เพิ่งพ้นเที่ยงวันมาไม่นาน ถนนย่าน RCA นั้นสว่างสดใส ทั้งยังคึกคักด้วยพนักงานในละแวกที่ออกมาหาของกินและจิบเครื่องดื่มเบาๆ ก่อนกลับไปทำงาน แต่ในร้านคาเฟ่ YWC กลับสงบและสลัวจางด้วยโคมไฟสีส้ม แสงส่องลอดเข้ามาบางเบาผ่านกระจกบานใหญ่หน้าร้าน บาริสตาประจำหน้าเคาน์เตอร์เงียบๆ และง่วนกับการปรุงกาแฟตรงหน้า มีเสียงเครื่องชงกาแฟดังมาเป็นระยะ
คาเฟ่จักรยานแห่งนี้เป็นสถานที่หลักของวงสครับบ์ (Scrubb) สำหรับนัดประชุมหรือพูดคุย ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นร้านดนตรีที่ใช้ซ้อมรวมถึงดูแลอุปกรณ์ ภายในพื้นที่เล็กๆ ชั้นล่างของคาเฟ่อบอวลด้วยกลิ่นกรุ่นของกาแฟ และมีชั้นลอยเล็กๆ สำหรับขายอุปกรณ์เกี่ยวกับจักรยาน
‘เมื่อย’ – ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ เดินทางมาถึงที่ร้านก่อน เขาแต่งตัวอย่างที่แฟนเพลงชินตา สวมเสื้อยืดดำ และมีไอเท็มประจำตัวอย่างแว่นกันแดด กับหมวก Beanie สีดำ เขาเดินมาแตะไหล่ทักทายผมอย่างเป็นกันเองด้วยน้ำเสียงสงบเบา และเดินไปสั่งเครื่องดื่มด้วยบุคลิกสบายๆ เมื่อเห็นคู่หูร่วมวงยังมาไม่ถึง เขาจึงอาสาโทรศัพท์ไปหา “ไม่รับสายแฮะ” เขาพูดขึ้น
คล้อยหลังคำพูดนั้น ‘บอล’ – ต่อพงศ์ จันทบุบผา ก็โผล่มาถึงพอดี เขาแต่งตัวด้วยเสื้อยืดสีขาว กางเกงขายาว และมีสายหูฟังสีดำคล้องอยู่ที่คอ ทั้งคู่ทักทายกันด้วยรอยยิ้ม และหันมาทักทายผม ก่อนจะเดินไปสั่งเครื่องดื่มที่เคาน์เตอร์
บอลกลับมาที่โต๊ะและบอกผมว่าเขาสั่งลาเต้ไป เขาชอบกาแฟนมแบบไขมันต่ำ แต่ช่วงหลังด้วยความที่ต้องการดูแลสุขภาพมากขึ้น เขาจึงเริ่มสนใจดื่มนมถั่วเหลืองหลังได้ลองชิมเมื่อครั้งไปเที่ยวญี่ปุ่น เขาเล่าให้ฟังว่าคนญี่ปุ่นแพ้แล็กโตส จึงดื่มนมถั่วเหลืองทดแทน “ช่วงหลังนมถั่วเหลืองจึงเป็นนมทางเลือกสำหรับเรา ปกติจะชอบสั่งมาดื่มแก้วหนึ่งหลังอาหารกลางวัน และจะซื้อเป็นขวดไปแช่ที่ออฟฟิศ พอบ่ายก็เติมอีกแก้วหนึ่ง” พูดจบเขาก็ขอตัวลุกไปสั่งครัวซองต์มาเพิ่ม
ผมแอบประหลาดใจที่เครื่องดื่มในมือของเมื่อยคือน้ำส้ม เขาบอกผมว่าเป็นคนดื่มกาแฟไม่เป็น ก่อนหน้านี้เขาเคยพยายามฝึกดื่มกาแฟ โดยให้บาริสต้าที่ร้านนี้เป็นคนสอนว่าควรเริ่มอย่างไร โดยเริ่มจากดื่มอเมริกาโน่ทุกวัน แต่ก็ล้มเลิกหลังเริ่มได้เพียงหนึ่งอาทิตย์ “เรารู้สึกไม่อิน คงเป็นกายหยาบเราที่ไม่รู้เรื่องที่เขาพูดกันอย่างเช่นความเปรี้ยวปลายลิ้น สอบตก ต้องกลับมาดื่มน้ำส้มเหมือนเดิม” พูดจบเขาก็หัวเราะ “แต่เราชอบดูเวลาบาริสต้าชงกาแฟ ชอบฟังเรื่องราวที่มาของเมล็ดกาแฟต่างๆ นะ สนุกดี”
