น่าน

บ้านในทัศนะของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ ยุทธศักดิ์ นิมมาน คนสองวัยที่ย้ายมาอยู่จังหวัดน่าน

หลายคนชอบจังหวัดน่านเพราะเป็นเมืองที่มีจังหวะของเวลาที่ช้ากว่ากรุงเทพฯ (มาก) บางคนรักในความเงียบ สงบ เป็นกันเองของผู้คน หรือบ้างก็ชอบในวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับศาสนาพุทธ และมีวัดสวยๆ ตั้งกระจายอยู่รอบๆ (จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงพระบาง 2) สำหรับเรามองว่าเป็นเมืองที่ต้องแวะมาท่องเที่ยวในฤดูหนาว (บางรายถึงขั้นจองที่พักกันล่วงหน้าครึ่งปี) แต่นั่นก็เป็นมุมมองของคนนอกที่ได้เข้ามาสัมผัสกับที่นี่ แล้วสำหรับคนนอกที่เลือกเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่ล่ะ เขาสนใจอะไรในเมืองนี้

“ทำไมถึงต้องเป็นจังหวัดน่าน” คำถามนี้เราโยนไปให้กับ ‘ซำเหมา’ – ยุทธศักดิ์ นิมมาน กราฟิกหนุ่มจากจังหวัดพะเยา ผู้ที่หลงรักเมืองนี้เข้าอย่างเต็มตัว และตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ที่น่านมาแล้วกว่า 8 ปี กับนักเขียนหนุ่มใหญ่ ‘หนึ่ง’ – วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผู้ที่บอกว่าน่านคือบ้านที่ใช่สำหรับเขาในตอนนี้ เชื่อว่าคุณก็คงอยากรู้คำตอบเหมือนกับเรา

น่าน

 

คุณทั้งคู่ต่างก็ไม่ใช่คนน่าน แต่ทำไมถึงเลือกที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

     ยุทธศักดิ์: ตอนเรียนจบผมก็มีความคิดเข้าข้างตัวเองว่าคนต่างจังหวัดจะเข้าใจเรื่องการออกแบบได้ดีแค่ไหนกัน เลยใช้ชีวิตตามแบบแผนของคนทั่วไปที่เรียนจบก็เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ทำอยู่ได้ประมาณหนึ่งปีก็รู้สึกว่าตัวเองปรับตัวให้เข้ากับเมืองหลวงไม่ได้ เลยไปอยู่กับเพื่อนที่เชียงใหม่ และก็มีโอกาสได้ช่วยออกแบบโลโก้ให้กับโรงแรมในจังหวัดน่าน จากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ พอรู้ตัวอีกทีเราอยู่ที่นี่ยาวเลย

     วรพจน์: น่านเป็นเมืองที่อากาศดีมากๆ แต่คนไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องอากาศและแสงแดดกัน น่านเป็นจังหวัดที่พออยู่ได้ ไม่ได้หนาวจนทนไม่ไหว และก็ไม่ได้ร้อนจนเป็นทะเลทราย พอได้อยู่ในที่ที่อากาศดีแล้วมันดีต่อชีวิต เรามองเห็นแสงแดดสวยๆ เราให้ความสำคัญกับอากาศ เพราะอากาศคือสิ่งที่คนใช้หายใจตลอดเวลา ข้าวเรากินกันแค่วันละสามครั้ง กรุงเทพฯ เราอาศัยอยู่มากว่า 25 ปีแล้ว สำหรับเรา เราพอแล้ว

 

คนหนึ่งอยู่มา 8 ปี ส่วนอีกคนมาอยู่จริงๆ ได้เกือบปี น่านที่เป็นที่เจอนั้นแตกต่างกับภาพที่อยู่ในหัวบ้างไหม

     วรพจน์: บ้านเหมาเป็นไงบ้าง ร้อนไหม

     ยุทธศักดิ์: อยู่ได้นะครับ พัดลมก็ไม่ได้ใช้

     วรพจน์: เหมือนกัน ที่บ้านเราก็ไม่มีพัดลม หน้าร้อนก็หลบอยู่ใต้ต้นไม้ ถ้าไปยืนตากแดดถึงจะร้อน (หัวเราะ)

