ดุจดาว วัฒนปกรณ์

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ | การพูดคุยกับผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อความเข้าอกเข้าใจและทำให้รู้สึกสงบ

ที่ข้างเตียงผู้ป่วยระยะท้าย เปรียบเหมือนเวทีกลางที่เปิดให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาเยี่ยมไข้ดูใจกันเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อพูดคุยกันและกล่าวคำอวยพรหรืออำลา บ่อยครั้งที่บนเวทีนี้จะปกคลุมด้วยความเงียบที่น่าอึดอัด บรรยากาศอึมครึม เพราะผู้ป่วยไม่รู้สติเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือตื่นลืมตามาก็ไม่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง บรรดาคนที่มาเยี่ยมก็พูดจากันโดยขาดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น บางครั้งก็โต้เถียงกับหมอและพยาบาล บ้างก็เอ่ยเรื่องที่ไม่ควรเอ่ย ทั้งๆ ที่บรรยากาศข้างเตียงน่าจะช่วยเกื้อหนุนใจกันและช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบสุข

     ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว หลายคนคุ้นเคยกับเธอในฐานะของนักแสดงละครเวที เธอมีงานหลักคือผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ คอยดูแลเรื่องการสื่อสารของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อจัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการรับบริการให้กับผู้ป่วยและญาติๆ เธอนำประสบการณ์จากงานหลากหลายด้านมาให้คำแนะนำกับเราในเรื่องการพูดคุยกันอย่างเห็นอกเห็นใจที่ข้างเตียงของผู้ป่วยระยะท้าย

 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

ศูนย์กลางที่เปลี่ยนไป

     งานของดุจดาวในปัจจุบันคือการทำให้คุณหมอและพยาบาลเข้าใจความต้องการของคนไข้และญาติมากที่สุด
จากเดิมศูนย์กลางในการรักษาพยาบาลคือคุณหมอ คนส่วนใหญ่มาหาหมอแล้วจะชอบบอกว่า ก็แล้วแต่คุณหมอเลย จะทำอะไรต่อไปให้หมอตัดสินใจ จะรักษาแบบไหนก็ตามแต่หมอเห็นสมควร เพราะเชื่อว่าหมอสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เรา

     มาถึงทุกวันนี้ เราถือว่าคนไข้คือศูนย์กลางของการรักษา ทุกฝ่ายจึงต้องมาร่วมกันปรับความคิดของทุกฝ่ายกันใหม่ เพราะในที่สุดแล้วความต้องการของคนไข้คือสิ่งสำคัญที่สุดว่าเขาต้องการอะไรสำหรับชีวิตของเขา รวมถึงความต้องการของญาติด้วย

     การปล่อยให้หมอเลือกทางให้อาจจะไม่ถูกต้องไปเสียทุกครั้ง เพราะเท่ากับหมอได้ฉวยเอาสิทธิ์ในการเลือกจากผู้ป่วย ไม่ใช่การธำรงรักษาสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาไว้ สิ่งที่เราผลักดันคือการทำให้ทุกฝ่ายหันมายึดถือคนไข้เป็นศูนย์กลางและให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันและกัน

     “การสัมผัสความรู้สึกที่แท้จริงของกันและกัน และช่วยให้ทุกฝ่ายต่างรู้ถึงความคาดหวังของแต่ละฝ่าย ตัวคนไข้และญาติมาที่โรงพยาบาลจริงๆ แล้วเขามีความคาดหวังอะไร เขาแบกภาระอะไรไว้กว่าจะมาถึงที่นี่ ในขณะที่คุณหมอและพยาบาลทำงานของตัวเองไปด้วยความคาดหวังอะไร” ดุจดาวกล่าว

 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

คุณหมอคิดอะไร?

     “จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับหมอและพยาบาลมา ดาวได้รับรู้รับฟังความคิดและความรู้สึกของพวกเขามามาก สิ่งที่อยากแบ่งปันคือคุณหมอส่วนใหญ่ยังรู้สึกไม่กล้าที่จะบอกให้สิ้นสุดการรักษา เพราะลึกๆ แล้วหมอเสียใจกับญาติคนไข้ ผูกพันกับผู้ป่วย และที่สำคัญ หมอกังวลว่าญาติและคนไข้จะสูญสิ้นความยอมรับนับถือในตัวหมอ ญาติจะไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในตัวหมออีกต่อไป”

     ดุจดาวอธิบายเพิ่มเติมว่าการสิ้นสุดการรักษา สำหรับคุณหมอถือว่าเป็นความล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เหมือนกับมนุษย์ทุกคนที่ก็อยากจะทำอาชีพของเราแล้วประสบความสำเร็จ หมอเองก็มองคนไข้เคสหนึ่งๆ ว่าเป็นความสำเร็จในงานของหมอด้วยเช่นกัน เขาจึงไม่อยากสิ้นสุดการรักษาจนกว่ามันจะสุดทางจริงๆ
ในขณะที่ญาติมักจะถามหมอว่า ถ้าปล่อยคนไข้ให้ตายไปจะผิดไหม หมอจึงไม่กล้าตอบในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะเขาไม่อยากให้ญาติผิดหวัง ไม่อยากให้คนไข้สิ้นหวัง และเขาเองก็ยังดำเนินการรักษาต่อไป

     เมื่อคนไข้และญาติได้เข้าใจมุมมองของคุณหมอก็จะได้ช่วยในการพูดคุยและการตัดสินใจร่วมกันได้ดีขึ้น เราสามารถบอกได้ว่านี่ไม่ใช่ความล้มเหลวของคุณหมอ นี่ไม่ได้ทำให้เราหมดความเคารพนับถือและไว้เนื้อเชื่อใจต่อคุณหมอ เราทุกฝ่ายก็จะได้มีทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดจริงๆ

 

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

ญาติและผู้ป่วยคิดอะไร?