ในตอนนั้นบอลกลับมาที่โต๊ะพอดี และหันไปถามเพื่อนร่วมวงที่ทำเพลงร่วมกันมานับยี่สิบปี “เคยพยายามลองกินกาแฟแล้วเหรอ” เมื่อยหันกลับไปตอบว่า “เคยแล้ว ให้ร้านที่นี่เทรนให้ แต่ไม่รอด”
แล้วทั้งคู่ก็หัวเราะออกมาพร้อมๆ กัน ผมนั่งมองทั้งคู่และมีรอยยิ้มตาม
1
“ถ้านับวันที่วางขายเทปใต้ดินที่ทำกันเองของวงสครับบ์ เดือนพฤศจิกายนนี้ก็ครบ 20 ปี พอดี ขนลุกเลย” เมื่อยพูดด้วยน้ำเสียงนิ่งสงบและหัวเราะ เขาเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อยี่สิบปีก่อนที่เขานำเทปเพลงของวงสครับบ์ไปฝากวางขายตามร้านดังๆ ในยุคนั้น อาทิ ร้านโดเรมี ร้านดีเจสยาม และร้านน้องท่าพระจันทร์ “เหมือนเด็กไม่สนใจอะไรคนหนึ่ง ที่ทำงานเสร็จก็อยากหาที่วาง” เขาพูด และเล่าต่อไปว่าในช่วงนั้นพวกเขาทำออกมา 500 ม้วน ตั้งใจจะไปฝากร้านละร้อยม้วน “แต่ในชีวิตจริงคือร้านบอกให้เอามา 3 ม้วนก่อน” เขาหัวเราะอีกครั้ง “แถมมีการเขียนเป็นสัญญาในกระดาษว่า ฝากร้านจำนวนสามม้วน พออีกสามเดือนโทร.มาถามยอด เขาบอกว่า ยังเหลืออยู่เลยค่ะ”
นอกจากร้านขายเทปเพลง พวกเขานำเทปใต้ดินของวงไปขายตามงานโรงเรียน งานเทศกาล แม้กระทั่งร้านสหกรณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ทั้งเมื่อยและบอลเรียนอยู่ บอลเล่าว่าแม่ของเขาทำงานอยู่ที่นั่น เขาจึงขอแม่นำไปฝากขายที่นั่น “กลายเป็นร้านสหกรณ์ที่ขายของใช้จิปาถะแต่มีเทปใต้ดินสครับบ์วางขาย เท่ไหม แล้วสหกรณ์อยู่หน้าคณะเราด้วย โคตรดูน่าอวดเลย” บอลพูดและหัวเราะ ผมคิดว่าทั้งคู่มีบุคลิกต่างกัน ในขณะที่เมื่อยจะดูค่อนข้างนิ่ง แต่บอลดูมีบุคลิกที่ว่องไวมากกว่า แต่นั่นนับเป็นเสน่ห์ที่ต่างกันของทั้งคู่
“จำได้ว่าน่าจะขายได้ไม่เกินสองร้อยม้วน ที่เหลือก็แจก” เมื่อยเสริม
ในตอนนั้นครัวซองต์หอมกรุ่นมาเสิร์ฟบนโต๊ะ บอลเชื้อเชิญเราให้ทานด้วยกัน “เราว่ามันสนุกดี” บอลพูดระหว่างยกมีดตัดครัวซองต์เป็นชิ้นเล็กๆ “แต่อย่างที่เมื่อยบอก พวกเราเหมือนเด็กห่ามๆ ที่อยากเอาสนุกและพิสูจน์ความเชื่ออะไรบางอย่าง โดยทำเทปไปวางขาย ทั้งที่ค่ายก็ไม่มีด้วยซ้ำ” เมื่อยที่อยู่ข้างๆ พยักหน้าเห็นตาม ก่อนที่บอลจะพูดต่อ “มันเป็นเรื่องของความสนุกในความกล้าของช่วงเวลาและวัยนั้น เหมือนอย่างน้อยเราชอบอะไรแล้วครั้งหนึ่งยังเคยลุกมาพยายามทำอะไรให้มันสุดทาง” เขาว่า “ลองดูว่าสิ่งที่เราสนใจมันทำอะไรได้บ้าง แค่คุณอยากทำและลงมือทำ คุณก็จะได้เรียนรู้ปัญหา ได้เรียนรู้กระบวนการระหว่างทางกันเอง และได้รู้ว่าบางทีมันพาคุณไปได้ไกลกว่าที่คิด”
“พอทำเสร็จครั้งหนึ่งเราก็จะมีประสบการณ์” บอลพูดพร้อมรอยยิ้ม