     ยุทธศักดิ์: เวลาบอกใครว่าที่บ้านไม่ใช้พัดลมเขาจะทำหน้าเหมือนเห็นผี เราก็ยืนยันว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมไม่ชอบความคิดที่ว่าถ้าร้อนหรืออากาศไม่ดีก็ค่อยเข้าห้องแอร์ คิดแบบนั้นไม่ค่อยถูกต้อง

     วรพจน์: ไม่ใช่หรอกเหมา เราใช้แอร์กันผิดวิธี เวลาเปิดแอร์เราต้องไม่ปิดประตู ปล่อยให้ลมแอร์ไหลออกไปข้างนอกถึงจะถูก โลกจะได้เย็นลง (หัวเราะ)

     ยุทธศักดิ์: พี่หนึ่ง ผมขอกาแฟเพิ่มแล้วกัน (หัวเราะ)

     วรพจน์: การเลือกสถานที่อยู่อาศัยมันมีปัจจัยเยอะ ไม่ใช่ว่ามีเงินร้อยล้านแล้วจะมาชี้เลยว่าเราจะอยู่ตรงนี้ เงินเป็นคำตอบที่มีน้ำหนักน้อยที่สุดด้วยซ้ำ การเลือกถิ่นฐานมีปัจจัยแวดล้อมทั้งเรื่องเพื่อน สิ่งรอบตัว เราไปๆ มาๆ ที่นี่หลายปีกว่าจะตัดสินใจมาอยู่

     ยุทธศักดิ์: ผมว่าเมืองเองก็เลือกคนมาอยู่ด้วยเหมือนกัน นี่เป็นคำเปรียบเปรย ถ้าพูดตามหลักความจริงคงเป็นเรื่องของธรรมชาติระหว่างคนกับเมืองว่าจะตรงกันไหม อย่างตอนแรกที่มาที่นี่เรามากันเป็นกลุ่มห้าคน ผมเป็นคนที่ติดสอยห้อยตามเขามาด้วยซ้ำ หลายคนก็บอกว่าอยากมาอยู่ที่น่าน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ไม่ได้มาอยู่ เหลือผมกับเพื่อนสองคนที่เหมือนกับเมืองได้เลือกเราไว้

     วรพจน์: เหมือนกับคนที่เป็นแฟนกัน ทำไมเราต้องเป็นแฟนกับคนนี้ ซึ่งก็มากับเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ บางทีก็เป็นเหตุผลที่เลอะเทอะ แต่ไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์แน่นอน มันคือเรื่องของความพอดีกัน

     ยุทธศักดิ์: มีหลายคนตั้งใจมาทำงานที่นี่ ทำร้านกาแฟ ร้านขายของ แต่งร้านให้เหมือนที่ปาย แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เพราะบุคลิกเมืองไม่เหมือนกัน ธรรมชาติของคุณกับธรรมชาติของเมืองไม่เข้ากัน

 

น่าน

 

ชีวิตในแต่ละวันของพวกคุณเป็นอย่างไร

     ยุทธศักดิ์: บอกแล้วจะหาว่าผมขี้เกียจไหม ที่แน่ๆ นอนตื่นสายแน่นอน (หัวเราะ) ตื่นมาก็เล่นกับหมาที่บ้าน อาบน้ำแล้วออกไปหาอะไรกิน แล้วก็เลยไปสภากาแฟ บ่ายๆ ก็กลับมานั่งทำงานถึงเย็น ถ้าว่างๆ ก็ปั่นจักรยานหรือไปขี่รถเล่น แล้วก็สังสรรค์กับเพื่อน ถ้าช่วงไหนส่งงานหมดแล้วก็อาจไปออกทริปขี่มอเตอร์ไซค์ ชีวิตดูเรียบง่ายไปไหม (หัวเราะ)

