จเด็จ กำจรเดช

จเด็จ กำจรเดช: นักเขียนดับเบิลซีไรต์ ในวันที่สถานการณ์สังคมร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ

เมื่อเดินทางมาถึง ‘เอ็กเต็งผู่กี่’ สภากาแฟโบราณที่อยู่คู่ย่านเยาวราชมากว่า 90 ปี แดดเช้าก็เลยเถิดกลายเป็นแดดสายที่ร้อนแล้ว ผมเดินผ่านผู้คนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่นั่งจิบชา กาแฟ อย่างไม่เร่งรีบ ท่ามกลางบรรยากาศร้านชั้นล่างที่ถูกตกแต่งใหม่เอี่ยม แต่ยังคงมีกลิ่นอายความเก่าแก่ตามฉบับความเป็นจีนซุกซ่อนอยู่ตามผนังกระเบื้อง ภาพตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์

        ผมขึ้นบันไดที่ซ่อนอยู่ด้านในร้านขึ้นมายังชั้นสอง จเด็จ กำจรเดช พร้อมมิตรสหายนั่งรอผมอยู่แล้ว นักเขียนรางวัลดับเบิลซีไรต์ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี พ.ศ.2563 จากหนังสือ ‘คืนปีเสือและเรื่องของสัตว์อื่นๆ’ เขาอยู่ในชุดเรียบง่าย เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์ ผมตัดสั้น แขนซ้ายและขวามีรอยสัก เราทักทายกันอย่างเรียบง่าย เขาเชื้อเชิญให้ผมสั่งเครื่องดื่ม ก่อนที่เราจะย้ายมานั่งอีกจุดใกล้ผนังกระเบื้องเคลือบสีเขียวที่ดูสะอาดเอี่ยม เขาไม่ลืมหยิบถ้วยชาร้อนใบเล็กติดมาด้วย

        เขาเริ่มจิบกาแฟร้อนในแก้วเล็กใสและเล่าว่าเพิ่งนั่งรถไฟข้ามคืนจากนครศรีธรรมราชมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเช้า ซึ่งใช้เวลาถึงยี่สิบชั่วโมง “สถานีแจ้งว่าล้อรถไฟพัง ต้องจอดซ่อมหนึ่งชั่วโมง” เขากล่าว ก่อนจะย้อนรำลึกถึงช่วงวัยหนุ่มกับการเดินทางโดยรถไฟ “รถไฟชั้นสามที่เรานั่งตอนยังหนุ่มๆ จะยืนกันแน่นๆ เบียดๆ สามารถมุดเข้าไปปูหนังสือพิมพ์นอนใต้เก้าอี้ตอนกลางคืนได้ บางคนจะไปนอนหน้าห้องน้ำ ริมทางเดิน แต่นั่นคือยี่สิบกว่าปีมาแล้ว”

        “ตอนนั้นสนุกนะ” เขามีรอยยิ้มเมื่อนึกถึงอดีต “แต่ตอนนี้ทำไมได้แล้ว จะสอดเข้าไปนอนก็ทำไม่ได้ นั่งยาวๆ ก็ไม่ได้ มันเมื่อย” พูดจบเขาหัวเราะเบาๆ รอยยิ้มนั้นเผยให้เห็นริ้วรอยแห่งกาลเวลาบนใบหน้าชัดขึ้น

 

จเด็จ กำจรเดช

1

        ใครบางคนกล่าวว่าบรรยากาศสังคมในตอนนี้บีบให้คนออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกมองว่ามีปากเสียงและมีพื้นที่ทางสังคมมากกว่าคนธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่แวดวงวรรณกรรมที่จเด็จเชื่อว่าควรจะอยู่เหนือการเมือง และคนทำงานวรรณกรรมควรจะมองเรื่องการเมืองแบบรอบด้าน

        อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีบทบาทของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป “สื่อที่เร็ว หมายความว่า ทันทีที่คุณประกาศสัจธรรมอะไรสักอย่างบนเฟซบุ๊ก ก็จะมีคนโต้ทันที แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน พอเขียนลงนิตยสาร ก็จะมีเวลาเป็นวัน เป็นเดือน กว่าคนจะได้อ่าน และรู้สึกว่าเห็นไม่ตรงกัน กว่าเขาจะเขียนจดหมายมา กว่าจดหมายจะมาถึงเรา และสุดท้ายอาจจะไม่มีการโต้กัน หรือปล่อยให้หายไปเฉยๆ ก็ได้

        “ถ้าเกิดพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ท่านก็คงโพสต์สเตตัสเพื่อประกาศสัจธรรมของตนเอง แล้วสักพักก็จะบอกว่า ‘อานนท์ ช่วยเปลี่ยนสเตตัสหน่อย’ เพราะท่านไม่ได้โพสต์เอง ท่านต้องใช้อานนท์โพสต์อยู่แล้ว” เขากล่าวและหัวเราะเล็กน้อย “เพราะว่ามันต้องมีคนโต้ทันที”

        “การโต้แย้งกันในเฟซบุ๊กน่ากลัว แต่นักเขียนก็ยังพยายามจะมองการเมือง หรือเหตุการณ์บ้านเมือง ด้วยมุมมองที่คิดว่าเราต้องเท่าทัน ต้องมองได้รอบด้าน และพยายามที่จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยว แต่มันยาก สมมติเหตุการณ์ที่เขาสลายการชุมนุม ไม่มีใครที่เห็นด้วย แม้จะพยายามบอกตัวเองว่า เราจะเข้ายุ่งให้น้อยที่สุด แต่ในที่สุดเราก็ต้องเข้าร่วม ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ต้องรู้สึกกับมันไปด้วย” เขาว่า “ปัญหาที่เจอคือ มีความขัดแย้งเยอะมากขึ้น อยู่ในวงก็ต้องโดน อยู่ไกลแค่ไหนก็ต้องกระเทือนไปถึง”

        “ถ้ามองเฉพาะในเฟซบุ๊ก นักเขียนโพสต์แบบไหน เขาก็อาจจะคิดแบบนั้น แต่ปัญหาคือ แล้วคนที่ไม่โพสต์ล่ะ”

 

จเด็จ กำจรเดช

2

        จเด็จหยิบหนังสือรางวัลซีไรต์เล่มล่าสุดของเขาขึ้นไว้ในมือ เขาพยายามอธิบายว่าคนแวดวงวรรณกรรมเช่นเขาที่ไม่ได้โพสต์ความคิดเห็นลงในโซเชียลฯ เป็นเพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นอยู่ในผลงานที่เขาเขียนมากกว่าอยู่ในโพสต์ “ผมคิดว่าผมทำงานศิลปะ ผมเขียนวรรณกรรม สิ่งที่ผมคิดมันก็อยู่ในนี้แหละ” เขาตบหนังสือเล่มหนาในมือเบาๆ “ฉะนั้น คุณต้องมาอ่านหนังสือของผมด้วย ถ้าอ่านแล้วคุณตีความว่าผมคิดอีกแบบหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผมเงียบ แล้วคุณบอกว่าการที่เงียบหรือไม่พูดไม่แสดงอะไรคือเป็นอีกพวกหนึ่ง เป็นพวกไร้มนุษยธรรม พวกอยู่เฉย ผมก็ไม่เถียง แล้วแต่เขาคิด”

        อย่างไรก็ตาม เขาไม่ปฏิเสธว่าบริบทการสื่อสารที่เปลี่ยนไป ทำให้เขาต้องเริ่มมองอีกมุมมากขึ้น ปากเสียงของนักเขียนไม่ได้อยู่ที่หนังสืออย่างเดียว แต่สามารถอยู่ในพื้นที่สาธารณะได้ “ถ้าต้องไปเล่นไปโพสต์ในโซเชียลฯ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่าผมจะสนุกไหม” เขาหยุดครุ่นคิดเล็กน้อย “เดี๋ยวจะบอกว่าผมหาข้ออ้าง แต่คุณว่ามีไหมล่ะ คนที่ไม่สนุกกับการโพสต์

        “อะไรๆ ก็จะอยู่บนเฟซบุ๊กหมด” เขาพูดและวางหนังสือลงบนโต๊ะไม้เบื้องหน้า เขาบอกว่าสิ่งที่กังวลจากโซเชียลฯโดยเฉพาะเฟซบุ๊กคือทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากการตีความประโยคที่พิมพ์ได้ง่าย และอาจก่อให้เกิดการโต้เถียงที่เป็นคำด่าเพิ่ม “ผมไม่สนุกที่จะโพสต์ แต่ถ้าใครสนุกกับการได้เถียง ได้โต้แย้ง ได้แลกเปลี่ยน ก็อาจจะเล่นได้ แต่ว่าผมสู้มันไม่ทัน

