“ความสัมพันธ์ที่ดีก็เหมือนการเจอรองเท้าสักคู่ที่ถูกใจ
ซึ่งมากกว่าความถูกใจแล้วคือความสบายที่สวมใส่
ไปกับเราได้ทุกสภาวะ มันเป็นไม่ได้ที่จะเข้ากับเราในทุกสภาวะการเดินทาง
แต่อย่างไรเสีย รองเท้าคู่นี้ก็จะไม่กัดหรือทำร้ายเราเลย”
-ต่อพงศ์ ตันคำแหง
ในยุคสมัยที่หนังไทยเฟื่องฟู การเข้าโรงภาพยนตร์ไปดูหนังไทยเมื่อเกือบ 15 ปี ก่อนกับราคาตั๋วไม่ถึง 100 บาท ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทุกคนต้องทำเป็นอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง พอๆ กับการนัดสังสรรค์แบบในปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับทุกวันนี้ ที่การดูหนังในโรงภาพยนตร์นั้นเบาบางลง อาจจะด้วยสถานการณ์และตัวเลือกทางอื่นที่มากขึ้นด้วย ผมเลยอยากนำบรรยากาศเก่าๆ กับหนังไทยที่เคยดู ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกของตัวเองจนถึงวันนี้มาเล่าอีกครั้ง
หนังไทยเรื่องนั้น คือ ‘ยังไงก็รัก’ (7 Days to Leave My Wife) ซึ่งเข้าฉายในปี 2007 นำแสดงโดย ‘ไก่’ – สมพล ปิยะพงศ์สิริ รับบทเป็นหนุ่มวัย 30 กว่าๆ ที่แต่งงานกับ ‘กิ๊ก’ – สุวัจนี ไชยมุสิก มานานจนเกิดความเบื่อหน่าย จึงไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน จนต้องวางแผนที่จะเลิกรากับภรรยาให้ได้ภายใน 7 วัน เพื่อจะได้ไปใช้ชีวิตกับคนใหม่ ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่ผ่านเวลามาพอสมควรจนอยู่ในจุดของคำว่าเบื่อหน่ายและอิ่มตัว จึงเริ่มหันมาสนใจกับสิ่งใหม่ที่คิดว่าดีกว่า น่าสนใจกว่า พล็อตหนังหากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงคิดว่า นี่พล็อตละครเรื่อง ‘เมียหลวง’ หรือเปล่า ไม่ใช่เลยครับ นี่แค่เป็นกลิ่น หากแต่รสชาติและหน้าตาของหนังเรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้น่าสนใจมากขึ้น การนำนักแสดงอย่าง ‘อาไก่’ – สมพล ปิยะพงศ์สิริ ที่เป็นทั้งดีเจ พิธีกร ผู้มากความสามารถและมากด้วยเสียงหัวเราะ มาเป็นตัวเดินเรื่องในบรรยากาศที่แสนจะตลก แต่ก็กลับทำให้เราเศร้าและเข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้อย่างง่ายและเข้าถึง โดยที่ต้องพูดถึงเลยกับการแสดงของ พี่กิ๊ก สุวัจนี ที่รับบทเป็น ‘อาเง็ก’ ผู้หญิงบ้านๆ ผู้รักสามีในแบบตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน และอยู่ภายใต้คำว่ายังไงก็รักแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นคือที่สุด ฉากที่ทุกคนคงจำได้ดี คือการที่พี่กิ๊กหอบฟางหุ่นถือทวนวิ่งกลางถนนไปมาและตะโกนว่า “สิ่งชั่วร้ายจงออกไปจากผัวอั๊วะ” พร้อมเสียงเพลง ‘ผูกพัน’ ของ ตรัย ภูมิรัตน ดังขึ้นมา ทำให้เราจุกและตั้งคำถามที่ว่า เมื่อใดที่เรามีรักมันไม่มีคำว่า ‘ตัวเรา’ แต่จะมีแค่คำว่า ‘เรา’ เมื่อใดที่เรามีรัก เราพร้อมเสมอที่จะทำเพื่อเขา แม้เราจะถูกมองเป็นตัวตลกของใครก็ตาม
ประโยคที่พูดถึงความสัมพันธ์ในข้างต้นเทียบเคียงได้ดั่งการเลือกรองเท้า ซึ่งเป็นแนวคิดของผู้กำกับเรื่องนี้ที่ต้องการจะถามเราว่า หากเรามีรองเท้าที่ใหม่และสวยกว่า ดูทีท่าแล้วน่าจะใส่สบายไปได้หลายที่ ใส่แล้วคนอิจฉากับรองเท้าคู่เดิมตัวเก่งที่เก่าไปตามกาลเวลาอาจจะไม่ได้ทำให้คนหันมามองและอิจฉา แต่ก็ไม่เคยสักครั้งที่ทำให้เราผิดหวัง มิหนำซ้ำยังพาเรามาไกลได้ถึงเพียงนี้ เราจะเลือกคู่ไหนดี?
คำถามปลายเปิดนี้ ผมเลือกที่จะไม่หาคำตอบกับผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ (ต่อพงศ์ ตันกำแหง) แต่อยากรู้คำตอบจากภรรยาของเขามากกว่าว่า “ถ้าเป็นพี่ พี่จะเลือกสิ่งไหน และจะเลือกจริงๆ ไหม” สิ่งที่เธอบอกกลับมาคือ “ก่อนหน้านี้พี่ไม่รู้และอาจจะมีลังเล แต่ตั้งแต่ที่พี่มีเขา พี่ไม่เคยถูกรางวัลที่ 1 หรือรางวัลใดอีกเลย เพราะพี่เชื่อว่าพี่ถูกรางวัลที่1 ตั้งแต่มีเขาแล้ว”
นั่นคือคำตอบของคำถามในครั้งนี้ที่ผมได้เรียนรู้ หากความสัมพันธ์ที่ผู้กำกับคนนี้เปรียบคือรองเท้าสักคู่ และในระหว่างทางเองจะมีโอกาสได้พบคู่ที่น่าสนใจมาให้เราได้เลือกและเข้าหา แต่สุดท้ายแล้วผู้กำกับคนนี้ก็เลือกที่จะใส่รองเท้าผ้าใบที่สวมสบายและเข้ากับเขาคู่นี้มาอย่างยาวนาน
คำว่า ‘ยังไงก็รัก’ ของเรา หากอธิบายไปตามแต่อารมณ์มันก็แค่นั้น หากอธิบายตามช่วงวัยที่เข้าใจ คุณจะรู้เลยว่า ทุกครั้งที่คุณพูดคำนี้ต่อหน้าใคร มันจะมีภาพของคนที่รักขึ้นมาผ่านเรื่องราวมากมายปนรอยยิ้มมุมปาก ที่มีแค่คุณคนเดียวที่เข้าใจ
ป.ล. ถ้ามีโอกาส ลองกลับไปดูหนังเรื่องนี้กัน และคุณจะเข้าใจสิ่งที่ พี่กิ๊ก สุวัจนี พูดว่า “อยากตื่นมาเห็นหน้าอีทุกเช้า อยากทำข้าวเช้าให้อีกิน ไม่อยากให้อีทำงานหนักอีกแล้ว ไม่มีวันไหนที่อั๊วะไม่รักอีเลย”
ยังไงก็รัก รักเธอ ได้ยินไหม ไม่ต้องสงสัยหัวใจที่ให้กัน
จาก. จินดาโชติ
(หมาป่าสีดำ)
บรรณาธิการอำนวยการ
a day BULLETIN