วาเลนติน่า พลอย มีพลังงานล้นเหลือตลอดระยะเวลาของการสนทนา เธอร่าเริงเหมือนเด็กๆ ออกท่าทางระหว่างเล่าเรื่อง และมีเสียงหัวเราะแทรกเป็นระยะ ศิลปินสาวลูกครึ่งไทย-อิตาลี ผู้เติบโตในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของอิตาลีอย่างโซเรนโตที่มีทั้งภูเขาและทะเล ดูจะไม่ปกปิดความตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้พานพบ แม้กระทั่งร้านกาแฟแห่งนี้ ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเธอ
เธอก้าวเข้ามาภายในร้าน PM Café อันเงียบสงบของย่านอารีย์ ในบ่ายที่ฟ้าครึ้มและมีลมเย็นๆ พัดแผ่ว และบอกว่า “ไม่เคยรู้เลยว่ามีร้านกาแฟแบบนี้ใกล้บ้าน” พลางมองสำรวจ รอบร้านเล็กๆ ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยแววตาอยากรู้อยากเห็น ก่อนจะเดินไปสั่งลาเต้ที่บาร์กาแฟ เธอแต่งตัวเรียบง่ายแต่มีสไตล์ด้วยเสื้อกล้ามคร็อปแบบแฟชั่นสีฟ้า กางเกงขายาวสีดำ และมีเครื่องประดับเล็กๆ บนนิ้วมือ
พลอยเดินมานั่งลงบนโต๊ะไม้ริมกระจกบานใหญ่ภายในร้าน และเล่าว่าเพิ่งกลับจากการไปทะเลกับเพื่อนสนิทเมื่อช่วงดึกของคืนที่ผ่านมา เธอมักจะเดินทางไปทะเลเสมอยามว่าง “เราเป็นคนที่ติดธรรมชาติมาก” เธอว่าเช่นนั้น และเล่าเรื่องราวการเดินทางที่ยังสดๆ ร้อนๆ ให้ฟังด้วยรอยยิ้ม “บางครั้งเวลาอยู่กรุงเทพฯ ช่วงที่ไม่มีอะไรทำมันเครียด เราก็หนีไปทะเล ครั้งล่าสุดเราไปกับเพื่อน เช่ามอเตอร์ไซค์ขี่รอบเกาะ ได้เห็นที่ที่ไม่เคยเห็น ได้เจอทุ่งหญ้า เจอทะเลอีกฝั่งของเกาะที่สวยมาก เงียบสงบ ไม่มีคนเลย
“เรามีความสุขมาก แค่ได้นั่งเรือแล้วเอาขาห้อย มองคลื่นทะเล มันทำให้สมองเราผ่อนคลาย แล้วทำให้เราได้คิดอะไรหลายๆ อย่าง ยิ่งฟังเพลงไปด้วย ยิ่งเหมือนมีแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง”
ตลอดการสนทนา ศิลปินสาวผู้แต่งเพลงภาษาอังกฤษด้วยตนเองจะพูดด้วยภาษาไทย แต่ในบางช่วงก็สลับไปพูดภาษาอังกฤษ หรือบางครั้งเธอก็หลุดพูดภาษาอิตาลีออกมา ด้วยความที่เธอพูดได้ถึง 5 ภาษา ทั้งไทย อิตาลี โปรตุเกส อังกฤษ และสเปน ทำให้เธอมีโอกาสเดินทางไปสำรวจโลกกว้างหลายแห่ง ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมถึงหลักคิดความเชื่อในเรื่อง ‘เสรีภาพ’ และ ‘อิสระ’ เหมือนทะเลที่กว้างใหญ่ อันเป็นสถานที่ที่เธอบอกว่าเป็น sanctuary ในชีวิตเธอ
ในตอนนั้นพนักงานนำกาแฟลาเต้ในแก้วดินเผาเคลือบมาเสิร์ฟ เธอกล่าวขอบคุณ ก่อนจะลากแก้วเข้ามาใกล้ตัว และชื่นชมกับลวดลายหัวใจบนกาแฟฟองนุ่มตรงหน้าด้วยความตื่นเต้น
1
พลอยเล่าว่าในวัยเด็กที่อิตาลี เธอถูกเลี้ยงดูมาค่อนข้างอิสระ คุณพ่อซึ่งเป็นชาวอิตาลีเป็นคนใจกว้าง แต่ก็มีความหวงและห่วงเธอสูงมาก เธอบอกว่าตอนอายุประมาณ 15-16 ปี เพื่อนเธอเริ่มออกไปปาร์ตี้นอกบ้านเป็นปกติ และกลับตอนไหนก็ได้ แต่สำหรับเธอจะมีเวลาที่กำหนดไว้ คือ สี่ทุ่มต้องกลับถึงบ้านแล้ว “เราเริ่มเที่ยวสายเหมือนกัน คือตอนประมาณยี่สิบ” เธอว่า
“พ่อบอกว่าจะทำอะไรก็ได้ในชีวิต แต่ต้องไม่ทิ้งการเรียน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาซีเรียสมาก” เธอบอกว่าตอนที่เริ่มร้องเพลง คุณพ่อก็กังวลว่าเธออาจจะทิ้งการเรียน แต่พอเวลาผ่าน เธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอคอนโทรลได้ทั้งเรื่องการเรียนจบ และการร้องเพลง “ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ซูเปอร์ปล่อยอิสระเลย” เธอว่า และหัวเราะ “เขาสนับสนุนเต็มที่มาก แต่เขาก็ยังมีความหวงและห่วงอยู่บ้าง อย่างการที่เรามาอยู่เมืองไทยคนเดียวก็ต้องมีความไฟต์นิดหนึ่ง เหมือนตอนได้ไปเรียนสเปน ตอนแรกพ่อก็จะไม่ให้ไป แต่เราไฟต์จนได้ไปจนได้
“พ่อกับแม่จะห่วงไม่เหมือนกัน พ่อจะไว้ใจเรามาก แต่จะห่วงคนที่จะเข้ามามากกว่า เขารู้ว่าเราเป็นคนหัวอยู่บนไหล่ ไม่ได้เป็นบ้าบอ เขาเชื่อใจเรา แต่เขาแค่เป็นห่วงว่าบางครั้งเรามองโลกในแง่ดีเกินไป แล้วคนอื่นอาจจะมาทำร้ายอะไรเราหรือเปล่า” เธอกล่าว “ส่วนคุณแม่ก็จะห่วงอะไรที่มีความเป็นแม่มากๆ เช่น เก็บบ้านหรือยัง ตื่นมาต้องทำนั่นทำนี่ก่อนนะ เพราะเราเป็นคนไม่ค่อยมีระเบียบ แต่ก็เข้าใจคนเป็นแม่ เขาอยากให้เรามีระเบียบ แต่ตอนนี้เราก็มีระเบียบขึ้นแล้วนะ
“ถ้าวันหนึ่งเราเป็นแม่คนเราก็หวงและห่วงลูกมาก ยิ่งลูกยังเล็กๆ เราคงยิ่งแพนิก ไม่เอานะ อย่าทำอันนี้นะ You’re gonna die” พูดจบเธอก็หัวเราะ
เธอเล่าว่าใช้อิสระที่พ่อแม่ให้ไปกับงานอดิเรกอย่างเช่นการเขียน การร้องเพลง และการเดินทาง “ธรรมชาติของเรา หากถูกปิดกั้นความเป็นอิสระ เราจะ suffer มาก ความอิสระเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา ดังนั้น เราจึงเป็นคนที่ต้องแสดงความเป็นตัวเอง หรือแสดงสิ่งที่เรามีอยู่ในใจออกมา ไม่ว่าจากการพูดหรือการกระทำ รวมถึงอิสระในการแต่งตัว อิสระในการเดินทาง หรืออะไรก็ตาม” บุคลิกร่าเริงของเธอตรงหน้าทำให้ผมเชื่อคำพูดของเธอ
เธอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องการเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ และบอกว่าเธอเข้าใจในสิ่งที่ทั้งคู่บอก “เขาอยากให้เรียนเพราะอยากให้สมองเติบโตพัฒนา สักวันถ้าไม่มีงานเป็นศิลปิน เราก็ยังมีความรู้ มีอะไรที่เกาะได้ แล้วเรารู้สึกว่าในสุดท้ายการเรียนก็ช่วยได้ในทุกด้านของชีวิต”
