ในวันเวลาที่พบเจอวิกฤต สิ่งที่ท้าทายนอกเหนือไปจากการก้าวข้ามวิกฤตไปให้ได้ ก็คือความเปลี่ยนแปลงที่สั่นไหวอยู่ภายในจิตใจของเรา
ความคิด ความเชื่อ และความหวัง
มิติต่างๆ ในชีวิตที่อาจต้องประกอบสร้างนิยามขึ้นมาใหม่ และการเรียนรู้เพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวัน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมี
“ทุกเรื่องในชีวิต ถ้าเรามองชีวิตแบบเหรียญว่ามี 2 ข้าง คนชอบดูแต่เหรียญในข้างที่คิดว่าดี คนชอบฟังเรื่องที่ดี ไม่มีใครอยากฟังเรื่องเศร้า แต่ทุกคนในชีวิตจริงมีเรื่องเศร้าหมด เพราะฉะนั้น ผมว่าสำคัญนะที่เราจะมองดู ‘the other side of the coin’ อีกด้านหนึ่งของเหรียญในชีวิตเขา”
นั่นคือคำพูดของ ธนน วีอารยะ ประธาน บริษัท บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง จำกัด ที่มีแฟรนไชส์ร้านอาหารในเครือถึง 6 แบรนด์ด้วยกัน และในอีกบทบาทเขาคือประธานกรรมการ ฮอนด้าบ้านใหม่ ดีลเลอร์รถยนต์ฮอนด้าที่ใหญ่ที่สุดในปทุมธานี
แน่นอนว่าในด้านธุรกิจ เขาได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต่างจากคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการรับมือกับมัน เพราะเขามีความเชื่อว่าหัวใจของการบริหารธุรกิจ คือการดูแลพนักงานทุกๆ คนเหมือนคนใน ‘ครอบครัว’ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา เขารักษาพนักงานของเขาโดยไม่มีการจ้างออกหรือลดเงินเดือนใดๆ ทั้งสิ้น
รวมทั้งขยายความช่วยเหลือออกไปให้กับชุมชนเพื่อนบ้านรอบๆ ข้าง ผ่านสิ่งที่ตัวเองถนัดอย่างโปรเจ็กต์ #Ride4Hero ที่ช่วยดูแลรับส่งหมอและพยาบาลในวันที่วิกฤต COVID-19 ระบาดหนัก ซึ่งหมอพยาบาลที่ถูกมองว่าเป็นฮีโร่ กลับถูกปฏิเสธการรับส่งจากทั้งแท็กซี่และรถบริการ
อยากชวนคุณไปอ่านมุมมองชีวิต รวมทั้ง Vision และ Mission ในการทำงานของผู้ชายคนนี้ ที่เชื่อว่าคุณค่าของงานและสิ่งที่ทำ ไม่ได้กำหนดด้วยมูลค่าของตัวเงิน
COVID-19 รื้อสร้างความเชื่อในการทำธุรกิจของคุณไปมากน้อยแค่ไหน
จริงๆ ทุกธุรกิจโดนผลกระทบหมดอยู่แล้ว ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับผมคนเดียว ทุกคนกระทบหมด แต่ในฐานะผู้บริหารผมมองว่าเราต้องคิดถึงพนักงานด้วย เพราะตามหลักจริงๆ แล้วเขาลำบากกว่าเราเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งตั้งแต่พนักงานรับรถ ช่างเทคนิค เขาเจอสิ่งที่ยากกว่าเรา ก็ต้องดูแลกันมากกว่าเดิม ให้กำลังใจพูดคุยกันมากกว่าเดิม ในด้านการทำธุรกิจก็ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหากันไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าวิกฤตนี้จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน ต้องปรับตัววันต่อวัน ไม่รู้พรุ่งนี้จะมีการแพร่ระบาดอีกระลอกไหม หรือไม่มีทางทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมา ก็ต้องปรับตัวไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