     วรพจน์: เราทำงานสองแบบ แบบแรกคือการทำสัมภาษณ์ ทำงานสารคดี นั่นคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น งานแบบที่สองคืองานเขียนของตัวเองที่ไม่ต้องยุ่งกับใคร ถ้าเป็นช่วงที่ทำงานของตัวเอง เรากำหนดชีวิตได้ หลังสองทุ่มก็เข้านอนแล้ว พอนอนเร็วก็ตื่นเช้า ใช้ชีวิตตามแสงแดด ซึ่งก็ไม่ได้มีเหตุผลที่สวยงามอะไรหรอก แค่บ้านของเราอยู่ในป่า เวลาเปิดไฟแล้วแมลงจะมาเยอะ ถ้ามีแสงแดดจะไม่ค่อยมีแมลง ตื่นมาก็ทำงานช่วงเช้า งานเขียนของเราเป็นงานที่ต้องคิด ถ้าคิดไม่ออกก็ไปนั่งเล่น นอนเล่น พอถามว่าวันๆ เราทำอะไรบ้าง เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) หนังสือเราเขียนสี่ชั่วโมงก็เสร็จ แต่กระบวนการก่อนหน้านั้นต่างหากที่ต้องใช้เวลา นั่นคือการคิด ถ้ามาดูตอนที่เราไม่ได้นั่งเขียนหนังสือ ก็จะบอกว่าวันๆ ไม่เห็นทำ (ห่า) อะไรเลย เออ ก็ใช่ (หัวเราะ)

 

แสดงว่าอยู่ที่ไหนก็ยังทำงานได้นั้นทำได้จริงใช่ไหม

     วรพจน์: แล้วแต่อาชีพครับ ถ้าคุณเป็นทหารเรือก็ทำไม่ได้ หรือคุณเลือกที่จะเป็นหมอผ่าศพก็มาไม่ได้ ต้องดูก่อนว่าความปรารถนาของคุณคืออะไร ความสามารถล่ะ แล้วต้องการอะไร คุณต้องการสิ่งนั้นแต่สิ่งนั้นอยู่ที่สาทร คุณจะมาบอกว่าอยากทำตามใจตัวเองแล้วอยากได้เงินเดือนเจ็ดหมื่นด้วย จะเป็นไปได้ยังไง

      ยุทธศักดิ์: ถ้าเป็นงานด้านการออกแบบ ผมว่าทุกที่ต้องการหมด เพราะการออกแบบคือการแก้ปัญหาเบื้องต้นให้กับคน บางคนที่บอกว่าอยากกลับมาอยู่บ้าน แล้วถ้าเขามีพ่อแม่อยู่ที่นี่ การย้ายกลับมาทำงานต่างจังหวัดก็ไม่ได้น่ากลัวมากนัก

     วรพจน์: อย่าลืมว่าบางวันเหมาไม่ได้ทำงานให้คนน่าน เขาทำงานให้คนที่บุรีรัมย์ แต่เขานั่งทำงานอยู่ที่น่านเท่านั้น ผมเองอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้เขียนแต่เรื่องน่าน ผมอาจจะกำลังเขียนเรื่องของปารีสอยู่ก็ได้

 

น่าน

 

การเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ แล้วมาอยู่ในเมืองที่เงียบสงบ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองกันบ้างไหม

     วรพจน์: แรงขับเคลื่อนทางความคิดที่คุณว่าเราเจอมาตลอด 25 ปีที่อยู่กรุงเทพฯ สำหรับเรา คำว่า ‘แรงบันดาลใจ’ ที่หลายๆ คนพูดถึงกัน เราไม่ต้องการแล้ว เพราะสิ่งนี้เข้าไปอยู่ในเลือดเนื้อของเราแล้ว เราทำงานของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ก็เหมือนกับเวลาที่อยากกินข้าว เราก็ไม่ต้องไปดูว่าคนอื่นกินข้าวไหม ถ้าอยากกินเราก็กิน

