นานมาแล้ว ผมเคยนั่งอยู่บนถนนราชดำเนิน ร่วมกับผู้คนนับแสน
ใช่ – มันคือคืนวันในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 เมื่อผู้คนออกมาคลาคล่ำอยู่ที่นั่น บนถนนที่มีสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ซึ่งพวกเขาออกมาประท้วงต่อต้านการยอม ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ของใครคนหนึ่งที่พยายามจะสืบทอดอำนาจของตัวเองและกลุ่มของตัวเอง
ออกไป – ออกไป และ ออกไป, คือคำที่ผู้คนเปล่งเสียงออกมา
ค่ำวันที่ 16 สิงหาคม ผมมีโอกาสนั่งอยู่ที่นั่นอีกครั้ง อาจไม่ใช่จุดเดิม หรืออาจเป็นจุดเดิมที่เคยนั่งก็ได้ ความทรงจำเกือบสามสิบปียั่วล้อกับตัวตนเล่นจนผมอดถามตัวเองไม่ได้ว่า – จะเป็นจุดเดิม สถานที่เดิม สถานการณ์แบบเดิม และเรื่องราวแบบเดิมไปได้อย่างไรกัน ในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในยุคสมัยเดิมๆ นั้นอีกแล้ว
พื้นถนนถูกเปลี่ยนไปไม่รู้จักกี่รอบ เซลล์ในร่างกายก็ผลัดเปลี่ยนไปไม่รู้จักกี่หน จนอาจไม่เหลือเซลล์ใดที่เคยมีในตอนนั้นอีกต่อไปแล้วก็ได้
แต่คล้ายบ้านเมืองไม่ได้หมุนเปลี่ยนไปเลย
ประเด็นหนึ่งที่ผู้ปราศรัยบนเวทีเปล่งเสียงออกมา และทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่การพูดถึงการเมืองอย่างเป็นทางการอย่างการแก้รัฐธรรมนูญหรือการยุบสภาฯ แต่คือประเด็นที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ยินจากเวทีเช่นนี้
มันคือประเด็นเรื่องเพศ
ผู้พูดเอ่ยถึงแฮชแท็ก me too ซึ่งหมายถึงการที่ผู้หญิง (และเพศอื่นๆ) เป็นฝ่ายถูกกระทำ และโดยเนื้อแท้ แท็กนี้โยงใยไปถึงวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ เป็นวิธีคิดที่ฝังตัวอยู่ในสถาบันครอบครัวทุกระดับ จนก่อให้เกิดปัญหาอย่างเป็นทางการขึ้นมาได้
ฟังแล้วอดคิดต่อไม่ได้ว่า ประเด็น ‘ชายเป็นใหญ่’ นั้น กินพื้นที่เลยไปถึงอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง เช่น Militarism หรือลัทธิทหารเป็นใหญ่ ซึ่งเคยมีนักคิดชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งวิพากษ์ว่า ลัทธิทหารเป็นใหญ่คือศูนย์กลางแห่งการบ่มเพาะลัทธิชายเป็นใหญ่โดยผ่านการใช้อำนาจทางตรงแบบโบราณดึกดำบรรพ์ที่สุดของมนุษย์ หรืออำนาจทางกายและอำนาจในการใช้อาวุธนั่นเอง
วิธีคิดแบบนี้อาจถูกไปวิพากษ์วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ในขบวนการต่อสู้ของฝ่ายต่างๆ รวมไปถึงฝ่ายซ้ายเองที่ยังหนี ‘การเมืองเรื่องเพศ’ แบบลิงชิมแปนซีไปไม่พ้นเท่าไหร่ได้ด้วย และที่จริง มันคือวิธีคิดที่แทรกซึมอยู่ในสังคมมานับพันๆ ปี จนหลายคนมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึกกับแรงกดทับต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากคุ้นชินกับมันมาเนิ่นนาน
เราไม่มีทางได้ยินเรื่องทำนองนี้บนเวทีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 หรอก เพราะถ้าพูดให้ถึงที่สุด บนเวทีในวันเวลานั้นก็ถูกยึดครองด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่นั่นแหละ การต่อสู้จึงมุ่งเน้นไปที่มิติเดียว คือมิติของการเมืองอย่างเป็นทางการ
พฤษภาทมิฬออกดอกผลมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 และความสงบของสถาบันทหารราวๆ หนึ่งทศวรรษ เกิดคำว่า ‘ทหารอาชีพ’ คือทหารก็ควรไปทำอาชีพทหาร อย่ามาวุ่นวายกับอำนาจและการเมืองอยู่พักหนึ่ง แต่หลังจากเกิดสิ่งที่ ‘ถูก’ เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ขึ้นมา ข้ออ้างการเข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองด้วยการรัฐประหารจึงกลับมาอีกครั้งอย่างไม่จำเป็น จนทุกวันนี้ คำว่า ‘ผีทักษิณ’ ก็ดูเหมือนยังหลอนหลอกผู้คนอีกไม่น้อย ทั้งที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่รู้จักและเกิดไม่ทันด้วยซ้ำ
หากมองในระยะยาว ทุกการต่อสู้จึงคือการต่อสู้ต่อรองระยะยาวที่อาจไม่มีวันจบสิ้น เมื่อสนามหนึ่งยุติลง สนามใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป ความรู้ ความงาม และความจริง ที่เรายึดมั่นว่าเป็นที่สุดของอุดมคติแห่งชีวิตก็อาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย การยึดมั่นถือมั่นดึงดันอยู่กับกรอบความคิดแบบเดิมในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนการพยายามดึงรั้งบ้านเอาไว้ให้คงเดิม ทั้งที่อาจเกิดแผ่นดินไหวจนมันโยกคลอน ภูมิประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การปรับปรุงจึงอาจต้องปรับปรุงใหญ่ หรือกระทั่งอาจต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่ด้วยซ้ำ ไม่ใช่พยายามใช้ทุกเรี่ยวแรงยึดเหนี่ยวมันเอาไว้ให้คงเดิม ซึ่งสุดท้ายก็จะเหนื่อยเปล่า
ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองนั่งอยู่ที่จุดเดิมหรือเปล่า แต่ที่สงสัยเป็นอย่างมากก็คือ ชะรอยอาจเป็นบ้านเมืองนี้ก็ได้ ที่พยายามจะนั่งอยู่ที่จุดเดิม
ทั้งที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป