วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล: ความสุขของใจและชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการออกเดินทาง

เหตุผลกลใดมนุษย์ถึงต้องออกเดินทางไปยังพื้นที่แห่งใหม่อยู่เสมอ? หากมองไปไกลกว่าเรื่องความรื่นรมย์ หนึ่งในเหตุผลที่ขับเคลื่อนให้คนเราออกเดินทางคือความต้องการแสวงหาบางอย่างมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากก้นบึ้งของหัวใจ ‘สิงห์’ – วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่เริ่มออกเดินทางด้วยเหตุผลนี้

        ย้อนกลับไปยังจุดเปลี่ยนสำคัญหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายในเส้นทางชีวิตของเขา เกิดขึ้นในวัย 25 ปี เขาเริ่มต้นจากการเป็นพิธีกรรายการ พื้นที่ชีวิต ซึ่งทำให้เขาออกเดินทางไปในประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกเฉลี่ยปีละมากกว่าสิบทริป เพื่อแสวงหา ศึกษา และเรียนรู้ประสบการณ์ นำมาซึ่งความเข้าใจถึงความหลากหลายของชีวิตในมิติต่างๆ จากนั้น เขาได้ผันตัวเองเป็นนักเดินทางและทำงานสารคดีอย่างจริงจัง

        จนกระทั่งผลงานสร้างสรรค์รายการสารคดี เถื่อน travel ออกอากาศครั้งแรก ด้วยวิธีการนำเสนอจากคอนเซ็ปต์การเดินทางไปในที่ที่คนปกติไม่ไปกัน โดยเฉพาะแถบประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งระดับรุนแรงและสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต รวมถึงวิธีการทำงานแบบ One Man Production โดยเขาเลือกออกเดินทางตามลำพังพร้อมรับหน้าที่เป็นทั้งพิธีกร เขียนสคริปต์ และถ่ายทำเอง ทั้งหมดนี้ทำให้รายการได้รับความสนใจและเสียงตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนทำให้เกิดซีซันที่สองตามมา

        แต่ทุกอย่างย่อมมีวาระของมัน เวลาผันผ่านมา 10 ปี เมื่อก้นบึ้งของหัวใจที่เคยว่างเปล่า ส่วนของชีวิตที่เคยวิ่นแหว่งได้รับการเติมเต็มจนปริ่ม ณ จุดนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ มันคือช่วงเวลาที่ทำให้เขากลับมาทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด 

        ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความวุ่นวายนานัปการตลอดการเดินทาง จนบางครั้งเกิดเป็นความทุกข์ทั้งทางร่างกายและในความรู้สึก แต่เมื่อฟันฝ่าความยากลำบากเหล่านั้นมาได้ ประสบการณ์และสิ่งที่ได้พบเจอมาทั้งหมดกำลังบอกให้เขาตระหนักว่า ท้ายที่สุดแล้วสิ่งใดกันแน่ที่สร้างความหมายของการมีชีวิต และเป็นสิ่งเดียวกันกับที่เขาตรากตรำออกเดินทางเพื่อแสวงหาหรือเปล่า

        หรือจุดมุ่งหมายสูงสุดของการมีชีวิตอาจเป็นเพียงความสงบสุขภายในใจ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แล้วการออกเดินทางไปไกลแสนไกลนั้นสลักสำคัญขนาดไหนกัน

        บทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อจากนี้คือคำตอบของเขาในวัย 35 ปี ในฐานะผู้ที่ออกเดินทางไปสัมผัสกับรายละเอียดของชีวิตและสรรพสิ่งที่ประกอบสร้างและหลอมรวมเป็นโลก รวมถึงเขาและเราทุกคน

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

คุณเติบโตมาในบรรยากาศปัญญาชน คนทางบ้านเป็นนักคิดนักวิชาการ เรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง น่าจะเป็นสิ่งที่คุณคุ้นชินมาตั้งแต่เด็กๆ อะไรคือสิ่งสำคัญที่คุณได้เรียนรู้หรือได้รับการปลูกฝังจากพื้นฐานครอบครัว 

        เมื่อก่อนเคยคิดว่าพ่อแม่เขาพยายามปลูกฝังเราเรื่องความอยากรู้อยากเห็น จนเมื่อโตขึ้น เราพบสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น การที่พ่อแม่เราเคยพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมมาก่อน ถ้าพูดด้วยภาษาขำๆ คือมั่นใจกันเบอร์ไหน (หัวเราะ) สิ่งนี้เองจึงส่งผ่านมาถึงลูกด้วย คือคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในโลก หลายครั้งที่เห็นประเด็นต่างๆ ในโลกแล้วรู้สึกว่ามันใหญ่มากๆ เช่น สงคราม สิ่งแวดล้อม หรือความเหลื่อมล้ำ คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวโดยอัตโนมัติคือเราทำอะไรได้บ้าง ฟังแล้วเหมือนเป็นการโอ้อวด แต่เราไม่ได้อยากโอ้อวดว่าทำได้ แค่บอกว่าคำถามแรกคือถามตัวเองก่อนว่าทำอะไรได้บ้าง เป็นความรู้สึกที่ว่าเรามีส่วนร่วมกับความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ส่งผ่านมาจากพ่อแม่ เริ่มต้นจากความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย ความอยากเอาตัวเองไปเข้าใจโลก และเชื่อมโยงกับโลกมากกว่านี้

        จริงๆ พ่อแม่ไม่ค่อยเล่าเรื่องตัวเองในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือช่วงวัยรุ่นให้ฟังเท่าไหร่ ถ้าถามก็เล่านะ แต่คนส่วนมากจดจำพวกเขาในช่วงเวลาหนึ่งว่าเข้าป่า ต่อสู้กับรัฐบาล ออกมาเป็นนักเขียน แต่สำหรับพ่อแม่เอง เวลาไม่ได้หยุดอยู่ที่จุดนั้น มันดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ผ่านการเป็นนักปฏิวัติ สู่การเป็นอาจารย์ เป็นนักเขียน เป็นพ่อเป็นแม่คน มีครอบครัว จากคนหนุ่มคนสาวสู่วัยกลางคนและวัยสูงอายุ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อแม่จึงไม่ได้อิงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แต่อิงจากตัวตนของพวกเขาที่สะท้อนออกมาผ่านวิธีการเลี้ยงดู แล้วสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องอิสรภาพ เรามีอิสรภาพเยอะมากตั้งแต่เด็ก ส่วนประเด็นสังคมและวิชาการก็เป็นสิ่งที่กลมกลืนกับบทสนทนาตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่การยัดเยียดแต่เป็นความอยากรู้มากกว่า เพราะพวกเรารู้สึกว่าทุกอย่างในโลกมีแง่มุมน่าสนใจไปหมด นำมาซึ่งการงานของแต่ละคน แม่เป็นสายประวัติศาสตร์ พ่อเป็นสายสังคมการเมือง พี่ชายเป็นสายวิทยาศาสตร์ ส่วนผมก็เป็นการเดินทางและวัฒนธรรม

แต่วัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้อยากลองไปหมด เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อชีวิตมีอิสรภาพมาก คุณในตอนนั้นค้นหาตัวตนหรือเติบโตขึ้นมาในวิถีทางใด เหมือนหรือแตกต่างจากคุณพ่อและคุณแม่ในช่วงวัยหนุ่มสาว

        เหมือนหรือต่างพ่อแม่น่าจะตอบได้ชัดเจนกว่า เพราะกว่าเราจะโตขึ้นมารู้เรื่อง พ่อแม่ก็เป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว (หัวเราะ) แต่ตอนอายุสิบสี่สิบห้านี่เป็นวัยที่สนใจแต่ตัวเองค่อนข้างเยอะ เริ่มต้นจากค้นหาตัวเอง เพื่อค้นพบตัวเอง แล้วนำไปสู่การหลงตัวเองประมาณหนึ่ง เพราะว่าโลกทั้งใบยังมีแค่ตัวเองอยู่ตรงนั้น ทำยังไงให้เท่ ให้มีคนมอง ให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนและสังคม ถ้ามองย้อนกลับไปผมคงไม่ต่างจากวัยรุ่นหลายๆ คน แต่เส้นทางที่ค่อยๆ นำมาสู่จุดที่อยู่ทุกวันนี้ น่าจะเริ่มช่วงวัยหนุ่ม ประมาณปลายมัธยมและต้นมหา’ลัย

