ท่ามกลางแสงแดดเจิดจ้าสดใสของปลายฝนต้นหนาวที่เชียงใหม่ ภายในร้านกาแฟ Gateway Coffee Roasters ย่านถนนท่าแพนั้นสว่างและมีลมอ่อนพัดถ่ายเทสม่ำเสมอ ที่นี่ตั้งอยู่บริเวณชั้นสองของอาคารเก่าอายุกว่า 60 ปี และออกแบบภายใต้โครงสร้างเดิม อวลไปด้วยกลิ่นกรุ่นของเมล็ดกาแฟจากห้องคั่วกาแฟ ยามสายของวันธรรมดามีผู้คนไม่มาก ให้ความรู้สึกราวกับได้พักผ่อนสบายๆ
จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เดินตรงมายังบริเวณโต๊ะตรงมุมที่ผมนั่งอยู่ เขาแต่งกายสีเข้มทั้งตัว เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีดำ กางเกงขายาวสีกรมท่าเข้ม ภายใต้ขอบขากางเกงเผยให้เห็นถุงเท้าสีเหลืองที่ซ่อนอยู่ในรองเท้าหนังสีดำ สวมหมวกและแว่นแฟชั่นสีดำ บุคลิกดูเข้ากันกับตัวร้านที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย แต่แฝงความดิบไว้กับผนังปูนเปลือย พื้นไม้ที่ดูอบอุ่นและเฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียน
เราทักทายกันง่ายๆ ผมรู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เขาถอดหมวกออกเผยให้เห็นผมสั้นเกรียนและหนวดเครา เขาวางกระเป๋าย่ามสีขาวไว้และเดินไปสั่งกาแฟที่บาร์ ก่อนจะกลับมานั่งที่โต๊ะ เพียงไม่นาน บริกรก็นำลาเต้ร้อนในแก้วเซรามิกมาเสิร์ฟตรงหน้า “ปกติเรากินอเมริกาโนเป็นหลักนะ” เขากล่าว “แต่วันนี้สั่งลาเต้เพราะแก้วสวย เป็นแก้วเซรามิก ภาพน่าจะออกมาสวย” พูดจบเขาก็หัวเราะ
จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ เป็นนักเขียน และนักแปล ผู้พำนักอยู่เชียงใหม่ มีผลงานหนังสือโดดเด่นหลายเล่ม โดยเฉพาะ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า ซึ่งเคยเข้าชิงรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่แต่กำเนิด ทว่าเขาย้ายมาตั้งรกรากที่นี่เกินกว่าสิบปีมาแล้ว เขาเคยไปทำงานประจำที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้า แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีของเมืองหลวงได้ “ชีวิตมันแย่เกินไป” เขาว่าเช่นนั้น “ทุกวันนี้เราอยู่เชียงใหม่ แต่มีงานที่กรุงเทพฯ บ่อย บางโปรเจ็กต์ไปคุยงานเช้า บินกลับตอนเย็น ปีที่แล้วเราทำงานสองสามโปรเจ็กต์ที่กรุงเทพฯ ได้ลงไปเกือบทุกเดือน แต่ว่าจำได้ว่านอนกรุงเทพฯ แค่ไม่กี่คืน นอกนั้นคือไปเช้าเย็นกลับ”
เขายกลาเต้ร้อนขึ้นจิบ และเล่าต่ออย่างไม่เร่งรีบ เขาบอกว่าช่วงที่ผ่านมาได้ไปกรุงเทพฯ อีกครั้งช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังหลายจุด จนเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ “คุณภาพชีวิตตรงนั้นแพงมาก แต่สิ่งที่เราเจอคือน้ำท่วมหนัก รถติด มันดูไม่สอดคล้องกันเลย
“ไปแล้วอยากร้องไห้” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม ผมคิดว่าคงไม่ใช่รอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความสุขเท่าใดนัก
1
เขาออกตัวกับผมว่าอาจจะอธิบายอะไรไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก และไม่ใช่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ มุมมองที่คุยกันเป็นมุมมองของคนเขียนหนังสือและสื่อมวลชนคนหนึ่งเท่านั้น บุคลิกถ่อมตนเช่นนี้ทำให้เขาเป็นที่รักสำหรับมิตรสหาย และเพื่อร่วมแวดวงนักเขียน เขาเป็นนักเขียนผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์และการเมือง เขาเล่าว่าได้ติดตามการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