        “แต่ละคนก็ไม่ได้เก่งในการนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็น นักเขียนไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง ผมถนัดการเขียนหลังจากที่ย่อย ตีความ แทนค่า จนมันกลายเป็นเรื่อง แต่ว่าไม่ถนัดการเขียนแบบเฟซบุ๊กที่เราเห็น ที่บางคนเขียนเหมือนเป็นบทความ หรือเรียงความดีๆ

        “แต่ถ้าผมเห็นด้วยกับคุณ ผมไม่โพสต์ แต่ผมไปกดไลก์คุณได้ไหม” เขาพูดและยกชาร้อนขึ้นจิบอึกใหญ่

3

        ผมถามเขาว่าการเมืองที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยส่งผลกับงานวรรณกรรมของเขาขนาดไหน เขาวางแก้วชาร้อนลงบนโต๊ะไม้เสียงดังกึกและตอบทันที “ส่งผล” เขาซับริมฝีปากตนเองเล็กน้อยและเริ่มอธิบายว่า ถ้าดูตอนหนังสือ ‘แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ’ นอกจากเรื่องส่วนตัว เขาก็จะเขียนเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่เป็นประเด็นทางสังคมการเมืองที่คนให้ความสนใจ “ส่วนตอนนี้ผมเขียนนิยายค้างอยู่เรื่องหนึ่ง เริ่มเขียนตั้งแต่หกเจ็ดปีก่อนตอนเราอยู่ในช่วงรัฐประหารครั้งแรก ตอนนั้นโลกส่งยานสำรวจดาวพลูโตออกไปปีแรก แล้วก็ใช้เวลาเก้าปีกว่าจะไปถึง ส่วนเราก็มีรัฐประหารซ้ำ

        “คือผมจะบอกว่า ในระหว่างที่เขาไปถึงไหนต่อไหนกัน เรายังวนอยู่กับรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นฉากที่ผมเอามาเขียนนิยาย ดังนั้น ผมต้องเฝ้าดู สังเกตการณ์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่มันก็ยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปจนผมคิดไม่ถึงแล้ว”

        เขาหยิบหนังสือ ‘คืนปีเสือและเรื่องของสัตว์อื่นๆ’ ขึ้นมาอีกครั้ง และพูดว่า “การเมืองที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อมุมมองผม ยิ่งพอตอนนี้ เราต้องมามองใหม่แล้วว่า ไอ้นี่มันยังมีคนอ่าน หรือมีคนสนใจไหม” เขาพูดและกรีดหน้ากระดาษหนังสือเร็วๆ “อย่างดีคืออาจจะเลิกเขียนก็ได้” เขาว่า “หรืออาจจะเขียน แต่ไม่ได้วางเหมือนว่ามันสำคัญเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้หวังว่าทุกคนจะต้องมาอ่าน”

        เขาแบ่งรับแบ่งสู้ถึงสิ่งที่เพิ่งกล่าวไปว่าหมายถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมระหว่างหนังสือวรรณกรรมกับการเคลื่อนไหวเพียงปลายนิ้วของผู้คนบนโลกโซเชียลฯ

 

จเด็จ กำจรเดช

 

        “เมื่อวานผมคุยกับพี่คนหนึ่งที่ทำงานวรรณกรรมแบบเข้มข้น เขาให้ข้อคิดว่า วรรณกรรมหรือหนังสือก็คือสินค้าชิ้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น หากเขียนก็ต้องให้ขายได้ ถือว่าเป็นมุมมองที่เปลี่ยนเหมือนกัน จากที่เมื่อก่อนผมไม่สนเลยนะ” เขาวางหนังสือลง หงายประสานฝ่ามือสองข้างซ้อนทับกัน เผยให้เห็นรอยสักภาพลูกชายที่ล่วงลับของเขาบริเวณแขนข้างขวา “ตอนแรกผมไม่ประนีประนอม ผมคิดว่าต้องมีคนฮาร์ดคอร์ที่พยายามอ่านเล่มหนาๆ ที่เราเขียน คิดว่าคนอ่านต้องทะลุทะลวงเหมือนเรา คิดว่าคนอ่านไม่ได้โง่ คนอ่านต้องฉลาดกว่าเรา” เขาว่า “ทีนี้พอถ้ามีใครบอกว่า คุณเขียนยากไป คุณต้องเอาใจคนอ่าน หรือมุ่งเข้าหาคนอ่านสักหน่อย นั่นก็คือการเปลี่ยนนะ

