‘รุ่นพี่รับน้องโหด’ ‘ทหารเกณฑ์ถูกซ้อมจนเสียชีวิต’ ‘ครูลวนลามลูกศิษย์’ นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสมอๆ แทบจะกาปฏิทินไว้ได้เลยว่าเมื่อช่วงเวลาเวียนมาถึง ข่าวทำนองนี้ก็มักจะปรากฏให้สังคมได้ดราม่าอยู่แป๊บหนึ่ง แล้วทุกอย่างจะเงียบหายราวกับเราชินชา ไม่รู้สึกรู้สาอะไรนักหนาแล้ว หากมองให้ลึกลงไปถึงต้นตอ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจที่มนุษย์คนหนึ่งมีต่อมนุษย์อีกคนหนึ่ง
ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ น้อยคนหรืออาจไม่มีใครเลยที่จะหลุดพ้นวงจรของอำนาจ สิ่งนี้อยู่ในแทบทุกมิติ ต่างกันก็เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบหรือวิธีการใดเท่านั้น คนส่วนใหญ่มักนึกถึงภาพในระดับโครงสร้างใหญ่ในสังคม ในประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ผิด เพียงแต่ที่คุณอาจไม่เคยสังเกต ไม่เคยตระหนักถึง อำนาจนั้นอยู่ในทุกระดับชั้นของสังคมตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และในชีวิตประจำวัน
a day BULLETIN ติดตามเฟซบุ๊กของ วีรพร นิติประภา มาพักใหญ่ เราเห็นเธอมักแชร์ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจนิยมอยู่บ่อยครั้งบนหน้าเฟซบุ๊กของเธอพร้อมแคปชันเจ็บๆ แสบๆ
“พี่คิดว่าประเทศนี้สนับสนุนอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ เราสนับสนุนอำนาจนิยมเพราะเราไม่รู้สึกว่ามันอยู่ใกล้ตัวเราแค่ไหน” วีรพรชี้ย้ำให้เราเห็นอีกครั้งระหว่างบทสนทนา
มุมมองที่เธอมีต่อเรื่องสังคมกับอำนาจนิยมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เธอเคยเป็นพังก์ตั้งแต่วัยรุ่น และตั้งคำถามกับชีวิตเสมอ เธอปฏิเสธการเรียนมหาวิทยาลัย จึงไม่เคยถูกครอบด้วยโครงสร้างของระบบอำนาจทางการศึกษา เธอเป็นคุณแม่ของลูกชายวัยยี่สิบปลาย ที่ไม่เคยคาดหวังให้ลูกต้องกลับมาตอบแทนบุญคุณเพราะคิดว่าพ่อแม่ไม่มีอำนาจสิทธิในการเลือกอะไรให้ลูก
ชวนให้คิดว่าในวัยนี้เธอมีมุมมองต่อสังคมอย่างไร ยังมีอุดมการณ์อะไรเหลืออยู่ สังคมในแบบที่ควรเป็นคืออะไร เราชวนเธอมาส่องแว่นขยายสังคมถึงระบบอำนาจนิยมที่เธอถึงกับหัวเสียว่า ‘มันเกิดขึ้นเพราะพวกคุณไม่ยอมตั้งคำถาม’ รวมไปถึงทางออกออกสังคมที่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเธอมีคำตอบหรือไม่
เห็นคนรุ่นใหญ่อย่างคุณเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียและมีความแอ็กทีฟมากๆ แล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจ
พี่น่าจะเริ่มเล่นตอนก่อนที่ได้รางวัลซีไรต์ ประมาณปี 2553 หรือ 2554 ไม่ใช่รุ่นแรกๆ หรอกนะ คือกว่าจะหาทางเข้าเฟซบุ๊กได้ คนอื่นเขาก็เล่นกันไปใหญ่แล้ว คนอื่นเขาก็ชอบมาถามกัน นี่แกยังไม่มีเฟซบุ๊กอีกเหรอ เราก็ลองเข้าไปดู เออ สนุกดี แต่ก็ยังไม่ได้โพสต์อะไรมากหรอก จนพอเริ่มเป็นนักเขียน พี่ก็ใช้มันเป็นโซเชียลฯ
สังเกตว่าพี่ใช้ Friend ไม่ใช้ Fan Page ก็โดนส่องกันหมด เวลาใครเข้ามาคอมเมนต์พี่ก็จะเข้าไปดูบ้านเขา บางทีก็จะเจอพวกขวางๆ บ้าง เวลาเราโพสต์อะไร เขามาด่าพ่อล่อแม่เลยนะ พอเรากดเข้าไปดูโปรไฟล์เขา ธรรมะธัมโมเลยค่ะ เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวค่ะ (หัวเราะ) อะไรแบบนี้ ก็เหมือนเป็นการเก็บตัวอย่างแหละ ตอนแรกมีเพื่อน 15 คน หลังจากนั้นพอหนังสือออกก็มีคนมาแอดเฟรนด์เต็มไปหมด
เห็นคุณชอบแชร์ข่าวปัญหาบ้านเมืองบนหน้าวอลล์ของตัวเอง แล้วเขียนแคปชันว่า อำนาจนิยมคือสิ่งนี้ ทำไมชอบทำแบบนี้
เรื่องอื่นๆ มันมักจะคล้ายๆ กัน ยกตัวอย่างเรื่องอำนาจนิยม พี่ก็จะแชร์ข่าวตั้งแต่เรื่องครูตีเด็ก เมียแพ่นกบาลผัว ตำรวจเบ่ง อะไรแบบนี้ ซึ่งพี่ไม่ค่อยยุ่งเรื่องโครงสร้างใหญ่จริงๆ อย่างเช่นรัฐบาล พี่ไม่ค่อยไปยุ่งตรงนั้น เพราะว่ามันไกล พี่คิดว่าประเทศเราสนับสนุนอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ เราสนับสนุนอำนาจนิยมเพราะไม่ทันรู้ว่ามันอยู่ใกล้ตัวเราแค่ไหน เรามองไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องของความคิด ไม่ใช่แค่เรื่องของการตั้งกฎเกณฑ์ มันยังเป็นเรื่องการบังคับใส่ยูนิฟอร์ม เจ้านายเป็นใหญ่ เจ้านายถูกเสมอ คนแก่พูดอะไรถูกเสมอ หรือพระถูกเสมอ อะไรแบบนี้ มันรวมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเรา ลูกเรา ครูตีลูกมา คุณเคยไปถึงโรงเรียนแล้วถาม ‘ทำไมต้องตีลูกฉัน’ ไหม ซึ่งครูก็จะบอกว่าเพราะหวังดี แล้วคุณก็ยอมเหรอ
