Highlights
- ‘SIN’ หรือ ทศพร อาชวานันทกุล เป็นนักร้องนักแต่งเพลงที่มีเพลงฮิตมากมาย เช่น เบาเบา, เธอเปลี่ยนไปแล้ว, ฟัง feat. โอม Cocktail ฯลฯ และล่าสุดกับ ‘เรื่องจริง’ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง คืนวันเสาร์ถึงเช้าวันจันทร์ ตอนนี้มียอดคนดูถึง 100 ล้านวิวแล้วทางยูทูบ
- หลังจากที่เคยได้ร่วมงานกับศิลปินญี่ปุ่นอย่าง Depapepe และ Rachael Yamagata ไปบ้างแล้ว วันนี้ SIN ก็ได้มีเพลงภาษาญี่ปุ่นของตัวเองอย่างเป็นทางการชื่อ 海になりたい (อุมิ นิ นาริไต) ซึ่งเป็นความฝันของเขามาตั้งแต่เด็ก
- 海になりたい หรือ Umi Ni Naritai – SIN feat. Okamoto Emi เป็นการร่วมงานกับ Okamoto Emi (เอมิ โอคาโมโตะ) นักร้องนำวง FRIENDS ที่มีเพลง ‘I Wo You’ หนึ่งในเพลงประกอบซีรีส์เรื่อง What Did You Eat Yesterday ทาง Netflix โดยเขาเป็นคนประพันธ์ทำนองและดนตรี ส่วนเอมิเป็นคนเขียนเนื้อร้อง และร่วมร้องในเพลงนี้
ปล่อยให้ลมทะเลพัดความเศร้าไป เล็กน้อยเพียงใดจะปัดเป่ให้หาย โอบรับท่วงทำนองเกลียวคลื่นนั้นไว้ ลาลาลา คุณอยู่ที่ใด ทะเลจะเชื่อมไปถึงคุณ
แม้จะเป็นคืนที่แสนเจ็บปวด ผมจะรับมันไว้ทั้งหมดเอง แมวยังเต้นรำไปกับจังหวะของรุ่งอรุณเพื่อนคุณ ผมจะเป็นทะเลที่ส่องประกาย
– Umi Ni Naritai – SIN feat. Okamoto Emi
เนื้อเพลงบางส่วนจากการแปลของ Pat Chonpantarak หนึ่งในแฟนเพลงของ ‘SIN’ หรือ ทศพร อาชวานันทกุล ศิลปินชาวไทยที่มีเพลงเพราะๆ กินใจคนฟังมากมาย ซึ่งหลายเพลงของเขานั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกเหงาเคล้าคลอไปด้วยความอบอุ่นใจแบบลึกๆ ราวกับกลั่นออกมาจากชีวิตและความเป็นจริงของมนุษย์ ที่ไม่มีใครจะมีด้านที่สุขจนสว่างเจิดจ้าหรือเศร้าจนหม่นมืดไปทั้งหมด หรือเหมือนกับท้องทะเลที่บางวันก็สดใส มองไปตรงไหนก็เห็นแต่สีฟ้าคราม แต่บางวันก็เต็มไปด้วยพายุที่ถาโถมรุนแรงเหมือนโกรธเขี้ยวกับใครมา
วันนี้ SIN ได้ทำอีกหนึ่งความตั้งใจของตัวเองสำเร็จนั่นคือ การเดบิวต์ซิงเกิลล่าสุดอย่างเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่นชื่อ 海になりたい ผลงานที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ชีวิตและการระลึกถึงวันชื่นคืนสุขในวัยเด็ก สู่การเดินทางครั้งใหม่ที่เติบโตขึ้นทั้งชีวิตและความคิดของเขา
สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าหากเรามีความตั้งใจและมุ่งมั่น การทำตามความฝันของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ และการพูดคุยครั้งนี้เรายังได้สำรวจอีกด้านของการก้าวข้ามความกลัวของตัวเองที่พาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ แม้อาจจะต้องเจอกับมรสุมที่กระหน่ำเข้ามาเหมือนพายุที่โหมเข้าใส่ก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อพายุได้พัดผ่านไป ท้องฟ้าก็จะกลับมาสดใสอีกครั้ง
นี่คือ ‘เรื่องจริง’ ที่ไม่ได้เกินจริงแม้แต่น้อย
ปี 2021 ที่ผ่านมาคุณตัดสินใจพาตัวเองออกมาเป็นศิลปินอิสระที่ไม่สังกัดค่ายเพลง อะไรที่ทำให้ตัดสินใจอย่างนั้น
เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นศิลปินในสังกัดค่ายเพลงมาสิบปีแล้ว ณ วันที่ตัดสินใจเดินออกมา ช่วงนั้นเป็นความรู้สึกอยากลองออกมาว่าเราจะดูแลตัวเองบ้างจะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราสามารถยืนด้วยขาของตัวเองได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ในระยะยาวสิ่งนี้อาจจะดีกับตัวเองที่สุด แต่ถ้าในอนาคตหากมีค่ายเพลงที่สนใจและเราคุยกันแล้วรู้สึกโอเคลงตัวกันจริงๆ เราก็สนใจร่วมงานด้วย แต่ ณ ตอนนี้เราอยากลองทำเองทั้งหมด อยากดูว่ามันจะเป็นอย่างไร
ได้เรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง เจอแรงกระแทกกลับมาเยอะไหม
ค่อนข้างเหนื่อย เพราะเราต้องทำเองทุกอย่างจริงๆ แม้ว่าการทำเพลงเราจะมีวิธีการทำงานของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากที่ทำเพลงเสร็จแล้วคืออะไรบ้าง ยอมรับว่าก็งงตัวเองอยู่สักพักเหมือนกัน ต้องมาค่อยๆ ไล่ลำดับดูว่าต้องทำอะไรต่อ นั่นคือมีเพลงแล้วก็ต้องโทร.หาผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ เพื่อพูดคุยกับเขาว่าเราอยากให้เขาช่วยทำมิวสิกวิดีโอให้ออกมาเป็นอย่างไร นัดวันถ่ายทำ รายละเอียดต่างๆ ของการโปรโมตที่เราต้องทำเองทั้งหมด จะปล่อยเพลงวันไหน จะเอาลงสตรีมมิงอย่างไร ทั้งหมดเป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ด้วยเช่นกัน ยิ่งเราใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกประหลาดในตอนนี้ด้วย การปรับตัวของเราก็ทำได้เท่าที่สามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยการบาลานซ์เรื่องต่างๆ ในชีวิตแบบงงๆ ไปด้วยกัน
“ในวันที่มืดมนที่สุด การทำงานเพลงนี่แหละที่ทำให้เราสามารถเดินต่อไปได้ การได้ทำเพลงออกมาสักหนึ่งเพลงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราไม่รู้สึกจมดิ่งไปมากกว่านั้น นี่คือวิธีคิดของเราที่เป็นการเอาสิ่งที่เราคับข้องใจ รู้สึกแย่ รู้สึกเศร้า เอาห้วงอารมณ์ทั้งหมดของตรงนั้นมาลงกับเพลงของเรา”
ทุกวันนี้คุณยังเข้มงวดในการทำงานของตัวเองแค่ไหน
เรามีมาตรฐานของตัวเองอยู่ ซึ่งถ้าผลงานยังไม่ถึงเส้นที่ตั้งไว้ก็ยังไม่โอเค จะพยายามทำงานชิ้นนั้นจนกว่าเราจะรู้สึกว่ามันถึงแล้วหรือใช่แล้ว จากนั้นจึงค่อยปล่อยเพลงออกมา เส้นแบ่งที่ว่านั้นจะตั้งอยู่ในใจ ไม่สามารถเขียนออกมาเป็นข้อๆ ได้ เพราะเส้นตรงนี้สำหรับเรามาจากประสบการณ์และรสนิยมส่วนตัว ซึ่งเชื่อว่าศิลปินคนอื่นๆ ก็จะมีอะไรที่คล้ายๆ กันแบบนี้
คุณสร้างผลงานที่ดีให้ออกมาในวันที่ตัวเองแย่ที่สุดได้อย่างไร
ในวันที่มืดมนที่สุด การทำงานเพลงนี่แหละที่ทำให้เราสามารถเดินต่อไปได้ การได้ทำเพลงออกมาสักหนึ่งเพลงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราไม่รู้สึกจมดิ่งไปมากกว่านั้น นี่คือวิธีคิดของเราที่เป็นการเอาสิ่งที่เราคับข้องใจ รู้สึกแย่ รู้สึกเศร้า เอาห้วงอารมณ์ทั้งหมดของตรงนั้นมาลงกับเพลงของเรา ให้เป็นผลงานที่แสดงถึงอีกด้านหนึ่งของเราให้กับคนฟังในเวลานั้น ซึ่งการเอาความรู้สึกของเรามาทำเป็นเพลง พอทำเสร็จแล้วเราจะรู้สึกโล่งด้วย ดังนั้น เวลาที่เราได้ร้องเพลงนั้น สำหรับเราคือความรู้สึกภูมิใจที่เราผ่านมาได้ เป็นความสบายใจที่เราได้ปลดปล่อยความเศร้าของเราลงไปในผลงาน เหมือนคนที่ได้ระบายสีระบายความรู้สึกของตัวเองไปบนผืนผ้าใบ เมื่อทำงานเสร็จเราก็จะมีความสุขกับผลงานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา
ครั้งแรกที่ได้ฟังเพลง 海になりたい ทำให้เรานึกถึงเพลงซิตี้ป๊อปญี่ปุ่นยุค 80s มากๆ อยากรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการทำเพลงนี้
ตอนเราทำทำนองเพลงนี้ ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นเพลงสุขหรือเพลงเศร้า เราแค่นึกถึงบรรยากาศว่าตัวเราเดินอยู่คนเดียวบนหาดทรายที่เวิ้งว้างริมทะเล จากนั้นจึงจินตนาการว่า ถ้าเรามีเพลงของตัวเองเป็นภาษาญี่ปุ่น เพลงของเราก็คงจะออกมาเป็นประมาณนี้ เป็นความถวิลหาบางอย่างที่ซึมซับมาจากการดูภาพยนตร์ อนิเมะ รวมทั้งหนังสือการ์ตูน หรือแม้แต่เกม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เด็ก
ผนวกกับพอเป็นการทำเพลงในช่วงวัยนี้ ดนตรีที่ทำออกมาเลยมีความวินเทจผสมกับภาพในหัวที่เป็นจินตนาการบางอย่างที่เราคิดเป็นเรื่องราวไว้ เพลงนี้จึงมีความเป็นสีเทามากกว่า พอได้เนื้อเพลงเข้ามาเติม ก็ยังมีความเป็นสีเทาอยู่เหมือนเดิม เพราะพูดถึงความคิดถึงคนที่อยู่ไกลกันโดยมีทะเลเป็นตัวเชื่อมของความรู้สึก ดังนั้น เพลงนี้ก็จะเหมือนเพลงก่อนๆ ของเราที่แม้ว่าจะมีความสุข แต่ก็มีความเศร้าปนอยู่ด้วย หรือถึงแม้ว่าจะมีความเศร้าอยู่ในนั้น แต่ก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้น เป็นความรู้สึกที่ยังมีความหวังอยู่ เป็นการก้าวข้ามผ่านความรู้สึกบางอย่าง เป็นการมองโลกด้วยความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงนั้นก็ไม่ได้สุขและก็ไม่ได้เศร้า แต่เป็นสิ่งที่มีทั้งสองอย่างผสมปนเปเข้าไว้ด้วยกัน
เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งของการเติบโตในการทำงานของคุณด้วยใช่ไหม
การทำงานร่วมกันครั้งนี้เหมือนเราได้สำรวจอะไรบางอย่างในตัวเองด้วย เพราะมันเป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งถามว่ายากไหม เราคิดว่าไม่ยากเลย แต่ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าเราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไรมากกว่า เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเพลงนี้จะต้องทำให้เสร็จภายในอีกสามเดือนหรือห้าเดือน เพลงนี้จึงมีเวลาของมันไปเรื่อยๆ ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ใช้เวลาร่วมปีเหมือนกัน (หัวเราะ)
เพลง 海になりたい นี้ เราให้อิสระกับคุณเอมิแบบเต็มที่เลย เขาสามารถเขียนออกมาได้ตามที่เข้าต้องการเลย จะมีแก้กันเล็กๆ น้อยๆ เช่น คำนี้มันยังไม่ลงตัวกับเมโลดี้ของเรา ซึ่งเวลาเราร้องจะรู้สึกไม่ชินปาก เอาเข้าจริงเราแก้ไขกันรอบเดียวด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะเพลงนี้เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนแต่แรก เราทำดนตรีทำทำนองขึ้นมาก่อน ทางคุณเอมิก็ดูแลเรื่องเนื้อเพลงไปเลย เราจึงแทบไม่ต้องมาจูนหรือปรับตัวอะไรต่อกัน บวกกับความที่เราให้เกียรติและเชื่อมั่นในสิ่งที่แต่ละคนกำลังทำด้วย
