ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เรามีโอกาสได้ดูคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งในยูทูบ ที่ถ่ายทำนักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังตั้งแถวหน้ากระดานบนสนามหญ้ากว้างใหญ่ ในคลิปมีเสียงของครูที่กำลังบอกให้ทุกคนเตรียมวิ่งแข่งชิงเงินรางวัล 100 ดอลลาร์ฯ ขอให้ทุกคนวางสัมภาระแล้วเตรียมแข่ง แน่นอน นักศึกษาทุกคนประจำที่เส้นสตาร์ทกันด้วยความคึกคัก
แต่ก่อนที่ครูจะเริ่มการแข่งขัน ครูตะโกนเสียงดังฟังชัดว่า ครูจะพูดอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตใครสักคน ถ้าเรื่องนั้นตรงกับใคร ก็ให้ก้าวออกมาข้างหน้าสองก้าวทุกครั้ง แต่ถ้าเรื่องนั้นไม่ตรงกับชีวิตใครก็ให้ยืนอยู่ที่เดิม
เช่น ก้าวออกมาสองก้าว ถ้า… พ่อแม่ของพวกคุณยังแต่งงานกันอยู่ ถ้าคุณโตมาในบ้านที่มีพ่อเป็นแบบอย่าง ถ้าคุณได้เรียนโรงเรียนเอกชน ถ้าคุณไม่ต้องช่วยพ่อแม่หาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ไม่ต้องกังวลว่าจะมีอาหารมื้อต่อไปกินมั้ย ฯลฯ
หลายคนก้าวออกมาสองก้าวแทบทุกประโยคที่ครูพูด ในขณะที่เด็กบางคนยังยืนอยู่ที่เดิม ตัดภาพในมุมกว้างมาอีกครั้ง เด็กหลายคนยืนอยู่ในจุดที่อีกไม่กี่ก้าวก็จะถึงเส้นชัย ในขณะที่บางคนยังไม่ได้ออกจากจุดสตาร์ท
เมื่อเล่นไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง ครูก็ให้กลุ่มนักเรียนที่ก้าวไปไกลกว่าคนอื่น หันไปมองเพื่อนที่ยืนอยู่ด้านหลัง แล้วบอกว่า สิ่งที่ครูพูดไปทั้งหมดมันไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับสิ่งที่พวกคุณทำหรือตัดสินใจ เพราะพวกเรารู้แล้วว่าคนที่ยืนอยู่แถวหน้าล้วนแต่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นที่จะเป็นผู้คว้าเงิน 100 ดอลลาร์ฯ และไม่เคยตระหนักเลยว่าตัวเองได้โอกาสก้าวไปก่อนคนอื่นๆ หลายก้าวแล้ว
แต่ท้ายที่สุด ครูก็ให้ทุกคนวิ่งแข่งไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหน
คงพอจะเดาได้ว่า คนที่อยู่ใกล้เส้นชัยกับคนที่อยู่ที่จุดเริ่มต้น ใครได้เปรียบกว่ากัน ใครบ้างที่ต้องวิ่งอย่างสุดกำลัง ในขณะที่คนบางคนแค่เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงเส้นชัยแล้ว
นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และคนที่มีต้นทุนสูงกว่าคนอื่นก็คือคนที่มีโอกาสชนะมากกว่าคนอื่น
ตัดภาพมาที่บ้านเรา คลิปที่พุ่งตรงกระแทกปลายคางไปที่ประเด็น ต้นทุนของคนรวย (ที่มักไม่ถูกถอดรหัสออกมาพูดกันตรงๆ) เพิ่งถูกปล่อยมาไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนเรียกมันว่า ‘คลิปลูกคนรวย’ ที่มีตัวละครชื่อ ‘แวน ธิติพงษ์’ มาบอกกันตรงๆ ว่ารหัสความสำเร็จของตัวเองคือ “บ้านผมรวย” ซึ่งหลังจากลงคลิปไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ความไวรัลก็บังเกิด
เสียงสะท้อนในเชิงชื่นชมดังกันอื้ออึง เพราะนี่คือคลิปที่อาจจะเรียกได้ว่า กล่าวแทนใจคนจำนวนมากในสังคม ที่เห็นความไม่เท่าเทียมและต้นทุนที่ไม่เท่ากันของคนในสังคมมาตลอด แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นใครหยิบยกเรื่องนี้มาพูด โดยเฉพาะการพูดด้วยท่าทียียวน หยิกนิด กัดหน่อย รู้ตัวอีกทีก็ขำกันแบบขื่นๆ ขมๆ ผสมหน้าชา
‘เบนซ์’ – ธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับแห่งแซลมอนเฮาส์ คือคนที่กำกับคลิปนี้ ซึ่งถือเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวของเขา ที่เจ้าตัวบอกว่า อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด ไม่มีกระมิดกระเมี้ยน “บ้านเราชอบกระมิดกระเมี้ยนเรื่องเงินทอง ไม่ค่อยกล้าพูดว่า นี่คือต้นทุนสำคัญ”
ระหว่างถ่ายภาพ เขาหยิบพร็อพประกอบฉากที่เป็น slate ผู้กำกับมาเขียนข้อความบนนั้น มันอ่านว่า ‘Insecure & Self Doubt’ เราอดเอ่ยปากถามไม่ได้ว่า มันแปลว่าอะไร เขาตอบว่าเป็นการจิกกัดตัวเองล้วนๆ เพราะทุกวันนี้เขาก็ยังรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเอง ไม่แน่ใจในคุณค่าของตัวเอง กระทั่งว่า บ่อยครั้งก็ยังสงสัยตัวเองว่าตกลงเขาเป็นคนเก่งจริงๆ หรือ?
