the forgotten sea

ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์: เมื่อเสรีภาพของสัตว์ทะเล ถูกกำหนดด้วยความเป็นมนุษย์

ภาพของวาฬมิงค์ที่นอนนิ่งไร้ชีวิตอยู่บนอวนเชือกซึ่งกำลังถูกยกขึ้นฝั่งบริเวณท่าเรือเมืองคุชิโระ จังหวัดฮอกไกโด คือภาพประวัติศาสตร์ที่ชวนให้ทุกคนตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจกลับมาล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์อีกครั้ง หลังยุติการออกล่าวาฬไปนานถึง 30 ปี

     ภายใต้ผืนน้ำเค็มสีเขียวเข้มที่โอบล้อมแผ่นดิน และมีอาณาบริเวณเกินกว่าครึ่งค่อนโลก คอยเก็บงำความลับของชีวิตอยู่มากมาย เพราะทะเลคือผู้ให้กำเนิดและเป็นจุดเริ่มต้นวิวัฒนาการให้กับสิ่งที่มีชีวิตชนิดแรกๆ บนโลกใบนี้เมื่อหลายพันล้านปีที่แล้ว ก่อนที่มนุษย์ยุคแรกจะถือกำเนิดขึ้นด้วยซ้ำ หากเฝ้ามองทะเล เราจะพบสัจธรรมของธรรมชาติว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นอนันต์ ทะเลไม่เคยอยู่นิ่ง ริ้วคลื่นกระทบฝั่งต่างลักพาและพัดคืนทุกสรรพสิ่ง เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผืนดินและผืนน้ำไม่เคยหยุด ทุกชีวิตอยู่รอดและเติบโตได้ก็เพราะมีน้ำช่วยหล่อเลี้ยง แต่น้ำก็เป็นผู้ทำลายทุกสิ่งให้ย่อยยับได้อย่างเสมอกัน

     ทันทีที่ ‘ทอม’ – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายแฟชั่นเพื่อสะท้อนประเด็นสังคมที่ทำงานอนุรักษ์มามากกว่า 12 ปี เห็นภาพวาฬมิงค์ที่ถูกล่า เขาจึงถ่ายความรู้สึกออกมาว่า “เสรีภาพของเพศสภาพ ถูกกำหนดด้วยกรอบของสังคม เสรีภาพของสัตว์ทะเล ถูกกำหนดด้วยความเป็นมนุษย์”

     แม้ว่าความยิ่งใหญ่ของวาฬเคยสร้างความหวั่นเกรงให้กับมนุษย์ อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับนักล่าวาฬในอดีต หรือเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของโลกอย่าง Moby-Dick (1851) ซึ่งสะท้อนชะตาชีวิตของมนุษย์ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของธรรมชาติ และการเอาคืนของวาฬที่เคยถูกมนุษย์ไล่ล่ามาก่อน แต่ ณ วันนี้ ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ปัจจุบันวาฬกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายาก และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง

     ภาพลมหายใจสุดท้ายของสัตว์ทะเลที่ถูกรัดอย่างทรมานจนสิ้นใจจากการโดนล่า กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ ทอม โพธิสิทธิ์ ตั้งใจสร้างสรรค์ชุดภาพถ่ายแฟชั่น 忘れた海 หรือ The Forgotten Sea ที่สะท้อนวิกฤตสัตว์ทะเลและสภาวะของทะเลไทย โดยสื่อสารผ่านศิลปะการมัดเชือกแบบชิบะริของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ ‘ไมเนอร์’ – เพชรดา ปาจรีย์ หรือ Unnamedminor ศิลปินผู้หลงใหลศาสตร์แห่งการพันธนาการเรือนร่างของมนุษย์ (Shibari Master) และ ‘Mimi Tao’ – พชรณัฏฐ โนบรรเทา นางแบบข้ามเพศเพื่อแฝงประเด็นความหลากหลายทางเพศที่ยังถูกตีกรอบจากสังคมที่ไม่ยอมรับ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความเท่าเทียมกันในสังคม และสร้างความสนใจเรื่องการอนุรักษ์ให้ทุกคนตระหนักกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

     หากเราทุกคนต่างมีความทรงจำต่อทะเล และทะเลก็เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของเราทุกคน ทำไมเราถึงปล่อยทะเลให้ถูกลืมไปล่ะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เกิดขึ้นในตอนนี้ น่าทำให้เรากลับมาจดจำทะเลกันอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพจำที่ชวนให้รู้สึกเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม 

     ทั้งหมดนี้คือความจริงที่มนุษย์อย่างเรากำลังเผชิญ และเมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นอนันต์ อาจไม่ใช่แค่ทะเลที่ถูกลืม แต่มนุษย์เองก็อาจถูกลืมเช่นเดียวกัน

 

the forgotten sea

 

หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณหันมาสนใจงานถ่ายภาพด้านการอนุรักษ์

     เราเริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพแฟชั่นที่ทำงานด้านคอมเมอร์เชียลมาก่อน แต่ก็รู้สึกว่าทุกคนมีความสามารถที่จะทำประโยชน์บางอย่างต่อคนรอบตัวและสังคมได้ เลยตัดสินใจลองทำงานอนุรักษ์ ตอนนั้นมีโอกาสเข้าไปทำงานกับองค์กรด้านสัตว์ป่าพอดี เป็นโครงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของชะนีที่จังหวัดภูเก็ต เพราะชะนีเหล่านี้ถูกทารุณจนพิการ หรือถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสภาพย่ำแย่จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อเจ้าหน้าที่เยียวยามันจนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ เราก็จะขนชะนีด้วยเครื่องบินเล็ก นำไปปล่อยคืนสู่ป่าอีกครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่

     เมื่อเสร็จโครงการ เรารู้สึกว่าถ้าเครื่องบินยังมีประโยชน์ในการทำงานอนุรักษ์ ความสามารถเฉพาะตัวก็น่าจะทำประโยชน์ได้อีก เราเลยมองการถ่ายภาพว่าสามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมและผู้อื่นได้ จากนั้นเราก็ได้รับโอกาสให้ไปช่วยสำรวจประชากรพะยูนที่จังหวัดตรังด้วยวิธีถ่ายภาพทางอากาศ เป็นการทำงานกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งๆ ที่เป็นคนกลัวความสูงมาก แต่เราใช้การถ่ายภาพเยียวยาความกลัว ตอนที่ได้เห็นพะยูนฝูงแรกในประเทศไทยจากทางอากาศมันเติมเต็มอะไรบางอย่างให้เรา แล้วความรู้สึกกลัวก็หายไป หลังจากสำรวจประชากรพะยูน เราก็ไปสำรวจวาฬ เต่าทะเล และโลมา กลายเป็นว่าได้ทำงานอนุรักษ์จริงๆ

 

การจะทำงานสะท้อนประเด็นสังคมโดยเฉพาะงานด้านการอนุรักษ์ได้ ต้องเริ่มจากความคิด ความเชื่อ หรือความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ สำหรับคุณคือเรื่องอะไร

     การทำงานภาพถ่ายแฟชั่นทำให้เราอยู่ในโลกเสมือนจริง เป็นโลกที่สวยงาม ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ อยู่กับการขายฝัน มองผ่านวิวไฟน์เดอร์ก็จะเห็นแค่ภาพที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยคนที่อยากสื่อสารอะไรบางอย่างให้คนที่เห็นภาพนั้น แต่พอเราออกจากวิวไฟน์เดอร์ ออกจากสตูดิโอที่ทำงาน เราจะเห็นโลกแห่งความเป็นจริง เลยรู้สึกว่าทำไมเราไม่เชื่อมสองโลกนี้เข้าด้วยกัน ให้คนอื่นรู้ว่ามีโลกแห่งความสวยงามกับโลกแห่งความเป็นจริง แล้วทำให้คนอยากทำบางสิ่งบางอย่างโดยใช้ความสามารถของเขาในการสร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น นี่แหละคือสิ่งที่ผลักดันเรา

     อีกอย่างมันคือการเรียนรู้การเข้าใจตัวเอง เราได้เอาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน ว่าจริงๆ แล้วโลกของเรากว้างกว่าสิ่งที่เรารัก สนใจ หรือเห็นว่ามีคุณค่าในชีวิตประจำวัน เพราะทุกอย่างในโลกนี้เชื่อมต่อหากันหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ไกลบนดอยหรือลึกลงไปใต้ทะเล ท้ายที่สุดแล้วมันคือโลกที่เราใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

the forgotten sea

 

ซึ่งผลงานภาพถ่ายแฟชั่นชุดแรกที่คุณใช้สื่อสารประเด็นการอนุรักษ์คือ The Last FareWhale

     ประมาณ 4 ปีที่แล้ว สัตว์ทะเลตัวแรกที่เราเห็นการตายในโซเชียลมีเดียคือวาฬบรูด้า เกิดคำถามว่าใช่ตัวเดียวกันกับที่เราเคยเจอตอนสำรวจหรือเปล่า เราอยากหาคำตอบให้กับการตายของมัน เพราะทุกครั้งที่เรากดชัตเตอร์ จะเกิดความรู้สึกผูกพันกับสัตว์ทะเล แต่เราไม่ใช่นักวิจัย เราเป็นแค่อาสาสมัครที่ทำงานผ่านภาพถ่าย สิ่งที่เราทำได้คือ สร้างการตระหนักรู้ 

     สร้างจิตสำนึกให้คนตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่การยัดเยียดความรู้หรือประสบการณ์ให้เขารู้สึกเหมือนกับที่เรารู้สึก

     เมื่อเราอยากใช้ความสามารถที่มีสื่อสารอะไรบางอย่างไปถึงผู้คน เลยย้อนไปดูแคมเปญอนุรักษ์ในอดีตก่อนที่เราจะมาสนใจทำงานอนุรักษ์ ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายแนวค่อนข้างวิชาการ เป็นภาพวาฬมีตัวเลข เปอร์เซ็นต์ กราฟ ขนาดเราทำงานอนุรักษ์ยังไม่สนใจเลย ยิ่งถ้าอยากสื่อสารกับคนในวงการแฟชั่นและศิลปะให้เข้าใจ ก็ต้องใช้ศิลปะและแฟชั่นเป็นสื่อ เราจึงตัดสินใจไปถ่ายภาพแฟชั่นกับซากวาฬที่จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งชื่อว่า The Last FareWhale เราหวังให้มันเป็นวาฬตัวสุดท้ายที่ตายในอ่าวไทย

     ความคิดของเราคือให้นางแบบไปอยู่ข้างๆ ซากวาฬ ทุกคนที่รู้จักบอกว่า บ้าเหรอ ใครเขาเอานางแบบไปถ่ายกับสัตว์ที่ตายแล้ว มันไม่มีรสนิยม คนจะไม่เข้าใจ เราจะเป็นคนบ้าในสายตาคนอื่น เราก็บอกว่าไม่เห็นต้องรู้สึกอะไรเลยกับการที่เขาจะรู้สึกยังไงกับเรา เรารู้ว่าเราทำงานเพื่ออะไร แล้วเราก็ทำงานจากการศึกษาค้นคว้า ไม่ได้มโนไปเอง เรามีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเขายินดีมาก คอยให้ข้อมูลวิชาการทุกเรื่องที่เราสนใจเสมอมา แล้วเราก็เอาองค์ความรู้มาบิดเป็นงานศิลปะผ่านภาพถ่ายแฟชั่น โลกที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนอย่างโลกของการอนุรักษ์และโลกของแฟชั่น จึงมาเจอกันได้ด้วยงานภาพถ่ายของเรา ทำให้คนที่เห็นภาพต่อยอดไปสู่การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลหายาก ไปถึงเรื่องการอนุรักษ์ การดูแลคนในพื้นที่ หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย

 

สิ่งที่คุณทำเหมือนเป็นโดมิโนที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อไปยังคนอื่นๆ ช่วยจุดประกายคนในสังคมที่คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้พวกเขาหันมาสนใจการอนุรักษ์มากขึ้น คุณมองตัวเองว่าอย่างไร

     เราไม่ใช่ผู้จุดประกาย ธรรมชาติคือผู้จุดประกาย การกระทำของมนุษย์ทุกอย่างที่เป็นผลเสียกับธรรมชาติเป็นสิ่งจุดประกาย เราเป็นแค่คนสร้างงานเพื่อสื่อสารความรู้สึกในสิ่งที่เรารู้สึก ให้คนอื่นเห็นในสิ่งที่เราเห็น ให้ทุกคนได้ลงมือทำอะไรบางอย่างที่สามารถทำได้ ให้เขาได้รู้จักตนเองมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราทำ 

     ทุกคนมีต้นทุนชีวิต ต้นทุนความรู้ไม่เท่ากัน จะให้ทุกคนมาทำอย่างเราก็ไม่ใช่ แต่ละคนจึงต้องไปสัมผัสบางสิ่งที่จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อตัวเอง เพื่อผู้อื่น เพื่อสัตว์ทะเล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เขารู้สึก ทุกคนมีความชอบไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องการให้เกียรติและเคารพความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคน ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนจะทำงานอนุรักษ์ เราจะมีความสุขมากขึ้น

