วันนั้นกรุงเทพฯ ฝนตกหนัก ทั้งเมืองชุ่มโชกเปียกปอน ม่านฝนหนาหนักปกคลุมมหานคร แม้จะเป็นช่วงบ่าย แต่ก็ไร้แสงแดดสาดส่อง ระหว่างทางที่ผมกำลังเดินทางอยู่บนระบบขนส่งสาธารณะเมืองหลวง ‘สิงห์’ – วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โทรศัพท์มาหาผม และแจ้งว่าขอเปลี่ยนสถานที่นัดหมายไปยังบ้านของเขาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านที่เรานัดหมายกันในทีแรก สาเหตุคือคนที่จะมาเฝ้าบ้านให้เขาไม่สามารถฝ่าฝนมาได้ เขาจึงต้องอยู่เฝ้าบ้านแทน เราจึงเปลี่ยนแผนกันในทันที
เมื่อไปถึงที่บ้านเขาในซอกซอยแสนสงบย่านอารีย์ ฝนซาลงไปมาก ก่อเกิดบรรยากาศทึมๆ หลังฝนตก เขาออกมาต้อนรับด้วยบุคลิกสบายๆ เขารูปร่างสูง ผิวคล้ำแดดจากการเดินทาง สวมเสื้อยืดสีดำสกรีนชื่อรายการ ‘เถื่อน’ ที่เขาผลิตทางสื่อออนไลน์ และประสบความสำเร็จอย่างมาก สวมกางเกงขาสั้น และสวมหมวกแก๊ป เขาเดินนำหน้าเราเข้าไปในบริเวณบ้านที่ร่มรื่น ผ่านบ้านหลังแรก และลานกลางแจ้งเล็กๆ มายังบ้านสองชั้นหลังที่สองที่มีอายุกว่าหกสิบปี ซึ่งเขาอาศัยอยู่หลังนี้
เมื่อเข้าไปใต้ชายคาบ้าน เขาพาผมไปยังห้องฝั่งด้านในที่กว้างขวาง และปลีกตัวไปชงกาแฟดำง่ายๆ ในห้องนี้แบ่งสัดส่วนเป็นมุมเครื่องดนตรี มุมโต๊ะทำงาน และมุมพักผ่อน ผมกวาดตามองเห็นของสะสมมากมาย ทั้งจากความชอบส่วนตัว และจากการเดินทาง กระเป๋าเป้หลายใบที่ห้อยแขวนใกล้โต๊ะทำงาน ฟิกเกอร์ตัวการ์ตูน และตัวละครจากภาพยนตร์แนวฮีโร่ รวมถึงแม็กเนตจากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกที่แปะซ้อนกันจำนวนนับไม่ถ้วน
ไม่นานนัก เขากลับเข้ามาพร้อมกาแฟดำในถ้วยกระเบื้องเคลือบ และเดินไปนั่งโต๊ะทำงาน ที่ด้านหลังเป็นผนังกรุกระจก มองเห็นสวนเล็กๆ เขานั่งตัวตรง ปักศอกสองข้างลงบนโต๊ะอย่างมั่นคง ผมตระหนักดีว่าเบื้องหน้าผมคือนักทำสารคดี นักสิ่งแวดล้อม และนักเขียน ที่สังคมให้ความสนใจ เขาถูกสังคมเฝ้ามองตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เพราะเป็นลูกของบุคคลที่มีชื่อในสังคม และถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ไปจนถึง ‘เด็กดื้อ’ ณ เวลานั้น เพราะความคิดที่แตกต่างจากคนวัยเดียวกัน
เขาเล่าให้ผมฟังด้วยท่าทีสบายๆ ว่า เขาไม่เคยชอบกาแฟเลยตลอดชีวิตที่ผ่านมา แต่เมื่อปีก่อนเขาเดินทางไปดินแดนไอซ์แลนด์ที่หนาวเหน็บ จนต้องซดกาแฟดำเพิ่มความอบอุ่น “ตอนนั้นกินแล้วก็คิดว่าไม่แย่นะ แปลว่าลิ้นคนเราพอแก่ขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปในตัว เพราะตอนเด็กๆ กินแล้วไม่ชอบเลย” เขาพูดและยกกาแฟดำในแก้วขึ้นจิบ
ผมรู้สึกอยากเริ่มต้นบทสนทนาด้วยความผ่อนคลาย จึงลองถามเขาเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของเขาที่คนกำลังให้ความสนใจในเวลานี้ เขายิ้มเขินและหัวเราะ “พอจะเห็นอยู่ว่าเปิดหน้าฟีดมาก็เห็นแต่หน้าตัวเอง” เขาว่า “อยู่มา 36 ปีแล้ว เราก็รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีกับชีวิต ถือว่าช่วงนี้มีความสุขดี”
ข้อสังเกตที่คนให้ความสนใจคือความเป็นนักสิ่งแวดล้อมระหว่างเขาและเธอ จนให้ฉายาว่า ‘คู่รักนักสิ่งแวดล้อม’ เขาไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ และยอมรับว่าเขาและเธอมีจุดร่วมตรงนั้นจริง ทั้งคู่ได้เจอกันครั้งแรกด้วยเรื่องงาน หลังฝ่ายหญิงทักมาชวนเขาร่วมโปรเจ็กต์งานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในโซเชียลฯ “ตอนนั้นไม่มีเรื่องพวกนี้นะ คุยเรื่องงานอย่างเดียว” เขาพูดและหัวเราะ ก่อนอธิบายต่อว่า ช่วงต้นปีเขาเองก็เพิ่งสลับจากการทำงานรายการ เถื่อน Travel ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นสงคราม ความขัดแย้ง มาสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง “เพราะฉะนั้น ก็สมพงศ์กันพอดี หลังจากนั้นก็อย่างที่เห็น” เขายิ้ม และยกกาแฟขึ้นจิบ
เขาเล่าต่อว่า นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ เขาและเธอยังมีหลายสิ่งในเชิงสังคมที่วางแผนทำร่วมกัน โดยเฉพาะกับเรื่องสิ่งแวดล้อม “เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์แบบนี้ดี เพราะไม่ได้คุยกันแค่เรื่องเราสองคนอย่างเดียว แต่เราคุยกันเรื่องโลกด้วย เราอยากทำอะไรร่วมกันที่น่าจะส่งผลกระทบในทางที่คิดว่าดีต่อโลก”
พูดจบ เขาหัวเราะเขินๆ อีกครั้ง ตอนนั้น ผมคิดว่าผมน่าจะเปลี่ยนประเด็นคุยกับเขาได้แล้ว
1
เขาขยับตัวหลังตรง และมีสีหน้าจริงจังขึ้น เมื่อผมเริ่มถามเขาว่า มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เขาตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “น่าสนใจและน่าทึ่งมาก” เขาอธิบายว่าสภาพสังคมปัจจุบันกับวันวัยที่เขายังเป็นวัยรุ่นนั้นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตื่นตัวของเยาวชน ในวัยเด็ก เขาเองก็มีความคิดสงสัยเรื่องกฎระเบียบ เช่น การตัดผม การแต่งกาย รวมถึงวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น การหมอบกราบ “แต่ไม่มีใครคิดว่าเราทำอะไรได้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ไม่มีการรวมตัวกัน ไม่มีเซนส์ในสังคมว่าเรามีอำนาจในการต่อรองนะ” เขาพูด “ในเชิงโครงสร้างอำนาจก็เหมือนเรายอมรับมันไปโดยปริยาย ซึ่งตอนนั้นเรากลับคิดว่าเราไม่ได้อ่อนข้ออะไร แต่รู้สึกว่ามันก็เป็นเช่นนั้น มันคือวิถี คือสภาพที่เป็นอยู่ แต่พอในยุคนี้ เราเชื่อว่าความรู้สึกน้องๆ อาจไม่ได้ต่างจากเราในตอนนั้นมาก แต่ว่าเขาอยู่ในความเป็นจริง หมายถึงเขาทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้ เขามีสิทธิ์มีเสียงของเขา แล้วเขาสามารถต่อรองกับผู้ใหญ่ได้”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคลื่นแรกของคนรุ่นใหม่เริ่มมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น ที่มีสมาชิกอายุน้อยสังกัด เราได้เห็น ส.ส. อายุหลักยี่สิบ ที่เข้าไปอภิปรายในสภากับ ส.ส. ที่มีอายุ และมีประสบการณ์ กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จึงเกิดเป็นคลื่นถัดมาของคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวนอกสภา ต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ประเด็นเรื่องการเมืองในสภาจึงกระจายไปสู่เรื่องการพูดประเด็นต่างๆ นานาในสังคมมากมาย ที่ขยายตัวตามแพลตฟอร์มข้อมูลที่คนรุ่นใหม่ใช้ จึงเกิดความตื่นตัวเร็วมากยิ่งขึ้น “สิ่งเหล่านี้ทำให้คนหนุ่มสาวตื่นตัวเรื่องการเมือง โดยเฉพาะกับความคิดที่ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของประเทศ และมีพลังสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
“ล่าสุดเราเพิ่งจัดอีเวนต์เกี่ยวกับเรื่องการจัดการขยะ มีแฟนคลับเราคนหนึ่งอายุประมาณ 15-16 บอกว่าชอบงานเรามาก และได้คุยกัน เราพบว่าประเด็นที่น้องเขาเอามาพูดกับเรามันลึกมาก ทั้งจากการที่ได้เสพงานเรา และการศึกษาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นการเมือง สังคม มีการพูดเรื่องสถาบันอย่างจริงจัง เขาถามเรื่อง 6 ตุลา 14 ตุลา ถามเรื่องพ่อแม่เรา เราก็ โห ความรับรู้เขากว้างกว่าเราเยอะมาก