        “สมมติว่าสิ่งที่เราจะเสนอในวรรณกรรมคือการพูดถึงการเมือง พูดถึงระบบการปกครอง แต่บางทีมันไม่ส่งผลกระทบกับเรื่องอะไรเลย เท่ากับการที่ใครสักคนพูดในทวิตเตอร์แค่นิดเดียว มุมมองก็เปลี่ยนไปแล้ว”

        งานวรรณกรรมเป็นงานที่มีการเล่าเรื่องแบบมีนัยยะให้คนคิดตาม ด้วยว่านั่นคือเสน่ห์ที่ทำให้งานวรรณกรรมน่าสนใจและมีศิลปะ แต่ในสภาวะที่ผู้คนต้องการความตรงไปตรงมาในการสื่อสาร น่าสนใจวรรณกรรมยังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในจิตใจผู้คนได้มากน้อยขนาดไหน “เราคิดว่าการที่เขียนไปในหนังสือเป็นความกล้าหาญแล้ว แต่ก็ยังสู้วิธีที่เด็กๆ ทำไม่ได้ เช่น วิธีการโพสต์ หรือการออกไปต่อสู้เรียกร้อง” เขายอมรับตรงๆ “แต่ก็เป็นความกล้าหาญคนละแบบ วรรณกรรมเรียกร้องสิ่งที่จะบอกตรงๆ ไม่ได้ ถ้าคุณเขียนบอกแบบตรงๆ ก็เป็นเหมือนความเรียงที่คนอ่านเข้าใจได้เลย ซึ่งก็สร้างอิมแพ็กต์อีกแบบหนึ่ง”

        “แต่ว่าวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น ต้องการการตีความ เพราะความสนุกเป็นอีกแบบหนึ่ง วรรณกรรมถึงได้โดนมองน้อยลงๆ แต่ว่าตัววรรณกรรมเองไม่ควรเปลี่ยน หรือควรเปลี่ยนให้น้อยที่สุด คือเปลี่ยนรูปแบบได้ เปลี่ยนวิธีนำเสนอได้ แต่ว่าต้องไม่ใช่การบอกตรงๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีเสน่ห์ ถ้ายืนบอกบอกแบบนั้นก็ไม่ใช่วรรณกรรม

        “อาจมีคนสิ้นศรัทธากับวรรณกรรมก็ได้ ส่วนถ้าวันหนึ่งผมรู้สึกว่าวรรณกรรมไม่สามารถสื่อสารได้ ต่อไปผมก็จะมาเขียนในเฟซบุ๊ก ในเพจแทน เพื่อให้คนเข้าถึงมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่ตอนนี้ผมยังเชื่อในการเล่าแบบมีศิลปะแบบวรรณกรรมอยู่” เขาหยุดคิดเล็กน้อย “มันเป็นนิสัยของคนที่ชอบอยู่ข้างหน้า บางคนชอบอยู่อันดับสอง บางคนชอบอยู่เงียบๆ ไปเลย อยากให้งานพูดแทนตัวเอง แต่ว่าเสียงเบาดังแค่ไหนก็อีกเรื่อง แต่จะดันให้ต้องสร้างเพจแบบนี้ เคลื่อนไหวแบบนี้ เพื่อให้คนติดตามแบบนี้ บางคนก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นิสัย

        “ใครจะด่าที่ไม่เห็นผมโพสต์หรือพูดอะไรในเฟซบุ๊กก็ด่าได้ แต่จะด่าว่าผมไม่สนใจการเมืองไม่ได้ เพราะผมเอามาเขียนในวรรณกรรมอยู่ ผมไม่ได้โพสต์ ไม่ได้แปลว่าผมไม่เห็นด้วยกับคุณ”