        ชีวิตจะมีโอกาสให้เราค่อยๆ ละลายตัวเองไปเรื่อยๆ จากตอนแรกสนใจแต่ตัวเอง ฉันเป็นใคร ฉันเป็นอะไรได้มากกว่าลูกเสกสรรค์และจิระนันท์ไหม นั่นคือความหมกมุ่นในวัยรุ่น พอเข้าวัยหนุ่ม เราได้เอาตัวเองไปเชื่อมโยงกับสังคมและโลก พยายามมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เราจึงเห็นว่าโลกมันใหญ่ขนาดไหน มีอะไรเป็นกลไกที่ดำเนินไปบ้าง แล้วตัวเราอยู่ตรงไหนในกลไกที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด สิ่งนี้จะขยายใหญ่ออกเรื่อยๆ ตามเส้นทางการเติบโต

        ก็เหมือนการเดินทางของเรา คือเริ่มจากในประเทศก่อน ค่อยไปประเทศใกล้ๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สักพักขยายไปทั่วทั้งโลก เมื่อเราสะสมประสบการณ์ที่ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกับคนใหม่ๆ เสมอ ก็ทำให้เราเชื่อมโยงตัวเองสู่โลกที่ใหญ่กว่าได้มากขึ้น แล้วสนใจตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ จนตอนนี้เป็นผู้ใหญ่ก็แทบจะไม่ได้มานั่งคิดเรื่องตัวเองอะไรมากมายแล้ว

ตอนที่เริ่มต้นออกเดินทาง พ่อแม่ได้มองการแสวงหาของคนรุ่นลูกอย่างไร และพวกเขาบอกอะไรกับคุณก่อนไหม 

        พ่อแม่แค่ยินดีว่าเป็นโอกาสที่ดี แต่สิ่งที่แม่พูดมาอย่างแรกคือขอไปด้วย (หัวเราะ) ซึ่งก็ไปด้วยหลายทริป สนุกตรงระหว่างเที่ยวได้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน อย่างตอนไปอินเดียครั้งแรก หลังจากคุยกับ สาธุ โยคี นักบวชเสร็จ แม่ที่นั่งฟังอยู่ด้วยก็ถามเราว่า รู้ไหม ศาสนาพุทธในไทยเจริญมาจากศรีลังกา แล้วอธิบายเพิ่มว่าพราหมณ์นำไปสู่พุทธได้ยังไง มีศาสนาใดที่เกี่ยวข้องกันอีก เพราะแม่เก่งประวัติศาสตร์ การเดินทางจึงมีมิติยิ่งขึ้นเมื่ออยู่กับแม่ ทั้งตอนที่ได้ไปด้วยกันและตอนที่กลับมาเล่าสู่กันฟัง แล้วประโยคที่ว่า ‘อย่าไปเลยลูก’ ไม่เคยมี เขาอนุญาตให้ผมเติบโตและเรียนรู้โลกได้อย่างเต็มที่ แต่ครอบครัวอื่นอาจจะบอกว่า ‘อันตรายลูก อย่าไปเลย’ ก็เข้าใจได้ เพราะแต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างกัน พ่อแม่ของผมจึงมีพระคุณอย่างมากในเรื่องนี้ ในใจลึกๆ เขาก็คงเป็นห่วง แต่เขารู้ดีว่าคนอายุเท่าผมในตอนนั้นต้องการอะไรในชีวิต

ตอนที่พาคุณแม่ไปเดินทางด้วยแตกต่างจากการเดินทางคนเดียวอย่างไร

        ถ้าไปกับแม่ก็จะไม่เถื่อนหรือโหดเท่าไหร่นะ เน้นการท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมหรือไปพิพิธภัณฑ์ อย่างตอนที่ไปแทนซาเนียสิบกว่าวัน หกวันแรกผมก็เที่ยวกับแม่ ขับรถตระเวนดูวิวทิวทัศน์ เน้นถ่ายรูป ไม่ได้เหนื่อยอะไร ก็มีบ้างตอนเปลี่ยนยางที่แตกกลางทุ่ง ครบหกวันผมก็ส่งแม่กลับบ้าน วันที่เหลือผมก็อยู่เดินทางคนเดียวเพื่อปีนยอดเขาคิลิมันจาโร หรือบางทริปก็บอกแม่ว่าเราแยกกันไปสักสองสามวันนะแล้วเดี๋ยวมาเจอกันที่เมืองนี้ เที่ยวกับแม่คือชิลมาก เพราะแม่ดูแลตัวเองได้ดีมาก เขาเองก็เป็นนักเดินทางตัวยงมาก่อนที่เราจะขึ้นเครื่องบินเสียอีก

        แต่ถ้าไปคนเดียวก็เต็มที่เลย อะไรที่ยากลำบากหรือดูแล้วโคตรเหนื่อยก็ไปที่นั่น อย่างทริปหน้าจะไปจอร์เจีย เราก็หาเลยว่าที่ไหนของจอร์เจียโหดที่สุด แล้วก็ไปตรงนั้น รู้สึกแต่ว่าตอนนี้ร่างกายต้องการการปะทะกับสายลมแสงแดด อยากหลั่งอะดรีนาลีน

สำหรับคนส่วนใหญ่อายุ 25 ปี เป็นช่วงชีวิตที่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่งจนเริ่มสร้างความมั่นคงในหน้าที่การงาน ขณะที่คุณเริ่มต้นออกเดินทางเป็นครั้งแรก สิ่งใดภายในใจของคุณเรียกร้องให้ทำเช่นนั้น

        จะเรียกว่าตัดสินใจเองก็ไม่เชิง เราไม่เคยทำงานออฟฟิศตั้งแต่เรียนจบมา เพราะมีโปรเจ็กต์ของตัวเองตลอด ตั้งแต่เขียนหนังสือ ทำเพลง ยันทำรายการทีวี จนหาเลี้ยงตัวเองได้ ทีนี้ช่วงวัยยี่สิบห้าเป็นช่วงที่ความฝันแรกกำลังถึงทางตัน เพราะวงดนตรีกำลังจะล่ม จะเอายังไงต่อดี แต่เหมือนจักรวาลยื่นคำตอบมาให้ว่ามาทางนี้ดีกว่า รายการ พื้นที่ชีวิต ติดต่อมาให้เป็นพิธีกร โดยบอกว่าต้องเดินทางไปพาราณสี ธรรมศาลา เยรูซาเลม เราก็งงว่าคือที่ไหน ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะการเดินทางไม่เคยเป็นความฝันของเรา เดินทางอย่างมากก็สองครั้งต่อปีเหมือนคนทั่วไป เมื่อมองย้อนกลับไปก็เป็นเรื่องโชคดีมหาศาลเหมือนกัน เพราะนี่คือความฝันของคนจำนวนมาก แต่โอกาสนั้นได้ยื่นมาที่เราก็เพราะตัวตนที่เราเป็น คือเขียนหนังสือ ชอบคิดวิเคราะห์สิ่งรอบตัว แล้วรายการอยากได้พิธีกรแบบนี้พอดี เราพัฒนาตัวเองจากการออกเดินทางมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำรายการ เถื่อน travel และมีการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ทุกคนคงมีสิ่งนี้อยู่ในใจแค่แสดงออกมาต่างกัน บางคนต้องการความรัก บางคนต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน บางคนต้องการมีหน้ามีตา บางคนต้องการความสมบูรณ์แบบของร่างกาย ผมต้องการตอบตัวเองได้ว่าเราใช้ชีวิตในทุกๆ วันอย่างมีความหมาย

อะไรคือสิ่งที่คุณหวาดกลัวมากที่สุดในการออกเดินทางคนเดียว แล้วคุณก้าวข้ามความกลัวนั้นได้อย่างไร 

        ความกลัวที่ดีลได้ง่ายที่สุดคือกลัวตาย เป็นความกลัวระยะสั้นและเกิดขึ้นฉับพลัน เช่น อยู่ในกรุงแบกแดดแล้วมีข่าวระเบิดลงพอดี หรือที่จำได้ว่ากลัวตายสุดๆ คือก่อนเครื่องบินจะลงที่อัฟกานิสถาน แล้วมองออกไปนอกหน้าต่างเห็น war zone ครั้งแรก วิธีรับมือคือโฟกัสกับงาน แล้วก็จะลืมไปเอง

        ความกลัวอีกอย่างที่น่ากลัวกว่า คือกลัวไม่รู้สึกเหมือนเดิม เพราะตอนเริ่มเดินทางครั้งเรามีความสุขมาก ยึดติดว่านี่คือคำตอบของชีวิต แต่หลังจากออกเดินทางเยอะๆ แล้วเริ่มไม่มีความสุข รู้สึกไม่ตื่นเต้นเหมือนเดิม เริ่มกลัวแล้วว่าหรือเรากำลังหลงในเส้นทางนี้หรือเปล่า เป็นความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาอยู่เนื่องๆ 

        บางครั้งก็กลัวความสำเร็จ เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจแล้วเราสังเกตได้ ตอนเริ่มทำ เถื่อน travel แรกๆ เราทำด้วยใจที่บริสุทธิ์มาก ไม่ได้คิดเรื่องคนดูหรืออะไร เอาแค่ว่าทำให้มันที่สุดในชีวิต ปรากฏพอมีคนติดตามเยอะๆ ต้องทำซีซันสอง ก็ต้องคิดแล้วว่าเขาอยากดูอะไร ขายสปอนเซอร์ตรงไหน ซึ่งเราก็ไม่ค่อยชอบความรู้สึกตรงนั้นเหมือนกัน แต่ทุกคนจะบอกว่ามันคือความจำเป็นของชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องคิดในธุรกิจ พอจะทำซีซันสามก็ถามตัวเองนะว่าอยากทำหรือเปล่า คำตอบแรกคือไม่อยากทำแล้ว แต่ต้องพยายามต่อสู้กับความรู้สึกนั้น ใจหนึ่งก็ยึดอยู่กับความสำเร็จจากทั้งสองซีซัน แต่ใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่าถ้าทำไปแล้วไม่ได้ตอบโจทย์ภายในตัวเอง จะทำไปทำไม ฉะนั้นการเจอกับความสำเร็จแล้วเบรกตัวเองให้ได้ก็เป็นความยากและความกลัวในแบบหนึ่ง

        แต่สิ่งที่น่าจะน่ากลัวที่สุดคือกลัวการไร้ตัวตน ไร้ความหมาย ปกติแรงจูงใจในการออกเดินทางในแง่หนึ่งคือความอยากเรียนรู้โลกกว้าง ออกไปเจอความตื่นเต้น แต่สิ่งที่อยู่ภายใต้สิ่งเหล่านั้นคือการอยากหาความหมายให้ชีวิต การเติมเต็มความรู้สึกว่าเราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าสามารถสร้างความหมายให้สังคม คนอื่นๆ และตัวเอง ผมเชื่อว่าไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่ต้องการสิ่งนี้ แต่สำหรับผม มันเหมือนเป็นข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ในใจ ต้องหาสิ่งภายนอกมาเติมเต็มตลอดเวลา ในช่วงหนึ่งของชีวิตจึงเสพติดการเดินทาง ต้องการขึ้นเครื่องบินไปไหนสักที่เพราะนี่คือสิ่งที่ให้ความสุขและความสงบกับเรา

        พอมองดูตัวเองจึงรู้สึกว่า ไม่ได้ จะรู้สึกมั่นคงแค่ตอนได้เดินทางเท่านั้นเหรอ แล้วบางครั้งการเดินทางกลับเป็นความเหนื่อยหน่ายมากกว่า เพราะทำบ่อยเกินไป เราจึงต้องเบรกตัวเอง ไม่อย่างนั้นเราจะเปลี่ยนสิ่งที่เคยบริสุทธิ์ต่อจิตใจเรามากๆ ให้กลายเป็นความรู้สึกลบ ก็เลยนำมาสู่ช่วงเจ็ดแปดเดือนก่อนหน้านี้ ที่พักการเดินทางแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่โดยไม่ต้องมีมันบ้าง

ช่วงที่พักจากการเดินทางไปเป็นอย่างไรบ้าง 

        ผมนั่งสังเกตจิตใจตัวเอง ในช่วงเดือนสองเดือนแรกไม่อยากทำอะไรเลย ไม่ใช่เพราะซังกะตายกับโลกนะ แต่มันเหนื่อย (เน้นเสียง) มิเตอร์ในใจที่คอยวัดว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายหรือยังในตอนนั้นยังเต็มปริ่มมากเพราะเพิ่งจบซีซันสองมา รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่เติมเต็มชีวิตไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำตามกลไกในใจมากขนาดนั้นแล้ว แต่เมื่อผ่านไปสี่ห้าเดือนมิเตอร์ก็ค่อยๆ ลดลง เริ่มตั้งคำถามว่าเราใช้ชีวิตชิลไปหรือเปล่า ขณะเดียวกันก็เริ่มรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีกิจวัตร ตื่นมาไปยิม ยิมเสร็จนั่งสมาธิ ทำอาหาร เลี้ยงหมา ก็พบความสงบในชีวิตอีกแบบหนึ่ง

        แต่ความสงบนี้ก็ถูกรบกวนด้วยคำถามเดิมที่อยู่ในใจตลอดว่ามันชิลเกินไปหรือเปล่า ถ้าเป็นพระอรหันต์อาจละทิ้งคำถามนี้ไปได้ แต่เราในฐานะปุถุชนรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เรายึดติดที่สุด คือความรู้สึกว่าเรามีชีวิตที่มีความหมายหรือเปล่า บางคนอาจยึดติดจำนวนตัวเลขในบัญชี ชื่อเสียง หรืออะไรก็แล้วแต่ สำหรับเราคือการเดินทาง

        ระหว่างนั้นก็มีแรงจูงใจอยากทำสิ่งอื่นๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่เบรกตัวเองไว้ก่อนว่าอย่าเพิ่งทำ ลองดูก่อนว่าอะไรคือแรงบันดาลใจจริงๆ อะไรเป็นแค่ความอยากระยะสั้นแค่ต้องการเติมช่องโหว่ในใจให้เต็ม เป็นช่วงที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง ไม่รู้ว่าคนอื่นต้องผ่านอะไรแบบนี้หรือเปล่า แต่สำหรับเราในวัยสามสิบห้านี่คือโจทย์ที่เราเจอ

เคยค้นลงไปลึกๆ ไหมว่าความต้องการเติมเต็มช่องโหว่ภายในใจเกิดขึ้นเพราะอะไร

        ก็สงสัยนะ แต่คิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก ทุกคนคงมีสิ่งนี้อยู่ในใจแค่แสดงออกมาต่างกัน บางคนต้องการความรัก บางคนต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน บางคนต้องการมีหน้ามีตา บางคนต้องการความสมบูรณ์แบบของร่างกาย ผมต้องการตอบตัวเองได้ว่าเราใช้ชีวิตในทุกๆ วันอย่างมีความหมาย

        ลึกๆ แล้วคิดว่าส่วนแรกมาจากความกลัวตาย ถ้าทุกคนมีเวลาไม่จำกัดบนโลกจะไม่มีใครมานั่งถามหาเรื่องความหมายของชีวิต เพราะว่าอยู่ไปอีกล้านปีค่อยคิดก็ได้ แต่พอมีเวลาจำกัด ก็ต้องคิดแล้วว่า 80 ปีนี้เอาไปทำอะไรให้คุ้มค่าที่สุด ถ้าบรรลุอรหันต์ คงละทิ้งความกลัวตายได้ แล้วคำถามว่าชีวิตนี้มีความหมายหรือเปล่าจะหายไป เพราะมันมีความหมายทุกลมหายใจ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้