“แต่ต้องคิดให้ดีๆ ก่อนนะ” เมื่อยแทรกคู่หูของเขาและหัวเราะ
2
บอลจิ้มครัวซองต์ที่ตัดเป็นชิ้นเล็กส่งเข้าปากก่อนเริ่มพูด “เราว่าสครับบ์ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดของวงไปแล้ว”
เขาอธิบายความหมายว่า สครับบ์เริ่มต้นในฐานะวงดนตรีอินดี้ที่ทำเพลงกันเองแบบ DIY ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีใครสนใจ ต้องขอไปเล่น ขอไปวางขาย จนมีค่าย ได้ออกอัลบั้ม ได้มีคนรู้จัก ได้ทำต่อ และเริ่มมีเพลงที่คนเริ่มรู้จักมากขึ้น รวมถึงงานเทศกาลดนตรีหลักๆ ของประเทศก็ได้ไปมาหมดแล้ว “พวกเราได้อยู่ในช่วงเวลาที่ได้รับของขวัญที่ดีที่สุดจากวงดนตรีที่เริ่มกันเองเล็กๆ ซึ่งผ่านไปแล้ว แต่ทุกวันนี้เป็นช่วงที่ได้เรียนรู้ว่า เมื่อคุณได้รับของขวัญชิ้นนั้นมาแล้ว ปัจจุบันคุณอยู่กับมันอย่างไร”
บอลเล่าว่าทุกวงจะมีช่วง honeymoon period เขาอธิบายว่าหมายถึง วงที่เริ่มทำงานได้สามถึงห้าปี เริ่มเป็นที่รู้จักจากการมีเพลงเป็นที่รู้จัก คนร้องตามได้ มีเพลงสะสมต่อเนื่องห้าเพลงขึ้นไป อยู่ในวัยที่ยังสนุกกับดนตรี มีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดีย มีการสื่อสาร มีการพูดจา มีวิธีการพูดคุยกับแฟนเพลงในยุคเดียวกันได้ถูกคอ “เมื่อสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบเหล่านี้เหมาะสมกัน เราจะเรียกช่วงเวลานั้นว่า honeymoon period
“สครับบ์ไม่ได้ผ่านแค่ honeymoon period มานะ แต่ผ่าน honeymoon period ของ honeymoon period มาอีก” บอลพูดและหัวเราะ “เหมือนมีรุ่นน้องที่ honeymoon period ต่อจากเรามาแล้วสองรอบ
“ส่วนตัวเรารู้สึกว่าสครับบ์อยู่มานานเกินไปแล้ว แต่ก็ดีใจที่ยังอยู่ได้” บอลพูดต่อ “พวกเราทำงานมายี่สิบปี ซึ่งมันเป็นวัยที่ควรเตรียมตัวจะไปทำอย่างอื่น หรือเล่นดนตรีในจำนวนงานที่น้อยลง หรือน่าจะไปทำอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดนตรีมากเท่าปัจจุบันแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีน้องๆ มาชวนไปแคมปัสอยู่ เราปล่อยเพลงที่อาจจะไม่ได้หวือหวา แต่ก็มีคนตามมาฟัง ยอดสตรีมมิงในระบบการฟังเพลงปัจจุบันก็ยังเป็นจำนวนเท่ากับเด็กที่ยังทำงานในเจเนอเรชันปัจจุบันนี้หรือมากกว่าหลายๆ วง ซึ่งก็แปลกใจกับสิ่งนี้เหมือนกัน
“แต่ก็อาจเป็นเพราะเราพยายามทำในสิ่งที่เราชอบให้ดีที่สุด” บอลกล่าว ก่อนที่เมื่อยซึ่งนั่งฟังอยู่นานจะพูดขึ้นมา “เราเพิ่งไปไหว้ไอ้ไข่มา” บอลได้ยินจึงสนใจและหันไปถามว่าที่ไหน “ภาคใต้ คนเยอะมาก อยากไปต่อดวงให้วง” ทั้งคู่ประสานเสียงหัวเราะพร้อมกันอีกครั้ง