ไม่ใช่ หวังดีหรือหวังไม่ดีมันไม่เกี่ยว เห็นไหมว่ามันเป็นระบบคิด เป็นความอึดอัดใจของคนเป็นลูกที่อยากเรียนอะไรก็ไม่ได้เรียน เป็นความอึดอัดใจของภรรยาที่ว่า ‘เฮ้ย ถ้าเกิดสามีกลับบ้านมาทุ่มหนึ่งแล้วฉันไม่อยู่บ้านจะเป็นสิ่งที่ดี’ ก็กลายเป็นทะเลาะกัน ทำนองนั้น
การที่คุณเลือกแชร์เรื่องอำนาจนิยม แสดงว่าคุณไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้มากที่สุด
ความเห็นของพี่ไม่สำคัญหรอก สิ่งสำคัญกว่าก็คือพวกคุณอยู่กันได้ยังไงเนี่ยะ พวกคุณยังทนตรงนี้อยู่ได้ คิดว่ามันโอเคแล้วเหรอ พอถึงเวลาคุณก็บอก ‘เฮ้ย ครูข่มขืนเด็ก’ คำถามคือ ทำไมครูคนหนึ่งกล้าข่มขืนเด็ก เพราะว่าเขาเป็นครู เพราะว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ เพราะเขาเป็นผู้ชาย เห็นมั้ย มันเป็นเรื่องอำนาจ มันไม่ใช่เรื่องแค่ว่าคนๆ นี้เลว เพราะถ้าคนๆ นี้เลว มันจะเกิดขึ้นหนเดียว แต่นี่มันเกิดขึ้นบ่อยเกินไปหรือเปล่า
ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีกรณีครูพละลวนลามและข่มขืนนักเรียนหญิงแต่ไม่ถูกเอาโทษ คำถามคือ ทำไมวะเนี่ย? แต่ถ้าคุณเป็นคนจรจัด เป็นคนไร้บ้าน แล้วคุณไปข่มขืนเขา คุณจะโดนจับเร็วมากเลย คุณจะติดคุกแน่ๆ แล้วเผลอๆ อาจจะถูกโทษประหารอย่างรวดเร็วด้วย
ในขณะที่บริษัทเก๋ๆ ไม่ใช่ไม่มีเจ้านายข่มขืนลูกน้อง ในโรงเรียนดีๆ ไม่ใช่ไม่มีครูลวนลามลูกศิษย์ คุณคิดว่าแค่ไหนที่เรียกว่า abuse คุณเคยคิดไหม เวลาที่ผู้ชายบอกว่า เย็นนี้ไปกินข้าวกับผม แล้วเขาเป็นเจ้านายคุณ แล้วคุณก็ต้องไปกินข้าวกับเขา นั่นเรียก abuse แล้วล่ะ ไม่ได้เรียกว่าเขามาจีบนะ เพราะฉะนั้น เราอยู่ในสังคมที่เรื่องอำนาจนิยมอยู่ในทุกลมหายใจ โดยที่เราไม่รู้สึกด้วยซ้ำ
จริงๆ แล้วการมีลำดับชั้นอำนาจ เป็นเรื่องปกติของทุกสังคมหรือเปล่า
ไม่หรอก มันเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ผิดปกติต่างหากล่ะ มันกลับกลายเป็นว่าหลายๆ เรื่องนั้นน่าประหลาดใจ การยอมรับเรื่องที่ถูกเจ้านายรังแก คุณต้องทำให้เขาพอใจอยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ คือคุณเริ่มเข้าระบบแบบนี้ จนคุณไม่แม้กระทั่งเถียงกลับ นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมที่ผิดปกติ
เหตุใดประชากรถึงไม่รู้ว่าอธิปไตยเหนือเรือนร่างของตัวเองคืออะไร อธิปไตยนอกเวลาของตัวเองคืออะไร เหตุใดเราจึงยอมไปกินเหล้ากับเจ้านาย มันคือความคิดที่ว่าคนหนึ่งดีกว่าอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งสูงกว่าอีกคนหนึ่ง หรือคนหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกคนหนึ่ง
อย่างตัวคุณเองเรียนจบปริญญา คุณรู้ดีกว่าคนจบ มศ.5 เหรอ ไม่จริงเลย ดังนั้นเราก็อาจจะได้ด็อกเตอร์ที่เดินอยู่ในบริษัท แต่เขาทำอะไรไม่เป็น เพราะเขาไม่ได้ถูกสอนมาให้ทำงาน เขาถูกสอนมาให้เป็นครู แล้วเราก็ใช้คนผิดประเภทอีก แล้วฐานเงินเดือนก็สูงกว่าด้วย มันไม่ง่ายนะการเรียนปริญญาเอก แต่ลองถามดูดีๆ สิว่าคุณอยากเป็นครูหรือเปล่า ไม่มีใครถามหรอกว่าคุณชอบเป็นอะไรหรอก แต่กลับกลายเป็นถามว่าคุณได้เงินเดือนเท่าไหร่ เพราะอะไร เพราะเราไม่มีรัฐสวัสดิการ ถ้าเรามีรัฐสนับสนุน คุณอาจไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่คุณก็พออยู่ได้ แล้วสมมติพ่อแม่คุณแก่ รัฐก็มาช่วยดูแลคนแก่ เพื่อที่คุณไม่ต้องมาเลี้ยงเขา คุณสามารถมีชีวิตของคุณ การมีชีวิตของตัวเองเป็นเรื่องถูกต้องกว่านะ
อ้าว ลูกๆ ไม่ควรอยู่ดูแลพ่อแม่หรือ
อันนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่กับลูกของพี่ พี่เคยคุยกับเขาหลายหนแล้ว ว่าไม่ต้องรู้สึกแย่นะถ้าเธอไม่ได้ดูแลพ่อแม่ เพราะมันไม่เกี่ยวกัน เธอไม่ได้ขอฉันมาเกิด ระหว่างการโอบอุ้มเลี้ยงดูกันมา บ้านเราก็มีความสุขกันดี ยี่สิบกว่าปีของชีวิตเธอ ถือเป็นของขวัญให้กับชีวิตฉันแล้ว พอแล้ว ไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าไม่ได้กลับมาดูแลฉัน แต่ถ้าเธออยากมา ถ้ามาอยู่ด้วยกันแล้วเธอมีความสุขดี เราก็มาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิมได้นะตอนแก่ๆ
แสดงว่าอำนาจนิยม มันก็แฝงอยู่ในครอบครัว บางคนก็จะคิดว่าพ่อแม่มีสิทธิ มีบุญคุณ
ใช่ แล้วลูกเราก็จะติดอยู่กับคำว่า อกตัญญู เดี๋ยวนี้หนักข้อขึ้นถึงขนาดว่าลูกต้องกินน้ำล้างเท้าพ่อแม่แล้วนะ แล้วในที่สุด พ่อแม่ก็จะกลายเป็นสิ่งบูชา
“
คำถามก็คือคนที่เป็นพ่อเป็นแม่อย่างพี่เองนี่ก็ใช้มาชีวิตเดียว เรารู้ได้ไงอะไรถูกอะไรผิด หรือหนักกว่านั้นคือ เรารู้ได้ไงว่าอะไรเหมาะกับลูก ในเมื่อเราไม่ได้ใช้ชีวิตของเขา ในยุคของเขา
”
ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเราคืออย่างอื่นไปข้างหน้าหมดแล้ว เจริญก้าวหน้า แต่ความคิดยังติดอยู่ในอดีต แล้วเราจะพัฒนาตัวเองยังไง ในเมื่อเราเป็นอำนาจนิยม เราก็ทำงานไปวันๆ เป็นลูกน้องโง่ๆ เพื่อวันหนึ่งเจ้านายตายไป เราก็จะได้ขึ้นมาเป็นเจ้านายโง่ๆ คนต่อไป คนเป็นพ่อแม่เองก็ไม่ได้สำเหนียกว่าตัวเองก็ไม่ได้ฉลาดเท่าไหร่เลย แล้วลูกคุณจะไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาด้วยซ้ำ
อยากรู้ว่าในชีวิตของเขา ในยุคของเขา คุณได้เรียนรู้จากคนรุ่นลูก
พี่เรียนรู้ว่าคนเราถูกผลักดันด้วยอะไรบางอย่างเสมอ ตั้งแต่เขาเล็กๆ เลย เวลาหิวก็ร้อง เวลาไม่สบายตัวก็ร้อง ฉะนั้นทันทีที่เขาเริ่มงี่เง่า แสดงว่าต้องมีอะไรแล้ว ไม่ใช่ว่า ‘เฮ้ย งี่เง่าเดี๋ยวก็ฟาดเข้าให้’ หรือว่าแม่บอกซ้าย ลูกไปขวา เอ๊ะ ทำไมวะ อ๋อ ก็เขาอยากลอง เขาอยากรู้ว่าผลคืออะไร ดังนั้นก็ปล่อยให้เขาเรียนรู้ คุณไม่จำเป็นต้องไปห้ามเขาทุกอย่าง เขามีสิทธิ์เดินไปแล้วก็ล้ม แล้วเรื่องหนึ่งที่พวกคุณไม่รู้ก็คือ พอเขาเล่นเลโก้เสร็จ หรือวาดรูปเสร็จ เขาก็จะอยากเอามาอวดคุณเสมอ คุณไม่ทันคิดหรอกว่าอิทธิพลของคุณกับมนุษย์อีกคนหนึ่งนั้นมันเยอะมาก น่ากลัวมาก จนขนาดที่ว่าคุณควรจะผลักเขาออกไป
พี่อะกลัวตาย เดี๋ยวก็ตายแล้ว ยิ่งตอนสาวๆ นี่ทั้งเหล้า ทั้งบุหรี่ ไม่น่าจะมีอายุยืนได้ ดังนั้น ถ้าเราตายแล้วเขาจะอยู่ยังไง เขาต้องอยู่เองให้ได้ เราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้านะ พี่เริ่มจากโจทย์แบบนี้ คือทำยังไงเขาจะอยู่รอดได้ ถ้าเขาติดยาล่ะ ไม่เป็นไร ก็พาไปเลิก ติดผู้หญิงเหรอ ถ้าหญิงดีก็อยู่ๆ กันไป เรื่องสังคมเราสอนแบบนี้กับเขาตลอดเวลา แล้วที่แน่ๆ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ใช้ชีวิต ลูกก็ไม่ได้ใช้ชีวิต เราเป็นสังคมที่ไม่รู้จักชีวิต แยกแยะอะไรไม่ได้ ซึ่งเราก็อยู่กันแบบนี้ ในความกระพร่องกระแพร่ง ความไม่สมบูรณ์แบบนี้ก็ดีออก ชีวิตน่ะ
พี่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ พี่จบเลขานุการ เพียงแต่พี่เป็นคนช่างสงสัย พี่ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็เลยไม่ได้ถูกครอบโดยระบบความคิดแบบที่คนอื่นคิดกัน แล้วตอนสาวๆ พี่ก็เป็นพังก์ อะไรเข้ามาก็จะต่อต้านไว้ก่อน คุณต้องแต่งตัวแบบนี้มาทำงานใช่ไหม พี่ก็ใส่รองเท้าบู้ตไปเลย อะไรทำนองนั้น แต่พี่กลับพบว่าตรรกะของพี่ไม่ได้ผิดเพี้ยนนะ มันเป็นจริงที่สุดแล้วสำหรับพี่ คำถามคือ แล้วอะไรจริง อะไรไม่จริง ถ้าเกิดว่าตรรกะของพวกคุณผิดหมดเลย ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณจะชี้นำทั้งสังคม ชี้นำทุกครอบครัวได้ อะไรทำให้คุณกล้าดีขนาดนั้น เพราะการได้เป็นพ่อเป็นแม่ การเรียนจบปริญญาตรี การเป็นทหาร หรือการทำงาน NGO อะไรแบบนี้เหรอ
อะไรที่ทำให้คนๆ หนึ่งยอมอยู่ในสังคมแห่งอำนาจ ในขณะที่อีกคนเริ่มรู้สึกว่าต้องต่อต้าน
เพราะคนเราโคตรกระพร่องกระแพร่งและอ่อนแอ อ่อนแอจนถึงจุดที่คุณเริ่มแสวงหาอำนาจเล็กๆ น้อยๆ จากครอบครัว จากหน่วยงาน จากการได้เป็นหัวหน้าเสมียน หรือการได้เป็นครีเอทีฟกรุ๊ปเฮดที่ยังไม่ได้เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ นั่นหมายความว่าเราไม่ได้สร้างคนให้สำเหนียกถึงคุณค่าในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ มาตั้งแต่ต้น ถ้าคุณสามารถภาคภูมิใจในการหายใจเข้าหายใจออกได้ แล้วเป็นแค่มนุษย์ธรรมดาๆ ที่ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว คุณไม่จบปริญญาแปลว่าคุณโง่ ไม่ใช่ คุณจบป.4 คุณโง่ ไม่ใช่ ถ้าคุณลบเส้นพวกนี้ออก อำนาจนิยมก็ไม่มีที่อยู่เองแหละ
ราวกับว่าความเป็นพังก์ ช่วยต่อต้านอำนาจ และทำให้เราเข้าถึงความเป็นคนได้มากกว่า
อย่างที่บอก ตอนสาวๆ พี่เป็นพังก์ พี่ก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงทำอย่างที่เขาทำ คือตอนแรกๆ ก็เริ่มจากแค่ว่าเราจะไม่ยอมไว้ก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงไม่ยอม (หัวเราะ) จนพอเริ่มมีลูก ก็ดูเหมือนว่าเราต้องตอบคำถามเหล่านี้ เช่น ทำไมเขาต้องให้แม่มาช่วยทำการบ้านตอนเย็น เป็นต้น คือถ้ากูรู้กูก็เป็นครูแล้วสิวะ (หัวเราะ) นี่จ่ายเงินหลายหมื่นส่งลูกไปเรียน ลำบากนะ แล้วครูก็มาถาม ‘ทำไมคุณแม่ไม่ช่วยลูกทำการบ้านเลยคะเนี่ยะ’ มันก็เริ่มจากคำถามพวกนี้
แล้วพี่ก็เริ่มสนใจว่าทำไมเขาต้องทำอย่างที่เขาทำ อย่างยายก็จะชอบมาบอก ลูกแกดื้อนะเนี่ย ต้องเอาให้อยู่ตั้งแต่ตอนนี้นะ คำถามคือ หนึ่ง อ้าว ทำไมเราต้องเอาให้อยู่ สอง แล้วถ้าเอาไม่อยู่จริงๆ ล่ะ เราต้องทำยังไง ฉะนั้นเราก็ต้องสอนเขาให้อ่านหนังสือให้เยอะๆ เพราะว่าเขาเป็นคนที่เชื่อในตัวเอง ดังนั้นเขาก็ต้องมีพื้นฐานที่เมื่อออกไปแล้วจะไม่ตายตอนจบ เพราะฉะนั้น พี่ก็สอนให้เขาอ่านหนังสือมากกว่า แทนที่มานั่งกังวลว่า เฮ้ย เดี๋ยวจะเอาเขาไม่อยู่ แล้วไปนั่งบังคับเขาต่างๆ นานา ซึ่งไม่ช่วยให้เขาคิด แล้วถ้าสักวันคุณตายไปจะทำยังไง เขาจะอยู่ยังไง คุณสามารถปกป้องเขาจากการอกหักได้เหรอ คุณปกป้องเขาจากเจ้านายได้เหรอ คุณปกป้องเขาจากชีวิตไม่ได้หรอก เรื่องมันน่ากลัวขนาดนั้น
เพราะฉะนั้นในขณะที่พ่อแม่คิดว่ากำลังดูแลลูก ฉันปกป้องลูก คุณผิดหมดเลย ลูกคุณก็เหมือนคุณนั่นแหละ ในที่สุดเขาก็จะงงๆ แล้วพยายามยึดเหนี่ยวความมั่นคงในชีวิตของเขาไว้ ด้วยการซื้อบ้าน การหางานทำ ทนอยู่กับเจ้านายเฮงซวย ยอมอยู่ในบ้านที่ห่างไกลจากออฟฟิศไปเรื่อยๆ เสียเวลาการเดินทางสี่ชั่วโมง เพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง แล้วก็ยึดความคิดแบบนี้กันทั้งประเทศ เพราะคิดว่ามันคือความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงจริงๆ มันต้องเริ่มจากข้างใน ความมั่นคงคือการ so sure กับการเป็นมนุษย์ปุถุชนของตัวเอง
ถ้าขยับมามองภาพในระดับสังคม เราจะจัดการกับปัญหาอำนาจนิยมในสังคมไทยยังไง
ต้องอธิบายอย่างนี้ พี่ว่าปัญหามันไม่ใช่แค่ว่าใครถืออำนาจ เพราะปัญหาคือตัวเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาถืออำนาจ แต่เขาเรียกมันว่าการดูแล บางครั้งพ่อแม่ทำอะไรๆ เพราะเขากลัว แล้วสิ่งที่เขากลัวคือสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความปลอดภัย มียาเสพติดทุกหัวระแหง บางครั้งพี่ก็ยังงงๆ ว่าทำไมชนชั้นกลางถึงคิดว่าลูกคุณจะติดยา พี่ว่ามันหาซื้อยาก แต่เสร็จแล้วคุณก็เอาภาพเด็กสลัมมาเพื่อที่จะข่มขู่พ่อแม่ ฉะนั้นวันๆ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็หมดแล้วล่ะชีวิต เลิกงานเสร็จก็ต้องไปวุ่นเรื่องลูกต่อ มันก็วนๆ แบบนี้ จนไม่มีใครถามหารัฐสวัสดิการ ไม่มีใครว่างพอจะถามหาถนนที่ดี บ้ารึเปล่าขุดถนนทีเดียว 8 เส้นติดกัน นี่มันคืออำนาจนิยม คุณปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ไม่บ้าก็อำมหิตแล้ว ให้รถติดบนถนน หาทางออกไม่ได้เพราะเส้นข้างๆ ก็ขุด นี่พวกเราเป็นมนุษย์นะ
ถ้าถามพี่นะ ประเทศบ้าอะไรวะ 40 ปี แก้ปัญหารถติดไม่ได้ เสร็จแล้วยังไงต่อ ห้างก็ไปดักไว้ รถติดมากใช่ไหม เข้าห้างสิ นี่ก็เป็นบริโภคนิยมต่อ เด็กๆ ก็กินนอนในรถ ไม่ก็ในห้าง ถึงบ้านสี่ทุ่ม เช้าตีสี่แหกขี้ตาออกมารถติดไปโรงเรียน กระเป๋าโคตรหนัก คำถามคือ เป็นบ้าอะไรกัน เรามีเด็กหลังค่อมเยอะมาก เพราะกระเป๋าหนักมาก เมืองนอกทำยังไง ก็มีล็อกเกอร์ไง ทำไมแค่นี้คิดไม่ได้ แล้วเขาก็มาบอก ‘เด็กจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของการแบกวิชาความรู้’ บ้าเปล่า (หัวเราะ)
เขาต้องจ่ายบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อแลกกับสิ่งไร้ค่า เพื่อที่จะได้เป็นนักเรียนที่ดีของโรงเรียนนี้ เขาต้องนั่งรถไปกลับแปดชั่วโมงเพื่อได้เรียนโรงเรียนนี้ แล้วแม่จะได้เอาสติกเกอร์ชื่อโรงเรียนไปติดท้ายรถ เพราะโรงเรียนของลูกก็คือสถานะทางสังคมของพ่อแม่ ทำไมเราไม่สามารถจะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเราเองในฐานะมนุษย์หนึ่งคน
คุณยกคำว่ารัฐสวัสดิการบ่อยมาก มันเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจนิยมด้วยหรือเปล่า
ใช่ แต่เนื่องจากพี่เองก็เป็นคนกรุงเทพฯ มุมมองก็อาจจะไม่ครอบคลุมถึงคนต่างจังหวัดเท่าไหร่ อันนี้ต้องขอยอมรับ คนกรุงเทพฯ หาเงินได้เยอะ แต่เราไม่ได้ตระหนักเลยว่าเราเรียกร้องรัฐสวัสดิการมากกว่าที่อื่นด้วย เพราะว่าค่าใช้จ่ายมันสูงมาก ฉะนั้นเราจะถูกผลักดันเข้ามาสู่โหมดของการสูญเสียตัวเองไป แล้วก็กลายเป็นอีกฟันเฟืองใต้โครงสร้างอำนาจนั้นๆ
ชาวนาไม่มีรัฐสวัสดิการก็กินกบกินเขียด เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ ลูกๆ ก็เดินเท้าไปโรงเรียนได้ เวลาเกิดเหตุอะไรก็จะจับตัวคนร้ายได้ง่าย เพราะมันเป็นชุมชนเล็กไม่เหมือนกรุงเทพฯ ถ้าลูกคุณโดนข่มขืนวันนี้คุณหาคนร้ายไม่เจอหรอก คนเป็นล้านๆ อะไรทำนองนั้น แต่ว่าคนต่างจังหวัดก็ไม่ได้รู้สึกกลัวกับสิ่งนี้มากนัก เพราะว่าเขา Living a life ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่คนกรุงเทพฯ เราใช้เวลาทั้งหมดตามรับตามส่งลูก วิ่งเต้นหาแปะเจี๊ยะให้ลูกเข้าโรงเรียน เพื่อให้ลูกคุณออกมาเป็นอะไร ออกมาเป็นมนุษย์ที่คิดไม่ได้ไง พี่ว่าในโลกสมัยใหม่ เราไม่ได้ต้องการความรู้ เราต้องการความคิด คุณเข้ายูทูบก็แปลงเพศด้วยตัวเองได้ ความรู้เป็นเรื่องขี้ผงมาก ความคิดต่างหากที่สำคัญ
คุณคิดว่าอำนาจนิยมแฝงตัวเข้ามาโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวได้อย่างไร
มันสามารถเติบโตได้จากละครหลังข่าว ละครหลังข่าวซึ่งเหมือนเดิมตั้งแต่หลัง Post-war แย่งผัวแย่งเมีย ผู้หญิงไทยให้ความสำคัญกับการเป็นเมียและเป็นแม่ หรือการมีผัว ส่วนตัวร้ายก็ต้องเป็นนางอิจฉาอยู่เสมอ แล้วตอนจบความดีก็ต้องชนะความชั่วเสมอ เราไม่สอนให้ลูกผู้หญิงดีๆ ลุกขึ้นตบเมียน้อย จะไปยอมให้มันรังแกทำไม ส่วนผู้ชายดีๆ หรือพระเอกของเรา ก็จะโง่ๆ มึนๆ ทำไมโดนหลอกง่ายอย่างนั้น คือเราให้อำนาจผู้ชายไปแล้วจากละคร ในขณะที่ผู้ชายในชีวิตจริงมีเมียประมาณสองคนขึ้นไป หรือมีนางเล็กๆ เที่ยวเล่น ซึ่งแน่นอนความเท่าเทียมทางพฤติกรรมมันยังไม่ค่อยเท่า แต่ก็นับว่าดีแล้วที่ทุกวันนี้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ ได้ทำงาน พี่ก็โอเคในระดับนี้ แต่ความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่มันยังคงอยู่ในรูปแบบต่างๆ
จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องนิสัยลึกๆ ของเรามากกว่าหรือเปล่า
นิสัยถูกสร้างมาจากความเชื่อหรือเปล่า พี่ไม่แน่ใจ แต่ว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยสนใจเรื่องเหตุผล เราสนใจเหตุผลน้อย หรือไม่ก็เป็นเหตุผลที่ไปไม่สุด เช่น ถ้าเราดูแลลูกดีๆ ลูกจะโตมาเป็นคนดี ไม่ใช่ มันต้องควบคุมการสุ่มตัวอย่างนะ ทั้งสังคม ทั้งโรงเรียน อาหารการกิน แล้วต้องคุมเยอะกว่านั้นมาก กว่าจะมาประกาศตรงนี้ว่าลูกจะโตเป็นคนดี ดังนั้นการที่โรงเรียนให้ใส่ยูนิฟอร์มไม่ได้แปลว่าเด็กจะเรียนดีกว่าเด็กโรงเรียนที่ไม่ใส่ยูนิฟอร์ม เว้นแต่ว่าคุณทำรีเสิร์ชอันนี้มา แต่เราไปเชื่อว่าการใส่ยูนิฟอร์มทำให้เรามีระเบียบวินัย ขอโทษ ประเทศนี้เป็นประเทศที่ไร้ระเบียบวินัยที่สุดในโลก ดูการขับรถบนถนนก็รู้ ประเทศนี้มีกฎระเบียบที่โคตรเยอะ บังคับอย่างมหากาฬเลยล่ะ
พี่ก็โตมากับพวก Post-war แม่ของพี่เขาก็เกิดในหลังสงครามโลก ระเบียบต่างๆ คลายลงไปแล้ว แต่ว่าเหตุผลมันไม่เติบโตเลย วิธีคิดไม่เติบโตเลย มันกลับกลายมาสู่อำนาจนิยมแบบใหม่ เช่น ความเชื่อ คุณต้องส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ แล้วเขาจะเป็นคนดี แน่นอนว่าเบื้องหลังของเรื่องนี้ คือเราคาดหวังว่าลูกก็จะมีแวดวงเพื่อนที่ดีใช่ไหม มันก็พาเราเข้ามาสู่ระบบพรรคพวก มาสู่ระบบคอร์รัปชัน แล้วคุณก็ออกไปเป่านกหวีดต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะเราเป็นสังคมพูดอย่างทำอย่าง คิดอย่างทำอย่าง เดี๋ยวนี้คุณไปห้างดังๆ คุณก็จะเจอที่จอดรถสำหรับซูเปอร์คาร์ เข้ามาปุ๊ปจอดได้เลย แล้ววีรพรขับรถเก่าๆ ต้องวนหานานมาก สุดท้ายก็ไม่ไปแล้ว
ในวัยนี้ทำไมคุณยังบ่นเรื่องพวกนี้ คนรุ่นคุณน่าจะปลงๆ แล้วไปเข้าวัดเข้าวากันแทน
คำถามน่าจะอยู่ที่ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่ถาม นี่มันชีวิตของพวกคุณนะ ทำไมพวกคุณไม่ถาม เฮ้ย ทำไมฉันต้องใส่ยูนิฟอร์มไปโรงเรียน ทำไมฉันทำสีผมไม่ได้ ในเมื่อมีช่วงเดียวของชีวิตที่คุณทำผมสีแดงแล้วดูดี ก็คือตอนอายุเท่านี้ไม่ใช่เหรอ ทำไมคุณไม่ถูกส่งเสริมให้ใช้ชีวิต ทำไมคุณไม่ถูกส่งเสริมให้ภาคภูมิในความเป็นมนุษย์ของคุณ ทำไมคุณไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากพอที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เจ้านายให้ทำโอที คุณไม่ทำได้มั้ย ฉันเป็นคนหนึ่งคนซึ่งเหนื่อย ความเหนื่อยของคนไม่เท่ากัน เขาก็จะบอก อ้าว ทำไมคุณไม่ทุ่มเทให้งาน คุณก็ถามกลับไปสิ ว่าทุ่มเทแล้วได้อะไรล่ะ ตอนคุณจะสั่งเลย์ออฟนี่คุณลืมไปแล้วว่าเราเคยทุ่มเทให้คุณมามากแค่ไหน
จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับอำนาจ
เราควรจะตั้งคำถามทุกเรื่อง มนุษย์เกิดมาพร้อมความสงสัย วีรพรตอนอายุ 12 ปี ถามครูว่า 7 คูณ 1 ได้ 7 ก็คือ 7 ยกกำลังตัวมันเองหนึ่งครั้ง ได้ตัวมันเองกลับมา แล้วทำไม 7 คูณ 0 ได้ 0 คือยกกำลัง 0 แล้วตัวมันเองหายไป คืออะไร งง ทำไม ครูบอกว่าเขาให้เชื่ออย่างนั้น วีรพรก็เลยตกเลขมาตลอดชีวิต จนกระทั่งตอนโตแล้วไปเมืองนอกแล้วเจอเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ก็เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เขาก็ถามว่าเธอถามคำถามนี้ตอนอายุเท่าไหร่ พอเราบอก 12 ปี เขาก็เศร้าแล้วบอกว่าน่าเสียดาย น่าเสียดาย เพราะคำถามแบบนี้ คือการที่เด็กคนหนึ่งพยายามที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของวิชาคณิตศาสตร์ คุณอาจจะเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ดีได้ แต่พี่ก็ไม่ได้โทษครูนะ เพราะว่าคำถามมันยากที่จะตอบ บางทีครูอาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะครูอาจจะไม่ได้ถูกสอนมา เห็นไหมว่ามันเป็นทอดๆ
แล้วเราก็พบว่าสังคมเรามีอะไรแบบนี้ตลอด เขาให้เคารพธงชาติตอนแปดโมง ทั้งที่นี่มัน Post-war Culture คุณก็ยังทำอยู่เพราะคนอื่นเขาทำกัน รักชาติ แล้วชาติคืออะไร คุณไม่เคยถามด้วยซ้ำ ประเทศนี้ประชาชนคืออะไร ความเป็นมนุษย์หนึ่งคนคืออะไร ความใฝ่ฝันของคุณคืออะไร พี่พบว่าสิ่งที่ผลักดันผู้คนคือความหลงใหลใฝ่ฝัน แรงบันดาลใจ เราไม่ได้ถูกผลักดันโดยสิ่งอื่นเลย
ในวันข้างหน้า คุณคาดหวังอยากให้คนรุ่นต่อไปอยู่ในสังคมแบบไหน
พี่จะเล่าให้ฟัง มีผู้หญิงต่างประเทศคนหนึ่งเป็นด็อกเตอร์ด้านวิศวะอยู่โรงงานกังหันลมที่ผลิตพลังงาน อายุยังน้อยแล้วสวยด้วย เสาร์อาทิตย์เขานั่งเขียนการ์ดแล้วไปนั่งขายที่ตลาดนัดงานคราฟต์ ขายใบละไม่กี่ตังค์ แล้วพี่รู้สึกว่า เฮ้ย ลูกผัวก็ไม่มี สามีตาย แต่เขาก็อยู่แบบนั้น มีบ้านหลังโต มีงานอย่างดีทำ มีงานอดิเรกเล็กๆ ได้พบปะผู้คน ได้ขายงานคราฟต์ของตัวเอง ชีวิตมันควรจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ควรจะมีความสุขแล้วสงบพอสมควรมั้ย แทนที่จะทำงานเหนื่อยยาก รบกับเจ้านายโง่ๆ เอาเงินมาซื้อแบรนด์เนม ผ่อนบ้าน รถติด แล้วก็แปะเฟซบุ๊กโอ้อวด
อย่างลูกชายของคุณ เมื่อเขาเรียนจบชั้นสูงๆ แล้ว ต่อไปจะมีชีวิตแบบนั้นได้หรือเปล่า
เหตุผลหนึ่งที่พี่ไปหาเขาที่เบอร์ลิน ก็คือจะคุยกับเขาว่าเป็นตายร้ายดีอย่ากลับมาเลย แต่ถ้าคิดว่าจะกลับมาเพื่อมาดูแลพ่อแม่ ก็แล้วแต่นะ ไม่เป็นไร เพราะว่าถ้ากลับมาแล้วเนี่ย เรื่องมันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาอยากเป็นอาจารย์ นั่นคือชีวิตแบบที่เขาอยากได้ แต่ถ้ากลับมาเป็นอาจารย์ คุณก็ต้องเป็น liberal มันเป็นข้อบังคับของอาชีพ อาจารย์ต้องเป็น liberal นักเขียนก็ต้องเป็น liberal คุณเป็นอื่นไปไม่ได้ จริงๆ พี่คิดว่าเขากลับมาก็คงจะอยู่ดีกินดีระดับหนึ่งแหละ ในฐานะคนจบปริญญาเอก เขาก็คงได้รับการนับหน้าถือตาตามสังคมแบบของเรา ซึ่งก็คงไม่ได้มีค่าอะไรสำหรับเขา แต่ว่าเขาก็อาจจะอยากอยู่กับแม่ นั่นก็อีกเหตุผลหนึ่ง
แล้วเราจะมีชีวิตที่สงบสุขอย่างเพื่อนที่คุณยกตัวอย่างมาได้อย่างไร