        อีกส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในใจลึกๆ เราคงหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับพ่อแม่ไม่ได้ เมื่อโตขึ้นรู้สึกว่าปมนี้เล็กลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่คิดถึงแล้ว มันแค่หายไปจากกระบวนการคิดและตัดสินใจ แต่ในสามัญสำนึกปมนี้ไม่เคยหายไปไหน ถ้าวิเคราะห์ตัวเองอย่างตรงๆ เลย เมื่อปมนี้ยังอยู่ ทุกๆ วันสามัญสำนึกของเราก็จะพยายามคิดว่าวันนี้เรามีประโยชน์พอหรือยัง ก็เลยนำมาสู่ความรู้สึกว่าอยู่นิ่งแทบไม่ได้

        แต่เราก็อยู่กับมันได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นด้านลบนะ ถ้ายิ่งเข้าใจตัวเองถ่องแท้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหลอกตัวเองน้อยลงมากเท่านั้น บางคนทำความดีโดยมีเบื้องลึกเป็นความเห็นแก่ตัวที่ซ่อนอยู่ใต้ความต้องการทำความดีอีกที เราอยากมองในทุกๆ ระดับอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เราอยากทำงานที่เป็นประโยชน์ เป็นความต้องการเติมเต็มช่องโหว่ในใจ แล้วเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นแบบนี้ คงไม่มีใครสามารถทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่มีความต้องการของตัวเองอยู่เบื้องล่าง

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การออกเดินทางขัดเกลาคุณอย่างไร

        รู้สึกว่ามุมมองของเราค่อยๆ ถูกเปิดออก ทำให้มองทุกอย่างของโลกทั้งใบ ได้เข้าใจว่าในเชิงธรรมชาติโลกทั้งใบเชื่อมต่อกันยังไง ผมไปที่ป่าแอมะซอนและทะเลทรายซาฮารา แล้วได้มาอ่านทีหลังว่าทุกปีทรายจากซาฮาราจะถูกพัดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกไปเป็นสารอาหารให้พืชในป่าแอมะซอน เราก็จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า อ๋อ อย่างนี้นี่เอง เราอ่านเรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เราได้ไปเดินบนน้ำแข็งมาแล้ว เรารู้ว่ามันใหญ่ขนาดไหน พอเห็นภาพจากข่าวตอนที่มันกำลังละลาย มันรู้สึกได้จริงๆ นะ

        หรือก่อนหน้านี้ที่เราทำเรื่องสงคราม เวลามีข่าวระเบิดในอัฟกานิสถานซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่ เราจะรู้สึกปวดใจทุกครั้ง เพราะเรามีเพื่อนอยู่ที่นั่น ยังคุยกันผ่านเฟซบุ๊กอยู่ตลอด ได้แต่ส่งข้อความให้กำลังใจ หรือเรื่องชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย ประเด็นอะไรก็ตามแต่ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับเรา การเดินทางทำให้รู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นเยอะมาก 

        ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับมาที่สังคมไทย คนมักจะด่าสังคมตัวเองค่อนข้างเยอะ แต่ในสายตาเรา ถามว่ามีปัญหาไหม มีเยอะ แต่มันไม่ได้แย่เท่ากับอีกหลายๆ ที่ทั่วโลกแน่นอน พูดแบบนี้หลายคนจะถามว่าแล้วจะอยู่เฉยๆ ไม่คิดแก้ปัญหาเหรอ เราไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เราแค่บอกว่าในโลกมีเรื่องที่ยิ่งใหญ่และเร่งด่วนกว่านี้ คุณอาจจะไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่มากเกินไป การช่วยแก้ปัญหาเป็นเรื่องดีแต่มันมีที่ที่แย่กว่า เราไม่ได้บอกว่าการมองแบบนี้จำเป็นต้องหยุดพูดถึงปัญหาในประเทศ ในทางกลับกัน เราควรจะต้องเปล่งเสียงอยู่เรื่อยๆ ถึงปัญหาที่มีอยู่ แต่ถ้ามองตัวเราเอง เราอยากพูดถึงปัญหาระดับโลกให้กับสังคมไทยมากกว่า เพราะว่าในสื่อพูดปัญหาในประเทศเยอะแล้ว เราเองก็ได้ยินทุกวัน ในงานของเราต่อๆ ไป จึงอยากเชื่อมโยงให้คนไทยรู้สึกมากๆ ว่าเราอยู่ในสังคมโลกนะ ทั้งในเชิงธรรมชาติ สังคม และการเมือง ให้เขารู้สึกให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่อื่นบนโลกเชื่อมโยงกับตัวเขายังไง

ความเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สรรพสิ่งที่คุณได้ไปสัมผัสตลอดการเดินทางกว่า 10 ปี สูญไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ภาพถ่ายหรือรายการของคุณจึงเป็นการบันทึกอดีตหรือเก็บคุณค่าของสิ่งนั้นไว้ หากมองย้อนกลับไปคุณให้ความหมายของสิ่งที่คุณทำอย่างไร

        เราก็ได้รับเสียงตอบรับที่ทำให้ชื่นใจอยู่เรื่อยๆ ที่จำได้แม่นคือมีคนดูส่งข้อความมาหาว่าเขาเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ดูรายการแล้วรู้สึกมีแรงที่จะใช้ชีวิตต่อไป เป็นผลลัพธ์ที่ไม่เคยคาดคิด หรือว่าบางคนเคยมีอคติกับคนกลุ่มอื่นมาก่อน พอดูรายการก็เข้าใจอะไรใหม่ อย่างน้อยเราได้ส่งต่อความรู้ความเข้าใจให้คนอื่นๆ แล้วเราก็หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะมีความหมายกับพวกเขาไม่มากก็น้อย

        แต่สำหรับตัวเอง ภาพถ่ายเหล่านี้มีความหมายมากๆ ในเชิงความทรงจำ เหมือนเราเก็บชิ้นส่วนของโลกเอาไว้ แค่ที่ตรงนั้น ในเวลานั้น ก็อย่างที่คุณบอกว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเสมอ บางที่เคยสงบตอนนี้มีสงคราม บางที่เคยอุดมสมบูรณ์ตอนนี้เผชิญหายนะอยู่ ผมมีภาพถ่ายป่าแอมะซอนที่อุดมสมบูรณ์มาก ผมกลัวว่ามันจะกลายเป็นภาพที่ทุกคนต้องมานั่งดูแล้วเล่าให้ลูกหลานฟังว่าแต่ก่อนมันเคยอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้นะ หากมองย้อนกลับไปแค่ปีที่แล้ว คุณจะไม่มีทางคิดเลยว่าป่าแอมะซอนจะหายไปจากโลก เราหวังแค่ให้ภาพถ่ายมีคุณค่าในตัวมันเอง เป็นความทรงจำให้ได้นึกถึง

ตอนนี้ทุกคนกลับมาให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งของธรรมชาติกำลังถูกทำลาย ทั้งธารน้ำแข็งละลายและไฟไหมป่าแอมะซอน การที่คุณได้ไปสัมผัสธรรมชาติเหล่านี้มาแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

        ผมรู้สึกว่าบ้านกำลังไฟไหม้ เพราะเราเห็นบ้านพวกนั้นมาแล้ว และเราก็อ่านข้อมูลมาเยอะจนเข้าใจว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง อย่างน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย หน้าที่หลักของมันคือสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปในอวกาศเพราะมันมีสีขาว เมื่อน้ำแข็งละลาย พื้นมหาสมุทรซึ่งเป็นสีดำจะดูดซับความร้อนเข้ามาในโลก ก็ยิ่งเริ่งปฏิกิริยาให้ร้อนขึ้นอีก น้ำแข็งก็ยิ่งละลายเยอะขึ้น ถ้าน้ำแข็งละลายเยอะ อุณหภูมิโลกจะสูง เพราะกระจกสะท้อนแสงหายไป ระดับน้ำก็สูงขึ้น ตอนที่เดินทางไปกรีนแลนด์ คนที่นั่นบอกว่าถ้าน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายหมด ระดับน้ำทะเลจะสูงขี้น 7 เมตร กรุงเทพฯ จมแน่นอน แค่นี้ก็เชื่อมโยงมาถึงเราแล้ว

