อุรุดา โควินท์

อุรุดา โควินท์ | ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด คือคำยืนยันต่อการเขียนและชีวิตที่เลือกเอง

การเขียน การวิ่ง และการทำน้ำพริกขาย คือสิ่งหลักๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและหัวใจของ อุรุดา โควินท์ และเรื่องราวของมันได้ถูกถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเธอ

‘ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด’ ชื่อของหนังสือชวนให้เรานึกถึงขบวนการเนิบช้า (Slow Movement) ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อนเพื่อป่าวประกาศต่อต้านความคิดที่ว่า Faster is always better. โดยไม่ได้บอกว่าต้องทำตัวเชื่องช้าเหมือนการคลานของหอยทากไปเสียทุกคน แต่เป็นการหาจังหวะที่เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติของตัวเรา

     ยิ่งได้ฟังอุรุดาเล่าถึงกิจวัตรประจำวันของเธอในแต่ละวัน เราคิดว่าการใช้ชีวิตของเธอคือการป่าวประกาศชุดความคิดแบบเดียวกันนี้ เริ่มต้นจากการตื่นมากินข้าวตอนเช้า ก่อนจะเข้าสู่โหมดการเขียน ช่วงมีออร์เดอร์น้ำพริกเข้ามาเธอก็จะพักเบรกจากงานเขียนเพื่อเข้าไปขลุกอยู่ในครัว จากนั้นออกไปจ่ายตลาดเพื่อกลับมาทำกับข้าวกินพร้อมคนรัก แล้วออกไปวิ่งที่ลานสนามบินแถวบ้านด้วยกันเพื่อขุดหาพลังงานกลับมาใช้เขียนงานในวันต่อๆ ไป

     “เรารู้สึกว่านี่คือสัดส่วนที่ดีของตัวเอง ไม่หนักเกินไปไม่เบาเกินไป มันสบายๆ ไม่ได้เป็นภาระชีวิตจนทำให้เราไม่มีความสุข”

     กว่าจะพบจังหวะที่เหมาะสม เธอเองก็ต้องพบกับความทุกข์จากการทดลองใช้ชีวิตอย่างสุดขั้วทั้งสองฝั่งมาก่อน

ชีวิตที่เร็วเกินไป… ก่อนเป็นนักเขียน เธอเคยเป็นพนักงานธนาคารที่ต้องใช้ชีวิตตามเป้าหมายทางธุรกิจโดยแทบจะไม่เหลือเวลาที่เป็นของตัวเองเลย

     ชีวิตที่เชื่องช้าจนว่างเปล่า… ช่วงนั้นที่เธอใช้ชีวิตในอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช รู้สึกว่างเปล่าจนกลายเป็นความเศร้า เหมือนตัวของเธอหายไปจากโลกใบนี้ 

     ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด คือชีวิตที่เธอเลือกเอง คือจังหวะที่สอดคล้องกับตัวตนของเธอ คือคำยืนยันจากนักเขียนสาวที่มีผู้เฝ้าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้

 

อุรุดา โควินท์

 

หนังสือเล่มล่าสุดของคุณมีชื่อว่า ‘ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด’ คำๆ นี้คือคำที่อธิบายชีวิตในปัจจุบันของคุณเลยใช่มั้ย

     ใช่ๆ มันคือคำที่ใช้อธิบายจังหวะที่เหมาะสมกับตัวเราในช่วงเวลาปัจจุบันมากที่สุด เราเคยทำงานในระบบที่มันต้องการความเร็วมากๆ ทุกอย่างต้องแข่งขันกันไปหมด ขณะเดียวกันเราก็เคยอยู่นิ่งมากๆ เหมือนวันๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย ถึงแม้ว่าจริงๆ เราจะทำและไม่ได้อยู่เฉยๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่เราทำมันไม่ได้ส่งผลออกไปให้คนอื่นเห็น จนกระทั่งเรากลับมาเขียนหนังสือแล้วก็ทำทุกๆ อย่างที่ชอบไปด้วยกัน อย่างละนิดละหน่อยแล้วพบว่ามันดีสำหรับเรามากกว่า เราได้ทั้งงานได้ทั้งความสุขและได้จัดสรรเวลาของตัวเอง

     การที่บอกว่าเป็นจังหวะที่ค่อยๆ ไป จริงๆ แล้วถ้ามาดูจะพบว่ามันแน่นนะ เพียงแต่ว่าเราไม่รีบ เพราะเราจัดตารางเวลาของเราเองได้ ในการทำงานเราจะมีตารางเวลาของตัวเองล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือนหรืออาจจะเดือนครึ่ง ถ้าวันไหนมีอะไรเพิ่มเติมก็จะค่อยแทรกเข้าไป ยังเป็นตารางที่มีความยืดหยุ่นได้อยู่ เพราะเราเป็นคนทำต้นฉบับล่วงหน้าอยู่แล้ว

 

อยากรู้ว่าตารางของคุณในแต่ละวันประกอบด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง

     เราจะแบ่งคร่าวๆ ว่าวันไหนจะเขียนอะไร อย่างเช่นหนึ่งสัปดาห์เขียนนิยายสามวันและทำภาพประกอบหนึ่งชิ้น สัปดาห์ไหนที่ไม่ได้ทำน้ำพริกขายก็จะเขียนคอลัมน์ล่วงหน้าไว้อีกชิ้นหนึ่ง เพราะสัปดาห์ที่ทำน้ำพริกเราจะได้ขลุกอยู่กับการทำน้ำพริกเพียงอย่างเดียว แต่ในทุกๆ วันถ้ามีเวลาและมีแรง เราจะต้องออกไปวิ่งนะ อย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งต้องมีสัก 120 นาที ถ้าวิ่งไม่ไหวได้ออกไปเดินก็ยังดี ยิ่งสัปดาห์ไหนได้ถึง 150 นาทีจะถือว่าดีเลย เพราะวันหนึ่งเราไม่ได้วิ่งเยอะ วิ่งแค่สามสิบนาทีถึงสี่สิบนาทีเท่านั้น

     เรารู้สึกว่านี่คือสัดส่วนที่ดีของตัวเอง ไม่หนักเกินไปไม่เบาเกินไป มันสบายๆ ไม่ได้เป็นภาระชีวิตจนทำให้เราไม่มีความสุข แล้วบางทีก็ตึงเกินไป อีกอย่างคืออายุเราก็ไม่น้อยแล้ว เป็นห่วงเข่าของตัวเองมาก อยากจะวิ่งให้ได้นานที่สุดก็เลยไม่อยากหักโหม อยากจะเก็บเข่าเก็บข้อเอาไว้นานๆ ครั้งหนึ่งเราเคยมีประสบการณ์ข้อพลิกแบบเดินไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะต้องระวังนิดหนึ่ง

 

การวิ่งสามารถเชื่อมโยงกลับมาสู่การเขียนงานได้มากน้อยแค่ไหน

     จริงๆ แล้วเราเริ่มวิ่งตอนอายุ 39 หลังออกจากนครศรีธรรมราชแล้วย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เริ่มต้นจากนอนไม่หลับก่อน ช่วงนั้นมีเรื่องให้คิดเยอะแล้วร่างกายก็อ่อนแอมากด้วย ไปหาหมอตรวจเจอเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก พูดง่ายๆ ว่าอีกสเต็ปหนึ่งจะเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่แล้ว ตอนนั้นก็ต้องคว้านออกเลยนะ ทีนี้ก็ตกใจแล้วรู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณของร่างกายที่เตือนเราแล้วล่ะว่า เฮ้ย จริงๆ สุขภาพเราไม่ได้ดีนะ เลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

     ก็เริ่มค่อยๆ กลับมาออกกำลังกาย หลังจากที่หยุดมาเป็นสิบปีเพราะทำงานธนาคาร กลับมาอีกครั้งเริ่มต้นจากเต้นระบำหน้าท้องตามวิดีโอ มันก็โอเค หลับง่ายขึ้นแต่พอกลับมาอยู่เชียงรายเพื่อมาช่วยน้องทำร้านอาหาร ก็เห็นว่าที่นี่มันมีสนามวิ่งที่ดี คนวิ่งก็เยอะ เราก็เลยไปลองดู ซื้อรองเท้ามือสองมาแล้วลองออกไปวิ่ง การวิ่งของเราเริ่มต้นจากวันนั้นแหละ

     จริงๆ แล้วต้องขอบคุณทุกคนที่วิ่งในสนามบินเก่าเชียงรายที่ทำให้เราวิ่งอยู่จนถึงตอนนี้นะ มีทั้งเด็ก มีทั้งคนอายุหกสิบกว่าที่ยังออกมาวิ่งอยู่ พอเราเห็นเขาวิ่งแล้วดูมีความสุข เราจะไม่วิ่งได้ยังไง ถ้าเขายังไหวเราก็ต้องวิ่งให้ได้

