“ความยุติธรรมไม่มีจริง!”
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ คิดแบบนั้น ชายคนนี้ติดคุกมาแล้ว 3 ครั้ง ชีวิตครึ่งหลังของเขาผูกติดแน่นหนาอยู่กับการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ไล่ตั้งแต่กรณีไล่รื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุมวิทในฐานะนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงการลืมแจ้งทรัพย์สินจำนวน 150,000 บาทในฐานะนักการเมือง รวมถึงภาพหลักของการเป็นนักสังเกตการณ์ สื่อมวลชน และ ‘จอมแฉ’ ผู้คอยตรวจสอบกระบวนการความไม่เป็นธรรม ซึ่งประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาพูดนั้นก็มักกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่บ่อยครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา
“คนอย่างผมเนี่ยมันต้องตกงานอยู่แล้ว เพราะพูดชัดและตรงเกินไป คนเขากลัว คนไทยเขาชอบคนพูดจายิ้มแย้ม ได้ครับ โอเค นี่มันยุคใคร สมัยไหน เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว จะพูดชัดก็ไม่ได้ จะพูดมากก็ไม่ดี พูดไม่เข้าข้างก็ไม่ได้”
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ช่วงหลังจอมแฉอย่างเขาค่อนข้างเงียบไปทั้งในหน้าสื่อหลักและออนไลน์
“ชาวบ้านถาม เฮ้ย ชูวิทย์ คุณหายไปไหน ทำไมไม่ออกมาวิเคราะห์ข่าว ผมบอกคดีผมเยอะแล้ว ทุกวันเดี๋ยวต้องมีจดหมายรักมาจากศาล ผมก็ไม่อยากเอาหรอก คนอย่างผม คุก 3 รอบ ผมว่าผมพอแล้วนะ นั่งพื้นก็นั่งมาแล้ว อยู่ในคุก อยู่ในแดนสวรรค์ นั่งในสภา ก็อยู่มาแล้ว แต่บางครั้งคุณเข้าใจไหมว่ามันทนไม่ไหว พอทนไม่ไหวทีก็ออกมาพูดที”
คำว่า ‘ทนไม่ไหว’ ในที่นี้ก็เช่น การโพสต์ความคับข้องหมองใจในเพจเฟซบุ๊กของเขาต่อ ‘คดีนาฬิกาหรู’ ที่สุดท้ายกลายเป็นกรณีศึกษาของ ‘วัฒนธรรมลอยนวล’ ในประเทศนี้อีกหนึ่งกรณี
อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้
ฟังแล้วก็รู้สึกหดหู่กับเรื่องจริงที่จริงเกินไป เมื่อชูวิทย์ยืนยันว่า ‘ประเทศไทยเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น’ แถมตัวเขาเองตอนนี้ ก็ได้ขยับจากระดับที่เคยเป็นหมาจนตรอกที่มักแว้งกัดทุกคนที่บังคับให้เขาต้องสู้ เข้าสู่พื้นที่ของความฉลาดของการ ‘อยู่เป็น’
“Life is a fact. ชีวิตคือความจริง Fact is an experience. ความจริงคือประสบการณ์ ประสบการณ์คือความรู้ ความรู้คือความฉลาด ตอนนี้ผมอยู่ในขั้นความฉลาดแล้ว เพราะฉะนั้น คุณต้องรู้จักพูด ถ้าคุณจะตรวจสอบ ต้องถามก่อนว่าคุณจะตรวจสอบใคร จะตรวจสอบใครก็ต้องรู้ด้วยว่าใครเป็นใคร ถ้าไปตรวจสอบผิดคนเดี๋ยวก็เข้าตัวหรอก แต่ถ้าจะตรวจสอบผม ตรวจสอบไปเลย ผมสู้มาแล้วทุกรูปแบบ บางครั้งผมสู้ไม่ได้ผมก็ยอมรับ เพราะเขาบอกว่า สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ”
แม้กระนั้นชูวิทย์ก็อธิบายถึงรากของกระบวนยุติธรรมที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเป็นธรรมนักในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ
“ประเทศไทยเป็นสังคมหลายชั้น เป็นสังคมของเด็ก ของผู้ใหญ่ (seniority) สังคมที่มีปู่ มีพ่อ มีลูก มีหลาน ซึ่งฝรั่งบางครั้งก็ไม่มี บริบทเขาเป็นแบบนั้น เขาให้ค่ากับคนเก่ง เอาเรื่องไอ้คนนี้ไปไว้ในมหาวิทยาลัย ไปศึกษาดูสิว่าชีวิตไอ้คนนี้เป็นอย่างไร ทำไมมันถึงเก่ง แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่คุณจะขยับไปแต่ละชั้นด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้น เมื่อมีสังคมหลายชั้น คุณก็ต้องดูวัฒนธรรมอีก เช่น คุณเดินผ่านศาลพระภูมิ คุณยกมือไหว้ มึงไหว้ทำเหี้ยอะไร (หัวเราะ) มันมีอะไรอยู่ในศาลพระภูมิ ก็เจ้าที่ไง เพราะฉะนั้น ทุกที่มีเจ้าที่ มีนายทุน มีสังคมชั้นสูง มีทหาร จะให้ตรวจสอบทหาร บ้าหรือเปล่า คุณต้องรู้ก่อนว่าเจ้าที่ของแต่ละที่เป็นใคร ต้องรู้คนไหนระดับไหน ดังนั้น เมื่อคุณจะตรวจสอบข้ามชนชั้นมันเลยเป็นเรื่องยาก”