ชีวิตไม่ได้เป็นของ instant อย่างพี่เคยเขียนหนังสือตอนอายุ 20 แล้วพี่ก็ไม่ได้เขียนอีกเลย จนได้กลับมาเขียนอีกครั้งในตอนอายุ 40 กว่าๆ เป็นหนึ่งในสิ่งที่พี่คิดว่าพี่เลือกได้ดี หนึ่ง คือพี่ทำได้ดีพอที่จะได้รับการยอมรับจากคนอ่านส่วนหนึ่ง และแน่นอนว่ารวมถึงกรรมการ สอง พี่รู้สึกว่าทำได้ดีในลักษณะของการสร้างงานที่ไม่ซ้ำซาก ได้อย่างที่ตัวเองอยากได้ พี่ไม่ได้คิดว่าอยากจะเขียนนิยายดีๆ มากไปกว่าเขียนอะไรที่ยังไม่ถูกอ่าน ฉะนั้น พี่ก็ได้ทำสิ่งที่พี่แฮปปี้ดีนะ มันอาจจะไม่ต้องมีความสุขมาก แต่ว่าไม่กระวนกระวาย แล้วพี่ก็เลิกสนใจแบรนด์เนม แน่นอนพี่เคยใส่รองเท้าคู่ละหมื่นในตอนที่ทำงานในวงการโฆษณา แต่คำถามคือเงินมันก็ไม่ได้ตอบทุกอย่าง ถ้าคุณมีบ้าน 9 ห้องนอน ถามว่าคุณนอนกี่ห้อง ห้องเดียว แล้วคุณซื้อแบรนด์เนมก็เพื่อที่จะอวดคนที่คุณเกลียด เพราะคนที่คุณรัก ไม่ว่าจะยังไงคุณก็รักเขาอยู่ดี แล้วไม่ว่าคุณจะยังไง เขาก็รักคุณอยู่ดีเช่นกัน
เคยคิดไหมว่าคนรุ่นลูก จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นไปกว่าที่เราทำในตอนนี้
ตอบยากนะ เพราะว่าเราสู้กันนานมาก นานจนไม่รู้ว่าจะมีวันชนะไหมในสังคมแบบนี้ บอกตรงๆ อันหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ อำนาจนิยมนำมาซึ่งระบบพึ่งพา ระบบอุปถัมป์ อันนี้ต่างหากที่เขาต้องการ พี่ถึงถามหาความสง่างามของการเป็นมนุษย์ไง คุณต้องการรัฐสวัสดิการ เพราะคุณต้องการที่จะเป็นคนพิการที่สง่างาม ไม่ได้ต้องการวอนขอคนมาช่วยใจบุญ คุณเป็นมนุษย์หนึ่งคน ไม่ใช่ว่าพอลูกกูไม่สบาย กูก็วอนขอผู้ใจบุญ ไม่ๆ ทุกคนต้องการความสง่างามเท่าเทียมกัน อันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สูญหายไปในสังคมเรา
สุดท้ายแล้วเราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย
ก็จนกว่าคุณจะเริ่มถามคำถามแบบนี้ไง หรือจนกว่าคุณจะเริ่มเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง แล้วโครงสร้างไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมานั่งพูดว่าเรากำลังต่อสู้กับรัฐ แต่มันรวมลงมาถึงชีวิตของเราทั้งหมด ไม่ใช่ว่าพี่ไม่เจอคนเอียงซ้ายที่จริงๆ แล้วก็จ่ายเงินตำรวจข้างถนน เอาลูกเข้าโรงเรียนดีๆ พอถึงคราวลูกตัวเองก็ต้องสู้ในระบบนี้ ในที่สุดคุณก็เข้าระบบด้วยเพื่อความอยู่รอด ใช่ไหม เพราะระบบมันใหญ่ ถ้าจะเริ่มจริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ปัจเจก ตั้งแต่การเลี้ยงลูกหนึ่งคน ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องสอนให้เขาอ่านให้เยอะ เพื่อที่เขาจะได้มีความสามารถในการคิดได้ด้วยตัวเอง แล้วคุณต้องอ่านด้วย การเรียนรู้เป็น life long คุณเติบโตต่อไปได้เสมอ
พี่ไม่ได้เป็นคนแบบนี้ตั้งแต่อายุยี่สิบเสียเมื่อไหร่ เพิ่งมาเป็นแบบนี้เมื่อเร็วๆ นี้ด้วยซ้ำ เมื่อคุณเริ่มถามคำถาม คุณก็เริ่มแสวงหาคำตอบ มันก็ไล่ต่อไปเรื่อยๆ
พี่เป็นคนไม่มีอุดมการณ์ตั้งแต่ต้น เป็นคนอุดมการณ์น้อยมาก พี่สนใจแค่ว่าคนต้องมีชีวิตที่มีคุณค่า แล้วมีความสง่างาม ถ้าจะเรียกสิ่งนี้ว่าอุดมการณ์ก็ได้ พี่คิดว่าชีวิตคนต้องการแค่นี้ คือถ้าไม่มีตรงนี้ คุณก็ไม่มีความฝัน พอคุณไม่มีความฝัน คุณจะอยู่ทำไม ถ้าคุณอายุ 50 กว่าเท่าพี่ตอนนี้ คุณจะรู้ว่าแค่หายใจเข้าก็ยากแล้ว คุณไปบาร์ไปคลับไม่สนุกแล้ว คุณดูหนังก็ไม่สนุกแล้ว ชีวิตกลายเป็นการยากอยู่เหมือนกัน ดังนั้น เราก็ต้องการการหลงใหลใฝ่ฝันเล็กๆ น้อยๆ ต่อไป
เมื่อตอนเด็กๆ คุณเคยมีหมาตัวนึง คุณเอาเมล็ดลำไยไปวางข้างๆ หมา แล้ววิ่งไปบอกแม่ว่าหมาลูกตาหลุด โอ้โห โคตรบรรเจิดเลย แต่แม่คุณก็จะบอกว่าเล่นอะไรไร้สาระ ในขณะที่แม่เองก็ไร้สาระนั่นแหละ พอคุณเริ่มโตขึ้น ความหลงใหลใฝ่ฝันแบบนั้นก็หายไป คนรุ่นพี่เนี่ยแค่เรามีร้านขายของชำ เราก็สามารถฝันว่าวันหนึ่งเราจะเป็นห้างเซ็นทรัล แต่สำหรับรุ่นคุณ ถ้ามีร้านขายของชำเหรอ พรุ่งนี้ก็จะมีเซเว่น อีเลฟเว่นมาเปิดแข่งแล้ว
กลับมาที่รัฐ เหตุใดจึงยินยอมปล่อยให้มีการค้าผูกขาดเกิดขึ้น ไม่ใช่ฝรั่งเก่งกว่าเรา หรือเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเรา แต่ว่าเขามีกฎหมายที่กักไว้ว่าจะต้องไม่มีการผูกขาดในธุรกิจนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถลืมตาอ้าปากได้ แต่ของเราไม่มี เห็นไหม คำถามกลับไปที่รัฐตลอดเวลา
มันเป็นเพราะอำนาจนิยม ลงมาสร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิต หรือที่จริงแล้วเป็นเพราะการใช้ชีวิตของเรา จึงทำให้มีอำนาจนิยมกันแน่