คุณเป็นคนที่จริงจังในการทำงานมาก และคนญี่ปุ่นเองก็เข้มข้นในเรื่องการทำงานไม่แพ้กัน อยากรู้ว่าคนสองขั้วแบบนี้มาเจอกัน ทำให้การทำงานยากหรือง่ายเพียงใด
กลายเป็นว่าเราทำงานด้วยกันอย่างราบรื่นมากจนเราคิดไม่ถึงเหมือนกัน (หัวเราะ) อาจจะเป็นเพราะคนแบบเดียวกันมาเจอกันก็ได้ วิธีการทำงานจึงค่อนข้างง่าย เพราะเราคุยกันให้จบตั้งแต่แรก จากนั้นต่างคนต่างไปทำงานของตัวเอง ตอนอัดเสียงร้องเราก็จะมีขั้นตอนส่งให้ทางญี่ปุ่นเลยว่าทางนั้นจะต้องร้องคอรัสตรงนี้ ร้องคำนี้ตรงนี้ เพื่อเป็นไลน์ประสานกับเรา ซึ่งเราทำเป็นสรุปงานแบบละเอียดส่งให้เขาเลย รายละเอียดพวกนี้ทางนั้นเป็นคนขอมาเองด้วยซ้ำว่าคุณเขียนบอกเรามาเลย ซึ่งทางเราก็ตั้งใจว่าจะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว (หัวเราะ) จะได้รับรู้กันไปเลยว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง ข้อดีคือมันจะมีแกนอะไรสักอย่างให้เราสามารถเกาะไปด้วยกันได้
“สิ่งสำคัญอยู่ที่จุดเริ่มต้นของคุณนั่นคือ ไม่ต้องมีคำถามกับตัวเองเยอะว่าจะทำอย่างไรดี จะทำเมื่อไหร่ดี หรือฉันควรจะเริ่มยังไง ให้ทำเลย ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องคิดเยอะเกินไป ถ้าเราอยากทำสิ่งไหนจริงๆ และความรู้สึกนั้นมีมากกว่าความกลัว หรือความอาย สุดท้ายคุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับมา”
ฟังแล้วคุณค่อนข้างสนุกกับงานครั้งนี้ แต่ส่วนที่เป็นเรื่องของความกดดันในการทำงานล่ะ มันเกิดขึ้นกับคุณบ้างไหม
เป็นเรื่องของเวลามากกว่า เราไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเสร็จเดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้ แต่เป็นการวางแผนนัดหมายพูดคุยกันล่วงหน้า แต่ปัญหาคือเวลาของเรากับทางเขาไม่ค่อยตรงกัน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้งานของเราใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร เพราะถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ เราคงบินไปทำงานที่นั่นแล้ว และเพลงคงจะเสร็จเร็วกว่านี้แน่นอน
คุณเคยบอกว่าสนใจในอุตสาหกรรมเพลงของประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่ว่านั้นคือเรื่องอะไร
เราว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนค่อนข้างฟังเพลงที่หลากหลาย และมีความเป็นตัวของตัวเองมากๆ ศิลปินแต่ละคนไม่ว่าจะเบอร์เล็กหรือเบอร์ใหญ่ เขาจึงมีที่ยืนของตัวเอง แนวเพลงของวงการดนตรีญี่ปุ่นก็ค่อนข้างหลากหลายมากๆ เป็นแบบทางใครทางมัน ซึ่งความหลากหลายในที่นี้ยังหมายถึงการไม่กระจุกตัวอยู่ในแค่เมืองหลวงด้วย โดยในแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่น เขาจะมีศิลปินที่ดังอยู่แค่เฉพาะในภูมิภาคนั้น หรือมีชื่อเสียงอยู่ในจังหวัดนั้น บางคนก็ดังมากๆ กับคนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปเลย ซึ่งมีศิลปินที่แยกย่อยออกมามากๆ