บอลหันมาจิบลาเต้ในแก้วก่อนพูดขึ้นอีกครั้ง “เราไม่ได้ฟูมฟายหรือคิดมากกับความเป็นสครับบ์แล้ว ทุกวันนี้เป็นความสุขที่ยังอยู่ได้ และยังเล่นดนตรีกันได้ แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีใครฟัง เราก็รู้สึกว่ามีความสุขกับมันได้แล้ว”
3
ยี่สิบปีเป็นเวลาที่นานพอสำหรับศิลปินวงหนึ่งในการสร้างดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ติดหูคนฟัง สครับบ์เป็นอีกหนึ่งวงที่แฟนเพลงต่างหลงใหลในซาวด์ดนตรีที่คุ้นหู และเหมือนโตมาด้วยกัน แต่ในมุมหนึ่งก็สร้างความรู้สึกซ้ำเดิมสำหรับศิลปินเอง บอลเล่าว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับสครับบ์เช่นกัน
“เราต้องให้เวลากับตัวเองในหมวดอื่นด้วย เพื่อเวลาที่กลับมาทำงานเพลงจะได้มีความสดชื่นในการทำ” เขาว่า “อาจจะดูขัดแย้งกับน้องๆ คนอื่นตามยุคสมัยที่ยังสนุก แต่เราเป็นคนที่รู้สึกว่าไม่ได้อยากเล่นดนตรีมากนักในเดือนเดือนหนึ่ง เราอยากมีเวลาพักเพื่อไปทำงาน ทำสิ่งที่สนใจเรื่องอื่น อยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตส่วนตัว ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เดินทางเที่ยวได้ แล้วเล่นดนตรีในอัตราส่วนที่เหมาะสม
“เราอยากบอกน้องๆ ว่า เล่นดนตรีก็ดี แต่อยากให้ทำอย่างอื่นหรือมองหาสิ่งอื่นที่อาจจะช่วยดูเรื่องความมั่นคงในตัวเองได้มากขึ้น มันจะช่วยทำให้ดนตรีเป็นการทำงานที่สนุกและมีความสุขได้” เขาพูดและยกลาเต้จิบอีกครั้ง
บอลเล่าว่าอีกส่วนที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับคนอื่น เช่น นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ เขาเล่าว่ารู้สึกถึงสิ่งนี้มาตั้งแต่ทำอัลบั้มชุดที่สอง เพราะหากทำกันเองต่อไปก็อาจจะต้องวนอยู่ในความสนใจเดิมๆ จนเผลอทำสิ่งเดิมไม่รู้ตัว นั่นเป็นสาเหตุที่สครับบ์ชุดที่สามมีการให้ศิลปินคนอื่นมาช่วยเขียนเนื้อเพลงบางเพลง “เราชวนโฟร์ 25 Hours มาเป็นโปรดิวเซอร์ร่วม ทำให้เราได้ของใหม่ก่อนจะไปจบขั้นตอนสุดท้ายในห้องอัด เรารู้สึกว่าเคมีใหม่ๆ ทำให้ได้ผลลัพธ์บางอย่างที่เราแฮปปี้กับสิ่งที่ได้ คือมีทั้งความเป็นเรา และมีทั้งความเป็นคาแรกเตอร์ของคนที่มาช่วยเรา หลังจากนั้นสครับบ์ก็จะมีการทำงานแบบนั้นอยู่ตลอด”