“มันทำให้มีความหวังมากพอสมควร” เขาพูด “เพราะเราคิดว่าเป็นธรรมชาติของคนวัยนี้ที่เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนคนอาจไม่รู้ว่าเรามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว และเรากำลังตื่นขึ้นมา”
เขายกกาแฟดำขึ้นจิบเบาๆ และบอกผมว่า ในตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่นช่วงยี่สิบต้นๆ ถึงยี่สิบกลางๆ ใครที่สนใจเรื่องสังคมจะดูแตกต่างจากคนอื่น เพราะช่วงเวลานั้น ผู้คนจะพูดเรื่องการทำงาน เรื่องการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาด้านความมั่งคั่งมากกว่า ในขณะที่ตอนนี้ การพูดคุยเรื่องสังคมดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ “เราคิดว่าถ้าเรายังเป็นเด็กตอนนี้ เราคงไม่รู้สึกเหงาเหมือนกับที่เราเคยรู้สึก” เขาพูด “เรารู้สึกแปลกแยกพอสมควรในรั้วมหา’ลัย ตอนนั้นเราพยายามพูดเรื่องสังคมค่อนข้างเยอะ แต่เหมือนว่ามันไม่ใช่ norm ที่จะมานั่งคุยกันเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคุยบนโต๊ะอาหารทั่วไป ในขณะที่เราจินตนาการว่าเด็กในยุคนี้คงไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกแยกแล้วหากจะคุยเรื่องพวกนี้กัน ซึ่งเป็นเรื่องดี ในแง่การนำสังคมไปข้างหน้า” เขาสรุป
2
เรามักคุ้นชินกับภาพสิงห์ดำเนินรายการทางช่องของเขาด้วยบุคลิกทะมัดทะแมง การบรรยาย อธิบายด้วยน้ำเสียงหนักแน่นมั่นคง ผมพบว่ายามพูดเรื่องจริงจัง เบื้องหน้าตัวจริงเขาแทบไม่ต่างจากตอนอยู่ในรายการเลย เขากล่าวว่าสิ่งที่เขากังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อยู่บ้างคือ ‘วัฒนธรรมของการพูดประเด็นทางสังคม’ ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะทำให้สังคมตื่นตัวขึ้น แต่ก็อาจนำพาไปสู่สังคมซึ่งเป็นมิตรกันน้อยลงได้ “เราเซนสิทีฟกับประเด็นด้านสังคมมาก แต่ความสงบทางอารมณ์ในการอยู่ในสังคมมันก็น้อยลงไปมาก” เขาว่า “ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสาธารณะก็ดี หรือบุคคลทั่วไปก็ดี ถ้าพูดผิดจากประเด็น หรือพูดต่างจากสวนกระแสของการที่คนคิดอยู่ ก็จะโดนปรากฏการณ์ทัวร์ลง
“บางทีเรามองว่าเป็นประโยชน์มากนะ เพราะมันเป็นการเช็กเรื่องอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ต้องพึ่งกลไกในสภาเลย แต่บางทีก็มาลงโดยไม่ต้องมีหลักฐานมายืนยันอะไร จนเหมือนการตัดสินเป็นทั้งทนาย ผู้พิพากษา ลูกขุน จบภายในประโยคเดียว ซึ่งทำให้ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในสังคมชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยบางครั้งก็มีประเด็นซึ่งชัดเจนอยู่ตรงกลาง แต่บางครั้งก็รู้สึกว่ามันรวดเร็วฉับไวในการตัดสินเกินไปหรือเปล่า”
เขากล่าวว่า หากสามารถผลักดันไปสู่สังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแล้ว ระหว่างทางต้องใส่ใจเรื่องการลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น รวมถึงการประนีประนอมในเชิงความรู้สึก “เราเห็นด้วยกับการที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูดประเด็นต่างๆ แต่ลองคิดดู สมมติว่าแม่เราหรือพ่อเราไปตกอยู่ในกลุ่มของคนที่เราคิดว่าเป็นสลิ่ม แล้วเราจะเกลียดพ่อเราแม่ที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เกิดเลยเหรอ” เขาเว้นจังหวะครู่หนึ่งก่อนพูดว่า “ถ้าคำตอบคือใช่ เราจะเกลียดพ่อแม่ด้วยความคิดที่ต่างกัน เรารู้สึกว่านั่นไม่น่าเป็นสังคมที่เราต้องการ เพราะคุณค่าของความเห็นด้านการเมืองมันสูง แต่ว่าคุณค่าของความสัมพันธ์ สายใย และความเป็นมนุษย์ด้านอื่นๆ ก็ต้องคงไว้ด้วย
