‘เก็บตก COP26’ และมุมมองของ อ. ธรณ์ กับสัญญาเรื่องโลกร้อน ทำได้จริง หรือแค่คำโฆษณา

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนบนโลกพร้อมใจกันพุ่งเป้าความสนใจไปที่งานประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา (Conference of the Parties) หรือ COP ครั้งที่ 26… 

        หากจะนิยามงานแบบง่ายๆ นี่คือการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศ ที่มีผู้นำประเทศทั่วโลกกว่า 190 ชาติตบเท้าเข้าร่วมงาน ไม่นับรวมเหล่าตัวแทนเขตพื้นที่สำคัญๆ ของโลก ที่เดินทางมาร่วมในงานนี้ด้วย

        โดยเจตนารมณ์สำคัญ ทุกๆ คนมาเพื่อกล่าวคำสัญญา  ‘ฉันจะลดโลกร้อน’

        นี่คือประโยคแห่งความหวังของมนุษยชาติ ซึ่งมีนัยยะสำคัญอยู่ที่ จะทำอย่างไรไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกพุ่งสูงขึ้นจนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และอีกประเด็นที่สำคัญ คือการตั้งเป้าหมายให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 

        ทว่าเมื่อจบสิ้นการประชุม กลับมีคำถามคาใจผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกับเรื่องราวความหวังที่เราจะสามารถจำกัดการพุ่งขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงไปกว่านี้ ‘แน่ใจใช่ไหมว่าเราทำได้จริง?’ รวมไปถึงงานครั้งนี้ ‘พลเมืองโลกได้ประโยชน์อะไรกันบ้าง?’

        a day BULLETIN นำคำถามตัวโตๆ เหล่านี้ ไปพูดคุยกับ ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ติดตามและเฝ้ามองเรื่องราวการประชุมครั้งสำคัญนี้มาโดยตลอด

        การสนทนาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการสรุปสาระสำคัญ แต่เรากำลังเดินทางไปพบโลกแห่งความจริง กับสภาวะ ‘โลกร้อน’ ที่ดูเหมือนว่ากำลังมาเคาะประตูหน้าบ้านเราทุกคนอยู่ในขณะนี้ เราจะอยู่อย่างไร รับมืออย่างไร รวมทั้งช่วยกันหาทางออกกับ ‘แขกผู้ไม่ประสงค์ดี’ เหล่านี้ได้อย่างไร ชวนไปอ่านบทสนทนานี้ร่วมกัน…

กว่า 2 สัปดาห์กับการประชุม COP26 ถ้าให้สรุปภาพรวมที่ได้จากงานนี้ คุณเห็นภาพทั้งหมดเป็นอย่างไร

        เห็นเป็นภาพเบลอๆ (ยิ้ม) คือมันมี 2 ประเด็นหลักๆ ที่ชวนให้คิดสำหรับงานประชุมครั้งนี้ ประเด็นแรกคือ เรื่อง long term หรือภาพในระยะยาว อันนี้ทุกประเทศพยายามจะประกาศคำสัญญาในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 ซึ่งใครอยากพูดอะไรก็พูดได้ มันเหมือนกับเด็กเพิ่งเกิด แล้วมีคนมาสัญญาว่า อีก 30 ปีฉันจะแต่งงานกับเธอนะ แต่อีก 30 ปีจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อันนี้ไม่รู้ (ยิ้ม) 

        โดยภาพรวม ลักษณะคำสัญญาที่เกิดขึ้นในระยะยาวของหลายๆ ประเทศ จะมีความคล้ายคลึงกันแบบนี้ แต่ปัญหาสำคัญต่อมาก็คือ การสัญญาในระยะสั้น หรือ shot term จากนี้อีก 9 ปี หรือจนถึงปี 2030 แทบไม่มีใครพูดอะไรชัดๆ ออกมาเลย เราจึงไม่รู้ว่าอันไหนทำได้จริง หรืออันไหนเป็นแค่สัญญาปากเปล่า