“เราติดตามด้วยความหวังด้วยนะ เพราะนี่น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าใกล้แก่นของปัญหาการเมืองที่เรื้อรังมาหลายสิบปีมากที่สุดแล้ว” เขากล่าว และอธิบายว่าการเคลื่อนไหวในอดีตดูเป็นการอ้อมไปอ้อมมา นขณะที่คนรุ่นใหม่กล้าจับประเด็นปัญหามากกว่า “ต้องเข้าใจว่าเราอายุ 35 ปีแล้ว เราโตมาในยุคที่ political active คือ กปปส. คือการขับไล่ทักษิณ มีขั้วเหลืองแดง ขณะที่ยุคนี้ เราเห็นเลยว่าวัยรุ่นสนใจการเมืองเป็นเรื่องปกติ เขาเข้าใจสิทธิมากขึ้น เพราะเป็นพัฒนาการจากที่เขาเห็นบทเรียนย่ำแย่ที่ผ่านมา”
จิรัฏฐ์เล่าว่าเขาได้พบและพูดคุยกับ ไกร ศรีดี ศิลปินวัยรุ่นผู้ทำชิ้นงานหมวกกันน็อกติดตั้งกล้องวงจรปิด และสวมมันไปประท้วงขับไล่รัฐบาล จนหลายคนต่างแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียช่วงที่ผ่านมา “เขาบอกว่าตั้งแต่จำความได้ก็เห็นรัฐประหารแล้ว คือในปี 2549 หลังจากนั้นประเทศก็อยู่ในภาวะความพิการทางการเมืองมาตลอด จนกระทั่งตอนนี้ เราเลยเข้าใจเลยว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงแอ็กทีฟและอยากเปลี่ยนแปลงมากๆ”
เขายกลาเต้ร้อนในถ้วยเซรามิกขึ้นจิบเป็นระยะระหว่างพูดคุย เขาบอกว่าสนใจสิ่งที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เสนอทุกข้อ แต่มีอยู่หนึ่งข้อที่รู้สึกเฉยๆ คือการยกเลิก propaganda ของบางสถาบันฯ เพราะคิดว่าคนรุ่นนี้มีวิจารณญาณมากเพียงพอแล้ว “แต่ว่าถ้าจะยกเลิกเราก็เข้าใจข้อเสนอ เพราะมันคืองบประมาณในการลงไป แต่ถ้าในเชิงฟังก์ชัน propaganda เราว่ามันไม่มีผลกับคนรุ่นใหม่อีกต่อไปแล้ว”
เขาเล่าว่าสิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือการเคลื่อนไหวที่มาพร้อมกับข้อเสนอหลัก ที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมาย พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อคุ้มครองสวัสดิการให้กลุ่ม sex worker ไปจนถึงการแก้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “มาตรา 32 เราไม่แน่ใจว่ามีข้อเสนอเรื่อง secular state หรือยัง ถ้ายังก็อยากให้มีด้วย” อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักในสิทธิและพลังของการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่ามีกฎหมายหลายเรื่องมาก ที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลก
2
“เชื่อไหมว่ากว่าเราจะรู้เรื่อง 14 ตุลา กับ 6 ตุลา อย่างละเอียด ก็หลังจากเรียนจบเลย” เขาเล่า เมื่อผมอยากรู้ว่าเขาศึกษาประวัติศาสตร์ความรุนแรงในไทยมากน้อยขนาดไหน เขาบอกว่าแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยตอนที่ยังเรียนอยู่ เพราะมีแค่สองถึงสามพารากราฟในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยม “อีกสื่อที่พอจำได้คือหนังเรื่อง 14 ตุลาฯ สงครามประชาชน ที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนบท และ บัณฑิต ฤทธกล กำกับ แต่ตอนดูสมัยนั้นซึ่งก็เกือบยี่สิบปีแล้ว เราจดจำมันแค่ในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ ที่ผ่านมาเราแทบไม่มีภาพยนตร์ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์การเมืองในยุคใกล้เท่าที่ควรเลย ยิ่งถ้าเทียบกับภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มีตัวเอกเป็นวีรบุรุษในสมัยอยุธยาอะไรทำนองนั้น”