ไก่เกิดก่อนไข่ ไข่เกิดก่อนไก่ คุณเกิดมาพร้อมกับระบบนี้แล้ว การเกิดมาพร้อมกับระบบแบบใดๆ เป็นเรื่องสำคัญ เช่น คนเกิดมาพร้อมกับดิจิตอลก็ต้องเป็นดิจิตอล คนเกิดมาพร้อมกับแอนะล็อกก็เป็นแอนะล็อก คุณเกิดมาพร้อมกับอำนาจนิยมคุณก็เป็นอำนาจนิยมโดยที่ไม่รู้ตัว ในที่สุดแล้วคุณก็เริ่มแยกแยะไม่ได้ พอตกเย็นคุณก็ไปต่อต้านคนโกง แต่คุณก็ส่งลูกเข้าไปเรียนเพื่อให้เขามีเครือข่ายพวกพ้อง แล้วคุณก็ต่อต้านเครือข่ายพวกพ้อง เห็นไหมมันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย คุณเป็นทั้งต้นเหตุและปลายเหตุในตัวเอง
สงสัยว่าในแวดวงนักเขียนโด่งดัง มีปัญหาเรื่องอำนาจนิยมพวกนี้ด้วยไหม
มีทุกที่ แล้วก็มีคนเยอะแยะที่อยากได้รางวัล แล้วเมื่อได้รางวัล เขาก็จะเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับว่าดีกว่านักเขียนคนอื่น พี่ก็ได้ผลประโยชน์จากมัน นั่นหมายความว่าพี่สามารถกลายสภาพจากนักเขียนอาชีพได้ เพราะพี่มีเงินซัพพอร์ตจากการขายหนังสือ แล้วพี่ก็รู้สึกผิด เพราะว่ามีนักเขียนที่ดีๆ มากกว่าพี่เยอะแยะ แต่ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ เพราะเขาต้องทำงานประจำ รางวัลมันก็มีผลตอบแทนมาแบบนี้ หนังสือก็ขายดีเพราะมีคำว่าซีไรต์ ซึ่งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงหรอก มันขึ้นอยู่กรรมการรอบนั้นๆ ขึ้นอยู่กับหนังสือที่เข้ารอบนั้นๆ แล้วในรอบนั้นเขาให้หนึ่งรางวัลเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเล่มอื่นอาจจะดีเท่ากันก็ได้ แต่เขาจำเป็นต้องเลือกแค่หนึ่ง พอเขาเลือกขึ้นมาไม่ได้หมายความว่าคุณจะดีกว่าใคร เปล่าเลย คนเขียนหนึ่งในนั้นอาจจะเสียใจแล้วไม่อยากเขียนหนังสืออีกเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นวงการนักเขียนก็เป็นวงการอีโก้
นักเขียนรุ่นใหญ่อย่างคุณ จึงมักจะให้ความสำคัญกับนักเขียนรุ่นใหม่
ใช่ๆ พี่ก็พยายามสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่นะ ว่า เฮ้ย คุณกำลังพูดกับเจเนอเรชันของคุณนะ คุณกำลังพูดกับคนที่โตมากับคุณ มองเห็นโลกเหมือนคุณ คำถามที่พี่เจอบ่อยมากตอนช่วงที่ได้ซีไรต์ก็คือ คุณคิดว่างานของคุณให้อะไรกับสังคม โอ้โห พี่เกาตูดเลย (หัวเราะ) ถามสังคมดูนะคะ พี่ไม่ทราบค่ะ แล้วก็กลายเป็นว่าหนังสือพี่ต้องมีคุณค่า ไม่ มันควรจะอยู่กับความแปลกใหม่ อยู่กับความน่าสนใจ ควรจะอยู่กับการพูดกับเจเนอเรชันใหม่ๆ
ในหลายๆ ครั้ง ในคลาสสอนของพี่ พี่ก็พยายามบอกนักเขียนรุ่นใหม่ว่าในความรู้สึกเวิ่นเว้อของคุณ พยายามโยงเข้ามานิดนึง กับแก่นสารของความเวิ่นเว้อนั้นๆ เหตุใดเราจึงเวิ่นเว้อ เหตุใดเราถึงรู้สึกไร้ค่า ไม่มีตัวตน หนึ่ง งานจะมีน้ำหนักขึ้น สอง คุณก็เชื่อมโยงกับผู้คนในด้านลึก เพราะการเวิ่นเว้อคือแค่ผิวเผิน
อย่างเล่มล่าสุดที่ได้ซีไรต์ ซึ่งนักเขียนก็ยังอายุน้อย คุณรู้สึกไหมว่าคนไม่ค่อยพูดถึง เป็นเพราะอะไร
คนพูดแก่ไง เห็นไหม คุณก็กลับมาที่เรื่องคุณวุฒิและวัยวุฒิ แล้วก็ยังมีนักเขียนรุ่นเก่าบางคน อย่าให้เอ่ยนาม ถึงขั้นแบบว่า ‘ผมเขียนหนังสือมาก่อนคุณ’ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณเขียนดีกว่านะ มันเป็นการข่มขู่ ซึ่งจริงๆ ก็น่าเสียดายแทนน้องนะ ในขณะเดียวกันเห็นไหมว่าคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้สนับสนุนเท่าที่ควร ยอดขายเขาไม่ได้เดิน ต้องเป็นพวกรุ่นคุณกันเองที่ ‘เฮ้ย เราได้เด็กมานะ เราต้องซื้อมาอ่าน ต้องสนับสนุนเขา ต้องเขียนวิจารณ์เขา’ เพื่อให้เขาขึ้นมาได้ เราก็อยู่ในระนาบเดียวกัน
อย่างที่บอก มันกินทั้งระบบ ในที่สุดแล้วคุณก็จะเริ่มมองว่าซีไรต์พูดว่าไง กรรมการพูดว่าไง นักวิจารณ์แก่ๆ อายุครึ่งศตวรรษพูดว่าไง แทนที่พวกคุณจะเข้มแข็งพอที่จะลุกขึ้นมาบอกว่า นี่คือยุคสมัยของคุณ นี่คือเสียงของคุณ ในที่สุดเรื่องนี้ก็จะผ่าน
เพราะสำหรับคนแก่ หลุมรอเราอยู่ข้างหน้าแล้ว พี่เองก็เถิด แล้วพวกคุณก็จะมีโลกที่เป็นของพวกคุณ คำถามหลังจากนั้นคือคุณโตมาแล้วเข้มแข็งในการเป็นตัวของตัวเองอย่างไร อย่าว่าแต่การศึกษา อย่าว่าแต่เงินในแบงค์ อย่าว่าแต่แบรนด์เนม อย่าว่าแต่งานที่คุณทำ อย่าให้มันฉุดรั้งคุณไว้จากการเป็นมนุษย์ปุถุชน