วิโอเลต วอเทียร์

วิโอเลต วอเทียร์ | ความฝัน ความหวัง ความรัก และเป้าหมายในชีวิต

ภาพในมิวสิกวิดีโอเพลง Drive ของ ‘วี’ – วิโอเลต วอเทียร์ มีเด็กสาวยืนก้มหน้าระทมทุกข์กับชีวิตที่เดินมาถึงทางตัน ในขณะที่ข้างในหัวของเธอนึกฝันไปถึงการเดินทางอย่างบ้าระห่ำ เผชิญอันตราย มุ่งสู่อิสระและเสรีภาพ ราวกับว่าในฝั่งหนึ่ง คนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยกำลังโกรธและขบถ ในอีกฝั่งหนึ่ง พวกเขาและเธอก็กำลังสร้างสรรค์และเบิกบาน เราจึงอยากรู้จริงๆ ว่าคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ รุ่นที่ใครๆ ชอบเรียกว่าฮิปสเตอร์ และกล่าวหาว่าอ่อนแอ เหยาะแหยะ แท้ที่จริงแล้วพวกเขาและเธอมีความฝัน ความหวัง และเป้าหมายในชีวิตอย่างไร

วิโอเลต วอเทียร์

คุณยึดถือเรื่องอิสรภาพและเสรีภาพในชีวิตแค่ไหน

     อิสรเสรีภาพสำหรับวีคือ choice มันคือทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะการที่เราเลือกอะไร มันจะบ่งบอกว่าตัวเราเป็นใคร เรื่องนี้สำคัญ ตัวเราควรจะรู้ว่าเราเป็นใครในชีวิตนี้ ในบางช่วงเวลาที่ยังเลือกไม่ได้ ยังไม่มีเสรีภาพมากนัก วีก็ใช้วิธีเปิดรับทุกอย่างที่เข้ามา

     อย่างช่วงสอบเข้าเรียน ก็รู้แค่อยากเข้านิเทศฯ จุฬาฯ อยากเรียนภาพยนตร์ เข้าได้แล้วก็ไม่รู้ต้องทำยังไงต่อ ไม่ได้วางแผนเอาไว้หลังจากนั้น ชีวิตมันก็เลยเคว้ง แต่วีใช้วิธีลงมือทำ คือลุยกิจกรรมคณะเลย ซึ่งสมัยนั้นมีให้เราได้เล่นเต็มไปหมด แต่ไม่ได้เป็นดารานำนะ ก็ช่วยงานในแบบชนชั้นกรรมกร เขาให้ทำอะไรก็ทำ เหลาไม้ ตัดฉาก ยกของ ซึ่งรวมแล้วผลงานของพวกเราออกมาดี อย่างน้อยๆ วีก็สนุกกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำในตอนนั้น เอนจอยกับมัน ได้เพื่อนใหม่

     ดังนั้น หากเรายังเลือกไม่ได้ตามใจ ก็ขอให้ทำมันไปทั้งหมดทุกอย่างเลยแล้วกัน สุดท้ายทำมากเราก็ได้มาก เราจะได้รู้เองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร

 

ทุกวันนี้เราวัดความนิยมกันด้วยเสียงสะท้อนจากโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งสำคัญ จุดนี้ส่งผลต่ออิสรเสรีภาพในการทำงานไหม

     ยอมรับเลยว่าก่อนหน้านี้มีผลกระทบกับตัวเองเยอะ จนต้องคอยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะเขียนเพลงอย่างไรให้คนฟังชอบ คิดไปว่าเพลงจะตอบสนองใคร จนสุดท้ายกลายเป็นเพลงที่ออกมาแล้วตัวเราเองนี่แหละที่ไม่ชอบ แต่ขอไม่บอกนะว่าเพลงไหน คือเพลงมันไม่ได้แย่ แต่เราเองไม่ชอบมันอย่างเต็มที่แบบที่ควรจะเป็น จนถึงวันที่ต้องนำไปเล่นสด ก็ไม่อยากใส่มันไว้ในเพลย์ลิสต์ ไม่รู้จะจับใส่ไว้ตรงไหนดี ครึ่งๆ กลางๆ ไปหมด ทุกข์เลยทีนี้ เพราะที่สุดแล้วก็มีเพียงตัวเรานี่แหละที่จะต้องเล่นเพลงนี้ไปตลอดชีวิต