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เขาเล่าว่าความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทยที่จำได้ตอนเด็กๆ คือ พฤษภาทมิฬ “แต่ตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต และเราก็ไม่อาจรู้อะไรได้มากกว่าสิ่งที่หนังสือพิมพ์หรือข่าวในโทรทัศน์บอก” เขาว่า “จนโตมาหน่อยคือเหตุการณ์ตากใบในยุค ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราเริ่มสนใจประเด็นโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคมอย่างมาก แล้วก็เริ่มติดตามการเมืองอย่างจริงจังมาตั้งแต่นั้น”
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ข้อมูลข้อเท็จจริงมากมายว่ายวนอยู่เพียงปลายนิ้ว คนรุ่นใหม่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ความรุนแรงในประเทศไทยอย่างจริงจังขึ้นเรื่อยๆ ผมนึกเปรียบว่าพวกเขากำลังค่อยๆ พลิกฟื้นความจริงในหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นมา จิรัฏฐ์พยักหน้าเห็นด้วยกับข้อนี้ เขาบอกว่านี่คือ “การที่ประวัติศาสตร์กำลังไล่ล่าไดโนเสาร์” และแค่นหัวเราะ “ที่ผ่านมาเขาสามารถควบคุมการรับรู้ของเราได้หมด แต่ว่าพอเทคโนโลยีเข้ามา โลกไม่ใช่โลกใบเดิมอีกต่อไป แต่เขายังทำตัวเหมือนไดโนเสาร์อยู่ เขาไม่ทันโลกแล้ว เขาเหมือนรอวันสูญพันธุ์”
“ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่แห่กันไปซื้อหนังสือที่บูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในงานมหกรรมหนังสือก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่เห็นได้ชัด มันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาสนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองในบ้านเราอย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่า เด็กเขาอยากรู้ ยิ่งปิดเท่าไหร่ ยิ่งบิดเบือนเท่าไหร่ เด็กก็ยิ่งอยากรู้” เขาว่า “เด็กอยากรู้กระทั่งใครสั่งฆ่าประชาชน เพราะที่ผ่านมา รัฐพยายามปิดกั้น แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนที่พยายามทำงานด้านนี้ แต่รัฐก็พยายามบล็อกหนังสือหรือที่ทางที่จะอ่าน แต่เขาไม่มีทางบล็อกได้หมด โลกอินเทอร์เน็ตมันกว้างใหญ่มาก สุดท้ายมันก็ถึงเวลาสุกงอมที่คนจะเข้าถึงได้แล้ว”
จิรัฏฐ์เล่าว่าคนรุ่นเขาเป็นคนรุ่น ‘ignorance’ จึงไม่เห็นความจำเป็นในการศึกษาประวัติศาสตร์ หากไม่ใช่คนที่ทำงานด้านที่เกี่ยวข้อง “แต่ที่เราเองสนใจเพราะเราทำงานด้านสื่อ เราเขียนหนังสือ เราเลยต้องขุดและอ่านมันให้เข้าใจ” เขากล่าว “กลายเป็นว่าเรามีเพื่อนที่แอ็กทีฟทางการเมืองคือการเดินขบวนขอนายกพระราชทานร่วมกับ สนธิ ลิ้มทองกุล, การสะใจกับความตายของคนเสื้อแดง และการออกไปเป่านกหวีดไล่ยิ่งลักษณ์ร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ เราคิดว่า generation เราค่อนข้างล้มเหลวในกระแสของพัฒนาการทางการเมืองในสังคมไทยอย่างมาก
