นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

นัฐวุฒิ พูนพิริยะ: ส่องความเหงาของคนเมือง และประสบการณ์ทำหนังกับหว่องกาไว

ชายหนุ่มในชุดเสื้อเชิ้ตสีเข้มเรียบง่ายเดินผ่านโต๊ะสังสรรค์ของฝูงชนหลากวัยมากมายที่มาใช้เวลาใน The Common ทองหล่อ ยามย่ำค่ำที่แสงวาบวามของดวงไฟประดิษฐ์แต้มเติมราตรีที่กำลังจะทอดยาว โซนโอเพนแอร์ของที่นี่ถูกจับจองไปด้วยผู้คนหนาตาที่ส่งต่อบทสนทนาอย่างคึกคักระหว่างกัน และเสียงชนแก้วที่ดังมาเป็นระยะ ข้างกายเขามีสายจูงสุนัขตัวเล็กพันธุ์ปั๊กที่เลี้ยงไว้ เขาไว้ผมยาวถึงบ่าแสกกลาง ดวงหน้าฉายความเหนื่อยล้าเล็กน้อย แต่ยังมีรอยยิ้มเจืออยู่

        ‘บาส’ – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ คือผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยฝากผลงานเด่นอย่าง เคาท์ดาวน์ (2555) และ ฉลาดเกมส์โกง (2560) โดยเฉพาะเรื่องหลัง ทำให้เขาได้รับคำชื่นชมทั้งจากในและต่างประเทศ รวมถึงคว้ารางวัลอันโดดเด่นมากมาย ก่อนที่ชื่อของเขาจะหายไปพักใหญ่ แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เขากลับมาอยู่ในความสนใจของแฟนภาพยนตร์อีกครั้ง เมื่อเขาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียส่วนตัวแจ้งว่ากำลังได้ร่วมโปรเจ็กต์กับผู้กำกับระดับโลกอย่างหว่องกาไว ในภาพยนตร์เรื่อง One for the Road ที่หว่องเป็นโปรดิวเซอร์

        เขานั่งลงตรงหน้าเราและทักทายด้วยท่าทีสบายๆ ไม่เร่งรีบ ทีแรกเขาตั้งใจจะมัดสายจูงสุนัขกับขาโต๊ะ แต่ก็เปลี่ยนใจปลดสายจูงไว้ และอุ้มมันขึ้นมาบนตักแทน “มีความวุ่นวายเล็กน้อย ตั้งแต่มีหมาเข้ามาในชีวิต” เขาพูดพลางหัวเราะ “เราเลี้ยงมาจะหนึ่งปีแล้ว พอเลี้ยงก็รักและผูกพัน แต่กลายเป็นว่าเราขาดการรับผิดชอบกับสิ่งมีชีวิตแบบอื่นแทน” เพียงครู่เดียวบริกรก็เดินนำเบียร์สีเข้มกับฟองพรายปริ่มขอบแก้วมาเสิร์ฟ เขาอธิบายว่าชอบเบียร์ดำและเบียร์ประเภท IPA เป็นอย่างมาก “เราเป็นคนดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ค่อนข้างแรง และชอบกลิ่นแอลกอฮอล์แรงๆ ด้วยความเชื่อว่าถ้าไม่ได้สัมผัสถึงตรงนี้ก็ไม่รู้จะดื่มทำไม” เขาว่าพลางจ้องมองแก้วทรงสูงตรงหน้า “ยิ่งขมก็ยิ่งนึกถึงเรื่องราวที่มาที่น่าสนใจของมัน”

        ผมเชื้อเชิญให้เขาจิบเบียร์ เขายิ้มรับและขยับร่างกายที่ยังอุ้มสุนัขตัวน้อยในอ้อมกอด ยื่นมือหยิบแก้วขึ้นมาจิบอึกแรกด้วยความพึงพอใจ ก่อนหันไปกระซิบเล่นกับสุนัขที่พยายามเลียก้นแก้วเย็นเฉียบ “หนูกินไม่ได้ เดี๋ยวเมา” เขาพูดพลางเบี่ยงแก้วในมือออกห่างจากสุนัข “ขี้เมาเหมือนพ่อมันเลย” สิ้นประโยคเขาก็หัวเราะออกมา

 

นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

1

        ในปี 2560 ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius) ลงโรงฉายในประเทศไทย ก่อนกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก (New York Asian Film Festival – NYAFF) ครั้งที่ 16 ณ สหรัฐอเมริกา เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในต่างประเทศ ทำลายสถิติเดิมอย่างเรื่อง องค์บาก สร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ไทยที่สามารถคว้ารางวัลได้มากที่สุดบนเวทีรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ จำนวนทั้งสิ้น 12 รางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 และยังไม่นับรวมรางวัลจากอีกหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่คว้ามาได้

        “ต้องยกอานิสงส์ให้ ฉลาดเกมส์โกง ที่ทำให้คนเริ่มให้ความสนใจเรามากขึ้น” เขาเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโอกาสในการทำงานร่วมกับหว่องกาไว เขาบอกว่าหลังจากภาพยนตร์ออกฉาย หว่องมีโอกาสได้ชมเช่นกัน ก่อนที่วันหนึ่งจะมีโทรศัพท์ปลายสายติดต่อมาว่าหว่องอยากพบเขา และต้องการชวนมาร่วมโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ด้วยกัน “ปฏิกิริยาเราเป็นแบบนี้เลย” เขาแซวขึ้นมา เมื่อเห็นผมทำหน้าตกใจ “เพราะคุณหว่องคือไอดอลของคนทำหนังที่โตมากับยุคเก้าศูนย์แบบเรา เราโตมากับหนังเขา เรามีงานของเขาเป็นหนึ่งใน DNA แห่งแพสชันนี้ พอเขาติดต่อมาก็ตอบทันทีว่า ไปครับ” เขาพูดพลางหัวเราะ 

        ผมสงสัยว่าเขามั่นใจได้อย่างไรว่าผู้กำกับระดับโลกติดต่อเขามาจริงๆ เขาอธิบายว่า “ตอนแรกเขาให้พี่คนหนึ่งที่ชื่อพี่อู่ เป็นคนทำงานด้านเสียงให้บริษัทกันตนา ซึ่งเคยทำงานกับหว่องมาหลายโปรเจ็กต์ เป็นคนติดต่อมา เราก็คิดว่าเชื่อใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว” เขาว่า “หลังจากนั้นเราได้เจอคุณแจ็กกี้ ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์หญิงที่ทำงานกับคุณหว่องมาหลายเรื่อง ตอนนั้นเขาอยู่ไทยพอดี นั่นคือสเต็ปแรก หลังจากนั้นเราก็บินไปเจอเขาที่ฮ่องกง ตอนต้นปี 2018 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะ” พูดจบเขาก็หัวเราะ

        เขาเล่าต่อไปว่า การทำงานกับหว่องคือความท้าทายครั้งสำคัญ เขาเปรียบเทียบว่าการทำงานภาพยนตร์สองเรื่องที่ผ่านมาอย่าง เคาท์ดาวน์ และ ฉลาดเกมส์โกง เขามีโปรดิวเซอร์อย่าง ‘เก้ง’ – จิระ มะลิกุล และ ‘วรรณ’ – วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ เป็นเหมือนคุณพ่อคุณแม่ใจดี ผู้ประคบประหงมผู้กำกับในมืออย่างดี ซึ่งเขาโตมากับระบบเช่นนี้ แต่พอได้เจอหว่องก็จะมีวิธีการเลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่ง “มันมีความยาก มีความท้าทาย และกินเวลากับพลังงานในการทำงานในชีวิตไปค่อนข้างเยอะ ถือเป็นสามปีที่ในฐานะคนทำงานโปรเจ็กต์หนึ่งก็ต้องพยายามต่อสู้อย่างมาก ทั้งเราเอง ทั้งทีมคนเขียนบทที่เปลี่ยนไม่รู้กี่คน จนถึงทุกวันนี้ที่หนังตัดเสร็จแล้ว 

        “คุณหว่องจะชอบท้าทายคนทำงานให้ลองคิดในอีกทาง แล้วเขาก็จะโยนโจทย์ โยนไอเดียมาเยอะแยะมากมาย ที่ทำให้เรา off guard มากๆ ซึ่งมันทำให้เราต้องมาคิดว่า แล้วเราต้องรับคอมเมนต์ทั้งหมดนี้ไหม มันจะเกิดความงง เกิดความรู้สึกว่า เราควรจะเชื่อตัวเอง หรือควรจะเชื่อเขาในฐานะโปรดิวเซอร์” พูดจบเขาก็หัวเราะเบาๆ

        “แต่เราว่าเป็นเรื่องปกติในการทำงานกับโปรดิวเซอร์ ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มคุยกันที่เนื้องานจริงๆ และไม่ได้มีกรอบของอีโก้ทางความคิด มันก็เข้าใจกันมากขึ้น”

        ภายใต้สายตาอันเหนื่อยล้า ผมมองเห็นความโล่งใจฉายแววข้างในนั้น เขาพูดพลางขยับร่างที่อุ้มสุนัขตัวน้อยที่นิ่งงันในอ้อมแขนเขาอย่างเงียบเชียบ 

2

        แฟนภาพยนตร์ที่ได้ศึกษาวิธีการทำงานของหว่องน่าจะเคยได้ยินกิตติศัพท์เรื่องความละเอียดในการทำงาน และความเป็นอาร์ทิสต์ในการกำกับของเขาเป็นอย่างดี บาสเล่าว่าเขาเองก็รับทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี “เรามักจะได้ยิน urban legend แบบว่า บรีฟอย่างหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นมาเห็นเซตแล้วก็แก้ใหม่หมดเลย บทเขียนอะไรมาก็ไม่แคร์ คือเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ” เขาพูดพลางหัวเราะ และเล่าต่อไปว่า ในวันแรกของการพบกัน หว่องโยนโจทย์ให้เขาเป็นพล็อตเรื่องหนึ่ง หลังจากนำโจทย์นั้นมาพัฒนาเป็นหนังราวหนึ่งปี พอถึงจุดหนึ่ง หว่องมาพบเขาและพูดว่านี่ไม่ใช่ตัวเขา “I don’t think you believe in this เขาบอกว่า อันนี้ไม่ใช่ตัวยู เปลี่ยนเรื่องกันเถอะ เหมือนล้มกระดานเลย ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่” เขาแค่นหัวเราะ “คำถามคือ แล้วเราจะทำเรื่องอะไรดีวะ

        “เรามีโมเมนต์ถอดใจเยอะมาก ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้” เขาพูดพลางก้มมองสุนัขตัวน้อยที่เคลิ้มหลับในอ้อมกอดเขา “เราถามตัวเอง ถามทีมงานตลอดเวลา ว่าเอาอย่างไรกับชีวิตดี” พูดจบเขามีรอยยิ้ม และค่อยๆ ยื่นมือไปยกเบียร์ดำขึ้นจิบเบาๆ

        “คุณหว่องโยนคำถามมาว่า Who are you? คุณเป็นใคร? ซึ่งเป็นคำถามที่เราไม่เคยถามตัวเองในฐานะมนุษย์เลย เราจะรู้สึกชื่นชมผู้กำกับหนังที่สามารถเอาก้อนชีวิต ก้อนความรู้สึกของตัวเข้าไปใส่ในหนัง ซึ่งเราไม่เคยทำอะไรแบบนั้นได้ มันจึงมีความรู้สึกที่ค้างในใจเราว่า ‘ชีวิตกูมันน่าสนใจอย่างนั้นเลยเหรอ’ ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจเลย เราเป็นผู้ชายวัยสามสิบสี่สิบคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตหวือหวาบ้างในระดับหนึ่ง แต่ว่าสำหรับเรา เราไม่ได้ให้ค่ามัน เรารู้สึกว่าสตอรีนี้ ความคิดนี้ มายด์เซตนี้ ไม่ได้จำเป็นควรค่าให้กลายเป็นหนังขนาดนั้น” พูดจบเขาก็นิ่งไปครู่หนึ่ง 

 

นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

 

        “มันเลยกลายเป็นว่า วิธีการทำงานของคุณหว่องหลังจากนั้นในโปรเจ็กต์นี้ คือการที่เขาพยายามจะผลักให้เราลองทำดู คือต่อให้มึงจะไม่เชื่อว่ามีค่า แต่มึงจะทำยังไงให้มันมีค่าให้ได้สำหรับตัวมึงเองในฐานะคนทำ และกับคนดูที่ได้ดู นั่นก็เลยเป็นโปรเจ็กต์ของการพัฒนาเรื่องราวที่มาจากก้อนชีวิตของเราจริงๆ และผ่านการพาสเจอร์ไรส์ในระดับหนึ่ง จนมาเป็นเรื่องที่เสร็จเรียบร้อยในตอนนี้

        “มีแมตช์หนึ่ง จำได้ไม่ลืมเลย” เขาพูดขึ้นมาพร้อมรอยยิ้ม เลื่อนมือข้างหนึ่งไปหยิบแก้วเบียร์ดำคาไว้ในมือ และเล่าว่า หว่องเคยพาเพื่อนที่เป็นจิตแพทย์มาคุยกับเขา เพราะทั้งคู่รู้กันว่าเขาเป็นคนที่มีกำแพงเยอะ และจะไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกจริงๆ หรือมุมบางอย่างในชีวิตจริงๆ เขาเปรียบให้เห็นภาพว่า จิตแพทย์จะมาพร้อมกับคำถามที่ทำหน้าที่เหมือนค้อนปอนด์ที่ทุบกำแพงนั้นเป็นเสี่ยงๆ “เกิดมาเราไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ช็อกเหมือนกัน แต่สุดท้ายมันถูกพิสูจน์ว่าทำให้เราชนะอะไรบางอย่างลงได้ในที่สุด”

        เขายกแก้วเบียร์ขึ้นจิบและถอนหายใจเบาๆ “สุดท้ายเราคิดว่าผลงานก็ออกมาเป็นหนังที่อาจไม่ได้มีคุณค่าทางศิลปะเหมือนหนังคุณหว่องขนาดนั้น เพราะมันถูกผสมจนกลายเป็นรสชาติแบบกะเพราแบบเรา แต่อย่างน้อยเราว่ามันเป็นก้าวแรกในการค้นหาดินแดนในการทำงานด้วยมายด์เซตอีกแบบหนึ่งของผู้กำกับอย่างเรา”

3

        “พอพูดแบบนี้แล้วดูไม่น่าเชื่อเลยนะ” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อผมบอกเขาว่า เขาเริ่มต้นจากการไม่เคยเรียนทำหนัง จนกลายเป็นผู้กำกับร้อยล้าน และได้ร่วมงานกับผู้กำกับระดับโลกที่เป็นแรงบันดาลใจ

        “ตอนไปเจอคุณหว่องวันแรก แล้วเห็นเขานั่งอยู่ตรงหน้านี่แม่งขนลุกทั้งร่างเลยนะ ไม่ได้โม้เลย เชี่ย กูได้มานั่งคุยกับพี่เขาจริงๆ เหรอ แต่ว่าทำงานกันไปสองปีก็ลืมความรู้สึกนั้นไป จนเพิ่งตัดหนังเสร็จ แล้วเห็นเครดิตชื่อเรากับชื่อเขาที่มาคู่ๆ กัน ไม่นึกไม่ฝันเลย” เขานิ่งคิดและมีรอยยิ้มที่ดูพอใจ “รู้สึกว่าคุ้มแล้วกับการที่เราลงทุนเวลาในชีวิตหลังจากเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง

        “คุณชอบหนังเรื่องไหนสุดของหว่องกาไว” ผมถาม

        เขาคิดครู่เล็กๆ ก่อนตอบ “เคยคิดว่าตัวเองชอบ Chungking Express มากที่สุด แต่พอหลังๆ มาดูแล้วก็รู้สึกว่าความจริงเราชอบแค่พาร์ตเดียว คือพาร์ตหลัง เราชอบ เฟย์ หว่อง แต่ถ้าในเชิงภาพรวมทั้งหมด กลายเป็นว่าหนังที่ทำงานกับเราลึกๆ จริงๆ คือ Days of Being Wild เราว่าเรื่องนี้คือความเป็นหว่องที่ผสมและลงตัว แล้วก็สั่นสะเทือนความรู้สึกของเราที่สุด”

        เขาเล่าด้วยน้ำเสียงชื่นชมว่าชอบคาแรกเตอร์ของ เลสลี่ จาง ในบทหยกไจ๋เป็นอย่างมาก “ทำไปทำมากลายเป็นว่ามันมี DNA บางอย่างของคาแรกเตอร์ เลสลี จาง ในเรื่อง Days of Being Wild ที่มาอยู่ในตัวละครของหนังที่เราทำกับคุณหว่องด้วย ซึ่งมาแบบธรรมชาติเลยนะ” เขาว่า

        “เราเคยถามคุณหว่องว่า เขาคิดประโยคสนทนาเรื่อง ‘นกไร้ขา’ ในหนัง Days of Being Wild ได้อย่างไร มันดีมากๆ ตอนนั้นเขาหันมามองเราภายใต้แว่นดำแล้วบอกว่าอย่างไรรู้ไหม” ผมส่ายหน้า เขายิ้มและเฉลยคำตอบตนเองเมื่อครู่

         “อ๋อ ผมเอามาจาก เทนเนสซี วิลเลียมส์ (นักเขียนบทละครเวทีชาวอเมริกัน)”

4

        ผมชวนเขาขยับออกมามองภาพกว้างเรื่อง ‘ความเหงา’ ในภาพยนตร์ที่ทำงานกับความคิดของผู้ชม ภาพยนตร์ของหว่องกาไวหลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์ฝั่งฮอลลีวูด อาทิ Her หรือ Lost in Translation นั้นส่งอิทธิพลทำให้ผู้คนต่างหลงใหลกับความเหงา หลงใหลไปกับแสงสีแบบบาร์และนีออน เขาแสดงความเห็นว่า สภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้คนเหงาขึ้นมา แต่งานศิลปะช่วยทำให้ความเหงานั้นไม่ขมจนเกินไป “หมายถึงว่า พอความเหงาถูกมองผ่านจากเลนส์กล้อง ผ่านจากเสียงกีตาร์ของนักดนตรีสักคน พอถูก romanticize เราจะรู้สึกว่า บางทีถ้าเราต้องอยู่กับความเหงา ก็ทำให้มันสวยงามแล้วกัน ภาพยนตร์จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรับมือกับความเหงาในชีวิตจริงได้ดีขึ้น ซึ่งมันอาจจะเป็นหน้าที่ของงานศิลปะอีกแบบก็ได้”

        เขาเห็นด้วยที่ว่า สังคมเมืองใหญ่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ความเหงาของคนเมือง โดยยกภาพเปรียบเทียบจากสิ่งที่เขาสังเกตเห็นจากกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการ Mutual Bar บาร์ย่านพร้อมพงษ์ที่เขาเป็นหนึ่งในหุ้นส่วน “เราเปิดบาร์ด้วยความรู้สึกว่า อยากให้เป็นที่ที่เพื่อนฝูงได้คุยกัน จอยกัน แต่กลายเป็นว่า ภาพที่เราเห็นเวลาอยู่บาร์คือ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไปบาร์ ต่างคนจะต่างอยู่กับแก้วเหล้าและโทรศัพท์ในมือ แม้กระทั่งไปด้วยกัน” เขาหยุดเว้นวรรคเล็กน้อย “พอเห็นภาพนั้นบ่อยๆ ไม่ถึงกับเศร้านะ ถือเป็น new normal ที่เราต้องทำความเข้าใจ มันเป็นวิธีการรับมือกับความรู้สึกของแต่ละคน ซึ่งเราไม่อยากตัดสินใคร”

 

นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

 

        “สุดท้ายมันเป็น free will ใครทำอะไรแฮปปี้ทำไปเลย” เขาสรุป “ที่เราพูดมาเป็นแค่การสังเกตของเราเท่านั้น ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ อย่างที่บอก ขอแค่ลูกค้ามาแล้วเขาแฮปปี้ด้วยวิธีการบางอย่าง จะเป็นเครื่องดื่ม จะเป็นการคุยกับเพื่อนที่มาด้วย จะเป็นการได้อัพ IG Story จะเป็นการคุยกับบาร์เทนเดอร์หล่อๆ ได้หมด แต่ขอแค่ ณ เวลาที่เขาอยู่ในบ้านเรา เขาจะต้องมีเวลาที่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” พูดจบเขามีรอยยิ้ม และยกเบียร์ดำขึ้นจิบอีกอึก

        เขาเล่าต่อไปว่า ส่วนตัวเขาเอง การดื่มในยุคหลังจะเป็นการดื่มกับตัวเอง หรือหรือชวนเพื่อนไปแค่หนึ่งหรือสองคน “เราดื่มโดยหวังว่าแอลกอฮอล์ในเหล้าจะไปเปิดโสตประสาทบางอย่างที่ทำให้เราตกตะกอนกับสิ่งที่เราเจอในชีวิตที่มันเข้ามาเร็วมากในแต่ละวัน จนเราไม่มีเวลาตกตะกอนกับมัน” เขาว่า “สำหรับเราการไปนั่งบาร์ ณ ปัจจุบัน คือการเข้าไปนั่งกินไวน์สักแก้ว กิน Old Fashion สักแก้ว ตกตะกอน อยู่กับตัวเอง และใช้เวลา”

        “ไปถามน้องๆ ที่ร้านได้ บางทีเราก็นั่งของเราคนเดียว นั่งจิบ มองบรรยากาศ มันเป็นช่วงเวลาพักทางร่างกายและจิตวิญญาณ ฟังดูดัดจริตมากเลยนะ” พูดจบเขาก็หัวเราะออกมา

        ผมอยากทราบว่าสิ่งที่เขาตกตะกอนยามนั่งครุ่นคิดอยู่กับตัวเองคืออะไร เขาตอบกลับมาทันทีว่าเรื่องงาน “เรื่องส่วนตัว หรือเรื่องชีวิต ความรัก เราไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้มีปัญหากับมุมเหล่านั้น ทุกวันนี้สิ่งที่เรากำลังพยายามจะเอาชนะในชีวิตส่วนมากเป็นเรื่องงาน”

5

        เบียร์ดำพร่องลงไปสามในสี่ พรายฟองสีขาวขุ่นเกาะเคลือบขาดวิ่นเป็นช่วงๆ บนขอบแก้ว ยิ่งขยับใกล้ราตรี บรรยากาศรอบข้างยิ่งคึกคัก แต่ในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าก็มีอีกหลายคนพอใจจะนิ่งและใช้ความคิดเงียบๆ อยู่ในมุมของตัวเอง โดยไม่สนใจเสียงอื่นใดรอบข้าง

        บาสเล่าว่าเขาเป็นคนที่อาจจัดอยู่ในกลุ่มอินโทรเวิร์ต วิสัยปกติเขาไม่ใช่คนที่กล้าชวนคนอื่นพูดคุยมากนัก แต่การเปิดบาร์ทำให้เขามีโอกาสคุยกับผู้คนมากขึ้น “บางทีเป็นลูกค้าประจำที่มาหลายครั้งจนเราเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย พี่เขามาอีกแล้ว หรือคุยกันแล้วคลิกกันจนกลายเป็นเพื่อนกันไป เราว่าการเปิดบาร์แก้ปมของเราได้ในระดับหนึ่ง 

        “เราเป็นผู้กำกับที่เหี้ยมากเลยนะ” เขาเปิดปากเล่าขึ้นมา “เคยพูดกับใครไม่รู้ บอกว่า ยิ่งทำงานเยอะขึ้นยิ่งเพื่อนน้อยลง เราเคยเริ่มมาจากการเป็นผู้กำกับหนังสั้นแล้วชวนเพื่อนมาทำงาน เพื่อนที่ทำงานเหล่านั้น พอเราเริ่มมีโอกาสทำงานในเรื่องต่อๆ ไป คนเหล่านั้นก็ตามเรามาทำงานในสายงานต่างๆ แต่กลายเป็นว่า พอยิ่งทำงานเยอะขึ้น ความสุดโต่งบางอย่างของเราในการทำงาน กลายเป็นว่ามันก็ทำให้เราสูญเสียคนเหล่านั้นในชีวิตไป โปรเจ็กต์ละคนสองคน แล้วทุกวันนี้เพื่อนเก่าไม่เหลือแล้ว” เขาหัวเราะ และทิ้งช่วงเงียบครู่เล็กๆ “แต่เราต้องทำความเข้าใจกับตัวเองว่า มันเป็นสิ่งที่เราแลกมาด้วยความเชื่อว่าจะทำให้การทำงานของเรา หรืองานของเราที่ออกมาเข้มข้นและดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”

        เขาเล่าต่อด้วยท่าทีผ่อนคลายว่า การมีเพื่อนน้อยลงอาจไม่ได้ทำให้เขาเหงาหรือโดดเดี่ยวเท่ากับความรู้สึกผิด ที่วิธีการทำงานบางอย่างของเขากลับผลักให้คนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเดินออกไป “แต่ด้วยความเป็นคนอินโทรเวิร์ต เราเลยเป็นคนที่ค่อนข้างอยู่กับตัวเองได้ดี ก่อนหน้านี้ ถ้าไม่มีหมา ไม่มีแฟน เราก็ออกไปนั่งดริงก์คนเดียว ดูหนัง ไปต่างจังหวัดคนเดียว เราก็โคตรมีความสุขเลย ดูเป็นคนเพี้ยนไหม” เขาว่าและหัวเราะ “เราคิดว่าเราดีลกับความรู้สึกเหล่านี้ในชีวิตด้วยตัวเองได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากใครเยอะ”

6

        “สำหรับคุณ ความเหงาเป็นสิ่งที่โรแมนติกเหมือนในหนังไหม” ผมเอ่ยถามเขา เขานิ่งคิดอยู่ครู่ใหญ่ทีเดียว

        “เราว่าไม่หรอก” เขาเปิดปากตอบในที่สุด “แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่คุณจะ handle กับความเหงาในชีวิตคุณ จะ handle ให้โรแมนติกก็ได้ ถ้าทำให้คุณแฮปปี้ คุณก็ทำไป แต่สุดท้ายแล้วตัวก้อนความเหงา มันเป็นความรู้สึก negative ของชีวิตมนุษย์ ที่ถ้าเลือกได้คนคงไม่อยากจะเลือกให้มีความรู้สึกนี้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เราว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ handle มันอย่างไร ก้าวข้ามผ่านมันไปได้อย่างไร” เขาอธิบาย

        “เวลาเจอปัญหา เจอก้อนความเหงา เราจะนอนกอดมันร้องไห้อยู่คนเดียวแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น หรือเราจะใช้มันเป็นลูกบอลที่ bounce เราไปสู่สิ่งอื่น” เขากล่าว “ถ้าเราสามารถสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน เป็นมุมมองในชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นการพาตัวเองไปเจอคนใหม่ๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าทำสิ่งนั้นได้ ความเหงาจะโรแมนติกขึ้นมาทันที

        “สุดท้ายมันเป็นเรื่องทางสายกลาง แฮปปี้มากไปก็ไม่ดี เศร้ามากไปก็ไม่ดี ชีวิตก็ประมาณนี้แหละ ชีวิตคือค่าสี grey scale คุณจะผลักไปทางไหน ขึ้นอยู่กับวิธีการ handle เลย” เขากล่าวสรุป

 

นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

 

        ในภาพยนตร์เรื่อง Chungking Express นายตำรวจ 663 ที่แสดงโดยเหลียงเฉาเหว่ย มักจะพูดคุยกับตุ๊กตา สิ่งของ และเสื้อผ้าของคนรักเก่าในอพาร์ตเมนต์แคบๆ ติดกับบันไดเลื่อน Central Escalator เสมอ ยามที่นึกย้อนถึงเรื่องราวเก่าๆ เพื่อบรรเทาความเหงา ผมอยากรู้ว่าผู้กำกับอย่างเขาเองมีวิธีจัดการอย่างไร เมื่อเผชิญหน้ากับความเหงา

        “ถ้าเหงาจริงๆ วิธีแก้ของเราคือไปต่างจังหวัดเลย” เขาตอบ “เราจะขับรถไปคนเดียว จังหวัดไหนก็ได้ที่เรารู้สึกคุ้นเคย ไปหาบาร์นั่งดื่ม อ่านหนังสือ ดูเน็ตฟลิกซ์ กินอะไรไปเรื่อยๆ

        “แต่ที่พูดทั้งหมดคือชีวิตก่อนมีหมานะ” เขาพูดและหัวเราะ “พอมีหมาก็กลายเป็นว่า จะแฮงเอาต์ไม่ได้ หมาอยู่บ้านตัวเดียว กลับบ้านดีกว่า” 

        เขายกเบียร์ดำขึ้นจิบอีกอึกก่อนวางลงบนโต๊ะ เบียร์ดำยังหลงเหลืออยู่ที่ก้นแก้ว แต่ดูเหมือนจะเพียงพอแล้วสำหรับเขาในค่ำคืนนี้ 

        ในตอนนั้น เขาปลุกสุนัขตัวน้อยที่หลับอยู่บนตักเขาและหยอกเล่นกับมัน เรามีบทสนทนากันอีกเล็กน้อย ดูเหมือนว่าราตรีนี้จะยังอีกยาวไกลสำหรับหลายๆ คน และสำหรับบางคน อาจถึงเวลาต้องหยุดพักกับวันอันแสนเหน็ดเหนื่อยด้วยการกลับสู่อ้อมกอดของสถานที่พักใจ

        เราล่ำลากัน เขาอุ้มสุนัขตัวน้อยเดินจากไปเชื่องช้า ผ่านผู้คนที่ยังไม่สร่างกับฤทธิ์ของแอลกอฮอล์

        ไม่นานนัก เขาแชตกลับมาหาผมว่า

        “ลืมสายจูงสุนัขไว้ที่ขาโต๊ะ รบกวนเอาลงมาให้ที่รถที”