ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย | ถอดประสบการณ์ผ่านบทเรียนชีวิตของนักข่าวสายดราม่าผู้ยืนหยัดในการเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน

เมื่อสนามข่าวไหนที่มีนักข่าวสาวนามว่า ‘แยม’ – ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ร่วมแจมก็มักจะตกเป็นประเด็นร้อนอยู่เสมอ หิวข่าว ชอบก่อดราม่า ไหนจะยังชอบแย่งซีนนักข่าวคนอื่นๆ อีก ข้อหามากมายขนาดนี้ แม้แต่เธอยังนิยามตัวเองไว้ว่าเป็นนักข่าวที่ตกเป็นข่าวมากที่สุด เจอดราม่ามากที่สุด แล้วก็ถูกด่ามากที่สุด

แต่คุณรู้ไหมว่านี่ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 18 แล้วที่เธอยังยืนหยัดทำหน้าที่นักข่าว หลังผ่านอาการจิตตกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในวันนี้จิตใจของเธอเข้มแข็งพอที่จะนั่งอ่านคำวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียเพื่อนำกลับมาทบทวนการทำงานและพัฒนาตัวเองต่อไป

     “เราไม่ต้องไปโกรธหรือไปตั้งคำถามหรอกว่าทำไมเขาไม่ชอบเรา ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบ อย่างน้อยคำวิจารณ์เหล่านั้นก็ทำให้เราได้หันกลับมาดูสิ่งที่เราทำลงไปให้ดีว่ามันมีจุดไหนที่ไม่ดีหรือเปล่า”

     ยิ่งสังคมอุดมดราม่ามากขึ้นเท่าไร นักข่าวก็ยิ่งต้องท่องจำประโยคนี้ไว้ให้ขึ้นใจ เธอยังกล่าวติดตลกไว้อีกว่า โซเชียลมีเดียที่ก่นด่าว่าเธอสารพัดสารเพนั่นแหละคือของจริง ขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงที่เรากำลังจ้องมองและต่างส่งรอยยิ้มให้กันอยู่ทุกวันนี้ เธอกลับรู้สึกว่าเป็นของปลอม—ไม่รู้ว่าเธอหมายถึงใครเหมือนกัน

     ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ เราชักชวนเธอให้เดินลัดเลาะไปสำรวจตลาดสามย่าน เพื่อทดสอบปฏิกิริยาของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยใจที่ลุ้นว่าเขาจะมอบรอยยิ้มหรือส่งเสียงด่าทอกลับมา ซึ่งเหตุการณ์ที่ปรากฏในวันนั้นคือ ผู้คนเรียกได้ว่าแทบทั้งตลาดต่างพุ่งความสนใจมาที่ตัวเธอ ทั้งเข้ามาขอถ่ายภาพและพูดคุย บ้างร้องทุกข์และแบ่งปันประสบการณ์หลังถูกพิษเศรษฐกิจกัดกินปากท้องของชาวตลาด นับเป็นเครื่องยืนยันถึงอุดมการณ์ในการดำรงตนเป็นนักข่าว ที่เธอมักย้ำกับเราเสมอว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเธอจะยังยืนอยู่ข้างประชาชนผู้ถูกรังแกหรือชาวบ้านที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

หลังจากเมื่อกี้ที่เราเดินผ่านตลาดสามย่านกันมา ถ้าให้คุณเล่าข่าวสักเรื่องคุณจะเล่าอะไรดี

     เราอยากบอกเล่าเรื่องที่ได้ยินเสียงสะท้อนมาจากผู้ค้าตลาดสามย่านว่าเศรษฐกิจซบเซา ตอนนี้เขาขายของได้น้อย เพราะคนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ซึ่งเขาบอกกันว่าก่อนหน้าที่พวกเขาเพิ่งย้ายมาอยู่ตลาดสามย่านแห่งใหม่นี้ บรรยากาศการค้าขายก็คึกคักมาโดยตลอด เพราะว่าตลาดสะอาด คัดสรรผักผลไม้แบบพรีเมียม ถ้าเป็นผักกระเฉด แม่ค้าก็จะขูดเอาฟองสีขาวๆ ออกให้ เมื่อซื้อไปก็พร้อมนำไปปรุงอาหารได้เลย นอกจากนี้ตลาดยังมีการนำผักออร์แกนิกจากคนทำเกษตรอินทรีย์เข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ทำให้คนอยากมาเดินเยอะขึ้น พ่อค้าแม่ขายก็แฮปปี้ แต่พอช่วงหลังๆ มานี้ ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาล ตลาดก็จะเงียบลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ

 

ที่เราเห็นบรรดาพ่อค้าแม่ค้ามารุมถ่ายรูปคู่ จริงๆ แล้วเขาก็ถือโอกาสมาร้องทุกข์กับนักข่าวด้วยเลยใช่ไหม

     ใช่ๆ แล้วตัวเราเองก็ชอบคุยกับคน เวลาเดินไปเจอผู้คนที่เขาเข้ามาทักทาย เราก็มักจะถามสารทุกข์สุขดิบของเขาด้วย ส่วนใหญ่คนเขาก็ยินดีและอยากแบ่งปันให้เราฟังนะ เช่น พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าช่วงนี้ขายไม่ดีเลย เพราะเขาก็รู้ว่าอย่างน้อยเราสามารถที่จะไปบอกต่อได้ ทุกวันนี้เราเลยเหมือนเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โทรศัพท์มาบ้าง ไลน์มาบ้าง หรือส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กมาบ้าง มีทุกวันจนเรายอมรับเลยว่าบางครั้งเราไม่สามารถทำทุกเรื่องหรือช่วยทุกคนได้ แต่จะอาศัยโมเมนต์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราในการถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้เราเห็นมา

     ยิ่งปัจจุบันเรามีทางเลือกในการสื่อสารมากขึ้น ไม่ได้มีสื่อเพียงหยิบมือเดียวเหมือนแต่ก่อนแล้ว เมื่อข้อมูลข่าวสารไม่ถูกจำกัดไว้ในรูปแบบของหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ แต่มีพื้นที่ของโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้เรากระจายข่าวออกไปได้อย่างไม่ต้องไปสนว่ากรอบของสื่อกระแสหลักจะพูดได้เท่านี้นะ นี่นับเป็นข้อดีของการทำงานสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน

 

การที่มีแพลตฟอร์มของสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายซึ่งส่งผลให้ใครต่อใครก็สามารถทำหน้าที่สื่อข้อมูลข่าวสารได้ มันทำให้คุณรู้สึกหวาดกลัวบ้างไหมว่าเดี๋ยวอีกหน่อยอาจจะตกงาน

     (หัวเราะ) ไม่ๆ เรากลับคิดว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้กลับเป็นประโยชน์มากกว่า เราไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้คือคู่แข่งแต่กลับคิดว่าเป็นตัวที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานของเราได้มากกว่า กระทั่งการเป็นนักข่าวทีวีของเราก็ตาม ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและรวดเร็วจะช่วยอุดช่องว่างที่ทีวีทำไม่ได้ ช่วยเพิ่มช่องทางให้การสื่อสารของเราเป็นประโยชน์กับสังคมมากขึ้น คนทำข่าวหลายๆ คนมักจะรู้สึกเหมือนกันว่าเสียดายของที่เรามี บางทีเราลงพื้นที่ไปไกลมาก ลำบากมาก ไปอดหลับอดนอน ทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อสุดท้ายจะได้นำเสนอข่าวที่มีเวลาจำกัดจำเขี่ยเพียงแค่สองสามนาทีเท่านั้นเอง

     อีกข้อจำกัดของการทำข่าวในยุคที่ยังมีแต่ทีวีก็คือ เมื่อก่อนพอข่าวเผยแพร่ไปแล้วมันจะผ่านไปเลย จนพอเข้าสู่ยุคยูทูบหรือยุคเฟซบุ๊กนี่แหละที่พอให้ทีวีได้พึ่งพิง ปัจจุบันนี้คนไม่มีเวลามากพอที่จะมาจดจ่ออยู่หน้าทีวีเพื่อเฝ้าดูอะไรบางอย่างอีกแล้ว คนเลือกเสพข่าวในช่วงเวลาที่ตัวเองสะดวกเท่านั้น ตอนนี้ถ้าคุณอยากดูรายการ ข่าวสามมิติ ที่ออกอากาศไปเมื่อคืน คุณมาเปิดดูย้อนหลังในตอนเช้าก็ยังทัน หรือเราเห็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจอยู่แวบๆ แต่ไม่มีเวลาอ่าน คุณก็แค่เข้าเว็บไซต์ไปรื้อค้นกลับมา จะอ่านตอนไหนก็ตามใจคุณ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

การอยู่ท่ามกลางยุคที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ทำให้นักข่าวทำข่าวอย่างมักง่ายขึ้น เพราะต้องแข่งกับสำนักข่าวอื่นๆ แถมบรรณาธิการยังไม่ค่อยมีเวลาตรวจกรองงาน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับชีวิตการทำงานของคุณบ้างมั้ย

     ขอแยกอย่างนี้นะ ถ้าเป็นการทำข่าวในลักษณะที่แชร์ข่าวมาจากคนอื่นๆ มันจะไปเจอจุดอ่อนเพราะว่าเขาไม่ได้ทำข่าวเอง หรือนักข่าวไม่ได้ทำตัวเป็น primary hand อันนี้เราไม่ทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาก็เพราะว่าโซเชียลมีเดียนั่นแหละที่ทำให้ทุกคนสามารถเป็น primary hand ได้หมด ฉันเห็นเหตุการณ์ ฉันถ่ายคลิป ฉันเข้าไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อส่งข่าวให้เพื่อนๆ ของฉันได้รู้ ฉันก็กลายเป็นคนรายงานข่าวได้ นักข่าวที่ทำหน้าที่แบบ secondary hand คือเขาจะเอาคลิปซึ่งคุณไปถ่ายมาทำข่าวอีกทีหนึ่ง แต่หากคุณจะเป็นนักข่าวแบบ primary hand คุณจะต้องไปคุยกับคนในคลิปหรือคนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์นั้นด้วย

     สำหรับเราไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าวแบบ primary hand หรือ secondary hand ก็ตาม ล้วนเป็นนักข่าวที่มีคุณค่าตราบเท่าที่เราใช้ความระมัดระวังในการทำงาน ไม่ว่าจะโพสต์หรือทวีตข้อความอะไรก็ตาม เราต้องเขียนให้ถูกต้อง และจะทวีตสิ่งที่มาจากการที่เราได้รู้ ได้ยิน หรือได้เห็นจากแหล่งข่าวจริงเท่านั้น หรือหากไม่สามารถไปถึงเหตุการณ์ได้จริงๆ คุณต้องโทร.เช็กก่อน เพราะด้วยวิชาชีพของเราทำให้ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก คนเลือกที่จะเชื่อสิ่งที่เราทวีตเป็นอันดับหนึ่งเพราะเขารู้ว่าเราเป็นนักข่าว เรารู้จริง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำไม่ถูกขึ้นมาจึงเป็นเรื่องที่ผิดและน่าอับอายมาก

 

ในชีวิตของการทำหน้าที่นักข่าวที่ผ่านมา คุณเคยนำเสนออะไรผิดๆ ที่ทำให้เงิบบ้างไหม

     ถ้าเป็นการเงิบเพราะนำเสนอข่าวเท็จคงไม่มี เพราะการใช้งานสื่อใหม่ในทางหนึ่งมันบีบให้ยิ่งต้องเพิ่มความรับผิดชอบให้สูงขึ้น แต่เราก็เจ็บปวดกับทวิตเตอร์มาเยอะ โดนด่าก็เยอะ ซึ่งพอเราใช้งานโซเชียลมีเดียเยอะๆ เข้าเราก็จะรู้จักธรรมชาติของแต่ละสื่อ ค้นพบว่าอารมณ์ของคนในอินสตาแกรมกับในทวิตเตอร์ไม่เหมือนกัน ซึ่งในที่สุดเราก็เลิกใช้งานทวิตเตอร์ไปด้วยเหตุผลที่ว่า เราไม่ค่อยถนัดกับการทวีตข้อความที่ถูกจำกัดเพียง 140 ตัวอักษร บางทีพอเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์แล้วเรื่องมันยาวมาก ไม่มีเวลามาพิมพ์ตามรูปแบบของมัน