วิกฤตครั้งนี้เปลี่ยน Vision และ Mission ในการทำธุรกิจของคุณไปไหม
Vision ของการทำงานของผมไม่เปลี่ยน ยังคงเหมือนเดิม ดูแลพนักงานลูกน้องเหมือนครอบครัว ผมไม่ได้มองว่าหลักสำคัญของการทำงานคือเม็ดเงิน แต่ผมทำเพราะสนุกและชอบ คำว่า Vision คือภาพที่มองไปในอนาคต ผมยังเชื่อการทำงานแบบครอบครัวไม่เปลี่ยน แต่ Mission สิที่เปลี่ยนไป ผมมีภาพที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าอยากให้บริษัทเป็นแบบไหน แต่วิกฤตครั้งนี้ทำให้วิธีการไปสู่จุดนั้นเปลี่ยน บริษัทต้อง Slim ตัวลง ดูค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น ต้อง “Put the right man on the right job” มากกว่าเดิม ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำก็คือให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน และพนักงานในบริษัททุกคน
สิ่งที่สำคัญที่สุดในฐานะผู้บริหารแบบผม คือต้องรู้จักพนักงานของเรา เขากำลังสู้กับปัญหาอะไรในชีวิต ต้องทราบถึงจุดยืนของเขา เห็นใจและดูแลกัน อันนี้คือ Vision และ Mission ในการทำงานที่ผมเห็น และในอนาคตถ้าเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ บริษัทจะแข็งแรงขึ้นเอง เพราะเขาทราบตัวตนของเรา และเราทราบตัวตนของเขา
ทำไมคุณถึงเชื่อว่าเรื่องของธุรกิจเป็นเรื่องของผู้คนและครอบครัว
ถ้าพูดถึงตัวเลข พูดถึงความร่ำรวยที่จะได้จากการทำธุรกิจ สำหรับผมสิ่งนี้ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มันคือตัวเลขที่อยู่ในบัญชีธนาคาร บอกว่าบริษัทของเราทำกำไร แต่ไม่ได้สะท้อนเลยว่าคุณค่าของเราอยู่ตรงไหน คนที่อยู่ใกล้ตัวเรามองเห็นเราเป็นอย่างไร อยากรวยเหรอ อยากทำธุรกิจตรงนี้ให้ใหญ่โตเพื่อที่จะติดอันดับหรืออะไร แต่พนักงานในบริษัทเขาคิดอย่างไรกับเราบ้าง คุณค่าของคนในบริษัท เราเคยเห็นเขาบ้างไหม แต่ถ้าเราคิดว่าพนักงานเหมือนคนในครอบครัว คุณมีการเชื่อมต่อกับเขา คุณมีความรู้สึกที่ดีกับเขา แน่นอนคุณไม่ใช่คนที่รวยที่สุด แต่มีความสุขที่ได้อยู่กับเขาแบบนี้ เขามีความสุขที่ได้อยู่กับเราแบบนี้
การทำงานบางอย่าง เราต้องมองที่คุณค่าของงาน ไม่ได้มองที่มูลค่าของงาน เพราะมูลค่าของการทำงานอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขไม่มีความรู้สึก มีแค่กำไร ขาดทุน เสมอตัว 3 อย่าง แต่ถ้าคุณค่าของการทำงาน ผมว่าสิ่งนี้มีมูลค่ามหาศาลตีเป็นตัวเลขไม่ได้ กำไรคือความสุขที่ได้ทำกับงาน ไม่ใช่เห็นตัวเลขแล้วมีความสุข แต่คือการที่คนทำงานร่วมกับเราชีวิตเขาดีขึ้นไหม เราได้ช่วยเหลืออะไรเขาบ้าง อันนี้คือความสุขที่ผมได้ให้ และนี่คือ Vision และ Mission ที่ผมมองว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่มันเริ่มต้นจากการมองว่าทุกคนในบริษัทคือครอบครัว
วิธีคิดแบบนี้เข้ามาอยู่ในหัวคุณตั้งแต่เมื่อไหร่
สมัยตอนเรียน ที่บ้านส่งผมไปเรียนที่เจนีวาตั้งแต่ 11 ขวบ แล้วจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา ตอนเรียนที่อเมริกา ผมเคยผ่านการทำงานเป็นเด็กล้างจาน เป็นเด็กขัดห้องน้ำ เป็นเด็กรับรถมาก่อน เพราะตอนที่ที่บ้านส่งผมไปเขาพูดกับผมคำเดียวว่าจะไม่ให้ทรัพย์สมบัติของครอบครัวติดตัวไปสักอย่าง อย่างเดียวที่จะให้คือการศึกษา คุณพ่อกับคุณแม่สอนผมมาแบบนั้น และยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ไม่มีเอทีเอ็มเพื่อโอนเงินให้กัน ผมไปอยู่ตัวคนเดียวและต้องเริ่มทำงาน ผมจึงได้สัมผัสกับคนทำงานแบบใช้แรงงานมาตั้งแต่สมัยนั้น ไม่ได้มีรถหรูๆ ขับ ไม่ได้มีเงินทองมากมายเพื่อใช้ชีวิต ซื้ออาหารก็ต้องเข้าคิวเหมือนคนอื่น เดินไปเรียน ที่บ้านให้ดิ้นรนเอาเอง ช่วงเวลานั้นทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่จะทำให้รู้จักคนอื่นได้ก็คือตัวตนจริงๆ ของเรา ไม่ใช่สิ่งของหรือเม็ดเงิน แต่คือช่วงเวลาที่เป็นตัวเองจริงๆ
จนพอเรียนจบมา ผมก็เคยมีความคิดเรื่องการวิ่งหาความสำเร็จเหมือนคนอื่น สิ่งนี้อาจจะมีอยู่ในหัวอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ปลูกฝังผมมาตั้งแต่เด็กคือการเห็นใจมนุษย์ด้วยกัน ผมได้สัมผัส ได้ยินได้ฟังสงครามชีวิตของคนหลายรูปแบบที่เขาเคยผ่านมา เลยคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าตัวเองมีบริษัท มีโอกาสได้บริหารงาน ผมต้องคิดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะว่าผมก็เคยผ่านความลำบากแบบนี้มาเหมือนกัน
การมองบริษัทเหมือนครอบครัว ทำให้บริษัทแข็งแรงอย่างไร
ผมเชื่อว่าการที่ไม่มองพนักงานแค่เพียงป้ายชื่อหรือว่าเป็นแค่คนทำงานเฉยๆ ทำให้บริษัทของเราแข็งแรงขึ้น รากฐานของบริษัทจะแข็งแรง เราไม่ได้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่ความสำเร็จทั้งองค์กรมีมูลค่ามากสำหรับผม พนักงานผมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น การคิดแบบนี้คือ Win-Win วันนี้ถ้าคุณเดินเข้าไปที่ทำงาน คุณจะเจอเรื่องราวมหาศาลจากพนักงานและเพื่อนร่วมงานของคุณ ถ้าคุณใส่ใจมากพอที่จะถามถึงเขา ว่าเขามายังไง เขามีปัญหาอะไรไหม อย่างวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ทำให้ผมรู้จักพนักงานของตัวเองมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
การเอาอารมณ์มาบริหารธุรกิจไม่ทำให้เกิดปัญหาเหรอ
ที่หลายคนบอกว่าการเอาอารมณ์มาปนกับธุรกิจเป็นสิ่งผิด แต่จริงๆ การตัดสินใจในธุรกิจของผมทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ เราต้องตัดสินใจธุรกิจบนความเป็นไปได้ก่อน แต่ในระหว่างทางที่กำลังลงมือทำและเดินไป วิธีที่ใช้เพื่อไปถึงตรงนั้นต้องใช้ความเป็นครอบครัว ต้องอ่อนน้อม เพราะถ้าคุณอยากจะให้พนักงานมีความภูมิใจในบริษัท คุณต้องมองเห็นเขา
เอาอย่างนี้ผมจะเปรียบเทียบ อยากให้ลองมองภาพใหญ่ของบริษัทเป็นนาฬิกาแล้วกัน จะเป็นนาฬิกาแบบ Perpetual Calendar ก็ดี หรือ Minute Repeater ที่มีความซับซ้อนมากๆ ในนาฬิกาหนึ่งเรือน ทุกกลไกมีความสำคัญหมด ถ้ากลไกใดกลไกหนึ่งผิดพลาดไปอันเดียวมันล้มทั้งระบบ เพราะฉะนั้นในการบริหารต้องมองภาพใหญ่ให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมองภาพเล็กไปพร้อมกันด้วย เพราะถ้ามองแต่ภาพใหญ่หรือเห็นเพียง Vision อย่างเดียว แต่ไม่มอง Mission ในภาพเล็กว่าการจะเดินไปถึงเป้าหมายต้องทำอย่างไร ก็จะเกิดผลเสียกับธุรกิจในที่สุด
ช่วงที่ผ่านมาเห็นคุณลุกขึ้นมาทำโปรเจ็กต์เพื่อสังคมอย่าง #Ride4Hero เหตุผลคืออะไร
อย่างที่บอกไปว่าในวิกฤตช่วงนี้ ไม่มีใครที่ไม่ได้รับผลกระทบ ทุกคนกระทบหมดแต่เราจะกลับมาอย่างไรเท่านั้นเอง เอาง่ายๆ มองคนอื่นเป็นเพื่อนบ้านแล้วกัน ถ้าเราไม่ช่วยเขาในช่วงที่เขามีปัญหา เราจะช่วยเขาตอนไหน
ในการทำธุรกิจเมื่อคุณได้ คุณต้องแชร์กลับสู่สังคม เพราะในการทำธุรกิจเราต้องมองว่าทุกคนเป็นลูกค้าเราหมด การให้คืนกับสังคม ให้คืนกับชุมชนที่อยู่ ถ้าเขารอด เขามีรายได้ขึ้นมา เขาก็กลับไปทำงานใหม่ กลับมาใช้เงินมากขึ้น กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด ในวันที่เขาสบายไม่ในทางใดก็ทางหนึ่งเขาก็จะมาลูกค้าของเรา ถ้ามองในภาพใหญ่นี่คือการลงทุน แต่ถ้ามองในเรื่องการช่วยเหลือ เขาคือเพื่อนบ้านของเรา
นิยามการช่วยสำหรับคุณคืออะไร
เวลาช่วยคน ต้องช่วยในสิ่งที่เราถนัด เพราะถ้าช่วยในสิ่งที่เราถนัด เราจะช่วยได้ในระยะยาว ถนัดอะไรก็ทำตามนั้น ผมทำดีลเลอร์รถยนต์ โครงการแรกที่คิดขึ้นมาเป็นช่วงที่ COVID-19 หนักมาก บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักสุดตอนนั้น ก็มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นกับพยาบาลก็ดี ผู้ช่วยพยาบาลก็ดี ในการปฏิเสธให้ขึ้นรถกลับบ้าน พอออกเวรก็กลับบ้านไม่ได้ คนรังเกียจเขา เขาเรียกแท็กซี่ รถแท็กซี่ไม่จอด เขาต้องเอาชุดมาเปลี่ยนทั้งไปและกลับ ผมเลยคิดว่ารถที่บริษัทมีอยู่แล้ว เราช่วยเขาตรงนี้ได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรับส่งบุคลากรทางการแพทย์ บวกกับการที่ตอนนั้นไม่มีใครมาเทสต์ไดรฟ์รถ ไม่มีใครเอารถมาใช้บริการเพราะล็อกดาวน์ ตัวช่างของเราเองก็ว่าง เลยคิดว่าที่เราจะช่วยได้ก็คือเอารถของหมอที่เขาทำงานทั้งวัน หมอที่ไม่ได้กลับไปเจอครอบครัวเพราะว่าเขาต้องกักตัวเองและระวังตัว ก็คิดโครงการว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปนำรถหมอมาบริการให้ เช็กระยะให้ฟรี เปลี่ยนทุกอย่างให้หมดได้นี่น่า สิ่งที่เราคิดและทำคือช่วยเขาในสิ่งที่เราถนัด
นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าหมอและพยาบาลจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะใครๆ ก็มองว่าหมอและพยาบาลเป็นฮีโร่ในตอนนั้น
ทุกเรื่องในชีวิต ถ้าเรามองชีวิตแบบเหรียญว่ามี 2 ข้าง คนชอบดูแต่เหรียญในข้างที่คิดว่าดี คนชอบฟังเรื่องที่ดี ไม่มีใครอยากฟังเรื่องเศร้า แต่ทุกคนในชีวิตจริงมีเรื่องเศร้าหมด เพราะฉะนั้น ผมว่าสำคัญนะที่เราจะมองดู ‘the other side of the coin’ อีกด้านหนึ่งของเหรียญในชีวิตเขา ว่าเรื่องราวเป็นยังไง เวลาเราฟังเรื่องราวในชีวิตของผู้คนก็จะมาจากด้านหนึ่งของเหรียญนั้นๆ แต่เราอาจจะไม่เคยถามอีกด้านหนึ่งของเขาก็ได้ว่าชีวิตเขาต้องประสบอะไรบ้าง เสียงสะท้อนเหล่านี้ทำให้เราเห็นสงครามในชีวิตของแต่ละคนว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร
การช่วยเหลือคนอื่นทำให้มองเห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นด้วยไหม
ผมเรียกว่าแบ่งปันในสิ่งที่เราทำได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้าน Emotional Support ให้กำลังใจเขาง่ายๆ Physical Support จับมือเขา ตบไหล่เขา ความช่วยเหลือเล็กๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นตัวเงิน ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะมอบอะไรบางอย่างให้กับสังคม ความช่วยเหลือก็ดี มุมมองของชีวิตก็ดี ทุกคนมีศักยภาพหมด ไม่มีหรอกครับใครที่ไม่มีศักยภาพ แต่ศักยภาพที่ว่าอยู่ด้านไหนเท่านั้นเอง คุณจะมองข้อดีของคุณเองได้ไหม คุณจะมองข้อเสียของตัวเองได้หรือเปล่า หรือคุณเป็นคนที่เห็นข้อดีอย่างเดียวไม่เห็นข้อเสีย หรือคุณเห็นแต่ข้อเสียของตัวเองไม่เห็นข้อดี สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องกลับมาคิดถึงตัวเราเองให้ได้ก่อน ว่าลึกๆ เราทราบตัวเองแค่ไหน เราทราบว่าข้อดีข้อเสียของเราคืออะไร รู้สติของตัวเองก่อน ถ้ากลับมาคิดได้ก็เห็นถึงศักยภาพของตัวเองที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย
วิกฤตครั้งนี้ทำให้คุณมองเห็นโลกในมุมใดบ้าง
ก่อนหน้านี้โลกหมุนเร็วมาก เมืองเปิดอยู่ตลอด ห้างสรรพสินค้าไม่มีวันปิด แต่วิกฤตครั้งนี้แทบจะหยุดโลกเอาไว้เลย สิ่งหนึ่งที่วิกฤตครั้งนี้ให้กับเราคือทำให้กลับมาคิดถึงตัวเอง ว่าชีวิตเราเป็นอย่างไร ความสุขของเราอยู่ที่ไหน แน่นอนว่ามีผลกระทบกับเศรษฐกิจเกิดขึ้น แต่สิ่งที่มีเพิ่มขึ้นมาคือคุณมีเวลาคิดกับตัวเองมากขึ้น แล้วคุณใช้เวลานั้นอย่างไร เวลาเหล่านั้นมีค่า ทำไมไม่กลับมาคิดถึงตัวเองว่า True Happiness หรือว่าความสุขที่แท้จริงของคุณอยู่ที่ตรงไหน ใช้เวลาให้มีประโยชน์ ความสุขอาจจะไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ชื่อเสียง ไม่ใช่รถยนต์สวยหรู แต่อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ในชีวิต และความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตเหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นพลังบวกให้เราไปเรื่อยๆ และกลายเป็นภาพใหญ่ในชีวิตเราได้
แต่ถ้าคุณตั้งเป้าหมายความสุขไว้สูงมาก โอเค คุณอาจจะตั้งเป้าหมายสูงได้ แต่คุณต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริงว่าคุณสามารถไปถึงได้ด้วย ไม่อย่างนั้นคุณก็เหนื่อย คุณกำลังวิ่งตามฝันที่เป็นไปไม่ได้หรือเปล่า ศักยภาพมีอยู่ในทุกคนอย่างที่ผมบอก แต่เราต้องรู้ว่าขีดจำกัดไปแค่ไหน ถ้ารู้ขีดจำกัดและเดินไปตามทางนั้น ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้น