บรูน่า ซิลวา เป็นชาวบราซิลแท้ แต่เธอพูด ฟัง อ่าน สื่อสาร ภาษาไทยได้คล่องแคล่ว บางคราวระหว่างสนทนาผมจะนึกไปว่าเธอเป็นลูกครึ่งไทย เธอเริ่มเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบตอนอยู่บราซิล พออายุ 13 ปี เริ่มมีความคิดอยากออกไปเห็นโลกกว้าง อายุ 14 ปี เริ่มทำงานเป็นนางแบบ และเมื่ออายุ 15 ปี เธอก้าวออกจากประเทศบ้านเกิด ข้ามฟากมาทำงานเป็นนางแบบหลายประเทศฝั่งเอเชีย แต่สุดท้ายเธอก็เลือกปักหลักที่ประเทศไทยเป็นปีที่แปดแล้ว
ในสนามหญ้าเล็กๆ หน้าร้าน Bluekoff Café ร้านกาแฟและโชว์รูมสำหรับคนรักกาแฟ กรุ่นด้วยกลิ่นของเมล็ดกาแฟที่โชยมาตามลมอ่อนๆ ภายใต้ต้นไม้สูงใหญ่ร่มรื่น บรูน่ากำลังลองดริปกาแฟให้ผมลองชิม เมล็ดที่ใช้เป็นเมล็ดกาแฟเซอร์ราโด (Cerrado) ที่มีความเป็นช็อกโกแลตกับคาราเมล ซึ่งเธอนำมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์กาแฟของตัวเองที่ชื่อ Brewna
เธอค่อยๆ ออกแรงบดเมล็ดกาแฟ เทน้ำร้อนจากกาดริปลงบนกระดาษกรอง ก่อนจะเทน้ำทิ้ง นำเมล็ดกาแฟบดใส่ลงในดริปเปอร์ที่มีกระดาษกรอง และบรรจงเทน้ำร้อนจากกาดริปอีกครั้ง ลากจากตรงกลางหมุนเป็นวงกลมแบบก้นหอย คราวนี้ใช้เวลาเนิบช้า หยดกาแฟดริปค่อยๆ หล่นลงโถรองดริป เธอรวบผมและก้มลงดมกลิ่นหอมจากกาแฟ ก่อนจะนำกาแฟดริปที่ได้มาเทใส่แก้วเล็กให้ผมลองชิม และเทใส่แก้วของเธอเอง
บรูน่าสวมเสื้อคอเต่าผ้ายืดสีม่วง กางเกงขายาวสีดำ รูปร่างนางแบบ ปล่อยผมประบ่า ดูเข้ากับลมหนาวแรกของปี พูดจาน้ำเสียงนุ่มนวลแต่มีชีวิตชีวา มีรอยยิ้มประดับบนใบหน้าแทบตลอดเวลา เธอนั่งลงพร้อมกาแฟดริปในแก้ว และเล่าว่าเมล็ดกาแฟมาจากเมืองเซร์ราโดของบราซิล ซึ่งเป็นเมืองที่ผลิตกาแฟเยอะที่สุดในโลก ก่อนจะยกขึ้นจิบ ผมยกจิบตาม แม้ไม่ค่อยเข้าใจรสชาติกาแฟสักเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่คนกินกาแฟ แต่กาแฟแก้วตรงหน้าสามารถใช้คำว่าจิบง่ายได้
“กาแฟบราซิลจะเรียบง่าย ทำให้นึกถึงกาแฟที่กินตอนเช้า” เธออธิบาย “เราชอบกาแฟที่รสชาติลงตัว ไม่จำเป็นว่ามาจากแหล่งไหน เพราะแต่ละรสชาติไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าที่ไหนดีที่สุด แต่ว่าสำคัญที่สุดคือ กระบวนการของเมล็ดกาแฟ คั่วมาแบบไหน นำเสนอมาแบบไหน
“เราชอบกาแฟที่ผ่านการคิดมาเยอะถึงจะได้แก้วนั้นมา คือซับซ้อนแต่มีศิลปะอยู่ในนั้น”
เธอยกกาแฟในแก้วจิบอีกครั้ง และพูด “หลายคนอาจจะคิดว่าเรากินกาแฟเยอะ แต่ความจริงไม่ใช่ เรากินวันละไม่เกินสองแก้ว ไม่อย่างนั้นจะนอนไม่หลับ แต่ว่าแก้วนั้นต้องเป็นกาแฟที่เราเลือกมาเองและชอบจริงๆ” พูดจบเธอหัวเราะเบาๆ ตอนนั้นลมเย็นๆ พัดใบไม้จากต้นสูงใหญ่ส่งเสียงกรูเกรียว บ้างก็หมุนหล่นลงสู่สนามหญ้าเบื้องล่าง
1