 

the forgotten sea

 

จุดยืนสำหรับการเป็นช่างภาพเชิงอนุรักษ์ของคุณคืออะไร

     ยังยืนยันว่าเราอยากใช้ความสามารถที่มีทำงานศิลปะผ่านภาพถ่ายแฟชั่นเพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วงแรกๆ มีคนบอกว่ามันไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้นะ เรื่องการถ่ายภาพแฟชั่นกับประเด็นสังคมที่ละเอียดอ่อนมากๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม ชนกลุ่มน้อย หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ คำถามคือ ทำไมทำไม่ได้ คนที่เคยทำผิดพลาดในประเด็นเหล่านี้เพราะความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดยังไม่พอ แต่เราได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง ทำให้ได้ความรู้จนเกิดเป็นความเข้าใจ เราถึงเอาสิ่งเหล่านี้มารวมกับภาพถ่ายศิลปะแล้วค่อยสื่อสารผ่านงานแฟชั่นอีกทีหนึ่ง กลายเป็นงานที่ส่งผลถึงความรู้สึกของหลายๆ คน เป็นแรงบันดาลใจต่อไปว่าทุกคนทำได้ ถ้าใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้มากพอ

     แล้วหน้าที่ของเราก็ไม่ใช่การปกป้องอย่างเดียว แต่คือการให้ความรู้ โดยเฉพาะคนที่คิดว่าการอนุรักษ์เป็นเรื่องไกลตัว เฮ้ย! พะยูน วาฬ โลมา เกี่ยวกับชีวิตเราได้ยังไง ก่อนหน้านี้เรายังเคยคิดเลยว่าพะยูนเป็นนางเงือกหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ความจริงคือทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งที่เรารู้สึกจากการทำงานอนุรักษ์คงพูดออกมาเป็นประโยคสวยหรูไม่ได้ แต่ใครที่ได้มาสัมผัสก็จะมีความรู้สึกกับสัตว์ทะเลเหล่านี้ มันยังต้องพึ่งพามนุษย์เพื่อความอยู่รอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนุรักษ์หรือไม่ก็ตาม หน้าที่ของพวกเราในฐานะมนุษย์คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ใช้พื้นที่ทางทะเลร่วมกัน

 

ณ วันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลง ทำให้มนุษย์ต้องพบกับความท้าทายในการใช้ชีวิต นอกจากการอนุรักษ์ที่ยังต้องทำกันต่อไป โจทย์ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือเราจะอยู่และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติกันอย่างไร 

     ธรรมชาติเป็นตัวตั้งของทุกสิ่ง พอมนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง แล้วความฉิบหายก็วนกลับมาที่มนุษย์ เราต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง อยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ว่าจะต้องช่วยกันรักษาหรืออนุรักษ์ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าลง หรือหาวิธีการแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น อย่างปัญหาพลาสติกเราคิดว่าแก้ไขไม่ได้หรอก จำนวนสัตว์ทะเลที่ตายเพราะพลาสติกก็มีให้เห็นเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำไม่ได้บอกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ เราแค่ชะลอการเกิดปัญหาที่มันจะทวีความรุนแรงขึ้น ให้คนเจเนอเรชันต่อไปช่วยหาวิธีการแก้ไขปัญหา

 

the forgotten sea

 

จริงๆ แล้วการอนุรักษ์เป็นประเด็นที่ผูกโยงอยู่กับความยั่งยืนของชีวิต

     ในมุมมองของเรา ความยั่งยืนคือความเข้าใจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวบนโลก ในความเป็นมนุษย์เองก็ยังมีความหลากหลายทางเพศ ทางสถานะสังคม ทุกอย่างแตกต่างกันไปหมด ฉะนั้น ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนก็คือความเข้าใจความหลากหลายและยอมรับการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ถ้าไม่เข้าใจแล้วไปตัดสินว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราจะไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตเลย

     ในการทำงานอนุรักษ์ เราก็ต้องเข้าใจความหลากหลายของพื้นที่ ความแตกต่างทางชีวภาพของสัตว์ เวลาที่หลายคนเห็นภาพสัตว์ตายแล้วบอกว่าทำไมองค์กรนั้นไม่ทำแบบนี้ ทำไมคนนั้นไม่ทำแบบนี้ เคยถามตัวเองหรือยังว่าเคยทำอะไรบ้าง งานอนุรักษ์ไม่ใช่แค่เปลี่ยนถุงพลาสติกเป็นถุงผ้า หรือเปลี่ยนหลอดพลาสติกเป็นหลอดโลหะ ของพวกนี้เป็นของสิ้นเปลือง จริงๆ แล้วทุกคนมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากวิเคราะห์ตัวเราเองว่าในแต่ละวันเราใช้ชีวิตสิ้นเปลืองขนาดไหน

     อย่างการทำงานอนุรักษ์พะยูนในพื้นที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง มีคนบอกว่าเปิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวไปเลยสิ ถามว่าคนในพื้นที่เขาต้องการหรือเปล่า มันคือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตพวกเขา ซึ่งจะเกิดผลกระทบถึงกันไปหมด หรือปกติการที่คนในพื้นที่ออกไปตกปลาโดยต้องเหยียบปะการัง จะให้เขาสร้างสะพานตกปลาแทนก็ไม่ใช่เรื่อง เราต้องให้เกียรติคนในพื้นที่ว่าเขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร แล้วเราค่อยเอาองค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ไปให้เขา

 

ประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุดในการทำงานอนุรักษ์คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่

     ใช่ รวมถึงประเพณีพื้นบ้านด้วย อย่างกรณีพะยูนที่กำพร้าแม่คือมาเรียมและยามีล หลายคนบอกว่าน่ารักจัง ลองไปถามนักวิจัยสิว่าเขาเห็นความน่ารักของมันขนาดไหน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักวิจัยทำงานอนุรักษ์ไปด้วย แล้วต้องมาคอยดูชาวบ้านที่อยากจะสัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิด เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก นักวิจัยมีหน้าที่ค้นหาข้อมูลบางอย่างเพื่อส่งต่อให้กับงานอนุรักษ์ การโหมโรงความน่ารักความน่าเอ็นดูอาจก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น นักวิจัยจะทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะเขามีหน้าที่เพิ่ม คือต้องคอยเจรจากับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ฉะนั้น คนที่เราเห็นใจมากที่สุดตอนนี้ไม่ใช่สัตว์ทะเล แต่เป็นสัตวแพทย์และนักวิจัยที่ทำงานนี้

 

the forgotten sea

 

ล่าสุดญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬอีกครั้ง นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในสมองปู สัตว์ทะเลจำนวนมากตายเพราะขยะพลาสติก ความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่คุณทำเพื่อการอนุรักษ์กับปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนภายในใจของคุณอย่างไร

     นี่เป็นยุคแกงโฮะทางทะเล เพราะทุกอย่างอยู่ในทะเลหมด แล้วสัตว์ทะเลก็พูดไม่ได้ มันส่งเสียงไปไม่ถึงใครหรอก หน้าที่ของเราในฐานะศิลปินที่ทำงานอนุรักษ์คือช่วยเป็นกระบอกเสียงให้สัตว์เหล่านี้ แต่เสียงที่เราส่งออกไปก็ไม่ได้เป็นเสียงจริงๆ อย่างที่สัตว์ต้องการบอก มันเป็นเสียงจากความรู้สึกของเราที่อยากจะส่งถึงคนอื่นเท่านั้น แต่อย่างน้อยเราก็สามารถวัดผลได้จากการสำรวจจำนวนประชากร การที่เราได้เห็นพะยูนแม่ลูกเพิ่มจำนวนขึ้นทุกๆ ปี คือสิ่งที่จับใจเรา มันมหัศจรรย์มาก เชื่อว่าหลายคนอยากเห็น แต่เราไม่สามารถพาทุกคนไปด้วยได้ เลยส่งต่อประสบการณ์ผ่านภาพถ่าย พอเห็นพะยูนตัวเล็กๆ โผล่ขึ้นมาบนถ่ายภาพทางอากาศ เรารู้สึกว่า เฮ้ย! ภาพของเราช่วยปกป้องพวกมันได้ เพราะช่วยทำให้นักวิจัยเข้าใจสัตว์พวกนี้มากขึ้น