“ดังนั้น พอพ้นจากเรื่องการเรียน หากมีเวลาว่าง เราจะร้องเพลง แต่งเพลง แล้วก็ซื้อตั๋วเครื่องบินหนีเลย” เธอพูดและหัวเราะ “มีครั้งหนึ่งช่วงที่อยู่อิตาลี ตอนยังเป็นนักศึกษา เราจำได้ว่าเป็นวันศุกร์ เราไม่มีอะไรทำเลยโทร.หาเพื่อนสนิทชื่อแม็กกี้ บอกว่าเจอตั๋วเครื่องบินลดราคานาทีสุดท้ายไปลิเวอร์พูล เราก็จองด้วยกัน แล้วก็บอกพ่อแม่ว่าพรุ่งนี้จะไปลิเวอร์พูล แล้ววันต่อมาก็ไปกันเลย”
2
พลอยเล่าเรื่องการเดินทางกับเพื่อนสนิทของเธอในครั้งนั้นอย่างออกรสที่ลิเวอร์พูล เธอมีโอกาสได้ไป The Cavern Club อันเป็นผับแรกที่วงดนตรีในตำนานซึ่งเป็นชาวลิเวอร์พูลอย่างเดอะบีเทิลส์ได้ไปเล่น “Oh my god! that was so nice” เธอพูดเน้นเสียงเมื่อเล่าถึงตรงนี้ “ขนลุกมาก เราเข้าไปนั่งชิลๆ ในนั้นกับเพื่อนสาวกันสองคนพร้อมเบียร์ในมือและฟังเพลงสดตามประสาผับอังกฤษ เราจำได้ว่ามีศิลปินชายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียง แต่เขาเก่งมาก เราฟังไปก็มีความสุขไป”
เธอมีสีหน้าคิดถึงเรื่องราวในวันวาน และเล่าต่อไปว่า ช่วงนั้นเธอไม่ได้กลับเมืองไทยเป็นเวลานาน “มีโมเมนต์หนึ่งที่จะไม่ลืมเลยในชีวิต ตอนนั้นเหมือนเราไป get lost in the city กัน และได้เจอโบสถ์ระหว่างสำรวจเมืองกับแม็กกี้ พอเข้าไปข้างในก็เจอคุณยายคนหนึ่งกำลังนั่งอธิษฐานอยู่คนเดียว เราเกือบคิดถึงยายตัวเอง แล้วร้องไห้” เธอเล่าและหัวเราะ “พอกลับออกไปข้างนอก เราก็วิ่งตะเลงกันไปทั่วลิเวอร์พูลเลย แม็กกี้เป็นคนเอเนอร์จี้สูงเหมือนเรา เราไปนอนโฮสเทลกัน สนุกมาก ได้เจอคนมากมาย”
เธอบอกผมว่าดีใจที่ได้เล่าเรื่องเพื่อนของเธอ ซึ่งไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน แม็กกี้เป็นเพื่อนรักที่อายุเท่ากับเธอ เป็นคนแรกที่เธอได้ร้องเพลงด้วย “เมื่อก่อนเราขี้เขินมาก เราเลยชวนแม็กกี้มาร้องเพลงสนุกๆ ด้วยกัน จะได้เขินน้อยลง พวกเรามีไลฟ์โชว์แบบไม่จริงจังแรกในชีวิตด้วยกัน ตอนนั้นเราไปร้องเพลงในบาร์ให้คนในเมืองซึ่งมีอยู่สิบคนฟัง ร้องกันสองคน และเราเล่นกีตาร์ด้วย” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม และพูดถึงเพื่อนรักของเธอว่าตอนนี้อยู่ที่สเปน แต่ทั้งคู่ยังติดต่อกันอยู่ตลอด
“เราเป็นคนที่ต้องการอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา คือมีเอเนอร์จี้เยอะ และต้องหาทางปล่อยพลังออกไปให้เป็น productive คงมีบางคนที่อาจจะแฮปปี้และผ่อนคลายกับนั่งอยู่เฉยๆ แต่เราไม่ใช่ ต้องทำอะไรตลอดเวลา” เธอว่า “ยิ่งทำงานได้หนักยิ่งมีความสุข ถ้าไม่ได้ทำงานนี่ตายแน่ๆ ทั้ง depress ทั้ง stress” พูดจบ เธอก็เลื่อนตัวไปพิงผนังและค่อยๆ ไหลร่างลง เรียกรอยยิ้มให้ผมที่นั่งฝั่งตรงข้าม
ทันทีทันใด เธอกระเด้งตัวขึ้นและบอกว่า วันพรุ่งนี้เธอกำลังจะไปเชียงใหม่ “เราอยากไปเจอธรรมชาติ อยากไปฟาร์มดอกไม้ เลยไปจองโรงแรมที่แม่ริม ซึ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติมาก” พูดจบเธอก็ยกลาเต้ตรงหน้าขึ้นจิบแรก
