ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์

ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ | วันที่หยุดพักเพื่อตั้งใจฟังเสียงของร่างกาย

เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว ที่ ‘พี่นง’ – ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ต้องหยุดพักการวิ่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็คุ้นตาเขาในฐานะนักวิ่งมาราธอน ผู้สร้างกำลังใจให้หลายๆ คนลุกขึ้นมาวิ่ง รวมถึงยังเป็นพิธีกรประจำงาน HUMAN RUN ของนิตยสาร a day มาทุกปี รวมถึงงานในปี 2018 ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน นี้ด้วย

     ถึงแม้ตอนนี้เขายังวิ่งไม่ได้ เพราะมีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าขวา สาเหตุมาจากการวิ่งมากเกินไป การวิ่งเป็นสิ่งดี แต่อะไรที่มากเกินไปนั้นไม่ดี พี่นงเกิดความตระหนักแล้วในวันนี้ ความเจ็บปวดจึงไม่ได้ทำให้เขาเศร้าหรือจมอยู่กับความทุกข์ แต่กลับพลิกมุมมองที่มีต่อโลกเสียใหม่ เขาเห็นถึงข้อดีของอาการบาดเจ็บ เพื่อทำความเข้าใจสัญญาณของร่างกาย มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยืนยันที่จะก้าวต่อไปในวงการนักวิ่งไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะวิ่งไม่ได้อีกเลยก็ตาม

 

ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์

ทำไมคุณถึงวิ่งมากเกินไปจนต้องบาดเจ็บขนาดนี้

     เรามักจะบอกใครก็ตามว่าเราวิ่งไม่เยอะนะ ตลอด 15 ปีที่วิ่งมา เราลงมาราธอน 12 ครั้ง แต่เป็น 3 ครั้งแรกที่ลงวิ่งด้วยตัวเอง ที่เหลือคือเป็นเพเซอร์ คอยช่วยคุมจังหวะและวิ่งเป็นเพื่อนให้นักวิ่งคนอื่น ที่สำคัญ เรารู้อยู่แล้วว่าต้องถนอมร่างกายให้ดีๆ หากอยากวิ่งไปจนถึงอายุ 80-90 ปี แต่ก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า คำว่า ‘ไม่เยอะ’ แบบที่เราคิด มันจะเยอะเกินไป จนกระทั่งเริ่มเกิดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าด้านขวา จากที่คิดว่าพักสัก 1-2 เดือนก็คงดีขึ้น ปรากฏว่านี่ล่วงมานานกว่า 8 เดือน ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าคงหายดีภายใน 6 เดือน เพราะมีงานชิคาโกมาราธอน เดือนตุลาคมนี้รออยู่

 

หรือคุณฝืนร่างกายตัวเองโดยไม่รู้ตัว

     นักวิ่งต้องหมั่นฟังเสียงร่างกายและสัญญาณเตือนอยู่บ่อยๆ เพราะเราฝืนความเจ็บแล้วไปทำมันซ้ำๆ เมื่อเกิดกับตัวเองจึงรู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าเราฟังเสียงร่างกายเรา เราก็จะเอะใจได้ทันว่าอาจจะลงเท้าผิด วิ่งบนพื้นที่ผิด พื้นรองเท้าผิด ท่าวิ่งผิด เราวิ่งเยอะเกินไป หรือพักผ่อนน้อยเกินไป หากเราหมั่นสังเกตตัวเองว่าเจ็บ มีสาเหตุมาจากสาเหตุอะไร หรือแค่ระบมเรียกว่า pain แต่เรามาจนถึง injury ต้องหยุดวิ่งสนิท

     ยิ่งไปกว่านั้นคือ ล่าสุดเดือนที่แล้ว ตอนที่ไปหาหมอทำ MRI แล้วหมอบอกว่าจะวิ่งไม่ได้อีกต่อไป เราสตันต์ไป 2 วินาที หากให้เทียบความรู้สึก ก็คงเหมือนความรู้สึกตอนที่หมอบอกว่าภรรยาคนแรกของเราเป็นมะเร็ง แต่วูบเดียวก็คิดได้ว่า เออ ยังดีที่เราไม่ได้เป็นมะเร็งนะ ยังไม่ต้องคีโม แล้วก็บอกว่าไม่เป็นไร ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