“แต่แน่นอนว่า ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ได้เป็นการหยุดว่าไม่ให้คนรุ่นใหม่ส่งเสียง ไม่ควรหยุดด้วยซ้ำ เพียงแค่ระหว่างทางก็ต้องคิดในด้านอื่นๆ นอกจากการเหยียบคันเร่งไปด้วย”
3
วรรณสิงห์เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ในช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น แต่พอถึงตอนนี้ เขากล่าวเขินๆ และหัวเราะว่าไม่กล้าพูดประโยคนั้นแล้ว “หนึ่งคือแก่แล้ว สองคือเราตามเด็กไม่ทัน เขาก้าวหน้าไปกว่าเราเยอะ ในเชิงความคิด ในอายุเท่าๆ กัน แม้กระทั่งในตอนนี้ เราอายุ 36 แล้ว บางอย่างเรายังไม่รู้เลย แต่น้องๆ เขาสามารถตื่นตัวและเป็นผู้นำความคิดได้ ทั้งที่เขาอายุน้อยกว่าเราตั้งเยอะ”
ผมอยากรู้ว่าในมุมของอดีตคนรุ่นใหม่ที่เติบโตเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เขามองเข้าไปในการเคลื่อนไหวและสนใจสิ่งใดบ้าง เขาบอกว่า ประเด็นที่ยังไม่มีการพูดถึงในกระแสสังคมตอนนี้แต่เขาอยากเห็น คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่าเราได้เห็นประเด็นเรื่องการศึกษา ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องศาสนา แต่ตอนนี้กลุ่มเยาวชนยังไม่ได้พูดถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่เห็นในเชิงเชื่อมโยงกับการเมืองโครงสร้างหรือภาพรวมภาพใหญ่เท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลสูง และเยาวชนอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกมาก กว่าจะได้รับความรู้ความเข้าใจ “ซึ่งไม่ได้เป็นการดูถูกสติปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น แค่บางเรื่องมันต้องไปศึกษาข้อมูลมาจริงๆ” เขาพูด และอธิบายต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของเขาเองในฐานะคนที่เริ่มศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักสิ่งแวดล้อมอีกหลายๆ คน ที่กำลังทำเรื่องนี้ ที่ต้องช่วยผลักเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาสู่ประเด็นที่อยู่แนวหน้า โดยไม่เอาข้อมูลไปใส่ให้เยาวชน “นี่คือยุคสมัยที่สังคมกำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ประเทศไทยเองก็หย่อนยานเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานมาก หากเราพูดกันเรื่องนี้ในวาระปกติคนอาจจะไม่ได้ฟังมาก แต่หากได้พูดในวาระนี้ ไปพร้อมกับคลื่นลูกนี้ เราอาจจะสามารถผลักดันอะไรได้มากกว่าเดิมก็ได้”
เขาบอกว่าสิ่งที่เขาสนใจมากอีกข้อคือกลุ่มเด็กมัธยมที่ออกมาพูด และออกมาตั้งประเด็นของตัวเอง โดยไม่ได้ตามรุ่นพี่ในระดับมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว รวมถึงการเกิดขึ้นของ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ ในการเรียกร้อง หรือเปิดเวทีคุยกับ รมว. ศึกษาธิการ “เราเข้าใจว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหรือเปล่าที่มีม็อบที่ก่อตั้งโดยเด็กมัธยมเอง ไปคุยในระดับโครงสร้างขนาดนี้ และจะนำมาซึ่งอีกหลายอย่างมากมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ที่การตระหนักเรื่องสิทธิของมนุษย์จะเริ่มกว้างขึ้น” เขากล่าวด้วยความตื่นเต้นในแววตา “แต่การตื่นตัวเรื่องสิทธิไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่จะค่อยขยายออกไปจากจุดเล็กๆ ที่คือตัวเรา และกระจายไปสิทธิของผู้อื่น กระจายไปสิทธิของสปีชีส์อื่น ซึ่งตอนนี้กำลังตื่นตัวมากขึ้นในสังคมไทยพร้อมกัน”