3
สำหรับพลอย การใช้อิสระไปกับเรื่องการเขียนและการเดินทาง ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เธอได้สำรวจชีวิตตัวเอง ทั้งภายในและภายนอก เธอเปรียบให้ผมฟังว่า การเดินทางคือการสำรวจภายนอก ซึ่งการได้ไปเห็นสิ่งต่างๆ บนโลก ทำให้เห็นว่าโลกไม่ได้มีวัฒนธรรมเดียว ทำให้ได้เปิดสมอง และทำให้รู้ว่าเราไม่ได้ถูกไปเสียทุกเรื่อง “การได้เห็นว่าทุกคนมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่เรา ไม่มีผิดไม่มีถูก There just like different” เธอกล่าว “ทำให้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง หรือบางครั้งได้เห็นคนด้อยโอกาสกว่าเรา ก็ทำให้เราเรียนรู้ในการเป็นผู้ให้มากขึ้น”
เธอเปรียบเทียบว่าการเขียนเป็นเหมือนการสำรวจภายในตัวเอง และทำให้ได้ค้นหาความรู้สึกตัวเอง “เวลาเราเขียนอะไรออกไป เราจะรู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงชีวิตแบบไหน แล้วได้กลับมาคิดกับตัวเองว่า ทำไมเราคิดแบบนี้ เหมือนทำให้เรารู้ และตระหนักกับสิ่งที่เรารู้สึกตลอดเวลา
“บางครั้งมนุษย์จะกั้นจะเก็บและบอกตัวเองว่าไม่รู้สึกแบบนี้ดีกว่า แต่การเขียนช่วยเราให้เอาความรู้สึกออกไปให้หมด ทำให้สบายใจขึ้น เหมือนเป็นการทำสมาธิ เพราะตอนเขียนเราจะได้โฟกัสเฉพาะสิ่งที่คิดอยู่ ก็เหมือนให้เราได้เรียนรู้ตัวเองไปด้วย”
พลอยเป็นศิลปินที่ชอบเขียน ชอบบันทึกเรื่องราว เธอเขียนเพลงด้วยตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากเรื่องราวและมุมมองที่เธอเห็น รู้สึก และได้พบพาน นอกจากนั้นยังเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ เธอบอกผมว่าชอบอ่านหนังสือที่ให้แรงบันดาลใจ รวมถึงหนังสือที่เกี่ยวกับความรัก และชีวิต “ตอนนี้กำลังอ่านสองเล่มพร้อมกัน เพราะเป็นคนที่เบื่อง่าย เราจะไม่ค่อยบังคับตัวเองให้ทำอะไรถ้าไม่รู้สึกอยากทำ ดังนั้น ถ้าอ่านเล่มนี้ยังไม่จบ ก็กระโดดไปอ่านอีกเล่มหนึ่ง สลับไปมาได้” เธอว่า
เธอบอกว่าเล่มแรกที่กำลังอ่านตอนนี้ คือ Everything Is F*cked: A Book About Hope ของ มาร์ก แมนสัน ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ The Subtle Art of Not Giving a F*ck ที่เป็นเบสต์เซลเลอร์ของอเมริกา ส่วนอีกเล่มคือหนังสือเกี่ยวกับ Music Business ทั้งสองเล่มให้ความรู้ต่างกัน ในขณะที่เล่มแรกจะให้ข้อคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ แต่เล่มที่สองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพศิลปินของเธอโดยตรง “เราก้าวจากการที่ดนตรีเป็นงานอดิเรกและกลายเป็นงานแล้ว จะให้ร้องเพลงแต่งเพลงแค่นั้นไม่พอ ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง หนังสือเล่มนี้ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับการเป็นศิลปิน เขาชวนให้คิดว่าคุณเป็นศิลปินแบบไหน วิชวลสำคัญไหมสำหรับคุณ มีหลายเรื่องมากที่น่าสนใจ”