ล่าสุดสครับบ์ได้ทำงานร่วมกับ ปกป้อง จิตดี แห่งวง Plastic Plastic ที่บอลเล่าว่าเป็นคนที่หาโจทย์ใหม่ๆ ในชีวิตสำหรับการทำเพลงเสมอ “ปกป้องจะชวนพวกเรามองหาสิ่งใหม่ว่าทำอะไรต่อดี เหมือนชวนเราออกนอกกรอบเสมอ เขาเป็นคนที่อยากทำงาน แต่ขบถกับวิธีการทำงานตลอดเวลา เขาจะมูฟตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วหาโจทย์ในการทดลองทำงานของเขาตลอด ทำให้เป็นสิ่งที่เรายังรู้สึกสนุกกับการทำงานกับเขา เพราะเขามีโจทย์แบบไม่เกรงใจเราเลย” บอลเล่าและหัวเราะ “ซึ่งมันเป็นการกระตุ้น หรือเป็นการรีเฟรชให้วงดนตรีอย่างสครับบ์ที่ยังทำงานอยู่ และยังอยากเล่นดนตรี ทำเพลงอยู่ แต่ไม่รู้จะทำอะไรดีในยุคปัจจุบัน”
ผมสงสัยว่าตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา นอกจากความเติบโตขึ้นในทางดนตรี ในแง่การเขียนเพลงของวงมีความเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ เมื่อยที่ดูเป็นนักฟังที่ดีมาตลอดเริ่มขยับกรอบแว่นเล็กน้อย และเป็นคนตอบ “ถ้าจะพูดคร่าวๆ ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป ช่วงที่ยังเด็ก เราจะมีเรื่องที่ฟุ้งซ่านเยอะ มีเรื่องที่อยากให้เป็น เรื่องที่อยากเป็นผู้นำความคิด เรื่องการคิดถึงอะไรที่ไกลตัว เราจะมีเพลงพูดถึงความฝัน พูดถึงความคิดที่เป็นอุดมคติ เหมือนเป็นคนขี้โม้แต่ถึงเวลาทำได้จริงหรือไม่จริง ได้หรือไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่อง
“แต่พอโตขึ้นมาหน่อย เพลงจะเริ่มจริงมากขึ้น สิ่งที่เราเคยคิดฟุ้งซ่านเกินไปก็จะเริ่มถูกตัดออกไปเองโดยอัตโนมัติจนเหลือแค่สิ่งที่ใกล้ความจริงมากขึ้น ไม่ฟูมฟาย ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่จับต้องได้มากขึ้น” เมื่อยหยุดคิดครู่เล็กๆ และมีรอยยิ้มจางๆ บนใบหน้า “คงเป็นไปตามวัย เราเริ่มคิดว่าบางอย่างไม่พูดดีกว่า แต่ก็ไม่ได้รู้สึกไม่โอเคกับที่ผ่านมา แต่เวลาย้อนดูภาพเก่าตอนเราเด็กๆ ก็จะคิดว่า นี่เราเหรอ แต่มันเป็นเราจริงๆ เพราะมันเป็นเสียงร้องของเรา ความคิดเรา ก็ได้แต่ขำๆ”
“การเติบโตทำให้คุณสูญเสียจินตนาการสนุกๆ จากความเป็นเด็กไปไหม” ผมถาม
“สูญเสียจินตนาการไหมเหรอ” เมื่อยพูดและนิ่งคิดครู่หนึ่ง เขายกแขนสองข้างขึ้นกอดอก “ไม่หรอก” เขาตอบในที่สุด และเปรียบเปรยว่า ในวัยเด็กอาจจะมีลู่ทางเต็มไปหมด ขึ้นทางด่วน ลงถนน เลาะซอย แต่พอโตขึ้น ลู่ที่ว่าจะเริ่มแคบขึ้น และรู้ตัวว่าอยากไปตรงไหน “จินตนาการยังเหมือนเดิม แต่ความพลุ่งพล่าน ความบ้าบิ่น ความที่คิดอะไรจนถึงจุดที่อันตรายแล้วน้อยลง
“เมื่อก่อนอาจไม่คิดถึงความเสี่ยงเลย วิ่งออกไปก่อน ขับรถออกไปก่อน ออกไปเที่ยวก่อน เมาไปก่อน โดยที่ไม่คิดว่าปลายทางเป็นอย่างไร แต่พอโตมาคิดแล้วว่า ถ้าจะทำอย่างนี้ อีกวันจะเป็นอย่างไร ถ้าจะเขียนเนื้อเพลงแบบนี้ลงไป ถ้าเรามีลูกหรือหลานเขาจะรู้สึกอย่างไร มันเริ่มมีคำถามแบบนี้” เมื่อยคลายแขนสองข้างออกจากกันและยิ้ม “ยังใช้จินตนาการเหมือนกัน แต่เป็นจินตนาการแบบจับต้องได้ และเริ่มระวังมากขึ้น”