     ยุทธศักดิ์: มาที่นี่ถ้าจะมามองหาความตื่นเต้นก็อยู่ไม่ได้หรอก การอยู่ที่น่านเหมือนกับการอยู่กับความธรรมดา และเราชอบความธรรมดานี้ ผมไม่เคยคิดถึงความตื่นเต้นเลย

     วรพจน์: แต่ก็ต้องตีความอีกว่าความตื่นเต้นของเรากับตื่นเต้นของคนอื่นเป็นอย่างไร ความตื่นเต้นของเราอาจจะเป็นที่แสงแดดแบบนี้ ลมเย็นๆ อย่างตอนนี้ นี่คือความตื่นเต้นของเรา ซึ่งไม่เหมือนกับความตื่นเต้นของคนอื่น

     ยุทธศักดิ์: สมัยเรียนจบใหม่ๆ ผมก็เสียดายนะถ้าบางครั้งเราไม่ได้ดูหนังบางเรื่องหรือไม่ได้ไปคอนเสิร์ตบางงาน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้ตัวเราในช่วงนั้น แต่วันนี้ผมมองว่างานของตัวเองควรจะออกมาจากแก่นกลางของตัวเรา หลังๆ ผมจึงไม่ลงไปกรุงเทพฯ แล้ว เพราะไม่อยากไปเจอกับรถติด ความปวดหัว ความวุ่นวาย ผมรู้สึกว่าตัวเองเดินตามจังหวะการก้าวเท้าของคน กทม. ไม่ทันเลย

 

ถ้าเรื่องรถติดคือตัวชี้วัดการเติบโตของเมือง ได้ข่าวว่าจังหวัดน่านรถก็เริ่มติดแล้ว

     วรพจน์: โอ๊ย ติดนิดเดียวเอง คำว่ารถติดของคนน่านกับรถติดที่อโศกนี่คนละเรื่องเลย ที่นี่มีรถจอดติดไฟแดงอยู่สี่คันเขาก็พูดละว่ารถติด แต่รถก็เยอะขึ้นจริงๆ นั่นแหละ เยอะขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้ติดขนาดนั้น อย่างมากก็ติดไฟแดงอยู่สามนาที พอมีรถติดจำนวนหนึ่ง คนก็จะพูดว่ารถเยอะจังเลยวันนี้ (หัวเราะ) ต้องดูว่าใครพูด และความหมายจริงๆ คืออะไร เพราะมันต่างกันมาก คำพูดของคนท้องถิ่นกับคนเมืองเป็นเรื่องเฉพาะมาก ต้องถามให้ดีว่าที่เขาบอกนั้นหมายความว่าอย่างไร

 

น่าน

 

หลายคนชอบที่นี่เพราะความเนิบช้า ซึ่งตอนนี้น่านยังเป็นอย่างนั้นอยู่ไหม

     วรพจน์: คุณว่าคนน่านเป็นคนช้าเหรอ งั้นลองดูตลาดตอนเช้า คนที่นี่ตั้งแผงขายของกันตอนตีห้า พอเจ็ดโมงเช้าก็เก็บของกลับหมดแล้ว มาถึงตลาดตอนสักแปดโมงคือไม่เหลืออะไรแล้ว แล้วตลาดตอนเย็นของเขาคือบ่ายสามโมง คุณว่าเขาช้าไหม สำหรับผม คนที่นี่แอ็กทีฟกันจะตาย

     ยุทธศักดิ์ : จริงครับ คนน่านทำอะไรกันเร็วกว่าที่เราเห็นด้วยซ้ำ แต่บางเรื่องที่ช้าเพราะมีเหตุผล อย่างสมัยก่อนที่ผมมาอยู่ใหม่ๆ ผมเป็นคนเกรี้ยวกราดนะ ต้องทำให้ได้ดั่งใจ แต่คนน่านเป็นคนที่ประนีประนอมกันมากกว่า ผมเคยทำงานกับช่างปั้นปูนซึ่งเขาเป็นคนที่ฝีมือดีมาก แต่พอทำงานกันสักพักเขาก็หายไปเลย พอไปตามก็พบว่าเขาไปช่วยที่บ้านปลูกถั่วเลยหยุดงานปั้นปูนไว้ก่อน ซึ่งเจ้าของโครงการก็บอกว่า ไม่เป็นไร รอได้ ผมก็อึ้ง เพราะเขาบอกว่างานหลักของเขาคือช่วยที่บ้านปลูกถั่ว ปลูกข้าว งานปั้นปูนคืองานอดิเรก คนที่นี่เขาให้ความสำคัญกับการเกษตรก่อนเรื่องอื่น วิถีชีวิตของคนที่นี่เป็นอย่างนี้จริงๆ