    ส่วนสื่อที่กลายเป็นเครื่องมือช่วยในการเป็นนักข่าวของเราคืออินสตาแกรมนะ ในช่วงที่เกิดรัฐประหารปี 2557 ตอนนั้นเฟซบุ๊กยังไม่สามารถลงวิดีโอได้ แต่ตอนนั้นอินสตาแกรมมีฟังก์ชันวิดีโอ 15 วินาทีแล้ว ด้วยความที่คณะรัฐประหารยุติการออกอากาศของทีวีทุกสถานี แต่ทุกคนในสังคมย่อมอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในคืนนั้น เราก็ขับรถออกตระเวนไปคนเดียว ตามอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าสหประชาชาติ แล้วก็อัดคลิปรายงานข่าวสั้นๆ 15 วินาที อัพเดตลงในอินสตาแกรมของเรา คืนนั้นคืนเดียวมีคนมาติดตามเราเพิ่มขึ้นสองหมื่นกว่าคน มันสะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนที่เขาอยากจะเสพข่าวในยามที่การสื่อสารช่องทางหลักถูกปิดหมด อาจจะพูดได้เลยว่า เครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ เหล่านี้มันทำให้เรามีชีวิตรอด ต่อลมหายใจของนักข่าวให้ยังคงอยู่ได้

     คนอื่นๆ ก็เป็นเหมือนกัน เมื่อทีวีถูกปิด นักข่าวไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ เราอึดอัดและรู้สึกว่าเราทำอะไรกันไม่ได้เลยเหรอ เรารู้สึกเหมือนเป็นบ้า รู้สึกไม่มีประโยชน์ นักข่าวคนอื่นๆ ก็พยายามจะเขียนข่าวลงบนเฟซบุ๊กนะ เราว่าทุกคนรู้สึกเหมือนกันว่าในยามที่มีเหตุการณ์เข้ามาแทรกแซงหรือปิดกั้นให้ไม่สามารถทำหน้าที่ของเราได้ เราแทบจะบ้าคลั่ง อึดอัด สิ่งที่เรารู้เห็นในเหตุการณ์ก็อยากจะบอกให้โลกได้รับรู้ มันคืออะดรีนาลีนของคนทำข่าว

     ย้อนกลับไปตอนเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 เราก็ใช้ทวิตเตอร์ในการทวีตข้อความออกไปว่า ทหารเอาปืนจ่อหัวตำรวจที่สีลม มันกลายเป็นข้อความไวรัลเร็วมาก แล้วก็สร้างอิทธิพลทางการเมืองที่ค่อนข้างสูงจนตอนนั้น ศอฉ. ถึงขั้นออกคำสั่งมาที่ช่อง 3 เลยว่า ไม่ให้เราเข้าไปทำข่าวในเหตุการณ์ชุมนุมอีก แต่ด้วยข้ออ้างที่บอกว่ากลัวเราจะได้รับอันตรายนะ

 

โดนเตือนมาแบบนั้นแล้วคุณรู้สึกอย่างไร เชื่อตามที่เขาบอกหรือเปล่า

     เรารับฟังตรงที่เขามาขอความร่วมมือว่าไม่ให้เราเข้าไปทำข่าวผู้ชุมนุมอีก เพราะเราไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานเดือดร้อน หรือไม่สถานีก็อาจจะเดือดร้อนไปด้วย แล้วก็เหตุผลเรื่องความปลอดภัยของทีมงาน เราเลยโอเค ไม่ไปทำข่าวในพื้นที่ก็ได้ คิดว่ามันจะจบแค่นั้น แต่เขากลับขอมากขึ้นว่า ขอให้ช่วงนี้หยุดใช้ทวิตเตอร์ด้วยได้มั้ย เราเลยบอกว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ พื้นที่นี้คือพื้นที่ส่วนตัว ถ้าหากจะมาจำกัดเสรีภาพกันถึงพื้นที่ส่วนตัว นี่เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เราก็จะลาออก ตอนนั้นเอาบัตรพนักงานวางบนโต๊ะแล้ว สุดท้ายผู้ใหญ่มาบอกว่าไม่ได้ห้ามนะ เขาแค่ขอความร่วมมือมา ถ้าเราอยากจะใช้ก็ใช้ต่อไปได้ สุดท้ายเราก็เลยตกลงว่าจะทำงานอยู่ที่สถานีต่อไป

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

การทำข่าวในสังคมอุดมดราม่ามันทำให้คุณรู้สึกว่าทำข่าวยากขึ้นไหม

     ยากนะ คือแต่ก่อนเราแค่ทำหน้าที่บนความรับผิดชอบของเรา เรามีหน้าที่รายงานข่าว ก็รายงานออกไป การสื่อสารก็ยังเป็นแบบ one-way communication ซึ่งเวลาฟีดแบ็กกลับมามันจะเป็นฟีดแบ็กโดยตรง เช่น ในข่าวมีคู่ขัดแย้งกัน เราอยากได้คำตอบจากคู่ขัดแย้ง เราก็แค่ออกไปสัมภาษณ์คู่ขัดแย้ง ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นจะมีแค่คู่ขัดแย้งแล้วก็มีเราที่เป็นคนกลางเท่านั้น หนังสือพิมพ์ก็ยังทรงพลังมาก เมื่อตีพิมพ์ข่าวอะไรออกไปให้คนอ่านเห็น สังคมให้ความสนใจ มันก็มีผลมากพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

     ขณะที่ปัจจุบันเมื่อข่าวมันตีลงไปในโซเชียลมีเดีย กลับกลายเป็นว่าคู่ขัดแย้งไม่ได้มีแค่คู่กรณีในเหตุการณ์แล้ว ความคิดเห็นของคนในสังคมกลายเป็นคู่กรณีขึ้นมา มีบุคคลที่สามที่สี่มาคอยให้ความเห็น ชี้แนะ หรือตีกรอบการตัดสินเพิ่มขึ้นมาอีก บางครั้งยังทำตัวเป็นผู้พิพากษา เป็นศาลเตี้ยขึ้นมาเสียอย่างนั้น เราควรจะต้องประหารคนชั่วคนนี้ เราจะต้องแห่กันไปตำหนิไอ้คนนั้น สื่อมวลชนที่เคยทำหน้าที่ setting agenda ให้กับสังคมก็ถูกโลกโซเชียลมาทำหน้าที่นี้แทน อำนาจในการกำหนดทิศทางสังคมของสื่อสารมวลชนมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