ถึงตรงนี้ ผมย้อนกลับไปเรื่องที่เขาบอกว่าเขารู้สึกแปลกแยกในสมัยเรียน เพราะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคม ในขณะที่อาจยังไม่ใช่หัวข้อที่จะพูดคุยกันอย่างเป็นเรื่องปกติ ผมอยากรู้ว่าเขาเสียดายหรือไม่ที่เกิดเร็วไป เพราะหากเป็นตอนนี้ เขาอาจจะไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้น และได้ขับเคลื่อนสังคมร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ เขาครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า “อะไรที่เกิดขึ้นแล้วดีทั้งนั้น” เขายืนยันว่าถึงแม้จะไม่ได้มีเวทีคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น แต่ช่วงวัยยี่สิบกลางเขาก็ได้ค้นพบตัวเองใหม่ในฐานะนักเดินทางที่ได้เก็บประสบการณ์จากทั่วโลกมาเผยแพร่ให้คนดู
“แต่ว่าถ้าเรายังเรียนอยู่ตอนนี้ เราก็รู้ตัวว่าเราอยู่บนเวทีพวกนั้นแน่ๆ” เขายิ้ม “เราคงจะได้เติมเต็มตัวเองพอสมควร เพราะตอนวัยหนุ่มเรากังขามาตลอดว่าเราจะเป็นใครได้บ้าง ถ้าไม่ได้เป็นแค่ลูกพ่อลูกแม่ของตัวเอง แต่ว่า ณ ตอนนี้เราอายุ 36 เราไม่ได้คิดเรื่องพวกนั้นแล้ว เพียงแค่บางทีเห็นหนุ่มๆ สาวๆ ตอนนี้ก็นั่งสะท้อนกลับไปหาตัวเองในตอนนั้นเหมือนกันว่า ถ้าสังคมเป็นเช่นนี้ในวัยนั้น เราก็คงอยู่ตรงนั้น”
“ทั้งหมดทั้งปวง ย้อนกลับไปตอนที่เราเรียนอยู่ มันไม่มีความคิดที่ว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าลองสังเกตสังคมตอนนี้ เหมือนแค่ดีดนิ้ว ทุกคนก็เชื่อมพร้อมๆ กันว่าเขาเปลี่ยนแปลงได้ ขอแค่มีคนคิกออฟก่อนสักกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่การล้มล้างสิ่งที่เราเคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่เป็นการตั้งคำถามเสียเยอะ ระหว่างตั้งคำถาม บางคนอาจจะได้คำตอบต่างกันไปก็ได้ แต่ว่าในที่สุดโอกาสในการตั้งคำถามก็มาถึงสักที ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราไม่มีโอกาสนี้เท่าไหร่”
เขายกแก้วกระเบื้องเคลือบที่มีกาแฟดำเข้มขมขึ้นจิบอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศนิ่งเนิบของบ้านเขาเอง
4
“เรานับถือในความกล้า แต่ถ้าให้เราพูดกับเขา เราอยากขอให้เขาอยู่เพื่อประชาธิปไตยดีกว่า” วรรณสิงห์ลดน้ำเสียงลง ทว่ายังมีความหนักแน่นอยู่ในนั้น ก่อนหน้านี้ผมได้สัมภาษณ์บุคคลหลายท่านที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับกลุ่มแกนนำเยาวชน ซึ่งหลายคนประกาศว่าเขายอมตายเพื่อประชาธิปไตย ผมจึงลองถามวรรณสิงห์เกี่ยวกับประเด็นนี้
“สมมติว่าเขาเสียสละและตายไป แน่นอนว่าจะยิ่งเพิ่มพลังให้กับการเคลื่อนไหวนี้” เขาประสานมือทั้งสองข้างบนโต๊ะ “แต่ว่าเราเห็นความสูญเสียในประเทศสงครามทั้งหลายมาเยอะ คนยิ่งตาย ประชาชนยิ่งโกรธ ประชาชนยิ่งโกรธ ก็นำมาซึ่งความรุนแรงทางอารมณ์ แล้วยิ่งรัฐบาลไม่ตอบสนองใดๆ ประชาชนก็ยิ่งโกรธมากขึ้น ในที่สุด อาวุธก็จะเข้ามาในสมการ ซึ่งพอมีกระสุนนัดแรกยิงขึ้น มันเบรกลำบากแล้ว” เขานิ่งดึงจังหวะในการพูดช้าลง “ทุกฝ่ายมีแรงจูงใจของตัวเอง ฝั่งหนึ่งก็บอกว่าเรายอมตายเพื่อประชาธิปไตย ฝั่งหนึ่งก็บอกว่ายอมตายเพื่อชาติ แล้วก็มองเป็นศัตรูกัน พอเริ่มสาดยิงกันขนาดนั้น เรื่องอุดมการณ์ทั้งหลายที่เราคิด หรือการพูดคุยกันอย่างมีอารยะเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นต่างๆ ก็จะกลายเป็นพวกมึงกับพวกกู แล้วก็จะทำอย่างไรให้ฆ่าอีกฝั่งได้”