 

ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์

 

ผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมามีอะไรอีกบ้าง

     การใช้ชีวิตประจำวัน แค่พลิกตัวนอนก็เจ็บ ดึงผ้าห่มก็เจ็บแล้ว ต้องเปลี่ยนท่าด้วยการลุกไปเข้าห้องน้ำ แต่ก็ดี จะได้ไม่ฉี่รดที่นอน ตอนเดินลำบากหน่อย นั่งนานก็บวม หลายครั้งที่ทำงานได้ไม่คล่องเหมือนก่อน หรือบางครั้งเข่าบวมจนต้องนั่งรถเข็น อีกอย่างคนเสพติดการวิ่งอย่างเรา เมื่อต้องมาหยุดวิ่งนานๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกแย่ ความรู้สึกเหมือนพลัดพรากจากสิ่งที่รักจนรู้สึกเศร้า แต่ความรู้สึกนี้ก็อยู่กับเราไม่นาน มีบางครั้งก็รู้สึกหงุดหงิดเหมือนกัน แต่เรารู้แล้วว่านี่คือสัญญาณเตือนให้ต้องช้าลงกว่าเดิม เพราะมึงคงอยู่ในภาวะผู้สูงวัยแล้ว (หัวเราะ)

 

สิ่งนี้เรียกว่าคิดบวกหรือเปล่า

     เรียกว่าเป็นการมองทุกอย่างบนพื้นฐานของความเป็นจริงมากกว่า หากมองว่าความเจ็บคือความเศร้า เราก็เศร้า แต่สำหรับเรา มองว่าเจ็บก็คือความเจ็บ แล้วก็ยอมรับมันได้ ซึ่งเราเองก็ก้าวข้ามได้แล้ว อย่างเมื่อก่อนตอนโดนไฟดูด คุณดูแขนซ้ายนี่สิ นี่คือร่องรอยของการโดนไฟดูด และเราต้องอยู่กับอาการชามาตลอดกว่า 24 ปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์เตือนตัวเองทั้งเรื่องความไม่ประมาท และความจริงของสภาพร่างกายที่เราใช้ได้ไม่เหมือนเดิม พอตอนนี้เข่ามาเจ็บ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

     เราแฮปปี้กับสภาวะของตัวเองในตอนนี้ ยินดีที่ได้พบความเจ็บปวด พร้อมที่จะโอบกอดมัน เพราะเราสามารถนำประสบการณ์ที่เจอกับตัวเองไปบอกคนอื่นได้ ในฐานะที่เราสอนวิ่งมาตลอด หากเราไม่เจอกับตัวเองก็ไม่เข้าใจ ดีแล้วที่เป็นเราเจอบทเรียนนี้ด้วยตัวเองก่อน แต่ถ้าถามว่าหลังจากนี้จะฝืนไหม ก็คงไม่

ในเมื่อเราย้อนเวลาไม่ได้ เราจึงต้องมีความสุขกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ต่อให้มันเป็นเรื่องที่ผิดพลาด แต่เราก็เต็มใจ

ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์

 

แต่ในเมื่อร่างกายเป็นทุกข์ เราจะยังสุขได้อยู่จริงหรือ

     ร่างกายของเรามหัศจรรย์มากที่สุด ความธรรมดาของร่างกายเราคือสิ่งที่พิเศษ หากไปถามคนตาบอดว่าความสุขของคุณคืออะไร เขาอาจตอบว่า หากฉันมองเห็นได้ ฉันจะมีความสุข แต่ให้ย้อนมามองตัวเอง ทั้งๆ ที่ตัวเรามีทุกอย่าง แต่กลับไม่มีความสุข นั่นเป็นเพราะเราไปกำหนดความสุขข้างนอกมากกว่าข้างใน ซึ่งจริงๆ แล้วคุณมีความสุขจากข้างในได้เลย

 

คุณไม่ได้คาดหวังว่าจะกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิมแล้วใช่มั้ย

     เรายังคงคาดหวัง เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุข แต่เราวางความคาดหวังไว้แล้ว สุดท้ายมันได้แค่ไหนแค่นั้น แต่หากเราไม่ได้คาดหวัง แล้วทุ่มเททำ กลับทำไม่ได้ เราคงต้องมานั่งเสียใจ มันเหมือนตอนที่โดนไฟดูดแล้วหมอบอกว่าแขนจะใช้การไม่ได้อีก เก่งสุดใช้ได้ 50% แต่ด้วยความคาดหวังว่าจะใช้ได้ดีกว่านี้ ตลอดระยะเวลา 1 ปี เราหยุด ไม่ทำงาน และทำกายภาพบำบัด จนแขนกลับมาใช้ได้อีกครั้งจนหมอแปลกใจ เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เป้าหมาย แต่อยู่ที่ระหว่างทาง ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของอะไรบางอย่าง การมีความหวังก็ทำให้เราไปสิ่งนั้นไปได้เรื่อยๆ วันหนึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างของเราคือ กลับมาเหมือนเดิม จะได้เป็นจริงหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยๆ เราก็ได้รักษาและดูแลตัวเองในทุกๆ วันแล้ว

 

ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์

 

การหยุดวิ่งคราวนี้ ทำให้คุณละเอียดอ่อนต่อแนวคิดการใช้ชีวิตมากขึ้น

     ใช่ และมันก็ชัดขึ้น จนเรามองเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา วันหนึ่งต้องเสื่อม แน่นอนว่าวันนี้มันเสื่อมเร็วกว่าที่คิด แต่ก็เสื่อมช้ากว่าหลายๆ คน และที่สำคัญ การเจ็บเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เราเห็นถึงการพลัดพราก สำหรับเรานี่คือวิธีซ้อมการพลัดพราก ซ้อมความเสื่อมของร่างกายตั้งแต่วันนี้ หากวันหนึ่งเราต้องจากไป เราก็ยินดี หรือวันที่เราแก่มากกว่านี้ ต้องเจอกับความเสื่อมที่มากกว่านี้ เราก็ยอมรับสังขารและกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามได้ด้วยความเข้าใจ

 

เท่าที่ฟังมา แทบจะไม่มีอะไรที่จะเศร้าโศกหรือเป็นทุกข์ใจได้เลย

     โลกนี้เหมือนจะมีกฎของมันอยู่ประการหนึ่ง เวลาเราได้อะไรบางอย่างมา เราจะต้องเสียอะไรบางอย่างไป ดังนั้น ในขณะที่เราได้อะไรบางอย่าง หรืออยากได้อะไรบางอย่าง เรามักจะไม่โฟกัสกับเรื่องที่เราเสียไป เราจึงรู้สึกยินดี แต่ในขณะที่เราเสียบางอย่างไป หากมัวมองสิ่งที่เสีย เพราะใจไม่อยากเสีย ทีนี้เมื่อเราได้อะไรมา ก็จะมองไม่เห็นหรือไม่ยอมหันไปมอง เพราะมัวแต่จมอยู่กับสิ่งที่เสียไปแล้ว บางคนอาจจะจมอยู่กับความทุกข์ แล้วกลับมาเห็นสิ่งที่ได้นั้นทันเวลา แต่บางคนอาจจะพลาดไป สิ่งที่ได้มานั้นจมหายไป

     เรื่องนี้ก็เหมือนกัน การบาดเจ็บคราวนี้ทำให้ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้ทำงานละครมากขึ้น ผิวหน้าก็ดีขึ้น ดูหล่อกว่าเดิมด้วย (หัวเราะ) และได้เห็นความจริงของชีวิตที่ชัดเจนขึ้นกว่าที่เคยเข้าใจ แน่นอนว่าเรายังเลือกที่จะอยู่ในวงการวิ่ง คอยแชร์ประสบการณ์ สอนเรื่องการวิ่ง จัดงานวิ่งเหมือนเดิม และมองหาทางเลือกใหม่ เราเชื่อว่าไม่มีทางตัน เราอาจจะปรับรูปแบบด้วยเป็นการแบ่งปันความรู้สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งจนวิ่งไม่ได้ กลายเป็นการวิ่งรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะสนุกมากขึ้น อีกอย่างโค้ชสอนวิ่ง ร่างกายสมบูรณ์มีเยอะแล้ว วันหนึ่งอาจจะมีโค้ชสอนวิ่งแบบร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ขึ้นก็เป็นได้ ต้องติดตามกันต่อไป