ผมชวนเธอคุยถึงสิ่งที่เธอหลงใหลอย่างโลกของกาแฟ เธอเล่าว่าเริ่มกินกาแฟเมื่อหกปีก่อน แต่มารู้จักกาแฟไทยเมื่อสี่ปีที่แล้ว หลังจากกลับจากบราซิล เธอได้ไปถ่ายงานที่จังหวัดเพชรบุรี และได้พบกับร้านกาแฟ specialty ร้านหนึ่งที่เลือกกรรมวิธีในการดริปกาแฟเพียงอย่างเดียว “เป็นครั้งแรกที่ได้ชิมกาแฟไทย ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟจากน่าน” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ก่อนอธิบายว่าปกติเธอไปร้านกาแฟเยอะมาก ได้ชิมกาแฟหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดจากเมืองนอก การชิมครั้งนั้นทำให้เธอได้รับรู้ว่าประเทศไทยมีเมล็ดกาแฟที่ดีอยู่
“จำได้ว่าตอนชิมครั้งนั้นคุณภาพพอๆ กับบราซิลเลย มันทำให้นึกถึงบ้านด้วย คือมีความเป็นกาแฟบราซิลแต่ก็มีอะไรที่พิเศษอยู่ คือมีความเป็นน้ำผึ้ง มีโครงสร้างกาแฟที่ดี” เธอเล่า “ตั้งแต่ตอนนั้นถึงวันนี้ กาแฟไทยไปไกลมาก เรารู้สึกประทับใจมาก”
บรูน่ายิ้มและเริ่มเล่าให้ฟังว่า ปีนี้เธอเพิ่งชนะประมูลสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยในอันดับที่ 6 จากการประกวดครั้งแรกในชีวิต เธอบอกว่า “เราเชื่อว่ามีคนไทยหลายคนที่ไม่รู้ว่าบ้านตัวเองผลิตกาแฟดีขนาดนี้ เลยรู้สึกดีใจที่ได้แบ่งปันให้คนไทยที่อาจจะยังไม่รู้ว่าประเทศไทยผลิตกาแฟดีขนาดไหน” เธอเริ่มทำท่าทางเหมือนกำลังกว้านอะไรบางอย่างตรงหน้า “ตอนที่ประมูล เราไปชิมกาแฟหลายตัวมาก รู้สึกอยากได้ทุกอย่างเลย” แล้วเธอก็หัวเราะ
เธอเป็นคนที่หลงใหลและศึกษาโลกของกาแฟอย่างจริงจังผ่านการเดินทางและลงมือทำ ผมสงสัยว่าในมุมมองของเธอ วงการกาแฟของประเทศไทยอยู่ในระดับใด ในขณะที่บ้านเรามีคนทำกาแฟที่ได้รับการยอมรับระดับโลก อาทิ ‘ลี’ – อายุ จือปา หรือบาริสตาเก่งๆ หลายคนที่ไปคว้าแชมป์ระดับโลก บรูน่าบอกว่า เวลานึกถึงประเทศไทย คนต่างชาติจะยังไม่ได้นึกถึงกาแฟเป็นอันดับแรก แม้เธอจะบอกว่าวงการกาแฟไทยอยู่ในจุดที่ดีมากก็ตาม “เรามีเมล็ดกาแฟที่หลากหลาย มีรสชาติที่แตกต่าง แต่การประชาสัมพันธ์หรือการตลาดยังไม่ดีพอ” เธอพูดและหัวเราะเขินๆ “เวลาเพื่อนคนต่างชาติมา เราพาเขาไปกินกาแฟไทย เขาชอบมาก เขาไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยปลูกกาแฟ
“ตอนนี้นอกจากเรื่องกาแฟ เราทำโปรดักชันของตัวเองด้วย เราอยากตั้งใจทำคอนเทนต์เกี่ยวกับกาแฟไทยเยอะๆ เราพยายามเอาความรู้จากบราซิลมาแบ่งปันให้คนไทยมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์ของบราซิลสร้างด้วยวัฒนธรรมกาแฟ เรื่องราวของบราซิลทั้งหมดเกิดจากธุรกิจกาแฟ
“ประเทศไทยตอนนี้ปลูกกาแฟได้ดีมาก กระบวนการน่าสนใจเยอะมาก เหลือแค่ทำมาร์เกตติ้ง พีอาร์ มากกว่านี้ ซึ่งเราอยากมีส่วนในการช่วยทำให้อีกทางหนึ่ง” พูดจบเธอก็มีรอยยิ้ม
2
บรูน่ามีสีหน้าครุ่นคิดเล็กน้อย เมื่อผมถามว่า กาแฟไทยมีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ อย่างไร ก่อนจะตอบว่า “เรียกว่ามีความความน่าสนใจมากกว่า”
เธออธิบายว่า “ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การปลูกกาแฟไม่นานเท่าบราซิล แต่ในระยะเวลาแค่สามสิบสี่สิบปีสามารถผลิตได้ขนาดนี้ถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่เรื่องกาแฟ แต่คนไทยนำเสนอกาแฟได้ดี เธอว่า “อย่างเช่นในร้านกาแฟ ประเทศไทยมีความใส่ใจในการนำเสนอ ทั้งบรรยากาศของร้าน เมล็ดกาแฟ และมีความละเอียดมากกว่าบราซิล ที่บราซิลผลิตกาแฟเยอะ ถือเป็นเรื่องดี แต่ยังรู้สึกว่าคนบราซิลน่าจะต้องเรียนรู้เรื่องการนำเสนอจากคนไทย”
“เราอยากจะพาคนบราซิลมาดูร้านกาแฟที่นี่” เธอหัวเราะและยกกาแฟขึ้นจิบ “มีแชมป์บาริสตาเยอะมากที่มาจากประเทศไทย ทำให้เห็นว่าคนไทยมีใจในการทำกาแฟจริงๆ”
“ตั้งแต่ได้รู้จักกาแฟไทยเมื่อสี่ปีก่อน ถึงตอนนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในแง่ไหนบ้างไหม” ผมลองถามเธอ
“เยอะมาก” เธอตอบและเล่าย้อนไปตั้งแต่ก่อนหน้ารู้จักกาแฟไทย คือตอนเริ่มกินกาแฟเมื่อหกปีก่อน เธอว่าช่วงนั้นเริ่มมีร้านกาแฟ specialty เยอะ ส่วนมากเป็นคนไทยที่ไปเรียนจบจากออสเตรเลีย แล้วย้ายกลับมาเปิดร้านกาแฟที่เมืองไทย แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีกาแฟจากประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ “ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี” เธอว่า “คนไทยเอากาแฟบราซิล เอธิโอเปีย โคลอมเบีย มาเสนอ คนไทยเลยเริ่มชินกับการชิมกาแฟจากต่างประเทศเยอะ แต่เมื่อสี่ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่คนไทย ร้านกาแฟไทย เริ่มเอากาแฟไทยจริงๆ มานำเสนอ มีร้านกาแฟหลายที่ที่เริ่มใช้เมล็ดกาแฟไทยอย่างเดียว เริ่มมีเมล็ดจากหลายแหล่งปลูก ทำให้คนรู้จักแหล่งปลูกกาแฟของประเทศไทย มากขึ้น” เธอพูดและมีรอยยิ้ม “ความน่าสนใจเลยอยู่ตรงนี้”
“แต่ก่อนคนไทยบางคนอยากเอาเมล็ดกาแฟต่างประเทศมาใช้ตลอดเวลา เพราะไม่อยากเสี่ยง การใช้เมล็ดกาแฟจากต่างประเทศค่อนข้างมั่นคง แต่ก็มีหลายที่ที่เราชื่นชมมาก เขาเสี่ยงเอาเมล็ดกาแฟไทยอย่างเดียวมาลงร้าน เป็นร้านที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงด้วย แต่เขาก็อยากจะส่งเสริมกาแฟไทย อยากให้คนไทยรู้จักกาแฟไทยมากขึ้น”
ผมถามเธอว่า จากการคลุกคลีในวงการกาแฟไทยมานาน เธออยากให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องใด เธอนิ่วหน้าเล็กน้อย เบือนหน้าไปยังต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆ ที่เรานั่งกันอยู่ “สิ่งที่เราเห็นว่าต่างระหว่างบราซิลกับไทยคือ เกษตรกรที่บราซิล หรือแม้กระทั่งคนเก็บเมล็ดกาแฟ จะมีความภูมิใจว่าเขาเป็นเกษตรกรปลูกกาแฟ และไม่มีใครดูถูกเขาด้วย” เธอนิ่งคิดอีกครู่ “เราคิดว่าคนที่เป็นเกษตรกรในประเทศไทยควรที่จะเห็นคุณค่าในตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เพราะเขาสำคัญมากจริงๆ”