         แต่ก็ยังมีสิ่งที่เป็นประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น เรื่อง deforestation หรือการเลิกตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ซึ่งหลายประเทศที่มาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกาศชัดว่าจะเลิก ถ้าคิดเป็นพื้นที่ก็ราวๆ 80-90% ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างบราซิลประกาศจะเลิกทำลายป่า โดยเฉพาะในแถบป่าแอมะซอน หรืออินโดนีเซีย ก็มีความพยายามที่จะเลิกใช้ปาล์มน้ำมัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นมันวนกลับไปเรื่องเดิมก็คือ นี่เป็นสัญญาปาเปล่า ซึ่งเราจะเชื่อได้แค่ไหน สมมติประธานาธิบดีบราซิลประกาศสัญญานี้ไว้ว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2030 แต่พอถึงวันนั้น ตัวประธานาธิบดีไม่อยู่แล้ว แล้วเราจะไปทวงคำสัญญากับแมวเหมียวที่ไหนได้ (ยิ้ม)

คุณกำลังจะบอกว่า เรื่องคำสัญญาก็เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องที่สามารถจะทำได้ตามสัญญาหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง

        ใช่ อย่างประเด็นเรื่องการลดการใช้ก๊าซมีเทน โจ ไบเดน ออกมาพูดว่าต้องการลดก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 อันนี้ชัดเจนมาก แต่คำถามคือ อเมริกาน่ะทำได้ แต่ประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกมีเทน โดยเฉพาะประเทศที่ทำปศุสัตว์ อย่างบราซิล ออสเตรเลีย หรือนิวซีแนด์ พวกนี้จะทำได้ไหม 

        สถานการณ์ตอนนี้มันคล้ายๆ กับว่าประเทศที่ตะโกนออกมาว่าฉันจะหยุดไอ้นู่น หรือแบนไอ้นี่ คือประเทศผู้นำที่ทำได้อยู่แล้วไง เขาเลยพยายามจะให้คนอื่นทำตาม หรือเรียกว่าบังคับก็ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไปๆ มาๆ มันก็หนีไม่พ้นประเด็นของ geopolitics หรือการใช้ภูมิศาสตร์เข้ามาผูกกับการเมือง ที่เห็นภาพชัดๆ คือ การกีดกันทางการค้า เช่น ถ้าเกิดเนื้อสัตว์ของประเทศยูไม่ผ่านเกณฑ์ มีการปล่อยมีเทนเยอะเกินไป ไอห้ามนำเข้าประเทศนะ   

        อีกเรื่องที่สะท้อนจากการประชุมที่น่าสนใจคือ การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2030 เรื่องนี้อาจจะพอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะมีมหาสมุทรใหญ่ๆ อยู่เยอะ เช่น กาลาปากอส คอสตาริกา พวกนี้ประกาศออกมาทีเดียว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 60,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมันก็พอเป็นไปได้ แต่ปัญหาก็มาตกกับเมืองไทยเรานี่เอง เพราะจะหาพื้นที่ 30% ทางทะเล เราก็ไม่รู้จะไปเอาจากไหน ถ้าลากเส้นรอบวงไปให้ถึง คงต้องไปชนกับเขมร หรือมาเลเซีย อะไรทำนองนั้น

คือบางการประกาศ หรือบางนโยบายที่พูดกันขึ้นมาในที่ประชุม ในบางมุมเราก็อาจทำไม่ได้เสมอไป สรุปแบบนี้ได้ไหม

        ใช่ แต่ถ้าถามผม ผมมองมุมบวก ต่อให้ทำไม่ได้ แต่เรื่องเหล่านี้ถือเป็นการกระตุ้น อย่างถ้าเป็นเรื่องทะเลที่เล่าไป เราคงไปไม่ถึง 30% หรอก แต่อย่างน้อยทำให้มีการกระตุ้นขึ้นมา หรือมีการพยายามผลักดันเรื่องพื้นที่คุ้มครองทางทะเลมากขึ้น แต่ทีนี้เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันก็ต้องใช้เวลา ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย อย่างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายเพื่อออกมาเป็นพระราชกำหนด ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ทั้งนี้ผมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

กลับมาที่ประเด็นหัวข้อสำคัญของการประชุมหนนี้ เรื่องการพยายามทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส คุณมองอย่างไรกับเรื่องนี้

        ทะลุ 1.5 แน่นอน (ยิ้ม) คือดีที่สุดที่เขาคาดการณ์มาคือ 1.8-1.9 องศาเซลเซียส ตัวเลขนี้คือเป็นของทีมงานการประชุมทำออกมา ส่วนถ้าเอาของพวกทีมงานอิสระ หรือเรียกว่าพวกแทร็กเกอร์ ที่เขาคำนวนออกมาแล้วว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.4 องศาเซลซียส ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือข้อมูลของทุกประเทศที่ให้มาในระยะสั้น ไม่มีความชัดเจน