พอเราได้ติดตามก็รู้สึกสนุก ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยมากๆ ว่า ศิลปินที่เป็นเบอร์ใหญ่หรือคนที่ดังมากๆ เขาสามารถทำเพลงที่ไม่ต้องเป็นเพลงตลาดเลยก็ได้ และด้วยอะไรบางอย่างก็ทำให้เพลงบางเพลงอยู่ดีๆ ก็ขึ้นอันดับหนึ่งในออริกอนชาร์ต ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่สามารถถอดสูตรความสำเร็จนี้ออกมาได้ว่าเพราะอะไร เพลงบางเพลงเขาแต่งออกมาเหมือนเป็นคำกลอน แต่ก็ดังได้ ซึ่งเพลงประมาณนี้หากอยู่ในบางประเทศเขาก็จะจัดให้อยู่ในหมวดของเพลงอินดี้ แต่ที่นั่นสามารถขึ้นมาเป็นเพลงฮิตได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกแต่สนุกมาก
วันนี้ในฐานะที่คุณเป็นรุ่นพี่ในวงการเพลงไทย เราอยากขอคำแนะนำเริ่มต้นให้กับคนที่กำลังอยากเป็นคนทำเพลงจากคุณสักหน่อย
เราอยากให้ลงมือทำเลย เพราะตอนที่เราเขียนเพลงครั้งแรกก็มาจากความอยากลองของตัวเราเองล้วนๆ และแต่งเพลงมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่างานของเราโอเคขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ก็ลองเอาไปให้คนอื่นฟัง เพื่อจะได้มีข้อเสนอแนะกลับมา แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่จุดเริ่มต้นของคุณนั่นคือ ไม่ต้องมีคำถามกับตัวเองเยอะว่าจะทำอย่างไรดี จะทำเมื่อไหร่ดี หรือฉันควรจะเริ่มยังไง ให้ทำเลย ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องคิดเยอะเกินไป ถ้าเราอยากทำสิ่งไหนจริงๆ และความรู้สึกนั้นมีมากกว่าความกลัว หรือความอาย สุดท้ายคุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับมา และได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำมันจริงๆ
“วิธีการรับมือกับความท้อแท้ของตัวเองคือ ต้องเข้าใจปัญหาก่อนเราถึงจะแก้มันได้ จากนั้นก็บอกตัวเองให้ฮึบขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าจะเพิ่มเติมก็คือ หากรู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ ลองหาตัวช่วย เช่น ลองไปคุยกับคนรอบข้างบ้างก็ได้ หรือที่เราเห็นคือคนรอบตัวใช้วิธีนี้กันมากขึ้น คือลองไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ”
แต่เชื่อว่าสำหรับมือใหม่ส่วนใหญ่แล้ว ความรู้สึกกลัวหรือไม่มั่นใจมักจะเกิดขึ้นตอนที่กำลังจะปล่อยผลงานสู่สาธารณะมากกว่า
ถ้าเป็นเรื่องของการอยากจะแชร์ผลงานลงที่ไหนสักที่หนึ่ง คุณอาจต้องทำงานออกมาแล้วประมาณหนึ่ง แล้วลองให้คนรอบตัวช่วยฟังก่อนก็ได้ แต่จริงๆ เราเชื่อว่าคนที่จะวิจารณ์งานของเราได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง แต่เราต้องไม่อวยตัวเองและไม่กดตัวเอง มองผลงานตามความเป็นจริง มองตามมาตรฐานที่มีอยู่ ค่อยๆ สั่งสมทักษะให้ได้ประมาณหนึ่ง จนคุณเริ่มมั่นใจแล้วว่าเพลงนี้ถ้าปล่อยออกไปก็น่าจะโอเค
ที่แนะนำว่าอยากให้สะสมทักษะของตัวเองไว้ก่อนเพราะว่า… สมมติว่าคุณปล่อยผลงานออกไปตั้งแต่แรกในอินเทอร์เน็ต ผลงานนั้นอาจจะอยู่ตลอดไป ลองชั่งน้ำหนักก่อนว่าเราโอเคไหมถ้าจะให้สิ่งที่เราปล่อยออกไปมันอยู่ในอินเทอร์เน็ต เราจะรับได้ไหมถ้าอีกสิบปีเราย้อนกลับมาดูงานชิ้นนี้แล้วจะยังรู้สึกโอเคอยู่ไหม แต่เรื่องนี้ก็แล้วแต่คนด้วย ถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้ ก็ปล่อยผลงานออกมาเลย ขายเป็น NFT เลยก็ได้ ไม่เห็นเป็นไรเลย
