สตรีทอาร์ต

เปิดกว้างเพื่อความหลากหลาย ความคูลจากการเคารพกันและกัน เบื้องหลังกราฟฟิตี้ในสิงคโปร์

ปกติเวลาแพลนไปเที่ยวประเทศสิงคโปร์ เรามักใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณสามวัน เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางไปง่าย ใช้เวลาไม่นาน มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกครบมาก (เผลอๆ จะดีกว่าบ้านเราเสียอีก) และเนื่องจากเป็นประเทศเล็กๆ เส้นทางการเดินทางของเราจึงวางแผนง่ายมาก สถานที่สำคัญส่วนใหญ่สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าที่เกือบจะครอบคลุม แต่ถึงแม้รถไฟฟ้าจะไปไม่ถึง การขึ้นรถประจำทางของที่นั่นก็ไม่ยาก เพราะสามารถตื๊ด! บัตรให้หักเงินจากบัตรรถไฟฟ้าได้เลย หรือแม้แต่แท็กซี่ก็ราคาไม่แพง (ถ้าไม่ใช่ช่วงไพรม์ไทม์)

     แนวทางการเที่ยวหลักๆ สำหรับเรา หากไม่ใช่การช้อปฯ กระจายที่ย่าน Orchard ไปฮอปปิ้งคาเฟ่และบาร์ตามไลฟ์สไตล์วัยรุ่น หรือพาเพื่อนไปตื่นเต้นที่สวนสนุกยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ถ้ามีเวลามากพอ ไม่เร่งรีบ เราก็จะปลีกตัวไปเดินชมงานศิลปะตามแกลเลอรีและมิวเซียมชั้นนำ โดยเฉพาะถ้าสังเกตสองข้างทางที่เดินผ่านให้ถี่ถ้วนอีกนิด จะเห็นว่าเมืองที่ดูเป็นแพตเทิร์น ตึกรามบ้านช่องที่หน้าตาดูคล้ายกัน เริ่มมีงานสตรีทอาร์ตเข้ามาเพิ่มสีสันกับเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

     Sam Lo หรือ SKL0 คือศิลปินสตรีทอาร์ตีที่น่าจับตามองจากเกาะสิงคโปร์ เอกลักษณ์ของเธอคืองานที่หยิบจับสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งเก่าและใหม่ถ่ายทอดออกมาบนงาน painting และ sculpting กับคนที่มีโอกาสเห็นงานของเธอแบบผ่านตา อาจรู้สึกเหมือนเราว่า นอกจากความจัดจ้านของสีสัน ความคมของลายเส้น ในงานของ แซม โล นั้นจะมีเซนส์ของความร่วมสมัยที่ชัดเจนและโดดเด่นมาก

     มิตรภาพที่ดีของเธอนั้นไม่เพียงแต่จะพาเราไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของสตรีทอาร์ตในบ้านเกิดของเธอแล้ว เรายังได้ร่วมนั่งพูดคุยกับศิลปินท้องถิ่นคนนี้ร่วมกับ รักกิจ สถาพรวจนา หนึ่งในศิลปินสตรีทอาร์ตเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทยไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อให้เห็นภาพว่างานศิลปะของที่นี่เปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ มีพลังขนาดไหน ก่อนที่พวกเขาจะพาเราไปเดินชมงานศิลปะที่ซ่อนตัวอยู่ตามซอกมุมเล็กๆ ระหว่างตึกออฟฟิศ ย่านแลนด์มาร์ก สถานที่ท่องเที่ยว หรือในย่านที่อยู่อาศัยของชาวสิงคโปร์

 

สตรีทอาร์ต

 

จุดเริ่มต้นของคุณทั้งสองมาจากการทำงานสายคอมเมอร์เชียล อย่างคุณรักกิจก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาก่อน Sam Lo ก็เป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ที่ทำงานด้าน creative consult แล้วอะไรที่ทำให้พวกคุณกลายมาเป็นคนทำงานศิลปะสายสตรีทอาร์ตได้

     แซม: ตอนที่ทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ราว 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรากำลังหาข้อมูลของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ เราเริ่มพูดคุยและสัมภาษณ์กับคนหลายๆ คนเกี่ยวกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในสิงคโปร์ โดยเริ่มต้นที่ถนน Haji Lane และพบงานสตรีทอาร์ตที่เป็นสติกเกอร์ที่ทรงพลังอยู่ตามกำแพงเต็มไปหมด ซึ่งผลงานนับร้อยชิ้นเหล่านั้นสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับเรา เรารักพลังของการสร้างสรรค์นี้เพราะมันสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่น่าสนใจออกมาสู่ท้องถนน

 

     รักกิจ: สำหรับผม มาจากการได้รับโอกาสจากพี่ P7 เมื่อราวๆ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเขามาชวนผมไปทำงานกราฟฟิตี้ที่กำแพงของหอศิลป์ฯ ตอนนั้นยอมรับว่าตัวเองไม่ถนัดงานศิลปะแบบฟรีแฮนด์ เลยต้องทำการบ้านหนักหน่อยเพราะต้องหาวิธีที่เราจะทำงานร่วมกับ P7 ได้ และงานนี้ก็มีศิลปินหลายคนมาทำงานร่วมกัน เลยลองใช้วิธีของ block stencil คือการทำบล็อกเพื่อเป็นลายเส้น และทำเทมเพลตเพื่อพ่นสี ก็พลิกแพลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นรูปขึ้นมา ไปๆ มาๆ เทคนิคนี้ก็ทำให้เกิดเป็นสไตล์ของตัวเอง แล้วก็พบว่าเราได้รับพลังจากงานนี้กลับมาเยอะมาก เลยทำงานสตรีทอาร์ตต่อจนถึงวันนี้

 

 

สตรีทอาร์ตมีความหมายกับพวกคุณอย่างไร เพราะบางคนก็บอกว่าคือการปลดแอกทางความคิดสร้างสรรค์ บางคนก็ยกให้เป็นแกลเลอรีนอกสถานที่ เป็นงานศิลปะที่สะท้อนสังคม หรือเป็นสื่อที่ทำให้ตั้งคำถามบางอย่างต่อสังคม

     แซม: ตอนทำโปรเจ็กต์ My Grandfather’s Road พอมีคนรู้ว่างานสติกเกอร์โปรเจ็กต์นี้เป็นของเรา ก็ได้รับคำติชมที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งนี่คือเรื่องที่ดีที่มีคนจำนวนมากพูดถึง ผลตอบรับที่ได้รับกลับมาแข็งแรงมาก เมื่อเทียบกับความหวังในตอนแรกที่ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เรียกว่าเป็นภารกิจที่ทำไปแบบไม่รู้ผลอะไรด้วยซ้ำ (innocence mission) ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมาจากงานสตรีทอาร์ตก็คือทำให้เรารู้ว่าตัวเองคิดไม่ผิด และมุ่งมั่นต่อไปว่า Yeah! Life Goes On

 

     รักกิจ: ทุกอย่างมันมีสองด้าน สตรีทอาร์ตเป็นแค่สื่ออีกตัวหนึ่งเท่านั้น อยู่แค่ว่าคนใช้จะสื่อสารเรื่องอะไรออกมา และนำสตรีทอาร์ตนี้มาใช้ในการนำเสนอแบบไหน ถ้าเขาอยากสื่อสารด้วยความก้าวร้าว ผลงานก็จะออกมาเป็นแบบนั้น แต่สำหรับผม ผมแค่นำรูปสัตว์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เพราะเมืองมีแต่ตึกแข็งๆ ที่ไม่มีความรู้สึกของธรรมชาติ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ความรู้สึกของธรรมชาติน้อยลงไปทุกวัน ผมอยากให้คนมีที่พักสายตาบ้าง ให้คนเห็นแล้วคิดถึงพวกสัตว์กันบ้าง นี่คือความหมายที่ผมแฝงเอาไว้ในงาน ส่วนรูปแบบหรือลายเส้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการนำเสนอ คนจะคิดตามหรือไม่นั้นอยู่ในรายละเอียดข้างในของผลงาน

 

สตรีทอาร์ต

 

สำหรับประเด็นเรื่องสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากในตอนนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโลก ถ้าในมุมของการเรียกร้องให้คนตื่นตัว คุณสนใจในประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน

     รักกิจ: ผมมองว่าเรื่องนี้แล้วแต่จังหวะ อย่างเช่นเรื่องของเสือดำ ผมก็จะซ่อนเมสเสจเอาไว้เยอะหน่อย แต่ถ้าเรื่องทั่วไป ผมจะมองก่อนว่าสเปซที่เรากำลังจะทำงานนี้เหมาะกับสัตว์ชนิดไหน หรือถ้าเอาสัตว์ท้องถิ่นมาใช้จะเข้ากับบริบทของพื้นที่ได้ไหม เพราะสถานที่แต่ละแห่งก็จะมีวิธีคิดต่างกัน บางโปรเจ็กต์อย่างตรงสะพานหัวช้าง ผมก็จะเอาช้างมาเล่น แต่ถ้าไปอินเดียผมจะเจอกับอีกาที่ไม่เหมือนอีกาในบ้านเรา ตรงคอของมันจะมีสีเทาแซมอยู่ ก็จะหยิบเอาอีกามาใช้แล้วเรื่องราวก็เปลี่ยน

 

แล้วผลงานของ Sam ล่ะ สร้างแรงบันดาลใจอะไรให้แก่คนสิงคโปร์ได้บ้าง

     แซม: มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่ศิลปะจะช่วยเล่าถึงบริบทความเป็นจริงที่คนจะสัมผัสได้ และเรารู้สึกว่าศิลปะช่วยให้คนไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อย่างงานสติกเกอร์ เป็นอีกหนึ่งภาษาที่ช่วยสร้างสีสัน สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนที่ได้พบเห็น เป็นอีกมุมที่น่ารักของสิงคโปร์ และทำให้เราเข้าใจว่าศิลปะนั้นเชื่อมไปยังความรู้สึกของคนได้อย่างไร นี่คือความเจ๋งที่เราได้รับจากการทำงานศิลปะ

 

ถ้าอย่างนั้นบริบทระหว่างสถานที่กับความคิดของคนสร้างสรรค์ อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของงานสตรีทอาร์ต

     รักกิจ: ผมว่าอยู่ที่คนมากกว่าสถานที่ ก็คือตัวศิลปินและคนดูต่างหากที่จะทำให้งานสตรีทอาร์ตชิ้นนั้นสมบูรณ์ ถ้าเราทำแล้วมีความสุข เจ้าของสถานที่มีความสุข ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง พอคนมาเห็นแล้วชอบ อยากถ่ายรูป อยากเอาไปแชร์ต่อ หรือคิดอะไรต่อได้ ก็ถือเป็นเป็นอีกความสำเร็จที่ต่อเนื่องจากความสำเร็จแรก แต่วิธีที่จะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่สามารถใช้อะไรมาเป็นหลักตายตัวได้ เพราะคนแต่ละคนก็ต่างความคิดต่างที่มา

     อย่างเรื่องของเสือดำอาจจะมีพลังในเรื่องของเมสเสจ แต่เรื่องอื่นก็สร้างผลกระทบแบบนี้ได้นะ อย่างเช่นที่ภูเก็ต ผมนำขนมมาทำเป็นรูปสัตว์แล้วตั้งไว้ในย่านเมืองเก่า พลังก็ถูกส่งมาจากรอบๆ ตัวกำแพงเองก็ส่งเสริมเรื่องราวของผลงาน จริงๆ ทุกสถานที่ก็มีผลกับความรู้สึกของผมหมด เพราะมีเรื่องราวที่ยากลำบากต่างๆ เกิดขึ้นระหว่างทำงาน ดังนั้น เราจะอินกับงานทุกชิ้นที่ทำ

 

เมื่อก่อนเราอาจจะตั้งคำถามว่าศิลปินที่ทำแต่งานศิลปะจะอยู่ได้ไหม แต่ตอนนี้พูดได้เลยว่าเราสามารถทำงานศิลปะเพื่อดำรงชีพได้แล้ว

 

พูดถึงบริบทของสถานที่ อยากถาม Sam Lo เหมือนกันว่าสิงคโปร์นั้นถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดมากๆ ในฐานะคนที่นี่คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นกับประเทศนี้บ้างในการทำงานศิลปะ

     แซม: สิงคโปร์เป็นประเทศเกิดใหม่ ก็ต้องยอมรับว่าเราอาจไม่ได้มีรากเหง้าที่ฝังลึกในเรื่องศิลปะเท่าไหร่ เราไม่ได้โฟกัสเรื่องศิลปะเมื่อเทียบกับเรื่องของเศรษฐกิจ แต่เราคิดว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับงานศิลปะนะ โดยเฉพาะ 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีศูนย์รวมของงานศิลปะเกิดขึ้นเรื่อยๆ มีโรงเรียนสอนศิลปะเกิดขึ้นมากมาย ได้เห็นอาร์ตอีเวนต์ที่จัดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะมากขึ้น คนเริ่มเห็นความสำคัญของงานศิลปะมากขึ้น ศิลปะถูกกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น รัฐบาลเองก็ออกทุนให้แก่ศิลปินไปสร้างงานศิลปะ เมื่อก่อนเราอาจจะตั้งคำถามว่าศิลปินที่ทำแต่งานศิลปะจะอยู่ได้ไหม แต่ตอนนี้พูดได้เลยว่าเราสามารถทำงานศิลปะเพื่อดำรงชีพได้แล้ว

 

แล้วสำหรับคุณรักกิจล่ะ ความเคลื่อนไหวของงานศิลปะของสิงคโปร์ในสายตาคุณเป็นอย่างไร

     รักกิจ: ประเทศเขาค่อนข้างเล็ก เลยไม่ได้จัดเทศกาลศิลปะบ่อยๆ คนนอกเลยไม่ค่อยรู้ว่าที่นี่มีงานนิทรรศการ มีงานสตรีทอาร์ต สิงคโปร์มีความเป็นเมืองที่ทันสมัยในสายตาเรา มีสถาปัตยกรรมล้ำๆ มีตึกที่มีดีไซน์ระดับโลกเยอะมาก เมื่อก่อนเราแทบจะไม่รู้เลยว่าที่นี่มีงานสตรีทอาร์ตด้วย ซีนของที่นี่น้อยมากเลย แล้วเขาก็ไม่ได้จัดเฟสติวัลอะไร เราก็ไม่รู้ว่าที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับศิลปะมากน้อยแค่ไหน แต่พอได้มารู้จักแซม เราก็ได้รู้เพิ่มขึ้น

 

     แซม: งานของพวกเราคือการเพนต์กำแพงโดยการจ้างของเอเจนซีให้ทำโปรเจ็กต์ เราไม่มีกำแพงทิ้งร้างไว้ให้ฝึกฝนฝีมือเลย (หัวเราะ) การหากำแพงทิ้งร้างเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีกฎหมายของการใช้งานกำแพง แต่ทางสถาบันศิลปะนานาชาติของที่นี่กำลังทำงานกันมากขึ้นเพื่อหาพื้นที่ให้พวกเราได้เพนต์ เพราะตอนนี้เรามี commission wall ด้วย เช่น ในลิตเติลอินเดียที่เขาอนุญาตให้เราเพนต์ได้อย่างถูกกฎหมาย

 

สตรีทอาร์ต

 

แสดงว่างานสตรีทอาร์ตถือว่าเป็น hidden place อีกจุดหนึ่งของที่นี่ และน่าจะเป็นสิ่งใหม่ของคนที่อยากเห็นอะไรที่แปลกใหม่ในการมาเที่ยวสิงคโปร์

     รักกิจ: ผมว่าต้องเป็นคนที่สนใจเรื่องนี้จริงๆ เขาถึงจะมาตามหา แต่สำหรับคนทั่วไป ก็น่าสนใจที่จะลองมาเที่ยวเช่นกัน เพราะแต่ละพื้นที่จะมีงานสตรีทอาร์ตซ่อนอยู่เยอะ เช่น ตรง SkatePark ถ้านั่งรถผ่านคุณจะเห็นเลยว่ามีงานสตรีทอาร์ตอยู่พอสมควร ผมเคยคิดว่าเราจะไปพ่นตรงกำแพงนั้นได้หรือเปล่า (หัวเราะ) พอได้คุยกับคนที่นี่จริงๆ ถึงรู้ว่าต้องมีการคุยกันก่อน คือที่ประเทศไทยทำกันได้ แต่ที่สิงคโปร์เขาเหมือนแชร์พื้นที่กัน ดังนั้น เขาน่าจะมีความเคารพกันอยู่พอสมควร

 

     แซม: พวกเราไม่ค่อยบอมบ์งานกันเท่าไหร่นะ (หัวเราะ) ถ้าเราอยากเพนต์บนกำแพงนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ากำแพงตรงนั้นเป็นของใครด้วย เราจะปล่อยให้งานนั้นอยู่สักสองสามอาทิตย์ จากนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจเพนต์ทับก็จะรอเวลาสองสามวัน ถ่ายรูปงานชิ้นนั้นก่อนที่จะเพนต์ลงไป และแจ้งไปยังศิลปินเจ้าของงานว่าเราจะเพนต์ทับบนงานของคุณนะ ถ้าเขาโอเค เราก็จะทำ ถ้าไม่ เราก็จะไม่ทำ เราค่อนข้างให้ความเคารพเจ้าของงานชิ้นก่อน เรารู้สึกว่าถ้าเราไปเพนต์ทับงานของเขาโดยที่ไม่บอกก่อนมันไม่คูล

 

 

เราเคยได้ยินว่าถ้าเศรษฐกิจโดยรวมดี คนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก งานศิลปะก็จะเฟื่องฟูตามไปด้วย เรื่องนี้จริงแต่ไหน

     แซม: เราเชื่อว่าเมื่อก่อนคนโฟกัสไปที่การหาเงินเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จึงทำงานหนักมาก เพราะอยากมีฐานะที่ดีขึ้น เลยเลี่ยงไม่ได้ที่คนรุ่นก่อนจะมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวเป็นสิ่งแรก นี่คือความจริง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้น เราไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องพวกนั้นแล้ว ดังนั้น งานศิลปะจึงมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและสามารถทำเงินได้

 

     รักกิจ: สิงคโปร์เปลี่ยนไปมากจนน่าอิจฉา ที่เมืองไทยยังไม่มีพื้นที่ให้ทำงานสตรีทอาร์ตแบบ SkatePark ด้วยมั้ง สำหรับคนสิงคโปร์เวลาเขาสนใจอะไร เขาจะทำอย่างเต็มที่ แล้วทำออกมาได้ดีมากๆ คนสิงคโปร์อาจดูว่ามีความเคร่งเครียด แต่สิ่งแวดล้อมของที่นี่ทำให้พวกเขามีความสนุกมากขึ้น เพราะนอกจากตึกสวยๆ ยังมีหลายโซนที่รองรับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ทำให้ประเทศนี้มีความหลากหลายมากกว่าที่คิด

 

     แซม: เราคิดว่าเรากำลังจะเห็นงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น แลนมาร์กดังๆ อย่าง Haji Lane หรือ Tiong Bahru ก็เป็นถนนที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ และเครือข่ายของศิลปินก็อยู่รอบๆ มี art residency มากมาย ทุกสิ่งทุกอย่างค่อยๆ สนับสนุนให้ศิลปะมีความสำคัญมากขึ้น เหมือนเป็นความร่วมมือร่วมใจ เมื่อมีงานศิลปะเกิดขึ้นมา แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่เมื่อมีคนเห็นก็ทำให้งานศิลปะชิ้นอื่นๆ เกิดตามขึ้นมาด้วย

 

 

อยากรู้ว่าศิลปินที่อยู่ในสิงคโปร์เขาหารายได้กันด้วยวิธีไหน

     แซม: เท่าที่เห็น ศิลปินส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างน้อยสองงาน เช่น ทำงานประจำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์หรือเป็นนักดนตรี แล้วค่อยใช้ชีวิตอีกด้านมาทำงานศิลปะที่ตัวเองชอบ เป็นการบาลานซ์ชีวิต หมายความว่าเราจะฝึกฝนแต่ทักษะทางด้านศิลปะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้เวลาในการหาความรู้ เช่น เรื่องข้อตกลง การทำสัญญา หรือการออกไปเจอคนใหม่ๆ ซึ่งฟังแล้วอาจจะยากแต่ก็ต้องทำ เพราะสุดท้ายเราเชื่อว่างานของเราจะพาไปพบกับผู้คนมากขึ้น ผลงานจะถูกบันทึก ถูกเห็น แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องโฟกัสในสไตล์ของตัวเองให้ได้ เพราะถ้าคุณมีลายเซ็นของตัวเองชัดเจน เดี๋ยวก็จะมีรายได้เข้ามาหาเอง

 

 

สไตล์ที่ชัดเจนนี้รวมถึงความเป็น Singapore Style ด้วยไหม

     แซม: เราเพิ่งเคยได้ยินคำนี้ครั้งแรกนะ (หัวเราะ) แต่คุณรู้ไหมที่นี่มีทั้งงานออกแบบตัวอักษร มีเรื่องของแพตเทิร์น มีลวดลายที่แตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งเฉดสีที่อยู่รอบตัว พวกเราสามารถเอามาใช้ในงานของตัวเอง ดังนั้น เราไม่รู้หรอกว่างานที่เรียกว่าสิงคโปร์สไตล์คืออะไรหรือเป็นแบบไหน แต่สตรีทอาร์ตของพวกเราเกิดขึ้นจากการนำหลายๆ อย่างมารวมเข้าไว้ด้วยกัน แต่ถ้าพูดถึงโปรเจ็กต์ที่รับจ้างทำให้เขานั้น จะเป็นงานที่เน้นความรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้คือวัฒนธรรมของพวกเรา (หัวเราะ)

 

     รักกิจ: สำหรับผม ผมมองว่าสิงคโปร์สไตล์มีอยู่ แต่บอกให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้ อาจจะเป็นอารมณ์ของการจำกัดขอบเขตของอิสระบางอย่าง เหมือนที่แซมบอกว่าก็มีศิลปินไทยมาทำงานกราฟฟิตี้ที่นี่ แต่เราไม่ค่อยได้รู้หรือได้ยินข่าว ซึ่งจริงๆ ที่นี่ก็มีพื้นที่ให้ทำงานได้ เพียงแต่คนยังไม่รู้เยอะเท่านั้น

 

สตรีทอาร์ต

 

ถ้าให้แนะนำสถานที่สำหรับไปดูงานสตรีทอาร์ตเจ๋งๆ ในสิงคโปร์ เราควรไปที่ไหนบ้าง

     แซม: มีสองสามที่ที่เราคิดว่าน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ Heartland Area ที่เราเห็นว่าสามารถทำอะไรได้อีกมากมายเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่สาธารณะของงานศิลปะ โลเกชันจะคล้ายๆ ย่านลิตเติลอินเดีย เพราะมีกำแพงเกิดใหม่เยอะมาก เรารอวันที่จะได้เห็นงานศิลปะเกิดขึ้นตรงนั้นมาก และตรงนาทาวน์ ที่นั่นมีงานกราฟฟิตี้บนกำแพงขนาดใหญ่ และมีแรงบันดาลใจให้คุณค้นหาเยอะมาก แต่ทั้งหมดนี้คุณต้องออกไปเดินแล้วก็มองหาเองจริงๆ เพราะยังมีมุมกำแพงที่รอเซอร์ไพรส์คุณอีกเยอะ หลายที่ยังไม่ถูกพบเห็น และรอให้ใครหลายคนเข้าไปหามัน การที่ได้เห็นสีสันพวกนั้นมันต้องเซอร์ไพร์สคุณได้แน่ๆ

 

      รักกิจ: ผมมางาน Culture Cartel ช่วงปลายปีที่แล้ว เป็นงานรวมศิลปินสตรีทอาร์ต นักดนตรี ช่างสัก พูดง่ายๆ ว่าเป็นงานที่รวมทุกอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมของสตรีทอาร์ต ซึ่งมากี่ครั้งก็ประทับใจในความเป็นเมืองที่เนี้ยบมากของที่นี่ เราจะไม่เห็นแหล่งเสื่อมโทรมเลย คงเป็นเพราะคนที่นี่มีความประณีตในทุกรายละเอียด ทำให้ทุกอย่างดูเนี้ยบไปหมด

 

 

ดังนั้น ความเนี้ยบจึงไม่ได้เท่ากับการไม่มีงานศิลปะปรากฏให้เห็น?

     รักกิจ: แรกๆ เราก็คิดว่าสิงคโปร์คงไม่มีงานศิลปะให้ดูเท่าไหร่หรอก (หัวเราะ) แต่พอมาเห็นจริงๆ ความคิดเปลี่ยนเลย ประเทศไทยแม้ว่าจะใหญ่ แต่ความหลากหลายของสถานที่แสดงงานศิลปะยังน้อย แต่ที่สิงคโปร์เขาให้ความสำคัญ เขาเต็มที่ อย่างงานศิลปะที่เอามาโชว์ในพิพิธภัณฑ์ เห็นครั้งแรกเราเหวอไปเลย ศิลปินดังๆ ก็เยอะ พอดูในเรื่องของรายละเอียด พวกเขาลงลึกมากจริงๆ สำหรับคนที่อยากมาดูงานศิลปะที่สิงคโปร์อาจต้องทำการบ้านเยอะหน่อย แต่ถ้าได้มาเห็นนี่คุ้มค่ามากเลย

แนะนำได้ไหมว่าต้องไปที่ไหน เผื่อครั้งหน้าจะแพ็กกระเป๋ามาตามรอยดูงานศิลปะสไตล์รักกิจบ้าง

     รักกิจ: ตามแกลเลอรีต่างๆ เลย แต่ต้องหาข้อมูลกันหน่อยว่าเขามีงานอะไรบ้าง แต่ถ้าเอาง่ายจริงๆ ก็ในห้างสรรพสินค้า เพราะเขามีงานประติมากรรมของศิลปินดังๆ ตั้งแสดงไว้ เอาจริงๆ นะ เหมือนว่าเมืองของเขามีงานศิลปะกระจายไปทุกที่ เพราะเราพบเห็นได้ง่ายมาก ผมเชื่อว่าคนรักศิลปะจะสนุกกับเมืองนี้ได้

 

นึกภาพออกเลย เพราะตอนที่ไปเดินเล่นแถวสะพานคาเวนาห์ เราก็จะเห็นรูปปั้นเด็กกระโดดน้ำที่สวยงามอยู่ตรงริมทางเดิน หรือใกล้ๆ กันก็เป็นรูปปั้นคนยืนคุยกัน

     แซม: สิงคโปร์มีศิลปะหลายแขนงมาก และมีอุตสาหกรรมหลากหลายที่รองรับงานศิลปะด้วย ดังนั้น จึงมีศิลปินบางกลุ่มที่ได้รับการซัพพอร์ตจากทางรัฐบาล ได้รับเงินทุนเพื่อการทำโปรเจ็กต์ศิลปะ ซึ่งเราชื่นชมรัฐบาลของเรา เพราะว่าเขาช่วยขยายโอกาสให้ศิลปินสื่อสารกับคนดูของพวกเขาได้มากขึ้น มีโอกาสได้โชว์งานของตัวเอง ถ้าพวกเราไม่ได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐ เราก็คงไม่ได้โชว์ให้ต่างประเทศเห็นว่าศิลปินสิงคโปร์ทำอะไรได้บ้าง

     ในเวลาเดียวกัน ทางรัฐบาลก็ตั้งใจดึงศิลปินจากข้างนอกเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์กับพวกเราและสร้างความตื่นตาตื่นใจมาก เพราะเวลาไปงานอีเวนต์ก็จะได้เห็นงานเจ๋งๆ เยอะแยะมากมาย เห็นวิธีคิดที่ต่างไปจากพวกเรา ได้เปิดโลกมากขึ้นด้วยตาตัวเอง ได้เรียนรู้โดยตรงจากตัวศิลปิน มันเป็นประสบการณ์ตรง ได้เห็นทั้งงานเล็กงานใหญ่ เราคิดว่าถ้าภาครัฐไม่เข้ามาสนับสนุน เราก็คงไม่มีโอกาสเหล่านี้

 

     รักกิจ: มาสิงคโปร์แต่ละครั้ง ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะทุกครั้ง มีการจัดงานแสดงศิลปะที่หลากหลายขึ้น ระบบต่างๆ ขององค์กรก็ทำได้ดีมาก เหมือนกับว่าเขาดีไซน์ทุกอย่างไว้ก่อน และคิดไว้ดีมากๆ ถ้าอยากดูงานศิลปะ การมาที่นี่จะได้อะไรกลับไปเยอะจริงๆ

 


สัมภาษณ์: เบญจวรรณ มังกรอัศวกุล และ น้ำปาย ไชยฤทธิ์ เรียบเรียง: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ ถ่ายภาพ: ธนดิษ ศรียานงค์