แน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่เราต้องคุยกัน อย่าเรียกมันว่าการถอดรหัสความสำเร็จอะไรเลย เรียกมันว่าเป็นการพูดคุยแบบไม่กระมิดกระเมี้ยนก็แล้วกัน
จำความรู้สึกตัวเองได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น คิดอะไรอยู่ ทำไมถึงทำคลิปนี้
ปูตั้งแต่แรกเลยแล้วกัน ผมรู้จัก ‘นัท’ – ณัฏฐ์ กิจจริต นักแสดงนำในวิดีโอนี้มา 4 ปีแล้ว เพราะทำงานด้วยกันมาก่อน รู้สึกว่าคาแรกเตอร์มันน่าสนใจดี เพราะมันเป็นคนเหี้-เหมือนผมนี่แหละ (หัวเราะ) คือชอบกวนตีนหน้าตาย เลยคิดว่าอยากจับคนนี้มาเล่นอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่มีอะไรที่เหมาะสักที วันนึงก็มาคิดได้ว่า เออว่ะ ประเด็นเรื่องคนรวย เรื่องความสำเร็จนี่มันน่าสนใจ แล้วช่วงนี้รายการถอดบทเรียนตามพอดแคสต์มันเยอะมาก ผมก็ชอบฟังนะ แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับเรื่องต้นทุนที่ดี หรือทรัพยากรแรกเริ่มของคนแต่ละคน ที่จะลองผิดลองถูก เริ่มต้นโมเดลนั่นนี่ก่อนคนอื่น ผมแค่รู้สึกว่ารอบตัวผมมันเต็มไปด้วยคนที่ทำงานหนักมากๆ ประหยัดมากๆ เปิดรับทุกอย่าง open minded growth mindset ทุกอย่างมีหมด แต่ก็เหมือนชีวิตมันอยู่ที่เดิมน่ะ เพราะอะไร เพราะมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้หรือเปล่า ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่หลายๆ คนประสบความสำเร็จน่ะ เพราะมีต้นทุนที่ดีไง และมันไม่ผิดเลยที่พวกคุณจะพูดมันออกมา ก็ไม่เห็นเป็นไรเลยนี่หว่า ถามว่ามันมีอะไรมากระตุ้นให้ทำเรื่องนี้ขึ้นมาหรือเปล่า ไม่มีเลย และหลายๆ งานมันก็เกิดจากอย่างนี้แหละ มันจะปิ๊งขึ้นมาตอนที่เราวิ่ง ขับรถ หรือทำอะไรสักอย่างและคิดว่า เออ อันนี้น่าจะตลกดีว่ะ ทำดีกว่า แล้วก็ลุกมาทำเลย แต่แน่นอนว่าความตลกของผมมันจะประหลาดๆ กว่าคนอื่นเขา มันจะดาร์กๆ เป็นอารมณ์ขันอีกแบบ
ไม่ได้มีสูตรอะไร อย่างน้อยคิดออกมาแล้วก็วางแผนหน่อยว่าทำออกมาแล้ว จะอย่างไรต่อ โปรโมตยังไง
ไม่เลย มันเพียวสุดๆ เลย คิดแค่นั้นว่าอยากทำแล้วทำเลย ถ้าจำไม่ผิดผมทักนักแสดงไปวันจันทร์ ถามว่า เสาร์-อาทิตย์นี้ว่างมั้ย พอดีคิดบทนี้ได้ มาทำกัน ถ่ายทำไม่นาน 3-4 ชั่วโมง มันก็บอก เออ เอาดิพี่ สนุกดี กวนตีนดี มันก็มา แล้วทีมงานก็มีแค่สี่ห้าคนนี่แหละ ถ่ายกันตรงนี้ ตรงที่ผมนั่งคุยอยู่นี่แหละ ทีมเล็กๆ เหมือนงานนักศึกษาเลย บทนี่ก็พิมพ์ๆ แบบมันมือไปเรื่อยๆ นักแสดงก็ไปคิด ไปทำการบ้านมา แต่เขาทำการบ้านมาดีมากเลยนะ โน้ตไว้หมด คีย์เวิร์ดตรงไหน จะพูดด้วยน้ำเสียงโทนไหน ไปดูคลิปสัมภาษณ์นักธุรกิจรวยๆ มา และดูไปถึงขนาดว่าตอนยังไม่ประสบความสำเร็จเขาพูดแบบไหน โทนเสียงเป็นยังไง นัทเป็นนักแสดงที่ดีและเก่งมาก
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือต้นทุนชีวิต ซึ่งหลายคนที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งมันมาจากต้นทุนที่ดี แต่คนไม่ค่อยพูดกัน จริงๆ เราเคยสัมภาษณ์มาเยอะ เราก็รู้สึกได้ว่ามันมีอะไรขัดๆ ใจเราอยู่
ผมแค่รู้สึกว่าไอ้สูตรความสำเร็จพวกนั้นมันไม่ได้เอาไปใช้ได้กับทุกคน แล้วก็ต้องยอมรับนะว่า เออ ทำไมเราต้องกระมิดกระเมี้ยนตอบจังเลยว่ากูบ้านรวย มันไม่เห็นเป็นไรเลยพี่ ถ้าพี่บ้านรวยก็บอกไปตรงๆ ผมไม่ได้ตัดสินอะไรพี่หรอก พี่บ้านรวย พี่มีทุน พี่ได้ไปเรียนเมืองนอก พี่ได้ภาษา ได้คอนเนกชันคนรวยๆ ด้วยกันมา ได้โอกาสลองผิดลองถูก พูดแบบนี้ก็ได้ไม่เห็นเป็นไรเลย เออ แต่ก็เข้าใจแหละ เรื่องภาพลักษณ์เขา ใครจะพูดแบบนี้ เขาก็ต้องบอกว่า เขา work hard ผมก็เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนทุกคนนี่แหละ แล้วพ่อก็ส่งผมไปเรียนออสเตรเลีย อ้าว เห็นมั้ย มึงเริ่มต่างจากกูละ
คือเข้าใจนะว่าการบอกไปเลยว่าบ้านรวยมันก็ดูโอ้อวดเนอะ แล้วคนไทยก็ไม่รู้เป็นอะไรกับการพูดเรื่องเงิน เหมือนมันมีข้อห้ามอะไรบางอย่างอยู่ เช่น พูดเรื่องเงินเยอะไม่ได้นะ แกจะดูเป็นคนโลภ หรือเงินทองเป็นของนอกกาย ความสุขเริ่มจากจิตใจ อะไรทำนองนี้ เรามีชุดความคิดบางอย่างที่รู้สึกว่าเงินเป็นตัวไม่ดี เป็นตัวร้ายตลอดเวลา ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ใช่ มันก็เป็นแค่กลไกหนึ่งของสังคม และการบอกว่าตัวเองบ้านรวย ต้นทุนดี มันก็ไม่เห็นจะผิดเลย มันก็บอกได้ แหม คอนเนกชันพี่ก็ดีกว่าคนอื่น ไอ้รหัสลับที่พี่มาบอกคนอื่นว่า เราต้องไม่หยุดเรียนรู้ เราต้องมี resilience ต้องมี growth mindset น่ะ มันก็ดีแหละพี่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมีตามนี้แล้วเขาจะได้เหมือนพี่นะ แต่โอเค ฟังเพื่อได้แรงบันดาลใจมันก็ดี คือผมรู้สึกว่าผมเข้าใจกลไกทุกอย่างแหละว่าที่เขาพูดแบบนั้นเพราะอะไร ทำไมเขาไม่พูดว่าบ้านรวยไปตรงๆ วะ เพราะผมก็ฟังพอดแคสต์พวกนี้บ่อยๆ แต่มันห้ามตัวเองไม่ได้ที่เราจะรู้สึกมันเขี้ยวเล็กๆ น้อยๆ และเราก็แค่ไม่อยากตั้งสเตตัสกวนตีนในเฟซบุ๊ก ก็เลยลุกมาทำวิดีโอเลยละกัน
