Editor's note

เคอร์ฟิวความจริง

ถ้าบอกว่าจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ ก็คงเป็นการอ้างเกินจริง เพราะแม้ตอนนั้นเขาจะจำความได้แล้ว แต่เหตุการณ์ก็เลือนรางห่างไกลเด็กอายุเจ็ดขวบมากเหลือเกิน

        แต่กระนั้น ร่องรอยของสิ่งที่จำได้ – ก็คืออวลไอของความรู้ แม้เป็นเด็ก ก็รับรู้ได้ว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติ ความอลหม่านบางอย่างแทรกซอนเข้ามาถึงในบ้าน ในครอบครัว ในการถกเถียง ในความเคลื่อนไหวที่ไม่ธรรมดาของผู้คนรอบตัว

        แต่ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าคืออะไร

        ช่วงนั้น เวลาพ่อกับแม่พาเขาและน้องไปกินข้าวนอกบ้านอย่างที่พ่อกับแม่มักเรียกว่าไป eat out กัน เราจะต้องรีบกลับบ้านก่อนเคอร์ฟิว แม้เมื่อพ่อดื่มไปแล้วเล็กน้อย หลังอาหารก็ยังต้องรีบขับรถกลับบ้านมาให้ทันเวลา และบางคราวพ่อก็แกล้งแม่ด้วยการขับรถฉวัดเฉวียนราวกับเมามาก ทำให้เกิดความตกอกตกใจในรถเป็นอันมาก

        สำหรับเด็กที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลก คำว่า ‘เคอร์ฟิว’ จึงมีความหมายในแง่ลบ น่ากลัว น่าชิงชังรังเกียจ เกิดจากอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่มีที่มาที่ไป คล้ายหลังเวลาเคอร์ฟิวไปแล้ว จะมีแต่ปีศาจและอสูรร้ายออกเพ่นพ่านอาละวาด หากยังรั้งรอหรือเข้าบ้านไม่ทันเวลา ก็อาจต้องจบสิ้นชีวิตลง

        ช่วงขวบปีนั้นของเขาคือช่วงวัยแห่งการเติบโต เจ็ดขวบ – คือครั้งแรกของชีวิตที่เซลล์ทั้งหมดในร่างกายที่เคยมีเคยได้มาตอนเกิดไม่เหลืออยู่ต่อไปอีกแม้แต่เซลล์เดียว ในทางคริสตศาสนาบอกว่า เจ็ดขวบคือช่วงเวลาที่เด็กเติบโตจากเด็กที่ไม่รู้ดีรู้ชั่ว เริ่มรับรู้แยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและอะไรคือสิ่งที่ชั่ว

        เด็กคนนั้นไม่รู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ต้นมะขามของสนามหลวง ไม่รู้จักกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล ไม่รู้จักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาอาจรู้จักเพียงสนามหลวง ที่ที่พ่อกับแม่เคยพาไปซื้อหนังสือในตลาดนัดที่ร้อนอ้าว แล้วขนหนังสือใส่แท็กซี่กลับบ้านเป็นลังๆ

        แต่เป็นช่วงเวลาอย่างนี้เองที่ได้เกิดสิ่งเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย ความกลัว ความโง่ และความปรารถนาจะปกป้องบางสิ่งบางอย่างโดยไม่รู้ว่าเหตุผลแบบที่ อิมมานูเอล คานต์ และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ พยายามปลูกฝังในยุคเรอเนสซองส์ของยุโรปคืออะไร และบรรยากาศอึมครึมเหล่านี้ก็ได้ส่งผ่าน หยั่งทะลุเข้าไปในการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง

        เด็กที่ไม่ชอบการปริปากถาม

        เขาจึงได้แต่เก็บความสงสัยนั้นไว้ จนอีกเนิ่นนานต่อมา เมื่อฝังตัวอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เขาจึงได้ค้นพบความจริงเหล่านั้นทั้งหมด ภาพที่ทะลักทลายใส่หน้าเหมือนเขื่อนที่แตกกระทบ มวลน้ำมหาศาลหลากไหลกดทับ เขาไม่ได้ร้องไห้ เขาเพียงแต่รำลึกขึ้นได้อีกครั้งว่าเพราะอะไร ในวัยเจ็ดขวบเขาจึงเกิดความรู้สึกเหล่านั้นขึ้น

        อีกครั้งที่ทำให้เขารู้สึกคล้ายถูกชกหน้า ก็คือเมื่อตระเวนไปถึง Newseum พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการทำข่าวที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้พบเห็นภาพนั้น – ภาพที่เขาเคยเห็นมาแล้วครั้งหนึ่งในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ภาพเก้าอี้ลอยอยู่กลางอากาศ ภาพใบหน้ายิ้มร่าหัวเราะ และภาพใครคนหนึ่งที่เคยมีชีวิต แต่บัดนี้ห้อยโตงเตงอยู่กับต้นมะขามสนามหลวง ไม่รู้สึกรู้สากับอะไรอีกต่อไป

        แต่เป็นเขาเอง – ที่เต็มไปด้วยความรู้สึก มันถะถั่งท่วมท้น เคอร์ฟิวในวัยเด็ก แสงไฟหน้ารถสาดเข้าไปในความมืด การเร่งรี่ทะยานเพื่อกลับบ้านก่อนเวลาแห่งปีศาจ ภาพอื่นๆ ที่ทะลักทลายใส่เขาในห้องสมุด ความจริงในกรณีต่างๆ ที่คลี่ม่านให้เขาเห็นประวัติศาสตร์ด้านที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะไม่มีแม้สักบรรทัดที่เอ่ยถึงเรื่องราวเหล่านี้ ไม่สิ – อาจมี, แต่ไม่ถูกเน้นย้ำ ไม่ถูกนำมาเป็นข้อสอบ ไม่มีครูคนไหนเอ่ยถึง ราวหวาดกลัว ราวต้องการเหยียบทับ ราวต้องการสอนเขาว่าไม่เคยเกิดอะไรทำนองนี้ขึ้นกับประเทศแสนดีแห่งนี้

        เรามีชีวิตอยู่ที่ไหน – จำได้ว่า เขาถามตัวเองอย่างนั้นเมื่อรับรู้เรื่องราวต่างๆ

        ทั้งหมดนี้คือความฝันใช่ไหม – เขาถาม, และหลักฐานทั้งหมดก็ตอบเขาว่าไม่ใช่ ยิ่งเมื่อเริ่มทำงาน และต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 ด้วยตัวเอง เขาก็ยิ่งคล้ายถูกขึงพืดให้ต้องยอมรับ – ว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความฝัน

        มันคือความจริง – และความจริงก็คือความตาย

        ความจริงคือเขตแดนของเคอร์ฟิว คือดินแดนที่ล่วงล้ำเข้าไปไม่ได้ เมื่อใกล้จะไปถึง ทุกคนต้องรีบกลับเข้าบ้าน หับประตูปิดหน้าต่างให้มิดชิด งำตัวเงียบอยู่บนที่นอน หากทำได้ก็ควรคลุมโปง อุดหู และปิดดวงตาของตัวเองเสียด้วย

        เขาเติบโตมากับโลกแบบนี้

        โลกของเคอร์ฟิว

        ทั้งเคอร์ฟิวของเวลา – และเคอร์ฟิวแห่งความจริง

        ในดินแดนแสนดีแห่งหนึ่งที่เคยเกิดเรื่องเลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า