     ส่วนการกลับมาล่าวาฬของประเทศญี่ปุ่น ก็ต้องดูเรื่องความแตกต่างด้านวัฒนธรรม พื้นที่ และความหลากหลายของชีวิตด้วย แน่นอน เราไม่เห็นด้วย เพราะจำนวนวาฬที่ตายในช่วงสองเดือนหลังมานี้มีเยอะมาก โดยเฉพาะทางชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป การล่าคือการเร่งอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลหายากให้เร็วขึ้น เราไม่รู้หรอกว่าถ้ามันสูญพันธุ์ขึ้นมาจริงๆ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้างกับธรรมชาติทางทะเล การอนุรักษ์ที่เราทำจึงเป็นการชะลอการเกิดปัญหา ทำให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีเวลาทำงานเพื่อปกป้องสัตว์ทะเล เพราะท้ายที่สุดคือการช่วยมนุษย์ให้อยู่ในโลกนี้ได้นานขึ้น

     ส่วนไมโครพลาสติกก็กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ทุกคนกลับยังไม่เห็นว่ามันคือปัญหา ถ้าสังเกตดูจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา อย่างเช่น ครีมล้างหน้า ยาสีฟัน จะมีสิ่งที่เรียกว่าไมโครบีด ซึ่งเป็นอนุภาคของพลาสติกที่มีขนาดเล็กมาก หลังจากชำระล้างร่างกายเสร็จ มันจะถูกปล่อยไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สัตว์ที่อาศัยในน้ำและทะเลก็จะกินไมโครพลาสติกเข้าไป แล้วเราก็จับมันมากินอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ยังไม่มีผลการวิจัยเพียงพอที่ยืนยันความอันตรายของไมโครพลาสติกที่สะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์ แต่เราเชื่อว่าร่างกายจะสะสมไปเรื่อยๆ เป็นปริมาณที่มากพอจนก่อให้เกิดอันตรายได้

 

แล้วตลอดเวลาที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ ในสายตาของคุณเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติและสัตว์ในพื้นที่ทะเลไทยอย่างไร

     ตอนนั้นทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์มากกว่านี้ แต่ทุกปีธรรมชาติฉิบหายลงเยอะมาก ตอนนี้ย่อมต่างจาก 12 ปีที่แล้ว ปัญหาก็ไม่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างเกิดจากปัญหาการกระทำของมนุษย์ที่สั่งสมมาเรื่อยๆ อย่างปีแรกที่ทำงานสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เรานับจำนวนพะยูนได้ประมาณ 357 ตัว ด้วยเทคนิคการสำรวจในตอนนั้นซึ่งต่างจากตอนนี้ ตัวเลขที่เราได้จากปีแรกอาจจะไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง เพราะเทคนิคในการสำรวจเปลี่ยนแปลงไป ส่วนปีที่ผ่านมาเหลือประมาณ 167 ตัว แต่ก็มีอัตราการเกิดใหม่ค่อนข้างเยอะ

     จริงๆ ธรรมชาติเปลี่ยนทุกปี สาเหตุเพราะธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติ ถ้าเข้าใจประโยคนี้ก็จะเข้าใจงานอนุรักษ์ แต่ถ้าตั้งกรอบว่างานอนุรักษ์จะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นตามข้อมูลทางวิชาการ ตามวิธีการดำเนินงานวิทยาศาสตร์ทางทะเล ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด การอนุรักษ์คือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและการประยุกต์ใช้ความรู้และกระบวนการเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำงานอนุรักษ์

 

the forgotten sea

 

ภาพถ่ายแฟชั่นประกอบบทสัมภาษณ์นี้คือผลงานล่าสุดของคุณ อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้สร้างสรรค์ชุดภาพถ่ายชุด 忘れた海 หรือ The Forgotten Sea

     ทอม : เพราะญี่ปุ่นกลับเข้ามาอยู่ในกระบวนการล่าวาฬอย่างเสรีและถอนตัวออกจากคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission) แต่ก็ต้องมาดูว่าทำไม มันเกิดจากญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมล่าวาฬเพื่อบริโภค นี่เป็นสิ่งที่เราต้องเคารพในวัฒนธรรมของเขา ถ้าเราไปสร้างความขัดแย้งทางวัฒนธรรม สมมติว่าไปทำงานอนุรักษ์ที่เกาะลิบงแล้วบอกว่าให้เขาเลิกทำแบบนั้นแบบนี้ เขาจะเกิดความรู้สึกต่อต้าน แล้วเราจะไม่ได้รับความร่วมมือในการทำงานอนุรักษ์ เราจะไม่ได้องค์ความรู้จากชาวบ้านในพื้นที่ จะไม่ได้ข้อมูลที่สำคัญในการทำงานอนุรักษ์กับนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ความเคารพในความแตกต่างเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การล่าวาฬของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่จำนวนเท่าไหร่นี่คือคำถาม

     The Forgotten Sea เป็นงานที่เราสร้างขึ้นเพื่อส่งเสียงแทนสัตว์ทะเล และสะท้อนปัญหาพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลไปยังคนที่ทำงานในวงการแฟชั่น ศิลปิน หรือคนที่อยู่ในวงการชิบะริ รวมทั้งคนที่ดูหนังเอวี ให้หันมาสนใจธรรมชาติมากขึ้น อย่างที่บอกว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ เราเป็นคนที่อยากเรียนรู้ในสิ่งที่เราสนใจ ชิบะริเป็นศาสตร์ที่เราก็เพิ่งเคยได้ยินจากการได้ร่วมทำงานกับไมเนอร์ เราคิดว่าเขาคงไม่คิดหรอกว่าการมัดเชือกจะสามารถนำมาทำงานอนุรักษ์ได้ เราเองก็ไม่เคยคิด แต่ถ้าเอาสองอย่างมารวมกัน น่าจะเกิดอะไรที่ใหม่ขึ้นแล้วสามารถส่งสาร ความรู้สึก และความรู้บางอย่างไปถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยสัมผัสงานอนุรักษ์มาก่อน

 

คุณทั้งสองคนมาร่วมงานกันได้อย่างไร

     ไมเนอร์ : เราพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดในการทำงานมัด อยากทำให้คนเข้าใจงานมัดในเชิงศิลปะมากกว่าเกี่ยวกับเรื่องเพศ เลยคิดว่าถ้าจะทำสารคดี ก็อยากร่วมงานกับคนที่เราอยากทำงานด้วย ชื่อพี่ทอมก็ขึ้นมาคนแรก พอคุยกันเรื่องการอนุรักษ์แล้วหาว่าไอเดียไหนที่เข้ากับงานมัด สุดท้ายเราตกลงกันว่าจะเลือกประเด็นของวาฬ

     ทอม : คนจะมีภาพจำชิบะริในด้านเพศและกามารมณ์ แต่งานมัดใน The Forgotten Sea คือประเด็นสัตว์ทะเลที่ตายจากการถูกมัด

 

ในภาพถ่ายมีวิธีนำเสนอด้วยสัญลักษณ์ โดยเฉพาะการใช้นางแบบ Transgender คุณต้องการสื่อความหมายอะไร

     ทอม : ภาพพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลที่เราละเลยลืมไป เราจึงเริ่มมองในความแตกต่างของเราสองคน

     ไมเนอร์ : เราเป็นแพนเซ็กชวล (Pansexual) ได้ทุกเพศ

     ทอม : เราเป็นเกย์ แล้ววันมหาสมุทรโลก หรือ World Oceans Day ในปีนี้ยูเอ็นประกาศแคมเปญ Gender and the Oceans เพราะงานอนุรักษ์ทางทะเลไม่ใช่เรื่องของเพศใดเพศหนึ่ง ตรงกับที่เราเคยพูดว่างานอนุรักษ์เป็นเรื่องของทุกคน บางคนอาจถามว่าทำไมงานที่เรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพในสังคม มักจะเห็นการแต่งตัวที่ avant-garde โอเวอร์ยิ่งใหญ่ หรือเวลาทำงานอนุรักษ์เราจะเจอคำถามว่ามันใช่ที่ที่เธอจะมาแต่งตัวแบบนี้เหรอ ความต้องการของเราคือการทำงานเพื่อผู้อื่น ทุกคนมีความหลากหลาย เรายอมรับและไม่ตัดสิน เรามองที่ความสามารถของคนที่เราทำงานร่วมกัน ซึ่ง มีมี่ เทา ก็เป็นนางแบบข้ามเพศที่เราอยากร่วมงานมานานแล้ว

     ไมเนอร์ : พอเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศ เราอยากให้คนเปิดใจมากกว่านี้ ไม่ได้ยึดติดกับประสบการณ์รอบตัวเองแล้วเอาไปตัดสินคนอื่น ส่วนชิบะริก็เป็นเรื่องการสื่อสารทางอารมณ์ผ่านเชือก เป็นการสื่อสารระหว่างผู้มัดและคนถูกมัดกับผู้ที่เสพงาน มันเป็นมากกว่าแค่การมัด