เมื่อย้อนกลับไปสู่คำสอน หรือระบบการศึกษา วัฒนธรรมเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะฝังรากมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก ด้วยการถูกสอนให้ ‘เชื่อฟัง’ มากกว่า ‘ตั้งคำถาม’
“ตั้งแต่เด็ก ในห้องเรียน หรือคุณมีลูกน้อง คุณถามดู เฮ้ย มีใครสงสัยอะไรไหม …เงียบ ตอนเด็ก ครูถาม นักเรียนมีใครสงสัยอะไรไหม ยกมือถาม …เงียบ สังคมไทยเป็นสังคมที่ทำให้คนเงียบ เขาเรียก Silent Society มึงอย่าเสือกถาม อย่าเสือกซัก ต้องอยู่แบบเงียบๆ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนสังคมคือกระบวนที่ยากที่สุด ดังนั้น การตรวจสอบมันเป็นไปไม่ได้ คุณตรวจสอบไปก็ไม่ถึงตัว ตรวจสอบไปเขาก็พวกกัน ตรวจสอบไปก็ไม่ชนะ และถึงวันหนึ่งคุณก็เหนื่อย คุณก็อ่อน คุณก็เพลีย แล้วคุณก็แพ้ แล้วคุณจะเป็นแบบผมไง ก็คือ ‘อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้’ ”
ความยุติธรรมไม่มีจริง
“ไม่มี” เขาพูดออกมาแบบไม่ต้องคิด เมื่อเราถามว่าความยุติธรรมมีจริงหรือไม่ นี่คือคำตอบของคนที่เคยติดคุก และเห็นด้วยกับคำว่า ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ เป็นเพียงการประชดประชัน
“ในคุกมันมีทั้งคนจน คนโง่ คนดื้อ สำหรับคนจนนั้นบางครั้งเขาก็ไม่สู้ แต่เลือกที่จะติดคุก คนดื้อคือคนไม่ฟังกฎหมาย และคนโง่คือคนไม่รู้กฎหมาย เพราะฉะนั้น คนสามประเภทนี้แหละที่จะอยู่ในคุกไม่นับว่าจนหรือรวย”
เมื่อถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย เขาหัวเราะ ก่อนตอบว่า “ผมไม่เคยคิดว่ากฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ผมคิดว่าคนคุมกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้น คุณอย่าโทษกฎหมาย ใช่ กฎหมายมันดิ้นได้ ซึ่งเวลาคุณสู้ คุณก็จะบอกว่าผมไม่ผิด แม้แต่อยู่ในคุก คุณก็ตะโกนว่า ผมไม่ผิด แต่ท้ายที่สุดที่คุณติดคุกก็เพราะว่าคุณผิด คุณเกือบผิด หรือคุณทำให้มันผิด มันไม่มีหรอกครับที่คุณบริสุทธิ์และไปติดคุกทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาคุณสู้ คุณก็ต้องสู้ให้เป็น คุณสู้ไปทั้งๆ ที่คุณคิดว่าถูก แต่กระบวนการสู้ของคุณผิด คนบริสุทธิ์ติดคุกได้ก็เรื่องนี้แหละ เพราะคุณสู้ผิด”
แต่ทั้งหมดนั้นสำหรับ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ คำว่า ‘กฎหมาย’ ไม่ได้หมายถึง ‘ยุติธรรม’
“ถ้าผมมีปืนแล้วมีขโมยเข้ามาในบ้าน ผมก็ต้องยิง หรือเรื่องที่คุณเคยเห็นอย่างวิศวกรที่ทะเลาะกับวัยรุ่นที่ชลบุรี สุดท้ายยิงกัน ศาลก็ลงโทษ ทำไมล่ะครับ ก็เพราะกฎหมายเขาต้องทำให้คุณกลัว ถ้าคุณไม่กลัว คุณก็ฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าเป็นสมัยคาวบอย คุณไม่ชอบหน้ากัน ท้าไปดวลปืน กูยิงมึงตาย กูชนะ ไม่ติดคุก แต่เมื่อมีกฎหมายแล้ว ทุกคนก็ต้องรู้จักใช้กฎหมายให้เป็น” เขาย้ำว่า “กฎหมายไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนดีนะ แต่กฎหมายทำให้คุณกลัวที่จะทำผิดกฎหมาย แต่พอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะประเทศไหนในโลกก็ตาม การต่อสู้มันก็ต้องใช้เงินจ้างทนาย นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คนจนติดคุกเยอะ”
นั่นคือบทเรียนที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงครั้งแล้วครั้งเล่า
“ผมสารภาพเพราะผมผิด เพราะผมใจร้อน โง่เขลาเบาปัญญา ผมไปรื้อบาร์เบียร์ของเขาก็เพราะมันไม่ยอมย้ายออกไปจากที่ของผม แล้วจะมาถามผมว่าทำไมไม่ทำตามกฎหมาย ก็เพราะกฎหมายกว่าจะจัดการได้ก็เป็นสิบๆ ปี ผมกู้มา 500 ล้าน จ่ายดอกเบี้ยถึง 10 ปี รอถึงตอนนั้นผมก็เจ๊งน่ะสิ ถ้าความยุติธรรมมีจริง ผมจะไปไล่ด้วยตัวเองทำไม”