ชื่อโปรเจกต์ Good Human มีนัยยะอะไรมั้ย
ก็คนดีน่ะ มนุษย์ที่ดี แค่นั้นเลย
หลังจากวิดีโอออกไป มีฟีดแบ็กอะไรเข้ามาบ้าง ที่คิดว่า เออ มันน่าสนใจ
คือปกติเพื่อนฝูง คนรอบๆ ตัวเราก็จะชอบกันอยู่แล้ว แบบตลก กวนตีน แต่มันก็จะมีพวกนักธุรกิจ หรือคนที่บ้านรวยจริงๆ ที่ดูแล้วเขาก็โพสต์นะ ว่าเออ เขายอมรับว่ามันจริง มันไม่ใช่เรื่องแปลก มันมีแบบนี้อยู่แล้วแต่เราไม่ค่อยได้พูดถึง แล้วก็เจอบางคนที่อยู่ดีๆ ก็มาเปลือยชีวิตให้รู้ว่า ใช่ครับ ผมรู้มาตลอดว่าผมอาจจะโชคดี แต่ไม่ได้มีความสามารถอะไรเลย แค่เกิดมาถูกที่ ถูกเวลา และเกิดมาถูกมดลูกเท่านั้นเอง คือเห็นเขาแชร์ไปพูด เพื่อนๆ เขาก็มาตบไหล่แล้วบอก เออ ใช่ แต่มึงก็เป็นคนรวยที่ไม่หัวค–นะเว้ย
คือเรื่องนี้มีหลายคนที่ทักมาชมเยอะ เพราะอาจจะมีประเด็นอะไรที่มันสื่อกับเขาได้ อย่างที่บอกมันเกิดจากการที่ผมเองก็ไม่ได้วางแผนอะไรเลย แค่ทำให้มันเกิดขึ้นมา
ถ้าให้คุณพูดแทนใจคนที่ทำงาน หรือมนุษย์เงินเดือนเกี่ยวกับประเด็นความสำเร็จ คุณจะบอกว่า pain point ของเขาจริงๆ คืออะไรที่คนไม่ค่อยได้พูดถึง
เออ ผมว่าหลังๆ มานี้บ้านเรามัน aware มากขึ้นว่า ไม่ใช่ว่าทำงานหนักอย่างเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จ ผมเข้าใจว่าผมกับคุณก็โตมาในสื่อยุคที่บอกเราว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น หรือเป็น somebody กันเถอะ ค้นหาสิ่งที่ใช่ แล้วทำให้เป็นชีวิตที่ชอบ เก็ตมั้ย เมื่อก่อนเราอ่านพวกนิตยสารแล้วเราก็อุ๊ย คนนี้เก่งจังเลย เขาได้ทำงานที่ใช่ แล้วก็เป็น somebody ในสังคม เหมือนเขาบอกเราว่า ทำงานหนักเท่านั้นแหละ ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ผมเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เขามองเห็นบางอย่างที่นอกเหนือไปจากนั้นแล้วมันยังไม่ได้ถูกแก้ไข มันเศร้านะที่คนเราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน โดยเฉพาะในโครงสร้างสังคมแบบนี้ ในยุคแบบนี้ นโยบายและกฎหมายแบบนี้ ยกตัวอย่างน้องๆ บางคนในออฟฟิศนี่แหละ ผมเคยถามว่าวันนี้ไปไหนมาวะ มันบอกไปเรียนภาษาเยอรมัน เลยถามว่าไปเรียนทำไม มันบอกผมอยากย้ายประเทศว่ะ ทั้งที่อาชีพมันที่นี่ก็ดีนะ มีหน้าที่ใหญ่โต พอถามว่าแล้วจะไปทำอะไร มันบอก ผมดูมาแล้วพี่ มันมีงานพวกทำงานดูแลคนแก่ งานออแพร์ ดูแลพวกที่ออกจากสถานพยาบาลมาแล้วต้องมาทำกายภาพ หรือจะเป็นบุรุษพยาบาลก็เป็นได้นะพี่ ผมก็แปลกใจว่า แล้วมันจะไปทำได้เหรอ เพราะอยู่ที่นี่มันก็มีงานที่ดี ได้ทำสิ่งที่ชอบ มันตอบว่า ผมไม่ได้ให้น้ำหนักกับสิ่งที่ชอบมากเท่ากับสถานที่ที่ชอบ และทำให้ผมมีความหวังในการใช้ชีวิต ผมนี่อึ้งเลย เออ มันคิดคนละแบบกับเราจริงๆ ว่ะ ยุคเรามันคือต้องหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และทำให้เก่งที่สุดกันเถอะ เด็กรุ่นนี้กลับอยากพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เขารู้สึกโอเคกับชีวิตหลายๆ อย่างมากกว่า แต่จะทำอะไร จะทำสิ่งที่ชอบหรือเปล่า กลับเป็นจุดรอง คือมันก็ต่างจากยุคที่ผมเติบโตมาเหมือนกัน
ถ้าเอาความคิดของเด็กๆ รุ่นนี้มาเทียบกับคุณ คุณอยากเป็นแบบนั้นไหม หรือทำแบบเขาหรือเปล่า
ผมโตในช่วงที่สื่อมันหล่อหลอมมาอีกแบบ และตอนนั้นบ้านเมืองก็มีความหวังอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หรือมันอาจจะไม่มีความหวังมานานแล้ว แต่ผมตาใสเกินกว่าที่จะรู้ แล้วให้ผมเปลี่ยนไปคิดแบบนั้นมันก็คงไม่ได้แล้ว เพราะผมเป็นคนแบบนี้ไปแล้ว ผมมีหน้าที่การงาน มีสิ่งที่รักที่ต้องทำไปแล้ว แต่ตอบไม่ได้ว่าถ้าเกิดในยุคพวกเขา ผมจะรู้สึกแบบเขาหรือเปล่า คือด้วยสภาพบ้านเมือง การบริหาร ผู้นำ มันก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึกไม่มีความหวังน่ะ ดูข่าวแต่ละวันแล้วมันก็บั่นทอนจิตใจ ว่าแล้วเราจะทำงานหนักไปเพื่ออะไรวะ ในเมื่อสุดท้ายแล้ว คือมันเหมือนเราเป็นนักดนตรีที่เก่งที่สุดแต่กำลังอยู่ในไททานิกที่กำลังล่มน่ะ หรือเราไปอยู่ในเรือที่ไม่ต้องเท่มาก แต่มันไม่ล่มดีมั้ยอะ (หัวเราะ)
คือไปล้างจานในเรือที่มันอยู่ได้ ดีกว่าไปเป็นนักดนตรีที่อยู่ในเรือที่กำลังจะล่ม?
