Juli Baker and Summer กับ Nowhere Girl ไดอารีของเธอในฐานะมนุษย์ และผู้หญิง

“Birds born in a cage think flying is an illness” – Alejandro Jodorowski

นกที่เกิดมาภายในกรง มองการโบยบินว่าคือความป่วยไข้

        ส่วนหนึ่งจากไดอารีของ Juli Baker and Summer หรือ ‘ป่าน’ – ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา จากคอลัมน์ Nowhere Girl ที่เธอ (เคย) เขียนให้กับ a day แม้จะได้ยินและเคยเห็นผลงานของป่านมาบ้าง แต่สารภาพว่าไม่ได้รู้จักเธอดีนัก เธอเป็นศิลปินฝีมือดี และมีชื่อเสียงในหมู่คนรุ่นใหม่ 

        กระทั่งได้มาอ่านคอลัมน์ Nowhere Girl ไดอารี (ที่ไม่ส่วนตัว) เรื่องราวที่เธอแบ่งปันออกมานั้นทำให้เราในฐานะผู้หญิงด้วยกันไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป อาจเพราะเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ต่างต้องประสบพบเจอ มีพล็อตที่ไม่แตกต่างกันมาก รวมถึงสถานการณ์ในชีวิตที่พวกเราเป็นอยู่ตอนนี้คงเรียกได้ว่าแม้ไม่เจอหน้า แต่ก็ราวกับว่าเรากำลังอยู่ใน ‘กรง’ เดียวกัน 

1
กรงขัง

        “เราชอบเขียนไดอารีมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบที่จะจดบันทึกความรู้สึกของแต่ละวันไว้ เรารู้สึกว่าการจดช่วยบันทึกความทรงจำในชีวิตเรา พอกลับมาอ่านเราก็จำความรู้สึกของตัวเองในช่วงเวลานั้นได้ เพราะเราในตอนนี้กับเราที่จดบันทึกในตอนนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นอีกคนแล้ว

        อีกอย่างการจดบันทึกช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ด้วย เพราะบางทีเราก็นึกไม่ออกว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ แต่พอได้เขียนก็เหมือนกับว่าตัวเองได้คลี่คลายความรู้สึกอะไรบางอย่างออกมา” 

        ป่านเล่าท้าวความไปยังจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอกลายมาเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ของ a day ให้ฟังว่า ตอนนั้น ‘ย้วย’ – นภษร ศรีวิลาศ ไปสัมภาษณ์เธอที่บ้านแล้วชวนให้ป่านลองเขียนหนังสือดู ภายหลังจึงออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่มในชื่อเดียวกันกับคอลัมน์ที่เธอเขียน นั่นคือ ‘Nowhere Girl’ เป็นบันทึกการไปฝึกงานที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อนจะพัฒนามาเป็นคอลัมน์ในที่สุด 

        “แล้วไม่เขินเหรอที่ต้องนำไดอารีออกมาให้คนอื่นอ่าน” – เราถาม 

        “รู้สึกเหมือนเราโป๊” เธอเอ่ยย้ำในสิ่งที่เรากำลังคิด ก่อนจะอธิบายต่อว่า “เพราะเรื่องที่นำมาเล่าในหนังสือ และบทความช่วงแรกๆ ของคอลัมน์ส่วนใหญ่เป็นบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ การท่องเที่ยว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อ่อนไหวจึงไม่ได้รู้สึกกระอักกระอ่วนเกินไปที่จะนำมาเผยแพร่” 

2
ทลายกรง 

        หากใครติดตามคอลัมน์ของเธอมาอย่างต่อเนื่องจะทราบว่า จากเรื่องราวของการเดินทางท่องเที่ยว เธอค่อยๆ เล่าเรื่องที่ไต่ระดับความเข้มข้นขึ้นไป คอยสอดแทรกประเด็นสังคมที่เป็นปมปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการโดนกดทับของเพศหญิง ความไม่เท่าเทียมในระบอบชายเป็นใหญ่ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยที่กำลังระอุขึ้นเรื่อยๆ 

        “ถ้าใครได้อ่านน่าจะได้เห็นว่าสิ่งที่เราสนใจเปลี่ยนไปเยอะมาก เราคิดว่าอีกฟังก์ชันหนึ่งที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อนนอกจากทำงานเขียนแล้วได้เงิน คืองานของเราสามารถเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่สะท้อนออกไป 

        “ศิลปะก็เป็นกระบอกเสียงอีกรูปแบบหนึ่งที่เรามีอยู่ในมือ นี่เป็นโอกาสที่เราได้รับมา และเป็นเสียงที่ดังกว่าคนทั่วไปนิดหนึ่งที่สามารถเผยแพร่ในที่สาธารณะได้กว้างกว่า เป็นอำนาจในมือที่เราได้รับมา เราก็จะใช้อย่างระมัดระวัง และเป็นประโยชน์ที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกอึดอัดเกินไป 

        “ส่วนงานเขียนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราได้เล่าเรื่องราว อาจจะไม่ได้เยอะมาก หรือดังเท่าเสียงอื่นๆ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่เราสามารถบอกถึงสิ่งที่เราสนใจ หรือประเด็นที่เราอยากให้คนอื่นมาสนใจด้วยได้” 

        กว่าเธอจะรวบรวมความกล้าได้อย่างวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสังคมที่ยังมีชุดความคิดที่กดทับการแสดงออกของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ด้วยกัน แม้ว่าเธอจะเห็นคุณพ่อต่อสู้กับสิ่งนี้มาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยตอนนั้นเธอยังไม่เห็น ‘ความหวัง’ ในการเกิดการเปลี่ยนแปลง 

        “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกรัฐประหารมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน หรือเราควรมีรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้สำหรับทุกคน เรารู้เรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อแม่พูดกันบนโต๊ะอาหารตลอด แต่เราไม่รู้สึกว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ พ่อเราทำงานนี้มาตั้งแต่เรายังเด็ก กลับบ้านดึก สละเวลาให้สิ่งนี้มาเยอะแต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เราในวัยเด็กก็คิดแบบนั้นจึงเลือกที่จะไปสนใจอย่างอื่นแทน 

        “พอเราโตขึ้น รวมถึงเกิดการเคลื่อนไหวใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นคนที่เด็กกว่าเราเขากลับมีความกล้ามากกว่าเรา มีความคิดที่ฉลาด คิดถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเขาเองเพื่อทุกคนในประเทศ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำอะไรสักอย่าง เราวาดรูปได้ เรามีคอลัมน์ของตัวเองก็เลยเริ่มเปลี่ยนมาทำอะไรมากขึ้น” 

        เมื่อมนุษย์มองเห็นความหวัง เราจะกล้าทำอะไรมากขึ้นเพราะความหวังมักมาพร้อมกับโอกาสที่เป็นไปได้ ในระยะ 2-3 ปีให้หลัง เราจึงเห็นการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมมากขึ้น จริงจังขึ้น และเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะ ‘ความกล้า’ ที่หลายคนมีมากขึ้นเพื่อสะท้อนเสียงของตัวเอง เพื่อตัวเองและเพื่อสังคมโดยรวม 

3
โบยบิน

        แฟนคลับที่ติดตามป่านเองคงได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะ และงานเขียนของเธอ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิสตรี ความเท่าเทียมที่คลุมด้วยระบอบชายเป็นใหญ่ และมุมเรื่องราวของสังคมอื่นๆ 

        “ปัญหายิบย่อยในชีวิตเราถูกยึดโยงกับโครงสร้างทั้งหมด ทุนนิยมต้องการให้เรารู้สึกว่าเราดีไม่พอ เพื่อที่เราต้องวิ่งตาม beauty standard ดังนั้น การที่ใครสักคนจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง มันมีรากมาตั้งแต่วัฒนธรรมสังคมนั้น การศึกษาที่สอนเรามา การต้องการได้รับการยอมรับ คนที่ไม่ได้เป็น beauty standard ก็เป็นประชากรชั้นสอง 

        “กว่าที่โลกจะนำเรื่องความหลากหลายมาพูดก็มีคนเจ็บปวดจากเรื่องนี้ไปมากมายแล้ว หรือการที่นายทุนเอาเรื่องความหลากหลายมาพูดแต่ก็ยังซ่อนนัยยะของการค้าอยู่ดี ดังนั้น เรื่องเฟมินิสต์ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่คือปัญหาเชิงเศรษฐกิจ การปกครองที่ทุกสิ่งต่างเกี่ยวโยงกันหมด ไม่มีเรื่องใดที่อยู่อย่างเดี่ยวๆ แต่เป็นอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่

        “แต่ในครอบครัวเราให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากๆ อะไรที่อยู่บนตัวเราแล้วไม่เดือดร้อนใครก็เป็นสิทธิของเรา พ่อแม่เราไม่ว่าเลย เมื่อก่อนเราจะได้ยินว่าเป็นผู้หญิง ‘สัก’ แล้วไม่ดี ซึ่งนั่นก็เป็นแนวคิดแบบ gender role คือจำกัดสิทธิในการแสดงออกของผู้หญิง หรือผู้ชายก็ตาม ซึ่งเราคิดว่านั่นเป็นแนวคิดที่ล้าหลังมาก และไม่ควรจะมีแล้วในยุคนี้”

4
เสรีภาพ 

        “ถ้าเปรียบการต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนว่าเราต้องคอยตะโกนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเหนื่อยก่อนจะทำอย่างไร เราพักได้ไหม” – เราสงสัย และถามเธอ 

        “เราแอบคิดว่าอาจต้องมีเวลาไปพัก เราจะไม่บังคับจนตัวเองรู้สึกแย่ เราจะหาบาลานซ์ที่เราทำได้ ต้องพยายามที่จะไม่รู้สึกผิดที่จะมีความสุขด้วย มีประโยคหนึ่งในจดหมาย 6 ตุลาฯ เขียนเอาไว้ว่า ‘ระหว่างทางไปดวงดาวให้มองแสงสว่างระหว่างทาง’ มันจำเป็นในขบวนการต่อสู้ เราจะไม่หยุด ประชาชนทุกคนต้องไม่หยุดพูดถึงความไม่ยุติธรรมในประเทศนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่เราหมดหวังแล้วเราหยุด มันก็เกม คนที่มีอำนาจก็กอบโกย ต้องไปต่ออีกเรื่อยๆ วันไหนไม่ไหวก็พัก พักแล้วก็มาสู้ต่อ” 

        สุดท้ายเธอได้กล่าวอำลาคอลัมน์ Nowhere girl ไว้ว่า “เราดีใจที่เคยเขียนให้ a day ในยุคที่มี freedom of speech แม้ประเทศนี้จะไม่ค่อยมี freedom of speech และดีใจที่เคยได้ทำสิ่งนั้นกับทีมบรรณาธิการที่เราร่วมงานด้วย” 

“แด่นกทุกตัวในกรงขัง เวลาแห่งเสรีภาพมาถึงแล้ว จงโบยบิน” – Juli Baker and Summer


เรื่อง: คุลิกา แก้วนาหลวง | ภาพ: เชิดวุฒิ สกลยา