        พูดจบ เขาเลื่อนสายตามองหนังสือเล่มหนาที่วางใกล้ตัวอีกครั้ง

4

        “หากคนต้องการความตรงไปตรงมา อนาคตวิธีการเล่าแบบมีนัยยะจะตายหรือล้าสมัยไหม” ผมลองถาม เขายกมือแตะใบหน้าและครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า “อาจจะล้าไปสักช่วงหนึ่ง แต่ก็จะต้องวนกลับมา” จเด็จเปรียบเทียบความเบื่อของมนุษย์เหมือนแฟชั่น ที่มีความวูบวาบเปลี่ยนแปลงในรสนิยมตลอดทุกยุคสมัย  “ล้าสมัยแค่บางช่วง แต่คงไม่ตาย” เขาว่า

        คราวนี้เขาตอบทันที หลังจากผมถามว่า เขาเองจะสามารถเปลี่ยนวิธีการเขียนได้ไหม หากการเล่าเรื่องแบบมีนัยยะจะล้าสมัยในอนาคตที่ยังไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ “ผมไม่มีปัญหา” เขาตอบชัดเจน และอธิบายถึงการทำงานว่า หลังจากทำงานเสร็จหนึ่งชิ้น ชิ้นต่อไปควรจะเบื่อชิ้นแรก เพื่อคิดหาวิธีใหม่ๆ ในการนำเสนอ “แม้แต่รสนิยมของคนอ่านก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เมื่อวันก่อนบอกว่าชอบเรื่องสั้นที่ตัวหนังสือบรรยายจนคนอ่านเห็นภาพตาม พอผ่านไปสองปีก็บอกว่า ตอนนี้ชอบตัวหนังสือสั้นๆ ที่นักเขียนไม่แทรกแซงนักอ่าน คือบอกสั้นๆ แค่ฉายภาพเหมือนเล่าให้ฟัง”

 

จเด็จ กำจรเดช

 

        “มันคือการเปลี่ยนแปลง” เขาว่า “ส่วนมากเราจะชอบความมั่นคงมากกว่าความเปลี่ยนแปลงใช่ไหม แต่ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยน คนอ่านเปลี่ยน นักเขียนเปลี่ยน” เขายกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนชอบเขียนชื่อเรื่องยาวๆ เพราะรู้สึกว่าเหมือนบทกวีบทหนึ่ง แต่ว่าพอเริ่มทำงานชิ้นใหม่กลับรู้สึกเบื่อ “ทำไมมันย้วย จะกวีทำไมนักหนา ก็เปลี่ยนเป็นชื่อสั้นๆ พอ” พูดจบเขาก็หัวเราะเบาๆ

        จเด็จยกงานวรรณกรรมญี่ปุ่นที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนอ่านวัยรุ่นว่า แม้ไม่ได้เป็นงานที่ลึกซึ้ง แต่ก็มีพล็อตเรื่องที่ฉูดฉาด รวมถึงความพื้นที่ของวรรณกรรมที่เปลี่ยนจากหนังสือไปสู่โทรศัพท์มากขึ้น “ยาวไปบางทีคนก็ไม่อ่าน เราก็ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนเพื่อให้นักอ่านชอบ แต่เปลี่ยนความเบื่อของตัวเองที่ได้เขียนแบบยาวๆ มีทั้งการซ่อนเร้น และให้คนอ่านตีความเต็มที่จนอิ่มแล้ว

        “ทำงานเราต้องมีหมุดหมาย คำว่าสร้างสรรค์คือการไม่อยู่กับที่ ไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ด้านข้างบ้าง ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์แล้วมันจะดีไปหมดนะ แต่หมายถึงว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”

5

        ผมย้อนกลับมาคุยกับเขาในประเด็นวรรณกรรมเล่มใหม่ที่เขายังเขียนค้างอยู่ ผมอยากรู้ว่าเขาจะเปลี่ยนวิธีการเขียนให้ตรงไปตรงมาเหมือนอย่างที่เราสนทนากันมาหรือเปล่า “เอาแบบนี้เลย” เขายกชาร้อนขึ้นจิบแล้ววางบนโต๊ะ ตั้งท่าจะเล่า “คุณเขียนบรรทัดแรกได้เลยว่า ผมจะพยายามเล่าเรื่องอย่างง่ายที่สุดโดยใช้วิธีเหมือน Meta Description พอบรรยายไปถึงเรื่องหนึ่งเราก็จะคุยกับคนอ่านสักหน่อยว่า คุณเข้าใจตรงนี้ใช่ไหม ถ้าคุณไม่เข้าใจเดี๋ยวผมจะอธิบายซ้ำ คือเล่นไปในวิธีการเขียน  ด้วยความที่มันยาว พอยาวก็มีหลายบท วิธีเล่าก็หลากหลายได้