        เรื่องอุณหภูมิเหล่านี้ ผมอธิบายง่ายๆ ให้ฟังอย่างนี้ดีกว่า สมมติว่าเรามีกล่องใส่ของอยู่ข้างบนอากาศเหนือหัวเราขึ้นไป ปัจจุบันเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 35-40 จิกะตันต่อปี รวมทั้งโลกนะครับ ทีนี้ก๊าซในกล่องทุกวันนี้มีอยู่เต็มไปหมด แต่ถ้าเกิดจะกดไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราต้องเลิกปล่อยก๊าซทุกอย่างแบบเป็นศูนย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ 

        แต่มันก็จะมีโมเดลใหม่ขึ้นมา คือกดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้กล่องข้างบนมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเราก็ยังปล่อยก๊าซด้วยอัตราเท่าเดิม เพียงแต่พอพื้นที่กล่องข้างบนมันจุได้มากขึ้น ก็จะช่วยชะลอการเต็มของกล่อง ซึ่งคาดว่าได้ไปถึง 25 ปี ทีนี้พอกลับมาดูยังด้านล่างใต้กล่อง หากเราช่วยกันชะลอการปล่อยก๊าซลงเรื่อยๆ ภายใน 25 ปีนี้ เราก็จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสไปได้ และที่สำคัญ พอถึงปีที่ 26, 27, 28… จนไปถึงปีที่อินฟินิตี้ อุณหภูมิก็จะไม่เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสตลอดไป 

        แต่เรื่องยังไม่จบเท่านั้น (ยิ้ม) แม้เทรนด์มันจะนิ่ง ได้อุณหภูมิที่ลดลงตามต้องการก็จริง แต่ไอ้ที่คุณสะสมกันมาตลอดก่อนหน้านี้ มันยังเกาะอยู่ข้างบนต่อไปอีกประมาณ 30 ปี คือไม่ได้หมายความว่า พอคุณหยุดวันนี้แล้วปีหน้ามันดีขึ้น ไม่ใช่ เพราะของที่อยู่ข้างบนมันยิงยาวไปแล้ว กว่าที่มันจะสลายก็โน่นอีก 30 ปี เลยอยากให้เข้าใจว่า ไอ้ที่ยังกองอยู่เนี่ย อีก 30 ปีนะกว่าจะค่อยๆ หมดไป เหมือนขยะในทะเลเช่นกัน มีคนมาถามผมบ่อยๆ อาจารย์คะ ขยะลงไปในทะเลปริมาณมากเท่าไรแล้ว เอาเป็นว่า ไอ้ที่ลงไปน่ะเรื่องหนึ่ง แต่ที่กองอยู่ในทะเลก่อนหน้านั้นน่ะ มันไม่หายไปนะ ต้องรออีก 50 ปีโน่นแน่ะ เพราะสิ่งที่เราทำมาตลอดคือ เราเติมความพินาศลงไปเรื่อยๆ

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเวลา ‘หยุดความพินาศ’

        อย่าเรียกว่าหยุด เรากำลังผ่อนหนักเป็นเบา เรากำลังมองไปถึงวันข้างหน้าว่ามันจะเบา แต่อย่างแรกสุดต้องเอาให้เข้าใจก่อน ตอนนี้เราอยู่ที่ประมาณอุณหภูมิ 1.1 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่เราโดนภัยพิบัติขนาดนี้ ให้ตายเถอะแม่เจ้า! ถ้าถามต่อว่า แล้วเราจะโดนภัยพิบัติหนักกว่านี้ไหม คำตอบชัดๆ คือ ใช่แน่นอน อันนี้ผมฟันธง ด้วยเหตุผลว่ามันก็จะกลายเป็นอุณหภูมิ 1.2 1.3 1.4 ยังไงเราก็ไปถึง 1.5 แน่นอน เพราะเกิดจากของที่สะสมไว้

        แต่ปัญหาคือ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ในทุกๆ 0.1 องศาเซลเซียส ภัยพิบัติก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก 1 เท่าตัว และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่าตัวในตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จากอุณหภูมิเพิ่มจาก 1.1 ไป 1.2 หรือจาก 1.2 ไป 1.3 ความรุนแรงมันจะยิ่งทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้คือมองจากตัวเลข แต่ในความเป็นจริง สเกลของโลกมันใหญ่มากๆ ดังนั้น เวลาที่มันเกิดความรุนแรงขึ้น มันรุนแรงเกินที่เราจะจินตนาการมาก 

        ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้นไปอีก เคยกินเหล้ากันใช่ไหม ก่อนที่น้ำแข็งจะเริ่มละลาย มันจะค่อยๆ ละลายแบบช้าๆ ถูกไหม แต่พอหลังจากที่ละลายไปแล้ว ทีนี้มันไหลยาวเลย นี่คือหลักการเปรียบเทียบที่ง่ายที่สุด หรือถ้าอยากเข้าใจกรณีความรุนแรงมากกว่านี้ แนะนำให้ซื้อเหล้า โซดา น้ำแข็ง แล้วไปกินที่แหลมแท่น บางแสน ลองวางกระติกน้ำแข็งลงไปแป๊บเดียว ยังไม่ทันทำอะไรเลย น้ำแข็งละลายหมดแล้ว เพราะลมมันแรง นี่แหละคือการทวีคูณความรุนแรงของภัยพิบัติที่จะเกิด

ฟังจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว ในอนาคต ‘เรื่องโลกร้อน’ จะกลายเป็น priority แรก หรือเป็นเรื่องที่ผู้คนควรใส่ใจเป็นอันดับแรกในวิถีชีวิต พูดอย่างนี้ได้ไหม

        ไม่ใช่ในอนาคต แต่มันคือวันนี้เลย ผมยกตัวอย่างแบบนี้ ที่ผ่านมาเคยมีนักศึกษามาปรึกษาผมประจำ เรียนจบแล้วอยากมีงานมั่นคง มีเงินเดือนสูงๆ ผมบอกว่า โอเค เรื่องเหล่านั้นพวกเธอมีได้ หาได้กันหมดแหละ แต่สมมตินะ พอทำงานไป 5 ปี เธออยากลงหลักปักฐาน เธอเริ่มผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จ่ายเงินค่าผ่อนบ้านไป 30 ปี แต่พออยู่ไป อ้าว น้ำท่วม ปีแรกท่วม 2 วัน ปีต่อมาท่วม 8 วัน ไม่นับที่น้ำทะเลหนุนสูงอีก ปีละ 2 เดือน สุดท้ายผ่านไป 10 ปี คุณพระ! ทาวน์เฮาส์ที่ซื้อมากำลังจะจมน้ำ ผ่อน 30 ปีก็ยังไม่หมด จะขายก็ขายไม่ได้ ใครจะซื้อบ้านจมน้ำ นี่ไง ตัวอย่างวิถีชีวิตที่กำลังเกิดขึ้นจริงอยู่ในเวลานี้

        มีคนถามมาตลอดว่า โลกร้อนจะทำอย่างไร อยู่อย่างไร ก็นี่ไง จ่ายเงิน 30 ปี เพื่อผ่อนสิ่งที่กำลังจมน้ำ ถ้าให้ผมแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ อาจจะกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่ผมแนะนำว่า อนาคตไม่ต้องซื้อบ้าน ให้เช่าเอา ทำเหมือนที่ญี่ปุ่น เขาเช่าทั้งนั้น เพราะหากเกิดภัยพิบัติอะไรขึ้นมา ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น คุณจะใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์แบบในอดีตไม่มีประโยชน์แล้ว 

        เมื่อก่อนคนรุ่นเก่าอาจจะคิดว่า การมีหลักทรัพย์แล้วจะมั่นคงปลอดภัย ซื้อที่ดินแล้วจะราคาขึ้น ไม่จริงเลย ปัจจุบันบางแห่งราคาไม่เคยขึ้น ซ้ำร้ายบางแห่งจมน้ำอีกด้วย ยังไม่พอ บางที่โดนฝุ่นซะอีก ใครจะไปคิดว่าเชียงใหม่ เมื่อสิบปีก่อนทุกคนเฮกันมาซื้อบ้านตากอากาศ หรือซื้อคอนโดมิเนียมที่เชียงใหม่กันเป็นแถว แต่ ณ วันนี้เกิดอะไรขึ้น เชียงใหม่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 คนไม่ไปอยู่เชียงใหม่แล้ว ผมถึงบอกว่า ให้เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ต้องทำตัวเป็นนก อย่ายึดติด ไม่อย่างนั้นแล้วท้ายสุดเราจะจม หมายถึงจมน้ำนี่แหละ