ถึงตรงนี้ ผมถามเธอว่า เธอเขียนไดอะรี่ด้วยหรือไม่ เธอตอบผมว่าเขียน และถามว่าอยากดูไหม ก่อนจะเอื้อมไปค้นกระเป๋าที่วางอยู่ข้างกาย และหยิบไดอารีเล่มเล็กขึ้นมา มันเป็นหนึ่งในจำนวนหลายเล่มที่เธอเขียน เธอกรีดหน้ากระดาษพลางพูดว่า “เราเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยตามที่คิดและรู้สึก” ก่อนจะเปิดค้างที่บันทึกหน้าหนึ่งที่เธอบันทึกตอนไปทะเล และเริ่มเล่าสิ่งที่เขียนให้ผมฟัง
Lie on the surface of the sea
Reminds me of the ones I have one on me
“เราเห็นริ้วคลื่นเล็กๆ เป็นลายเหมือนผิวคน เราเลยคิดว่าทะเลก็คงแก่เหมือนเราแหละ” พูดจบเธอก็ปิดไดอารีลงและมีรอยยิ้ม
“อยากเขียนหนังสือไหม” ผมลองถามเธอ
“อยากมาก” เธอตอบทันที และเล่าว่าช่วงกักตัวเธอเขียนบันทึกความคิดเยอะมาก แต่ทุกอย่างต้องหายไปจากการที่เธอเผลอลบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ “แต่วันหนึ่งก็อยากเขียน Thoughts Poem” เธอว่า “เหมือนเป็นแค่ความคิดของเราสั้นๆ ที่อาจจะชวนคนคิดหรือเชื่อมโยงได้ Just like a meaning lyrics”
เธอบอกผมว่า จะตั้งชื่อหนังสือว่า ‘Captions by Valentina Ploy’
4
วาเลนติน่า พลอย เป็นศิลปินไทยที่มีสไตล์ชัดเจนทั้งในเรื่องดนตรี และภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะบนเวที หรือในโซเชียลมีเดียส่วนตัว ความที่เธอเป็นลูกครึ่ง และการใช้ชีวิตด้วยการปลูกฝังเรื่องอิสระมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอมีความตรงไปตรงมาในการแสดงออกความเป็นตัวเองเรื่องไลฟ์สไตล์ ผมสงสัยสิ่งเหล่านี้ทำให้เธออึดอัดกับการแสดงออกในสังคมไทยที่ค่านิยมหลายเรื่องดูจะเป็นสิ่งที่ลำบากหรือไม่
“อึดอัดนะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องวัฒนธรรม” เธอกล่าว “ไม่ได้รู้สึกว่าเราถูกนะ แค่รู้สึกว่าถ้าเป็นเรื่องที่มีคนอื่นเกี่ยวข้องด้วย เราก็ต้องกลับมาคิดทบทวนในการแสดงออก แต่ถ้าเป็นการแสดงออกโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรให้คนอื่นเสียหายอย่าง เราก็จะทำ
“อย่างเช่นการใส่บิกินี่ลงโซเชียลฯ มันเป็นเรื่องปกติสำหรับเรามาก แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนไทย แม่ก็ยังทักมาบอกเลยว่า “ลูก ลงได้นะ แต่พอสวยพองาม ไม่ต้องลงเยอะไป” เธอหัวเราะเล็กน้อยและยกลาเต้ขึ้นจิบ ก่อนจะเล่าต่อ “เราแค่รู้สึกว่าอยากลงอะไรก็ลง แต่ก็เข้าใจว่าคงเป็นเรื่องวัฒนธรรมของคนไทย ที่บางครั้งจะมีกรอบว่าทำสิ่งนี้ไม่ได้
