คุณเชื่อไหมว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทุกๆ ครั้งที่ปุ่มชัตเตอร์ถูกกดลง เพราะภาพนั้นจะเป็นหลักฐานหรือสัญลักษณ์บางอย่าง สื่อสารถึงความเป็นไปของสิ่งที่ปรากฏ ทุกภาพจึงแฝงไปด้วยความคิดบางอย่างของผู้ถ่ายที่ต้องการสื่อสารออกไปแทนคำพูด เช่นเดียวกับผลงานภาพถ่ายและแนวคิดการทำงานของ ‘ทอม’ – ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ ผู้เชื่อในความงามของสรรพสิ่งและถ่ายทอดสิ่งนามธรรมเหล่านั้นผ่านภาพถ่ายแฟชั่น เพื่อจุดประสงค์เดียวนั่นคือสร้างการตระหนักรู้และความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ขุดค้นเบื้องหลังความงามในภาพถ่ายแฟชั่น ที่แฝงความหมายในประเด็นทางสังคม การเมือง วิกฤตการณ์ธรรมชาติ และความเจ็บป่วยเจียนตาย ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความงาม เมื่อนั้นเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลง
เหตุผลที่ทำให้คุณเริ่มจับกล้องถ่ายภาพคืออะไร
เมื่อก่อนเป็นคนพูดกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงคิดว่าการถ่ายภาพเป็นการสื่อสารความรู้สึกและความคิดของเราได้ดีที่สุด แต่เราก็ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะมา เพราะตอนเด็กๆ ถูกครูด่าว่าทำศิลปะไม่เป็น เพราะเราไม่ได้ทำตรงตามแบบที่ครูกำหนด ครูให้ระบายแม่สี แต่เราระบายสลับกัน ครูก็บอกว่าผิด ทำไมระบายห่วยแบบนี้ ทำไมไม่ดูตามแบบ เลยรู้สึกว่าทำไมศิลปะต้องมีรูปแบบตายตัวขนาดนั้นด้วย กลายเป็นคนต่อต้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก
แต่เหตุที่เริ่มจับกล้องถ่ายรูป คือช่วงที่เราเดินทางรอบโลกเราเป็นคนขี้กังวล กลัวเครื่องบินจะตกตลอดเวลา เลยหาวิธีขจัดความกลัว เริ่มทำอะไรหลายๆ อย่าง จากที่ไม่เคยอ่านหนังสือก็เริ่มอ่าน ไม่เคยเล่นเกมก็เล่น แต่ไม่มีอะไรขจัดความรู้สึกกลัวได้ จนกระทั่งมาจับกล้องแล้วเริ่มถ่ายภาพทางอากาศ เฮ้ย มันหายกลัวว่ะ แล้วเราเห็นความแตกต่างของคนและธรรมชาติในทุกๆ ที่ที่ได้เดินทางไป ตอนนั้นแหละที่รู้สึกว่าหน้าที่ของการเป็นช่างภาพได้เริ่มต้นอย่างเต็มที่แล้วในการบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละเหตุการณ์หรือความทรงจำที่ได้เจอ จากนั้นก็เริ่มถ่ายภาพมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้
ผลงานภาพถ่ายของคุณมีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งภาพบุคคล ภาพแฟชั่น และภาพเชิงสารคดี สไตล์ภาพที่ต่างกันต้องอาศัยมุมมองในแง่มุมใดเป็นพิเศษไหม
ภาพถ่ายคือการสื่อสารความรู้สึกหรือความคิดของแต่ละบุคคลทั้งตัวเราและแบบได้ดีที่สุด ในการทำงานเราจึงใช้ความรู้สึกมากกว่าเทคนิค เพราะว่าเราไม่เคยเรียนถ่ายภาพมาจากสถาบันใดๆ ทำให้ไม่เคยใส่ใจเรื่องเทคนิค แต่เราใส่ใจเรื่องคุณค่าและความงามมากกว่า พอกลับจากเดินทางรอบโลก ก็ยิ่งรู้สึกว่าภาพถ่ายเป็นอาวุธที่สามารถฆ่าคนให้ตาย หรือสามารถเอามาใช้ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นก็ได้ อยู่ที่ว่าเราจะเป็น Devil หรือ God เราจึงเลือกใช้ภาพถ่ายทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างหลายๆ โลก