     มีช่วงหนึ่งที่เราติดการวิ่งมากๆ เราออกไปวิ่งวันละเป็นสิบกิโล แต่พองานเขียนเริ่มเยอะขึ้น เรารู้แล้วแหละว่าเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ทุกอย่างมันจะตึงหมด เราจึงกลับมาหาจุดเริ่มต้นของตัวเองว่าเราอยากทำอย่างนี้เพราะอยากจะบริหารเวลาให้มันมีความสุข แต่พอตอนนี้มันเริ่มตึงเกินไปแล้ว เราต้องลดลง ให้น้อยลงนิดหนึ่ง

 

หลายคนใช้การวิ่งเพื่อต่อสู้กับตัวเอง แต่สำหรับคุณดูเหมือนจะเป็นการวิ่งเพื่อความเพลิดเพลินมากกว่า

     มันคือการที่เราออกไปขุดพลังงาน ถ้าเกิดไม่วิ่งเราจะเขียนแย่ลง คือมันไม่อึด เรามองว่าการวิ่งมันคือเรื่องของร่างกาย เวลาที่วิ่งจะมีความรู้สึกว่าตื่นมากกว่า สมมติว่าเราไม่ได้วิ่งนานๆ ต่อเนื่องสักสองสัปดาห์ ความสามารถในการเขียนมันอาจจะเท่าเดิม แต่ความอึดในการที่เราจะนั่งอยู่ได้นานๆ แล้วเราจะได้งานที่ดีนั้นอาจจะลดลง

     การวิ่งไม่ได้ช่วยให้เขียนดีขึ้นแต่มันมีส่วนที่สัมพันธ์กัน ถ้าปกติเราเขียนแบบที่เราพอใจได้สามหน้าต่อกันเลย แต่ถ้าไม่ได้วิ่งเราอาจจะต้องลุกบ่อยขึ้น เหมือนว่าร่างกายของเรามันเนือย มีความหน่วง แต่ถ้าเกิดว่าออกกำลังกายสม่ำเสมอสักสัปดาห์ละ 120-150 นาทีขึ้นไป ร่างกายจะตื่น กระฉับกระเฉงตลอดเวลา นั่งหน้าจอปั๊บก็พร้อมเขียนงานทันที

     เราจัดเวลาในทุกๆ วันเอาไว้ว่า ตื่นมาตอนเช้าทำกับข้าว เขียนตอนกลางวัน พอบ่ายแก่ๆ ก็ออกไปจ่ายตลาดกลับมาทำกับข้าว เสร็จแล้วก็ออกไปวิ่ง ส่วนเวลาวิ่งก็ปรับตามสภาพอากาศ หน้าหนาวมืดเร็วก็ต้องวิ่งให้เร็วขึ้นไปอีก แปลว่าเราก็ต้องทำกับข้าวเร็วขึ้น ตื่นเร็วขึ้น ปรับไปเรื่อยๆ

 

อุรุดา โควินท์

 

ตารางชีวิตในช่วงที่คุณบอกว่าตึงเกินไปกับช่วงที่ว่างเปล่าเกินไปแตกต่างจากชีวิตตอนนี้มากแค่ไหน

     ช่วงที่มันเคร่งมากๆ อย่างตอนทำงานธนาคาร พูดง่ายๆ ว่าเวลาของเราแทบจะไม่เหลือเลย คนทำงานธนาคารกว่าจะได้กลับบ้านอย่างน้อยคือสองทุ่ม บางวันถึงห้าทุ่มก็มี เสาร์-อาทิตย์ก็ยังมีการเข้าเวรนู่นนี่ ไหนจะต้องเดินหาลูกค้าอีก นอกจากเคร่งเรื่องเวลาแล้วยังมีเป้าหมายอีกเยอะแยะมากมายที่เราจะต้องทำให้ถึง ตัวเราจึงตึงมาก ถ้าเราจะยืนหยัดบนเส้นทางนี้เพื่อที่จะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมันก็ต้องวิ่ง 4×100 อยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกแบบนี้เลย

     ส่วนช่วงที่ว่างเปล่ามากๆ คือตอนที่เราใช้ชีวิตอยู่ที่พรหมคีรี ตื่นเช้ามาก็โล่งว่าง กวาดบ้าน ทำงานบ้าน จัดบ้าน ทำอาหาร ถ้าวันไหนเขียนได้ก็เขียน เขียนไม่ได้ก็ไม่เขียน ตอนนั้นไม่มีเป้าหมายในการเขียนให้ตัวเองเลย มีแค่ว่าผลิตงานออกมาให้ดีกว่าเดิมแล้วกัน เพราะว่าช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่เรากำลังค้นหาการเขียนแบบใหม่ บ่อยครั้งมากที่เราจะรู้สึกว่าตัวเราหายไปจากโลกนี้ มันทำให้รู้สึกเหมือนกันนะว่าตอนเป็นพนักงานแบงก์ดีกว่ามั้ย เพราะว่าอย่างน้อยตื่นเช้ามาก็รู้แล้วว่าวันนี้จะต้องทำอะไร ทุกอย่างมีกลไกของมันอยู่แล้ว

     ทีนี้พอกลับมาทบทวนใหม่ ลองตั้งเป้าหมายว่าทำงานเขียนให้มันอยู่ได้ เราก็ลองมาบริหารเวลาให้มันพอดี ได้ทำทุกอย่างที่อยากทำแล้วก็บอกตัวเองเสมอว่า ถ้าเกิดมันเยอะไป อย่างช่วงหนึ่งที่นิตยสารมันยังเยอะกว่านี้ งานเขียนมันจะเยอะมากๆ เดือนหนึ่งประมาณสิบชิ้น เราก็รู้สึกว่ามันตึงเกินไปเหมือนกัน คำว่าตึงไม่ได้หมายความว่าเราอยากขี้เกียจนะ แต่มันคือเรื่องการทำคุณภาพของงานให้ดี แล้วเราจะทำยังไงให้มันพอดี ตอนนั้นก็เลยเริ่มทำน้ำพริกขาย เพราะเป็นคนเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่ทำนู่นนิดนี่หน่อยแล้วทุกอย่างจะสนุกไปหมด ถ้ามีรายได้จากน้ำพริกเพิ่มขึ้นมาก็ดี ไม่ต้องไปตึงกับการเขียนมากด้วย เอาแค่ว่าหาเงินให้พอใช้ เอารายได้จากตัวอื่นมาเสริมด้วย พอเราชอบ เราก็จะสนุกไปด้วย

     จนกระทั่งถึงช่วงที่นิตยสารปิดตัว มันไม่มีนิตยสารให้เราลงเลย ไม่มีรายได้จากการเขียนอยู่ครึ่งปี เราก็ได้อยู่น้ำพริก โดยที่เราไม่คิดมาก่อนด้วยซ้ำว่าน้ำพริกมันจะเป็นรายได้หลัก ตอนนั้นเราพูดกับการเขียนว่า “ไม่เป็นไร เธอเลี้ยงฉันมาหกเจ็ดปีแล้ว ตอนนี้ฉันจะตำน้ำพริกเลี้ยงเธอบ้าง” คือเราก็ตำน้ำพริกไปแล้วเวลาที่เหลือก็จะเขียน จนกระทั่งได้เขียนคอลัมน์ลงมติชน ตอนนี้ก็ทำมาได้เป็นปีแล้ว รายได้ยังไม่พอที่จะอยู่ได้ด้วยการเขียนหรอก ต้องใช้น้ำพริกเข้ามาช่วยอยู่ดีแต่มันก็ดีขึ้นกว่าตอนที่ตำน้ำพริกอย่างเดียว เพียงแต่เราต้องประหยัดนิดหนึ่ง

 

แต่การปิดตัวของนิตยสารในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเปิดให้มีอาชีพอย่างคนทำคอนเทนต์ออนไลน์อย่างมากมาย คุณไม่สนใจบ้างเหรอ

     เราชอบแบบนี้มากกว่า แล้วเราทำอย่างอื่นได้ไง เพราะฉะนั้นเราเอาพลังงานที่เหลือไปทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ย เวลาเราทำอะไรเราจะมองต้นทุนของตัวเองก่อน นี่คือหลักการของนักบัญชีเลยนะ เรามองดูตัวเองว่าตัวเรามีต้นทุนอะไร

     สมมติว่าจะไปเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ เราจะเขียนเรื่องอะไร โตมรเขาเขียนเรื่องนู้นเรื่องนี้ได้หมดเลย แล้วเธอจะเขียนอะไร คอนเทนต์ออนไลน์ที่ผลิตถี่มากๆ นั้นมันต้องการองค์ความรู้เยอะๆ หรือว่าทางใดทางหนึ่งที่ลงลึกซึ่งเราต้องเริ่มจากการอ่านให้เยอะ อ่านให้ลึกขึ้นใช่มั้ยก่อนที่จะไปเริ่มเขียน หรือถ้าจะให้เราไปทำภาพประกอบก็ทำได้แบบก๊อกๆ แก๊กๆ ต้องไปเรียนรู้ใหม่อีก ถ้าเรามองจากต้นทุนตัวเองว่าเราทำอะไรได้ดีแล้วพัฒนาขึ้นมา มันจะเร็วกว่า