“คนบราซิลจะภูมิใจมากว่าเขาเป็นเกษตรกรจากที่นั่นที่นี่ คือภายในประเทศจะมีความภูมิใจจากแต่ละภาค แต่ละแหล่งที่ปลูกกาแฟ ซึ่งในเมืองไทยควรจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วย เพราะจะทำให้เกษตรกรรู้ว่าเขาสำคัญ เขาทำเพื่อภาพใหญ่ เพื่อพื้นที่ของเขา เพื่อประเทศชาติ เราอยากให้มีการประกวดเกี่ยวกับเมล็ดกาแฟในประเทศเยอะขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจในการพัฒนาการปลูกกาแฟมากขึ้น และอยากให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่จะมาช่วยสนับสนุนตรงนี้ให้เกิดขึ้น”
3
ผมชวนเธอขยับออกจากเรื่องกาแฟมาเป็นเรื่องราวของเธอ เพราะสิ่งที่น่าสนใจสำหรับบรูน่าไม่ใช่แค่เรื่องกาแฟ แต่เป็นชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนต่างชาติจากฝั่งลาตินอเมริกาจะสามารถมายืนหยัดอยู่บนผืนแผ่นดินที่แตกต่างทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม จนกลายเป็นที่รู้จักได้ นอกจากเรื่องของกาแฟ เธอยังเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และรับทำโปรดักชันด้วยตัวเอง “ทั้งกาแฟกับการโปรดักชัน ต่างก็มีความยากเรื่องธุรกิจที่ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ” เธอพูด “โดยเฉพาะงานโปรดักชันที่มีความยาก เพราะต้องตามเทรนด์ตลอด ต้องดูว่าคนชอบแบบไหน ไหนจะเรื่องของอุปกรณ์ที่เราต้องอัพเกรดตลอดเวลา บางทีก็รู้สึกว่ามันเยอะ แต่ก็อยากพัฒนาสกิลของตัวเอง” เธอพูดจบ ผมคิดว่าทักษะหนึ่งที่ทำให้เธออยู่รอดได้ในต่างชาติต่างวัฒนธรรม คือการพยายามเรียนรู้ และการพยายามปรับตัวอยู่เสมอ
เธอเล่าว่า ช่วงก่อนหน้าที่ต้องกักตัวในช่วงล็อกดาวน์ เธอมีเวลามาก จึงลงคอร์สเรียนออนไลน์ การจัดไฟ การตัดต่อ การถ่ายทำ “มีอุปสรรคที่ต้องเรียนรู้เยอะ แต่ก็อยากที่จะพัฒนาตัวเองจริงๆ ก็เลยทำต่อ” เธอว่า “เหมือนเรื่องกาแฟ ถ้าเราทำอะไรสักอย่างที่เราชอบ พอเจออุปสรรค เราจะไม่อยากเลิก เราจะอยากที่จะแก้ปัญหา เราจะอยากไปต่อ”
เธอยกกาแฟขึ้นจิบอีกครั้งและเงียบนิ่งไปครู่เล็กๆ ก่อนจะพูดขึ้นมาเหมือนนึกอะไรได้ “เราเป็นคนชอบเรียนภาษา ตอนที่เริ่มเรียนภาษาไทย เราเริ่มจากการอ่านและเขียน แต่ยังพูดไม่ได้ บางโอกาสที่ต้องออกไปคุยกับคน พอเขาเห็นว่าเรายังพูดไม่ชัด บางทีเขาก็จะแซว แต่แซวด้วยความเอ็นดูนะ” เธอหัวเราะเบาๆ “แต่เราก็รู้สึกเขิน และไม่อยากพูดต่อ แต่สุดท้ายเราเรียนรู้ว่า ถ้าไม่พูด เราจะไม่รู้ว่าผิดตรงไหน และจะปิดโอกาสในการพัฒนา
“บางทีเรากลัวและไม่อยากทำเพราะคนจะมองว่าเราโง่ แต่เราอยากจะพูดภาษาไทยจริงๆ ถ้าหยุดแค่นั้น ก็จะไม่ไปต่อ เราเลยคิดว่า เขาจะว่าหรือจะหัวเราะไม่เป็นไร อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าผิดตรงไหนบ้าง