หมายความว่าอย่างไร
เมื่อก่อนเราคิดเสมอว่า Changing the world one image at a time คือการเปลี่ยนแปลงโลกโดยใช้ภาพถ่าย แต่ตอนนี้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วงานและการทำงานของเรากำลังเชื่อมทุกๆ โลกเข้าด้วยกันมากกว่า เหมือน Build bridges not walls คือสร้างสะพานไม่สร้างกำแพง สะพานที่จะเชื่อมระหว่างโลกแฟชั่นและศิลปะเข้ากับประเด็นสังคม
แล้วประเด็นอะไรบ้างที่คุณมักจะหยิบจับขึ้นมานำเสนอผ่านภาพถ่ายที่คุณถนัด
เรื่องการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นโลกของการสำรวจธรรมชาติ คนส่วนมากไม่ค่อยรู้ว่าเราทำงานอนุรักษ์ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว มันเริ่มต้นจากภาพถ่ายทางอากาศ เราใช้ภาพถ่ายทางอากาศสำรวจประชากรพะยูน ซึ่งตอนนั้นเทคนิคนี้ในไทยและหลายๆ ประเทศยังไม่มีมาตรฐานเท่าไร เราเป็นกลุ่มคนที่ช่วยพัฒนาขึ้นมา พอทำสำเร็จ ก็ขยายไปสู่โครงการอื่นๆ เช่น สำรวจวาฬ เต่าทะเล โลมาอิรวดี เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ เราคิดว่าการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีคนเริ่มและผู้ตาม ถึงจะเกิดโมเมนตัม แรงสั่นสะเทือน หรือกระแสบางอย่าง ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ คิดแบบนี้เสมอ เลยมีงานใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา เช่น การฟื้นฟูชะนีและปล่อยคืนสู่ป่า
ปัญหาชะนีในไทยค่อนข้างซีเรียส คนไทยรักสัตว์ แต่รักในทางที่ผิด อย่างในสวนสัตว์ที่มีให้ถ่ายรูปคู่กับลูกชะนี รู้ไหมว่าต้องฆ่าแม่มันก่อนถึงจะได้ลูกมา ดังนั้น รูปถ่ายกับชะนี คือรูปความตายของแม่มันทั้งหมด การสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้จึงต้องสร้างตั้งแต่เด็ก ภาพถ่ายเซตนั้นเลยทำงานกับเด็กอายุ 14 ปี สอนให้เขาถ่ายรูปแฟชั่น เราใช้ตุ๊กตาเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกของชะนีและโลกของเด็กในเรื่องการอนุรักษ์ ยิ่งทำงานกับสัตว์ป่า ยิ่งทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างมีคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
หรือ S H U T D O W N ก็เป็นภาพถ่ายเซตแรกที่เราเอาแฟชั่นมารวมกับประเด็นสังคมซึ่งพูดถึงเรื่องการเมือง ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์ปิดเมือง Shutdown กรุงเทพฯ ปกติไม่ว่าเราจะโลดโผนขนาดไหน โดดบันจี้จัมพ์ โดดร่ม ที่บ้านไม่เคยห้าม แต่เขาขออยู่สองข้อคือห้ามขี่มอเตอร์ไซค์กับห้ามเข้าไปยุ่งเรื่องการเมือง เพราะเขากลัวว่าระหว่างเราไปถ่ายรูปแล้วจะเกิดเหตุจลาจล แต่จะให้อยู่บ้านเฉยๆ ก็รู้สึกอึดอัด แล้วตอนนั้นได้เห็นภาพข่าวจากโซเชียลฯ เลยตัดสินใจนำภาพข่าวที่เกิดขึ้นมารีเมกใหม่ให้เป็นภาพแฟชั่น เช่น ทหารอุ้มผู้ชุมนุมออกจากกลุ่มแก๊สน้ำตาตรงสะพานผ่านฟ้า ก็รีเมกเป็นทหารอุ้มนางแบบออกมาแทน ซึ่งเป็นงานทดลอง แต่พอเอาไปเสนอนิตยสารต่างๆ ก็ไม่มีใครเล่นด้วย จะเอาแฟชั่นไปรวมกับการเมือง ศาสนา ประเด็นสังคมไม่ได้ แฟชั่นควรอยู่กับแฟชั่นเท่านั้น แต่เราบอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะแฟชั่นคือสื่อที่ทรงพลังที่สุดสื่อหนึ่ง เป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมและสื่อสารทุกคนให้เข้าหากันได้