 

คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราตอนนี้มันเร็วเกินไปมั้ย นิตยสารปิดตัวตามๆ กันไปจนเกือบจะเกลี้ยงแผง หลายคนผันตัวไปเป็นนักเขียนออนไลน์ที่ต้องผลิตงานเข้มข้นภายใต้ระยะเวลาที่หดสั้นลงไปทุกวันๆ

     เร็ว เพราะโลกมันเคลื่อนไปตลอดแต่ตัวเราอยู่กับที่ แล้วเราเห็นทุกอย่างจากหน้าจอมือถือ จริงๆ แล้วเหมือนเราเองก็มีสองจังหวะนะ จังหวะที่เราไปกับคนอื่นด้วยแล้วก็มีจังหวะที่เราอยู่กับตัวเอง แต่ชีวิตของเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าเราอยากอยู่ในจังหวะแบบไหน

     อย่างตอนขายหนังสือหรือขายน้ำพริก ตอนทำนู่นทำนี่ มันเร็วมากเลยนะ แต่ถ้าเราอยากหยุดเราก็หยุดได้ เปลี่ยนมาเปิดหน้าจอเขียนงาน หรืออยากอ่านหนังสือเราก็ทำได้ นอนหลับตาอยู่เฉยๆ ก็ยังได้ แต่ชีวิตใช่ว่าเราจะสามารถอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ค่อยๆ ไปคนเดียวตลอดเวลา เรามองว่านักเขียนถึงที่สุดแล้วก็เป็นนักสื่อสารหรือนักข่าวนะ เพียงแต่ว่าเราอาจจะเลือกใช้เครื่องมือนี้ที่เป็นเรื่องเล่าที่ค่อนข้างจะดูมีน้ำเสียงจริงจัง แต่ถ้าเกิดสังเกตดูโดยเฉพาะเล่ม ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด เราเริ่มปรับเสียงให้เหมือนการพูด การโพสต์สเตตัสมากขึ้น ปรับเสียงให้มันเร็วขึ้น ที่เคยสั้นแล้วให้มันสั้นลงไปอีก เพื่อให้จังหวะในการอ่านมันเปลี่ยนไป

 

อุรุดา โควินท์

 

คุณดูมีความสุขเวลาพูดถึงการเขียน บรรยากาศขณะที่คุณกำลังเขียนหนังสือคงรื่นรมย์มากๆ เลย

     ก็ไม่ได้รื่นรมย์ตลอดเวลานะ ยิ่งถ้าเป็นคอลัมน์มันก็เป็นอะไรที่ต้องเสร็จเนอะ เราไม่ได้เขียนเรื่องแต่งเพื่อที่จะรอรวมเล่มเพียงอย่างเดียว แล้วเรื่องแต่งของเราส่วนหนึ่งก็ยังต้องลงรายสัปดาห์ด้วย สัปดาห์ละหนึ่งตอน มันก็ไม่ได้เบาขนาดนั้น ตั้งแต่เรานั่งลงเราก็จะเริ่มต้นนั่งด้วยความรู้สึกกดดันตัวเองว่า ถ้าไม่ได้หนึ่งหน้าเธออย่าเพิ่งลุก เพราะโดยธรรมชาติ ตัวเองเป็นคนสมาธิสั้นอยู่แล้ว เดี๋ยวก็จะลุกไปปั่นผ้า ล้างจาน แต่ไม่เอาแล้ว ต้องให้จบหนึ่งหน้าก่อน ทุกครั้งมันก็จะเริ่มต้นแบบนี้

     ถ้าเป็นเรื่องแต่งจะเริ่มจากการอ่านงานที่เราเขียนค้างไว้เมื่อวาน แล้วงานมันจะดึงเราเข้าไปเอง อาจจะไม่ทันทีทันใด แต่จะมีช่วงที่รู้สึกว่า เฮ้ย พรมนิ้วลงไปเลย วันที่การเขียนลื่นๆ นี่มันเหมือนมีเทพมานั่งอยู่บนโต๊ะกับเราเลยนะ ซึ่งมันไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกวัน แต่เป้าหมายคือมันต้องได้หนึ่งหน้าก่อนแล้วค่อยลุก ทำให้มันดีขึ้นทีละนิด