        แล้วเราไม่นึกว่าป่าแอมะซอนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของธรรมชาติจะถูกทำลายด้วยมนุษย์ ป่าที่ช่วยผลิตออกซิเจนจำนวนมาก รวมถึงดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์หลายล้านตันในทุกปี ถ้ากระบวนการนี้หายไป คาร์บอนไดออกไซด์จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเยอะมากขึ้น เรายิ่งรู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องนี้ ก็ย้อนกลับไปตอนแรกที่เล่าให้ฟังว่าอยู่กับพ่อแม่แล้วในใจจะมีความรู้สึกอยากทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้อยู่เสมอ

        ช่วงที่พัก เราเสพข่าวสิ่งแวดล้อมเยอะมาก แล้วคำถามที่ว่าเราทำอะไรได้บ้างก็เกิดขึ้นมาในใจตลอดเวลา จนตอนนี้มันตกผลึกมากพอแล้วว่า นี่แหละคือสิ่งผลักดันมหาศาลต่อไปของเรา เพราะเราอยากให้การเดินทางมีความหมายในเชิงนำสารจากธรรมชาติมาสู่คนไทย เพื่อให้ตระหนักว่าถ้าไม่ทำอะไรกันจะฉิบหายจริงๆ แล้วนะ เพราะการเปลี่ยนแปลงตอนนี้อยู่ในระดับฉิบหายแล้ว มันไม่ได้อยู่ระดับถ้าทำก็ดี มันช้าไปแล้ว

        และการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องปัจเจกบุคคล ไม่ใช่แค่ว่าทุกคนเลิกใช้พลาสติกหรือขับรถน้อยลง มันต้องเปลี่ยนแปลงถึงนโยบายระดับประเทศและโลก แต่เหมือนกับว่าทั้งโลกหันไปอีกทาง แล้วผมก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายๆ คนโดยเฉพาะ น้องเกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาวชาวสวีเดนอายุสิบหกที่กลายเป็นหนึ่งในคนที่ทรงอิทธิพลของโลกเรื่องการสร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนรู้สึกถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เขาทำส่งมาถึงเรา เราเองก็อยากส่งต่อให้คนไทยเช่นเดียวกัน

กว่าจะได้มาแต่ละภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถานที่หลายแห่งคุณเอาตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยงระหว่างเป็นหรือตาย โดยเฉพาะในพื้นที่สงคราม คุณประคองใจตัวเองอย่างไรให้มีสมาธิอยู่กับภาพตรงหน้า

        เมื่ออยู่ในพื้นที่สงคราม เรารู้ว่ามันคือความเสี่ยง แต่ถ้าบริหารการเดินทางดีๆ จะไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ให้เปรียบเทียบว่าทุกวันมีรถชนกันในกรุงเทพฯ แต่โอกาสที่เราจะเห็นรถชนต่อหน้าต่อตาก็ค่อนข้างน้อย แล้วเราก็ลดความเสี่ยงได้อีกด้วยการไม่ไปเดินแถวตึกรัฐบาลหรือที่ทำการประชุมทางการเมือง ถามว่ายากไหมกว่าจะได้มาแต่ละภาพ ก็ยากระดับหนึ่ง แต่เป็นความยากที่หาทางจัดการได้ แล้วเราก็ชอบเสพงานของช่างภาพสารคดีระดับโลกด้วย ก็ยังบอกตัวเองเสมอว่ากระจอกมากเมื่อเทียบกับคนเหล่านี้

แววตาของพวกเขามีความเศร้าอยู่ในนั้น เป็นความเศร้าที่คงอยู่ตลอดเวลาและไม่เคยหายไป ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาทำใจไว้แล้วว่าวันหนึ่งตัวเขาหรือคนที่เขารักอาจต้องตาย ไม่ใช่เพราะสิ้นอายุขัย คนซีเรียรู้ดีว่าทุกคนมีสิทธิ์ตายจากการถูกฆ่าหรืออาวุธสงครามตลอดเวลา ไม่มีการแบ่งเพศหรือวัย

ภาพไหนที่ทำให้คุณรู้สึกบางอย่างภายในใจอย่างรุนแรง

        มีหลายรูปที่ดึงดูดมากกว่ารูปอื่นๆ อย่างรูปหนึ่งดูแล้วไม่ได้สวยอะไรเลย เป็นภาพผู้หญิงยืนพิงผนังอยู่ แต่เมื่อเธอเล่าเรื่องแล้วกระดูกสันหลังจะรู้สึกเย็นวาบ เพราะเธอผ่านเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดามา คนถูกฆ่าเป็นหมื่นๆ ทั้งลูกและสามีของเธอโดนฆ่าตาย แต่กว่าจะเข้าไปเก็บศพเอามาฝังหรือเผาก็ผ่านไปถึงสี่เดือน จนแยกไม่ได้ว่าศพใครเป็นใคร ศพจำนวนหนึ่งถูกนำมาเก็บไว้ใน Murambi Memorial ซึ่งเป็นจุดที่มีการฆ่ากันเยอะมาก ร่างบางร่างยังเห็นผิวหนังและเส้นผมอยู่เลย เพื่อต้องการเตือนคนว่าอย่าให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

        ผู้หญิงคนนี้จึงเลือกจะมาทำงานเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณท์ เพราะเชื่อว่าลูกและสามีของเธอเป็นหนึ่งในจำนวนศพที่ถูกเก็บไว้ที่นี่ คิดดูว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าขนาดไหนเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะดูแลลูกและสามีตัวเองหลังจากพวกเขาตายไปแล้ว โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศพไหนเป็นลูกหรือสามี ตอนที่ผมได้ยินเรื่องนี้ครั้งแรก รู้สึกว่าพูดอะไรไปก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้น สู้ๆ นะ เป็นกำลังใจให้นะ จะพูดทำไม หรือแม้กระทั้งประโยคที่ไม่ควรพูดเลยคือเราเข้าใจ ทั้งๆ ที่เราไม่มีทางเข้าใจในความรู้สึกนั้น ผมเลยไม่ได้พูดอะไรกับเขา ผมรู้สึกว่าสิ่งเดียวที่ทำให้เขาได้คือรู้สึกเศร้าไปด้วย ช่วยแบกความทุกข์ไปด้วย โดยไม่ต้องบอกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องที่ฟังผ่านมาแล้วผ่านไป เมื่อมีโอกาสจึงนำเรื่องราวนี้มาบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ในแง่หนึ่งเราก็อยากสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไปถึงจุดนั้นได้ จุดแห่งความโหดร้าย โหดเหี้ยม ซึ่งเกิดขึ้นจริงในสังคม

ในพื้นที่สงคราม คนจำนวนมากต้องสูญเสียบ้านที่อยู่มาทั้งชีวิต ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ความหวังที่จะมีชีวิตอย่างสงบสุขก็พร่าเลือน เท่าที่ได้ไปสัมผัสคนเหล่านี้ คุณคิดว่าพวกเขาจะมองหาความสงบภายในใจได้อย่างไรด้วยเงื่อนไขทั้งหมดนี้

        สิ่งที่เขาเผชิญอยู่คือความทุกข์อันใหญ่หลวงและไม่มีใครเข้าใจได้หากไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่อาจจะลองจินตนาการได้ว่าระเบิดลงบ้านข้างๆ เราและทุกคนในครอบครัวต้องหนีออกจากบ้านภายในไม่กี่นาที แล้วต้องเดินเท้าไปอีกร้อยกว่ากิโลเมตรเพื่อไปถึงชายแดน แต่เมื่อถึงแล้วเจ้าหน้าที่อีกฝั่งไม่ให้เข้าเพราะไม่มีวีซ่า กลับก็ไม่ได้เพราะไม่ปลอดภัย ซึ่งมีคนอีกหลายแสนคนตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าถามเรื่องความสงบหรือความสุข ผมคิดว่าท้ายที่สุดมนุษย์จะทำตัวให้ชินกับทุกสภาพได้ สภาพจิตใจของผู้ลี้ภัยจะค่อยๆ ปรับตัวได้ว่านี่คือสภาวะปกติ ไม่ได้แปลว่าไม่ทุกข์ เพียงแต่รับได้กับความทุกข์นั้นเพราะไม่ได้คาดหวังให้มันดีขึ้นกว่านี้ 