4
แน่นอนว่าการอยู่บนเส้นทางดนตรีมากว่ายี่สิบปี ย่อมต้องผ่านเรื่องราวมากมายที่ต้องตัดสินใจ ผมสนใจอย่างที่สุดว่าสำหรับสครับบ์ การตัดสินใจเกี่ยวกับดนตรีครั้งไหนที่ยากที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งคู่คิดครู่เล็กๆ ก่อนที่เมื่อยจะเป็นคนเริ่มตอบก่อน “เราว่าตั้งแต่ชุดสองเลย เพราะชุดแรกเราทำโดยไม่คิดว่าจะได้ทำชุดสอง” เขาว่า “หมดชุดแรกไปก็คิดว่าคงแยกย้าย แต่พอได้ทำต่อ เราไม่มีข้อมูลเลย ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่มีเพลงอะไรอยู่ในหัว แต่ก็มีสัญญาที่ต้องทำ”
ถึงตรงนี้ บอลมีแววตาจริงจังภายใต้กรอบแว่น และเริ่มแชร์สิ่งที่คิดในมุมตนเองขึ้นมาบ้าง “ของเราเป็นช่วงกลางๆ ของการทำงาน บางครั้งจะมีความคิดว่าเอาอย่างไรต่อดี คือไม่ได้ทุกข์ แต่อยู่มาวันหนึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ว่าสุดท้ายดนตรีที่เราวางเป็นงานอดิเรกในทีแรกกลับดูแลเราได้” เขาเล่าว่าถึงจุดหนึ่งดนตรีกลายเป็นหน้าที่ไปโดยปริยาย “เป็นเรื่องที่ต้องทำ ถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่อยากทำ” เขาว่า “พออาชีพนั้นดันเกิดมาจากการที่เราทำโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นอาชีพ ก็เลยยังมีจริตความงอแงแบบที่ว่า ทำไมเราจะต้องทำตามหน้าที่ว่าต้องไปทำด้วย
“จะมีช่วงเวลาที่โคตรฝืนยิ้มเลย” บอลลดน้ำเสียงลงเล็กน้อย “เคยประชุมเครียดๆ ทะเลาะกันอยู่ในห้องประชุม แต่อีกครึ่งชั่วโมงจะต้องเล่นแล้ว เราก็รีบโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ที่เรียกไว้ ใช้เวลายี่สิบนาทีเพื่อไปหลังเวทีให้ทัน แสตนด์บายสิบห้านาที ไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่า แต่ในครึ่งชั่วโมงนั้นเราเหมือนต้องหลอกตัวเอง เขกหัวตัวเองว่าเมื่อกี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น กูจะต้องมีความสุขเพื่อขึ้นไปเล่นดนตรี
“หลายครั้งเราทะเลาะกับตัวเองแบบนี้เยอะมาก มันไม่เชิงทุกข์ แต่เป็นความขุ่นมัวในใจ พอเล่นเสร็จก็ไปรีแล็กซ์ปลดปล่อยให้หายเครียด แต่ก็จะมีอาการทะเลาะกับตัวเองว่าเหนื่อยจัง ถามว่าเหนื่อยเล่นดนตรีหรือเปล่า ไม่ได้ขนาดนั้น แต่บางทีมันเหนื่อยคุยกับตัวเอง” บอลพูดต่อ ในขณะที่เมื่อยนั่งนิ่งฟังสลับยกน้ำส้มขึ้นจิบ