“เราแค่รู้สึกว่า If it’s something that bothers you, I will not do it. But if it something that I do, and it doesn’t have nothing with your life, I will express it แค่นั้น”
เธอเล่าว่าการเป็นศิลปิน รวมถึงการเคยประกวดเวทีนางงามทำให้เธอโดนว่าเรื่องการใส่บิกินี่ถ่ายภาพลงโซเชียลฯ บ่อยมาก “เราแค่คิดว่าการใส่ชุดว่ายน้ำทำให้ความเป็นศิลปินเราน้อยลงตรงไหน” เธอว่า แต่ไม่ได้มีน้ำเสียงโมโห กลับกัน เป็นการเล่าด้วยความรู้สึกขำๆ เสียมากกว่า “มีหลายสิ่งที่ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงทำไม่ได้ แต่เราก็ทำไปของเราเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน หรือเราเคารพพื้นที่ของทุกคนด้วยก็พอ
“เรามีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เป็นตัวของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เราคิดว่าดีนะ เพราะหลายครั้งคนเราถูกบังคับให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง จนเก็บมาเครียดและไม่มีความสุข ดังนั้น มันคงดีถ้าคุณสามารถแสดงความเป็นตัวคุณเองออกมาได้ ยิ่งถ้าทำให้คนอื่นอยากจะแสดงออกตามในแง่บวก หรือในแง่ดี แต่ถ้าแง่ไม่ดีเราก็ไม่สนับสนุน
“ชีวิตมันสั้นมากเลยที่คุณจะไม่มีความสุข” เธอกล่าวน้ำเสียงราบเรียบพร้อมรอยยิ้ม
ผมถามความคิดเห็นของเธอเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งการพูดและการกระทำ เธอพูดติดตลกว่า การตอบจะทำให้เธอตกไปสู่เรื่องการเมืองหรือเปล่า ก่อนจะหัวเราะออกมา “เราคิดว่ามันเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาที่สุดในโลก” เธอตอบ “ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกความเป็นตัวคุณเอง หรือการแสดงออกทางความคิดเห็น ถ้าคุณไม่ได้พูดอะไรให้ใครเสียใจ หรือถ้าไม่ได้ไปคุกคามใคร มันเป็นสิทธิ์ของคุณ แต่เราสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการพูดที่ยังเคารพกัน คุณจะพูดอะไรก็ได้ แต่ยังต้องเคารพอีกฝ่ายหนึ่ง
“ไม่อย่างนั้น มันเหมือนคุณต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการพูด แต่คุณกลับทำสิ่งเดียวกันกับที่คุณเกลียด มันก็เป็นเพียงวงเวียนของความเกลียดชัง และไม่ได้พาเราไปไหน”
เธอบอกว่า มนุษย์เราควรแสดงออกทุกสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้ หากไม่ได้เป็นการทำร้ายให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี “ไม่อย่างนั้นก็เป็นการบูลลี” เธอลดน้ำเสียงลงเล็กน้อย “มันเป็นเส้นบางๆ ระหว่างเสรีภาพในการพูดที่อาจจะกลายเป็นการบูลลีได้ง่ายดาย โดยที่คุณอาจจะไม่ได้รู้ตัว ดังนั้น It’s good to be free แต่ให้คิดถึงความรู้สึกคนอื่นด้วย”