ถ้าเมื่อก่อนอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นแบบวันนี้ คุณจะปล่อยผลงานชิ้นแรกๆ ของตัวเองออกไปทันทีเลยไหม
ไม่แน่นะ (หัวเราะ) เพราะสมัยก่อนแม้ว่าเราจะไม่มีช่องทางให้เผยแพร่ผลงานที่สะดวกแบบตอนนี้ แต่พอเราแต่งเพลงเสร็จก็จะนำผลงานส่งไปให้ทางรายการวิทยุบ้าง เช่น Fat Radio หรือส่งไปที่ค่ายเพลง หรือเอาเพลงของเราไปขายในรูปแบบของแผ่นซีดีที่เทศกาลดนตรีอย่าง Fat Festival ซึ่งเราก็ทำไปขายจำนวน 100 แผ่น เพื่อนๆ ก็มาช่วยกันอุดหนุนจนหมดนะ (หัวเราะ)
วันที่ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมด วิธีจัดการความคิดและจิตใจของตัวเองได้เปลี่ยนไปด้วยไหม
ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ยังคงใช้วิธีคุยกับตัวเองเยอะๆ มองดูตัวเอง มองดูปัญหา แล้วหาเหตุผลว่าเพราะอะไรเราถึงรู้สึกแบบนี้ ถ้าเราอยากจะหลุดออกมาจากตรงนี้จะทำได้อย่างไร มีวิธีการอะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่ต่างจากเมื่อก่อน ที่เราเคยบอกไปว่า วิธีการรับมือกับความท้อแท้ของตัวเองคือ ต้องเข้าใจปัญหาก่อนเราถึงจะแก้มันได้ จากนั้นก็บอกตัวเองให้ฮึบขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าจะเพิ่มเติมก็คือ หากรู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ ลองหาตัวช่วย เช่น ลองไปคุยกับคนรอบข้างบ้างก็ได้ หรือที่เราเห็นคือคนรอบตัวใช้วิธีนี้กันมากขึ้น คือลองไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะตอนนี้หลายคนที่เรารู้จัก เขาให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำปรึกษาตอนนี้จิตใจของเขาก็เริ่มคลี่คลายและค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่เราจะไปพบผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยดูแลเรา เพราะสมัยนี้คนเราเครียดกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“เรารู้จักตัดอะไรที่ไม่ใช่สาระหรือไม่มีประโยชน์อะไรกับเราออกไป เหมือนเราเคลียร์ถังบรรจุอารมณ์ของเราได้แล้ว”
สองปีที่ผ่านมาทุกคนต่างเครียดกันทั้งนั้น คุณบาลานซ์จิตใจของตัวเองด้วยวิธีไหน
เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเครียดแบบเมื่อก่อนแล้ว คงเพราะวัยวุฒิที่มากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้เราจะรู้ว่าถ้าตัวเองเครียดแล้วจะทำอย่างไร จัดการกับตัวเองยังไง ความคิดเยอะคิดมากแบบที่เคยเป็นตอนเด็กๆ หรือช่วงแรกๆ ที่ทำงานเพลง ช่วงนี้ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เรารู้จักตัดอะไรที่ไม่ใช่สาระหรือไม่มีประโยชน์อะไรกับเราออกไป เหมือนเราเคลียร์ถังบรรจุอารมณ์ของเราได้แล้ว ซึ่งก็มาจากหลายๆ อย่างในชีวิต ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ กิจกรรมเหล่านี้คือสิ่งหลักๆ ที่ช่วยในการพัฒนาความคิดของเราให้เติบโตขึ้น
ภาพ: SIN