     เราเป็นคนเขียนงานหลายครั้ง ดูแล้วดูอีก อย่างน้อยห้าถึงหกครั้งถึงจะส่งไป เพราะรู้ว่าจุดอ่อนของเราคือสมาธิสั้น บางทีก็จะเขียนอะไรตามความรู้สึกคือ เราจะมีเรด้าจับความรู้สึก พอผ่านมาปั๊บเราจะคว้าไว้แล้วเขียนเลย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกลับไปอ่านทวนอีกทีว่ามันเข้ากับเรื่องมั้ย มันเยอะไปมั้ย ต้องเอาออกมั้ย ถ้าบรรยายให้เห็นภาพมันคงเหมือนกับการเดินในทุ่งที่ลมเย็นๆ อากาศดีๆ แล้วเราเดินไปเรื่อยๆ บางตอนก็เดินง่ายสบายใจ แต่บางตอนก็ โอ๊ย นึกไม่ออกเลย (หัวเราะ)

 

ช่วงที่การเขียนเหมือนกับการเดินในทุ่งเกิดสะดุด เขียนไม่ออก คุณจัดการกับสภาวะนี้อย่างไร

     ตอนนั้นคิดอะไรได้ก็ต้องเขียนไปก่อน คำว่านึกไม่ออกมันหมายถึงว่าเราเขียนแล้วไม่ได้ประโยคอย่างใจ เมื่อก่อนจะมีเยอะมีบ่อยมาก เหมือนว่าเราอยากจะเค้นมันออกมา อยากจะได้แบบนี้ คือเวลาเราเขียนเรื่องแต่ง สมมติอยากบอกรัก เราจะไม่อยากบอกว่ารัก หรือถ้าเสียใจก็ไม่อยากบอกว่าเสียใจ มันจะมีลักษณะของการแทนค่าหรือว่าการทำให้คนอ่านได้เห็นภาพที่มันลึกกว่าคำว่าเสียใจ ซึ่งบางทีเราอาจจะหาทางเข้ายังไม่ได้ เราจะอึดอัดเหมือนหนูถูกขัง มันต้องหาทางออก แล้วพอหาเจอมันก็ไปต่อได้เอง

 

ถ้าคิดไม่ออกแล้วออกไปวิ่งจะช่วยให้เขียนลื่นขึ้นมั้ย

     ไม่หรอก ต้องนั่งต้องหาทางออกด้วยการเขียน นั่งอยู่แล้วก็เขียนไปเรื่อยๆ จนเจอ เขียนแล้วลบอยู่อย่างนั้น ถ้าเกิดว่ามันเจอทางไปเดี๋ยวมันจะไปได้เลย เพราะว่างานเรามันพล็อตน้อย โครงเรื่องน้อยมาก เราก็จะเขียนแบบไหลๆ แล้วด้วยความที่เราคิดไม่ออกบ่อยไง จึงพบว่าเราต้องฝึกตัวเองแบบนี้มันถึงเขียนออกมาได้ นั่งอยู่อย่างนั้นมันถึงจะได้ คือให้มันได้ตามเป้าหมายก่อน

     มีคำของคนใต้ที่เขาบอกว่า “ถ้าเรายังเดินเวียนโต๊ะอยู่ อย่างน้อยเราก็ต้องได้อะไรติดมือกลับไป” หมายถึงว่าถ้าเรายังไม่ไปจากโต๊ะนั้น เรายังเดินรอบโต๊ะนั้นอยู่ ยังไงเราก็ต้องได้อะไรติดมือกลับไป แล้วไม่ใช่นั่งเล่นเฟซบุ๊กนะ นั่งแล้วมันต้องทำ ก่อนจะฝึกจะพัฒนาขึ้นมาได้แบบนี้ เมื่อก่อนเราเขียนวันละสี่บรรทัดเอง คิดดูเขียนช้าขนาดไหน (หัวเราะ) กว่าจะคิดได้สักประโยค แล้วบางทีคิดเยอะไปก็ไม่ใช่เรื่องดีนะ มันไม่มีความเป็นธรรมชาติ จนกว่าที่เราจะค้นเจอเสียงที่เรารู้สึกว่ามันเหมาะกับเราแล้วสื่อสารได้ดีลงตัว มันต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเลย ไม่มีทางลัดจนกว่าจะเขียนเจอ พอเขียนได้แล้วก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับต่อไปอีก

 