ถามแบบกำปั้นทุบดินบ้าง เรายังพอมีความหวังกับปัญหาเรื่องโลกร้อนอยู่บ้างไหม

        มีสิ คนเราต้องอยู่อย่างมีความหวัง ผมอยู่เอกมัย ผมมีความหวัง เพราะน้ำไม่ค่อยท่วม (หัวเราะ) ถามว่าเรามีความหวังไหมกับปัญหาเหล่านี้ ผมตอบได้เลยว่ามี เพราะจากนี้ไป ความเปลี่ยนแปลงมันจะเร็วมาก ต่อให้มันจะไม่เป็นไปอย่างที่เราหวัง แต่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างว่องไว โดยรอบๆ ตัวเรานี่เอง เช่น ล่าสุดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินของประเทศก็เลิกใช้ไปแล้ว นี่คือสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง ไม่นับพวกธุรกิจ องค์กรใหญ่ๆ ที่จะต้องเดินหน้า Shift Economic หรือเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่การเป็น Green Business หรือเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ พวกนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว 

        ในส่วนของภาคประชาชน ผมก็หวังว่า ปีหน้ารัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องราคาของรถอีวี หรือรถไฟฟ้า ช่วยจ่ายให้คันละ 1 แสนบาท อันนี้แค่สมมติ (ยิ้ม) แต่ที่อังกฤษเขาให้มากกว่าแสนอีกนะ หรืออย่างน้อยก็อาจจะลดภาษีรถไฟฟ้าลงเหลือ 0% ได้ไหม เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาใช้อย่างจริงจัง และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือมาตรการเกี่ยวกับ Climate Change ต่างๆ ที่ออกมา เราต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ผมมองว่าแค่เกิดประโยชน์กับตัวเองก็ดีมากๆ แล้ว เอาแค่ตัวเรา ครอบครัวเราก่อน แล้วมันจะส่งต่อไปยังภาพใหญ่ของสังคม นำไปสู่ภาพรวมของประเทศในที่สุด

ยังมีเรื่องอะไรที่คุณเป็นกังวลอยู่ไหม ในฐานะผู้ที่มีส่วนผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด

        คนไทยเรามีลักษณะอย่างหนึ่งคือ พอใครเฮ เราเฮด้วย แต่พอจะต้องหาคนเริ่มทำอย่างจริงจัง เราไม่ค่อยมีผู้นำสักเท่าไหร่ (ยิ้ม) แต่ในภาพใหญ่ตอนนี้ อย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำลังจะประกาศใช้ ก็มีคำว่า Green Business หรือมีค่า Climate Change มีคำว่าสังคมคาร์บอนต่ำ เพียงแต่คำตอบของประเทศไทยตอนนี้ ก็คล้ายๆ กับที่โลกกำลังเป็นอยู่คือ long term เห็นภาพ แต่พอมาถึง shot term จะทำอะไรบ้าง มันไม่ค่อยมีภาพที่ชัดเจนเท่าไหร่

        จริงๆ ถ้าให้พูดถึงเรื่อการปรับตัว ผมว่านายทุนปรับตัวได้เร็วกว่าประชาชนเสียอีก เขาเริ่มมีแนวทาง มีกลยุทธ์ว่าจะทำอะไร ซึ่งก็ได้แต่หวังจะให้บริษัทใหญ่ๆ ออกมาตะโกนเรื่องนี้กันเยอะๆ แต่ก็ต้องกลับมาที่สื่อ หรือนักเคลื่อนไหวกันด้วย ต้องช่วยกันกระตุ้น บางทีผ่านไป 4-5 ปี ต้องช่วยกันออกมาไถ่ถามกันหน่อย ไอ้ที่พวกคุณเคยประกาศนู่นนี่กันไว้ ตอนนี้ถึงไหนกันแล้ว ถ้ามีการกระตุ้นเตือนกันอยู่เรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่า เป้าหมายระยะสั้นหรือ shot term จะเห็นเป็นภาพชัดขึ้น และแน่นอนว่ามันจะส่งผลไปสู่ภาพ long term ในปี 2050 มันจะกลายเป็นความจริง

        อีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ คือการให้ความรู้กับคนที่ยังไม่รู้ หรือคนที่ยังมีวิถีแบบดั้งเดิม เช่น เกษตรกร ชาวประมง ตราบใดที่เขายังใช้วิถีแบบเดิมๆ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะยังไม่ดีขึ้น ดังนั้น การเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญ หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ เอกชนอาจจะมีหน้าที่ช่วยฟื้นฟู แต่รัฐมีหน้าที่ต้องดูแล ป้องกัน และให้ความรู้ 

        นอกจากนี้ผมยังมีความหวังกับคนรุ่นอายุ 30-40 กว่าๆ คนที่ไม่ใช่ซีอีโอ ไม่ใช่อธิบดี เป็นคนที่รองๆ ลงมา กลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ตามองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่จะเชื่อมช่องว่างของคนรุ่นที่โตกว่า กับคนรุ่นใหม่ที่ยังเด็กกว่า เพียงแต่ว่าเขาก็ต้องมีโอกาสในการเชื่อม gap ตรงนี้ด้วย ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร อย่าให้มันไปติดอยู่กับคนแค่สองสามคน องค์กรที่ยึดติดกับคำสั่งหรือความคิดของคนเพียงไม่กี่คน สุดท้ายจะปรับตัวไม่ทัน โลกใหม่ต้องการการปรับตัวที่เร็วกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้น คนที่สามารถปรับตัวได้ บางทีไม่ใช่ซีอีโอหรืออธิบดี แต่เป็นคนระดับรองๆ ลงมา ตรงนี้จะเป็นกลไลสำคัญ ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ทำได้ และได้ทำ องค์กรหรือบริษัทของคุณก็จะไม่ตาย

เราพูดคุยกันถึงปัญหาของโลกร้อนมาตลอด ความจริงมันยังมีมุมที่เรียกว่าเป็น ‘ข้อดี’ ที่เกิดจากปัญหาเหล่านี้บ้างไหม

        ถ้าเป็นข้อดีโดยตรงคงไม่มี (หัวเราะ) แต่โลกร้อนเป็นเรื่องเดียวกันของทุกคน ถ้าเป็นเรื่องการเมืองอาจจะคิดไม่เหมือนกันได้ แต่โลกร้อนเรามีจุดยืนเดียวกัน ซึ่งจุดยืนนั้นก็คือ กูไม่อยากตาย (หัวเราะ) ถูกไหม เพราะฉะนั้น ทุกคนจะเซตไปที่เป้าหมายเดียวกันหมด สิ่งที่ตามมาคือ เราจะเจรจากันได้ ไม่ว่าจะคนรุ่นไหน มีความเชื่อแบบใด สำหรับเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเดียวกัน ผมเชื่อว่า ถ้าทำนโยบายออกมาให้เห็นชัดๆ แล้วจูงมือกันไป คนสองเจเนอเรชันจะเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง ปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็อาจจะค่อยๆ เบาลงไปก็ได้

ถ้าจะสื่อสารไปสู่ผู้คนยุคใหม่ คุณอยากบอกอะไร โดยเฉพาะในสิ่งที่เราต้องรับมือจากสภาวะโลกร้อนในอีกไม่ช้านี้

        3 เรื่องที่ผมอยากฝากไว้ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป คือ หนึ่ง รู้จักปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เร็ว เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ สอง ทำอะไรขอให้มีความยืดหยุ่น อย่าไปยึดติด เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าภัยพิบัติจะเกิดหรือจะมาตอนไหน และสาม ต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง ยุคนี้มีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้มากมาย อย่างที่เมืองนอก เวลาคนจะซื้อบ้าน เขาเข้าเว็บไซต์เฉพาะทาง เพื่อดูว่าที่ดินที่จะซื้อ มีโอกาสเกิดไฟป่ามากน้อยแค่ไหน เรื่องอะไรเหล่านี้จำเป็นต่อเราอย่างมากในยุคต่อไป คือก่อนจะลงทุนซื้อ หรือทำอะไร คุณประเมินความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติเอาไว้เป็นดีที่สุด 