เออ ใช่ๆ แบบนั้นเลย (หัวเราะ)
“เมื่อก่อนเราอ่านพวกนิตยสารแล้วเราก็อุ๊ย คนนี้เก่งจังเลย เขาได้ทำงานที่ใช่ แล้วก็เป็น somebody ในสังคม เหมือนเขาบอกเราว่า ทำงานหนักเท่านั้นแหละ ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ผมเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เขามองเห็นบางอย่างที่นอกเหนือไปจากนั้นแล้วมันยังไม่ได้ถูกแก้ไข มันเศร้านะที่คนเราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน โดยเฉพาะในโครงสร้างสังคมแบบนี้ ในยุคแบบนี้ นโยบายและกฎหมายแบบนี้”
ถ้ามองกลับมาในมุมของคุณ ที่ต้องผลิตคอนเทนต์ ผลิตสื่อ หรือแม้แต่การใส่ความคิดความอ่านเข้าไป คุณยังเชื่ออยู่ไหมว่าตัวเองยังสามารถเปลี่ยนสังคมได้จากงานที่ตัวเองทำ
ผมว่ามันเปลี่ยนได้บางอย่าง และเปลี่ยนอย่างใช้เวลาในระยะยาว มันอาจจะไม่ได้ไปเปลี่ยนเชิงการเมืองขนาดนั้น แต่มันก็อาจจะเปลี่ยนความคิดคนได้ เช่น ทำให้เขาคิดว่า เรากำลังอยู่กับบางสิ่งที่มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นตลอดได้มั้ย เช่น ที่ผมเคยทำวิดีโอ วันรวมญาติ ขึ้นมา เพราะผมสงสัยว่าทำไมเวลาที่เจอญาติแล้วต้องทักอะไรแบบนั้นด้วย เพราะทุกคนเขาอึดอัดเหมือนกัน เช่น อ้วนไปหรือเปล่า ดำขึ้นหรือเปล่า เมื่อไหร่จะแต่งงาน ได้เงินเดือนเท่าไหร่ ทำไมเป็นตุ๊ด อะไรแบบนี้ พอทำวิดีโอออกมา พวกผู้ใหญ่เขาก็คิดได้นะว่า อ้าว พวกแกรู้สึกแบบนี้กันเหรอ เขาไม่เคยรู้เลย เพราะยุคเขามันทักกันได้นี่หว่า แต่ยุคนี้มันไม่ได้ไง และผมก็คิดว่ามันไม่ควรจะได้มาตั้งนานแล้ว เราไม่ควรจะล้อคนเรื่องอ้วน เรื่องดำ หรืออะไรก็ตามมาตั้งนานแล้ว ดังนั้น ถามว่า สิ่งที่ผมทำมันเปลี่ยนได้มั้ย ผมว่ามันก็เปลี่ยนได้ แต่มันค่อยๆ เปลี่ยนจากล่างขึ้นบน อาจจะเป็นแค่ดีเทลเล็กๆ หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้วผมเคยทำโฆษณาในยุคที่คนยังไม่รู้จักคำว่า introvert หรือ extrovert ผมเชื่อว่าผมเป็นคนแรกๆ เลยที่พูดถึงประเด็นนี้ เพราะผมไม่เข้าใจว่า ทำไมโฆษณามันต้องมีแต่แบบ… ออกไปเล้ย ออกไปค้นหาตัวเอง และเป็นตัวเองให้สุดดด หรือแบบออกไปเล่นสเกตบอร์ดในตึกร้าง ซึ่งมึงจะออกไปในที่แบบนั้นทำไมวะ (หัวเราะ) ทำไมพลังต้องเยอะ ทำไมต้องเป็นเด็กมันๆ แบบนั้นด้วยวะ จนทำให้รู้สึกว่าวัยรุ่นเงียบๆ ที่ชอบอยู่กับบ้านแล้วอ่านหนังสือกลายเป็นพวกใช้ชีวิตไม่คุ้ม แล้วเราก็เป็นวัยรุ่นแบบนี้แหละ จนเราทำโฆษณาที่สื่อออกมาว่า มึงก็เป็นตัวเองในแบบที่อยากจะเป็นแหละ อย่าให้ใครมาบอกว่า มึงเป็นวัยรุ่นที่ใช้ไม่ได้ งานชิ้นนี้มีน้องคนนึงส่งข้อความมาบอกว่า เฮ้ย พี่ หนูดูโฆษณาตัวนี้แล้วร้องไห้เลย เพราะหนูคิดว่าหนูเป็นวัยรุ่นที่ใช้ไม่ได้มาตลอด (เสียงเครือ) เรื่องนี้ผมรู้สึกว่าผมคอนเนกต์กับเขาเลย เพราะเราเป็นแบบนั้นมาตลอด เงียบๆ ไม่ชอบการไปแสดงหน้าห้อง พลังเยอะๆ แล้วเราก็เคยพยายามที่จะเป็นอีกแบบด้วยนะ แต่มันไม่ใช่เรา เช่น ตอนไปนิวยอร์กใหม่ๆ คิดเลยว่า โอ้โฮ นิวยอร์กเว้ย กูต้องไปปาร์ตี้เยอะๆ พอไปจริงๆ เรากลับไม่ชอบว่ะ เราไม่ชอบอยู่ในที่คนเยอะๆ เนี่ย แล้วสุดท้ายผมก็พยายามทำโฆษณาที่บอกเรื่องนี้มาตลอด เช่น เราไม่จำเป็นต้องล้อเรื่องอ้วน ญาติผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องถามคำถามน่าอึดอัดกับลูกหลานก็ได้ เราไม่ต้องเป็นเด็กที่พลังเยอะก็ได้
ซึ่งออกมาเป็นผลงานในหลายๆ รูปแบบ ทั้งหนังสือ วิดีโอ โฆษณา นั่นคือการสื่อสารสิ่งที่คาใจตัวเอง
ใช่ เพราะผมเติบโตมากับการคาใจอะไรบางอย่างมาตลอดว่าทำไมมันต้องเป็นแบบนี้ เช่น ผมเป็นเด็กที่ผิวคล้ำ ที่เกิดมาในครอบครัวคนจีนแบบไม่รู้จะจีนยังไง ก็มีคนมาถามว่าไอ้เบนซ์ทำไมดำวะ เอ๊า เนี่ยแหละคือสิ่งที่ผมคิดมาตลอดว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ เวลาไปเรียนมหาวิทยาลัย เราไม่อยากออกไปแจวจ้ำจึ้กกับเพื่อนๆ ไม่อยากไปร่วมกิจกรรม มันก็ดูไม่เข้ากับใคร ซึ่งเราก็รู้สึกมาตลอดว่าทำไมเราห่วยแบบนี้วะ แล้วก็คิดว่าตลอดว่าทำไมในห้องเรียนตอนมัธยมมันต้องมีเด็กที่นั่งหน้าห้องแล้วอยากเป็นหมอ กับเด็กหลังห้องที่สูบบุหรี่ โดดเรียน ออกไปต่อยตี เราไม่ได้อยากเป็นทั้งสองแบบ เราอยากเป็นเด็กกลางห้อง ที่นั่งริมหน้าต่าง แล้วไม่ได้สนใจอะไรนอกจากสังเกตว่าคนอื่นเป็นยังไง ผมเลยเหมือนโตมาเป็นคนที่ชอบสังเกตมาตลอด พอโตขึ้นได้ทำงาน เราก็เลยเลือกทำงานที่จะได้สื่อสารสิ่งที่เราคิดแบบนี้ออกมา