ดังนั้น เมื่อทุกภาพเผยแพร่ออกไปแล้ว มีคนให้ความสนใจ และมันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จริง เราไม่ได้ต้องการให้คนมาสนใจตัวเรา ให้สนใจที่ตัวงานแล้วเขารู้ถึงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปมากกว่า
ในการสร้างสรรค์งานคุณหาจุดกึ่งกลางหรือสมดุลระหว่างประเด็นสังคมอย่างการเมืองหรือการอนุรักษ์กับแฟชั่นได้อย่างไร
เราจะเอาความรู้สึกของตัวเองขึ้นมาก่อนเสมอว่าประเด็นสังคมนั้นเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับเราตรงไหน เพราะหลายคนชอบถามว่าได้แรงบันดาลใจมาจากไหน คิดงานได้ยังไง จริงๆ มันเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะมันคือเรื่องส่วนตัวที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน อย่างถ้าจะพูดถึงเรื่องความงาม ทุกสิ่งมีความงามเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นซากปรักหักพัง ก็มีความงามของมันอยู่ ดังนั้น จุดกึ่งกลางมันไม่มีหรอก มันเป็นเพียงการหยิบยืมความงามจากประเด็นต่างๆ ให้มาอยู่รวมกันในภาพ หลายคนเรียกเราว่าศิลปินร่วมสมัย แต่เราไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน คิดเพียงว่าเรามีความรู้สึกแบบนี้ แล้วอยากจะสื่อสารกับคนอื่นๆ เท่านั้นเอง คนถึงชอบพูดว่าผลงานของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็รู้สึกดีใจที่คนอื่นเห็นว่าเป็นงานที่เราตั้งใจทำจริงๆ ทำให้เราสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายใหม่ๆ ขึ้นมาอีก
อย่าง Anatomy101 เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ตรง เราเกิดมาพร้อมไต 3 อัน คนปกติมีแค่ 2 อัน ช่วงวัยรุ่นเราใช้ชีวิตสุดกู่ จนไตที่เกินมาเสื่อมและบวม ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ได้ ต้องกินยาฆ่าเชื้อ รู้สึกหงุดหงิดมาก แล้วอาการบวมก็รุนแรงมากขึ้นถึงขั้นไปกดกระดูกสันหลังจนเบี้ยว ฉิบหายเลย ก็ไปหาหมอโรงพยาบาลเอกชนเพื่อผ่าตัด ค่าใช้จ่ายประมาณ 9 แสนบาท แต่ตอนนั้นความคิดการทำงานเพื่อสังคมยังมีอยู่ เราจะผ่าเลยก็ได้ ราคานี้เราได้ความสบายแต่มันเป็นความสบายเพียงไม่กี่วัน เลยเปลี่ยนไปรักษาโรงพยาบาลรัฐบาลแทน ซึ่งเหลือค่าใช้จ่ายแค่ 1 แสนบาท แล้วตั้งใจนำเงินส่วนต่างไปทำการกุศล พอเปลี่ยนโรงพยาบาลเราได้เห็นชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ โดยเฉพาะคนที่ต้องการการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ระหว่างรอคิวตรวจได้คุยกับป้าคนหนึ่งที่รอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมา 4 ปี ป้าบอกว่าทุกวันนี้เขาเหมือนศพที่เดินได้ มันคือตัวเราเลย ตอนที่ลุกไปไหนไม่ได้เพราะกระดูกสันหลังเบี้ยว มันทรมานมาก รู้สึกแย่ที่สุด ความทรงจำต่างๆ หวนกลับมาเยอะมาก
พอเราเห็นความต้องการของคนอื่นที่มากกว่าเรามาก ระหว่างรอคิวผ่าตัด 2 เดือน ก็คุยกับคุณหมอว่าเมื่อผ่าตัดเสร็จเราอยากนำเงินส่วนต่างมาทำบุญกับโรงพยาบาลแต่เราไม่ทำด้วยเงิน จะทำบุญด้วยภาพถ่ายเพราะเป็นสิ่งที่เราถนัด เพื่อพูดถึงการบริจาคอวัยวะ โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่าแคมเปญในโรงพยาบาลค่อนข้างซ้ำซาก ทำให้คนรุ่นใหม่มองผ่าน ไม่สนใจ แล้วก็คิดว่าคนเราไปบริจาคโลงศพเพื่ออะไรกัน ดูเป็นการทำบุญที่เสียเปล่า เลยคิดว่าการทำบุญด้วยการบริจาคอวัยวะดีที่สุดแล้ว เพราะในคนหนึ่งคน อวัยวะหลักช่วยคนได้ 7 คน แต่ถ้าแยกส่วนช่วยได้มากถึง 54 คน ซึ่งเยอะมาก
เราก็เลยตัดสินใจเอาแฟชั่นมารวมกับเรื่องการบริจาคอวัยวะ คุณหมอก็โอเค ติดอย่างเดียวคือที่บ้าน เราบอกแม่ว่าการผ่าตัดครั้งนี้ทำให้เราอยากบริจาคอวัยวะเมื่อตาย แม่ก็ไม่เข้าใจ ยิ่งทำให้อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ทำให้คนอื่นเข้าใจอย่างที่เราเข้าใจ ก็ถ่ายภาพเซตนี้ขึ้นมา ใช้เวลาทำประมาณปีครึ่ง พอเสร็จก็มีคำถามว่าจะนำไปแสดงที่ไหน ในเมื่องานเซตนี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลก็ต้องจัดแสดงที่โรงพยาบาล บริเวณนิทรรศการคนที่มาดูจะเห็นภาพตัดระหว่างภาพถ่ายและผู้ป่วยจริงๆ เพราะเราวางภาพให้มีช่องว่างมองไปเห็นผู้ป่วยที่นั่งรอการรักษา ระหว่างเดินดูจะเห็นความสวยงามตัดสลับกับความจริงที่เจ็บปวดจนเกิดความรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เราจึงทดลองโดยตั้งโต๊ะรับบริจากอวัยวะไว้ส่วนท้ายสุดของนิทรรศการ ปรากฏว่าการจัดแสดงภาพถ่ายเซตนี้ทำให้มีผู้บริจาคอวัยวะ 500 กว่าคน ในเวลาเพียง 8 วัน
แล้วความงามล่ะ ในมุมมองของคุณดูเหมือนคุณจะเชื่อมั่นว่าความงามคือคุณค่าเฉพาะตัว
ทุกอย่างมีความงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดขนาดไหน หรือของที่เราไม่เห็นคุณค่าขนาดไหน ของทุกชิ้นมีหน้าที่ของมัน จึงเป็นเหตุผลที่มันมีตัวตนและดำรงอยู่ ในการเป็นช่างภาพของเราที่บอกว่าถ่ายได้หลายรูปแบบ ทั้งแฟชั่น พอร์เทรต และสารคดี เพราะเราเห็นและใส่ใจเรื่องคุณค่าและความงามมากกว่าในสิ่งนั้น แน่นอนว่าความงามขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เหมือนคำกล่าวที่ว่า Beauty is in the eye of beholder. ความงามของแต่ละคนขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อย่างเช่น ขี้หมาหนึ่งก้อนก็มีความงามของมันอยู่ พื้นผิว สี หรือกลิ่น ทั้งหมดคือความงามเฉพาะแบบ แต่ที่เราไปตัดสินว่าสิ่งนี้ไม่งาม มันเหม็น เพราะเราตีกรอบและจัดกลุ่มให้กับทุกๆ อย่าง ทั้งๆ ที่มันก็มีเหตุผลของการมีอยู่บนโลกนี้
ดังนั้น ความงามคือคุณค่าเฉพาะตัวของแต่ละคน ไม่ว่าคนอื่นจะมองเราในแบบไหน แต่ท้ายที่สุดอยู่ที่ตัวเราว่าเราให้คุณค่ากับตัวเองแบบไหน ซึ่งตรงนี้คือปัญหาของสังคมไทย ทุกอย่างเหยียดได้หมด เตี้ย ดำ สูง อ้วน ผอม กลายเป็นว่าไม่มีอะไรดีสักอย่าง ทั้งที่ทุกอย่างคือความงามเฉพาะตัว เราจึงไม่เคยเห็นใครคุยกันว่าคุณเพอร์เฟ็กต์จัง ถ้าไม่ใช่คนจีบกันใหม่ๆ นะ (หัวเราะ) ความงามจึงขึ้นอยู่กับความรู้สึกของตัวเอง ทุกสิ่งมีความงามแต่ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็น