“เราควรจะกล้าที่จะดูโง่” เธอพูดชัดถ้อยชัดคำและมีรอยยิ้ม ส่วนผมก้มลงจดคำพูดนั้นลงกระดาษสมุดในมือ
บรูน่าเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นการสารภาพให้ผมฟัง เธอบอกว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่เริ่มฝึกภาษาไทยช่วงแรกๆ เธอมีโอกาสได้ไปถ่ายโฆษณา ตอนนั้นเธออยากให้คนที่เป็นโปรดิวเซอร์คุยกับเธอเป็นภาษาไทย แต่ปัญหาคือ โปรดิวเซอร์พูดภาษาอังกฤษกับเธออย่างเดียว “คนไทยมีความตั้งใจมากกว่าคนบราซิล ถ้าเป็นคนบราซิลเขาจะพูดภาษาโปรตุเกสใส่เลย
“เราถามเขาว่าพูดภาษาไทยกับเราได้ไหม เขาก็พูดนิดเดียวแล้วก็พูดภาษาอังกฤษเหมือนเดิม ตอนนั้นเราสังเกตว่า เวลามีลูกครึ่งไทยฝรั่งมา แม้ว่าคนนั้นจะพูดไทยไม่ได้ โปรดิวเซอร์ก็จะพูดกับเขาเป็นภาษาไทย บางทีเราพูดไทยได้ดีกว่าคนที่เป็นลูกครึ่งอีกนะ แต่เขาไม่ยอมพูดภาษาไทยกับเรา เราก็เลยเริ่มโกหกว่าเป็นลูกครึ่ง” เธอเล่าและหัวเราะเสียงใส
“ตอนที่พูดว่าเป็นลูกครึ่งไทย คนไทยก็เริ่มพูดภาษาไทยกับเรา คือการโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ แต่ตอนนั้นมันเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ภาษาไทยซึ่งเราต้องหาวิธีแก้ พอเขาพูดภาษาไทยกับเรา เราได้ฝึกศัพท์เยอะมากเวลาถ่ายงาน เช่น หันหน้ามาฝั่งนั้น ฝั่งนี้” เธอพูดและทำท่าหันหน้าเหมือนกำลังถ่ายแบบ ก่อนจะหัวเราะออกมา “แต่ตอนนี้หลอกไม่ได้แล้ว”
4
“คิดว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จหรือยัง” ผมถามเธอ
“ประสบความสำเร็จเหรอ” เธอทวนคำ นิ่งคิด และเบือนสายตามองไปทางอื่น “เรามองการประสบความสำเร็จคือ เวลาที่เราสามารถนั่งกินกาแฟอยู่ในที่ที่ตัวเองชอบ อยู่กับคนที่เข้ากับเราและแลกเปลี่ยนกันได้” เธอหันมายิ้มและบอกว่า ความสำเร็จของเธอไม่ได้มาจากยอดติดตาม ชื่อเสียง “แต่ก็ขอบคุณมากที่มีคนติดตามเยอะ รู้สึกดีใจมาก” เธอว่า “ซึ่งความจริงจะเรียกตรงนั้นว่าประสบความสำเร็จก็ใช่นะ เราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถออกมาสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง แล้วมีคนชอบและมาติดตาม แต่คำว่าประสบความสำเร็จของเราเป็นอีกแบบหนึ่งเท่านั้นเอง”
“ได้อยู่กับคนที่ศีลเสมอกันใช่ไหม” ผมว่า “คุณเข้าใจวลีนี้ไหม”
“ใช่ๆ เข้าใจ ได้คำศัพท์ใหม่แล้ว” เธอพยักหน้าและยิ้ม
บรูน่ายกกาแฟขึ้นจิบและเล่าว่า แม้อยู่เมืองไทยมาแปดปี แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่เธอยังต้องพยายามทำความเข้าใจ “หลายคนอาจจะเห็นเราเป็นคนไทยไปแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ เรามีความเป็นคนบราซิลอยู่มาก” เธอกล่าว และอธิบายว่า เธอไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องสังคมความเป็นผู้ใหญ่ “ที่บราซิล สมมติเราทำงานกับผู้ใหญ่เสร็จ แล้วเขาชวนไปกินข้าวหลังจบงาน ถ้าเราไม่อยากไป เราอยากไปพัก เราก็บอกตรงๆ ได้เลย คนบราซิลเป็นแบบนี้ คือยิ่งชัดเจนยิ่งดี