คนประเภทคุณก็เยอะนะ เอาจริงๆ แล้ว
ใช่ ผมว่าโลกเรามันเต็มไปด้วยเด็กกลางห้องนะ ที่ไม่ได้มาตรฐานอะไรที่สังคมบอกเลย เพียงแต่มันไม่มีสปอตไลต์จากสื่อส่องไปให้เห็นเท่าไหร่ เพราะทุกคนอยากเล่าเรื่องเด็กหน้าห้องที่ตั้งใจเรียนจนประสบความสำเร็จ กับเด็กหลังห้องที่เกเรแต่ต่อมาก็คิดได้ แล้วตอนหลังก็กลายเป็นคนที่โอเค ส่วนไอ้เด็กกลางห้องก็แบบ แล้วกูจะเล่าอะไรดีวะ สปอตไลต์มันไม่ค่อยฉายมาเท่าไหร่ วันหนึ่งผมก็เลยมักจะพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยพูด แต่คอนเนกต์กับคนได้เยอะ
คลิปลูกคนรวยที่คุณทำนี่ ถ้าไม่นับยอดวิว ยอดแชร์ ที่เป็นตัวเลข คิดว่าความสำเร็จมันคืออะไร
อืม.. ผมว่ามันคอนเนกต์กับคน เหมือนตอนที่ผมทำเรื่อง ลุงเนลสัน เมื่อหลายปีก่อน คนก็มาถามว่าทำไมมันประสบความสำเร็จ ผมก็ไม่รู้ เพราะผมทำเพราะมันสนุกดี แล้วมันคอนเนกต์กับคนอื่นๆ เหมือนคลิปที่ผมทำมันไม่ใช่เรื่องที่ผมคิดไปคนเดียว ทุกคนก็คิดว่า เออ ใช่สิ บ้านแกมันรวย แกก็เลยมีปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จไง ผมว่าเรื่องนี้มันอยู่ในใจคนเยอะ แต่มันไม่มีสื่อไหนพูด และไม่มีการพูดในท่าทีที่คนดูเขาชอบหรือถูกใจมั้ง มันเป็นทรงแบบอารมณ์ขันหน้าตายน่ะ ขำขื่น bad comedy อีกอย่างคนอาจจะอยากหาดูคอนเทนต์อะไรสักอย่างที่มันไม่มีสปอนเซอร์เลย เพราะทุกวันนี้คนมาถามว่าสินค้าคืออะไร ซึ่งไม่มีไง อยากทำก็ทำ มันสนุกดี คือผมทำโปรเจกต์ส่วนตัวด้วยวิธีคิดนี้มาตลอด อยากทำก็ทำ พวกถ่ายภาพ เขียนหนังสือ วิดีโอสั้นๆ นี่คืออยากทำก็ทำเลย ผมว่ามันอาจจะมาทดแทนกับงานอีกด้านที่อยากทำก็ทำไม่ได้ เพราะมันมีลูกค้า มีโจทย์ คืองานที่ผมทำมันไม่ค่อยมีคนทำออกมา มีเดียมีเยอะแยะ คนเล่าเรื่องชนชั้นก็มีเยอะแยะ แต่จะเล่าด้วยท่าทีแบบไหนต่างหาก ผมชอบเรียกงานที่ผมหรือทีมทำกันว่า งานแบบปัญญาชนคนเหี้- คือมันเลวทรามนะ แต่ขณะเดียวกันก็ปัญญาชน อย่างคำหยาบในวิดีโอลูกคนรวย ที่บอก ‘เกิดเป็นลูกคนรวย ถ้าไม่ทำตัวหัวค—จนเกินไป’ นี่คนพูดกันเต็ม สำหรับผมเชื่อว่า คำหยาบคายที่มันมาถูกที่ถูกเวลา มันยอมรับได้นะ แต่คำไม่หยาบคายที่มาผิดที่ผิดเวลา มันก็หยาบได้นะ แล้วผมคิดว่าเราขาดสื่อแบบนี้แหละ คนที่พูดคำแบบนี้ได้ด้วยท่าทีแบบอารมณ์ขันหน้าตาย ซึ่งมันไม่ค่อยเห็นในสื่อเมืองไทย เช่น เรื่องคนรวยเนี่ย มันชัดไง เพราะสื่อไปสัมภาษณ์แนวประสบความสำเร็จหมด แต่คนนั้นคืออาจจะแบบ พอดีพ่อมีที่ว่างแถวเอกมัย เลยลองตั้งร้านเล็กๆ ขึ้นมา โอ้โฮ ครับพี่ คนปกติเขาไม่มีตั้งแต่ที่ว่างอะไรนั่นแล้ว ค่าเช่าปาเข้าไปเท่าไหร่ล่ะ หรือถ้าคนมีเงินล้ม พี่ก็ล้มบนฟูกไง อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหนึ่งบอกว่า ขอบคุณมากที่ทำคลิปนี้ออกมา เพราะเขาจะเอาไปสอนเด็ก เขาบอกว่าผมทำคลิปที่เปิดเปลือยในสิ่งที่สังคมไม่ยอมพูดกัน
อีกนานมั้ยกว่าเราจะหลุดจากวังวนเรื่องที่เราไม่ยอมพูดในเรื่องที่ควรพูด
ไม่รู้ว่ารู้สึกเหมือนผมมั้ยว่า คลิปนี้ออกไปมันก็สร้างแรงกระเพื่อมนะ เพราะถ้าผมเป็นสื่อที่จะต้องมาถอดรหัสคนรวย เขาก็ต้องคิดแล้วละ เนื้อหาน่าจะต้องมีการเหลานิดนึงน่ะ จะทำกันท่าเดิมไม่ได้แล้วน่ะ เขาคงเกลียดผมอะ ไอ้แว่น มึง!
“ไอ้เรื่องพลังลบในโซเชียลฯ น่ะ ผมว่ามันไม่ได้เนกาทีฟขนาดนั้นหรอก ตรงกันข้าม ผมว่าเราควรจะต้องพูดเรื่องที่ควรพูดและมันมีอยู่จริง มันพูดได้ ทำไมจะพูดไม่ได้ ไม่ใช่จะเลี่ยงพลังลบ ไม่เอาๆ จะเอาแต่พลังบวกตลอด มันไม่ใช่โลกมนุษย์น่ะ เพราะโลกเรามันเต็มไปด้วยบวกและลบ มันไม่ควรจะมีเรื่องไหนที่เราห้ามพูดตลอดกาล แต่จะพูดด้วยท่าทีไหนก็ว่ากันอีกทีนะ”
ถอดรหัสเองเลยได้มั้ยว่า ตกลงคนที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ เขาต้องเป็นยังไง
แหม ผมก็ไม่กล้าเหมารวมเขาหรอก แต่เอาเป็นว่า ปัจจัยคนที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมาจากต้นทุนที่ดี การศึกษา การเติบโต คอนเนกชัน ทุนเริ่มต้นที่มี และการรู้ว่าตัวเองสามารถทำแล้ว fuck up ได้ ทำแล้วเละได้ แต่บางคนเขาทำไม่ได้เหมือนคุณน่ะ คุณอาจจะล้มแล้วลุกได้ แต่บางคนเขาล้มไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมรู้สึกอย่างนั้น
ถ้าอย่างนั้นปัจจัยอะไรที่คุณอยากให้คนในสังคมมีเท่ากัน