 

ว่ากันว่าคนทำคอนเทนต์มีมาร์เกตติ้งมายด์ตั้งแต่เริ่มเขียนอยู่แล้วท่อนไหนจะโดน แบบไหนฮิต คุณไม่เห็นด้วยเหรอ

     วีจะพยายามลบคำว่าโดนหรือไม่โดนออกไปก่อน ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจด้านคอมเมอร์เชียลเลยนะ เพราะยังไงเราก็ต้องอยู่กับมัน เน้นแต่สิ่งที่ชอบอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องหาจุดลงตัว

     ส่วนใหญ่แล้วเพลงของวีเขียนมาจากเรื่องส่วนตัว มีแต่อารมณ์ ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรใหญ่โต ใช้ความรู้สึกส่วนตัว เขียนจากประสบการณ์ ซึ่งส่วนตัววีให้ความสำคัญกับความรัก และมักเป็นเรื่องที่พบเจอมาไม่ก็เป็นมุมมองต่อสิ่งที่ได้เห็นได้สัมผัส แต่งออกมาเพื่อจะบอกว่าไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียวที่รู้สึกอย่างนั้น วีอยากให้คนฟังรู้สึกว่าเพลงนี้แต่งมาเพื่อฉัน เรื่องส่วนตัวเล็กๆ แบบนี้ก็สามารถเป็นเพลงที่สื่อสารและเข้าถึงกับคนวงกว้างได้

     แต่เอาจริงๆ เราคาดหวังว่าคนที่เราเขียนถึง คือไอ้คนต้นเรื่องนั่นแหละ จะต้องรู้สึกอะไรบ้างล่ะ ถ้าไม่เสียดายหรือเสียใจ ก็ต้องมีสะดุ้งมั่งแหละ

 

เหมือนกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ชอบแต่งถึงแฟนเก่าเลย

     (หัวเราะ) ใช่ๆ ก็วีชอบเทย์เลอร์ เธอเป็นแรงบันดาลใจมาตลอด เหมือนโตมาด้วยกัน ชอบในวิธีเขียนเพลง ที่เอาเรื่องส่วนตัวมากๆ มาถ่ายทอด วีเริ่มต้นเขียนเพลงส่วนหนึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเทย์เลอร์ ก่อนจะเข้าวงการ เวลานั่งดูดีวีดีคอนเสิร์ต เห็นเธอร้องเย้ให้คนดูร้องตาม วีก็ว่าวีขึ้นร้องแบบนั้นได้เหมือนกัน นั่นจึงเป็นที่มาให้เริ่มหัดทำท่าทางต่างๆ จนรู้แล้วว่าทำไมเวลาร้องลากเสียงยาวๆ ต้องยกแขนหันหน้าไปข้างๆ เพราะมันจะได้รูปที่สวย

     เวลาแต่งเพลงก็จะคิดไปว่าเพลงนี้จะเล่นที่ไหนดี โดยมากคิดถึงเวทีใหญ่ๆ แล้วคนร้องตามเรา ยิ่งไปเจอภาพตามที่คิดไว้อย่างตอนเล่นเพลง ไม่เป็นไร… เข้าใจ มีท่อนที่ทำไว้เพื่อให้คนดูร้องตาม ถึงเวลาเอาไปร้องจริงๆ ที่คอนเสิร์ต Cat Radio คนก็ร้องตามที่คาดไว้ ความรู้สึกมัน วู้… หนูจะร้องไห้ค่ะ

 

วิโอเลต วอเทียร์

 

คิดว่าทางเลือกที่มีอยู่ในชีวิตตอนนี้เป็นทางเลือกที่เลือกได้อย่างแท้จริงรึเปล่า

     เลือกได้จริงสิ แค่มันอาจจะมีกฎบางอย่างกำกับไว้ว่าทำแบบนี้ไปจะมีผลอะไรตามมาบ้าง ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียที่เราต้องเอามาชั่งน้ำหนัก บางอย่างอยากทำมากแต่มีข้อเสียตามมารุนแรง ก็ไม่ทำ

 

มาถ่ายปก a day BULLETIN วันนี้เป็นสิ่งที่วีเลือกว่าอยากมาหรือแค่เป็นตามแผนโปรโมตเพลง

     ไม่ วีมาเพราะอยากมา โอเค มีข้อดีที่ตามมาคือได้โปรโมตเพลงไปด้วย แต่วีชอบถ่ายแบบ ชอบถ่ายปก ชอบลองทำอะไรใหม่ๆ แม้จะมีผลบวกอื่นๆ ตามมา แต่จุดเริ่มที่แท้จริงคือต้องได้ทำในสิ่งที่ชอบ ที่สำคัญ วีเป็นคนเก็บอาการไม่ได้ เวลาทำในสิ่งที่ไม่ชอบๆ หน้าจะออกเลย เวลาเหวี่ยงๆ คนจะรู้เลย

 

แล้ววันนี้เหวี่ยงใส่ช่างภาพเราหรือยัง

     ยังๆ (หัวเราะ)

 

อยากรู้ว่ามีอะไรที่วิโอเลตไม่อยากทำบ้าง

     ส่วนมากหากไม่อยากทำอะไรจะบอกก่อนเลย ยกตัวอย่างงานที่ Cat Radio วีมีความสุขมากในฐานะดีเจเปิดเพลงที่คลื่นนี้ แต่พอมีอีเวนต์ ช่วงแรกๆ เขาจะชวนเป็นพิธีกรบนเวที เพราะเห็นว่ายังไงๆ ก็เป็นศิลปินที่ต้องไปเล่นและเป็นดีเจอยู่แล้ว ตอนแรกก็โอเคๆ ลองดูก็ได้ค่ะ แต่พอลองแล้วก็บอกเขา ขอไม่ทำแล้วได้ไหม วีไม่ถนัดนะ บอกกันตรงๆ วีไม่ชอบความรู้สึกอึดอัดที่ได้จากคนดูตรงนั้น ที่เราต้องคอยถ่วงเวลาบนเวที ช่วยคุมสถานการณ์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งที่คนดูไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าพิธีกรจะพูดอะไร แล้วเราจะพูดไปทำไม ซึ่งมันตรงกันข้ามกับการขึ้นเวทีในฐานะศิลปิน คนตั้งใจมาดูเรา แต่งานพิธีกรคือคนดูเขารอให้เราพูดจบ เพื่อจะรอดูการแสดงที่จะขึ้นมา ตัวเราเองรู้ดีว่าไม่ใช่คนตลกที่จะพูดอะไรไปแล้วคนรอฟังต่อเนื่องได้ ไม่เหมือนคนอื่น พิธีกรบางคนพูดเก่ง เล่าเรื่องตลก พูดจนคนดูไม่อยากให้หยุด แต่วีไม่ใช่แบบนั้น

 

วิโอเลต วอเทียร์

 

คุณจะจัดการกับความผิดหวังของคนที่ถูกปฏิเสธอย่างไร

     เออแฮะ คำถามนี้ยากจัง (นิ่งคิดนาน) คือถ้าเป็นสิ่งที่ไม่อยากทำจริงๆ ก็ต้องอธิบายกันว่ามันไม่ใช่ภาพของวี ไม่อยากให้ภาพออกมาแบบนั้น แบรนดิ้งเราไม่ตรงกันจริงๆ อย่างตอนที่มีนิตยสารชวนไปถ่ายแบบเซ็กซี่ วีก็บอกว่ามันไม่ใช่ทางเรา ตอนนี้เพิ่ง 25 ยังไม่ต้องสะบัดผ้าก็ได้มั้ง

 

ไว้รอตอน 30 กว่าก็ได้ เรารอไหว

     (หัวเราะ) ก็ไม่รู้ อาจจะไม่มีวันนั้นก็ได้ เหมือนไปถ่ายภาพขายของ วีไม่มีความจำเป็นทางการเงินที่ต้องไปทำ อีกอย่าง การเรียนนิเทศศาสตร์ทำให้เข้าใจเรื่องมาร์เกตติ้งและแบรนดิ้ง ซึ่งเราเองให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วย เห็นไหม เด็กอย่างหนูก็มีความคิดนะ ไม่ได้ปล่อยชีวิตสบายๆ ไปเรื่อย