“แต่ถ้าเป็นที่เมืองไทย คนอาจจะมองกลายเป็นเรื่องมารยาทและเรื่องการเสียน้ำใจ แต่บางทีเราไม่รู้ เราคิดว่าการปฏิเสธไปตรงๆ และไม่โกหก คือมารยาทแล้ว แต่บางคนจะบอกว่า ถ้าทุกคนไป ควรจะไป อันนี้เรารู้สึกขอโทษถ้าเราเคยทำอะไรไม่ดีไป” เธอว่าและหัวเราะ
เธอเล่าว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอเข้าใจคนไทยและเข้าใจชีวิตได้มากขึ้น คือการที่ได้ศึกษาธรรมะ “คำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้เราเปลี่ยนใจของตัวเอง และเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้มากขึ้น” บรูน่ามาจากบราซิลที่เป็นสังคมคริสต์ แต่เธอเล่าว่าตนเองเป็นเด็กดื้อ และมีข้อสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ “แต่พอมาเรียนคำสอนธรรมะ ทำให้เราเข้าใจคริสต์ได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราเคารพเรื่องราวของพระเยซูได้มากขึ้น คือเข้าใจว่าพระเยซูก็เป็นเหมือนพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แต่เป็นในแบบของวัฒนธรรมของเขา
“เราไม่ได้นับถือศาสนาไหนเป็นพิเศษ แต่เราเคารพศาสนาพุทธมาก เพราะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยน คำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้เราเข้าใจสัจธรรมชีวิตได้มากขึ้น และไม่อ้อมค้อม”
บรูน่าบอกพร้อมรอยยิ้มว่าที่บราซิลเองก็มีเด็กดื้อแบบเธอเยอะขึ้น สาเหตุหนึ่งเพราะเรื่องของเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ที่เชื่อมต่อกันทั้งโลก “เราชอบฟังพอดแคสต์จากบราซิล เราได้รู้ว่ามีคนคิดแบบเราเหมือนกัน โลกตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว มีคนที่คิดได้หลายแบบ”
พอผมได้รู้ว่าเธอยังตามเรื่องราวจากบราซิลอยู่ตลอดเวลา ผมจึงถามเธอว่า ตอนนี้คนบราซิลสนใจอะไรกัน เธอตอบผมในแทบจะทันที “การเมือง” เธอว่าและหัวเราะ
“นอกจากนั้นก็มีเรื่องฟุตบอลที่คนสนใจกัน”
5
“พูดตรงๆ ก็มีสิ่งที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากทั้งสองวัฒนธรรม” บรูน่าตอบคำถามที่ผมถามว่า การเป็นคนสองวัฒนธรรมเป็นข้อดีกับเธออย่างไร แต่เธอไม่ได้ตอบว่าสิ่งที่ไม่เห็นด้วยคืออะไร “คนบราซิลนิสัยคล้ายคนไทยนะ แต่ก็มีอะไรที่ต่างเยอะมาก การเป็นคนสองวัฒนธรรมทำให้เราเห็นว่าโลกเรามีความแตกต่าง คนไทยใช้ชีวิตไม่เหมือนคนบราซิล จึงไม่เจอปัญหาแบบคนบราซิล กลับกัน คนบราซิลก็ใช้ชีวิตไม่เหมือนคนไทย เขาต้องเจออีกหลายอย่างที่ต้องกังวลทุกวัน ซึ่งวิธีการ handle และการดีลกับปัญหาก็ไม่เหมือนกัน
“ดังนั้น มันทำให้เราเข้าใจ” เธอสรุป