การปล่อยให้สังคมโซเชียลกำหนดวาระทางสังคมกันเองแบบนี้นับเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี

     (นิ่งคิด) เรายังอยากให้ตัวคอนเทนต์งานข่าวของเรามีพลังสื่อสารให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่นะ มากกว่าที่จะให้สังคมโซเชียลมาคอยกดดันร่วม เพราะเรามองว่าคอมเมนต์เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นเดียวกันว่าในหลายๆ เหตุการณ์สังคมไทยได้ประโยชน์จากพลังของสังคมโซเชียลมีเดียเช่นกัน บางครั้งที่กฎหมายไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแต่สังคมโซเชียลมีเดียกลับช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้ บางครั้งยังช่วยตีกรอบของจริยธรรมคนในสังคมให้ดีขึ้น อย่างเช่น กรณีฆ่าหั่นศพ กรณีเสือดำ หรืออย่างกรณีนาฬิกาหรูก็ตาม

 

เราก็ทำได้แค่แชร์ข่าวหรือโพสต์สเตตัสด่าคนทำผิด แต่พวกเขาก็ยังลอยนวลกันอยู่เลย

     สื่อควรจะทำหน้าที่มากกว่านี้มั้ย ออกมาขุดคุ้ยเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันสื่อหลักไม่ได้ทำประเด็นพวกนี้ ทำไม่ได้บ้าง ออกอากาศไม่ได้บ้าง คือคุณจะทำก็ได้นะแต่อาจจะต้องมีเทคนิคกันหน่อยหนึ่ง แต่หากคิดจะทำอย่างเปิดเผยเหมือนแต่ก่อนก็นับว่ายากมาก ข้อนี้ก็ต้องชื่นชมว่าสังคมโซเชียลมีเดียทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐได้ดีกว่าสื่อกระแสหลักอย่างพวกเราเสียอีก แต่ก็อย่างที่บอกว่าหากไม่สามารถลดการใช้อารมณ์ในการตัดสินหรือตัดอคติทางการเมืองออกไปได้ สังคมโซเชียลก็ยังไม่ใช่คำตอบอยู่ดี สังคมต้องมี norm มีกฎหมาย เราจะทำตัวเป็นผู้กำหนดกฎหมายหรือผู้พิพากษาไปหมดในทุกเรื่องไม่ได้ ต้องมีกรอบกติกาในการอยู่ร่วมกัน คนให้ความเคารพกฎหมายแต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายไม่ได้ให้ความเป็นธรรม เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องหรือตรวจสอบได้ เพียงแต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินเสียเอง เราควรอยู่ในสังคมที่คนเคารพซึ่งกฎหมายและกติกา รวมถึงว่าจะทำอย่างไรให้คนที่เขาไม่เคารพกติกากลับมาอยู่ในครรลองเดียวกัน เราอยากเห็นอย่างนั้นมากกว่า

 

วิชาการ ‘รายงานข่าว 101’ ที่เล่าเรียนกันมาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยยังตอบโจทย์การทำงานข่าวในปัจจุบันอยู่ไหม

     เราว่าจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่นักข่าวหรือนักสื่อสารมวลชนทุกคนจะต้องยึดถือไว้เลยแหละ นี่คือสิ่งที่จะพิสูจน์ถึงคุณภาพของคนทำสื่อ ระหว่างสื่อที่ทำข่าวแบบคลิกเบต พาดหัวหวือหวาแต่พอกดเข้าไปอ่านแล้วไม่มีอะไรเลย กับสื่อที่มุ่งมั่นในการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ต่อให้ยอดของเพจแรกดีกว่าแต่ในแง่ของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้คนก็ต้องเป็นเพจที่ผลิตคอนเทนต์เชิงคุณภาพอยู่แล้ว

     เราทำอาชีพนักข่าวมา 18 ปี แล้วก็เป็นนักข่าวที่เจอดราม่ามากที่สุดในประเทศไทย มีข่าวมากที่สุดในประเทศไทย แล้วก็ถูกด่ามากที่สุดในประเทศไทย แต่ทำไมเราถึงยังไม่ตาย ทำไมเราถึงยังทำข่าวต่อไปได้ ทำไมเราไปเดินตลาดถึงยังมีคนยิ้มให้ เข้ามาพูดคุยจับมือ มีรอยยิ้มให้ ซึ่งคุณไปเปิดดูในโซเชียลฯ ดูเถอะว่าคนด่าเราแบบไม่เหลือเลย กระทั่งคนรู้จักกันก็ยังไม่เข้าใจยังมาด่าเรา แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้เรามั่นใจและยังคงทำงานต่อไปได้คือเรายังเชื่อมั่นในการทำงานของตัวเองอยู่เสมอ เราทำข่าวด้วยความจริงใจ แล้วยังยืนยันที่จะทำต่อไปตราบเท่าที่ข่าวของเรามันมีพลังสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนที่ได้รับประโยชน์เหล่านั้นมีความสุขไปด้วย เราเห็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเราและการทำงานของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นบทพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของเรา อย่างน้อยการที่มีนักข่าวหลายๆ คนตั้งเราเป็น see ffiirst หรือทำข่าวโดยอ้างอิงจากเราก็น่าจะบ่งบอกอะไรบางอย่างได้ เป็นบทพิสูจน์ว่าวิชาการรายงานข่าว 101 ที่เราสั่งสมมาทั้งชีวิตมันยังใช้ได้อยู่เสมอ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

พอจะบอกได้ไหมว่าอะไรคือเคล็ดลับในการทำข่าวของคุณที่ทำให้คนยังติดตามคุณและนึกถึงคุณอยู่เสมอเวลามีประเด็นร้อน