ผมยกตัวอย่างกรณีที่ทุกวันนี้มีการขับเคลื่อนประเด็น LGBT ในสังคมมากขึ้น เธอพูดขึ้นทันทีว่า “เราปกป้องคนเหล่านี้มาก เราคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุด เราว่ามันไม่ควรเป็นหัวข้อที่ต้องพูดในปี 2020 แล้วด้วยซ้ำ เพราะมันควรเป็นเรื่องปกติและธรรมชาติ”
พูดจบ เธอเอ่ยขอโทษขึ้นมา และบอกว่าตัวเองพูดมาก “เพิ่งกลับมาจากเที่ยว ก็เลยพลังเยอะ” เธอหัวเราะและยกลาเต้ในแก้วขึ้นจิบเบาๆ อีกครั้ง
5
ผมถามเธอว่า การได้แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองแสดงออกได้เต็มที่มันมีข้อดีอย่างไร เธอครุ่นคิดเล็กน้อย ก่อนจะตอบน้ำเสียงราบเรียบ “มีความสุขนะ” ก่อนจะอธิบายต่อว่า การได้แสดงออกเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง เพราะทำให้ไม่เก็บกด “สุดท้ายมนุษย์ทุกคนก็มีความต้องการจะแสดงตัวตนของตัวเองทางไหนก็ได้ ในการไม่แสดงก็คือวิธีหนึ่งในการแสดงตัวตนของตัวเอง ดังนั้น เราเองเป็นคนบ้าคนหนึ่งที่อยากแสดงตัวตน และคิดว่าทุกคนควรจะมีอิสระที่จะทำสิ่งที่ทำให้คุณสบายใจ
“ถ้าคุณทำสิ่งที่ถูกต้อง It can make a contribution to society อย่างเช่น เด็กที่เขาอาจจะไม่กล้า หรือรู้ว่าตัวเองชอบแบบนี้ แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกมา เพราะกลัวคนอื่นว่า ถ้าคุณทำก็เหมือนทำให้เขาได้เห็นว่า ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขาเองก็ทำได้”
เธอยกเรื่องความขี้อายของเธอขึ้นมาเล่าอีกครั้ง เธอบอกว่าการไปประกวดนางงามเมื่อปี 2018 ก็เพื่อทำให้คนเห็นว่า “ถ้าคนตัวเตี้ยอย่างเรา ไม่ได้สวยเท่าคนอื่น ไม่ได้มีจริตนางงาม แต่ไปประกวดได้ คุณก็ทำได้นะ”
ผมสนใจว่าคนที่มีบุคลิกดูร่าเริงกับทุกเรื่องอย่างเธอจะทุกข์กับอะไรบ้าง เธอหัวเราะและตอบทันทีว่ามีหลายเรื่อง “จะมีความสุขตลอดเลยก็ยาก แต่ว่าการมีความสุขก็เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกด้วย มันไม่ใช่เราเกิดมาแล้วมีความสุขหรือเราไม่มีปัญหาเลย เรามี แต่เราแค่ต้องฝึกให้ไม่ทุกข์” เธออธิบายว่าการมีความสุขเหมือนกีฬาที่ต้องฝึกฝน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและต้องพยายาม “ตอนเด็กๆ เรามีปัญหาเรื่องความเครียดจนเจ็บหน้าอก แต่ก็ต้องพยายามผลักมันออกไป หรือแค่ต้องพยายามรู้สึกถึงมันให้เข้าใจจริงๆ แล้วบอกว่า โอเค ไม่เป็นไร”
“แต่หากถามว่าเราทุกข์กับเรื่องอะไรโดยเฉพาะ หนึ่ง เมื่อเราไม่มีอิสระในการแสดงออกของตัวเอง หรืออย่างเช่นเวลาเรามีพลังงานเยอะมาก แต่เราไม่มีช่องทางในการระบายสิ่งนั้นออกไป สมมติใครมาบังคับไม่ให้ร้องเพลง หรือเขียนเพลง ก็จะทุกข์ หรือเวลาคนที่เรารักเป็นอะไร เราจะทุกข์มาก และเรื่องอื่นจะไม่สำคัญเลย
