีต้องมีทักษะการฟัง ไม่ใช่พูด คนเราควรมีเมนเทอร์ที่ปรึกษาได้ ช่วยคิดได้ 

ใครคือโค้ชของคุณ

        ถ้าเป็นแต่ก่อนก็คือซิคเว่ เจ้านายเก่าที่ดีแทค แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เจอกัน อย่างพี่ตุ้มเองก็ใช่ (พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ เดินเข้ามาในห้องสัมภาษณ์พอดี) แกเป็นคนที่มีอะไรก็ปรึกษาได้ จริงๆ พี่ตุ้มนี่เรียกได้ว่าเป็นทั้งเมนเทอร์ เป็นทั้งกัลยาณมิตร คือตักเตือน ถกเถียงกันได้ด้วย

 

ล้ม ลุก เรียน รู้ รวบรวมเรื่องเล่าจากเพจ ‘เขียนไว้ให้เธอ’

มีคนบอกว่าเมื่อคนเราโตขึ้น เราจะ conservative มากขึ้น มันจริงไหม คุณทำอย่างไรให้ยังเปิดกว้างทางความคิดได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น 

        ช่วงที่ผมเป็นสจ๊วตมาก่อนตอนอยู่อเมริกา ตอนนั้นไม่กลัวเครื่องบินเลยนะ แต่ตอนนี้มีลูก จะบินไปไหนนี่กลัวไปหมด ทำอะไรมันไม่บ้าระห่ำเหมือนก่อนแล้ว เราไม่มุ่งผลีผลามเอาชนะ เพราะเราเห็นแล้วว่าหลายอย่างมันไม่ใช่การเอาชนะในวันนี้ ไซมอน ซิเน็ค ใช้คำว่า infinite game ถ้าเรามองชีวิตเป็นเกมระยะยาว หลายอย่างมันไม่ต้องแพ้ ไม่ต้องชนะก็ได้ บางครั้งที่ดูเหมือนว่าเราชนะ แต่เราชนะวันเดียว เรื่องเดียวนะ แต่มันอาจไปสร้างศัตรูซึ่งเราไม่รู้เลยว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรกับเราในอนาคตหรือเปล่า บางครั้งการเสียเปรียบเล็กๆน้อยๆอาจส่งผลดีกว่าในระยะยาว

        คนมักมอง win-win game ว่าคือเรากับเขาได้เท่ากัน ถ้าเราได้ 40 เขาได้ 60 นี่เราแพ้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ก็ได้ เราควรมองว่าเราได้ตั้ง 40 และการที่เขาพอใจที่ได้ 60 นี่ก็ส่งผลดีต่อเราเหมือนกัน เราได้มิตรภาพ ได้ความไม่บาดหมาง ได้โอกาสการร่วมมือกันในอนาคต แทนที่จะมาแย่งส่วนต่างกันเอาเป็นเอาตายในวันนี้ สู้เรามองเกมระยะยาวที่เราได้ร่วมกันดีกว่า

อย่ามองเกมระยะสั้น จงมองระยะยาว บางครั้งการเสียอาจคือการได้มา บางครั้งการได้มาอาจมีราคาที่ต้องจ่ายไป – อีกหนึ่งความย้อนแย้ง นี่เป็นความลับของฟ้าอีกหรือเปล่า

        (หัวเราะ) ใช่ๆ แม้แต่สิ่งที่ดูต่างกันสุดขั้วก็ยังพูดสิ่งเดียวกันนะ เช่น ทุนนิยมกับศาสนาต่างก็พูดเรื่องหนทางไปสู่ความสุขในชีวิต แต่ในขณะที่ทุนนิยมเลือกวิธีเพิ่ม supply ศาสนาก็เลือกที่จะลด demand

        พี่จิก ประภาส ที่ผมแอบยกให้เป็นโค้ชอีกคน บอกว่าเป้าหมายเขาตอนนี้คือการลดเป้าหมาย แต่ก่อนเราอาจมองว่าเราจะมีความสุขได้เราต้องเพิ่ม supply ความต้องการต้องได้รับการเติมเต็ม แต่อย่าลืมว่าเรามีความสุขได้เหมือนกันด้วยการลดความคาดหวังลงมา มันคนละ approach นะ แต่มันไปสู่ปลายทางเดียวกัน ความต่างก็คือถ้าเราเลือกแต่จะเพิ่มๆๆความต้องการ สักพักเราจะดื้อยา ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ความสุขเราไม่เพิ่มตามแล้ว 

คุณมักบอกว่าวิกฤตคือของโอกาส ปี 2020 นี้ที่เต็มไปด้วยวิกฤตทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือแม้แต่ระดับองค์กรที่คุณอยู่เอง เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นโอกาสจริงๆ ไม่ใช่เป็นวิกฤตที่มาทำลายแล้วทำให้ทุกอย่างแย่ลงเมื่อมันผ่านไป

        เรายังไม่เห็นหรอกว่ามันจะดีอย่างไร ผมบอกได้แค่ว่าจากประสบการณ์ในชีวิตมันไม่มีครั้งไหนเลยที่ชีวิตดีขึ้นได้จากความสบาย ผมอาจเป็นพวกบัวปริ่มน้ำก็ได้นะ คือต้องเจอกับตัวก่อนถึงจะเปลี่ยนตัวเอง ต้องป่วยจนเข้าโรงพยาบาลถึงรักษาสุขภาพ ต้องลาออกจากงานถึงลดอีโก้ เหตุการณ์พวกนี้ต่อให้เราไม่อยากเปลี่ยน มันก็บังคับให้เราเปลี่ยนอยู่ดี 

        สัจธรรมมันย้อนแย้งเสมอ โลกมันย้อนแย้งนะ ยิ่งเจอโจทย์ยากชีวิตยิ่งง่าย ยิ่งฝืนสร้างวินัย ยิ่งได้อิสระ ยิ่งลำบากยิ่งสบาย ยิ่งกลัวลูกลำบากยิ่งกล้าลงมือทำ กล้าลงมือเขียนทั้งที่ไม่มั่นใจในการเขียน เพราะความอยากฝากบทเรียนให้ลูกมันมีมากกว่า

        Gam zeh ya’avor

        แล้วมันจะผ่านไป

        สิ่งสำคัญคือคุณทำอะไรกับมันในช่วงเวลานั้น