“แต่เวลาเราเจอสิ่งที่ไม่ชอบ เราเองก็รู้สึกไม่พอใจนะ ไม่ใช่ว่าศึกษาธรรมะแล้วจะนิพพานได้” เธอหัวเราะ “สุดท้ายก็ต้องใช้ความเข้าใจ ซึ่งบางทีต้องใช้เวลานาน เราจะมานั่งคิดว่าเพราะอะไร ลองพยายามปรับในตัวเอง ทำอย่างไรให้ไม่ทำให้สิ่งนั้นกระทบกับตัวเอง สุดท้ายก็ต้องยกธรรมะเข้ามาเกี่ยวอยู่ดี เพียงแต่ว่ามันมาทีหลัง อารมณ์มันเกิดขึ้นก่อน แล้วธรรมะค่อยเข้ามาช่วย”
บรูน่าเริ่มชีวิตความเป็นผู้ใหญ่จากการกระโจนออกจากบ้านในวัย 15 ปี ด้วยความเบื่อสิ่งเดิมๆ ที่เจอในบราซิลบ้านเกิด และต้องการออกไปเห็นโลกกว้าง แต่วันเวลาที่ผ่านมา ความห่างไกลและประสบการณ์ชีวิตทำให้เธอกลับมองบราซิลอีกแบบ เธอบอกว่าทุกวันนี้เธอกลับไปบราซิลด้วยความรู้สึกชื่นชมมากกว่าเดิม “เรากลับไปในเมืองของเราแล้วเห็นภูเขา เราก็ถามแม่ว่าเมืองเรามีภูเขานี้มาตลอดเหรอ” เธอพูดและหัวเราะ “ตอนที่อยู่ไม่เคยสังเกตเลย ที่นั่นเป็นเมืองที่มีภูเขาเต็มไปหมด มีต้นไม้สวยๆ เยอะมาก ทุกวันนี้เวลากลับไปก็ชอบใช้ชีวิตอยู่แบบนั้น” พูดจบเธอก็ยกกาแฟขึ้นจิบอีกครั้ง
“มันตลกดีนะ เราเองอยากหนีจากที่เดิมออกมาเจอโลก แต่ยิ่งจากมานาน พอกลับไปอีกครั้ง เรากลับได้มองเห็นและให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามมาตลอด และหลงรักมัน”
“จากเด็กหญิงบรูน่าวัย 15 ที่ออกจากบ้านเกิดตอนนั้นมาถึงตอนนี้ได้เติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง”
เธอนิ่งคิดและมีรอยยิ้มเล็กๆ “เราว่าเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น” เธอเปิดปาก “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี energy ที่ทำให้เราสามารถค้นหาตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องศาสนาพุทธ เช่น การไปปฏิบัติธรรม
“แต่การเข้าใจตัวเอง ทำให้มีความสุขได้มากขึ้นไหม…” เธอนิ่งคิดอีกครู่ “ทำให้เราเข้าใจว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มากกว่า เช่น ถ้าเราไปตรงนี้จะทำให้เรามีความสุข ถ้าไปตรงนี้มันจะไม่ดีต่อเรา คือเราสามารถแพลน energy ของตัวเองได้” พูดจบเธอก็หัวเราะ
“คุณคิดว่าตัวเองเหมือนกาแฟชนิดไหน” ผมถาม คราวนี้เธอใช้เวลาคิดค่อนข้างนานทีเดียว
“น่าจะกาแฟโคลอมเบีย เพราะมีความซับซ้อนอยู่ แต่ก็เรียบง่าย ซึ่งมีความคล้ายกับกาแฟบราซิล”
พูดจบเธอก็มีรอยยิ้ม ผมเลื่อนมือไปกดหยุดบันทึกเสียง เราลุกขึ้นยืนบนสนามหญ้าเขียว ลมยามบ่ายพัดมาบางเบา หอบเอากลิ่นกาแฟโชยมาอ่อนๆ บรูน่าเล่าให้ผมฟังก่อนแยกย้ายว่า เธอกำลังจะมีโอกาสได้ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอให้กับศิลปินไทยมีชื่อคนหนึ่ง ซึ่งจ้างเธอเพราะเห็นฝีมือในการถ่ายงานของเธอ และเป็นสิ่งที่ท้าทายเธอมาก
“เราเล่นด้วย และเป็นคนเขียนสตอรีบอร์ด จัดไฟ จัดทุกอย่าง ตื่นเต้นมาก รอดูเลยนะ” พูดจบ เธอยังคงมีรอยยิ้มอยู่เสมอแม้หลังเราล่ำลากันแล้ว