เธอเล่าว่าการแสดงออกความเป็นตัวเองมีสิ่งที่ต้องแลกมา โดยเฉพาะในวงการบันเทิงไทยที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ “แม้กระทั่งแค่กับสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาในประเทศไทย” เธอยกข้อมือขวาขึ้นมาและชี้ให้เห็นหนังยางรัดผมที่เธอเอามารัดข้อมือ “เวลาไปถ่ายรูป เขาจะบอกเอาให้อันนี้ออกนะ แล้วเราเป็นผู้หญิง เป็นศิลปิน ทำงานในวงการนี้ บางครั้งถ้าไม่เป๊ะอย่างที่คนต้องการ คุณก็ไม่ได้งาน
“It’s still the minority in Thailand ที่แค่จะเป็นตัวของตัวเอง และช่างแม่งกับทุกอย่าง เพราะประเทศเรายังชินกับการต้องเป็นแบบนี้ๆ นะ อย่างเช่น ตอนเราประกวดนางงาม เขาก็บอกว่าเป็นนางงามต้องเป็นแบบนี้นะ ซึ่งเราไม่เห็นด้วย”
“มันคุ้มไหมกับสิ่งที่คุณต้องแลกมา” ผมสงสัย
“On the short term, maybe not. On the long term, Yes” เธอตอบชัดถ้อยชัดคำ
“ในระยะสั้นบางครั้งก็อาจทำให้เราต้อง struggle มากขึ้นในการหางานหรืออะไรทำนองนั้น แต่ในระยะยาวของชีวิต มันคุ้มที่สุดในโลก ที่เราจะไม่เอาสิ่งนี้ไป compromise กับตัวตนของเรา หรือให้ใครมาตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด
“เราคิดว่ามันถึงเวลาสำหรับทุกคนที่จะเปลี่ยนความเชื่อว่าอะไรถูก อะไรผิด เพราะทุกอย่างที่ทำให้คุณเป็นตัวของตัวเองนั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าคุณไม่ได้ไปทำอะไรให้ใครเสียหาย”
เธอยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งที่ชอบขึ้นมา หนังสือเล่มนั้นคือ Tuesdays with Morrie (แปลไทยในชื่อ วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี) ซึ่งเป็นเรื่องจริงของอาจารย์และนักสังคมวิทยาที่กำลังจะเสียชีวิตเพราะโรคเอแอลเอส แต่ก็ยังมีบทเรียนชีวิตให้กับบรรดาลูกศิษย์ซึ่งแวะเวียนมาหาประจำทุกวันอังคาร “มันทำให้เรารู้สึกว่าบางทีเราเองก็เครียดกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือบางครั้งก็แอบไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะเราก็เป็นมนุษย์ แต่ครูมอร์รีแค่บอกว่า สักวันหนึ่งเวลาที่คุณป่วยอยู่บนเตียงและกำลังจะตาย ทุกอย่างมันกลับด้านหมดเลย เพราะคนสุดท้ายที่อยู่บนเตียงตายก็คือตัวคุณเอง
“มันไม่ง่าย แต่เราก็ต้องพยายามเตือนตัวเองเอาไว้”
หลังสนทนากันจบ เธอบอกผมว่าจะมีซ้อมดนตรีต่อในช่วงเย็น แต่ตอนที่เราเดินออกจากร้านกาแฟเล็กๆ แห่งนั้น ท้องฟ้าภายนอกขมุกขมัว มีลมเย็นๆ และมีฝนเม็ดละเอียดโปรยลงมา
เธอแหงนหน้ามองฟ้าเล็กน้อย ก่อนจะบ่ายหน้ากลับเข้าไปในร้าน เดินไปที่เคาน์เตอร์บาร์ และพูดว่า ขอลองสั่งครัวซองก์มาชิมดูก็แล้วกัน เธอพูดแบบนั้นด้วยรอยยิ้มสดใส