ผู้จัดการส่วนตัวของ ‘จอห์น’ – วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ แจ้งว่าเขากำลังเดินทางมาสถานที่สัมภาษณ์ หลังเพิ่งเสร็จสิ้นจากการอัดรายการเมื่อช่วงเช้า เรานัดกันที่ร้านคาเฟ่ Porcupine ย่านอารีย์ ซึ่งเป็นร้านคนรู้จักของเขา ตอนที่เขามาถึง ผมเพิ่งสั่งชามะนาวไปและบริกรเพิ่งนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะ จอห์นเลื่อนประตูกระจกเข้ามาในร้าน เขามีรูปร่างสูงโปร่ง สวมแว่นกันแดดสีดำ จัดทรงผมเรียบแปล้ ให้มาดเหมือนดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูดจากยุคห้าศูนย์ สวมเสื้อยืดสีดำที่มีตัวหนังสือ ‘เจาะข่าวตื้น’ รายการจาก SpokeDark TV ที่เขาทำ และกางเกงขายาวสีเรียบ
ผมลุกขึ้นทักทายเขา เขาเอ่ยทักทายผมกลับด้วยรอยยิ้มอย่างเรียบง่าย และถอดแว่นกันแดดออก เผยให้เห็นนัยน์ตากลมโตสีน้ำตาลอ่อน ผมเดินนำหน้าเขาไปที่เคาน์เตอร์บาร์ เขาสั่งอเมริกาโน่เย็นพร้อมหยิบเงินในกระเป๋าเงินมาจ่าย ผมบอกเขาว่าผมจะออกค่าใช้จ่ายให้ เขาปฏิเสธผมด้วยท่าทีสุภาพ และบอกว่าที่นี่เป็นร้านคนรู้จักของเขา “จะได้อุดหนุนกันสักหน่อย” เขาบอกพร้อมหัวเราะ
เราเดินมุ่งหน้ากลับมาที่โต๊ะ ระหว่างทางเขาถูกลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่โต๊ะใกล้ๆ ขอถ่ายรูป ผมปล่อยให้เข้าใช้เวลากับแฟนๆ ครู่หนึ่ง ก่อนที่เขาจะกลับมาที่โต๊ะด้วยรอยยิ้ม ผมพบว่าเขาเป็นคนที่มีบุคลิกสุภาพ น้ำเสียง จังหวะจะโคนในการพูด รวมไปถึงการพยายามออกเสียงคำควบกล้ำในทุกประโยคคำตอบ ทำให้คำพูดคำจาของเขาน่าฟัง
“เราดื่มแต่อเมริกาโนอย่างเดียว” เขาบอก เมื่อบริกรนำกาแฟสีเข้มในแก้วใสมาวางเบื้องหน้าและยกขึ้นจิบทันที พร้อมอธิบายว่าแต่ก่อนเขาติดหวาน และชอบลาเต้ หรือไม่ก็คาปูชิโน แต่ก็เลิกดื่มกาแฟใส่นมใส่น้ำตาลมาเกือบสิบปีแล้ว เพราะอยากลดน้ำตาล “คนที่แนะนำให้ดื่มอเมริกาโนคือคุณแม่ แล้วเราก็ชอบมาตลอด”
“แต่ทุกวันนี้จะเริ่มเสียนิสัยนิดหนึ่ง กินแต่ละครั้งจะต้องเพิ่มช็อตให้เข้มขึ้นเรื่อยๆ” เขาพูดพร้อมเสียงหัวเราะ
1
“ช่วงที่เราเฟลมาก คือช่วงหกปีก่อนที่มีการรัฐประหารโดย พลเอกประยุทธ์ จันโอชา” เขาลดน้ำเสียงลง ฟังดูจริงจังขึ้น เมื่อผมเริ่มถามเขาเรื่องสังคมและการเมือง เพราะ จอห์น วิญญู ทำรายการ เจาะข่าวตื้น มากว่าสิบปี ผ่านมาหลายรัฐบาล ผ่านมาหลายความเคลื่อนไหว และผ่านมาหลายเจเนอเรชัน ชื่อเขามักโผล่มาเสมอในช่วงที่การเมืองมีความเข้มข้น รวมถึงคนในครอบครัว และมักได้รับความสนใจค่อนข้างมาก
“เราช็อกมากที่มีคนจำนวนมากสนับสนุน และมีความสุขกับการที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพคนอื่น เขาดูแฮปปี้กันมาก เรารู้สึกว่าเราพูดเรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว ทำไมคนยังสนับสนุนอีก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพคนอื่น เป็นการไปละเมิดประชาชนด้วย เราเฟลจนต้องหยุดทำ เจาะข่าวตื้น ไปประมาณสองสามเดือน เพราะเราเอง และพี่สาวเรา (‘โรซี่’ – จรรยา วงศ์สุรวัฒน์) ที่เป็นไดเร็กเตอร์ของรายการ รวมถึงพ่อหมอ (ณัฐพงศ์ เทียนดี) ก็เฟลกันทุกคน หดหู่มาก”