ในตอนนั้น ผมนึกถึงข้าวของสะสมจากการเดินทางภายในห้องของเขาที่วางนิ่งเงียบงัน “จุดหนึ่งความเกลียดชังมันจะเข้ามาในจุดที่คุณไม่สามารถควบคุมมันได้อีกต่อไป” เขาพูด “เราเห็นมันในรวันดา ในซีเรีย ในอิรัก ในโซมาเลีย คือเราพูดจากใจจริงเลยว่า ถ้าราคาคือสงคราม ไม่มีอะไรคุ้มเลย ความเปลี่ยนแปลงในระดับไหนก็ไม่คุ้มทั้งนั้น ถ้าสงครามจะต้องเกิด”
เขาอธิบายสาเหตุที่มองเช่นนั้นเพราะกังวลเรื่องความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น “เราไม่มีทางการันตีได้ว่าถ้าเรายอมบาดเจ็บ เรายอมเสียชีพ แล้วรัฐบาลจะอ่อนข้อ” เขากล่าวในขณะยกกาแฟขึ้นจิบอีกครั้ง “เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนประคองแรงในการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป แต่ว่าอย่าพยายามพลีชีพกันเลย รักษาร่างกายไว้ รักษาตัวเองไว้ และต่อสู้ด้วยคำพูด ด้วยความคิด ด้วยอุดมการณ์ต่อไป เราว่าน่าจะดีกว่า”
เขาวางแก้วลงบนโต๊ะไม้เบื้องหน้า เสียงแก้วกระทบโต๊ะไม้ดังทึบในห้องที่เงียบสงัด “เข้าใจว่าจากจุดนี้ไปสู่จุดนั้นมันอีกยาวไกล” เขากลับมาต่อบทสนทนา “เราว่าคนรุ่นใหม่เขารู้ตัวกันดีอยู่แล้ว อย่างการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาเขาก็เน้นอย่างชัดเจนว่า หนึ่ง คือความปลอดภัยของผู้ชุมนุม สอง ไม่ลากยาว ไม่สร้างเงื่อนไขที่ทางรัฐจะใช้ความรุนแรงได้ รวมถึงบทเรียนจากทั้งการชุมนุมพันธมิตร กปปส. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ก็รวบรวมอยู่ในความคิดของคนรุ่นนี้ว่าอะไรบ้างที่ควรทำหรือไม่ควรทำ”
5
ทุกยุคสมัยคนหนุ่มสาวที่ออกมาตั้งคำถามถึงความไม่ปกติในสังคม และต้องการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมักถูกตราหน้าจากสังคมผู้มีอำนาจในทางที่ไม่ดีเสมอ วรรณสิงห์มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องอดทนและสู้ต่อไป เขาบอกว่าในวัยเด็กเขาเคยผ่านสิ่งเหล่านี้มาเช่นกัน แม้ไม่ใช่ในระดับสังคมการเมือง แต่เป็นระดับรั้วมหาวิทยาลัย เขาเคยเป็นเด็กที่ยกมือท้ายคาบหากเห็นว่าสิ่งที่อาจารย์สอนมีข้อผิดพลาด แต่ก็ถูกมองว่าทำไม่ถูก “แต่จำได้ว่าวันหนึ่ง อาจารย์คนนั้นเดินมาเจอเราที่โรงอาหารแล้วบอกว่าผิดไปจริงๆ” เขายิ้มเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต “ตอนนั้นเราขอบคุณอาจารย์และไหว้เขาด้วยความเคารพจริงๆ เพราะหนึ่งในสิ่งที่เราเคารพในผู้ใหญ่คือ ผู้ใหญ่ที่ยอมรับว่าตัวเอง make a mistake แล้วหลังจากนั้นก็แก้ไขตามคำแนะนำของใครก็ได้ เพราะแปลว่าเขาลดอีโก้ของเขามาได้ประมาณหนึ่ง
“เราเองตอนนั้นอีโก้แรงด้วยซ้ำ เพราะเรายังห้าว” เขาพูดและหัวเราะ “แต่ว่านั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่จำได้จากชีวิตมหา’ลัย ในปัจจุบันพอเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราก็พยายามเป็นเหมือนอาจารย์ท่านนั้น คือได้ยินใครพูดอะไร ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็พยายามมาตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา คำว่าขอโทษครับ ขอบคุณครับ เป็นเรื่องที่ควรพูดให้ชินปากไปเลย”
ผมถามเขาว่า เป็นเรื่องยากหรือไม่กับการที่ต้องลดอีโก้ เปิดใจให้กว้าง เพื่อรับฟังความคิดของคนอายุน้อยกว่า เขาตอบทันทีว่าเป็นเรื่องยาก “แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้” เขาพูด และยกตัวอย่างเหตุการณ์ในสังคมช่วงที่ผ่านมา เรื่องการทำร้ายนักเรียนอนุบาล และผู้อำนวยการโรงเรียนออกมาพูด รวมถึงรัฐบาลที่ออกมาตอบคำถามในสิ่งที่เยาวชนต้องการรับรู้ ซึ่งเขามองว่าเต็มไปด้วยอัตตาและตัวตน เขาคิดว่าหากมีผู้ใหญ่สักคนที่อยู่ในอำนาจสามารถลดอีโก้ตัวเอง และออกมาพูดดีๆ กับเด็ก มาอธิบายว่าอะไรทำได้ อะไรยังทำไม่ได้ หรือในอนาคตจะทำอะไรได้ด้วยเงื่อนไขอะไร จะทำให้บรรยากาศมันคลี่คลาย
“ตอนนี้เหมือนแบบไม่มีสิ่งนั้นให้เราเห็นเลย” เขาว่าและถอนหายใจ “มันถึงน่าเหนื่อย โกรธ และเครียดกันไปเรื่อยๆ แต่ยังดีที่การชุมนุมด้วยเหล่านักศึกษาปัจจุบันมีความสร้างสรรค์ด้วย ซึ่งทำให้ทุกอย่างดูเป็นงานอีเวนต์ ดูเป็นความบันเทิง คือแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันไม่รู้สึกว่าต้องลงถนนเป็นเดือนๆ นั่งกลางดินกินกลางทราย ทำให้เรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเรื่องสนุก ในขณะเดียวกันไม่เหนื่อยจนเกินไป ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติธรรมดาได้”
“สิ่งที่เด็กรุ่นนี้ทำสั่นคลอนระบบหรือผู้มีอำนาจขนาดไหน” ผมถามเขา
“เราว่าเขาตกใจนะ” เขาตอบ และอธิบายว่า ผู้มีอำนาจกำลังตื่นตระหนกว่าจะดีลกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะอย่างที่เราได้เห็นว่าม็อบครั้งนี้ต่างจากม็อบที่ผ่านมา ซึ่งผู้มีอำนาจไม่สามารถใช้กำลังปราบได้ พอใช้ลูกนิ่งเฉย ก็ไม่ได้ผล เพราะยิ่งเฉยยิ่งกระจายพลังออกไป
เขามองว่า ถ้าฝั่งม็อบสามารถปลดล็อกว่าจะสามารถรวบรวมกลุ่มคนที่ใหญ่กว่านี้มาได้อย่างไร เช่น กลุ่มคนที่ไม่ได้กังวลแค่เรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ และรวบรวมคนกลุ่มนี้เข้ามาได้ รัฐบาลจะไม่สามารถอยู่ได้ “เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการขนาดไหน สุดท้ายต้องเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม แล้วยิ่งเอาใจคนชั้นกลางได้ยิ่งอยู่ง่าย แต่ตอนนี้คนชั้นกลางเอาใจไม่ได้เรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าคนกลุ่มอื่นยังเอาใจไม่ได้ต่อไปก็ไม่เหลือฐานเสียงแล้ว”
“ตอนนี้ถ้าคุณลุงตู่สามารถก้าวข้ามความ insecure ทั้งหมดแล้วลงมานั่งคุยกับเด็กได้ มันจะเป็นภาพประวัติศาสตร์มากๆ” เขาพูดและหัวเราะ “แต่ถามเราก็รู้สึกว่ายากเหลือเกิน”
6
เขาบอกผมว่าสิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าเรื่องการเมืองคือวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังคลื่นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องความความคิดสร้างสรรค์ ที่แต่ก่อนอาจเป็นเรื่องหายากในสังคมไทย แต่หลังจากม็อบที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากม็อบอาจนำพาไปสู่สังคมที่เต็มไปด้วยศิลปิน และนักคิด เป็นสังคมที่ทุกคนมีหนังสือคนละเล่ม “เราอยากอ่านงานของหลายๆ คนในตอนนี้ อย่างน้องรุ้ง หรือน้องมิน กลุ่มนักเรียนเลว คนเหล่านี้ถ้าเขียนหนังสือคงน่าสนใจ ทุกคนคงมีเรื่องเล่าเฉพาะทางของตัวเอง ถ้าเรามีสังคมที่เต็มไปด้วยนักคิด เราว่ามันน่าสนใจมาก” เขาว่า
“แต่ก่อนเราอาจจะมีปรมาจารย์แห่งสยามอยู่ไม่กี่ท่าน สัมภาษณ์กี่ครั้งก็ต้องไปสัมภาษณ์คนเหล่านั้น แต่ตอนนี้เราคิดว่าถ้าเราทำ vox pop แล้วไปเดินสัมภาษณ์คนในม็อบต่อๆ ไป เราว่าเราจะได้คำตอบที่โคตรหลากหลาย และโคตรลึกซึ้ง ซึ่งน่าตื่นเต้นที่คนทั่วไปในสังคมสามารถมีความคิดที่ลึกซึ้งขนาดนี้ได้แล้ว”
ผมขอให้เขาในฐานะรุ่นพี่ผู้เคยตั้งคำถามกับสังคมมาก่อนแนะนำรุ่นน้องที่กำลังเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ในขณะนี้ เขามีท่าทีครุ่นคิดเล็กน้อย ก่อนกล่าวว่าเขาไม่ค่อยกล้าแนะนำในหลายเรื่อง “เพราะน้องเขาฉลาดเกินเราไปไกลแล้ว” เขาพูดพร้อมรอยยิ้ม “เรื่องแทกติกในการเคลื่อนไหวนี่เรายอมให้เขาเลย ทั้งความสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น ความไฟแรง เราเหมือนเป็นคนดูมากกว่า และเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่าที่ทำได้”
เขาขยับหมวกแก๊ปบนศีรษะเล็กน้อยและพูดต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับเขามีเพียงสองข้อ ข้อแรกคือประเด็นสิ่งแวดล้อม “อย่างน้อยที่สุดคือเรื่องของขยะและพลังงาน เพราะว่าสิ่งที่ทุกคนทำได้รับการจับตาในสังคม แน่นอนว่าเราสามารถเรียกร้องให้ รมว. ศึกษาธิการลาออกได้โดยไม่จำเป็นต้องโปรยกระดาษเยอะขนาดนั้นก็ได้ เป็นต้น” เขาพูดถึงกรณีเมื่อไม่นานมานี้ ที่กลุ่มนักเรียนเลวเดินทางไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และโปรยกระดาษใบลาออกหนึ่งหมื่นแผ่นเพื่อกดดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาออก “แน่นอนว่าที่เราพูดไม่ใช่คำวิจารณ์ในเชิงจุดยืน แต่เป็นแค่คำแนะนำว่า ลองมองอีกแง่ดูสักนิดหนึ่ง ก็จะทำให้ข้อความที่เราส่งออกไปนอกจากเป็นเรื่องสังคม ก็ยังเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย”
สำหรับข้อที่สอง เขาบอกว่า อยากให้เยาวชนที่กำลังเคลื่อนไหว ทำทุกอย่างด้วยไฟในใจ ด้วยความมุ่งมั่น และด้วยความตระหนักรู้ถึงว่ามีคนอยู่ข้างหลังมากมาย รวมถึงเขา “แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้ทุกคนพกติดตัวไปด้วยระหว่างนี้ คือความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเกลียดชังคนที่ไม่ได้คิดเหมือนเรา หรือเกลียดชังบุคคลที่อยู่ในอำนาจรัฐทั้งหลาย” เขาพูดด้วยสายตาและสีหน้าจริงจัง “สิ่งเหล่านี้ในระยะยาวมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับจิตใจเราขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับการเคลื่อนไหวสังคมขนาดนั้น ถ้าคุณสามารถเข้าใจศัตรูของคุณได้ เข้าใจผู้มีอำนาจที่คุณกำลังสู้อยู่ได้ คุณสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้โดยไม่ต้องมีความเกลียดอยู่ในใจ
“สิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมที่คุณเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ นอกจากมีมิติทางสังคมที่ก้าวหน้ามากขึ้น มีเหตุมีผลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสังคมที่อยู่แล้วมีความรู้สึกเป็นมิตรขึ้น ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในประเทศของเราตอนนี้”
หลังบทสนทนาบนโต๊ะทำงานจบลง ผมไม่มั่นใจว่าด้านนอกฝนยังโปรยอยู่หรือไม่ แต่คาดเดาเอาว่าคงใกล้หยุดเต็มที เพราะแสงที่ส่องผ่านผนังกรุกระจกด้านหลังของเขาเริ่มสว่างขึ้น
แม้จะยังจางแสนจางก็ตาม