คุณชอบงานเขียนของตัวเองทุกเล่มมั้ย

     เราเริ่มต้นชอบงานของตัวเองตั้งแต่ ‘มีไว้เพื่อซาบ’ นะ เรากลับมาอ่านโดยรวมตอนที่มันตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แล้วเราก็ชอบมัน รู้สึกว่า เออ ที่เขียนช้ามากๆ เพราะรออะไรตั้งหลายอย่าง แต่มันเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า บางทีเราเคยรู้สึกว่าเราว่างเปล่ามาก เราเหงามาก เราเศร้ามากในช่วงเวลาที่เขียนอยู่ ในที่สุดมันก็คุ้มค่าที่สามารถเปลี่ยนความเศร้าให้กลายมาเป็นงานเล่มนี้ มันทำให้เรามั่นใจในการที่จะก้าวต่อไป เราชอบเล่มนั้นมากในเวลาที่มันเพิ่งพิมพ์เสร็จ แต่ตอนนี้ถ้ากลับไปอ่านมันห่างกันเยอะ บางอย่างในตัวเรามันเปลี่ยนไปกลายเป็นอีกคนหนึ่ง มันมีอะไรบางอย่างที่เราหมั่นไส้ตัวเอง มีบางอย่างเหมือนกันนะที่เราอิจฉาตัวเอง บางเรื่องเราก็คว้ามันติดมือมาไม่ได้ ถ้าอ่านงานของเราตอนนั้นจะเห็นว่าแก่กว่าตอนนี้อีก หากเราประเมินจากสำนวน วิธีคิด ความกระฉับกระเฉงในงาน เราจะรู้สึกว่า ‘มีไว้เพื่อซาบ’ เป็นพี่สาวของ ‘ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด’ อย่างน้อยก็สิบห้าปีเลย

 

อุรุดา โควินท์

 

ทำไมยิ่งอายุมากขึ้นงานเขียนของคุณกลับยิ่งเด็กลง

     มันเป็นเรื่องของสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในช่วงเวลานั้น ประกอบกับเทคโนโลยีรอบตัวเราด้วย เช่น เมื่อก่อนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต โลกมันไม่เชื่อมโยงกันขนาดนี้ โทรศัพท์ก็ไม่มีแล้วเราก็จมอยู่กับความนิ่งงันกับความสงบ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันดีนะ แต่บางทีมันก็นิ่งไปแล้วพอเราออกมา เหมือนเราได้เห็นอะไรใหม่ๆ มันปลุกความเป็นเด็กในตัวเราขึ้นมา

     ยิ่งเดี๋ยวนี้ในทวิตเตอร์ก็มีบัญชีหลุมเอาไว้ให้เราแอ๊บเด็ก (หัวเราะ) เราชอบทวิตเตอร์มากเลย คุณต้องเล่นนะ เราได้อะไรเด็ดๆ จากทวิตเตอร์เยอะมาก โลกในนั้นจะแบ่งกันเป็นย่านๆ สมมติว่าเราสนใจอะไรก็เข้าไปแฮชแท็กนั้นเพื่อไปหาข้อมูล แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดคือมันเป็นข่าวที่เร็วที่สุด แล้วมันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะฉะนั้นทุกคนเท่ากันหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณสามารถถูกแหกได้ตลอดเวลา มีคนมาขิงคุณตลอด มันไม่ได้เหมือนโลกของเฟซบุ๊กที่แบบ ‘โอ๊ย สวยจังค่ะ’ ‘เล็บสีอะไรคะ’

     บางทีเราทวีตข้อความอะไรออกไป เด็กก็เข้ามาสอนเราอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนเป็นเพื่อนกัน ซึ่งเราชอบมากเลย มันเป็นที่ที่ไม่ต้องมีตัวตน แต่ในขณะเดียวกันมันกลับมีความจริงใจบางอย่าง เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทุกคนอยากพูดอะไรก็พูดเลย เราก็จะจับกระแสความรู้สึกของสังคมจากทวิตเตอร์ได้ง่ายมาก คือเราเป็นแฟนคลับเป๊ก ผลิตโชคด้วย เราก็จะมีบัญชีที่เป็นนุช พอเราเขาไปในนั้นทุกคนก็จะเป็นนุชกันหมดเลย นุชยาย นุชป้า นุชเด็ก เต็มไปหมด บัญชีเราเองก็มีนะ แต่ไม่เคยทวีตอะไรเลย กลัวโดนแหกแล้วไปไม่ถูก (หัวเราะ) แต่ถ้าเราเล่นแบบที่เป็นหลุม ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย สนุกมาก

 

เซอร์ไพรส์มากเลยที่ได้ยินว่าคุณเป็นแฟนคลับของเป๊ก ผลิตโชค เพราะภาพของอุรุดาในความคิดเราน่าจะชอบอะไรที่ออกแนวเพื่อชีวิตๆ มากกว่า