     สถานการณ์หน้าเตียงผู้ป่วยระยะท้ายจะเต็มไปด้วยอวัจนภาษาและการสื่อสารที่แปลกไปจากเดิม

     เราต้องการการสื่อสารที่เปิดใจต่อกันอย่างแท้จริง ในสถานการณ์ที่พูดอะไรก็ยากไปหมด แม้กระทั่งการบริหารความเงียบที่ข้างเตียง ไม่พูดอะไรกันเลยจะได้ไหม อึดอัดกันหรือเปล่า

     “หลายปีก่อนตอนที่คุณตาของดาวป่วยหนักกำลังเข้าใกล้ระยะท้าย ครอบครัวของเราพาคุณตาเข้าออกห้องไอซียูหลายรอบมาก แม่ก็บอกคุณตาว่า เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้ว ไม่ต้องห่วง ตอนนั้นดาวก็บอกกับแม่ว่าการพูดแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้คุณตาดีขึ้นจากจุดที่เขาอยู่ ถ้าเราไม่พูดแบบนี้ เราพูดอย่างอื่นกับเขาจะดีกว่าไหม” ดุจดาวเล่าเรื่องราวส่วนตัว เธอบอกว่าคุณตามีลูกสาวหกคน เป็นมนุษย์ช่างจัดแจงเหมือนกันทุกคน เดี๋ยวคนนี้เอาเทปธรรมะไปเปิด เดี๋ยวคนนี้เข้ามาเยี่ยม เดี๋ยวคนนี้ก็มาคุยเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้

     เธอบอกแม่ว่า คนที่กำลังเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิตน่าจะอยากได้ยินได้ฟังอะไรอย่างอื่น เธอจึงคอยปรามคุณอาคุณน้าที่เวียนเข้าไปหา แล้วบอกว่าเดี๋ยวจะได้กลับบ้านแล้วไม่ต้องห่วง เดี๋ยวจะทำของอร่อยๆ ให้กินอีก

     เมื่อถึงช่วงเวลาที่น่าอึดอัดเช่นนั้น เราทุกคนมักจะไม่รู้ว่าต้องพูดอะไร ใจความที่สำคัญในการสื่อสารกับผู้ป่วยที่นอนบนเตียง การพยายามสื่อสารกับญาติที่น่าจะเข้าใจเขาได้ดีที่สุด กลับมองไม่เห็นสัญญาณอะไรบางอย่าง ความต้องการลึกๆ บางอย่างทำให้การนอนป่วยอยู่นั้นน่าอ่อนล้ามากขึ้นไปอีก

     “สิ่งที่แข็งแรงมากๆ คือการหายใจร่วมกันและการที่ไม่ต้องพูดอะไร เราเชื่อมต่อด้วยลมหายใจก็เป็นการสื่อสารได้มาก มีการสัมผัส การหายใจไปพร้อมกัน อยู่ร่วมกันอย่างไร” เธอบอก

     สุดท้ายแม่ก็เข้าไปคุยกับคุณตา แม่กล่าวชื่นชมคุณตาว่าทั้งชีวิตของเขาที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง มีคุณค่าและมีความหมายกับลูกๆ อย่างไรบ้าง แม่บอกตาเรื่องดีๆ ในชีวิตของเขา แล้วก็บอกว่าภารกิจในชีวิตของคุณตาสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ลูกหลานทุกคนจดจำความดีของคุณตาได้แน่นอน

     …แล้วในคืนนั้นคุณตาก็จากไป

     ดุจดาวเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเธอเองยังไม่รู้หลักการสื่อสาร แค่ลองจินตนาการดูว่าอะไรคือสิ่งสูงสุดในชีวิตของเราทุกคน

     “อย่างคุณตาเป็นครู ท่านชอบสั่งชอบสอน ชอบพูดบ่อยๆ ว่าอยากฝากอะไรทิ้งไว้กับคนรุ่นหลัง เราก็ควรจะพูดบอกสิ่งสูงสุดในชีวิตของเขาว่าภารกิจเขาสำเร็จแล้ว และเราทุกคนจะระลึกถึงเขา”

     ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการสื่อสารด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนทุกฝ่าย เมื่อต้องมาอยู่ร่วมกันรอบๆ เตียงผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างลึกซึ้งและทำให้ผู้ป่วยบรรลุถึงจุดหมายสุดท้ายของชีวิต

 


อ่านบทเรียนชีวิตตอนอื่นๆ ได้ที่

     – คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ | แท้จริงแล้ว… ความตายไม่ใช่ศัตรู

     – รศ.พญ. ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา | เข้าใจแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อไม่พาผู้ป่วยระยะท้ายมายื้อความตายยาวนาน

     – ภาริอร วัชรศิริ | สักวันเราทุกคนจะต้องเข้าสู่ลูปของการดูแลผู้ป่วยอันยาวนาน จนกว่าจะถึงวันที่เขาจากไป

     – ผศ.นพ. สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย | ทำไมคนป่วยหนักหรือในภาวะใกล้ตายจึงเกิดภาพหลอน

     – นพ. พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ | กระบวนการตายตามธรรมชาตินั้นสั้นและเจ็บปวดน้อยกว่า

     – ศ.นพ. อิศรางค์ นุชประยูร | เมื่อความตายรออยู่เบื้องหน้าจึงรู้ว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดในชีวิต

     – พีระพัฒน์ เหรียญประยูร | การจัดกระเป๋าเดินทางครั้งสุดท้าย ที่ลงมือทำได้ตั้งแต่วันนี้