     ทอม : งานนี้เป็นงานประหลาด (หัวเราะ) เพราะว่ารวมทุกอย่าง ประเด็นอนุรักษ์สัตว์ทะเล เรื่องศาสตร์ชิบะริที่ไมเนอร์พยายามก้าวข้าม คนทำงานทุกคนแชร์ความรู้กันจนเป็นงานนี้ ซึ่งแต่ละคนจะเกิดความรู้สึกบางอย่างกับภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหลากหลายทางเพศที่ทำงานอนุรักษ์ได้ เรื่องเชือกอวนในทะเล เรื่องการบริโภคสัตว์ทะเลหายาก มันมีบางอย่างที่ทุกคนหยิบจับและรู้สึกจากงานชิ้นนี้ได้

 

the forgotten sea

 

ทำไมถึงตั้งชื่อผลงานนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลว่า The Forgotten Sea หรือทะเลที่ถูกลืม

     ทอม : ให้เชื่อมโยงกับศาสตร์ชิบะริและการล่าวาฬ ทะเลที่ถูกลืมพูดถึงความทรงจำ ความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดของเราที่มีต่อทะเล เรานึกไปถึงสมัยเด็กๆ ตอนไปเที่ยวบางแสนแล้วเห็นขยะในทะเลแล้วเราไม่ได้รู้สึกอะไรกับมัน แต่วันนี้ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนไป

 

ถามกลับกันว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณอยากทุกคนจดจำต่อทะเล

     ไมเนอร์ : เราไม่ชอบไกด์ความคิดคนอื่นนะ แต่เราอยากฟังว่าคนอื่นคิดยังไงหลังจากได้ดูงาน เพราะเราเอามาพัฒนาต่อยอดได้ เราชอบตรงนั้นมากกว่า

     ทอม : เรารู้สึกว่าทะเลเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ ทุกคนสามารถหยิบจับอะไรบางอย่างจากทะเลมาทำเป็นงานได้ เราอยากให้ทุกคนที่ได้สัมผัสงานนี้รู้สึกว่าแฝงไปด้วยความรู้สึกของกลุ่มคนเล็กๆ เราไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงอะไรมากในการทำงานอนุรักษ์ แต่เรารู้สึกว่าทุกคนมีความสามารถและทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง สิ่งที่เราหวังที่สุดคือการส่งต่อความรู้สึกให้คนอื่นสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตแล้วไปต่อยอดในวิธีทางของเขาได้ มีน้องคนหนึ่งที่มาฝึกงานกับเรา เขามีภาวะซึมเศร้า เราเชื่อว่าทะเลและธรรมชาติสามารถเยียวยาเขาได้ แล้วเขาก็สนใจวาฬจนไปสมัครเป็นอาสาสมัครชมวาฬกับองค์กรท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่าง Wild Encounter Thailand

     หรือครั้งแรกที่เผยแพร่ภาพคือตอนที่วาฬบรูด้าในอ่าวไทยชื่อเจ้าปิ่นตายเพราะติดอวน พอคนทำงานอนุรักษ์ หรือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเห็นก็บอกว่า โห อินมาก ชอบภาพนี้มาก การทำให้คนในสายงานวิทยาศาสตร์เข้าใจงานศิลปะ และสามารถสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นให้คนทั่วไปรู้สึกได้เป็นสิ่งที่ทำให้เราชื่นใจมาก เราสามารถบวกหลายๆ โลกให้เข้ามาเจอกันตรงกลาง แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากงานที่เราช่วยส่งสาร แล้วทุกคนสามารถพูดคุยด้วยประสบการณ์หรือความรู้ที่ตัวเองมีกันอย่างเปิดเผย ทำให้มีความรู้ใหม่ๆ ทุกคนตระหนักรู้มากขึ้น แค่นั้นมันคือความสุขของเราแล้ว เรารักงานอนุรักษ์ เพราะรู้สึกว่าได้เติบโตมากขึ้นในฐานะความเป็นมนุษย์ 

 

ขอบคุณภาพถ่าย 忘れた海 วาซึเรตะอุมิ : The Forgotten Sea
Photographed by tom | potisit
Model | Mimi Tao
Stytlist | Peera Klaison
Shibari Artist | Phetcharada Pacharee
Hair | Vin Laa
Make Up | Pompam Papang
Assisted by | Chaicharn Ratavanich , Jukkapun Piaruksa, Prachya Teerakathiti, Ai Punyisa, Patch Peecharat