แสดงว่าความงามไม่เป็นสากล เพราะขึ้นอยู่กับความรู้สึกพอใจ พอใจกับสิ่งไหนก็เห็นความงามกับสิ่งนั้น ถ้าไม่พอใจก็จะไม่เห็น
จะพูดแบบนั้นก็ได้นะ
ในเมื่อภาพถ่ายคือการทำเครื่องหมายอย่างหนึ่ง ทุกอย่างต้องถูกตีความเป็นสัญลักษณ์ เช่น ดอกไม้อาจหมายถึงผู้หญิง น้ำตาอาจหมายถึงความเศร้า แต่สำหรับ LGBT สัญลักษณ์อะไรที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความงามหรือหลากหลาย ใช่ธงรุ้งหรือเปล่า
ธงรุ้งนี่แหละเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว เราคิดว่าทุกคนเข้าใจความหมายตรงกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกชอบ ยุคนี้เป็นยุคที่คนได้รับข้อมูลมากขึ้นในเรื่องความหลากหลายของเพศสภาพ ดังนั้น ในการสร้างสรรค์งาน เราจึงไม่ใช้สัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นเรื่องของ LGBT โดยตรง เพราะจริงๆ มันเป็นเรื่องของปัจเจก หรือความเป็นคนในแต่ละคน ซึ่งเราให้ความสำคัญตรงนี้มากกว่า อย่างคำว่า กะเทย ก็เป็นได้ทั้งคำพูดเชิงเหยียด หรือเฟรนด์ลีก็ได้ สำหรับคนรู้จัก เวลากะเทยเจอกันจะทักว่า กะเทย ก็เหมือนคำว่า Nigga
ดังนั้น เรื่องสัญลักษณ์เราจึงต้องรู้จักเลือกใช้อย่างถูกกาลเทศะ ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออก เราเองก็ต้องเลือกที่จะแสดงออกอย่างเหมาะสม อย่างในบาร์เกย์เราสนุกได้เต็มที่ ก็ถูกต้องแล้วเพราะนั่นเป็นพื้นที่ที่เราสนุกได้ ต้องดูว่าเราอยู่ในพื้นที่ไหน ทำงานบนสื่อรูปแบบไหน ทำงานเรื่องอะไร ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องเลือกใช้ เลือกแสดงออก เลือกสื่อสารอย่างถูกที่ถูกทาง ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไปเสมอ
ส่วนประเด็น LGBT เคยคิดไว้นานแล้วว่าจะทำเซตภาพเหมือนกัน เราไม่ได้มองว่า LGBT เป็นกระแสนะ เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ปกติทั่วไป ซึ่งมีมาแต่โบราณ เห็นได้จากภาพวาดต่างๆ เพียงแต่ไม่เคยถูกบรรจุในวัฒนธรรมหลักที่ทุกคนยอมรับได้เท่านั้นเอง จริงๆ LGBT คือความเป็นคนที่มีความหลากหลายมาก เราไม่สามารถบอกได้ว่าโลกนี้แค่มีจู๋เป็นผู้ชายและมีจิ๋มเป็นผู้หญิง
เราจะบอกกับทุกคนเสมอว่าทุกอย่างควรจะลองสักครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจว่าชอบหรือไม่ชอบ เราต้องสร้างประสบการณ์บางอย่างจะได้รู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแค่ไปอ่านมาฟังมาแล้วรู้สึกตามนั้น เพราะถ้าได้ลองจริงๆ เราจะบอกคนอื่นได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ทำหรือไม่ทำเพราะอะไร ดังนั้น ในการทำงานของเรา ทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ในงานล้วนมีเหตุผลรองรับทั้งนั้น
สำหรับคุณ ณ วันนี้หน้าที่ของการเป็นช่างภาพคืออะไร แล้วงานของคุณตอกย้ำนิยามนี้ให้ชัดเจนขึ้นหรือเปล่า
งานภาพถ่ายของเราถ้าดูแบบฉาบฉวยหรือดูผ่านๆ อาจรู้สึกว่ารุนแรง แต่ถ้าดูลงรายละเอียดจะพบสัญลักษณ์ที่เราต้องการสื่อสารจริงๆ ทุกครั้งที่เราทำงาน ไม่ว่าจะภาพถ่ายเกี่ยวกับแฟชั่น การอนุรักษ์ หรือประเด็นสังคม เราค่อนข้างค้นคว้าเยอะมาก เพราะเราให้ความสนใจว่ามันมีที่มาอย่างไร ปัญหาคืออะไร เราสามารถทำอะไรได้ และความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออะไร เราจะไม่บอกว่าให้ทุกคนแก้ปัญหาอย่างไร เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวที่ทุกคนต้องจัดการกับตัวเอง เขาควรจะต้องนึกรู้ด้วยตัวเองว่าจะต้องทำอะไร ไม่ใช่หน้าที่เราที่ต้องเป็นคนไปบอก
เหตุการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือตอนเราไปพักผ่อนที่ภูเก็ต ปรากฏว่าพบวาฬตายกลางอ่าวไทย ซึ่งมันอาจเป็นตัวเดียวกับเราที่เคยถ่ายภาพทางอากาศ ตอนนั้นคิดไปว่าถ้าภาพข่าววาฬตายอยู่ในสังคมออนไลน์ คนส่วนใหญ่ก็จะแห่คอมเมนต์สงสาร ซึ่งไม่ได้ผิดนะ แต่จะไม่มีใครลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเลยหรอ เราไม่ชอบเรื่องแบบนี้ จะปล่อยผ่านก็ไม่ได้ รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เลยตัดสินใจถ่ายภาพแฟชั่นกับซากวาฬกลางอ่าวไทย พอทุกคนรู้ก็หาว่าบ้า ตอนติดต่อกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราถูกตั้งคำถามว่าทำไปทำไม เพราะเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการตระหนักรู้ ยังมีคนไทยจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอ่าวไทยมีวาฬ นี่คือโอกาสที่เราทำได้ พอได้รับอนุญาต เราขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ เยอะมาก แม้กระทั่งคนขับแท็กซี่ก็ยังมาช่วยขนไฟ ถือแฟลชให้ เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เรากำลังจะทำ
แต่ขณะทำงาน ก็มีสื่ออื่นๆ มาถ่ายรูปไป แล้วผาดหัวข่าวว่า ช่างภาพสุดเพี้ยน นำนางแบบฝรั่งมาถ่ายกับซากวาฬ ชาวเน็ตก็วิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ไม่มีใครสนใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร และเราก็ไม่ได้สนใจด้วยเพราะเราทำงานอยู่ เรารู้ดีว่าในขั้นตอนการทำงาน ผ่านกระบวนการคิดมาค่อนข้างเยอะ ผ่านประสบการณ์ที่เรามี ผ่านการเห็นความงามที่มีอยู่ในทุกๆ องค์ประกอบของงาน ดังนั้นการที่เขารู้สึกไม่ชอบ ไม่พอใจจึงไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะเราผ่านการทำความเข้าใจกับทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เมื่อเราทำงานร่วมกัน สนุกกับงาน แล้วงานออกมาตรงตามที่คิดและวางแผนกันไว้ก็จบ เราทำหน้าที่ของเราในฐานะช่างภาพเสร็จแล้ว ที่เหลือคือปัญหาของผู้เสพที่ต้องไปจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เพราะเราไม่สามารถบอกให้ทุกคนรู้ว่าเราถ่ายซากวาฬแล้วเธอเห็นแล้วต้องเป็นนักอนุรักษ์นะ มันไม่ใช่แบบนั้น มันต้องเกิดจากความรู้สึกข้างในของตัวเอง
การทำงานของคุณจึงมีความซับซ้อนมากกว่ากดชัตเตอร์แล้วเป็นอันจบไป เพราะมันคือผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบบางอย่างได้ โดยเฉพาะประเด็นสังคมซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ขึ้นชื่อว่าการทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ก็ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ล่อแหลม และเสี่ยงตลอดเวลาอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ทำงานร่วมกับสามคำนี้ได้ อย่าทำงานประเด็นสังคมเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมาแล้ว ยังเป็นการทำลายองค์กรหรือบุคคลที่จะไปทำงานด้วย ดังนั้น เราจึงรู้สึกเฉยๆ มากกับคอมเมนต์ที่บอกว่าเพี้ยน บ้า หรือปัญญาอ่อน แล้วทุกครั้งที่งานของเราเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม เราไม่เคยสนใจว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม แต่เราจะให้ความสำคัญว่างานของเราจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง แล้วพวกเขาจะรับแรงกดดันเหล่านี้ได้หรือเปล่า ตรงนี้คือประเด็นที่สำคัญมาก เพราะถ้าทำงานออกมาแล้วเป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ หมายความว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ แล้วเราจะรู้สึกไม่ดีมากๆ
จากงานและการทำงานสื่อให้เห็นว่าคุณไม่ใช่แค่ช่างภาพ แต่เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานภาพถ่ายมากกว่า สุดท้ายแล้วคุณนิยามตัวเองว่าอะไร
เราเคยไปอยู่เชียงใหม่ 6 ปี เราได้รู้จักศิลปินเชียงใหม่เท่ๆ ทำให้เริ่มทำงานศิลปะมากขึ้น เรารู้ว่าคำว่า ศิลปิน ช่างภาพ สำหรับเราคืออะไร เรารู้ตัวเองว่าอยากจะทำอะไร อยากใช้ชีวิตอย่างไร เราเริ่มมีความสุขกับตรงนั้นมาก เอาจริงๆ เราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยนะ ก็เรียกพี่ทอมแบบนี้แหละ (หัวเราะ) ไม่เคยคิดจริงจังกับนิยามของตัวเอง
แต่ถ้าเป็นตัวตนของเรา เราเพิ่งมารู้ตัวว่าชอบผู้ชายตอนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ก็คบผู้หญิงมาตลอด จริงๆ เรามีความเป็นกะเทยตั้งแต่เด็กแล้วแหละ แต่เราแค่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร พ่อแม่หลายคนก็คงรู้ดีว่าลูกตัวเองเป็นอะไร แต่คิดเองว่าคงไม่ใช่ ซึ่งบ้านเราเป็นแบบนี้ มีอยู่วันหนึ่งแม่เรียกไปหาแล้วถามว่า ทำไมช่วงนี้ไม่เห็นพาผู้หญิงเข้าบ้านเลย ก็ตอบว่าช่วงนี้ไม่ได้คบใคร เบื่อๆ แม่เลยถามว่าชอบผู้ชายหรอ เราก็ตอบว่าเปล่า (เสียงสูง) แต่เราไม่รู้จะพูดอะไรต่อ เลยสารภาพไป จำได้ว่าแม่โกรธมาก ไม่ยอมคุยด้วย หลังจากนั้นเราเขียนการ์ดให้แม่ว่าไม่เห็นจะต้องโกรธเลย ไม่ว่าจะยังไงเราก็เป็นคนดีของแม่ ไม่เคยทำเรื่องเสื่อมเสีย สร้างแต่ชื่อเสียงให้ครอบครัว แม่ก็หายโกรธแล้วเฉลยว่า ที่รู้ว่าเราเป็นเพราะไปดูหมอมา โว้ย (หัวเราะ)
เลยอยากฝากถึงพ่อแม่ทุกคนว่า ลูกทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร มันเป็นแค่เรื่องความแตกต่างทางเพศสภาพและความต้องการทางเพศเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความงามเฉพาะตัวบุคคล และเราต้องยอมรับให้ได้ อยากให้ทุกคนมองคุณค่าที่ตัวบุคคลมากกว่าเรื่องบนเตียงของเขา
ขอขอบคุณภาพถ่ายโดย Tom Potisit