ล้อการเมือง ธรรมศาสตร์ | เสียงจากคนรุ่นใหม่ถึงทุกคนโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่กลัวหุ่นกระดาษและป้ายผ้าเขียนสี

‘ล้อ’ หมุนวนเป็นวงกลมหวนคืนกลับ… ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ขบวนล้อการเมืองไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ถูกอำนาจไม่ชอบธรรมภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเข้าควบคุมและริดรอนสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษาในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ที่สื่อสารผ่านหุ่นกระดาษและป้ายผ้าด้วยความตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมาหวังให้สะท้อนปัญหาสังคมในประเทศที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ต่อสาธารณะชน

‘การ’ งานปรับตามแต่คนหวังทางใหม่… ‘ปอปอ’ – พิพิธพงศ์ คำนนท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 รองประธานและโฆษก กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73 คือหนึ่งในหลายๆ คนที่เชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ พร้อมทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาไปยังทุกคนอีกครั้ง

‘เมือง’ สังคมประชาชนร้อนรนใจ… ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข เพราะผู้ใหญ่บางคนไม่สนใจใครนอกจากผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของตน ประชาชนจึงถูกปล่อยให้ประสบปัญหานั้นต่อไป คุณภาพชีวิตที่ดีไม่เคยมีอยู่ในเวลานี้

‘ไทย’ มีใครที่กำชัยไม่ชอบธรรม… จะมีอำนาจใดกันที่เกรงกลัวต่อหุ่นกระดาษและป้ายผ้าถึงเพียงนี้ ไม่มีอีกแล้ว และทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ ที่พวกเขาอยากส่งไปให้ถึงทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่บางคนที่รู้สึกอ่อนแอทุกครั้งเมื่อเห็นเด็กๆ ล้อการเมืองไทย

 

ล้อการเมือง

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ผมเห็นขบวนล้อการเมืองครั้งแรกตอน ม. 4 แล้วรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่แฟร์สำหรับนักศึกษา เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็น ผมสนใจคอนเซ็ปต์นี้มาก เลยเลือกเข้าธรรมศาสตร์ และมาทำล้อการเมืองตั้งแต่ปีหนึ่ง พอเข้ามาทำจริงๆ ก็ได้ทั้งเพื่อนใหม่ และพื้นที่ให้พูดคุยกัน เพราะล้อการเมืองไม่ได้แค่ทำหุ่น แต่เราสร้างพื้นที่เพื่อให้ทุกคนได้มาพบปะ พูดคุย แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และทัศนคติ

 

แสดงว่าล้อการเมืองเป็นพื้นที่เปิดกว้างและเปิดโอกาสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สังคม

     ล้อ คือ การสะท้อนประเด็นปัญหาในสังคมที่พวกเรานักศึกษาพบเห็นและพบเจอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นการเมืองเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วทุกเรื่องล้วนโยงใยกัน คำว่าการเมืองในนิยามของล้อการเมืองคือตลกร้าย ประเด็นปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชีวิต สภาพสังคมในปัจจุบันล้วนเกี่ยวข้องกับการดูแลของรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด เราจึงพยายามสะท้อนภาพรวมทั้งหมดว่ารัฐทำงานดีหรือเปล่า รัฐถูกตรวจสอบโดยใครได้บ้าง เราทำหน้าที่เป็นพื้นที่หนึ่งในการจุดประกายการตรวจสอบนั้น จุดประสงค์หลักของการล้อจึงเท่ากับการได้สะท้อนปัญหานั้นให้สังคมได้รู้

     ส่วนจุดประสงค์ข้อสองคือเมื่อล้อแล้ว เราต้องการให้ประเด็นสังคมที่สื่อออกไปผ่านภาพ หุ่น และป้ายผ้า ชวนให้ประชาชนสงสัย ตระหนัก และเอะใจว่ามีปัญหานี้อยู่ในสังคม ในประเทศ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่หลายคนยังไม่รู้ หรือรู้แล้วแต่ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ ล้อจึงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสังคมได้ถกเถียงกันอีกครั้ง นี่คือหัวใจสำคัญของล้อการเมือง

 

ส่วนการสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมล่ะ ล้อการเมืองมีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้

     เป็นคำถามที่ตอบยากครับ อย่างที่ผมบอก ล้อการเมืองเป็นการจุดประเด็นมากกว่า เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เราหวังให้เกิดการขยายไปสู่การกระทำ ล้อการเมืองจึงเป็นเหมือนคลื่นที่ส่งต่อแรงกระเพื่อมของน้ำออกไป ซึ่งตอบได้ยากว่าคลื่นนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน หรือไปกระทบกับใครบ้าง ดังนั้น ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขปัญหาในสังคมจึงเป็นเรื่องปลายทางที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเรามาก ลำพังล้อการเมืองอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่ในฐานะคนที่เริ่มต้นจุดประเด็น เราก็หวังให้ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาที่เราสะท้อน แล้วลงมือแก้ไขหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อไป

 

ล้องการเมือง

 

ล้อการเมืองเป็นกลุ่มอิสระ นอกจากเป็นพื้นที่เปิดกว้างแล้ว อิสระในที่นี่หมายความว่าอย่างไร

     ล้อการเมืองมีอิสระในการทำคอนเทนต์ โดยมีสมาคมศิษย์เก่าฯ ซึ่งเป็นแม่งาน รวมถึงทางมหาวิทยาลัยก็ให้อิสระเต็มที่ สนับสนุนทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนเนื้อหาก็มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเยียนเราตลอด ล่าสุดมีคนมายืนดูสามชั่วโมง น่าจะเป็นทหารเพราะใส่กางเกงลายพรางและหัวเกรียน มีแวะเวียนมาถ่ายรูปบ้าง เขาบอกว่ามาคอยรักษาความปลอดภัยให้ มีเข้ามาพูดคุยต่อรองด้วยว่าไม่ล้อประเด็นนี้ได้ไหม การกระทำแบบนี้เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับนักศึกษา เราถือว่าเป็นการพยายามข่มขู่ แต่เรามั่นคงในจุดยืนของล้อการเมืองว่าเป็นความเห็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนจากเสียงของนักศึกษาฝ่ายประชาธิปไตย

     และเมื่อล้อการเมืองเป็นการสะท้อนปัญหา ดังนั้นต้องมีขัดใจผู้มีอำนาจแน่นอน เพราะอาจทำให้ภาพลักษณ์เขาดูแย่ แต่สิ่งที่เราทำไม่ผิดกฎหมาย เราเซนเซอร์ตัวเองโดยการทำให้ไม่ผิดกฎหมาย ส่วนผลลัพธ์เมื่อออกมาแล้วจะดูรุนแรงไหม มันขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนหรือใครเป็นคนมอง แต่เรามั่นใจว่าสิ่งที่ล้อการเมืองทำ เป็นสิ่งที่เรามีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทุกประการ

     อีกอย่างหนึ่งคือล้อการเมืองเป็นพื้นที่ของนักศึกษาหลากหลายกลุ่ม ที่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่รุนแรงหรือส่อเสียด แต่ทุกคนแค่อยากมาช่วยกันสะท้อนปัญหา เราจึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาทุกคน เรามั่นใจว่าล้อการเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษา เป็นพื้นที่รวมคนที่มีความสนใจทุกประเภท หลากหลายศาสตร์มาคุยกัน ก็สนุกไปอีกแบบ มีตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวมากๆ อย่างความรัก ไปจนถึงประเด็นความเป็นไปของประเทศและโลกตอนนี้ นี่คือเสน่ห์ของล้อการเมือง เป็นพื้นที่ของทุกคน

 

กระบวนการสร้างหุ่น การตกตะกอนความคิด เริ่มต้นจากอะไรกว่าจะสำเร็จเป็นหุ่นหนึ่งตัว

     ปกติงานบอลฯ จะจัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี กว่าจะเป็นหุ่นหนึ่งตัวเราเริ่มจากระดมความคิดประเด็นปัญหา ลิสต์ออกมาเลยว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่น่าสนใจแล้วพวกเราอยากจะสื่อออกไป พองานบอลฯ จบลง เราก็จะเริ่มรวมประเด็นตั้งแต่ตอนนั้นมาเรื่อยๆ แล้วพอขึ้นปีใหม่ ใกล้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ เราจะเปิดรับแบบสอบถาม ให้ทุกคนที่สนใจเสนอประเด็นปัญหาสะท้อนกับเราได้ จากนั้นก็มาร่วมกันตกตะกอนหาประเด็นที่น่าสนใจ พอได้ประเด็น ฝ่ายช่าง ฝ่ายศิลป์ ก็จะนำไปคิดต่อถึงวิธีการสร้างหุ่น ออกแบบการสร้างให้กลายเป็นหุ่นจริงๆ ซึ่งเราจะเริ่มทำหุ่นส่วนหนึ่งไปก่อน และเหลือหุ่นไว้จำนวนหนึ่งให้คนใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาร่วมทำล้อการเมืองได้คิดร่วมกันด้วย ทุกคนจึงมีส่วนร่วมล้อการเมืองเต็มที่จริงๆ

 

ในฐานะรองประธานและโฆษก อะไรคือความท้าทายสำหรับคุณเมื่อต้องรับผิดชอบหน้าที่ตรงนี้

     ด้วยความที่ผมตั้งใจมาทำล้อการเมืองตั้งแต่สอบเข้าธรรมศาตร์แล้ว จึงเป็นความภูมิใจมากกว่า แต่แน่นอนงานมันเหนื่อยอยู่แล้ว เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบสูง มีเครียดบ้าง แต่เมื่องานดำเนินไปตามแผนที่วางไว้เป็นขั้นตอน เราเห็นความก้าวหน้าของงานก็เบาใจ แล้วถ้ายิ่งเห็นเวลาทุกคนพูดคุยกันสนุกสนานก็จะรู้สึกดีมากๆ เพราะหน้าที่ของคณะทำงานเป็นงานเชิงระบบมากกว่า แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ล้อการเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักศึกษา ความท้าทายของงานนี้จึงเป็นเรื่องที่เราต้องปกป้องทุกคน

 

หลายปีที่ผ่านมา ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ล้อการเมืองถูกกดดันและถูกเซนเซอร์ระดับรุนแรง มีการสั่งห้ามไม่ให้แสดงหุ่นและป้ายผ้าในวันงาน ในฐานะคนทำงานที่ทุ่มเทเต็มที่ คุณรู้สึกอย่างไรกับการกระทำจากอำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้

     เป็นเรื่องน่าสิ้นหวังมาก เพราะเท่ากับว่าปัญหาถูกฝังกลบไว้ใต้พรมเหมือนเดิม จริงๆ ล้อการเมืองไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการโดนเซนเซอร์ เพราะเรามั่นใจว่าเรามีกึ๋นมากพอที่จะสะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างแยบคาย แต่บังเอิญไปทำให้ผู้ใหญ่บางกลุ่มรู้สึกกังวลใจเป็นพิเศษ รู้สึกไม่ยุติธรรมว่าในฐานะประชาชน เราไม่มีสิทธิ์พูดปัญหาของประเทศออกมาเลยเหรอ ผมคิดว่าเขาห่วงภาพลักษณ์ของเขามากกว่าประเทศชาติ มันจึงเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจมากกว่าการที่พวกเราเอาปัญหาออกมาเผยแพร่เสียอีก

 

ผู้ใหญ่ในระบบปกครองของรัฐบาลทหารย่อมไม่เห็นด้วยกับการแสดงผ่านการล้อการเมือง แต่ผู้ใหญ่ที่ใกล้ตัวคุณ โดยเฉพาะคนในครอบครัวมีมุมมองอย่างไรต่อสิ่งที่คุณทำ

     ก่อนมาทำล้อการเมือง ผมได้คุยกับคนในครอบครัวก่อน พ่อแม่รับฟังเหตุผลของผม เรามองเห็นปัญหาและสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ท่านคิดว่าอย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผมทำสามารถขับเคลื่อนสังคม และจุดประกายให้คนในสังคมตระหนักได้ นี่คือสิ่งที่ผมบอกกับพ่อแม่ ท่านก็เข้าใจ และไม่เคยห้าม เพราะสิ่งที่ผมทำอยู่ในขอบเขตและกฎเกณฑ์ของกฎหมาย

 

ล้อการเมือง

 

เคยรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่ทำอยู่หรือต่อสู้อยู่ไหม

     มนุษย์มีความกลัวขับเคลื่อนชีวิต และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เราไม่หยุดทำ เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเดินหน้าสักที อย่างน้อยก็มีประโยชน์กว่าอยู่เฉยๆ ทุกวันนี้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมรักและเต็มที่กับมัน แค่นี้ผมก็ภูมิใจในตัวเองแล้ว และผมก็คิดว่าทุกคนที่มาทำล้อการเมืองก็ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำเหมือนกัน ผมเชื่อว่าเด็กธรรมศาสตร์หลายคนอยากให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

จริงๆ มันขึ้นอยู่ว่าความกลัวนั้นนิยามหรือทำให้เกิดขึ้นโดยใคร เพราะถ้าสิ่งที่ทำอยู่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัวใครหรือสิ่งใด แล้วคุณเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ขนาดไหน

     ผมเชื่อว่าทุกคนมีความคิด และทุกคนคิดได้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ประชาชนต้องเป็นคนกำหนดทิศทางของประเทศ ถ้าไม่ใช่ประชาชนจะเป็นใครล่ะ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในประชาชนของประเทศ มันก็จะวนกลับมาสู่วงจรอุบาทว์เช่นเดิม คือจะมีคนที่อ้างตัวว่าเป็นคนดี คนเก่ง พยายามอาศัยจังหวะนี้เข้ามาดูแลประเทศ ผมอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในประชาชนคนไทย

 

หลายๆ ครั้ง เรามักจะเห็นว่าปัญหาที่เป็นอยู่ในสังคมส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของคนที่ต่างอายุและความคิด ในสายตาของคนรุ่นใหม่เช่นคุณมองปัญหานี้อย่างไร

     ความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ถามว่ารุนแรงขึ้นมากกว่าครั้งก่อนๆ ไหม ตรงนี้ผมตอบไม่ได้ แต่เมื่อใดที่เรามองว่าความคิดเห็นมันแตกต่างกัน แล้วเป็นเรื่องที่ต้องรุนแรง เมื่อนั้นสังคมไทยก็จะย้อนกลับไปยังจุดเดิม นั่นคือไม่เปิดโอกาสให้คิดหรือถกเถียง

     ถ้าอยากให้ประเทศเดินก้าวหน้าต่อไปเราต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะความคิดของเด็กรุ่นใหม่ แต่ผู้ใหญ่เองก็มีความคิดที่เด็กต้องรับฟังเหมือนกัน ไม่มีความคิดใดที่จะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนต้องเปิดใจ เปิดโอกาส และเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงกันมากกว่า ทุกคนต้องรับฟังเสียงของกันและกัน ต้องคุยกันเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่ทำให้ประเทศเดินต่อไปได้

 

แต่สังคมไทยไม่ใช่แบบนั้น สังคมไทยไม่คุ้นชินกับการถกเถียง

     คนไทยเชื่อง คำว่าเชื่องคือไม่ค่อยคิด ไม่ตั้งคำถาม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ การไม่เชื่องไม่ได้หมายความว่าต้องดุดัน รุนแรง แต่ต้องกล้าคิด กล้าตั้งคำถามกับสังคม เมื่อไหร่ที่คนไทยเริ่มคิด ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ คนไทยจะรู้จักสิทธิและเสรีภาพของตัวเองที่พึงมีพึงได้มากขึ้น แล้วเราจะรู้ทันทีว่าการกระทำใดเท่ากับการละเมิดสิทธิ์ของประชาชนหรือทำให้ประชาชนลำบาก แล้วทุกคนก็จะรู้สึกรัก รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศมากขึ้น รู้สึกว่าประเทศเรา เราต้องดูแล ต้องช่วยกันปกป้อง

 

ล้อการเมือง

 

คุณคิดว่าคืออะไรรากฐานของปัญหาเหล่านี้

     การศึกษาส่งผลต่อความเป็นไปของประเทศไทยมากที่สุด มีทั้งการละเมิดสิทธิของนักเรียน มีการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้คิดด้วยซ้ำว่านักเรียนอยากจะเรียนรู้อะไร เมื่อไม่เปิดโอกาสให้คิดจึงนำไปสู่ปัญหาที่กระจายออกไปยังเรื่องอื่นๆ

     เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เด็กไทยในวันนี้จึงไม่ได้เติบโตขึ้นไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากพอกับประเทศ ถ้าจะปรับแก้จริงๆ ก็คงเป็นที่ระบบการศึกษา ควรเปิดกว้างให้คิด วิเคราะห์ วิพากษ์ ถกเถียงกันถึงประเด็นสังคมมากขึ้น และมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกเต็มที่

     เรามักเห็นนะว่าผู้ใหญ่ไม่เคารพกติกา สังคมไม่ดี คนไม่มีคุณภาพ แต่เมื่อย้อนคิดกลับไปล้วนเกิดจากระบบการศึกษาที่ปลูกฝังวิธีคิดบางอย่างให้เราทำตาม จนไม่ได้คิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เพราะระบบไม่ให้ความสำคัญในจุดนั้นเลย ซึ่งเป็นปัญหาจากระบบอาวุโส ระบบลำดับขั้น ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ ระบบทำให้รับและส่งเป็นทอดๆ รับคำสั่ง เชื่อ ปฏิบัติทำตาม ไม่เคยคิด ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เคยสงสัย

     ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลายคนบอกว่า ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นเพราะประชาชนมากกว่าที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น เป็นการเบี่ยงประเด็นออกไปเฉยเลย ผมว่าจะคิดกันแบบนี้ไม่ได้นะ ทำไมไม่รู้จักรักษาสิทธิ์ของตัวเอง มุมหนึ่งประชาชนมีส่วนทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นจริง แต่เราควรมีรัฐบาลที่สามารถเข้ามาจัดการและแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าไหม อาจเพราะกลัวการถกเถียงก็ได้ แล้วสังคมไทยบางส่วนก็คิดแบบนั้น ยังติดคติเดิมๆ ซึ่งควรก้าวข้ามกันไปได้แล้ว

 

คุณยังไม่เคยเลือกตั้งใช่ไหม

     ยังเลย ตื่นเต้นเหมือนกัน พอจะได้เลือกตั้งครั้งแรกก็รู้สึกว่าสำคัญมากๆ แต่ก็โกรธมาก ผมต้องรอถึงอายุ 21 ปีเลยเหรอกว่าจะได้เลือกคนเข้ามาบริหารประเทศที่ผมรัก อายุ 21 ถ้าไม่มีแฟนยังไม่เสียใจเท่า 21 แล้วแต่ยังไม่ได้เลือกตั้ง (หัวเราะ)

 

ในฐานะคนรุ่นใหม่มองประชาธิปไตยของประเทศเป็นอย่างไร

     เป็นผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังกับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ไม่เคารพกฎกติกา เราไม่หวังให้เขาเหล่านั้นเป็นคนดีหรือมีศีลธรรมสูงส่ง เราไม่เคยหวังในจุดนั้น เราหวังแค่ว่าอยากให้ทุกคนเคารพในกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อว่ากติกาและระบบที่ดีจะเป็นตัวควบคุมและกำหนดทิศทางที่ถูกที่ควรให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

     ผมผิดหวังที่ประเทศไทยเข้าใจในจุดนี้ผิดว่าเราต้องเลือกคนดี แล้วหวังให้คนดีเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งที่ความจริงแล้วเราต้องเลือกคนที่ทำตามกฎ เคารพกติกา

     แล้วคนรุ่นใหม่ที่เกิดและโตมาพร้อมกับสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียทำให้มุมมองต่อโลกเปิดกว้างขึ้น เขาพร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ เพราะที่ผ่านมาเราได้รู้ได้เห็นความวุ่นวายหรือวงจรอุบาทว์ต่างๆ ของการรัฐประหาร ผมเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักในเรื่องนี้ และรู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมากแค่ไหน ผมมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่จะออกมาแสดงพลัง ส่วนผู้ใหญ่เองก็น่าจะเจ็บมาเยอะแล้ว เขาน่าจะเข้าใจว่าที่ผ่านมาเจออะไรกันมาบ้าง นี่จึงเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้กำหนดทิศทางของประเทศได้เหมือนกัน

     หรือสำหรับบางคนก็ถือเป็นโอกาสไถ่บาปอีกครั้ง แม้เราอาจจะเป็นเพียงเด็กนักศึกษาในสายตาผู้ใหญ่ แต่เรามองตัวเองเป็นประชาชนและพลเมืองที่ต้องการและมีสิทธิ์เต็มที่ มีเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในการเลือกเส้นทางให้กับประเทศอันเป็นที่รักของเรา

 

อะไรคือสิ่งที่อยากให้สังคมจับตาดูเป็นพิเศษในขบวนล้อการเมือง ประจำงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73

     งานบอลปีนี้ใกล้ช่วงเลือกตั้งด้วย มีคนบางกลุ่มพยายามเข้ามาคุมเข้มประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งพอสมควร แต่ถามว่าล้อการเมืองกังวลอะไรไหม เราไม่กังวลอะไรเลย เพราะเรามั่นใจมากว่าไม่ได้ทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย หรือทำในสิ่งที่ส่งผลให้ประเทศชาติเสื่อมเสีย เราเพียงแค่สะท้อนปัญหาและความตลกร้ายของประเทศไทยออกมาให้เกิดแรงกระเพื่อมเพื่อการแก้ไขต่อไป

     ดังนั้นประเด็นปัญหาสังคมที่ล้อจะสะท้อนและสื่อคือสิ่งที่พบเห็นในการเลือกตั้ง และคาดว่าจะเกิดในอนาคตจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะนี่เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ เกี่ยวกับเลือกตั้งแน่ๆ แต่จะเป็นอะไรต้องรอดู แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์กัน สนุกแน่นอน ปีนี้มีเซอร์ไพรส์ ต้องรอดูครับ (ยิ้ม)