“แต่เด็กยุคนี้เขาเห็น เขาแอ็กทีฟและมีความสนใจการเมือง เขาเข้าใจแล้วว่าทุกอย่างเกี่ยวกับเขา โครงสร้างทั้งหมดที่กดเราอยู่ โครงสร้างทั้งหมดที่ขัดขวางไม่ให้ประเทศเราพัฒนา มันมาจากการบิดเบือนประวัติศาสตร์ หรือว่าการมีจำเลยบางอย่างที่ยังไม่ถูกชำระ”
3
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือสามสิ่งที่ถูกปลูกฝังในตัวคนไทยมาตั้งแต่กำเนิด จิรัฏฐ์เล่าตรงไปตรงมาว่า นั่นคือคอนเซ็ปต์ที่ทำให้เกิดปัญหาของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสังคมไทย
“เราเข้าใจฟังก์ชันของมันว่าจะทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในประเทศนะ แต่มันก็ครอบคลุมมาจนถึงหลักสูตรการศึกษาในบ้านเรา ที่ทำให้เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่โคตรจะไทยแบบรวมศูนย์ และไม่มีพื้นที่ให้กับความเป็นท้องถิ่น หรือการทำความเข้าใจในมิติทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายเลย” เขาพูดพลางจิบลาเต้ร้อนสลับกับน้ำเปล่า และเล่าต่อไปว่า คอนเซ็ปต์นี้จึงผลิตแต่คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมขึ้นมา ซึ่งการเป็นอนุรักษ์นิยมไม่ใช่ปัญหา เป็นสิทธิ์ที่ใครจะเป็นก็เป็นได้ “เว้นก็แต่อนุรักษ์นิยมที่ถูกหล่อหลอมมาจากอุดมการณ์นี้กลับมองเห็นคนไม่เท่ากัน และนั่นคือปัญหา” เขากล่าว
“อุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันสร้างความรู้สึกเป็นปึกแผ่นก็จริง แต่ขณะเดียวกันมันก็กีดกันให้ความเป็นอื่นและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเสมอมา” เขาย้ำ “วิชาประวัติศาสตร์สอนให้เราเป็นศัตรูกับพม่า ดูถูกคนเขมรและลาว ทั้งยังสร้างมาตรวัดของความ authenticity ขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วความเป็นไทยมันก็เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมอื่นๆ รวมกันทั้งนั้น แต่เราก็ดันกลับไปดูถูกวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเราขึ้นมา
“เราใช้อุดมการณ์นี้จับเข้ากับการศึกษาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน และคาดหวังให้ประชาชนช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่เราจะคาดหวังให้ประเทศนี้พัฒนาได้อย่างไร ถ้าพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ยังมองคนไม่เท่ากัน” เขาพูดพลางยกมือขึ้นโบกไหวในอากาศ “คุณอาจจะเถียงต่อว่าการที่เราไม่พัฒนา เพราะนักการเมืองมันคอร์รัปชัน ซึ่งก็ถูก แต่อะไรที่ทำให้เกิดกลไกการคอร์รัปชันได้ล่ะ มันก็เกิดจากระบบอุปถัมภ์ เกิดจากการสร้างสิทธิพิเศษ หรือกลไกบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ ไม่ใช่หรือ”
เขาเล่าว่า ขณะเดียวกันคอนเซ็ปต์เรื่องศาสนา ก็ทำให้การเป็นคนพุทธในประเทศนี้คือคนไทยที่สมบูรณ์ เพราะไปผูกกับพระมหากษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความ privilege ในฐานะองค์อุปถัมภก “แล้วถ้าคุณไม่นับถือศาสนาเลย คุณจะยังเป็นคนไทยที่ดีอยู่ไหม และแน่นอน กับสถาบันกษัตริย์ รูปธรรมที่ทำให้เรามองเห็น hierarchy ในสังคม เกิดสิ่งที่เรียกว่าอภิสิทธิ์ชน ทำให้เราไม่อาจมองคนเท่าเทียมได้เลย
“ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมามันก็ทำให้เราเห็นว่ายิ่งคุณยึดมั่นกับอุดมการณ์นี้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งไร้มนุษยธรรมต่อคนที่ไม่ได้ยึดมั่นเหมือนคุณมากเท่านั้น โดยเฉพาะกับกรณีที่คุณเพิกเฉยต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 2553 หรือการที่คุณไม่สนใจเลยว่าที่ผ่านมามีคนถูกอุ้มหายไปแล้วกี่คน กลุ่มของ สุรชัย แซ่ด่าน ที่ถูกอุ้มฆ่า และทิ้งศพไว้ริมน้ำโขง หรือล่าสุดอย่างกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายและยังไม่ทราบชะตากรรมมา 5 เดือนแล้ว คือเรานับถือบางสิ่งบางอย่างที่เหนือกว่าชีวิต แล้วก็ไม่เหลียวแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราคิดว่านี่แหละเป็นประเด็นที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเดินตามรอยคนรุ่นก่อนหน้า” เขาสรุปด้วยสีหน้าจริงจัง
4
“ทำไมเราต้องศึกษาข้อเท็จจริงหรือทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่ผ่านมาแล้ว” ผมถามเขา เขามีสีหน้าครุ่นคิดเล็กน้อย “เราต้องตั้งคำถามกับทุกเรื่อง” เขาตอบ “ยิ่งเรื่องประวัติศาสตร์ยิ่งสำคัญมาก เพราะมันคือสิ่งที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
“เราควรถามทุกอย่าง ว่าทำไมเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ต้องเกิดขึ้น ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราว่าสังคมที่พัฒนาแล้ว คือสังคมที่ประชาชนรู้จักตั้งคำถาม มี critical mind กับทุกเรื่อง สื่อสารกันได้ มีเสรีภาพทางความคิดที่จะแลกเปลี่ยนกันว่าอะไรดีไม่ดี แล้วค่อยๆ ปรับจูนกันไปเพื่อให้เกิดการพัฒนา”
ถึงตรงนี้ ผมอยากรู้ว่าในมุมมองของเขา สังคมไทยจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้โดยไม่โยนความผิดหรือโทษกันไปมา เขาบอกว่าข้อนี้ตอบยาก “เราคิดว่าการเรียนรู้โดยไม่มีอคติน่าจะเป็นหนทางหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันความยากที่สุดของการเป็นมนุษย์ก็คือการละวางอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัวนี่แหละ” เขาอธิบายว่า เพราะถึงแม้ในบางประเด็นเราจะใจกว้าง หรือยอมรับว่าเรามีข้อผิดพลาด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะเป็นเหมือนเรา “อีกวิธีคือการยึดโยงอยู่กับข้อเท็จจริง” เขากล่าวเสริม “แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่าหลายปีหลังมานี้ รัฐปั่นป่วนทั้งหลักการทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงตรรกะเหตุผล จนเกิดข้อเท็จจริงอันหลากหลายและเป็นของใครของมันมากมายไปหมด ซึ่งปัจจัยนี้แหละมันส่งผลให้เกิดการโยนความผิดหรือโทษกันไปมาไม่จบสิ้น”
“เราจำเป็นต้องชำระความจริงในอดีตก่อนไหม จึงจะเดินไปข้างหน้าโดยไร้อคติ” ผมถาม
“ในเชิงที่ใครทำอะไรไว้ มันก็ควรจะถูกชำระ ถูกไหม” เขาไม่ได้พูดเป็นเชิงถามผม “มันไม่ใช่การโยนความผิดนะ แต่ถ้าประวัติศาสตร์มันบอกมาแล้ว คุณฆ่าคน คุณก็ต้องชดใช้ในสิ่งที่คุณทำไปสิ แต่ทุกวันนี้มันไม่มีใครชดใช้ ใครสั่งฆ่าประชาชนใน 6 ตุลาฯ ยังไม่สามารถหาคนผิดได้ ทหารที่ยิงคนเสื้อแดงตาย 90 กว่าศพ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
“ก่อนอื่นคุณต้องชำระตรงนี้ก่อน แล้วค่อยถกเถียงกัน โดยที่อคติจะลดไป แต่ถ้าความยุติธรรมยังไม่เกิด อคติยังมีแน่นอน” เขากล่าว “ที่ต้องทำอย่างนั้น เพราะที่ผ่านมายังมีเหยื่อการเมืองอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม มีพ่อ มีแม่ มีลูก และมีญาติพี่น้องของใครอีกหลายคนที่ถูกฆ่า หรือถูกทำให้เสียโอกาสอีกมากมาย แล้วผู้กระทำผิดไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ แม้กระทั่งออกมาขอโทษ”