โอ้ว ผมไม่กล้าพูดเลยว่าเราควรจะมีเหมือนกันมั้ย คือสิ่งที่คนรวยๆ ที่ประสบความสำเร็จพูด ส่วนหนึ่งก็ถูกนะ ที่ว่าทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทุกคนต้องไม่ย่อท้อ ทุกคนต้องพยายาม ต้องมี growth mindset มันก็ถูก ไม่ผิดเลยเว้ย แต่ไม่ใช่คนที่มีสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะประสบความสำเร็จเหมือนพี่ไงเว้ย มันไม่มีอะไรผิดเลย แต่มันไม่ถูกทั้งหมด อย่างที่บอก ผมมีเพื่อนที่ทำงานหนักมาก ล้มกี่ทีก็ไม่รู้ ยืมเงินผมกี่ครั้งแล้วก็ไม่รู้ ก็ยังพยายามต่อไป ใช้ชีวิตไม่สุรุ่ยสุร่าย คือถูกหลักคนจะรวยทุกอย่าง แต่มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ยังดิ้นรน มีหนี้บาน แต่การประสบความสำเร็จที่ผมว่า คือในแง่ธุรกิจนะ เพราะจริงๆ แล้วมันมีปัจจัยเยอะมาก การประสบความสำเร็จมันไม่ได้เท่ากับ growth mindset หรือ customer centric mindset หรอก มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่มันก็ยังมีอีกหลายส่วน
ตัดกลับไปที่เมืองที่คุณไปร่ำเรียนมาอย่าง New York ที่นั่นมีคำพูดว่า If you can make it here, You can make it everywhere คุณคิดว่ามันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ คือถ้าสู้ที่นั่นผ่าน ก็เจ๋งน่ะ
ผมว่าการแข่งขันมันสูงมากจริงๆ แล้วมันมีคนทุกแบบ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร มันจะมีตลาดของคุณ มีคนแบบคุณ มันหลากหลายซะจนทุกคนสามารถที่จะหากลุ่มของตัวเองได้ และในกลุ่มนั้นก็มีการแข่งขันกันสูงด้วย เพราะทุกคนไปนิวยอร์กด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างเสมอ ไม่มีใครไปใช้ชีวิตเฉยๆ เขาไปเพื่อจะพิสูจน์อะไรบางอย่าง ไขว่คว้าอะไรบางอย่าง พอผ่านการแข่งขันที่สูง และสังคมที่หลากหลายมาได้ มันก็เลยมีแนวโน้มที่จะเก็บเกี่ยวอะไรดีๆ ออกมาได้ ในวงการศิลปะ มันก็มี art scene เยอะ มีปัจจัยเกื้อหนุนให้คนทำงานสายครีเอทีฟเยอะไปหมด มิวเซียมเข้าฟรี แกลเลอรีเยอะไปหมด public space เต็มไปหมด งานศิลปะมีตลอด ทุกอย่างมันเอื้อให้คนทำงานสายครีเอทีฟ ดังนั้น ความแตกต่างหลากหลาย และการแข่งขันสูง คือปัจจัยที่ทำให้คนที่นั่นเขาประสบความสำเร็จได้ และเมืองมันก็นำโลกด้วย อะไรที่เกิดขึ้นที่นั่นไม่นาน ก็จะค่อยๆ แผ่กระจายไปที่อื่น แต่พอดีผมเลือกแล้วที่จะไม่อยู่ที่นั่น มันไม่รู้สึกว่าเป็นบ้านน่ะ อยากมาอยู่ใกล้ครอบครัวมากกว่า เพราะเรียนก็ห่างบ้านมาตลอด ถ้าเลือกทำงานที่นั่นต่อ คราวนี้กว่าจะได้กลับมาก็อีกยาวเลย ทั้งๆ ที่ผมได้งานแล้วด้วยนะ
นอกจากครอบครัวแล้วที่เมืองไทยมันมีอะไรเอื้อให้คุณเติบโต? นี่พูดในวันที่หลายคนอยากย้ายประเทศเลยนะ
ผมแค่อยากกลับมาทำงานด้านสื่อ และทำสื่อที่คอนเนกต์กับคน ซึ่งคนที่เราสามารถสื่อสารกับเขาได้มากที่สุดก็คือคนในสังคมที่เราเติบโตมา เช่น ถ้าผมทำวิดีโอ วันรวมญาติ คนนิวยอร์กก็ไม่เก็ตนะ ถูกมั้ย แล้วเราเชื่อจริงๆ ว่ามันยังมีช่องทางให้ทำ และยังไม่มีสื่อประเภทนี้ออกมา
“สำหรับผมเชื่อว่า คำหยาบคายที่มันมาถูกที่ถูกเวลา มันยอมรับได้นะ แต่คำไม่หยาบคายที่มาผิดที่ผิดเวลา มันก็หยาบได้นะ “
ถ้าถามว่า ถ้าคุณไม่พอใจอะไรสักอย่างแล้วก็เลยด่าผ่านคลิปแบบนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อ
ผมว่าผมกำลังหยิกให้เรารู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ มันอาจจะไม่ได้เกิดผลตอนนี้ แต่มันเป็น soft power นะ มันค่อยๆ บ่มในใจคนไปเรื่อยๆ ว่ามีมุมนี้ว่ะ อย่าคิดว่ามันไม่มี แล้วเมื่อคนได้เห็นอะไรแบบนี้แล้ว เขาจะไม่สามารถ unsee it ได้เลย ผลที่เกิดขึ้นจะมากน้อยไม่รู้ แต่มันมีผลในระยะยาวแน่ๆ ผมไม่ได้เป็นคนดีขนาดคิดว่าคลิปนี้จะสร้างสรรค์สังคม แค่อยากหยิกๆ หยอกๆ
ก็มีเยอะนะ ในโลกออนไลน์ที่โพสต์ด่าสิ่งต่างๆ เวลาไม่พอใจ เหมือนมันแบบด่าไปอย่างนั้น กับด่าเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คุณค่าของการเป็นคนทำสื่อมันอยู่ตรงไหนในความรู้สึกของคุณ