        อย่างคนซีเรียที่เราไปเจอแถวชายแดน ทุกคนสูญเสียคนในครอบครัว แววตาของพวกเขามีความเศร้าอยู่ในนั้น เป็นความเศร้าที่คงอยู่ตลอดเวลาและไม่เคยหายไป ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาทำใจไว้แล้วว่าวันหนึ่งตัวเขาหรือคนที่เขารักอาจต้องตาย ไม่ใช่เพราะสิ้นอายุขัย คนซีเรียรู้ดีว่าทุกคนมีสิทธิ์ตายจากการถูกฆ่าหรืออาวุธสงครามตลอดเวลา ไม่มีการแบ่งเพศหรือวัย แล้วสภาพจิตของผู้ลี้ภัยจะถูกเปลี่ยนไปสู่จุดที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือความปกติธรรมดาในภาวะสงคราม

เมื่อการเผชิญความสูญเสียจากสงครามทำให้เกิดบาดแผลฝังลึกในใจ (trauma) การร่วมมือระหว่างคุณและ UNHCR ประเทศไทย จะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและเยียวยาบาดแผลของพวกเขาได้ในระดับไหน รวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในสังคมได้อย่างไร

        สิ่งที่เราทำได้คือการระดมทุนเพื่อนำไปสนับสนุนปัจจัย 4 ซึ่งช่วยได้แค่ประทังชีวิต แต่ด้านจิตใจเราจะช่วยได้ยังไง การทำงานด้านนี้ บางทีก็ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวตามไปเหมือนกัน เพราะเป็นงานที่ไม่มีวันจบ แต่ก็หยุดทำไม่ได้ เพราะถ้าหยุด ผู้ลี้ภัยจะทนทุกข์ทรมานมากกว่านี้อีก เราก็พยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในสิ่งที่เราทำได้ แต่ยอมรับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด

        แต่สิ่งที่น่าจะได้มากกว่าคงเป็นภาพและเรื่องราวที่คนได้รับ เพราะว่าพวกเขาเห็นปัญหาและความเป็นไปของโลกที่ไม่ใช่แค่การรายงานข่าว ในพื้นที่สงคราม ยังมีด้านอื่นๆ ให้เห็นอีกนอกจากสงคราม มีสวนสนุก มีหนุ่มสาวจีบกัน มีอาหารอร่อย คนดูจะรู้สึกได้ว่าโลกกว้างกว่าที่เขาคิด แล้วคนที่ได้เยอะสุดคือผม เพราะได้ทำสิ่งที่มีความหมายซึ่งวรรณสิงห์ต้องการเสมอมา ผมเชื่อว่าศิลปินจำนวนมากก็ต้องการสิ่งเดียวกัน งานไม่ได้จบแค่ว่าสวย แต่ต้องมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น คือการได้เติมเต็มความต้องการในใจ เมื่อสิ่งที่เราทำมีความหมายกับตัวเรา ก็หวังว่าจะสร้างความหมายบางอย่างกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

สิ่งที่คุณค้นพบและได้เรียนรู้จากการเดินทางทำให้คุณตระหนักได้ชัดเจนถึงความเป็นมนุษย์อย่างไร แล้วในฐานะมนุษย์เราควรเคารพและโอนอ่อนต่อสรรพสิ่งในโลกอย่างไร

        เราเข้าใจการเป็นมนุษย์อย่างพื้นฐานที่สุด เพราะมนุษย์มาจากจุดเดียวกัน ไม่ว่าจะความตระหนี่ถี่เหนียว เห็นแก่ตัว โกรธ โลภ หรือหลง ทำให้เราเห็นอกเห็นใจผู้คนเยอะมาก แล้วตัดสินคนอื่นน้อยลง ยิ่งเป็นเรื่องศาสนา อุดมการณ์ ความคิดทางการเมืองยิ่งไม่อยู่ในหัวเลย

        ตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ได้รับการตอบโจทย์เรื่องมนุษย์ค่อนข้างเยอะมากจากการพูดคุย จึงไม่มีข้อสงสัยมากพอที่จะทำให้ออกเดินทางเพื่อหาคำตอบเพิ่ม แต่เหตุผลใหม่คืออยากเล่าเรื่องธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นขั้นวิกฤต โดยเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น แล้วเชื่อมโยงเข้าสู่ทุกคนให้ได้ ขอพักเรื่องมนุษย์ไว้ก่อน เราอยากเล่าเรื่องโลก เพราะตอนนี้โลกกำลังพบกับความเจ็บปวดอย่างมาก อยากทำงานที่ทำให้คนดูรู้สึกร่วม ให้เขารู้สึกหวงแหน ไม่ใช่แค่การพกถุงผ้ากันเถอะ แต่มันคือความจำเป็นอย่างมาก เพราะโลกกำลังไปถึงจุดที่ไม่มีวันหวนกลับแล้วจริงๆ

        แปลว่านอกจากสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับโลก เราต้องสร้างการตระหนักรู้ด้วยว่าสถานการณ์โลกตอนนี้เป็นยังไง แล้วอะไรคือสิ่งที่มากที่สุดที่แต่ละคนทำได้ เพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อมกลับไปยังจุดที่จะไม่พาทุกคนไปสู่หายนะ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นงานชิ้นใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องการเดินทางอย่างเดียว แต่จะเป็นรายการให้ความรู้ สรุปสถานการณ์ ทำให้คนเห็นภาพรวมของโลก

แล้ว ณ วันนี้ คุณค้นพบความสงบที่แท้จริงของตัวเองแล้วหรือยัง 

        มีทั้งค้นพบ Serenity in Chaos และ Chaos in Serenity อยู่นิ่งๆ แต่ใจกลับว้าวุ่น หรือเรากำลังจะปล่อยให้ชีวิตผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ นี่คือคำถามหลักในชีวิตผมเลย ไม่นิ่งเพราะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วรู้สึกไร้ค่า ซึ่งเรารู้ตัวว่าไม่ดีเท่าไหร่ ไม่ควรรู้สึกแบบนั้น แต่ว่าใจมันไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยการไปบังคับว่าอย่าคิด อย่านึกแบบนั้น มันหยุดไม่ได้ ก็ปล่อยให้คิดไป แต่เบรกตัวเองว่าอย่าวิ่งตามความคิดเหล่านี้

นิยามคำว่า Serenity ของคุณมีความหมายว่าอะไร

        คือความสงบ เพราะรู้สึกว่ามิเตอร์ในใจที่วัดว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายแล้วมันเต็มจนทะลุ สามารถนั่งเฉยๆ ได้ ไม่ต้องคิดอะไรมาก มีความสุขกับชีวิต สภาพรอบข้าง และความสัมพันธ์ที่ดี แต่ serenity ไม่ใช่ภาวะถาวร ไม่ได้อยู่ไปตลอด มันเปลี่ยนแปลงได้ บางทีอาจเป็นการทำงานของจิตใจก็ได้ที่จะจัดการให้อยู่ในจุดพอดีในทุกๆ ช่วงวัย ซึ่งโจทย์แต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกันไป

        ถ้าผมมีลูก แล้วลูกบอกว่า ‘พ่อ ผมจะไปโซมาเลีย’ ฉิบหายแล้ว กรรมตามสนอง (หัวเราะ) วันนั้นเราต้องหาจุดสงบของจิตใจอีกที เพราะเราควรเป็นคนที่เข้าใจลูกมากที่สุดว่าทำไมเขาถึงอยากไป ขณะเดียวกันคนเป็นพ่อก็ต้องรู้สึกว่านี่ลูกทั้งคน ผมอาจคิดหนักก็ได้ ถ้าลูกต้องการทำอย่างที่ผมทำ แต่ก็ต้องหาสมดุลในใจที่จะยินดีปล่อยให้เขาเติบโตในแบบของเขา และยินดียอมรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ผมได้รับจากพ่อแม่ คืออิสรภาพและการยอมรับในเส้นทางที่ผมเลือกเดิน ในระยะยาวเราก็ต้องหาจุดสงบในใจเพื่อยอมรับในเส้นทางที่เขาเลือกเดินให้ได้ ซึ่งคงเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร

แล้วความสงบที่ว่ายึดโยงอยู่กับบุคคลอื่น สถานที่อื่น หรือสิ่งไหนหรือเปล่า

        ณ ตอนนี้ ความสงบคือความรู้สึกมีความหมาย แต่ในระยะยาวเราไม่ได้อยากให้เป็นแบบนี้ เพราะเราคิดว่าความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดจากที่ที่เราพักใจได้โดยไม่ต้องเอาอะไรจากข้างนอกมาเติม แม้ว่าคนอีกคนจะเป็นเรื่องข้างนอก แต่อาจจะเติมได้ง่ายกว่าการแบกเป้ขึ้นภูเขา หรือแค่เจอเพื่อน หรืออยู่กับแม่แล้วรู้สึกเหมือนกัน มีความสุข มีความหมาย สงบ ก็โอเคแล้วในระยะกลาง แต่ในระยะยาวเป็นการเหลืออยู่คนเดียวคือวรรณสิงห์ ตัวเราคนเดียวทำยังไงให้อยู่แล้วนิ่งที่สุด บางทีตอนแก่ ความต้องการมีความหมายอาจไม่ได้หายไป แต่เราเรียนรู้ที่จะขยับให้น้อยลงที่สุด เช่น นั่งนับลมหายใจด้วยความรู้สึกมีความหมายว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วสามารถสร้างผลงานได้ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์การหายใจนั้นให้กับคนอื่น บางทีอาจน่าตื่นเต้นมากกว่าการไปพิชิตยอดเขาหรือข้ามทะเลทรายด้วยซ้ำ เพราะมันอยู่ในตัวของทุกคนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ แต่เราก็ต้องเล่าจากมุมมองที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งตอนนี้รู้ว่ายังห่างไกลในเรื่องจิตใจ

แต่อย่างน้อยการเดินทางก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้คุณค้นพบความสงบ แม้จะไม่ใช่ความสงบถาวรก็ตาม

        ใช่ การเดินทางทำให้เราพบกับความสงบชั่วคราวมากกว่า แต่ไม่ใช่ความสงบที่พึงมีถาวร สำคัญคือทำให้ค้นพบว่าต่อจากความสงบคืออะไร เข้าใจว่ามันจะไม่หยุดอยู่ที่ความสงบ ไม่ใช่ว่าเดินทางแล้วสงบแล้วจบ เพราะนี่คือการหาความสุขจากภายนอกอย่างสุดๆ ไปเลย เข้าใจในเชิงไม่คาใจว่าโลกนี้มีอะไรรอเราอยู่อีกบ้าง เพราะตอนนี้เห็นมาค่อนข้างเยอะ ถ้าไม่ได้เดินทางก็ยังคงสงสัยว่าบนโลกใบนี้มีอะไร ตอนนี้สงบไประดับหนึ่งแล้ว แต่เดี๋ยวก็มีโจทย์อื่นๆ เข้ามาในชีวิต ต้องใช้เวลาปรับตัวเพื่อเรียนรู้ให้เข้าใจว่า อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง

 

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

สำหรับบางคนอาจไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งเลือกด้วยซ้ำว่าชีวิตนี้จะหลบหลีกความวุ่นวายใจและทำให้ตัวเองอยู่กับความสงบ โดยเฉพาะผู้ลี้ภัย ความสงบอาจเป็นเพียงความฝันเท่านั้น

        เราเคยถามเพื่อนที่อัฟกานิสถานว่าในใจของนายอยากได้อะไรที่สุด เขาตอบทันทีว่า peace แล้วประโยคต่อมาคือ แต่น่าเสียดายเกิดมายังไม่เคยเห็นเลย หรือผู้ลี้ภัยชาวซีเรียบางคนที่ได้คุยด้วย เป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณสิบห้าสิบหก เขาบอกว่าไม่อยากโต จะโตไปทำไม โลกนี้ไม่เห็นมีอะไรให้หวังเลย ตอนเราอายุเท่านี้จำได้ว่าอยากทำโน่นทำนี่ ตอนที่ได้ยินเราไม่ทันคิดด้วยซ้ำว่ารู้สึกยังไง แค่อ้าปากค้าง จริงๆ รู้สึกว่าตัวเองโชคดี ตามด้วยความรู้สึกเจียมเนื้อเจียมตัวว่าอย่าบ่นเรื่องตัวเองให้มากนัก จนนำมาสู่จุดที่คิดว่าแล้วเราทำอะไรได้บ้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็จะรู้สึกว่าทำได้แค่นี้เองว่ะ

ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นหาและอยู่กับความสงบภายในของตนได้ เพราะทุกคนถูกรบกวนจากสิ่งรอบตัวตลอดเวลาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

        ใช่ แค่นั่งอยู่คนเดียวแล้วมีโทรศัพท์อยู่ด้วยก็ไม่สงบแล้ว ผมก็เป็น เราว่าโจทย์ของความสงบในยุคสมัยนี้ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะรอบตัวมีสิ่งแก้เบื่อได้ตลอดเวลา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องแก้ไขยังไงเพราะทุกคนเสพติดมากพอสมควร โดยเฉพาะคนทำงานอย่างพวกเราในฐานะคนทำสื่อ ก็ต้องเอาตัวเองไปยึดโยงกับโซเชียลมีเดียเยอะมากจนจะตัดทิ้งไปเลยก็ไม่ได้ ทำให้ทำงานไม่ได้ แต่จะอยู่กับมันทั้งวันก็เยอะเกินไป เราว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจะทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างต่อไป อาจจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดออฟไลน์ กำหนดธรรมเนียมปฏิบัติว่าทุกวันจะปิดโทรศัพท์สองทุ่มถึงแปดโมงเช้า ผมคิดว่าจะมีผู้นำทางจิตวิญญาณคนใหม่ที่สามารถตอบโจทย์นี้ให้กับผู้คนได้ แล้วอาการต่อต้านสิ่งที่รบกวนจิตใจมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นเอง แต่แน่นอน จะมีคนที่ไม่ต่อต้านด้วย

คนที่สามารถถือครองความสงบเป็นของตัวเองไว้ได้ คุณคิดว่าเขาต้องเป็นคนลักษณะไหน

        ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่มากกว่า ถ้าเราเป็นพระบวชอยู่ในป่าอาจจะหาความสงบง่ายกว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศแล้วต้องไถดูฟีดตลอดเวลา แต่ในเชิงตัวบุคคลมันก็ฝึกฝนได้ ผมคิดว่าอย่างแรกเลยคือต้องมีจิตใจตั้งมั่นในการฝึกฝน และสองคือความสามารถในการ let go ถ้าคุณจะลบแอ็กเคานต์ตัวเองออกจากโลกออนไลน์ก็ต้อง let go ได้ประมาณหนึ่ง หรือแค่ลบแอพฯ ออกจากโทรศัพท์ก็ต้อง let go แค่นี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าใครที่ตัดสินใจได้แล้วทำเลยก็อาจจะไปได้ไกลกว่าคนที่พูดว่าจะดีเหรอ แล้วจะติดต่อเพื่อนยังไง

        แต่ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดคนเราจะมีความต้องการทำแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดที่ทุกอย่างมันเยอะเต็มไปหมดเกินที่ความรู้สึกจะรับไหว คนไทยเองก็ใช้เฟซบุ๊กติดอันดับต้นๆ ของโลก น่าสนใจว่าต่อไปจิตวิญญาณของมนุษย์จะถูกชักจูงไปในทิศทางไหน

แสดงว่าความสงบคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของการมีชีวิต

        เห็นด้วย สุดท้ายสิ่งที่มนุษย์ต้องการในใจคือความสงบ แต่ความสงบนั้นมักจะมาจากความรู้สึกอิ่มแล้วจากประสบการณ์ชีวิต ตัวตน ความสัมพันธ์ ความรัก หรือลาภยศสรรเสริญ แต่กว่าจะไปถึงจุดที่อิ่มได้ต้องมีช่วงหิวและกินก่อน บางคนเติมจนอิ่มแล้วค่อยสงบ แต่บางคนเติมเท่าไหร่ก็ไม่เคยอิ่ม ก็จะเห็นว่าคนจำนวนมากแก่ตายไปโดยไม่มีความสงบในบั้นปลายชีวิต บางคนไม่มีอะไรให้เติมเพราะไม่มีโอกาส ก็อาจจะหิวไปทั้งชีวิต หรืออาจจะค้นพบการลดกระเพาะตัวเอง กินแค่วันละช้อนก็อิ่มแล้ว สิ่งเหล่านี้รออยู่ในช่วงชีวิตของเราทุกคน ว่าท้ายที่สุดแล้วในบั้นปลายชีวิตเราจะไปได้ถึงจุดไหน แต่ถ้าสังเกตสิ่งที่เราทำในชีวิต เป้าหมายสูงสุดก็แค่ความสบายใจและความสงบในใจ หรือสิ่งลวงตาที่เรียกว่าความสุข ผมคิดว่าหลายคนที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ คงรู้สึกเหมือนกันว่าความสุขก็แค่ความไม่ทุกข์ ความสุขที่เป็นแง่บวกแบบหัวใจพองโตก็มีแหละ แต่แป๊บเดียวก็หายไปแล้ว แต่ความรู้สึกยิ้มเล็กๆ กับตัวเอง หรือหัวเราะได้กับทุกอย่าง เป็นความรู้สึกที่มีค่ามากๆ

        ฟังดูเหมือนง่ายแต่กว่าจะถึงจุดนั้นได้มันยากเหมือนกัน เพราะเรามีข้อกำหนดทั้งในใจตัวเองและจากสังคมค่อนข้างเยอะว่าต้องทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ได้ตัวตน ความสุข ความสำเร็จ แต่ในระยะยาวไม่มีอะไรสำคัญเลย

การเดินทางเป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่ควรทำสักครั้งแต่ไม่ใช่ทำไปตลอด คนเราถ้าต้องเดินทางตลอดเวลาจะมีคำถามว่าเป็นอะไรของมึงวะ (หัวเราะ) ผมใช้เวลาหลายปีในการเรียนรู้และตกผลึกสิ่งเหล่านี้ ถ้าใครอยากทำสิ่งนี้อย่าตั้งต้นว่าอยากเที่ยวฟรีหรืออยากเดินทาง แต่ให้ตั้งต้นว่าคุณอยากรู้หรือเข้าใจอะไรแล้วดูว่าความอยากรู้เหล่านี้พาคุณไปตรงไหน

ทุกวันนี้คุณค้นพบสิ่งนั้นแล้วหรือยัง การได้ยิ้มเล็กๆ กับตัวเองที่คุณว่า

        มีบางช่วงเวลาที่ผมรู้สึกว่าพอแล้วไม่ต้องไปไหนก็ได้ จะต้องวิ่งตามอะไรหลังจากนี้อีก มันเกิดขึ้นตอนเลี้ยงหมา อ่านหนังสือ วิ่งอยู่ในสวน แต่เมื่อผ่านไปสักพัก ได้เสพข่าว ดูสถานการณ์โลก จะรู้สึกว่าไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง บางทีอาจเป็นกระบวนการที่ไร้ประโยชน์กับคนอื่น แต่มีประโยชน์กับตัวผมเอง เพียงแค่จะดำเนินไปสู่บั้นปลายชีวิตว่าเราทำเต็มที่แล้ว ประโยคเดียวที่ต้องการคือทำเท่าที่ทำได้

        แต่ก็ยังดีที่ชีวิตมีช่วงเวลาที่สงบมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งแก่ขึ้น ยิ่งรู้สึกมากขึ้น อายุห้าสิบหกสิบอาจจะพูดอีกแบบหนึ่ง เพราะผมสังเกตตัวเองในช่วงสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเดินทาง ไม่มีปีไหนที่เหมือนเดิมเลย มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้ากลับไปถามผมเมื่อสามปีที่แล้วช่วงเริ่มทำ เถื่อน travel ใหม่ๆ จะเป็นความรู้สึกอยากเห็นอยากดูไปหมด จนตอนนี้ดูมาหมดแล้ว เมื่อไหร่หนอการเดินทางจะจบสักที

สำหรับคนที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกเดินทางจากสิ่งที่คุณทำ คุณอยากบอกอะไรพวกเขา

        ถ้าบอกให้ทุกคนออกเดินทางคงเป็นเรื่องน่าหมั่นไส้ชอบกล เพราะการเดินทางต้องใช้เงิน เรารู้สึกว่าตัวเองโคตรโชคดีเลยในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องเดินทาง แต่เป็นเรื่องการเปิดโลก หมายถึงออกจากพื้นที่ที่เราอยู่ทุกวัน คนที่เราต้องเจอทุกวัน ไปคุยกับคนใหม่ๆ ดูสถานที่ใหม่ๆ ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อาจจะลงคอร์สหรือคุยกับคนที่ไม่รู้จัก สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเดินทาง มันเป็นก้าวสำคัญของชีวิตเลย คือการเอาตัวเองไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใหญ่กว่าชีวิตเรา ซึ่งถ้าใครมีโอกาสเดินทางได้ก็ไปเลย แต่ต้องไม่ใช่แค่การไปเที่ยวเพื่อเสพอย่างเดียว ควรเป็นการได้พบ ได้เจอ ได้เข้าใจอะไรบางอย่าง แต่ถ้าใครไม่มีเงิน ก็เริ่มจากคนที่เจอทุกๆ วัน ลองเข้าไปคุยกับเขา หรือคนที่คุณคิดว่าคุณเกลียดลองไปคุยกับเขาดู คุณอาจจะเข้าใจอะไรบางอย่าง แล้วข้างในของคุณจะออกเดินทางเองโดยอัตโนมัติ

        สำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากเดินทางทั่วโลก เราอยากจะบอกว่าอาชีพเดินทางฟรีไม่มีอยู่จริง กว่างานแต่ละชิ้นจะสำเร็จได้เหนื่อยทั้งนั้น แม้ว่าเราจะมีทุนในการเดินทาง แต่ก็ไม่ใช่ฟรีเพราะเราต้องทำงานแลก บลอกเกอร์ทุกคนก็ต้องทำงานแลกสิ่งนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นการเที่ยวฟรีโดยไม่ต้องทำงานจึงไม่มีอยู่จริงจากมุมมองของคนที่ทำงานด้านนี้ ถ้าในทางธุรกิจตอนนี้ในตลาดมีบลอกเกอร์ด้านท่องเที่ยวเยอะมาก ถ้าคิดจะทำเรื่องท่องเที่ยวอีกก็คงยากเพราะคู่แข่งเยอะ ต้องหาจุดขายที่แตกต่างและชัดเจน ถ้าพูดในเชิงการเติบโต การเดินทางเป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งของชีวิตที่ควรทำสักครั้งแต่ไม่ใช่ทำไปตลอด คนเราถ้าต้องเดินทางตลอดเวลาจะมีคำถามว่าเป็นอะไรของมึงวะ (หัวเราะ) ผมใช้เวลาหลายปีในการเรียนรู้และตกผลึกสิ่งเหล่านี้ ถ้าใครอยากทำสิ่งนี้อย่าตั้งต้นว่าอยากเที่ยวฟรีหรืออยากเดินทาง แต่ให้ตั้งต้นว่าคุณอยากรู้หรือเข้าใจอะไร แล้วดูว่าความอยากรู้เหล่านี้พาคุณไปตรงไหน มันอาจจะพาคุณไปที่ใกล้ๆ หรือไกลๆ ก็ได้ แล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้มา คุณก็ส่งต่อให้คนอื่น โอกาสต่างๆ ก็จะเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ เอง