     เราทำข่าวอะไร เราต้องลงพื้นที่เอง พูดคุยเอง เห็นกับตา ฟังกับหู แล้วนำมาถ่ายทอดเอง ทุกอย่างล้วนออกมาจากตัวเรา เราไม่เคยเขียนข่าวที่เราไม่รู้ที่มา ถ้าเราต้องให้นักข่าวคนอื่นไปทำ เราก็ต้องซักถามจนมั่นใจแล้วว่าน้องเขาไปถึงที่จริงๆ ได้คุยกับคนที่นั่นจริงๆ แล้วจึงมาเล่าให้เราฟัง เชื่อมั้ยว่าเวลาทำข่าวอะไรที่มันต้องเกาะติดมากๆ เราแทบไม่ได้นอนเลย เพราะว่าเราต้องเช็กทุกอย่างเอง ตอนมีเรื่องแก๊งหมูป่าติดถ้ำ เราก็ไปสแตนด์บายอยู่หน้าถ้ำ คอยรายงานข่าวทุกเบรก ต้องเดินวนไปมาถามหาแหล่งข่าวแถวหน้าถ้ำรวมๆ แล้ววันละ 11 กิโลฯ เราไม่เคยนั่งอยู่กับที่แล้วก็จะพูดคุยกับคนเยอะมาก เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เราต้องทำแบบนี้ ให้มันเป็นลมหายใจ ให้มันเป็นสายเลือด

 

เราต้องบาลานซ์ระหว่างการเสาะหาความจริงกับความหิวข่าวไหม เส้นแบ่งของมันอยู่ตรงไหน

     มันขึ้นอยู่กับเป้าหมาย สำหรับเราแล้วเป้าหมายคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีภาพข่าวสักภาพหนึ่งที่มันสำคัญมาก เราจะคิดก่อนว่าภาพข่าวนี้จะส่งผลในทางไหนบ้าง ถ้าปล่อยภาพนี้ออกไปเราพร้อมจะยอมรับฟีดแบ็กที่กลับมามั้ย เหมือนในวันที่เราปล่อยภาพข่าวชาวโรฮีนจาออกไป เรารู้แล้วนะว่าจะมีฟีดแบ็กอะไรอะไรกลับมาหาเราบ้าง ก็เลยไปพูดกับผู้ใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนไว้เลยว่า เราพร้อมที่จะรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะยังไงก็ตามขอแค่ให้ภาพนี้ได้ออกอากาศ ขอให้เราได้รายงานข่าวนี้เถอะ ไม่งั้นเราจะนอนตายตาไม่หลับและจะรู้สึกเป็นทุกข์ที่สุดในชีวิตถ้าเราไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ เพราะเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เราให้ภาพซึ่งเป็นข้อเท็จจริง (fact) ได้ทำหน้าที่อธิบายด้วยตัวของมันเอง แล้วเราจะมีวิธีของเราอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราจะต้องตีไปแบบแรงๆ ตรงๆ จะมาทำแบบซอฟต์ๆ คงไม่เกิดผล

 

การเอาผลเป็นตัวตั้งแบบนี้ ถ้าเกมพลิกออกมาอีกแบบหนึ่ง นั่นแปลว่าสิ่งที่คุณทุ่มเทไปจะทำให้คุณหงายหลังได้เลยนะ

     ใช่ แต่เมื่อเราคิดว่ามันจะก่อให้เกิดผลดี เราก็จะทำมันสุดพลัง เราไม่เคยหวาดกลัวที่จะต้องเดินทางไปที่ที่มันอันตรายกับชีวิตเราเลย ถ้ารู้ว่าเมื่อเราไปถึงที่นั่นแล้วจะเกิดประโยชน์ ตัวเราจะทำประโยชน์ให้กับคน เราจะทำ กระทั่งมีเหตุการณ์น้ำท่วม เราเดินทางตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำเลย ไปดูว่าต้นน้ำมันมาเท่านี้แล้วนะเพื่อที่จะไปบอกกับคนที่อยู่ปลายน้ำว่าให้เตรียมตัว เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความเข้าใจ เราจะสามารถสื่อสารข้อมูลที่มันทรงพลังและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงเฉพาะคนที่เราช่วยเหลือเท่านั้นแต่บางครั้งมันยังสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

     ตอนเกิดเรื่องการอพยพของชาวโรฮีนจา เราก็เดินทางไปกับเจ้าหน้าที่แล้วใช้มือถือเครื่องเดียวของเราถ่ายภาพออกมา แต่หลังจากนั้นก็เกิดฟีดแบ็กแย่ๆ กลับมาที่เราสูงมาก ถามว่าท้อมั้ย มันก็มีบ้าง แต่สิ่งที่เราเสียใจมากกว่าคือความรู้สึกเกลียดชังของคนที่มีต่อชาวโรฮีนจา เราเสียใจว่าทำไมคนเราถึงเกลียดชังกันได้ขนาดนี้ จนเรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แสดงว่าข่าวที่เราสื่อสารออกไปนั้นมันไปสร้างความรู้สึกเกลียดให้กับพวกเขาหรือเปล่า เราทำไม่ถูกหรือยังทำไม่ดีพอใช่มั้ย ในเมื่อเราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงให้คนเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือ แต่มันกลับเกิดสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม ดังนั้น เราจะต้องทำให้มากขึ้นดีขึ้นใช่มั้ยเพื่อให้คนเขาเกลียดกันน้อยลง ไม่ต้องถึงขั้นรักกันหรอก แต่อย่างน้อยเขาเกลียดกันน้อยลงก็ยังดี

     เราตั้งปณิธานกับตัวเองเลยว่าจะไม่ย่อท้อกับการพูดเรื่องนี้ เรายังคงยืนหยัดที่จะพูดเรื่องโรฮีนจาต่อไป หลังจากมีเรื่องดราม่าเราก็เดินทางไปที่รัฐยะไข่ แต่เราจะต้องบริหารจัดการมากขึ้นและอดทนมากขึ้น ตอนนั้นสิ่งใดที่เราพบแล้วไม่จำเป็นต้องโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียเราก็ไม่โพสต์ ก็ทำข่าวของเราไป ถึงเวลาก็มาเขียนอธิบายเอา เพื่อทำให้คนได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเขา ได้รู้ว่าทำไมเขาต้องอพยพกันมา เขาเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์นะ ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิของความเป็นพลเมือง ทั้งที่มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคนยังไง ยากจนข้นแค้นแค่ไหนก็ตาม เรามีความสุขที่จะได้ทำงานตรงนี้โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนเล็กคนน้อยให้เขามีพื้นที่ที่จะสื่อสารเรื่องของเขาให้คนเข้าใจ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

เรายืนอยู่ข้างประชาชน ข้างผู้ที่อ่อนแอหรือถูกรังแก เราทำข่าวประชาชน บางข่าวก็โจมตีนโยบายรัฐ เรานำเสนอสิ่งที่อยู่ตรงข้ามรัฐเลยนะ แต่ขณะเดียวกัน เราสามารถเดินไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีได้ ข้าราชการก็มาให้ข้อมูลกับเรา มันเป็นเพราะเราอยู่บนหลักการว่า เรายืนอยู่ข้างประชาชน

 

เคยมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ครั้งไหนไหมที่สั่นคลอนจรรยาบรรณในการทำข่าวของคุณ

     เราว่าความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ควรมีเป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจของทุกคนอยู่แล้ว แต่สำหรับนักข่าวในบางเหตุการณ์เราก็ไม่ควรใช้ความเห็นอกเห็นใจเป็นตัวนำในการทำงาน เรามีหัวใจ เราทำงานด้วยใจ เมื่อใดก็ตามที่คนเกิดทุกข์ร้อนเขาต้องการความเห็นใจ เราก็ควรให้ความช่วยเหลือด้วยการนำเสนอไปในทิศทางที่เป็นผลดีกับเขา ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามนะ แต่เมื่อมีหัวใจแล้ว นักข่าวก็ต้องจิตแข็งด้วย คือเราต้องตั้งมั่นบนข้อเท็จจริง ด้วยเหตุและผล เมื่อมีใครเดือดร้อนมาหา เรารับฟังเขาแต่ก็ต้องเอามาคิดวิเคราะห์หรือดูด้วยว่าสิ่งที่เขาเดือดร้อนหรือมีปัญหามานั้นมีข้อมูลที่ถูกต้องมั้ย เราช่วยเขาหาคำตอบแต่เราจะไม่สามารถทำในสิ่งที่เขาร้องขอมาทั้งหมด จะต้องทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวเราว่าเราจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เขาได้บนพื้นฐานความถูกต้อง ให้เขาไว้ใจและยอมรับเรา

     บางครั้งเรามีหน้าที่เป็นคนกลางในการไปหาคำตอบให้กับพวกเขา เราก็จะเดินไปด้วยความที่เราจะเป็นคนกลางนะ เราไปฟังจากคู่ขัดแย้งด้วยความเป็นธรรมและเป็นกลาง ซึ่งสิ่งที่คุณจะได้ยินกลับมาก็จะเป็นเหตุผลที่ต้องการให้เราเห็นอกเห็นใจเขาเช่นกัน นักข่าวเจอเหตุการณ์นี้ประจำ ดังนั้น เราต้องรู้จักบริหารจัดการการทำงานบนความขัดแย้ง และเป็นนักแก้ไขสถานการณ์ในภาวะวิกฤตให้ได้ เราต้องตีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คู่ขัดแย้งเกิดความเข้าใจกันหรือยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกัน

     แต่ถ้าถามอุดมการณ์ในการทำงานของเราก็คือ เรายืนอยู่ข้างประชาชน ข้างผู้ที่อ่อนแอหรือถูกรังแก เราทำข่าวประชาชน บางข่าวก็โจมตีนโยบายรัฐ เรานำเสนอสิ่งที่อยู่ตรงข้ามรัฐเลยนะ แต่ขณะเดียวกันเราสามารถเดินไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีได้ ข้าราชการก็มาให้ข้อมูลกับเรา มันเป็นเพราะเราอยู่บนหลักการว่า เรายืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง ในบางครั้งถ้ารัฐทำสิ่งที่ดี เราก็รายงาน อธิบายในแง่มุมที่ดีของรัฐ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อำนาจรัฐรังแกประชาชนหรือทำไม่ถูกต้อง นักข่าวจะต้องเป็นผู้ที่ออกมาปกป้องประชาชน

 

แบบนี้กล่องข้อความในเฟซบุ๊กหรือไลน์ของคุณก็น่าจะเต็มไปด้วยข้อความที่บอกเล่าถึงความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน

     ใช่ๆ เช่น พี่ช่วยหนูด้วย หนูโดนอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ช่วยส่งต่อ ซึ่งมันเยอะมาก แล้วในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องหรอก แต่เราไม่เคยลืมใครนะ วันหนึ่งเราจะย้อนกลับมาทำให้ได้ในทุกๆ เรื่อง เชื่อมั้ยว่ามีข่าวหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้วเราภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ มันคือข่าวเรื่องปัญหาสัญชาติของชาวแม่อายที่เราเคยทำไว้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2547 ชาวแม่อายถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรเพราะถูกศาลฟ้องว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งก็ต่อสู้กันมาจนกระทั่งศาลบอกว่าให้คืนสิทธิ์แก่ชาวแม่อาย

    ในปี 2548 ศาลได้ตัดสินว่าให้คืนสิทธิในทะเบียนราษฎรแก่ชาวแม่อาย แต่ตลอดระยะเวลา 16 ปีหลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านบางส่วนเวลาไปอำเภอยังคงติด caution sign เป็นสัญลักษณ์สีแดงที่แสดงให้เห็นว่ายังเป็นคนที่มีปัญหาทางทะเบียน ต้องเอาพ่อแม่หรือหาคนมาพิสูจน์ว่าเป็นคนไทย เราทราบข่าวก็เลยกลับไปลงพื้นที่ทำข่าวให้เขาอีกครั้ง พอออกข่าวไปแค่วันเดียว รัฐมนตรีมหาดไทยกับอธิบดีกรมการปกครองได้ดูข่าว วันรุ่งขึ้นทางกรมการปกครองเขารีบสั่งให้ปลด caution sign ให้ชาวบ้าน ปลดความทุกข์ที่สั่งสมมาทั้งหมด 16 ปีให้คลี่คลายลงไป