ผมรู้สึกว่าหลายๆ เรื่องที่ผมเขียนในสเตตัสเฟซบุ๊ก มันก็ลอยๆ คนอาจจะคิดว่า มึงไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไรเลยนี่หว่าไอ้แว่น ก็เลยคิดว่า เออ งั้นด่าแบบมีโปรดักชันไปเลยละกัน อย่างน้อยก็ลงทุนทำซะหน่อย (หัวเราะ) นี่ไงกูได้ทำอะไรแล้ว และนี่คือการด่าอย่างจริงจังด้วย คือมันมีเพื่อนผมนี่แหละ ชอบโพสต์ว่า โลกออนไลน์มันมีพลังลบเยอะแล้วนะ ใครอยากจะพิมพ์ด่าอะไรก็เก็บๆ ไว้หน่อย ไม่อยากดู มันดูดพลัง จะอันฟอลโลว์แล้ว ผมเห็นแล้วแบบ อ๋อ ได้ กูจะไม่ด่าในนี้ แต่กูจะด่าแบบมีโปรดักชัน แล้วกูจะด่าให้กว้างไกลซะจนมึงต้องเห็นมันเอง (หัวเราะ) คือ ไอ้เรื่องพลังลบในโซเชียลฯ น่ะ ผมว่ามันไม่ได้เนกาทีฟขนาดนั้นหรอก ตรงกันข้าม ผมว่าเราควรจะต้องพูดเรื่องที่ควรพูดและมันมีอยู่จริง มันพูดได้ ทำไมจะพูดไม่ได้ ไม่ใช่จะเลี่ยงพลังลบ ไม่เอาๆ จะเอาแต่พลังบวกตลอด มันไม่ใช่โลกมนุษย์น่ะ เพราะโลกเรามันเต็มไปด้วยบวกและลบ มันไม่ควรจะมีเรื่องไหนที่เราห้ามพูดตลอดกาล แต่จะพูดด้วยท่าทีไหนก็ว่ากันอีกทีนะ
ถ้ากลับไปพูดกับตัวเองในวัยไหนก็ได้สักช่วงวัยหนึ่ง อยากบอกตัวเองตอนนั้นว่ายังไง
ผมคงบอกเด็กคนนั้นว่า มึงเป็นตัวเองแบบนี้แหละ มึงไม่ต้องเป็นเด็กหน้าห้อง ไม่ต้องเป็นประธานกีฬาสีก็ได้ ไม่ต้องเป็นเด็กไวนิลหน้าโรงเรียนที่ขึ้นป้ายว่า น้องเบนซ์ไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกได้ เป็นคนแบบนั้นแหละ ไม่ต้องพยายามเป็นเด็กที่มึงคิดว่ามันเท่หรือมันดีหรอก วันนึงก็จะมีชีวิตที่โอเคแหละ
คุณบอกว่าตอนเด็กๆ เป็นคนเงียบๆ ไม่ได้ต่อยตีกับใคร แต่ดื้อเงียบ ถ้ากลับมาพูดถึงความดื้อ มีงานไหนที่ทำกับลูกค้า แล้วจำได้มั้ยว่าคุณได้สู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อแล้วภูมิใจกับการได้สู้เพื่อสิ่งนั้น
ผมได้ทำมิวสิกวิดีโอให้วงหนึ่ง แล้วในเรื่องเด็กจะนำเสนอโครงงานเป็นประเด็นเรื่อง sex worker คือทำยังไงให้มันถูกกฎหมาย แล้วพี่ที่ค่ายก็ทักว่า มันไม่เหมาะสมกับคนดูนะ ถ้าเด็กจะพูดเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่ามันควรพูดได้ และทำให้มันถูกกฎหมายและจัดระเบียบมันอย่างจริงจัง และเลิกเสแสร้งได้แล้วว่าเราเป็นเมืองพุทธที่มีแต่เจดีย์วัด แต่เราต้องยอมรับว่ามีสิ่งนี้และทำให้มันถูกต้อง ทำให้ถูกสุขลักษณะ ทางลูกค้าก็ไม่ยอม ผมก็ไฟต์อยู่นั่น บอกว่ามันควรจะพูดว่ะ มันถึงยุคนี้แล้ว แต่สุดท้ายก็ไฟต์จนได้ แล้วก็ทำงานออกไปได้จริงๆ
คิดไหมว่า ทำไมต้องเอาเป็นเอาตายกับการสู้เพื่อจะได้พูดเรื่องนี้ เพราะถ้างานนี้ทำไม่ได้ คุณก็ไปพูดที่อื่นก็ได้
ผมคิดว่าโอกาสมันมาถึงแล้ว เราทำเต็มที่และอยากให้งานมันออกมาเป็นงานในแบบที่ผมตั้งใจทำจริงๆ เพราะเวลาทำโฆษณาเราไม่สามารถพูดทุกอย่างได้ มันเลยครึ่งๆ กลางๆ แล้วคนดูก็ไม่ชอบ สุดท้ายก็ไม่มีใครชอบนอกจากคนในห้องประชุม พองานออกไปมันก็เสียหมด ทุกคนก็เสียหมด เจ้าของโปรดักต์ก็โดนว่า หนังก็ไม่สนุก ผมเองก็ไม่ภูมิใจกับงานชิ้นนั้น พอได้โอกาสทำอะไรแบบนี้ผมก็อยากไฟต์ เพื่อให้งานเป็นอย่างที่ตั้งใจจริงๆ ถ้ามันออกไปแล้ว คุณด่าได้เต็มที่เลย
งานโฆษณาที่คุณทำกับแซลมอนเฮาส์ตอนนี้ ด้านที่ดีที่สุดคืออะไร และด้านที่แย่ที่สุดคืออะไร
ถ้างานโฆษณา ด้านที่ดีที่สุดคือเงินมันดี ยอมรับกันตรงๆ (หัวเราะ) มันมีรายรับที่เหมาะสม และการเจอลูกค้าใหม่ๆ มันทำให้ผมได้ท้าทายตัวเองตลอดเวลา แล้วมันสนุกตรงที่ ไม่ว่าจะทำอะไรมา บารมีที่สั่งสมมา พอเริ่มงานใหม่ ทุกอย่างเหมือนเริ่มใหม่เลย เขาไม่ได้มาสนว่าคุณเป็นใคร ทำอะไรมา แต่นี่โปรดักต์กูไง ก็ต้องปกป้องให้ดีที่สุดก่อน กูไม่สนมึงหรอกไอ้แว่นว่ามึงเคยทำคลิปอะไรดังมาก่อน เขามองผมเป็นไอ้แว่น บางวันถ้าใส่เสื้อเชิ้ตขาวก็คิดว่าผมเป็นนักศึกษาฝึกงานอีก นี่พูดจริงๆ (หัวเราะ) ที่เหลือคือได้สอดแทรกประเด็นที่อยากพูดกับสังคม ซึ่งอันนี้ผมขอบคุณ พี่ต่อ ธนญชัย (ศรศรีวิชัย) นะ เพราะเขาเคยสอนว่า ทำโฆษณาอะไรก็ตาม พยายามสอดแทรกสิ่งที่เราอยากพูดกับสังคมไปด้วย
ส่วนด้านแย่มันก็มี เช่น การไม่ได้รับความเชื่อใจ หรือการสู้กับธรรมชาติลูกค้า เช่น เนี่ย ไปเวิร์กช็อปเรื่อง big data มา เขาบอกสูตรคลิปที่สำเร็จมันต้อง 5 วินาทีแรกโดนเลยนะคะ ต้องเป็นวิดีโอแนวตั้งนะ คือมันเป็นความไม่เชื่อใจกันว่าเราจะทำได้ แล้วเราก็เลยไม่ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจตั้งแต่แรก เพราะมันผ่านหลายด่านที่ต้องตรวจ ทั้งที่จริงๆ เขามาจ้างเรา เขาน่าจะเชื่อเรา เพราะเขาจะได้สิ่งที่ดีที่สุดนะ แต่มันก็แบบนี้แหละ งานโฆษณาก็เป็นมาทุกยุคทุกสมัย ที่โดนแก้จนจำงานเดิมไม่ได้ เหมือนนั่งดูลูกเราถูกตัดแขนตัดขา แล้วเราทำอะไรไม่ได้เลย หลายที่ก็น่าจะเป็นแบบนี้ คือทำงานที่สื่อให้คน Gen Y Gen Z ดู แล้วมันตัดสินใจขั้นสุดท้ายโดย Baby Boomer
เมื่อกี้คุณพูดเรื่องสูตรสำเร็จในการทำงานบนโซเชียลมีเดียว่ามันไม่มีจริง?