ถ้าตัดภาพไปยังปี 2050 คุณอยากเห็นภาพโลกในเวลานั้นเป็นอย่างไร

        อย่างแรกคือ เอกมัย-บ้านผมคงปลอดภัย (หัวเราะ) หรืออาจเริ่มเสี่ยงหนักแล้วก็ได้ ตอนนั้นผมคงขายแล้วหนีขึ้นเหนือไปก่อนแล้วมั้ง (ยิ้ม) ถ้าถามว่าอยากให้ภาพปี 2050 เป็นอย่างไรเหรอ ผมตอบอย่างนี้ดีกว่า ในเรื่องของคน ผมไม่ค่อยอยากฝากความหวังมากนัก ผมไมได้หมายความว่าคนไทยไม่เก่งนะครับ เพียงแต่จุดแข็งของเราจริงๆ ไม่ใช่เรื่องป้องกันโลกร้อน หรือคิดนวัตกรรมอะไรขึ้นมาได้ คนไทยเราเก่งเรื่องการนำพาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ด้วยฝีมือ จุดนี้เราแข็งมาก (ยิ้ม)

        ดังนั้น ผมเลยอยากฝากความหวังไว้กับเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า ผมฝันเป็นอย่างยิ่งว่า พอถึงปีนั้น (2050) เทคโนโลยีต่างๆ ในโลก มันจะช่วยทำให้ประเทศไทยหนีพ้นจากภัยพิบัติบางส่วนได้ ผมใช้คำว่าบางส่วนนะ ซึ่งจะทำให้คนไทยยังพอมีคุณภาพมีชีวิตที่พออยู่ได้ แม้จะไม่เท่าในวันนี้ก็ตาม

        ที่พูดอย่างนี้เพราะ อย่างไรวันข้างหน้าก็คงแย่แน่นอน เราหนีภาพน้ำท่วม ฝนตกหนักไม่พ้นหรอก หรือโดนคลื่นความร้อนอยู่เป็นประจำแน่นอน ไม่มีทางทำให้คุณภาพชีวิตดีเท่าปัจจุบันนี้ ผมเลยมีความหวังกับพวกเทคโนโลยี มันอาจจะทำให้เราอยู่รอดได้ ไม่ต้องเจอกับภาพอนาคตอันน่ากลัว แต่สำหรับคนที่ยังพึ่งพาแต่ธรรมชาติ มันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ เราต้องเปลี่ยนมายด์เซตหรือวิธีคิด อะไรที่ติดมาจากคนรุ่นก่อน เช่น พ่อแม่ทำอย่างนี้ เราก็ต้องทำตาม สำหรับวันนี้มันไม่ใช่แล้ว ดังนั้น อะไรที่ไม่ใช่ จงเปลี่ยนซะ แล้วทำในสิ่งที่คิดว่าดีกว่า โดยเฉพาะทำแล้วโลกดีขึ้น วิถีชีวิตเราดีขึ้น ก็จงลงมือทำ

กลับมาที่การประชุม COP26 เพื่อเป็นการส่งท้ายการพูดคุย ถ้าให้คุณประเมินผลสอบสำหรับงานประชุมครั้งนี้ คุณจะให้เกรดเท่าไหร่

        ถ้าผมเป็นคนออกข้อสอบ ผมคงไม่ให้ F นั่นคือไม่สอบตก เนื่องจากงานนี้มีผู้นำประเทศมาเยอะ แล้งหลายคนรู้สึกมีความกระตือรือร้น แต่ครั้นจะให้เกรดเอก็คงไม่ได้ เพราะผมก็ยังมองเห็นปัญหาเรื่อง shot term อย่างที่บอกไป ส่วนเที่เรียกว่าเป็นคะแนนเอาหน้า ประเภทเขียนชื่อถูกต้อง หรือคะแนนเข้าห้องพร้อมเพรียง อันนี้ให้เต็ม แต่พอมาถึงในรายละเอียด พวกข้อสอบใหญ่ๆ ประเภทที่ต้องให้แสดงวิธีทำ พรรคพวกเล่นไม่ตอบกันเลย แถมที่สำคัญ เล่นลอกเพื่อนอีกต่างหาก (หัวเราะ) สรุปผมเลยให้เกรด C+ 

        C+ นี่คือดีกว่ากลางๆ ขึ้นมานิดนึง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี่ไม่ใช่สอบไฟนอล และยังไม่ใช่สอบกลางภาคเรียน นี่คือสอบเก็บคะแนน เป็นควิซใหญ่ แต่พวกการสอบเก็บคะแนนแบบนี้แหละสำคัญ เพราะขืนไปรอกลางภาคฯ ป่านนั้นโลกพังพินาศไปก่อนแล้ว ทำภาพในระยะสั้นๆ ให้เห็นผลชัดเจนขึ้นดีกวา ถึงเวลาไฟนอลในปี 2050 ทุกอย่างอาจจะดีขึ้นก็เป็นได้