     แต่โชคร้ายหน่อยเพราะวันที่เราต้องอยู่ทำข่าวชาวแม่อายตรงกับตอนที่ย่าเราซึ่งอาศัยอยู่บ้านที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ท่านป่วยหนักมากถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว ที่บ้านก็บอกว่าอยากให้กลับมาดูใจย่าวันสุดท้ายเพราะเราเป็นหลานคนโตที่เป็นหลานรักของท่านด้วย แต่วันนั้นเราดันนัดชาวบ้านที่แม่อายไว้แล้วว่าจะมาทำข่าวพวกเขา ชาวบ้านเขาก็รอคอยความหวังจากเราอยู่ เราก็ทำไปให้เต็มที่จนเสร็จสิ้นแล้วก็รีบเดินทางไปเยี่ยมย่า แต่ว่าไม่ทันแล้ว ย่าจากไปเสียก่อน

 

คุณนึกเสียใจบ้างไหมเมื่อการทำหน้าที่นักข่าวของเราสามารถช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนได้มากมาย แต่กับคนใกล้ชิดเราอาจไม่มีเวลาเพียงพอในการดูแลตอบแทนพระคุณพวกเขา

     (นิ่งคิด) ครอบครัวเขาเข้าใจเรามาก คนหลักๆ ในชีวิตครอบครัวเราตอนนี้คือคุณแม่และคุณอา ทุกๆ ครั้งเวลาเราถูกกระแสกดดันหรือโจมตีมา ที่บ้านก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย บางทีคนในหมู่บ้านที่ไม่เข้าใจเขาก็จะมาต่อว่า แต่ทุกคนในครอบครัวเราเขาเข้าใจตัวเราดี บางครั้งเราไม่มีเวลาที่จะอธิบายให้เขาฟังเลยด้วยซ้ำแต่เขาก็จะไม่มาถามหรอกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นว่า แล้วสุดท้ายวันหนึ่งมันก็จะมีบทพิสูจน์อะไรบางอย่างให้เขาไม่ผิดหวังที่เชื่อในตัวเรา สำหรับเราแล้ว เราเลือกที่จะทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองมากกว่าที่จะมานั่งอธิบายในเรื่องที่บางเวลาคนยังไม่พร้อมเข้าใจ เราปล่อยเขาไปโดยให้งานของเราเป็นตัวอธิบายให้พวกเขาเห็นดีกว่า กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานก็เหมือนกัน เราคาดหวังความเชื่อมั่นจากเขา วันนี้เขายังให้ทำงานต่อไปแสดงว่าเขาต้องไว้ใจเรา แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานไม่ไว้ใจเรา แสดงว่าอยู่ยากแล้ว

     เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีปัญหาในครอบครัวให้ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา แต่เราสามารถที่จะจัดการปัญหาเหล่านั้นให้ผ่านพ้นมาได้ไม่ว่าจะราบรื่นหรือจะด้วยความยากลำบากก็ตาม เราทำได้ก็เพราะประสบการณ์จากการที่เราไปเจอผู้คน เราต้องเจอคนที่เขาประสบกับความสูญเสียอยู่ทุกวัน ไปทำข่าวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราก็ต้องไปงานศพแทบทุกวัน เดี๋ยวทหารตาย เดี๋ยวตำรวจตาย เราได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่ยากลำบากอยู่เสมอๆ สิ่งเหล่านี้มันย้อนกลับมาทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขและรับมือกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้

     ในวันงานศพของย่าเรายังต้องเดินเรื่องให้ชาวบ้าน เขียนข่าวให้เขา ขณะที่ชาวบ้านแม่อายร่วม 1,243 คน เขารวบรวมเงินกันมาทำบุญได้ 12,043 บาท แล้วส่งตัวแทน 5 คน เดินทางจากเชียงใหม่มาที่สงขลาเพื่อมาร่วมในงานศพย่าของเรา มันยิ่งใหญ่มากนะ เราไม่เคยได้เงินจากการทำข่าวไหนเป็นพิเศษ เรากินเงินเดือนปกติและไม่เคยขออะไรมากกว่าคนอื่น แต่ข่าวของเรากลับส่งผลที่เป็นคุณค่ายิ่งใหญ่ในจิตใจ ชาวบ้านพวกนั้นไม่ได้มีเงินมากนักหรอก แต่เขาตอบแทนเราด้วยน้ำใจที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน

 

คอมเมนต์หรือคำวิจารณ์แบบไหนที่จะทำให้รู้สึกเสียใจมากๆ

     น่าจะเป็นคำวิจารณ์จากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวมากกว่า เวลาที่เขาไม่เข้าใจ เราก็มีน้ำตาตกในบ้างเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสก็จะอธิบายนะว่าไม่ใช่ รู้ว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของเขาได้ หลักคิดของเราคือไม่เป็นไร วันนี้ไม่เข้าใจเดี๋ยวสักวันคงเข้าใจ แค่ตั้งใจทำงานของเราต่อไป วันนี้เกลียดมาก ขอแค่พรุ่งนี้แกเกลียดฉันน้อยลงก็ได้ ไม่ต้องรักฉันแต่เข้าใจหน่อยว่าฉันไม่ได้เป็นแบบนั้น

     การได้อ่านคอมเมนต์ของคนมากๆ มันทำให้เราเข้าใจว่าโลกมนุษย์ทุกวันนี้มันเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น เราไม่ต้องไปโกรธหรือไปตั้งคำถามหรอกว่าทำไมเขาไม่ชอบเรา ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบ อย่างน้อยคำวิจารณ์เหล่านั้นก็ทำให้เราได้หันกลับมาดูสิ่งที่เราทำลงไปให้ดีว่ามันมีจุดไหนที่ไม่ดีหรือเปล่า อ๋อ เวลาทำงานฉันชอบทำหน้าอย่างนี้ ชอบใช้คำพูดแบบนี้ แสดงว่าเราต้องปรับปรุงพัฒนาตัวเองอีกนะ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

 

ทุกวันนี้เรามักจะรู้สึกว่า โซเชียลฯ มันคือของจริง ชีวิตจริงมันคือของปลอม

 

คุณเคยเดินไปที่ไหนแล้วจู่ๆ ก็มีคนมาชี้หน้าด่าด้วยความโกรธเกลียดหรือยัง

     ไม่มีนะ เพราะเราเชื่อมั่นว่าจริงๆ แล้วคนเราไม่ได้เลวร้ายอยู่ตลอดเวลาหรอก มันมีบางอารมณ์บางความรู้สึกเท่านั้นเองที่เขาจะไม่ชอบ เขาจะเกลียดชังเรา แล้วอยากจะแสดงออกมาเพื่อที่จะระบายความรู้สึก แต่เอาเข้าจริงแล้วคนเรามีความดีมีความรักต่อกัน มนุษย์ทุกคนมีสัมผัสของความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น บางครั้งเราก็ต้องไปนั่งสัมภาษณ์คนที่เราโคตรไม่ชอบเลยนะ แต่เราก็ต้องนั่งคุยกับเขาแล้วก็บอกว่า จริงเหรอคะ (ฉีกยิ้ม) บางทีเขาก็ไม่ชอบเราเหมือนกันแต่เขาก็ต้องตอบนั่นแหละ

     สังคมของชีวิตจริงบางครั้งมันจอมปลอมนะ ยิ่งเราเป็นนักข่าวก็จะยิ่งเห็นสิ่งนี้ บางครั้งเราออกจะชอบสังคมโซเชียลมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าเราชอบไปอ่านไปรู้ว่า อ๋อ คนนี้เขามีนิสัยอย่างนี้เหรอ ทุกวันนี้เรามักจะรู้สึกว่า โซเชียลฯ มันคือของจริง ชีวิตจริงมันคือของปลอม แต่จะบอกว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้ ถ้าเราดำรงอยู่ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของคนก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เมื่อมีคนเกลียดเราจึงยิ้มสู้ ให้เขาได้ฟังเราก่อน ถ้าฟังแล้วเข้าใจก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนั้นไปได้ และไม่ใช่ว่าคนเราเกลียดกันแล้วเกลียดกันเลย ผัวเมียทะเลาะกันยังกลับมาคืนดีกันได้เลย

 

ในชีวิตการเป็นนักข่าวที่ยาวนานถึง 18 ปี มันทำให้คุณมองเห็นประเด็นใหม่ๆ หรือเห็นแต่ความซ้ำซากของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

     เราว่าข่าวมันยังวนอยู่ในโครงสร้างของเรื่องเดิมๆ การเมืองก็ยังคงวนเวียน ปัจจุบัน เรากลับมาตามเรื่องการเลือกตั้ง ก็รู้สึกว่าเหมือนการเลือกตั้งตอนปี 2543 เลย เราเจอนักการเมืองหน้าเก่ามากกว่าหน้าใหม่ ได้กลับมานั่งพูดคุยกับนักการเมืองที่เราเคยรู้จักเมื่อปี 43 ยังต้องทำข่าวน้ำท่วม ข่าวแผ่นดินไหวทุกปี 16 ปีผ่านไปก็ยังต้องทำข่าวเกี่ยวกับประชาชนที่ไม่มีสัญชาติเหมือนเดิม ประชาชนก็ยังต้องมาร้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีที่เขาถูกทำให้ตกเป็นแพะ

     แล้วเชื่อมั้ยว่า เรายังต้องเดินทางไปทำข่าวในหมู่บ้านห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า ทางก็ยังลำบากเหมือนเดิม คิดดูสิว่ามันผ่านมา 20 ปีแล้ว ประเด็นข่าวยังวนซ้ำไปมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าชีวิตคนมันยังคงต้องเดินไปตามปกติ ตามธรรมชาติของมัน โอเค มันอาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างนะ แต่เป็นการเปลี่ยนแค่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น หน้าตาของบ้านที่มันดูทันสมัยมากขึ้น หรือแค่วัตถุที่เปลี่ยนไป แต่เรื่องความยากจน การโดนกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ ความทุจริต ประเด็นเหล่านี้มันยังเหมือนเดิม ปัญหาสังคมมันมาจากคนนั่นแหละ ถ้าคนยังอยากได้มาก คิดเอาเปรียบผู้อื่น ปัญหามันก็จะยังเป็นปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ

 

เวลาที่นำเสนอข่าวเพื่อพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะประเด็นใดก็ตาม หากไม่เกิดผลสำเร็จ เช่น คนโดนเอาเปรียบก็ยังคงโดนอยู่อย่างนั้น มันทำให้คุณเกิดความทุกข์ใจเองบ้างหรือเปล่า

     เราต้องเข้าใจนะว่าเราไม่ใช่ one stop service หน้าที่ของเราก็เป็นแค่นักข่าวที่ทำหน้าที่สื่อสารออกไป เราไม่ได้เป็นทุกอย่างและไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหานั้น เราแค่เป็นคนกลางในการสร้างความเข้าใจเหมือนที่เราย้ำตั้งแต่แรกแล้วว่า เนื้อข่าวของเรานั่นแหละคือความสำคัญที่จะทำให้คนเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เราไม่ใช่เทวดาที่จะทำข่าวนี้แล้วได้ผล เราไม่ใช่นางฟ้าที่จะสามารถเสกได้ทุกอย่าง เราไม่ใช่คนสำคัญเลยด้วยซ้ำในตัวละครเหล่านั้น แต่คนที่สำคัญจริงๆ คือคนที่แก้ปัญหาหรือคู่ขัดแย้งเท่านั้น ดังนั้น ถ้างานสำเร็จเราก็ดีใจ แต่ถ้างานไม่สำเร็จเราจะค่อยๆ กลับมานั่งคิดว่า เฮ้ย เราทำเต็มที่แล้วแต่มันไม่ได้จริงๆ หรือว่าเราอาจจะยังทำไม่ดีพอ ก็ทำใหม่ ทำให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าไปถึงสุดทางจริงๆ แล้วยังไม่ได้ เราว่ามันก็ไม่ใช่ความผิดของเราแล้ว