รอยยิ้มของเขาแลดูผ่อนคลาย เมื่อผมถามเขาว่า มองภาพรวมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง ‘ชุ่มชื่นหัวใจ’ และ ‘หัวใจพองโต’ คือคำตอบของเขา
“พอเรามาเห็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษา แล้วที่ตื้นตันมากๆ เป็นพิเศษคือน้องๆ มัธยม คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวกันขนาดนี้มันทำให้หัวใจพองโต คือเราไม่กล้าที่จะเคลมเอาเครดิต แต่ก็เชื่อว่าเราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนเล็กๆ ที่อาจจะไปสะกิดความสนใจเขาในบางมุมบางประเด็นได้ หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เขาอาจเคยกดเข้ามาดูรายการ และเป็นส่วนที่ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามหรือสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว เราเลยรู้สึกว่า คนรุ่นใหม่ทำอะไร เราพร้อมสนับสนุนมากๆ”
2
ผมบอกเขาว่า หลายคนเสียดายช่วงชีวิตของวัยรุ่นจำนวนมากที่ต้องมาใช้เวลาไปกับการเรียกร้อง เขายิ้มและอธิบายว่า ในระยะเวลา 88 ปี ของการมีประชาธิปไตยที่ยังไม่เต็มใบ คือช่วงเวลาที่คนไทยเสียโอกาสของชีวิตไปเยอะ เพราะว่าโดนลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดนลิดรอนโอกาสในชีวิต จากระบบเผด็จการ ระบบพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์
“ฉะนั้นจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ตอนนี้เขารู้ว่าเขายังมีโอกาสในชีวิตอีกเยอะที่เขาจะก้าวออกไปข้างหน้าได้” เขาว่า “คนรุ่นใหม่มีโอกาสศึกษาข้อมูลต่างๆ จากการเข้าอินเทอร์เน็ต เขาได้เห็นว่าคนที่มีโอกาสในชีวิตดีๆ หรืออย่างประเทศอื่นๆ เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างไร คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่าอย่างไร คุณภาพเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ ความมั่นคงทางการเงินในชีวิต สวัสดิการสังคม ว่าง่ายๆ คือประเทศที่มันดีมันเป็นอย่างไร แล้วเขาก็หันมามองย้อนสังคมและประเทศตัวเองว่า ทำไมมันถึงยังไม่ดีขนาดนั้น เพราะฉะนั้นจุดนี้คือจุดที่เขาลุกขึ้นมาสู้
“จริงๆ แล้วเราควรสนับสนุนเขาให้มันเกิดขึ้นและสำเร็จให้ได้ เพราะเขาก็กำลังสู้แทนเรา กับสิ่งที่เราสูญเสียมาตลอดชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งถ้ามองกันตามเป็นจริงก็อาจจะต้องใช้เวลา แต่ว่าถ้าเรามีความดื้อมากพอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง เราว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้”
“เด็กบางคนบอกว่ายอมตายเพื่อประชาธิปไตย คุณว่ามันคุ้มจริงๆ เหรอ” ผมถามเขา
เขาย่นคิ้วและเบือนสายตาผ่านหลังผมออกไปที่ถนนด้านนอกร้าน ครุ่นคิดเพียงครู่เดียวแล้วก็ตอบ “เราไม่รู้ว่ามันคุ้มค่าหรือเปล่า แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่มีคนที่อาจจะต้องตายเพื่อประชาธิปไตยนะ” เขายกอเมริกาโน่ขึ้นมาจิบอีกครั้งช้าๆ เหมือนคิดบางอย่างไปด้วย ก่อนจะวางแก้วลงและสานต่อประโยคก่อนหน้า “มันน่าเศร้าไหม มันไม่ควรจะมีใครต้องตายตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ ถ้าเกิดว่ามันมีคนที่เคารพกติกา และเคารพในสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น แต่ความซวยของเราก็คือ เราดันอยู่ในสังคมที่มีคนที่ไม่แคร์เรื่องนั้น และลุกขึ้นมาทำรัฐประหาร และก็ฉกฉวยอนาคตของคนไทยทั้งประเทศไป เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง
“คือแต่ละคนก็สูญเสียกันพอสมควรกับการที่จะเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ว่าถ้าไม่เรียกร้องตอนนี้ ท้ายสุดเราก็จะโดนเอาเปรียบ โดนระบบแบบนี้กัดกินเราไปเรื่อยๆ อยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ลุกขึ้นมาตอนนี้ มันอาจจะสายเกินไปจริงๆ ก็ได้”
เขาหันกลับมามองผมด้วยสายตาแฝงแววแข็งกร้าว นัยน์ตาสีน้ำตาลอ่อนของเขาทำให้ผมขนลุกอย่างประหลาด
3
ผมย้อนกลับไปถามถึงสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกเฟลเมื่อหกปีก่อน อันเป็นภาวะความเครียดทางการเมือง (Political Stress Syndrome) และเคยประกาศในรายการที่เขาทำว่าเขาเองประสบกับภาวะโรคซึมเศร้า เขาบอกว่านั่นเป็นช่วงที่เขาเริ่มไปพบแพทย์ อดีตเน็ตไอดอลหนุ่มผู้ร่าเริงกับความซึมเศร้า คือภาพของสองสิ่งที่ต่างกันอย่างที่สุด ผมพยายามนึกตามสิ่งที่เขาพูด เขาบอกผมว่าไปพบแพทย์เพราะสังเกตดูแล้วเหมือนตัวเองอาจจะเป็นซึมเศร้า “พอไปพบแพทย์ก็ได้รู้ว่าเป็นซึมเศร้าจริงๆ ช่วงนั้นเลยเป็นช่วงของการรับยา” เขาหัวเราะ เมื่อย้อนคิดถึงเรื่องราววันวาน
เขากางศอกสองข้างตั้งมั่นบนโต๊ะ และบอกผมว่าทุกวันนี้เขาดีขึ้นมากแล้ว “ในรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมายังไม่เครียดเท่ากับหลังการเกิดรัฐประหาร เพราะเราเห็นการไปจับนักศึกษาเข้าคุก ขึ้นศาลทหาร มีการเรียกคนไปปรับทัศนคติ มันป่าเถื่อนมาก” จนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ว่ามีประชาชนอย่างน้อย 592 คนถูกติดตามคุกคามถึงบ้านหรือข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และ 191 คนถูกคุกคามหรือข่มขู่ รวมถึง 732 คนถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
“มันเกิดอะไรขึ้นกับคนรอบข้างเราในสังคม หลายคนที่เรารู้จักก็โดนเรียกไปปรับทัศนคติ คือไม่ได้กลัวนะ แต่แค่ไม่อยากเชื่อว่าเราถอยหลังกันขนาดนี้ได้เลยเหรอ ณ จุดนั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียดและความสิ้นหวังที่มันก่อตัวขึ้นมา แล้วเรามีลูกด้วย เราก็คิดว่าลูกจะโตขึ้นมาในสังคมแบบไหนกัน ในสังคมที่คนฮือฮามีความสุขกับการยึดอำนาจ มีทหารเข้ามาปกครองประเทศ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เครียดมากๆ”
ผมสงสัยว่าทำไมเขายังเลือกทำรายการหรือติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดทั้งที่มันส่งผลต่อความรู้สึก เขาคิดเล็กน้อย และตอบผมว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เขาควรจะทำอะไรให้กับสังคม “มีคนจำนวนเยอะมากที่เขาหวังว่าเราจะเป็นเสียงแทนเขา” เขาอธิบายว่าเขามีคนตามในทวิตเตอร์ ในเฟซบุ๊ก ยูทูบ หลักล้าน “เราจะไม่เป็นเสียงให้เขาเลยเหรอ กับสิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่มันวิปริต สิ่งที่มันผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ผิดหลักการ” เขาตอบเป็นเชิงคำถามที่ถามตนเอง “ณ เวลานั้น ภรรยาเราก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่า จะทำไปทำไม ทำไปแล้วเราก็เครียดมาก ป่วย ต้องไปหาหมอ อ่านข่าวแต่ละวันก็เครียด เดินเข้ามาในบ้านก็ขมวดคิ้ว
“เหมือนช่วงนั้นเป็นช่วงปรับตัว เหมือนพยายามควบคุมมันให้ได้” เขายกแก้วกาแฟขึ้นมาเล็กน้อย และเขย่าเบาๆ ระหว่างพูด เสียงก้อนน้ำแข็งใสที่กระทบกันส่งเสียงกรุกกริก ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงกลิ่นของฤดูร้อนในปีนี้ที่สังคมเพิ่งพ้นผ่านมาด้วยความยากลำบาก
“ช่วงหลังเราเริ่มดีขึ้น เพราะเราเริ่มหันไปแล้วเห็นการเคลื่อนไหวของคนในสังคมมากขึ้น เห็นคนไปลงชื่อกับ iLaw เห็นคนสนับสนุนรายการเรา เห็นนักเรียนนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว เห็นการออกมาชุมนุมใหญ่และคนเยอะมาก และเราก็มีโอกาสได้เจอกับคนในพื้นที่ที่เป็นคนรุ่นใหม่เยอะมาก ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มันทำให้เราเริ่มมองอะไรรอบข้างเป็นบวกมากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ในบ้านเมืองเราจะยังไม่ดีขึ้นก็ตาม แต่เราอย่างน้อยมันก็ก่อเกิดความหวังนะ ซึ่งความหวังมันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ความมืดหม่นของเราสว่างขึ้นได้”
เขาหัวเราะเล็กน้อย เมื่อผมถามว่า ทุกวันนี้เวลาเจอข่าวแย่ๆ แล้วเขารับมือกับมันอย่างไร “เมื่อก่อนขมขื่นนะ” เขาพูด “แต่ทุกวันนี้จะหัวเราะ และคิดว่า จะรอดูว่ามันจะตกต่ำกว่านี้ จะเละเทะกว่านี้ได้อีกแค่ไหน บางทีก็มองเหมือนเป็น dark comedy นิดหนึ่ง ดูสิว่า ท้ายสุดจะลงเอยอย่างไร จุดจบของเผด็จการจะเป็นอย่างไร”
4
“พ่อบอกให้มองเรื่องการเมืองและปัญหาสังคมเป็นเรื่องตลก”
เขายกสิ่งที่คุณพ่อของเขา (ดร. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์) เคยพูดไว้มาให้ผมฟัง ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า พยายามหาความตลกในแง่มุมที่อาจจะเป็นการประชดประชัน เสียดสี หรืออาจจะทำให้เราขำขันกับมันมากขึ้น และมองมุมนั้นแทน เขาบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะทำในรายการของเขาอย่าง Daily Topic หรือ เจาะข่าวตื้น
“ท้ายที่สุดก็คงต้องย้อนกลับไปสู่จุดเบสิก คุณพ่อเราเป็นคนที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นคนสอนรัฐศาสตร์ สอนการเมืองการปกครองไทย มันตลกแค่ไหนกับการที่เขาจะต้องมาสอนหลักการประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ทั้งที่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ในหลายๆ ยุค หลายๆ สมัย ที่เขาอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่อาจจะเป็นนายกฯ คนนอก หรือมีการยึดอำนาจ เขาก็ยังต้องสอนอยู่ว่าประชาธิปไตยคืออะไร หลักการเป็นอย่างไร
“คุณพ่อผ่านสิ่งนี้มาไม่รู้กี่ทศวรรษแล้ว” แววตาของเขาที่พูดมีรอยยิ้มซึ่งแฝงความเหน็ดเหนื่อยอยู่เบื้องหลัง “พ่อผ่านมันมาได้ด้วยการมองให้มันเป็นเรื่องตลก มองมันให้เป็นเรื่องขำขัน ซึ่งเราก็คงคิดว่าอยากจะใช้วิธีเดียวกับคุณพ่อ”
เขาบอกว่าช่วงที่ทำ Daily Topic ตอนแรกๆ เขามีความเกรี้ยวกราดมาก และอยากจะใช้รายการเป็นช่องทางในการระบาย ปลดปล่อยความโกรธเกรี้ยว ความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับทำให้เขาเหนื่อยและหมดแรง “เราเดินเข้าไปหาลูกแล้วก็เหมือน เหี้ย กูเพิ่งปล่อยพลังออกไปวะ มันไม่ได้รู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย” สุดท้ายเขาจึงเปลี่ยนรูปแบบรายการให้คล้ายกับ เจาะข่าวตื้น ที่มีการประชดประชัน เสียดสี ทำให้ขบขันมากขึ้น “กลายเป็นว่าจบรายการทุกวันแล้วมีความสุขมาก โล่งด้วย เราได้พูดในสิ่งที่เราอยากพูดด้วย”
5
อเมริกาโนของเขาขอดจนเกือบถึงก้นแก้ว ส่วนแก้วของผมเหลือแค่ก้อนน้ำแข็งที่กองอยู่เท่านั้น
ผมอยากรู้ว่าเขามีวิธีดีลกับคนคิดต่าง หรือเวลาเจอคอมเมนต์ ที่อ่านแล้วเครียดอย่างไร เขายกมือข้างหนึ่งขึ้นมาแตะเบาๆ ที่ปลายคางและนิ่วหน้าเล็กน้อยเหมือนครุ่นคิด ก่อนบอกผมว่า เมื่อก่อนเขาอยากจะไปนั่งคุยและคุยเป็นรายคน “แต่ว่ามันใช้พลังงานเยอะเกินไป แล้วเรารู้สึกว่า เราทำเยอะแล้ว เราทำรายการรายวันก็มี รายสัปดาห์ก็มี คลิปความรู้อธิบายว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร เผด็จการคืออะไร คอมมิวนิสต์คืออะไร เราทำเยอะมาก ถ้าต้องมานั่งอธิบายรายคนคงเหนื่อย เลยคิดว่า ใครที่อยากจะเสวนาหรือเห็นความคิดเห็นของเราก็ไปกดดูแล้วกัน
“มันคงไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปเปลี่ยนเขา สังคมรอบข้างน่าจะเป็นสิ่งที่นำพาความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดเขามากกว่า เมื่อสังคมมันเริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้น คนรอบข้างเขาเริ่มตั้งคำถาม ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงคนเหล่านี้เอง” ถึงตรงนี้สีหน้าเขาผ่อนคลายขึ้นมาเล็กน้อยและมีรอยยิ้มผุดจางๆ “จุดนี้ทำให้ความเครียดเราหายไปเยอะ เมื่อก่อนเราก็อ่านคอมเมนต์นะ บางทีก็ไปตอบเรียงคนเลย แต่คนดูเราหลายแสน ก็จะมีคนเหล่านี้มาบ้างมาเรื่อยๆ สุดท้ายเราตอบไม่ไหว ก็ปล่อยไป”
ผมขอคำแนะนำจากเขาว่า เราจะตามข่าวสารการเมืองอย่างไรไม่ให้อินจนกลายเป็นความเครียด สิ่งที่เขาบอกกับผมคือ การแสดงออกและมีส่วนร่วมกับความเคลื่อนไหว “เราว่ามันลดความเครียดได้เยอะนะ เพราะมันมีความรู้สึกว่าเราได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง มันไม่ใช่แค่นั่งเสพข่าวแล้วก็เห็นถึงความเน่าเฟะ ความเละเทะ ของปัญหาสังคมและการเมือง อย่างเดียว” เขาบอกว่าการออกมาเคลื่อนไหว จะทำให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว แต่มีคนรอบข้างที่เห็นไปในทางเดียวกับเรา และเชื่อในหลักการเหมือนกัน
“คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนเด่นคนดังหรือมีชื่อเสียง มันอยู่ที่จิตใต้สำนึกของคุณว่าคุณได้รู้แล้วว่าคุณได้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับความพยายามในการจะเปลี่ยนแปลง เราว่าแค่นั้นมันก็เติมเต็มคุณได้ในระดับหนึ่งเลย” เขาย้ำความสำคัญของการออกมามีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหว “ยิ่งออกมาแสดงตัวกันเยอะเท่าไหร่ อำนาจมืด อำนาจเผด็จการ อำนาจที่กำลัง dominate ประเทศไทยอยู่ตอนนี้เขากลัวนะ ทุกครั้งที่คนเพิ่มขึ้นเขาสั่นคลอนมาก เพราะฉะนั้น คือคุณอย่าคิดว่าคุณต้องกลัวฝ่ายเดียว ไอ้พวกนั้นกลัวมากกว่าอีก
“บางคนอาจจะมีความรู้สึกยิ่งแสดงออกก็ยิ่งเครียด แต่สำหรับเรา การแสดงออกคือวิธีจัดการความรู้สึกตัวเองที่ได้ผลมาก คือเรายิ่งแสดงออก เรายิ่งดีลกับมันได้ดีขึ้น พอพูดออกไป หรือได้แสดงความคิดเห็นออกไป ได้แลกเปลี่ยนกับคนรอบข้างมากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น พอเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น เราก็รู้ว่าควรจะเริ่มต้นแก้ปัญหานี้ตรงไหน และเรามีส่วนในการแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง”
เขายกอเมริกาโนที่เหลืออยู่ขึ้นมาจิบอึกสุดท้ายพร้อมรอยยิ้ม
“เราว่าการแสดงออก การส่งเสียง การได้มีโอกาสปลดปล่อยมันออกไป มันก็ดีเหมือนกันนะ”
เมื่อจบการสนทนา ผมขอบคุณเขา เขากล่าวว่ายินดีด้วยความสุภาพ หลังจากนี้เขาต้องไปถ่ายรายการต่อ การร่ำลาของเราไม่มีพิธีอะไรซับซ้อน ผมลุกขึ้นยืนและโค้งศีรษะให้เขา เขาลุกยืนและโค้งกลับเล็กน้อย ตอนที่ผมสะพายกระเป๋าหันหลังเตรียมออกจากร้าน เสียงลูกค้าโต๊ะอื่นภายในร้านเรียกเขาเพื่อขอถ่ายรูปอีกครั้ง
เขาตอบรับด้วยรอยยิ้มเช่นเคย และก้าวเดินไปยังโต๊ะนั้น