“บางครั้งเราเลยตั้งคำถามว่า ที่ทำอยู่ทุกวันนี้คืออะไร แล้วเราจะเอายังไงกับสิ่งนี้ต่อไปดี เป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้ว่าไม่ใช่งานอดิเรกที่จะไม่ตั้งใจไม่ได้แล้ว เราว่าสิ่งนี้ยากที่สุด ยากกว่าตอนที่เหมือนผ่านยุคของเรามาแล้วเสียอีก เราเคยอยู่ในช่วงเวลาที่หลงกับลาภยศสรรเสริญ ได้ทุกอย่าง ใครก็เข้าหา อะไรก็ดี แล้วคิดว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีจะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร อยู่ไม่ได้แน่เลย แต่สุดท้ายพอมาคิดในตอนนี้ก็รู้สึกตลกตัวเองมากเลย เพราะเรากลับอยู่กับมันได้อย่างเข้าใจ และเห็นความเป็นไปว่ามันมีวงจร มีวัฎจักรของมันเอง
“คุยไปคุยมาทางพุทธเฉยเลย” บอลพูดและหัวเราะ
“มีช่วงที่มองหน้ากันไม่ติด มองตากันไม่ได้ด้วยนะ” เมื่อยที่ใช้เวลานั่งฟังและคิดตามสิ่งที่บอลพูดเริ่มพูดขึ้นมา “พวกเราแต่ละคนก็มีพื้นที่ต่างกัน พอมาอยู่ด้วยกัน เราไม่รู้ว่าการเป็นวงต้องทำอย่างไร ต้องบริหารอย่างไร พอเล่นเสร็จต่างคนต่างกลับ ไม่มีใครสนใจใคร กูเล่นของกู มึงเล่นของมึง แต่ใครอย่าพลาดมาแล้วกัน แต่เราก็พยายามปรับจูนกันไป เราเรียนรู้ว่าต้องดูแลจิตใจ ดูแลทุกอย่างของคนรอบข้างด้วย
“การเล่นดนตรีจะดีที่สุดต่อเมื่อสมาชิกเชื่อใจกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเล่น ฟังดูเหมือนง่าย แต่พอถึงเวลาจริงแล้วยาก ไม่ว่าจะเป็นการทำลายอีโก้ตัวเอง หรือพยายามที่จะเปิดใจว่าเราผิด และเราต้องเปลี่ยนเพื่อส่วนรวม มันแอบต้องใช้พลังงานเยอะ แต่พอพลิกมาได้ สิ่งเหล่านั้นจะนำไปสู่ทางที่ดีขึ้นเสมอ” เมื่อยกล่าว
คราวนี้บอลที่นั่งฟังอยู่เป็นฝ่ายเสริมขึ้นมาบ้าง “ณ วันที่อยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างอยู่หรือไป เราว่าสิ่งที่มันเกี่ยวกันได้ระหว่างเรากับเมื่อยคือ เรายังให้เกียรติกัน และเรามีพื้นฐานด้านดนตรีเหมือนกัน”
“เอาจริงๆ เราสองคนธรรมชาติไม่เหมือนกันเลย” เมื่อยพูด ก่อนที่บอลจะพูดต่อ “เหมือนเราเป็นกระจกซึ่งกันและกัน ไลฟ์สไตล์เราไม่เหมือนกัน แต่ทัศนคติลึกๆ เรายังมีความเชื่อ มีความเคารพ หรือมีเรื่องยึดเหนี่ยว อะไรบางอย่างที่เราคิดเห็นในเรื่องการทำงาน วิธีการทำงาน วิธีการแสดงออก วิธีการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา คล้ายๆ กันอยู่”
5
ผ่านพ้นเข้าช่วงบ่าย ผู้คนในคาเฟ่ทยอยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน แก้วกาแฟหลากรสหลายกลิ่นถูกเสิร์ฟออกไป แต่โต๊ะของพวกเรายังคงจับจองอยู่บริเวณใกล้กระจกบานใหญ่หน้าร้านที่แสงยามบ่ายเฉียงส่องลงมา