        “แต่ก็ยากทั้งตัวผมที่ต้องเขียนเรื่องการเมืองและเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วและกำลังจะมา พอเหตุการณ์ปัจจุบันมันเลื่อนมา เรื่องก็เปลี่ยนไป มันอาจจะโดนเกลาไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบก็ได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ข้างนอก” เขาหัวเราะเล็กน้อย “เมื่อก่อนเขาบอกว่านักเขียนต้องเป็นนักพยากรณ์ด้วย แต่ว่าตอนนี้เริ่มยากแล้ว เพราะทุกคนรู้ข้อมูลเท่ากัน บางคนเก่งมาก เก่งกว่านักเขียนอีก ทีนี้นักเขียนก็เลยกลายเป็นคนเขียนเรื่องโกหกไป

        “เมื่อก่อนสื่อมีน้อย คนอ่านยังเชื่อว่าเรื่องแต่งเป็นเรื่องจริง แต่คนปัจจุบันรู้แล้วว่าเป็นเรื่องแต่ง แถมเป็นเรื่องแต่งที่ไม่สมจริงด้วย เพราะเขารู้ข้อมูลเยอะ แล้วใครยังต้องการอ่านเรื่องโกหกอยู่อีก มันยากอยู่นะ”

        “เวลาเขาบอกว่าเป็นเรื่องโกหกแล้วคุณเจ็บปวดไหม” ผมถาม

        “ไม่เจ็บปวด” เขาตอบทันที “ผมประกาศเลยว่า ผมเป็นนักโกหก และชอบเรื่องโกหก”

        เขาอธิบายหลังคำตอบว่าเรื่องแต่งทำให้เห็นความจริงชัดขึ้น และยกชื่อหนังสือของนักเขียนรุ่นพี่อีกท่านอย่าง จำลอง ฝั่งชลจิตร ที่ชื่อ ‘เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า’ ขึ้นมาเปรียบเทียบ เขาเชื่อว่าคุณค่าของเรื่องโกหกคือความเพลิดเพลิน “ไม่มีใครปฏิเสธว่าบางเรื่องที่โกหกไม่ใช่เรื่องจริง คือมันจริง แต่ไม่ได้โกหกเหตุการณ์ มันโกหกเรื่องรายละเอียด”

        “นิยายเรื่องหนึ่งชื่อ ‘ชายร้อยปีผู้ปีนออกทางหน้าต่าง แล้วหายตัวไป’ มีคำอุทิศว่า ‘ใครที่ไม่เคยพูดโกหกเลย ไม่น่าคุยด้วย’ ซึ่งผมชอบ เพราะผมไม่ต้องไปแข่งบอกใครว่าผมจะเขียนแต่เรื่องจริงนะ เรื่องนี้มีคุณค่านะ คุณต้องมาอ่าน เพราะอย่างที่บอกว่า เรื่องจริงตอนนี้ทุกคนก็รู้ แต่มีเรื่องจริงบางเรื่องที่เราไม่รู้ หรือบางเรื่องที่เขาอยากให้เราคิดว่าเป็นเรื่องจริง

        “วรรณกรรมไม่ได้เปลี่ยนข้างนอก แต่เปลี่ยนข้างใน พอเราอ่านแล้วเกิดความเพลิดเพลิน เกิดสมาธิ เกิดการใคร่ครวญ หรือถ้าเราอ่านจบแล้วยังสนุก นั่นแปลว่ามันยังมีคุณค่า”

 

จเด็จ กำจรเดช

 

        ชาร้อนในแก้วใบเล็กหมดไปนานแล้ว เขาเชื้อเชิญผมให้ย้ายไปนั่งกินขนมปังปิ้งที่สั่งมาเผื่ออีกครั้ง ณ โต๊ะไม้ที่มิตรสหายของเขาอยู่ร่วมวงพร้อมหน้ากันด้วยรอยยิ้ม

        เมื่อเราพากันออกมาข้างนอกร้าน แดดเช้าผ่านไปเนิ่นนานแล้ว เราล่ำลากันในยามที่แดดบ่ายส่งไอร้อนปะทะผิวหนัง

        แต่ท้ายที่สุดหลังราตรีกาลผ่านไป แสงแดดของเช้าวันใหม่จะวนกลับมาส่องสว่างเสมอตามวัฏจักร