 

แล้วแบรนดิ้งของวิโอเลตคืออะไร

     อืม… ก็ขึ้นกับมุมมองของแต่ละวัย หากเป็นกลุ่มผู้ใหญ่หน่อย ก็อยากจะให้มองว่าเราเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เอาเป็นแบบอย่างได้ ถ้ากับคนรุ่นเดียวกัน วีอยากเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ แบบประมาณว่าเขาก็ทำได้ เราก็ทำได้ วีเป็นแบบนี้ก็ทำได้ ส่วนถ้าเป็นวัยเด็กกว่าเรา เราก็อยากให้เขา look up to ได้

     ส่วนกับเรื่องงานมันต่างออกไป เพราะการทำเพลงเป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเองก่อน ดังนั้นก่อนอื่นตัวเองต้องชอบก่อน แล้วถ้ามีคนชอบด้วยก็ค่อยดีใจ เพลงจะต้องดีที่สุดก่อนแล้วจึงจะไปถึงกระบวนการพีอาร์ว่าทำแบบไหนคนจะได้เห็นได้รับรู้อย่างไร แต่เพลงต้องดีก่อน ซึ่งเพลงจะดีได้ต้องตอบโจทย์ว่าเหมาะกับเราไหม เราชอบไหม

 

วิโอเลต วอเทียร์

 

มองไปข้างหน้าอีก 10 ปี วิโอเลตจะเป็นอย่างไร

     แต่งงานมีลูกค่ะ

 

เหมือนกับบทของเจ๋ในภาพยนตร์เรื่อง ฟรีแลนซ์ฯ

     ใช่ๆ ทำไมล่ะ วีเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง อยากมีครอบครัว ลูกคนแรกเขาบอกควรมีก่อน 35 ใช่ไหม ช่วงเวลานั้นก็เหมาะสม การที่เรามีลูก เราต้องรับผิดชอบให้เขาเป็นคนที่ดีต่อสังคม เตรียมโลกให้น่าอยู่สำหรับเขา ถึงเวลานั้นมีครอบครัว มีลูกน้อย เป้าหมายของชีวิตต้องเปลี่ยนไปแล้ว งานก็ยังทำต่อ แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักเหมือนที่ผ่านมา

     อย่างเจ๋ก็เหมือนกัน หากคิดต่อเธอคงไม่หยุดทำงานหรอก คนเราต้องกินต้องใช้ แต่ความลำดับความสำคัญเปลี่ยนไปเท่านั้น หรือถ้าไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูกจริงๆ ก็คงอยู่กับเพื่อนไป สนุกดี ไม่ก็คงอยู่กับน้องชาย เพราะน้องวีคงไม่ได้แต่งงานแน่ๆ (หัวเราะ) เรื่องเพลงก็ยังคงทำต่อไป แต่พอแก่ขึ้น ไม่ได้อยู่หน้าม่านมากเหมือนตอนนี้ คงทำค่ายเพลง เอาความรู้ประสบการณ์ที่เราเจอมาถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อไปให้เขาขึ้นมาประสบความสำเร็จ

 

ในตอนนี้ฝันของคุณให้ความสุข หากอนาคตมันสร้างรายได้ลดลงไปสัก 60% จะต้องเปลี่ยนฝันไหม

     ไม่เปลี่ยน จะเปลี่ยนทำไม ต่อให้ทำแล้วไม่ได้เงินก็ไม่เปลี่ยน ก็ชอบแบบนี้ ทำแล้วมีความสุข แต่คงต้องหางานใหม่เข้ามาเพื่อให้ได้เงิน แต่ฝันกับความสุขก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องเก็บเอาไว้ ยิ่งตอนนี้เป็นโลกโซเชียลฯ ทุกอย่างเปิดโอกาสให้ใครทำอะไรก็ได้ โลกมันเปิดแล้วเราลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้

 


เรื่อง: พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์ สไตลิสต์: Hotcake เสื้อผ้า: DISAYA