“อยากให้คนจดจำสครับบ์ในแบบไหน” ผมถามพวกเขาทั้งคู่ เมื่อยยังคงนั่งนิ่งอยู่กับขวดน้ำส้มข้างกาย ส่วนบอลก็ตัดครัวซองก์ที่เหลือจิ้มเข้าปาก ลาเต้ในแก้วดูจะไม่พร่องลงไปสักเท่าไหร่
“จดจำว่าเรายังเล่นดนตรีอยู่แค่นี้แหละ” บอลตอบก่อน เขายิ้มและเคี้ยวครัวซองต์ในปากช้าๆ
เมื่อยหัวเราะเบาๆ และพูดขึ้นบ้าง “จำแค่เพลงก็พอ ไม่ต้องจำพวกเราหรอก” เขาเล่าว่าทุกวันนี้เวลาไปข้างนอก บางทีคนก็จำพวกเขาไม่ได้ แต่รู้จักเพลงของพวกเขา “ซึ่งเราแฮปปี้นะ” เมื่อยกล่าว “เราเป็นแบบนี้จริงๆ หรือการที่เราจะเดินไปร้านอาหารร้านหนึ่งแล้วเขาเปิดเพลงเรา เราออกเลยนะ” ว่าแล้วเขาก็หัวเราะ
“เวลาที่เราคุยกัน แล้วเราไม่รู้จักกันเลย จะคุยได้สนุกกว่าเยอะ” เมื่อยกลับมาเล่าต่อ “แต่ถ้าคุยโดยที่รู้ว่าผมเป็นใคร คุณเป็นใคร เราจะไม่ลงรายละเอียดกันแล้ว ถ้าหลังจากกันแล้วค่อยไปรู้ก็ไม่เป็นไร แต่แว้บแรกคุยกันโดยที่ไม่ต้องรู้ว่าเราเป็นใครนั่นดีที่สุด”
เมื่อยและบอลบอกว่า แพลนระยะใกล้ของวงสครับบ์หลังจากนี้คือปล่อยหนึ่งเพลงช่วงเดือนพฤศจิกายน ระยะกลางคือปล่อยเพลงช่วงปีหน้า ส่วนระยะไกลคือ “อยากรู้ว่าสครับบ์จะไปกันได้สิ้นสุดตรงไหน”
บอลบอกว่าเขาเคยตั้งเป้าว่าจะเลิกตอนอายุระดับหนึ่ง “แต่ตอนนี้รู้สึกว่า อยู่ได้ถึงขนาดนี้แล้วก็ลองดูซิว่าจะไปกันได้ถึงแค่ไหน” เขาว่า “ต้องสนุกและมีความสุขกับดนตรีก่อน ส่วนเรื่องภายนอกคือต้องรับผิดชอบต่อคนที่เกี่ยวข้องกับเราให้ดีที่สุด”
“เราไม่รู้นะว่าจะไปได้ถึงไหน เราจะชอบคิดเรื่องใกล้ๆ กับทำทุกวัน ทุกครั้ง ให้ดี อย่างวันนี้มาสัมภาษณ์ก็เตรียมตัวเองให้พร้อม คิดให้ดีก่อนพูด” เมื่อยพูดจบ บอลก็แทรกขึ้นมา “คิดดูสิ มาคิดได้กันตอนปีที่ยี่สิบ”
แล้วทั้งคู่ก็หัวเราะออกมาเสียงดัง
เราคุยกันสัพเพเหระอีกเล็กน้อย ผมนั่งมองบรรยากาศผ่อนคลายตรงหน้า นึกสงสัยตัวเอง จากเด็กมัธยมที่นิยมชมชอบบทเพลงสครับบ์ เติบโตมากับบทเพลงของสครับบ์ จนได้มานั่งสนทนากับพวกเขาในช่วงเดือนแห่งการครบรอบปีที่ยี่สิบ ไม่ว่าสครับบ์จะเติบโตขึ้นตามวันเวลามากขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่แสนพิเศษคือผมว่ามิตรภาพของเพื่อนซี้ทั้งสองในนามสครับบ์ที่ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่วันแรกที่นำเทปไปฝากขายโดยที่ยังไม่มีใครรู้จัก
เผลอ ฉันกับเธอ เราก็ผ่านมาหลายปี เห็นเรื่องร้ายเรื่องดีพอดีแล้ว
จะเป็นเหมือนใครสักคนที่เดินร่วมทาง ออกไปหาวันที่ดี ลมที่คุ้นเคย
บางท่อนในเพลง พร้อม จากอัลบั้ม Kid ของสครับบ์เมื่อปี 2010 แว่วมาในห้วงความรู้สึกของผมตอนนั้น