มันอาจจะมีบ้าง เช่น big data แต่การทำงานสื่อสารผ่านวิดีโอ ผ่านคลิป มันเป็นการทำงานที่คอนเนกต์กับคนด้วย emotional ดังนั้น คนกับคนนั่นแหละที่สื่อสารกันได้ดีที่สุด เรื่องอื่นๆ มันอาจจะเป็นส่วนเสริม แต่มันไม่ควรเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ เพราะสุดท้ายเรากำลังทำงานที่พูดกับคนนะ แต่มันก็พูดยาก ถ้าจะไปบอกกับเขาว่า พี่เชื่อผมเถอะ เพราะผมมีเซนส์ มันพูดแบบนี้ไม่ได้ ในขณะที่ถ้าอ้าง big data มันน่าเชื่อถือกว่าไง แต่จริงๆ หลายๆ งานที่ประสบความสำเร็จมันเกิดจากเซนส์จริงๆ นะ แล้วสูตรที่ผมไม่เชื่อเลยจริงๆ คือเรื่อง สี ผมว่าเราอ่อนไหวกับเรื่องสี CI (Corporate Identity) อะไรพวกนี้เกินไป สมมติคุณทำโฆษณาให้องค์กรที่มีสีม่วง ก็ห้ามมีสีเขียวในนั้น เพราะถ้ามี จะนึกถึงคู่แข่ง ผมอยากจะบอกว่า โอ๊ย… ไม่มีใครเขาสนใจโว้ย แล้วคือผมต้องมานั่งแพนหนีต้นไม้สีเขียวเหรอ ทั้งที่ต้นไม้มันสีเขียวทั้งโลกเนี่ย คือเรา sensitive และคิดแทนคนดูเกินไปหรือเปล่า เพราะถ้ามันทำงานแล้วมันจำเป็นต้องมีสีนั้น มันก็ต้องมี คนไม่มาสนใจอะไรพวกนี้หรอก เขาสื่อได้ด้วยอารมณ์ในเรื่อง เคยทำงานชิ้นนึง กำลังถ่ายโคลสอัพนักแสดงอยู่ ลูกค้าร้องคัทมาแต่ไกล บอก คุณเบนซ์ มันมีเก้าอี้สีฟ้าอยู่ตรงโน้น ไกลไกล๊ ไกล๊ (ย้ำ) เดี๋ยวเห็นแล้วคิดถึงคู่แข่ง ไม่ค่อยสบายใจ คือนักแสดงหลักนั่งตรงนี้ ใครจะไปดูเก้าอี้พลาสติกตรงโน้นอ่ะ ผมถามหน่อย
ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ ขอถอดรหัสความสำเร็จคุณหน่อย ทำงานมาจนถึงวันนี้ คิดว่าอะไรคือปัจจัยความสำเร็จของตัวเอง
อืม… ผมคิดว่าผมก็ไม่ได้คิดว่าประสบความสำเร็จอะไรขนาดนั้น เพราะมีผู้กำกับโฆษณามากมายที่เขาเก่งกว่าผมมาก ผมพยายามยังไงก็คงไม่ได้แบบเขาหรอก แต่การที่ผมมาอยู่ในจุดนี้ จุดที่โอเคกับชีวิตตัวเอง เพราะผมชอบอ่านหนังสือ ชอบฟังคน ผมพูดไม่เก่ง แต่ผมเป็นนักฟังที่ดี ชอบสังเกตคน ชอบดูพฤติกรรมคน เมื่อก่อนชอบนั่งรถไฟฟ้า นั่งรถเมล์ไปไหนมาไหน ผมเพิ่งมาขับรถตอน 31 เองนะ เพราะผมชอบเห็นชีวิตคน มองว่าทำไมเขาเป็นแบบนี้ ชอบดูดีเทลการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งส่งเสริมอาชีพการงาน การทำสื่อของผมให้ผมหยิบจับมาสื่อสารในงานให้ตรงกับใจคนได้ เพราะผมสนใจชีวิตคนอื่นนี่แหละ เป็นพวก observer ผมชอบชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นบาลานซ์ที่ดี ไม่ได้บอกว่ามีความสุขทั้งหมดนะ ผมก็มีความทุกข์เต็มไปหมด แต่พอจะดีลกับมันได้ ปรับตัวได้ อ้อ อีกอย่างที่เป็นปัจจัยคือ การจบปริญญาโทเมืองนอก บ้านผมไม่รวย แต่พ่อแม่อยากให้ผมได้เรียนสูงๆ เขาก็เก็บเงินมานานมากเพื่อให้ผมได้ไปเรียนต่อ การได้ไปเปิดโลก เห็นนู่นนั่นนี่และมีใบปริญญากลับมา มันก็ช่วยให้ผมได้เปรียบไม่มากก็น้อย พูดกันอย่างแฟร์ๆ นะ เพราะถ้าบอกว่าไม่มีผลเลยก็จะดูตอแหลเกินไป
คุณทำงานสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มาก อยากรู้ว่ายังมีอะไรที่เคารพคนรุ่นที่เป็นผู้ใหญ่กว่าบ้าง ผู้ใหญ่ที่น่ารักสำหรับคุณคือแบบไหน และเด็กๆ ล่ะ แบบไหนที่คิดว่าไม่โอเค
ผมเคารพผู้ใหญ่ที่เปิดกว้าง คนที่ไม่เอาความอาวุโสมาถือไพ่ที่เหนือกว่า ผมไปนิวยอร์กอยู่กับเนลสัน นี่เขาอายุ 82 แต่เขาทรีตผมเหมือนเพื่อนเลย หรือเจอลูกค้าล่าสุด ส่งหนังให้เขาดู เขาบอก ผมไม่ชอบเลย แต่ผมไม่ใช่เป้าหมายของคลิปนี้ เลยให้ลูกสาวดูและตัดสินใจเอง เนี่ย ผมชอบผู้ใหญ่ที่เปิดกว้างแบบนี้ เพราะมันโคตรน่ารัก ผู้ใหญ่ยังมีข้อดีนะ เพราะเขาสั่งสมประสบการณ์ชีวิตมา เขามองบางอย่างขาด แต่ขอแค่ให้เขาเปิดกว้างอีกหน่อย เพราะมีคนเคยบอกว่า Don’t respect the older people, They have to earn it themselve คืออย่าเคารพเพราะเขาแก่ เขาต่างหากที่ต้องพิสูจน์ว่าเขาควรค่าแก่การเคารพ ส่วนเด็กๆ รุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ แต่บางทีตามไม่ทัน (หัวเราะ) เช่น ผมคิดว่าผม Political Correctness (PC) แล้วนะ แต่คนรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าไม่พีซี เช่น จะไปตัดผม แล้วช่างประจำผมเขาก็เป็นคนแนวแบบที่เราเรียกว่ากะเทย พอไปที่ร้านเขาก็ถามว่ามีช่างประจำมั้ย นี่ก็คิดว่าจะพูดยังไงดีวะ เรียกกะเทยเดี๋ยวไม่เหมาะ คิดไปคิดมาเลยบอกว่า ช่างที่เป็น LGBT อะครับ ที่ร้านงง เลยบอกใหม่ว่า คนที่เป็น LGBT ตัวใหญ่ๆ ผมยาวๆ เสียงดังๆ เขาบอกเลย อ๋อ อีกะเทย มานี่ ลูกค้ามา อ้าว เหรอ พูดได้ด้วยเหรอวะ
ในวัย 35 มีอะไรที่คุณกลัวมากที่สุด
กลัวความไม่ทันยุคสมัย คอเลสเตอรอล และไขมัน LDL นี่กลัวจริงๆ นะ
จบละ มีเรื่องอะไรอยากบอกอีกไหม
(หัวเราะ) อยากบอกว่า เรื่องตื่นเต้นที่สุดของการทำงานนี้คือ เกือบโดนฟ้อง เพราะโรงเรียนดัดสันดาน Oswestry ในคลิปอะ เกิดจากการที่ผมสุ่มชื่อเมืองขึ้นมาเฉยๆ ไม่คิดว่ามีโรงเรียนจริงๆ แต่ดันมีจริงๆ แล้วโรงเรียนเก่าแก่ โรงเรียนดังด้วย ทางโรงเรียนก็ติดต่อมา ผมก็ต้องไปใส่ข้อความแจ้งไว้ในวิดีโอ และอยากบอกตรงนี้ว่า ผมขอโทษ ผมไม่คิดว่ามันมีจริงๆ เกือบซวยแล้ว ไอ้แว่น มึง! (หัวเราะ)
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