คุณชอบทำอะไรคนเดียวไหมครับ
หลายคนบอกว่า ชอบทำสิ่งต่างๆ คนเดียว เช่น กินข้าวคนเดียว ดูหนังคนเดียว ไปเที่ยวคนเดียว
แล้วถ้าเป็นการ ‘ฮันนีมูน’ คนเดียวล่ะครับ – คุณคิดว่าแปลกไหม
ผมเคยได้ยินเรื่องฮันนีมูนคนเดียวของคู่แต่งงานคู่หนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ทั้งคู่เพิ่งแต่งงานกัน และวางแผนจะไปตระเวนยุโรปเพื่อเป็นการฮันนีมูน แต่ไม่ – ไม่ใช่การอยู่ด้วยกันอย่างสวีตหวานตลอดทั้งทริป พวกเขาเลือกที่จะเดินทางไปด้วยกัน และอยู่ด้วยกันในบางช่วงของการเดินทาง ทว่าส่วนใหญ่แล้ว – พวกเขาแยกทางกัน
ใช่ – คนทั้งคู่เข้าใจดีว่าตัวเองต้องการอะไร คนหนึ่งชอบตระเวนพิพิธภัณฑ์ อีกคนหนึ่งชอบตระเวนป่าเขาลำเนาไพร อย่างหนึ่งอยู่ในเมือง อีกอย่างหนึ่งอยู่นอกเมือง หากต้องตัวติดกันอยู่ตลอดเวลา พวกเขาก็จะพลาดการเห็นโลกอย่างที่ตัวเองเห็น
พวกเขาจึงเลือกฮันนีมูนแบบ Single Honeymoon ซึ่งก็คือนั่งเครื่องบินไปด้วยกัน ไปลงสนามบินเดียวกัน อาจจะอยู่ด้วยกันสักวันสองวัน ณ จุดหมายปลายทางนั้นๆ แต่หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกทางกัน ต่างคนต่างไป
สมมติไปลงที่ปารีสด้วยกัน ตระเวนปารีสด้วยกันสักสองสามวัน แต่แล้วคนหนึ่งอาจจะลงใต้ไปสเปน อีกคนหนึ่งอาจจะขึ้นเหนือไปเบลเยียม จากนั้นก็นัดวันกันว่า อีกห้าวันเจ็ดวันค่อยมาเจอกันอีกครั้งที่ไหนสักแห่ง เช่น ที่อิตาลี
ผมเข้าใจว่า เมื่อได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ประสบการณ์ระหว่างแยกทางกันจะทำให้การได้พบกันนั้นเข้มข้นและรุ่มรวยมากขึ้นกว่าการไปฮันนีมูนตามปกติ พวกเขาจะมี ‘เรื่องเล่า’ ระหว่างอยู่ลำพังกลับมาเล่าให้กันและกันฟัง และนั่นเองที่ทำให้ฮันนีมูนนั้นมีความหมายบางอย่าง
แต่สำหรับบางคน – นี่คือความโดดเดี่ยว
สำหรับสองคนนั้นที่เลือกเดินทางเช่นนี้ พวกเขารู้ว่าพวกเขากำลังเดินทางตามลำพัง ทว่าไม่ได้เดียวดาย เพราะแม้จะอยู่ไกลกัน แต่มีใครอีกคนหนึ่งอยู่ที่ไหนสักแห่ง – กำลังเดินทางไปพร้อมกัน และรอคอยวันที่จะได้กลับมาพบกันอีกครั้งเช่นเดียวกัน
นี่ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกขึ้นไปอีกขั้นหรอกหรือ
บางคนอาจสงสัยว่า ฮันนีมูนเดียวดายเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะพวกเขาเสพติด ‘การอยู่คนเดียว’ หรือ Aloneness มากเกินไปหรือเปล่า แต่เราอาจต้องทำความเข้าใจกันหน่อยนะครับ ว่า Aloneness หรือการอยู่คนเดียวนั้น ไม่ได้มีความหมายเดียวกับ Loneliness หรือความเปลี่ยวเหงาเสมอไป
ใช่ – บางคนอยู่คนเดียวไม่ได้ ความเหงา (หรือที่เรียกกันด้วยศัพท์สมัยใหม่ว่า ‘ความหว่อง’) จะต้องเข้ามาจู่โจม แต่กระนั้นก็มีคนอีกมากมายที่ทะนุถนอมการได้อยู่ลำพังเอาไว้ราวกับนั่นคือสิ่งมีค่า พวกเขาเลือกที่จะดูหนังลำพัง กินข้าวลำพัง อ่านหนังสือลำพัง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามลำพัง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
สังคมสมัยใหม่นั้นมีความเป็นปัจเจก หรือ Individualism มากกว่าการเป็นสังคมรวมหมู่หรือ Collectivism ทั้งนี้ก็เพราะเราได้สร้างโลกให้น่าอยู่และปลอดภัยมากขึ้นกว่ายุคหินหรือยุคสงครามโลกมากมายนัก คนเราจึงมี ‘ความสามารถ’ ที่จะอยู่คนเดียวและสำรวจความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่มีปัจเจกภาพเป็น ‘ฐาน’ สำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียงที่เสมอภาคกัน
โดยนัยนี้ การทำอะไรคนเดียวจึงไม่ได้เป็นแค่การทำอะไรคนเดียว แต่คือการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง ด้วยสำนึกว่าตัวเองอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบใหม่ที่เปิดกว้างและเอื้อให้คนแต่ละคนสามารถเปล่งศักยภาพที่จะเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริงและ ‘กล้า’ พอที่จะอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องกลัวหมี เสือ หมาป่า หรือทหารฝ่ายตรงข้ามอย่างที่มนุษย์เคยเป็นในอดีต
การทำอะไรคนเดียว และ/หรือ การได้อยู่คนเดียวด้วยกัน (alone together) จึงอาจไม่ได้เป็นสัญญาณของอาการป่วยเพราะเสพติดความเดียวดายมากเท่ากับเป็นสัญญาณความก้าวหน้าของสังคม
ไม่ใช่หรอกหรือ