 

ถามตรงๆ เลย ลึกๆ ในใจ อยากให้ที่นี่เป็นเมืองที่ป๊อปปูลาร์แบบเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ไหม

     วรพจน์: เราไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความอยากในเรื่องนี้ เมืองจะป๊อปไม่ป๊อปก็ช่าง

     ยุทธศักดิ์: พี่กลัวอกหักเหรอครับ (หัวเราะ)

     วรพจน์ : โลกจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของโลก มัน out of control สำหรับเรา

     ยุทธศักดิ์: เราขอแค่อย่ารื้อๆ สร้างๆ วัดบ่อยๆ ก็พอ (หัวเราะ) แต่เราเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับคน เลยรู้สึกว่าน่านยังไม่เปลี่ยนไปมาก อาจจะมีความเจริญเกิดขึ้น อย่างที่หน้าวัดภูมินทร์ เรือนไม้เก่าที่เราชอบก็หายไป เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรามองเห็นแต่ก็ไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไร

     วรพจน์: เรือนไม้เก่าที่คุณว่าตอนนี้ไปเป็นบ้านผมไง (หัวเราะ) อันนี้พูดเล่นนะ แต่มันก็เป็นไปได้ เพราะเมื่อบ้านนี้ถูกรื้อออกไปแล้วสร้างเป็นตึก เขาก็เอาไม้เก่าไปขาย เราชอบไม้เก่าก็ไปซื้อมาทำบ้าน ทุกอย่างก็เคลื่อนไป เป็นสมบัติผลัดกันชม

 

น่าน

 

คุณคิดว่าในอนาคตจะลงหลักปักฐานอยู่ที่น่านตลอดไปไหม

     ยุทธศักดิ์: ผมอยากอยู่ที่นี่ ถ้าเป็นไปได้ก็จะอยู่ที่นี่แหละ ยกเว้นแต่ว่ามีปัจจัยทางบ้าน หรืออาจจะต้องแต่งงานแล้วทางบ้านของฝ่ายหญิงไม่สามารถย้ายมาได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ตอนนี้ก็ฝันว่ายังไงก็คงใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

     วรพจน์: ผมไม่มีอนาคต แต่ที่นี่ตอนนี้คือบ้าน แต่วิธีคิดของผมคือบ้านเป็นเรื่องชั่วคราว โอเค บ้านเป็นสิ่งปลูกสร้าง เป็นถาวรวัตถุ แต่สำหรับผม ทุกอย่างไม่ถาวรหรอก ตอนนี้มันสนุก มันพอดี มันชอบ เราก็อยู่ ถ้ามันไม่สนุก มันไม่พอดี เราก็เลิก ซึ่งไม่รู้ว่าอาจจะเป็นหนึ่งปีหรือสิบปีก็ได้ ไม่มีคำว่าสุดท้ายอยู่แล้ว ถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยน ไปอยู่ที่ที่ตัวเองชอบ ทำไมต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ เราอยากมีชีวิตที่ดี เราก็ใช้สิทธิ์ในการเลือก ในโลกใบนี้มันมีเรื่องจำนวนมากที่เลือกไม่ได้ และก็มีเรื่องที่เลือกได้ อะไรที่เลือกได้เราก็เลือกไปสิ

     ยุทธศักดิ์: ถ้าพี่หนึ่งจะไม่อยู่แล้ว ยกบ้านให้ผมก็แล้วกันนะครับ (หัวเราะ)