     โฮ เราเป็นแฟนคลับเขาตั้งแต่ตอนเขาเปิดหน้ากากในรายการ The Mask Singer ใหม่ๆ เลยแหละ ตอนนี้เราเป็นคนที่มีโลกหลายใบมากนะ งานเขียนของเราก็เลยเด็กลงด้วย เพราะเมื่อก่อนเราไม่เคยได้สัมผัสกับโลกเหล่านี้ พอมีนู่นมีนี่ให้รู้มันก็น่ารู้ไปหมดจนเราเหมือนเด็กเลย

     อย่างเมื่อก่อนตอนเขียนนิยายเราตั้งโจทย์ว่าอยากจะเขียนเรื่องรักที่หนักแน่น คือเราเป็นคนชอบเขียนเรื่องความสัมพันธ์ เราก็อยากเขียนให้มันเป็นวรรณกรรม แต่พอบอกว่าเป็นเรื่องรักคนก็มักจะมองไปทางละครหรือว่าเป็นเรื่องเบาๆ เราอยากจะเขียนถึงมันให้จริง เพราะเวลาอ่านงานของพวกนักเขียนฝรั่งเศสที่เขาแปลมา หรือว่างานของนักเขียนต่างประเทศหลายๆ คนเราจะรู้สึกว่ามันก็คือเรื่องของความสัมพันธ์นี่แหละ กับแม่บ้าง กับคนรักบ้าง แต่เขาลงลึกมากแล้วมันก็กลายเป็นงานอีกโทนหนึ่งเลย

     อันนั้นคือเป้าหมายของเราที่ยังคงอยู่มาตลอด เพียงแต่ว่าน้ำเสียงของเราตอนนี้มันเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทวิตเตอร์และโลกโซเชียลทั้งหลาย เราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาผสมกัน เหมือนที่เราชอบอ่านบทสัมภาษณ์เพราะเราชอบน้ำเสียงในบทสัมภาษณ์ เมื่อก่อนเราจะชอบอ่านบทสัมภาษณ์ของนิตยสารแฟชั่นหัวนอกที่เขาแปลมา เราจะเอาภาษาพวกนั้นมาใช้ปนกับงานวรรณกรรมหนักๆ ที่เราอ่าน คือเราไม่ได้ตั้งใจจะใช้หรอกแต่เรากินมันเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนเรากินทุกอย่างแล้วขับถ่ายออกมาเป็นงานของเราเอง เพราะฉะนั้นมันก็จะเด็กลง อยู่กับโลกปัจจุบันมากขึ้น เดินเรื่องเร็วขึ้น ประโยคสั้นมาก บางทีก็มีคำว่า ‘ฮะ’ หรือมีคำอุทานอะไรพวกนี้เยอะ

 

คนอ่านว่าอย่างไรบ้าง หลังจากงานเขียนของอุรุดาถูกปรับเปลี่ยนจนเด็กลง

     เราได้คนอ่านเยอะขึ้นนะ เพราะว่าเราได้คนอ่านในกลุ่มที่เยาว์วัยลง ส่วนคนอื่นที่เขาเคยอ่าน เราก็เห็นว่าเขาก็ชอบนะ คือมันยังไม่ทิ้งร่องรอยของเราที่โตมา แล้วที่สำคัญคือสารมันเป็นอย่างเดียวกัน เจตจำนงของเรื่องมันก็ยังเป็นอะไรที่หนักแน่นอยู่ จริงๆ แล้วการที่มันอ่านง่ายขึ้นทำให้มันเป็นมิตรกับคนอ่านมากขึ้นนะ

     ก่อนหน้านี้มีอาจารย์คนหนึ่งเขาสั่งซื้อ ‘ค่อยๆ ไปแต่ไม่หยุด’ เขาคงอ่านงานเรามาเยอะแล้ว เขาก็มาคอมเมนต์ว่า เราดูโตขึ้นนะ เรามีความมั่นใจมากขึ้น ภาษาของเราก็เปลี่ยนไป มันมีความกระชับ จริงใจ และซื่อสัตย์ เขาบอกว่าถ้าเทียบกับงานชุดหน้าแล้วเขาชอบงานชิ้นนี้ของเรามากขึ้น ถ้าเป็นงานก่อนๆ เขารู้สึกว่าเรายังมีความกล้าๆ กลัวๆ ในบางจุด เราก็รู้สึกว่าจริง คือเขาไม่ได้รู้จักเราเป็นการส่วนตัว แต่เขารู้จักงานของเราจริงๆ ถึงรู้ว่าหนังสือเล่มก่อนๆ มันมีบางประโยคที่เราเขียนด้วยความไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว