พงษ์สรวง คุณประสพ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากปาร์ตี้ และนับถอยหลัง 2 ปีสุดท้ายก่อนถึงงานเลี้ยงอำลาของ โน้ต DUDESWEET

‘โน้ต’ – พงษ์สรวง คุณประสพ หรือที่แวดวงนักปาร์ตี้รู้จักกันในนาม ‘โน้ต DUDESWEET’ ก้าวเดินขึ้นบันไดมาด้วยท่าทีเร่งรีบแต่มั่นคง เสียงรองเท้าของเขากระทบพื้นไม้ชั้นสองของร้านดังกึกกัก สายตามองตรงมายังโต๊ะที่ผมยืนอยู่ พร้อมเอ่ยทักทายผมด้วยความเป็นมิตร เขาแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว กางเกงขายาว มีลูกเล่นเป็นสายเอี๊ยมลายทางยาวสีขาวดำพาดข้ามไหล่สองข้าง ติดโบหูกระต่ายประดับตรงปกคอเสื้อ และสวมรองเท้าผ้าใบสีน้ำเงิน ดูเหมาะกับรสนิยมสนุกๆ แบบฉบับของผู้ก่อตั้ง DUDESWEET ทรงผมที่ไม่ได้จัดให้เข้าที่ทำให้เขาดูเป็นธรรมชาติและไม่เนี้ยบจนเกินไป เข้ากับบรรยากาศร้าน A Fox Princess Kitchen ร้านอาหารอิตาเลียนและไวน์บาร์ที่เขานัดผมมาวันนี้

        บริเวณชั้นสองของร้านตกแต่งแบบดิบๆ ด้วยผนังปูนเปลือย เฟอร์นิเจอร์ไม้ เชิงเทียน รูปศิลปะ และไฟนีออนที่ดัดเป็นตัวหนังสือ เขาก้าวผ่านผนังร้านฝั่งหนึ่งที่มีรูปวาดอีกาสีดำขนาดใหญ่ มีตัวหนังสือสีแดงเขียนทับว่า ‘THE MORNING CROW’ และหันมองโดยที่ยังไม่ได้หยุดก้าวเดิน พร้อมเอ่ยกับผมว่า “นี่งานของเราเอง” เมื่ออยู่ในระยะใกล้กัน ผมได้กลิ่นน้ำหอมจางๆ จากเขา

        เมื่อเขานั่งลงที่โต๊ะอาหารขนาดยาวใกล้ๆ ตู้ไม้คลาสสิกที่มีขวดไวน์ชั้นเลิศหลากชนิดเรียงอยู่ บริกรหนุ่มจัดผมเรียบแปล้เดินเข้ามารับออร์เดอร์ เขาสั่งโค้กซีโร่ และจินกับโทนิก “เอาเป็น Gordon’s นะ” เขาพูด เมื่อบริกรหันหลังกลับไป ราวกับนึกขึ้นได้ เขาส่งเสียงเรียกตามหลัง “ขอน้ำเปล่าด้วย” 

        เขาเริ่มเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องที่เปิดบาร์แบบป๊อปอัพชื่อ ‘Mischa Cheap’ (มิจฉาชีพ) ย่านอารีย์ ในช่วงก่อนหน้าที่ยังจัดปาร์ตี้ไม่ได้ เพราะเหตุการณ์โควิด-19 พลางหยิบกระป๋องโค้กตรงหน้ามาเปิดฝา และรินลงในแก้วใส “แต่ตอนนี้รู้สึกผิดมากๆ เลยที่เปิด กูอยากให้จบๆ เร็วๆ นี้ สามเดือนที่ผ่านมาแม่งแดกเหล้าตลอดเวลา แดกทุกวัน ตีสี่ตีห้าไม่เลิก” เขาพูดพร้อมหัวเราะ และยกโค้กขึ้นจิบ “แต่ว่าก็สนุกดี เพราะได้เจอคนใหม่ๆ เยอะแยะ มีน้องๆ มานั่งคุยเรื่องการเมือง แต่ก็ทำให้ไม่ได้เจอใครเลย เพราะว่าต้องนั่งเฝ้าร้านตัวเอง แต่ตอนนี้เหมือนคนเริ่มออกเที่ยวกันแล้ว เราก็อยากจะออกไปบ้าง

        “ที่น่ากลัวคืออะไรรู้ไหม” เขาเอ่ยขึ้นมาไม่เชิงเป็นคำถาม “พอเปิดบาร์ปุ๊บ เพื่อนสมัยยุคก่อตั้ง DUDESWEET ก็มาช่วยงาน พอมาคนหนึ่ง การรวมตัวก็เริ่มทยอยมา เหี้ย… กูแดกเหล้ากันเป็นน้ำเลย ตอนนี้เราอายุสี่สิบกันแล้ว เมื่อช่วงที่ผ่านมาตอนหยุดยาวเป็นอะไรที่โหดสุดๆ มีเพื่อนมาค้างที่บ้านเราสองสามคน มาช่วยขายเหล้าด้วย พอเสร็จก็กินเหล้ากันถึงเช้า เราก็เข้าไปนอน ตื่นมาบ่ายสอง เปิดประตูออกมา มันยังนั่งกินเหล้ากันอยู่เลย” เขาพูดและหัวเราะเสียงดัง “เริ่มต้นวันด้วยการกินเหล้า ข้าวปลาไม่ต้องกิน แล้วก็วนอยู่อย่างนี้สี่วัน 24 ชั่วโมง ไม่รู้มันทำได้ยังไง ถ้าเป็นอย่างนี้ยาวๆ คงไม่ไหวเหมือนกัน เลยคิดว่าปิดบาร์สิ้นเดือนนี้ก็ดีเหมือนกัน”

        พูดจบ บริกรก็นำจินกับโทนิกที่มีมะนาวฝานบางๆ ในแก้วแบบโอลด์แฟชั่นมาวางตรงหน้า พร้อมน้ำเปล่าอีกแก้ว ตอนนี้มีเครื่องดื่มสามชนิดตรงหน้าเขาเรียบร้อยแล้ว

 

พงษ์สรวง คุณประสพ

1

        เขาเอียงหน้าและครุ่นคิดเล็กน้อย เมื่อผมขอให้เขาลองทวนความทรงจำย้อนกลับไปในปี 2002 ที่เขาเริ่มจัดปาร์ตี้ DUDESWEET เป็นครั้งแรก ผมอยากรู้ว่าความเข้มข้นของบรรยากาศวัยรุ่นในช่วงนั้นเป็นอย่างไร “ตอนนั้นฮิปฮอปพวก เจนิเฟอร์ โลเปซ กำลังดัง” เขาพูดและฮัมเพลง Waiting For Tonight ขึ้นมา “คลับที่เราเคยไป หรือพวกบาร์ที่เคยเปิดเพลงร็อกก็เลิกเปิดกันแล้ว เราเลยต้องมาทำปาร์ตี้กันเองโดยไม่ได้คิดว่ามันจะต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 18 แล้ว”

        “มันเริ่มจากความสนุก” เขายกมือสองข้างขึ้นมาเท้าคาง “ตอนนั้นพวกเราเด็กศิลปากรเช่าบ้านกันอยู่หลายคน และมีเพื่อนจากลาดกระบังกับที่อื่นๆ มาอยู่กันเยอะ บ้านเราจะคล้ายๆ สโมสรนักศึกษา ช่วงวันหยุดจะมีคนมาอยู่ประมาณ 20 คน คล้ายๆ ตอนนี้เหมือนกัน” เขาหัวเราะและกางนิ้วทั้งสิบลูบไปมาบนใบหน้า “พอมองย้อนไปก็รู้แล้วว่าทำไมความรู้รอบตัวพวกเราเยอะ เพราะตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต เราก็อ่านหนังสือกัน คือการรวมตัวของเราจะเป็นการรวมตัวของเด็กจนๆ ความบันเทิงของเด็กจนๆ ที่หาง่ายที่สุดคือหนังสือ เราเลยอ่านหนังสือ กินเหล้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตั้งแต่ คาร์ล มาร์กซ์ อะไรสารพัด

        “เราบอกได้ว่ามันดิบกว่าตอนนี้เยอะ ลักษณะปาร์ตี้ที่เราจัดตอนนั้นจะงงๆ เพราะเราไม่รู้ เราไม่มีใครเป็นต้นแบบว่าทำอย่างไร เราก็ทำของเราไป ไม่คิดว่ามันจะเป็นรูปแบบที่เป็นปาร์ตี้เคลื่อนที่ หรือไม่มี strategy ใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่สนใจด้วยว่ามันจะดีหรือเปล่า” เขายกโค้กจิบเล็กๆ และเอนตัวไปข้างหลัง “เราแทบจะไม่ไปปาร์ตี้อื่นเลย เพราะสำหรับเรารู้สึกว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนั้นคนเขาก็ไปกันเยอะแยะ ฮิปฮอปอะแก อีกอย่างคือรุ่นเรา คนที่ชอบดนตรีร็อกจะมีการเหยียดกัน ไปหาดูเถอะ บทสัมภาษณ์นักดนตรีเก่าๆ เขาก็ด่าดนตรีแนวอื่นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดคุณฟังเพลงร็อกคุณจะต้องไม่ชอบฮิปฮอป นึกออกไหม จะต้องแบบ อี๋ Eminem แต่พอนั่งรถเมล์ไปทำงานนี่ฟังระงมเลยนะ แค่ห้ามเผยตัว” เขาหัวเราะเสียงดังอีกครั้ง

        “เราเลยไม่ยุ่งกับโลกใบอื่น กับดนตรีแนวอื่นเท่าไหร่ แต่พอโตมาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องงี่เง่าจัง” พูดจบ เขาหลับตาลงและเปลี่ยนมายกจินกับโทนิกขึ้นมาจิบ เขามีรอยยิ้มที่มุมปากเล็กๆ ราวกับนึกเยาะหยันตัวเองในอดีต

2

        “ในยุคนั้น หลังเสร็จปาร์ตี้ตอนกลับมาอยู่เงียบๆ คุณคิดอะไร” ผมถาม

        “เมื่อก่อนไม่มีเลย” เขาตอบทันที

        เขาอธิบายให้ผมฟังว่า ในยุคนั้นหลังปาร์ตี้เสร็จเขาจะจบด้วยการนอนที่โดยที่ไม่รู้ตัว “ตื่นมาก็ อ้าว ฉิบหาย บ้านใครเนี่ย เราจะไม่มีเวลา calm down แต่จะมีช่วงแฮงก์วันรุ่งขึ้น” เขาพูดพร้อมหัวเราะ “คือชีวิตมีความสุขก็ไม่ได้คิดถึงอนาคตไง ไม่เหมือนตอนนี้ พอเป็นผู้ใหญ่เราจะต้องคิดเรื่องประชุมพรุ่งนี้

 

พงษ์สรวง คุณประสพ

 

        “ตอนนี้หลังช่วงปาร์ตี้จะเป็นการนั่งนิ่งๆ กับเพื่อนในวงเหล้ามากกว่า เพื่อนกินเหล้าก็น้อยลงด้วย พอกลับบ้านปุ๊บความผิดบาปต่างๆ นานา ความทุกข์ระทมในชีวิตเบื้องลึกก็จะปรากฏมาตอนประมาณเจ็ดโมงเช้า หรือก่อนหน้านั้นนิดหนึ่ง แล้วก็จะตั้งสเตตัสทุกอย่าง” เขาขยับมือไม้ตามคำพูด “พอตื่นมาอีกทีบ่ายโมง ฉิบหายแล้ว กูพิมพ์อะไรไปวะ รีบหยิบมือถือมาแล้วก็ลบเลย แต่ระหว่างนั้นไม่รู้โดนแคปโดนแชร์ไปหรือยัง แต่ไม่สนหรอก”

        เขาบอกผมว่าสิ่งที่เขาหงุดหงิดจนต้องวิจารณ์คือเรื่องของสังคม และความงี่เง่าที่ต้องเจอ “แต่ตอนนี้เรามีปรัชญาของ เคต มอส เข้ามาในชีวิต” เขายิ้มเมื่อพูดถึงนางแบบชื่อดังชาวอังกฤษ “คือเราจะใช้ชีวิตแบบ no complain, no explain” เขาอธิบายว่าตนเองทำเช่นนั้นอยู่หลายปี โดยวิธีการคือพยายามไม่เขียนอะไรบนเฟซบุ๊ก นอกจากแชร์รูปสัตว์ หรือสิ่งที่เป็นแง่บวก เขาบอกว่า เฟซบุ๊กเป็นแหล่งรวมความเนกาทีฟของโลกใบนี้ที่ใหญ่ที่สุด “เดี๋ยวนี้คนเซนซิทิฟ พูดนิดๆ หน่อยๆ ก็ขุ่นเคืองไปหมด มันเป็น cancel culture ที่น่ารำคาญ ทุกอย่างต้อง PC (Political Correctness) ความมีอารมณ์ขันในสังคมมันหายไปไหนไม่รู้”

        ถึงตอนนั้น บริกรนำเค้กสองชิ้นที่เขาสั่งก่อนหน้ามาเสิร์ฟ หนึ่งในนั้นเป็น Lemon Choc Meringue ที่ผมชอบ เขาชักชวนผมและช่างภาพให้ลองชิมด้วยกัน ก่อนที่เขาจะพาย้อนกลับมาที่คำตอบเรื่องโมเมนต์การนั่งนิ่งๆ หลังปาร์ตี้ และการกลับมารวมตัวกับกลุ่มเพื่อนในช่วงนี้อีกครั้ง “ถ้ามึงนั่งรำลึกกันริมทะเลแล้วสองทุ่มเข้านอนกูจะไม่ว่าหรอก แต่นี่คือมารำลึกกัน 24 ชั่วโมงเป็นเวลาห้าวันติด แม่งกลับไปเหมือนตอนอยู่บ้านที่เริ่มทำ DUDESWEET เลย” เขาพูดพลางตักเค้กเนื้อเนียนส่งเข้าปาก “ปกติในวงสนทนาเราชอบคุยเรื่องศิลปะ” เขาว่า “เรามีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือและความทรงจำดีมาก เขาสามารถเป็นอาจารย์สอนเรื่องศิลปะไทยได้เลย เราจะคุยกันเรื่องตั้งแต่ไอ้ไข่ยันวิธีผสมสีของฟานก็อกฮ์ แถมระหว่างนั้นก็คุยเรื่องการปกครอง กลับไปถึงยุคพระเจ้าอู่ทองเลย”

        เขายกน้ำเปล่าเย็นเฉียบขึ้นจิบ “แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยคุยกันคือเรื่องอนาคต มันอาจจะเป็นเรื่อง taboo แบบว่าอย่าพูดถึง กินเหล้าไป” พูดจบเขาก็หัวเราะขึ้นมา 

        “คือพวกเราใช้ชีวิตแบบไม่มี strategy ตั้งแต่วันแรกที่เกิดมาแล้วมั้ง แม้แต่ตัวเราเองก็เกิดมาแบบไม่มี strategy คือแม่เราไปท้องกับผู้ชาย ผู้ชายหนี สุดท้ายก็เกิดเป็นเรา ถ้าแม่มี strategy แม่ต้องหาผู้ชายที่มีการศึกษา มีฐานะหน่อย ลูกจะได้สบายใช่ไหม” เขาหัวเราะและถอนหายใจเล็กน้อย “แล้วคนแบบนี้แม่งมาเจอกัน คือเพื่อนในกลุ่มก็มีปัญหาครอบครัวเต็มไปหมด เราเลยอยู่ด้วยกันได้ ตอนทำ DUDESWEET มันก็เป็นปาร์ตี้ที่ไม่มี strategy นะ คือตอนนี้คนที่เริ่มทำปาร์ตี้แบบ DUDESWEET เขาอาจจะคิดถึงเรื่องสปอนเซอร์มาก่อน แต่เราไม่เคยคิดถึง จนสี่ปีต่อมามันเข้ามาเอง” 

        เขาลดน้ำเสียงจริงจัง และอธิบายว่า คนสมัยนี้ชอบมีคำว่า disrupt แต่คนรุ่นเขา หรือชาว DUDESWEET เกิดในยุคที่จิตวิญญาณของพังก์อยู่ในอากาศ อยู่ในคลับที่ไป อยู่ในเพลงที่ฟัง อยู่ในเสื้อผ้าที่ขาย อยู่ในหนังสือที่อ่าน ซึ่งปลูกฝังคนรุ่นเขา “เราจะชอบคำว่าพังก์มากกว่าคำว่า disruptive” เขาบอกว่าเป็นเพราะ disruptive เป็นคำที่มาพร้อม strategy และเป็นคำที่คิดเรื่องเงินเป็นหลัก “แต่พังก์จะเป็นเรื่องของการ do it yourself นอกจากนั้นคือ ทำไปก่อนค่อยคิด” ถึงตรงนี้เขามีรอยยิ้มที่มุมปากเล็กน้อย “พอเป็นแบบนั้น เราก็จะได้ความสนุก ดังนั้น พวกเราจะเป็นเจอเนอเรชันโง่เขลาที่สนุก และสนุกทุกขณะเสมอ แต่ว่าโชคดีว่าพวกเรามีภูมิต้านทานความผิดหวัง มันก็เลยโอเค” เขายกจินโทนิกขึ้นมาจิบอีกครั้ง และหัวเราะเนิ่นนาน

3

        ผมชวนเขาคุยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของการจัดปาร์ตี้ DUDESWEET มา 18 ปี เขาบอกผมว่ามันเปลี่ยนไปเยอะ จากที่เคยป๊อปมาก ตอนนี้กลับมีคนไม่ค่อยเยอะแล้ว “เราไม่ค่อยมีปัญหากับคนเยอะไม่เยอะ คนเยอะก็ดี สนุกกว่า แต่อยู่ที่ว่าเยอะแบบไหนด้วย” ที่เขาพูดแบบนั้นเพราะ DUDESWEET เคยมียุคที่คนมาเยอะมาก หากแต่เป็นปริมาณที่น่าตั้งคำถาม เพราะคนที่มาหลายคนไม่ได้ชื่นชอบ ซึ่งทำให้บรรยากาศโดยรวมของปาร์ตี้จัดการยาก

        เขาบอกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของแนวดนตรี โดยเฉพาะร็อกที่เขาบอกว่ามันตายไปพักใหญ่แล้ว “เราเคยรอให้มันกลับมา มันก็ไม่กลับมาสักที” เขายกแก้วโอลด์แฟชั่นที่บรรจุจินโทนิกสีใสขึ้นมาเขย่าเบาๆ ตรงหน้า มะนาวฝานบางในแก้วขยับเนิบนาบ “เราพูดแบบนี้ปุ๊บ ก็มีคนบอก เฮ้ย มันกำลังจะกลับมาแล้ว ตอนนี้ก็มีวงเด็กๆ เขาทำมากมาย แต่เราคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้นหรอก” เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องของแพสชันที่เปลี่ยนไป ยุคสมัยที่เปลี่ยน ทำให้อุปกรณ์หลากหลายขึ้นและง่ายดาย ทุกคนสามารถทำแชนแนลตัวเองได้ แพลตฟอร์มมีให้เลือกหลากหลาย เขาชี้ให้ผมเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นทำให้เราแทบไม่จำเป็นต้องดิ้นรนอะไรมาก คิดแค่เรื่องให้มีชื่อเสียงดังก่อนก็พอ 

 

พงษ์สรวง คุณประสพ

 

        “คำว่าร็อกเขาไม่ได้นึกถึงไลฟ์สไตล์อีกต่อไปแล้ว เขานึกถึงแต่เสียง นึกถึงภาพการแต่งตัว” เขาพูด “แต่สำหรับเรา ร็อกคือทุกอย่าง เราว่ามาดอนนาก็เป็นร็อก บริตนีย์ สเปียรส์ ก็ร็อก มันเป็นการตอบโต้สังคมบางอย่าง แต่ตอนนี้ดนตรีที่ฟังก็เบาลง จางลง อย่างหนึ่งก็เพราะวัฒนธรรมการดื่มมันเปลี่ยนไป อย่างเช่น ตอนเราเรียนอยู่ไม่มีโครงการโรงเรียนสีขาวไง เราก็โตมากับอะไรไม่รู้ พอเราจบมาได้ปีหนึ่ง ช่วงประมาณปี 2003 ที่โครงการนี้ออกมา มันทำให้มหาวิทยาลัยไม่มีเหล้าขายแล้ว คนก็เรียบร้อยกันมากขึ้น”

        “แล้วดูเราตอนนี้สิ บ่ายสองแม่งนั่งแดกจินโทนิก” เขาพูดและหัวเราะ พลางเขย่าน้ำสีใสในแก้วก่อนยกขึ้นจิบ

        ผมสงสัยว่า เช่นนั้นแล้ว การจัดปาร์ตี้ในยุคนี้ยังเป็นสิ่งสนุกอยู่ไหม เขาครุ่นคิดเล็กน้อย “มันสนุกอยู่” เขาตอบ “ก่อนนั้นไม่สนุกเพราะเรารู้จักทุกปุ่มหมดแล้ว ทุกปุ่มในที่นี้หมายถึง ปุ่มบนคอนโทรลเลอร์ ปุ่มที่ว่าต้องเสริมบรรยากาศอย่างไรเข้าไป อย่างเช่นว่า ตอนนี้คนดาวน์ เราก็กดปุ่มนี้ ซึ่งอาจเป็นเพลงที่เวิร์ก หรือหยิบไมค์มาพูดอะไรขำๆ หรือปิดเพลงเลย แล้วก็ถามไปว่า ‘มึงจะเอายังไงกัน’” เขาวางแก้วลง และเริ่มทำท่าทางตามคำพูด เช่น พูดใส่ไมค์ในอากาศ หรือบิดปุ่มอากาศ 

        “เมื่อก่อนมีช่วงที่ปาร์ตี้กลายเป็นการทำงาน เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เรารู้สึกว่าปาร์ตี้มันเริ่มจากการที่กูอยากเปิดเพลง กูอยากเจอเพื่อน แล้วก็ได้เจอ ได้ฟังเพลง แต่หลังๆ มันกลายเป็นแบบ คนมาเต็มฟลอร์ แต่ครึ่งหนึ่งของฟลอร์เป็นคนไม่รู้จัก แล้วพอเขาไม่ชอบก็เอาไปเขียนด่า เราก็เขียนด่ากลับไป โห มันเสียเอเนอร์จี้ในการทะเลาะกับคนเยอะมากเลย” เขาเปลี่ยนมาเป็นท่าเท้าคางบนโต๊ะอีกครั้ง 

4

        ผมอยากรู้ว่าสิ่งที่เขาบอกออกมาว่าปาร์ตี้ DUDESWEET ในยุคนี้คนไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อนนั้น ทำให้เขามองเห็นภาพสะท้อนหรืออะไรบางอย่างของวัยรุ่นยุคนี้บ้าง สิ่งที่เขาเชื่อมโยงให้ผมเห็นคือเรื่องของดนตรี เขาตอบกับผมตรงๆ ว่า “เพลงป๊อปยุคนี้ไม่ได้เรื่องสักเพลง” และอธิบายว่าทุกเพลงเหมือนดีไซน์มาเพื่อประกอบสไลด์โชว์ในงานแต่งงานเท่านั้น “ถ้าลองไปมองคลับหรือบาร์ตอนนี้ที่คนไปเยอะๆ ที่เขาเปิดเพลงไทย มันเป็นเพราะอะไร อาจจะเพราะพี่ใหม่ พี่ติ๊นา พี่มาช่า เขาทำอะไรไว้ดีสักอย่าง ซึ่งพอมาคิดอีกที ในขณะที่พี่ติ๊นาเต้นนินจา เขาก็มีความเกรี้ยวกราดของเขานะ คือดนตรีท่าทาง การนำเสนอ มันไม่โหลยโท่ยเท่าตอนนี้” เขาพูด “เอาจริงๆ นักร้องเพลงป๊อปคนสุดท้ายที่เราชอบคือปาล์มมี่ แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่เห็นใครสามารถเทียบเท่าได้เลย อ๋อ มีอีกคนคือ ดา เอ็นโดรฟิน หลังจากนั้นเราก็ไม่เห็นใครที่ทั้งสวย เซ็กซี่ เสียงดี”

        ผมลองย้อนถามเขากลับว่า แล้วเขากลัวถูกคนมองว่าตกยุคบ้างไหม เขายกจินโทนิกขึ้นมาจิบและตอบทันทีว่าไม่กลัว “เพราะในแง่หนึ่งอาจจะตกจริงๆ ก็ได้” เขาตอบและกระแอมไอเล็กน้อย “ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราคิดว่ามันยังดีกว่าการพยายามทำตัวให้เข้ายุค แบบ เฮ้ย น้องเป็นไงบ้างวะ keep it real man” เขาระเบิดเสียงหัวเราะลั่น ในมือข้างหนึ่งถือแก้วใสอยู่ “เราว่ามันน่าสังเวชกว่าที่ตัวเองอายุ 40 แล้ว ยังต้องไปทุกอย่างที่เด็กเขาไปกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณจะกลายเป็นศาลพระภูมิเว้ย เพราะคนก็จะไหว้คุณ

        “เราเชื่อในเรื่องซัพพอร์ตเจเนอเรชัน คืออะไรที่เป็นผลผลิตของคนยุค 90s เราจะไม่ค่อยพูดอะไรมาก แต่ก็โชคดีว่าคนที่เขาทำพวกงานศิลปะออกแบบ ตอนนี้เขาอยู่ตัวหมดแล้ว เราคิดว่าถ้าเกิดคุณเป็นคนยุคมิลเลเนียล เป็นคนยุคเจน Z มึงก็ซัพพอร์ตคนรุ่นมึงไปเรื่อยๆ เพราะมึงจะต้องอยู่กับมันทั้งชีวิต” เขาลดน้ำเสียงลงเล็กน้อย “เราอาจจะเป็นคนเดียวนะ ที่เด็กทำอะไรไม่ได้เรื่องแล้วด่า ซึ่งปกติคนส่วนใหญ่เวลาถามว่าเด็กรุ่นนี้เป็นไง เขาจะบอก โห ดีมาก ผมตื่นเต้นกับความคิดสร้างสรรค์เขามาก

        “ยุคใครยุคมัน ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องทำตัวอัพเดตขนาดนั้น เพราะอะไร เพราะมึงต้องทำของมึงไปให้มันดี ในแบบของมึง ในยุคของมึง ในความรู้ที่มึงสะสมมาตั้งแต่สมัยนู้น เราอาจจะเป็นคนเดียวที่เด็กด่ามาแล้วด่ากลับ เราไม่อายด้วยที่ไปทะเลาะกับเด็ก”

 

พงษ์สรวง คุณประสพ

5

        “ตอนนี้เรารู้สึกมันไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเก่าแล้ว เรากะทำอีกแค่สองปี เราคิดว่าเช่นนั้นก็ทำอะไรที่มันเพลิดเพลินดีกว่า เรานับบาร์ป๊อปอัพ Mischa Cheap เป็นปาร์ตี้อย่างหนึ่งนะ เพราะได้เจอคนคอเดียวกัน เออ เราว่ามันสนุกต่อเมื่อเราเจอคนที่แบบชอบฟังเพลงเหมือนกันจริงๆ ซึ่งตอนนี้คนชอบฟังเพลงเหมือนกันแม่งหายากชิบหาย โดยเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่าสามสิบ” 

        เขาวางแก้วจินโทนิกลงบนโต๊ะดังกึก ผมถามเขาว่า หากประกาศเลิกทำแล้ว ชีวิตที่ไม่มีปาร์ตี้จะเป็นอย่างไร “มันไม่ต้องคิดหรอก มันเกิดขึ้นแล้ว” เขาตอบทันที “โควิดนี่เราไม่ได้จัดปาร์ตี้เลยนะ ความมั่นคงในชีวิตเราไม่ได้อยู่ที่ปาร์ตี้แล้วไง เราสร้างรังในชีวิตไปแล้วว่าต้องการอะไรบ้าง คือกูต้องการประกันชีวิต กูต้องการรายได้เท่านี้ต่อเดือน เรามีเป้าตลอดว่า ต้องหาเงินให้ได้เท่านี้ต่อเดือนแล้วจะโอเค หนี้ห้ามมีอีกต่อไปแล้ว เพราะเรามีช่วงเวลาที่ยาวนานมากที่เป็นหนี้แต่ก็สะสางหมดแล้ว แล้วไม่คิดว่าจะต้องได้โปรเจ็กต์ร้อยล้านแลกกับการต้องพินอบพิเทาคลานเข่าหาใครสักคน” เขาร่ายยาว “เราเลยไม่คิดว่าปาร์ตี้มันจะต้องยิ่งใหญ่อะไรเพราะเราจะปิดร้านแล้ว” เมื่อพูดจบ ผมรู้สึกใจหายประหลาด เมื่อได้ยินคำว่า ‘จะปิดร้าน’

        “แต่เขาก็บอกว่า never say never อยู่ดีแหละ คือเราเลิกทำแบบออฟฟิเชียลน่ะใช่ แต่วันดีคืนดีอาจจะรู้สึกคิดถึงเพื่อนจังเลย ก็จัดครบรอบ DUDESWEET อะไรก็ว่าไป เราชอบโกหกว่าเพิ่งเริ่มทำอยู่แล้วนี่” เขาหัวเราะเสียงใสอีกครั้ง

        “พอทำปาร์ตี้มา 18 ปี อย่างหนึ่งมันทำให้รู้สึกว่า เราทำมาทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่เมาเหล้า มีเซ็กซ์แปลกประหลาด หรือปฏิบัติธรรม เราเลยคิดว่า ถ้าเกิดจะตายพรุ่งนี้ก็ไม่เหลืออะไรให้เสียดายแล้ว ถ้าจะเสียดายก็อาจจะแค่ไม่ได้เป็นเพื่อนกับมาดอนนา หรือถ่ายรูปแมวลงเฟซบุ๊กแล้วยอดไลก์ไม่เยอะเท่าที่ควร” เขาหัวเราะเบาและรีบแก้คำพูด “พูดเล่นนะ ไม่มีแมว” 

        เขาบอกผมว่าเขาเคยคิดเรื่องที่ว่า หากย้อนมองกลับไปในอดีต มีสิ่งไหนที่เสียดายบ้าง แต่คำตอบที่ได้คือ ไม่มีเลย “ที่อยากทำเราก็ทำ ไม่มีอะไรที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำ ถ้าเกิดไม่ได้ทำแสดงว่าขี้เกียจ แต่จะมาทำทีหลังเสมอ” เขาเอามือเท้าคางและลูบไปมา บางครั้งก็เอามือขึ้นมาถูดวงตาสองข้างที่ดูเหน็ดเหนื่อย “ถ้าจะเสียดายคงเป็นเรื่องเพราะความสามารถไม่ถึงมากกว่า อย่างเช่น อยากเป็นร็อกสตาร์ แต่เสียงเหี้ยมาก ซึ่งอันนั้นก็เป็นข้อจำกัดทางกายภาพใช่ไหม” เขาเว้นจังหวะชั่วครู่ก่อนพูดต่อ “อ๋อ ใช่ ที่เสียดายคงจะเป็นพวกการซื้อเทรดของกูเกิล แอปเปิล เสียดายมากเลย ไม่ได้ซื้อไว้ มึงอยากฟังคำตอบแบบนี้ใช่ไหม” เขามองผมและหัวเราะ 

        “ไม่มีหรอก” หลังคำพูด เขาครุ่นคิดเล็กน้อย “ถ้าจะเสียดาย ก็อาจจะเสียดายที่ไม่ได้ไปงานแต่งเพื่อนคนนี้เพราะไม่ว่าง นอกนั้นก็ไม่มี”

 

พงษ์สรวง คุณประสพ

6

        เขายกนิ้วขึ้นมาทำท่าจับกีตาร์ นิ้วชี้เหยียดตรง นิ้วที่เหลือสลับงอเรียงลำดับ ในทางการเล่นคอร์ดกีตาร์มันคือคอร์ดทาบ ที่คนฝึกกีตาร์ช่วงแรกๆ ต้องท้อกับความยากลำบากในการจับ เขาบอกผมว่าแพสชันใหม่ๆ ในชีวิตของเขาตอนนี้คือการเล่นกีตาร์ “เราฝึกเล่นกีตาร์ผ่านยูทูบมาพักหนึ่งแล้ว จะบอกว่าของแพงที่สุดที่เราซื้อในรอบสามปีที่ผ่านมาคือ กีตาร์ Taylor ราคาหนึ่งหมื่นห้าพันบาท เราซื้อเพราะคิดว่าคอร์ดเบสิกเริ่มจับเป็นแล้ว ตอนนี้เราเข้าคอร์ดเอฟ เลยให้รางวัลชีวิตตัวเองหน่อย พอคอร์ดเอฟได้แล้วก็ตามมาด้วยคอร์ดบี คอร์ดบีไมเนอร์” เขาพูดพลางขยับข้อมือไปมาราวกับเปลี่ยนคอร์ดในอากาศตรงหน้า “ถ้าชีวิตคนเราผ่านคอร์ดเอฟไปได้ คุณจะทำทุกอย่างได้”

        เขากลับไปหยิบจินโทนิกขึ้นมาจิบอีกครั้ง “อีกสิ่งคือ ตอนนี้เรากลับไปเรื่องของการเขียนใหม่ เพราะตอนนี้กำลังพยายามทำให้ตัวเองกลับมาเขียนหนังสืออย่างไม่มีกังวลเหมือนเมื่อก่อนอยู่” เขาวางแก้วลงตรงหน้าเบาๆ เขาพึมพำกับตัวเอง “มีอะไรอีกวะแพสชัน… มีแค่นี้แหละ ไม่ได้คิดอะไรใหญ่โต พอชีวิตมันโอเค แพสชันก็เป็นไปเพื่อความบันเทิงในชีวิตก็พอ” 

        “ปีนี้คุณ 40 แล้ว คุณคิดถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้างไหม” ผมลองถามในช่วงท้ายของบทสนทนา เขาครุ่นคิดเล็กน้อย และพูดว่า “เราคิดกับเรื่องที่ว่าเราจะเป็นคนที่ดีในแบบของเราอย่างไร แล้วเราเป็นเพื่อนที่ดีต่อเพื่อนเราหรือยัง” เขาบอกว่าในวัยนี้ เขาคิดถึงเรื่องคนรอบตัวเป็นส่วนใหญ่ เขาไม่เคยมีไอดอลเป็นคนรวยหรือเป็นนักธุรกิจ “เรามีไอดอลเป็นคนรั่วๆ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์” เขาว่า “เราจะคิดว่าที่ผ่านมาเราปฏิบัติกับคนที่เขาดีกับเราดีพอหรือยัง ถ้าไม่ดีพอไม่เป็นไร หลังจากนี้ก็เริ่มซะ เราอยากเป็นเพื่อนที่ดีกับคนที่เรารัก” เขาขยับตัวหลังตรง ตั้งท่าจะอธิบาย “เพื่อนที่ดีเป็นอย่างนี้ เพื่อนที่ดีคือคนที่มึงโทร.ไปหามันตอนตีสี่ครึ่งแล้วมันยังงัวเงียมานั่งฟังมึงบ่น เพื่อนที่ดีเป็นคนที่วางทุกอย่างแล้วมาที่โรงพยาบาลเพราะแม่มึงกำลังจะตาย เราอยากเป็นคนแบบนั้น”

        ผมอดถามไม่ได้ว่า ในฐานะนักจัดปาร์ตี้มืออาชีพที่ผ่านการจัดงานมาแล้วหลากหลายรูปแบบ เขาเคยมองวันสุดท้ายของชีวิตเขาหรือไม่ ว่าอยากดีไซน์งานของตัวเองให้ออกมาเป็นแบบไหน เขาจับแก้วค็อกเทลสีใสมั่น และพูด “มึงอยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ เพราะกูก็ไม่อยู่อยู่ดี” 

        เขาว่าเช่นนั้น และยกจินโทนิกขึ้นมาจิบ ก่อนชักชวนผมและช่างภาพกินข้าวต่อหลังจากนั้น