5
แม้ใกล้เวลาเที่ยงแล้ว แต่ดูเหมือนผู้คนยังไม่ปรารถนาที่จะออกจากใต้ชายคามาสู่ร้านกาแฟ บริเวณด้านนอกของร้านบนชั้นสองที่เป็นระเบียงไม้เล็กๆ สามารถมองเห็นถนนท่าแพทั้งสาย รถราที่ผ่านตาไปมาดูไม่เร่งรีบ ชวนให้ผมนึกถึงช่วงเวลาใกล้สิ้นปีของปีที่ผ่านๆ มา ที่ถนนเส้นนี้มักคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ
ผมลองขอความคิดเห็นเขาว่า ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะเกิดเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ว่าด้วยความจริงในประวัติศาสตร์หรือถกเถียงกันได้ เขาตอบผมว่า โลกออนไลน์สร้างเวทีนี้ขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นทางการแบบที่เปิดเผยในสื่อกระแสหลักได้หมดเท่านั้น ซึ่งมันโยงไปถึงกฎหมายหนึ่งซึ่งถูกระบุว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย “ทำไมเราเขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า เพราะเราคิดถึงเรื่องการยอมรับความจริง กฎหมายบางมาตรา เป็นกฎหมายที่ปิดกั้นการวิพากษ์ โครงการไหนที่ไม่เข้าท่า หรือมีการคอร์รัปชันกัน เราก็ควรจะพูดได้ ถูกไหม”
เขาชี้ว่า หากสังคมเป็นประชาธิปไตยและเปิดเสรี จะทำให้บรรยากาศของสังคมดีกว่านี้ “เอาง่ายๆ ประชาธิปไตยดีกว่าเผด็จการ เพราะเป็นระบอบที่เปิดให้เราสามารถเลือก หรือถ้าเราล้มเหลวกับการเลือกสิ่งนั้น เราก็ตระหนักได้เองว่าเราเลือกพลาด เราก็รอเลือกใหม่ เพราะมันมีวาระอยู่” เขากล่าว
“แต่เผด็จการคือทุกอย่างถูกออกแบบมาหมดแล้ว พอมันแย่ ทุกวันนี้เราทำอะไรได้ไหมล่ะ” พูดจบ เขาเว้นจังหวะครู่ใหญ่ “เราว่ามันเป็นวาทกรรมที่งี่เง่ามากที่อีกฝั่งบอกว่า ‘ประชาธิปไตยจงพินาศ เผด็จการจงเจริญ’ มันดูโง่เง่ากว่าจะมาโต้เถียงกัน”
เขายกลาเต้ขึ้นจิบอีกครั้ง ก่อนจะวางลงบนโต๊ะ และพูดราวกับนึกขึ้นได้ “รวมถึงการทำให้คนรุ่นพ่อแม่เรามีวิจารณญาณในการอ่านข้อมูลที่ forward กันทางไลน์ให้มากกว่านี้ และเข้าใจว่านั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสียทั้งหมด รวมถึงการเกลี้ยกล่อมให้พวกเขาเลิกดูสำนักข่าวโทรทัศน์บางช่องให้ได้เสียก่อน
“ซึ่งนั่นสำคัญเลย”
6
หลังสิ้นสุดการสนทนา เรานั่งพูดคุยกันอีกพักหนึ่ง ในตอนนั้นมีลูกค้าชาวต่างชาตินั่งอยู่ที่มุมหนึ่งของร้าน และนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกฝั่งหนึ่งของร้าน กลิ่นเมล็ดกาแฟคั่วยังกรุ่นในอากาศ เขาถามผมว่าจะกลับกรุงเทพฯ วันไหน ผมบอกเขาไปว่าวันพรุ่งนี้ หลังร่ำลากัน เขาสวมหมวกและแว่นแฟชั่นกลับเข้าบนใบหน้าอีกครั้ง ก่อนเดินนำหน้าผมลงบันไดร้านลงมาที่ชั้นล่างของอาคารเก่า
เราเลี้ยวจากซอยเล็กๆ ซึ่งเป็นทางเข้าร้าน ออกมายังถนนท่าแพยามเที่ยงที่แสงแดดสาดส่อง รถราไม่มากนัก เขาเดินนำหน้าผมไปตามฟุตปาธ ก่อนจะแยกย้ายกันไปตามทางของแต่ละคน ผมมองตามหลังของเขาที่เดินดุ่มไปตามทางครู่หนึ่ง ดูราวกับคนที่ยังครุ่นคิดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ
เขาอาจจะคิดถึงบทสนทนาเมื่อครู่ หรืออาจเพียงแค่คิดว่ารสชาติกาแฟที่เพิ่งจิบมามีรสอย่างไรก็ได้